The Millionaire MODELLISTA VITZ/YARIS : Turbo + 6 Speed + MoTeC Tuned By Lim

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : วิวัฒน์ ภัยวิมุติ

The Millionaire MODELLISTA VITZ/YARIS

Turbo + 6 Speed + MoTeC Tuned By Lim

ของเทพ  ใหม่ทุกชิ้น “สองล้าน” เท่านั้นเอง O_O!

         อย่าเพิ่งเง็งกันว่า ทำไมรถเล็กอย่าง YARIS จึงมาลงคอลัมน์นี้ได้ จะบอกก่อนว่า คอลัมน์ Souped up Special ถือกำเนิดมาสำหรับรถที่ลงมือแต่งในรูปแบบที่น่าสนใจ โดยเน้นสมรรถนะเป็นหลัก ซึ่งต่างจากคอลัมน์ Souped up ปกติ ที่เน้นรถไม่ทำมาก หรือ Dress up ก็เน้นไปทางสวย แต่หลายคนอาจจะคิดว่า คอลัมน์นี้จะต้องเป็นรถแบบแพง ๆ หรือรถแข่งแบบ Hardcore แรงม้าหลักพันขึ้นไป หลัก ๆ เป็นเช่นนั้น แต่จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ได้ยึดติดมากนัก ถ้ามีรถที่ไม่ใช่ระดับหัวขั้ว แต่โมดิฟายด้วยสิ่งที่น่าสนใจ จัดหนัก ได้สมรรถนะที่ดี สมเหตุสมผล ก็จะนำมาเสนอเหมือนกันครับ อย่าง YARIS คันนี้ มองเผิน ๆ ก็เหมือนแต่งธรรมดา ใส่เทอร์โบ แต่ขอบอกว่ามันไม่ใช่อย่างที่เห็น เพราะถูกทรงเครื่องกันใหม่ทั้งคัน ด้วยอุปกรณ์โมดิฟายชั้นเลิศทุกชิ้น และเป็นของใหม่ด้วย คันนี้ก็เปลี่ยนสเต็ป เปลี่ยนของมาเรื่อย ๆ เรียกว่า “ชอบก็ซื้อ ไม่ชอบก็เปลี่ยน อยากลองอะไรก็ลอง” โดยไม่คิดมากเรื่องงบประมาณ ดังนั้น จากการที่ “รวมบิล” ตั้งแต่เริ่มแต่งครั้งแรก มาจนถึงปัจจุบันนี้ งบประมาณจึงสูงถึง “กว่าสองล้านบาท” โดย “ไม่รวมมูลค่าตัวรถ” แต่อย่างใด…

สุดในรุ่น คือเป้าหมาย

รถคันนี้เป็นของ “คุณเก่ง” จาก VITZ RS CLUB ที่เป็นอีกหนึ่งผู้ที่ชื่นชอบในการแต่งรถ จัดการนำ YARIS คันจ้อย มาโมดิฟายเรียกความแรง ซึ่งก็เริ่มทำมาเรื่อย ๆ ทดลองแต่ละสเต็ป มันก็สนุกไปอีกแบบ จนมาถึงสเต็ปสุด ๆ แบบนี้ เน้นว่าใช้ของดี มีประโยชน์ และต้องการสมรรถนะแบบใช้งานจริงได้ ซิ่งได้ ขับสนุก ไม่พังง่าย ดูแลรักษาได้เหมือนรถเดิม ๆ ก็เลยต้องให้ Tuned By LIM เป็นผู้ที่ช่วยปรุงแต่งให้ เนื่องจาก “พี่ลิ้ม” เอง ก็มีความถนัดในการโมดิฟายเครื่อง 1NZ-FE เพื่อการแข่งขันอยู่แล้ว แถมยังเป็นผู้บุกเบิกในการสั่งของแบบ Custom Made สำหรับเครื่องบล็อกนี้อีกด้วย จึงมีความรู้ว่าอะไรน่าจะเป็นอะไร โครงการ “ยาริส ติดหอย” จึงเกิดขึ้น…

