เกาะกระแส MINI TURBO ปาก 46 PRO & รถบ้านยางบางปาก 46 BY ผู้จัดการโอ๊ต

XO 263
เรื่อง : พงศ์พันธ์ รัมมะเกตุ
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่

อีกหนึ่งกระแสที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการปรับแต่งโมดิฟายรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล ในรุ่นของเทอร์โบเล็ก หรือที่รู้จักคุ้นหูกันดีในรุ่นของเทอร์โบปาก 46 นั่นเองครับ เปิดหัวขึ้นมาเพื่อให้รู้เรื่องราวกันก่อนเลยครับ ก่อนอื่นต้องกล่าวคำว่า “สวัสดี” กันก่อนครับ ขอต้อนรับเข้าสู่คอลัมน์ “TRENDY TRUCK” หรือแปลเป็นภาษาไทยแบบเข้าใจง่ายๆ นั่นก็คือ “กระบะนิยม” นั่นเองครับ จะพาไปดูกันครับ ว่ากระแสของการปรับแต่งรถกระบะแต่ละยุคแต่ละช่วง เค้าไปถึงไหนกันแล้ว รวมไปถึงเรื่องของความนิยมในการปรับแต่ง ว่าเค้าแต่งอะไรกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสวยและความแรง สเต็ปในการโมดิฟายเค้าใช้เทอร์โบอะไร ช่วงล่างทำยังไง อะไรประมาณนี้แหละครับ สำหรับสาวกกระบะนิยม แน่นอนที่สุดครับ สำหรับในคอลัมน์นี้อย่างที่เกริ่นกันไปเมื่อตอนต้น จะพาไปดูรถในสเต็ปของเทอร์โบปาก 46 ว่ามีรุ่นไหนบ้าง มีการโมดิฟายที่แตกต่างกันอย่างไร และเรื่องของกฎกติกาในการแข่งขัน  เพื่อที่จะให้นักแข่งมือใหม่ได้รู้กันว่า กติกาที่เค้าแข่งขันกันนั้น ต้องเตรียมรถและจัดทรงรถกันยังไง

ปาก 46 PRO สเต็ปแข่ง เค้าแต่งกันยังไง?
อีกหนึ่งรุ่นการแข่งขันที่เรียกได้ว่าเหล่าบรรดาขาซิ่งสิงห์ควันดำให้การตอบรับดีมากถึงมากที่สุด ในรุ่นของเทอร์โบพิกัดปาก 46 mm. ถ้าสังเกตกันในเรื่องของการพัฒนาฝีมือของช่างบ้านเรานั้น จะเห็นได้ว่าเวลาของการแข่งขันรถรุ่นนี้ ณ ปัจจุบัน มันก็คือเวลาของรุ่น F55 PRO เมื่อก่อนนั่นเอง บอกได้เลยครับ ว่าการพัฒนาของวงการแข่งรถกระบะบ้านเราไม่ธรรมดาจริงๆ ถ้าเรามานั่งดูที่ตัวเทอร์โบกันแล้ว ก็คงจะงงๆ กันบ้าง ว่าไอ้เทอร์โบลูกแค่เนี้ย มันวิ่งเข้าไปกันได้ยังไงวะ….แต่ก็อย่าไปสงสัยมันเลยครับ เพราะว่ามันวิ่งได้ ก็จบไป เท่านั้นเอง แต่ที่สำคัญ เรามาดูกันดีกว่าว่าสเต็ปนี้ เค้าโมฯอะไรกันบ้าง ทำไมมันถึงได้วิ่งดีซะเหลือเกิน ในอนาคตอีกไม่ไกลเราคงได้เห็นขนาดของเทอร์โบโรงงานวิ่งเลขตัวเดียวให้ได้ชมกันอย่างแน่นอน เอาละครับ ฝอยกันมาซะเยอะเลย เราเข้าไปเจาะรายละเอียดกันเลยดีกว่าครับ กับผลงานของผู้จัดการโอ๊ต…