เปลี่ยนนิสัยจากเครื่องประหยัด มาเป็นเครื่องแรง ต้องอาศัยเทคนิค

จากการที่เราจะเอาเครื่อง 1NZ-FE ที่มีพื้นฐานในด้านความประหยัดน้ำมันเป็นหลัก มาขุนกำลังให้ได้มากขึ้น ย่อมที่จะไม่ง่าย ถ้าจะเค้นให้มันแรงอย่างเดียวล่ะก็ ใครก็ทำได้ แต่ถ้าจะ “แรงและทน” เพราะนี่คือ “รถใช้งาน” ก็จะต้องมีการตระเตรียมส่วนประกอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกันกับแรงม้าที่ต้องการ และยังต้องใช้งานได้ตามปกติอีกด้วย ก็อย่างที่ผมเคยบอกไปแล้วว่า “รถบ้าน” บางทีก็ยากกว่า “รถแข่ง” ผมก็ได้ขอข้อมูลจาก Tuned By Lim ที่เป็นผู้โมดิฟายรถคันนี้ หลัก ๆ คือ “ทำให้มันทนได้” นั่นเองครับ จุดแรกที่ต้องเล่นเลยก็คือ “ฝาสูบ” โดยปกติ เครื่อง 1NZ-FE จะมีลักษณะวาล์วที่ค่อนข้างเล็ก โดยเฉพาะวาล์วไอเสียที่จะเล็กเป็นพิเศษ เพราะมันจะช่วยรีดไอเสียในรอบต่ำให้ออกไวขึ้น แต่พอเราต้องการกำลังมาก ๆ ก็ต้องหาทางให้มัน “กินง่าย ถ่ายคล่อง” โดยเฉพาะการเซ็ตเทอร์โบ ที่ต้องมีการประจุอากาศและคายไอเสียได้อย่างรุนแรงขึ้น ตรงนี้เป็นส่วนแรกที่ต้องคิดถึง…

สำหรับการโมดิฟายของคันนี้ ก็จะเริ่มจากการ “ขัดขยายพอร์ต” ตรงนี้ต้องระวังครับ เพราะเครื่องแบบนี้มันจะมีดีไซน์ที่ทำให้เล็กไว้ก่อน อะไร ๆ ก็อยู่ชิดกัน การขยายพอร์ต ก็จะโลภเอาทีละใหญ่ ๆ มาก ๆ ไม่ได้ เพราะถ้าขัดมาก เดี๋ยวจะทะลุกับ “ตาน้ำ” และ “รูหัวฉีด” ซึ่งรุ่นนี้หัวฉีดจะฝังอยู่ที่ฝาสูบเลย ต่อมาคือ “การขยายวาล์ว” วาล์วไอดีจะค่อยยังชั่วหน่อย เพราะมีขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ของหลุมห้องเผาไหม้ ซึ่งก็จะขยายได้อีกประมาณ “ไม่เกินครึ่งมิลลิเมตร” นิดเดียวจริง ๆ แต่ก็มีผล เพราะมันสุดได้แค่นั้น มากกว่านี้ก็ทำบ่าวาล์วไม่ได้แล้ว ส่วนวาล์วไอเสีย อันนี้จะขยายได้เยอะหน่อย เพราะเดิม ๆ วาล์วเล็ก จึงมีพื้นที่เหลือ ก็ขยายได้ประมาณ “ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร” แล้วก็แต่งหลุมห้องเผาไหม้ให้กำลังอัดต่ำลง เพื่อรับกับเทอร์โบ คันนี้ใช้ปะเก็น “สแตนดาร์ด” นะครับ ไม่เปลี่ยนด้วย เนื่องจากได้เตรียมห้องเผาไหม้และหัวลูกสูบใหม่ เพื่อให้กำลังอัดที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนปะเก็นหนาขึ้นเพียงอย่างเดียว โอกาสที่ปะเก็นจะรั่วก็มีมากกว่าปะเก็นบาง แถมกำลังอัดต่ำ ๆ จะทำให้เทอร์โบรอรอบ ขับไม่สนุก กินน้ำมันมากเกินไป…

แคม 272 ระบบ VVT-i ยังใช้ เพราะมีประโยชน์มาก

แคมชาฟท์ของคันนี้ใช้ขนาด 272 องศา ซึ่งเป็นสเต็ปแรกของการ “เล่นแรง” จริง ๆ สเต็ปน้อยกว่านี้ก็มี แต่ก็จะแนวแบบพอจะขับสนุก ไม่ต้องการกำลังมากมายนัก แต่ระดับ 272 องศา ก็จะเน้นในด้านการทำแรงม้ามากขึ้น ถ้าจะเอาแนว Hardcore ก็จะมีพวก 280 องศา ++ แต่จะใช้งานไม่ดี รอบต่ำไม่มีแรง ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมว่าต้องการอะไร (อย่างที่เน้นไปบ่อย ๆ) สำหรับคันนี้ยังใช้ระบบ VVT-i อยู่ ซึ่งจะช่วยให้การเปิด-ปิดวาล์วหลากหลายเงื่อนไขมากขึ้น ผลดีคือ ในรอบต่ำ มันก็จะปรับ Overlap ให้น้อยลง ทำให้รอบต่ำเดินเบาได้เรียบเหมือนกับแคมสแตนดาร์ด อัตราเร่งรอบต่ำดี เทอร์โบบูสต์ไวกว่าไม่มีวาล์วแปรผัน ก็นับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กันอย่างมากทีเดียว อย่าไปถอดออก…