บอดี้รถแข่งเบาได้ ต้องสวยได้
มาเริ่มต้นกันที่รูปลักษณ์ภายนอกกันก่อนเลยครับ กับมุมมองภาพรวมของตัวแข่งคันนี้ถูกจัดทรงใหม่หมด ให้มีรูปร่างหน้าตาเป็นตัว 1.9 ตัวรถถูกสาดสีใหม่ทั้งคันเป็นสีชมพู ในส่วนของชิ้นงานคาร์บอนบางชิ้นก็ถูกทำเป็นสีเดียวกันหมดทั้งคัน ยกเว้นฝากระโปรงเอาไว้หนึ่งชิ้น เพื่อให้ตัดกับตัวรถเพิ่มความสวยงามโดดเด่นได้อย่างลงตัว ซึ่งในส่วนของฝากระโปรงนั้น เป็นงานคาร์บอนจาก AKANA มาดูกันต่อที่ชุดแก้มด้านซ้ายและด้านขวาก็เป็นชิ้นงานคาร์บอนจาก AKANA อีกเช่นกัน แต่ในส่วนของชิ้นแก้มนั้น ทำเป็นสีเดียวกับตัวรถ ในส่วนของกระจังหน้าและกันชนหน้าจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ได้ทำการโป๊ปิดช่องให้เรียบทั้งหมด ส่งผลในเรื่องของแรงลมที่ปะทะจากทางด้านหน้า ให้ลมวิ่งผ่านตัวรถได้อย่างสะดวกและรวดเร็วนั่นเองครับ ว่ากันง่ายๆ ก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้รถสามารถแหวกอากาศไปให้เร็วที่สุดนั่นแหละครับ ก็ยังไม่จบเรื่องของความเบา ไปต่อกันที่กระจก อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ติดมากับตัวรถซึ่งมีน้ำหนักรวมๆ กันแล้วก็ไม่น้อยกันเลยทีเดียว จึงต้องทำการย้ายออกไป แล้วนำวัสดุที่เป็นอะคริลิกมาใส่เข้าไปแทน ซึ่งข้อดีของการใช้อะคริลิกแทนกระจกนั้น ข้อแรก ก็คือ ความเบา แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด นั่นก็คือความปลอดภัยของนักแข่งครับ เพราะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ อะคริลิกจะไม่แตกและบาดนักแข่งได้ครับ เพราะมีคุณสมบัติที่เหนียว ไปต่อกันที่ด้านท้ายกระบะกันบ้าง ท้ายกระบะจะไล่เบาให้หมดก็คงจะไม่ดี โดยปกติช่วงท้ายของรถกระบะมันก็เบาอยู่แล้ว จึงต้องเน้นในเรื่องของความแข็งแรงกัน ด้วยการติดตั้งชุดค้ำกระบะเป็นไทเทเนียมเพิ่มความแข็งแรงและสวยงาม ในส่วนของซุ้มล้อหลังได้ทำการสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับกับล้อที่ใช้ในการแข่งขันที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และที่สำคัญ คือ การลดน้ำหนักของตัวรถนั่นเองครับ อีกหนึ่งอย่างที่หลายคนอาจจะมองข้ามในเรื่องของหลักกลศาสตร์ที่ด้านท้ายรถ จะเห็นได้ว่าในตำแหน่งของกันชนท้ายจะถูกตัดเว้าขึ้นไปจนติดของฝากระบะ เพื่อให้ลมที่ออกมาจากใต้ท้องรถผ่านออกไปด้านหลังโดยไม่ถูกช่วงของกันชนท้ายอุ้มลมเอาไว้ เรียกได้ว่าเก็บรายละเอียดกันทุกเม็ดเลยทีเดียว สำหรับเรื่องของบอดี้รถแข่ง น้ำหนักโดยรวมของคันนี้อยู่ที่ 1,300 กก.

ภายในสไตล์ DRAG เบาะตัวเดียว + โรล์บาร์ 6 จุด
เปิดประตูเข้ามาดูที่ภายในกันบ้าง ก็ตามสไตล์รถแข่งนั่นแหละครับ อะไรที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้จะเก็บเอาไว้ทำไมให้มันหนักรถ มันก็ต้องจัดการเอาออกไปซะให้หมด สำหรับคันนี้สิ่งที่เหลืออยู่ในรถก็คือคอนโซลชิ้นบนที่ยังคงติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่งเดิมครับ ในส่วนของพื้นแผงข้างเพดานไม่เหลือครับ จัดการย้ายออกไปให้หมด เมื่อโครงสร้างภายในรถส่วนหนึ่งหายไป แน่นอนที่สุด ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือเรื่องของความปลอดภัยของนักแข่ง การตีโรลบาร์จึงถูกนำมาใช้ในรถแข่งคันนี้ เป็นผลงานจากทางเก่งเฮดเดอร์สาย 4 ที่รับหน้าที่ตีโรลบาร์ให้ ซึ่งเป็นโรลบาร์แบบ 6 จุด ป้องกันการยุบตัวของบอดี้รถในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า โรลบาร์ที่ถูกตีขึ้นมานั้นจะค้ำอยู่ที่ตำแหน่งของเสา A คานหน้า เสา B หลังคา ประตู รวมไปถึงการค้ำจากด้านหนึ่งลงมาอีกด้านหนึ่ง มาดูกันที่เบาะนั่งกันบ้าง สำหรับคันนี้ก็เหลือเบาะไว้เพียงแค่ตัวเดียวครับสำหรับคนขับ โดยเลือกใช้เบาะ BUCKET SEAT จาก RECARO รุ่น RS-G เป็นเบาะอีกหนึ่งรุ่นที่เพิ่มความกระชับและขับได้อย่างถูกท่า จากนั้นเพิ่มความปลอดภัยอีกหนึ่งจุดกันด้วยชุดเข็มขัดนิรภัยจาก SIMPSON ควบคุมรถได้อย่างมั่นใจด้วยพวงมาลัยก้านยกจาก VERTEX ต่อด้วยแผงสวิตช์ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ถูกติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งคอนโซลตรงกลาง อยู่ในตำแหน่งที่นักแข่งสามารถควบคุมได้อย่างสะดวก มาดูกันที่ตัวเรือนไมล์ เปลี่ยนมาเป็นของ AIM ถูกวางไว้แทนที่ตำแหน่งเดิม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรวัดที่ดูล้ำสมัยมาก ตัวเดียวสามารถวัดค่าการทำงานของเครื่องยนต์ได้ครบทุกจุด แถมยังสามารถตั้งหน้าจอ DISPLAY ได้ตามใจชอบ เลื่อนขึ้นไปด้านบนคอนโซลตรงกลาง เป็นที่อยู่ของเกจ์วัดบูสต์ AUTOMETER หน้าน้ำมัน จัดว่าเป็นอีกหนึ่งคันที่จัดรูปแบบของภายในออกมาได้อย่างสวยงามลงตัว