ท่อนล่างเน้นทน

จบท่อนบน มาต่อท่อนล่าง นี่แหละเป็นส่วนที่ต้องทำให้ “ทน” เครื่องเดิม ๆ ที่ออกแบบมาไม่ได้ให้กำลังสูงนัก ก็จะทำชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก เพื่อลดแรงการหมุน ถ้าทำแรง ๆ โดยไม่ได้แต่งเพิ่ม โอกาส “ไส้แตก” มีง่าย ๆ คันนี้ก็เปลี่ยน “ลูก-ก้าน” เป็นของซิ่ง ที่ทนทานกว่าเดิมมาก แต่ก่อน ใครจะโมดิฟาย 1NZ-FE ก็ต้องสั่งของแต่งเป็น Custom Made เพราะไม่มีใครผลิตออกมา เนื่องจากตลาดโมดิฟายพวกนี้จะน้อย แต่พอสั่งทำกันเยอะ ๆ ก็มีการผลิตออกขายจริง ตอนนี้จึงสั่งของสำเร็จรูปได้เลย คันนี้ก็จะหวังแรงม้าไว้ประมาณ 300 PS เลยทำแค่นี้พอ แต่ถ้าจะทำระดับ 400 PS ขึ้นไปก็ได้ บูสต์หนัก ๆ ก็ต้องทำ Liner กระบอกสูบใหม่ แต่ถ้าทำขนาดนั้น จะวิ่งใช้งานบนถนนทั่วไปไม่สนุก เพราะแรงเกินไป คันนี้จึงเอาแค่พอประมาณ ทน ๆ ใช้ง่าย บำรุงรักษาเหมือนกับรถสแตนดาร์ด เพียงแต่ใช้น้ำมันเครื่องดี ๆ หมั่นเปลี่ยนถ่ายตามระยะก็พอ…

เสื้อเกียร์เดิม ไส้ใน 6 สปีด จาก 4A-GE ฝาดำ

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของคันนี้ก็คือ นำเกียร์ 6 สปีด ของ 4A-GE ฝาดำ มาใช้ จริง ๆ ก็มีทำกันอยู่หลายคัน หลายสูตร โดยมากก็จะสลับหัวหมูกัน แต่ทาง Tuned By Lim จะใช้เสื้อเกียร์ของ 1NZ-FE เดิม แต่โมดิฟายนำไส้ราวเกียร์ 6 สปีด มาใส่เข้าไป อันนี้ก็เป็นสูตรการดัดแปลงเฉพาะตัว (จะลอกเลียนแบบก็ได้ แต่ไปคุยกันเอง) เหตุผลว่าทำไมต้องใช้เสื้อเกียร์เดิม อาจจะดูยุ่งยากเรื่องดัดแปลงไส้เกียร์ ก็มีเหตุผลว่า เกียร์ของ 4A-GE จะมีกลไกเข้าเกียร์อยู่ “ด้านหน้า” ที่ไม่เหมือนกันกับ 1NZ-FE ที่อยู่ “ค่อนไปด้านหลัง” จริง ๆ แล้ว ถ้าจะดัดแปลงกลไกให้เข้ากับเกียร์ 4A-GE มันก็ทำได้ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ “คันเกียร์จะเข้าไม่เนียนเหมือนเดิม” ประมาณว่า เกียร์ด้านบน (1-3-5) กับเกียร์ด้านล่าง (2-4-6) จะมีระยะการทำงาน (Travel) ที่ไม่เท่ากัน ขับแล้วรู้สึกแปลก ๆ จึงต้องคงกลไกบนเสื้อเกียร์เดิมไว้ แล้วก็ดัดแปลงให้มันได้ 6 สปีด (ของเดิม 5 สปีด) ก็เป็นอันจบ เกียร์เข้าไประยะพอดีเหมือนเดิม…

 