เครื่องซิ่งในแบบฉบับ “ผู้จัดการโอ๊ต”
มาถึงหัวใจสำคัญของความแรงกันบ้าง เรื่องราวของเครื่องยนต์นั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องการความละเอียดอ่อนสูงมาก หัวใจสำคัญก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการใส่ใจรายละเอียดในการประกอบเครื่องยนต์ การเช็กค่าเคลียแรนซ์ต่างๆ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความทนทานและความแรงเลยก็ว่าได้ สำหรับพื้นฐานของเครื่องยนต์ตัวนี้เป็นเครื่องยนต์รหัส 4JK1 ขนาดความจุ 2,500 c.c. แต่เพื่อแรงม้าแรงบิดที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องทำการอัปสเต็ปกันบ้าง เราเริ่มกันตั้งแต่ด้านบนกันเลยดีกว่าครับ อันดับแรก เปิดฝาวาล์วออกมาก่อนเลยครับ ว่ากันด้วยเรื่องของชุดสปริงวาล์ว ทางผู้จัดการโอ๊ตต้องทำการลองผิดลองถูกกันจนหาจุดที่พอดีที่สุดสำหรับเครื่องตัวนี้ ซึ่งสปริงวาล์วแต่ละเบอร์แต่ละแบบก็มีค่าความแข็งที่แตกต่างกันออกไป ถ้านิ่มไปก็คงจะไม่ดี หรือถ้าแข็งไปก็คงจะไม่ได้ เพราะฉะนั้น แค่ไหนล่ะ ถึงจะเหมาะสม มันก็ต้องลองผิดลองถูกกันไปครับ เดี๋ยวก็เจอสิ่งที่ลงตัว ต่อกันที่แคมชาฟต์ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์กับระบบวาล์ว องศา ระยะการปิด-เปิดก็อยู่ที่แคมชาฟต์ด้วยแหละครับ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสูตรเด็ดเคล็ดลับที่ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยสูตรแคมชาฟต์จากผู้จัดการโอ๊ต และอีกหนึ่งอย่างที่แต่ละอู่แต่ละสำนักไม่สามารถเลียนแบบกันได้ ก็คือสูตรของการทำฝานั่นเองครับ อันนี้ก็อยู่ที่ว่าสูตรใครสูตรมันแหละครับ ใครทำออกมาแล้วแมตช์ ก็ถือว่าโชคดีไป ใครทำแล้วไม่แมตช์ก็งมหากันต่อไป สำหรับคันนี้ทำฝาจากไก่ชิมวาล์ว  มาถึงในส่วนของลูกสูบกันบ้าง เป็นลูกสูบไซซ์ 75 จาก MRX ตามด้วยก้านสูบที่มีความคงทน แข็งแรง สามารถทนต่อแรงบูสต์ของเทอร์โบและแรงบิดที่เกิดจากการโมดิฟายเพิ่มขึ้นมาได้อย่างดี จาก MRX ตามด้วยข้อเหวี่ยง 3000 จาก MRX อีกเช่นกันครับ ส่วนเรื่องของกล่องECU นั้น สำหรับคันนี้ได้ทำการพ่วงกล่องดันรางและกล่องยกหัวฉีด ตามด้วยการรีแมปกล่องหลักจาก PROSPEED คงไม่ต้องบอกนะครับ ว่ากล่องพ่วงชุดนี้มันดียังไง เห็นจากรถแข่งก็พอจะรู้กันดีอยู่แล้วครับ กับค่าย PROSPEED

TURBO ปาก 46 โมฯทุกจุดสุดตาราง
มาถึงเรื่องของระบบอัดอากาศกันบ้าง ทำยังไงก็ได้ให้เทอร์โบเดิมวิ่งให้เร็วที่สุด แน่นอนที่สุดแหละครับ จะวิ่งให้เร็ว วิ่งให้แรง วิ่งให้จบ มันต้องมีความทนทานมาเป็นอันดับแรก สำหรับคันนี้เลือกใช้เทอร์โบจากทางไพศาลเทอร์โบ ซึ่งเทอร์โบที่ใช้ในการแข่งขันรุ่นนี้นั้น จะถูกปรับแต่งใหม่ทั้งหมด มีการอัปสเต็ปของตัวแกนเทอร์โบให้มีความแข็งแรง ทนทานสูง ใบเทอร์โบมีการอัปไซซ์กันแบบสุดโต่งกันเลยทีเดียว ซึ่งในรุ่นนี้บูสต์กันอยู่ที่ 60 ปอนด์ ส่วนโข่งหลังก็ต้องตามกติกาครับ ยังคงเป็นโข่งเดิมอยู่  เรื่องของใบหลังและการคายไอเสียนั้น ก็แล้วแต่สูตรใครสูตรมันแหละครับ ระบายดี ระบายไว ก็โชคดีไป ใครคำนวณผิดก็โข่งหลังระเบิดกันไปครับ การแข่งขันไม่ใช่แค่ความสมบูรณ์แบบอย่างเดียว บางทีบางครั้งก็ต้องพึ่งดวงกันด้วย ระบายความร้อนของอากาศด้วยชุดอินเตอร์คูลเลอร์จาก PWR เป็นอินเตอร์น้ำ มีคุณสมบัติลดความร้อนของอากาศได้ดีกว่าอินเตอร์ฯอากาศ ซึ่งอินเตอร์ฯแบบนี้จะมีส่งผ่านน้ำเข้ามาช่วยในการระบายความร้อนอยู่ตลอดเวลา ท่อทางเดินอากาศเดินใหม่ทั้งหมด เป็นแบบดัดทราย เป็นอีกหนึ่งผลงานจากเก่งเฮดเดอร์

ระบบน้ำมันคือหัวใจสำคัญของดีเซล
มาดูกันว่ารุ่นนี้ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงเค้าโมฯกันยังไงบ้าง สำหรับระบบน้ำมันเชื้อเพลิงของคันนี้ถูกย้ายขึ้นมาอยู่ที่ภายในตัวรถเพื่อง่ายต่อการเซอร์วิส แรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องยนต์ดีเซล เพราะฉะนั้น คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการโมดิฟายปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับคันนี้หันมาคบหากับปั๊ม 3 โรเตอร์ เพื่อให้สามารถสร้างแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการของเครื่องยนต์ รางหัวฉีดเปลี่ยนมาเป็นแบบรางโต เพื่อสามารถทนต่อแรงดันที่เพิ่มมากขึ้นได้ จ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด BOSCH 901 ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านปั๊มติ๊ก BOSCH 125×2 ควบคุมแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเร็กกูเรต HYB

ระบบส่งกำลังที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ตัวกลางของการถ่ายทอดกำลังของเครื่องยนต์ก่อนที่จะกระจายลงสู่พื้น แน่นอนที่สุดครับ มันต้องผ่านชุดคลัตช์ซะก่อน สำหรับคันนี้เลือกใช้คลัตช์ของทาง BRC สเต็ปชุดคลัตช์ของคันนี้เป็นสเต็ปเดียวกันกับ F55 PRO เป็นผ้า 16 ก้อน จากนั้นส่งกำลังผ่านชุดเกียร์ VGS ซึ่งเป็นเกียร์ที่เกิดมาเพื่อการแข่งขันจริงๆ ครับ อัตราทดของเกียร์ VGS ถือว่ามีความแมตช์กับสเต็ปนี้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญ คือมีความทนทานสูง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมนิยมใช้กันเยอะจัง  จากนั้นกระจายกำลังลงสู่พื้นด้วยเฟืองท้ายอัตราทด 3.0 เต็ด 100%

ช่วงล่าง 4 Link วิ่งดีแน่นอน
มุดลงมาดูที่ช่วงล่างกันต่อเลยครับ เมื่อเครื่องยนต์ถูกปรับแต่งให้มีแรงม้าและแรงบิดที่เดิมมากขึ้น แล้วการจับม้าลงพื้นก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่จะว่าง่าย ก็ง่าย จะว่ายาก มันก็ยาก สำหรับระบบช่วงล่างของคันนี้ดูแลโดยเก่งเฮดเดอร์ สาย 4 ครับ ระบบโช้คอัพด้านหน้าเปลี่ยนมาเป็นของ SUPER-J ส่วนด้านหลังเลือกใช้ของ KONI DRAG ระบบช่วงล่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่เป็นแบบ 4 LINK ซึ่งจะว่ากันง่ายๆ อธิบายให้เข้าใจกันหมดก็คือ การสร้างจุดยึดขึ้นมาเพื่อล็อกการให้ตัวของเพลาท้ายเอาไว้นั่นแหละครับ เพราะแรงกระทำที่มาจากเครื่องยนต์นั้นค่อนข้างมาก เมื่อเพลาท้ายมีความนิ่ง สิ่งที่ได้มาก็ความสมูทในการออกตัว รถมีความนิ่ง ไม่เสียอาการ แรงที่ได้มาถูกถ่ายทอดลงพื้นหมด ส่วนโช้คอัพด้านหลังถูกปรับตำแหน่งให้เป็นแบบโช้คตั้ง เพื่อให้โช้คอัพสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ในจังหวะที่มีการยึดและยุบตัว ทำได้อย่างสมบูรณ์