MAX POWER : 287 hp

MAX TORQUE : 287 Nm

         ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ที่กราฟแรงม้าถ่ายมาแบบไม่ค่อยสมบูรณ์นัก เนื่องจากเจ้าของรถติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ จึงต้องให้ตัวแทนส่งมา ก็ขอให้ดูลักษณะของกราฟก็แล้วกัน ตัวกราฟจะแสดงถึงช่วง Power Band ที่กว้าง มาเร็ว ช่วง 3,500 รอบ ก็มีแรงม้ามารอใต้คันเร่งถึง 200 hp แล้ว ตรงนี้แสดงว่าเครื่องมีการจูนอัพที่ดี และเลือกใช้เทอร์โบที่เหมาะสม ช่วงกำลังสูงสุด อยู่ในโซนรอบเครื่องที่ปลอดภัย คือ 4,000-7,000 รอบ ที่ได้กำลังสูงสุดเกิน 250 hp กราฟจะเริ่มโรยตัวลงที่ 6,500 รอบ ไปแล้ว เพราะเป็นรูปแบบของเครื่องที่เน้นประหยัดมาแต่กำเนิด มันก็ดีนะครับ รถถนนไม่จำเป็นต้องลากรอบมากมายอะไรนัก ลากมากไปมันก็เกิดความเสียหายได้เร็วเป็นธรรมดา ส่วนกราฟแรงบิด ก็จะมาเป็นลักษณะเดียวกัน จริง ๆ ไม่ต้องไปลากถึง 7,000 รอบ ก็ได้ เพราะช่วงกำลังมีให้ใช้กว้าง จึงเป็นรถที่ขับได้อย่างเต็มสมรรถนะ อย่างที่ผมเคยบอกไปว่า ถ้าจะทำรถวิ่งดี ๆ จงอย่าดูที่ตัวเลขแรงม้าเพียงอย่างเดียว “นิสัยเครื่อง” เป็นสิ่งสำคัญ ก็อยู่ที่ว่าคุณจะเอาไปใช้งานแบบไหน “เลือกให้เป็น” แค่นั้นเองครับ…

 

Special Thanks : Tuned By Lim สำหรับข้อมูล สนใจติดต่อ 08-1860-6606

Comment : Tuned By Lim

รถคันนี้ ทางเจ้าของรถก็แต่งเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จากเดิมที่ใส่แค่ซูเปอร์ชาร์จ พอเริ่มชินก็ค่อย ๆ ใส่เข้าไปทีละสเต็ป เจ้าของก็ชอบแต่งรถคันนี้มาก ๆ มีอะไรก็ลองหมด อยากได้อะไรก็ซื้อใส่ แต่ทั้งนี้จะเลือกของที่ส่งผลในด้านสมรรถนะที่ดีขึ้น ก็ทำมาเรื่อย ๆ จนมาสเต็ปนี้ ก็ทำเครื่องชุดเต็มเหมือน YARIS KING ไส้ในทำหมด ยกเว้นข้อเหวี่ยง เพราะยังไม่อยากให้มันบานไปมากกว่านี้ แรงม้าก็ตั้งเป้าไว้ไม่เกินนี้ เพราะต้องการให้รถขับง่าย ใช้งานได้เหมือนรถสแตนดาร์ด เดินเบาไม่สั่น ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ได้สบาย ไม่มีปัญหากับการขับขี่ ส่วนอื่น ๆ ก็มีการทำรองรับครบระบบ จึงเป็นรถที่ใช้งานดี และมีสมรรถนะสูงครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

ตอนแรก “เสี้ยม ริมหาด” บอกว่า YARIS คันนี้ แต่งไปสองล้านกว่าบาท ไอ้เราก็เฮ้ย อะไรวะ แต่งอะไรนักหนา พอมาดูตัวจริงแล้วก็คิดว่ามันเป็นไปได้ เพราะเท่าที่คุยกับพี่ลิ้ม คันนี้เป็นไปในลักษณะ “ลองวิชา” พัฒนาไปเรื่อย ๆ แบบไม่จำกัดงบประมาณ เจ้าของรถก็ใจถึงเงินถัง แต่ไม่ใช้แบบไร้สาระ ผนวกกับการทำรถแบบใช้ความรู้ เลยได้ออกมาตามประสงค์ อย่าพูดถึงเรื่องแรงม้ากับเม็ดเงิน เพราะเจ้าของรถเน้นว่า “แรงได้ ใช้งานดี” เครื่องยนต์มีช่วงกำลังกว้าง ทำให้ขับได้อย่างสบาย แถมการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็นไปได้อย่างเรียบร้อย สวยงาม ก็นับว่าเป็นการเปิดศักราชกับรถ YARIS ในคอลัมน์ใหญ่อย่าง Souped up Special ที่มี “ของดี” น่านำเสนอ…

X-TRA ORDINARY

TOYOTA YARIS รถขนาด Sub Compact ที่นิยมมากในบ้านเรา ตัวรถเป็นแบบ Hatchback 5 ประตู ส่วนในอเมริกา ที่เห็นตอนไปงาน SEMA SHOW นั้น YARIS ก็ได้รับความนิยมในบ้านเขาเหมือนกัน โดยจะเป็นรุ่นที่ “น่าอิจฉา” เพราะมันคือ 3 ประตู ดูสปอร์ตน่ารัก ส่วนอีกรุ่นหนึ่งคือ YARIS Sedan ก็จะใช้ตัวถังเดียวกับ VIOS บ้านเรา ในงาน SEMA ก็เห็น YARIS แต่งอยู่บ้างเหมือนกัน สนใจก็รอติดตาม XO SPECIAL SEMA SHOW ฉบับแรกอย่างเป็นทางการ เร็ว ๆ นี้…