เป็นยังไงกันบ้างละครับ สำหรับสเต็ปการโมดิฟายตัวแข่งในรุ่นของ ปาก 46 PRO ถ้าจะให้วิ่งดี วิ่งสมบูรณ์ มันก็ต้องใส่ใจรายละเอียดกันแบบทุกเม็ดเลยทีเดียวครับ ไม่ใช่ว่าเครื่องแรงอย่างเดียว แล้วจะวิ่งได้ ช่วงล่างต้องมีความสัมพันธ์กันด้วย และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานของอู่ผู้จัดการโอ๊ตครับ ใครสนใจที่จะทำรถบ้านหรือรถแข่งวิ่งสนามหรือหลังถนน ก็สามารถเข้าไปขอคำปรึกษากันได้ครับ

STEP สุดฮิต รถบ้านยางบาง TURBO ปาก 46 ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน
อีกหนึ่งกระแสที่กำลังมาแรงในยุคนี้คงจะปฏิเสธไม่ได้สำหรับการปรับแต่งรถกระบะในรุ่นของรถบ้านยางบาง พิกัดเทอร์โบปาก 46 mm. ซึ่งการปรับแต่งแนวนี้สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด เรียกว่าลงทุนทำรถครั้งเดียว สามารถขับขี่ใช้งานกันได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตประจำวัน หรืออยากจะแอบซิ่งกับเพื่อนร่วมทางในสไตล์หลังถนน รวมไปถึงเข้าร่วมการแข่งขันในรุ่นรถบ้านยางบางก็สามารถทำได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมสเต็ปนี้ถึงได้เป็นที่นิยมและได้การตอบรับเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะอู่ไหน สำนักไหน ต่างก็ต้องมีตัวแรงรุ่นนี้เอาไว้ประดับอู่ และสำหรับในคอลัมน์นี้ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานการปรับแต่งโมดิฟายตัวแข่งรถบ้านยางบาง เทอร์โบปาก 46 จากผู้จัดการโอ๊ตมาให้ได้ชมกัน

BODYเต็ม แข่งก็ได้ ใช้งานก็ดี
สำหรับรถที่จะใช้ในการแข่งขันในรุ่นรถบ้านยางบางนั้น มิติตัวรถต้องอิงสภาพเดิมโรงงาน แอร์เย็น  เพลงเพราะ ถังน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอยู่ในตำแหน่งเดิม สำหรับคันนี้ตัวรถเป็น ALL NEW D-MAX ปี2018 สีบรอนซ์เงิน เป็นรุ่นหัวเดี่ยว ตัวถังยังคงสภาพเดิมโรงงานทั้งคัน มีปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเข้าไปก็แค่ฝากระโปรงหน้าเป็นงานคาร์บอนจาก AKANA ตามด้วยชุดประตูคู่หน้าก็เปลี่ยนมาเป็นคาร์บอนอีกเช่นกัน จาก MONZA กระจกมองข้างเปลี่ยนมาเป็นของ CRAFT SQUARE ลักษณะภายนอกของตัวแข่งในรุ่นรถบ้านยางบางนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องของการจัดทรงรถเพื่อให้สามารถวิ่งได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ถ้ามองจากด้านข้างตัวรถจะมีการถ่ายน้ำหนักลงไปที่ด้านหลัง หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าหน้าเชิดนั่นแหละครับ ด้วยการปรับแต่งที่ค่อนข้างจะมีกติกาเข้ามาจำกัด การปรับแต่งจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกันไปเพื่อให้รถสามารถวิ่งได้อย่างสมบูรณ์

ภายในยังคงความเป็นรถบ้านเต็มตัว
เปิดประตูเข้ามาดูเรื่องราวของภายในกันบ้าง ถ้าไม่ได้สัมผัสความเบาของประตูคาร์บอนก็คงไม่รู้ว่าเป็นรถแข่งหลอกครับ แวบแรกที่เห็นภาพของภายในห้องโดยสาร ยังคงความเป็นรถบ้านได้อย่างเต็มตัว  ไม่ว่าจะเป็นคอนโซล พื้น พรม ยังมีให้ใช้กันอยู่แบบครบๆ ระบบแอร์ยังคงใช้งานได้ปกติ วิทยุยังเปิดฟังได้ มีเพียงเบาะคู่หน้าที่ต้องเปลี่ยน เพื่อให้ผู้ขับขี่มีความกระชับและมั่นใจในการขับขี่มากยิ่งขึ้น โดยหันมาคบหากับเบาะที่มีน้ำหนักเบา และรถแต่งหลายสำนักให้ความไว้วางใจเลือกใช้ นั่นก็คือเบาะ KIRKEY นั่นเองครับ มาพร้อมกับผ้าสีดำทั้งฝั่งคนนั่งและคนขับ  ควบคุมการขับขี่ได้อย่างมั่นใจ ด้วยการเปลี่ยนพวงมาลัยมาเป็นของ NARDI ก้านยก เลื่อนขึ้นไปดูกันต่อที่ด้านบนคอนโซล ตรงกลางเป็นที่อยู่ของเกจ์วัดรอบจาก DEFI BF ทางด้านขวามือติดกับเสาเอ เป็นที่อยู่ของเกจ์วัดบูสต์ AUTO METER หน้าน้ำมัน ขายึดเป็นไทเทเนียมจากเม้งซัง และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของภายในตัวแข่งรถบ้านยางบางครับ

STEP เครื่องซิ่ง TURBO ปาก 46
เปิดฝากระโปรงมาดูเรื่องราวของความแรงกันบ้าง กับเครื่องยนต์รหัส 4JK1 ขนาดความจุ 2,500 c.c. เป็นเครื่องตัวยูโร 3 ในเรื่องของการโมดิฟายเครื่องยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันรุ่นนี้นั้นก็คงจะไม่แตกต่างกันกับรุ่นโปร สักเท่าไหร่ เรามาเริ่มต้นดูกันทีละจุดเลยดีกว่าครับ ในส่วนของระบบวาล์ว สำหรับสเต็ปนี้คงจะไม่ต้องใช้ค่าความแข็งของสปริงวาล์วเท่ากับรุ่นโปร เพราะไม่ต้องการใช้รอบที่หนักหน่วงมากนัก  จากนั้นมาดูกันที่แคมชาฟต์ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์การโมดิฟายที่แต่ละอู่แต่ละสำนักต่างก็มีการปรับแต่งที่แตกต่างกัน มีการประดิษฐ์คิดค้นที่ต่างกันออกไป แล้วแต่สูตรใครสูตรมัน สำหรับคันนี้ก็เป็นสูตรของทางผู้จัดการโอ๊ต ที่นั่งคิดวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า องศาเท่านี้ ระยะปิด-เปิดเท่านี้ เหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุดแล้ว มาดูที่ลูกสูบกันต่อ สำหรับคันนี้เลือกใช้ลูกสูบคุณภาพดี มีความทนทาน แข็งแรงสูง จาก MRX ต่อด้วยก้านสูบซิ่งจาก MRX อีกเช่นกัน เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของเครื่องยนต์ ถ้าก้านสูบไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถรองรับกับความแรงที่เพิ่มมากขึ้นได้ ในบางครั้งเราก็จะได้เห็นการออกมาชมโลกของเจ้าก้านสูบได้  สุดท้ายก็จะเป็นในส่วนของข้อเหวี่ยง ก็เลือกใช้ของ MRX อีกเช่นกัน ซึ่งสำหรับคันนี้เลือกใช้ข้อเหวี่ยงในพิกัด 3,000 c.c. ในอนาคตผู้จัดการโอ๊ต กระซิบเรามาว่า มีขยับสเต็ปอย่างแน่นอนสำหรับเครื่องตัวนี้  อัปสเต็ปเครื่องยนต์กันเป็นทีเรียบร้อยแล้ว มันก็ต้องมีการปรับจูนกันซะหน่อย เรื่องราวของระบบ ECU นั้น สำหรับคันนี้เลือกใช้การพ่วงกล่องดันรางและกล่องยกหัวฉีดจาก PROSPEED จากนั้นยังได้ทำการรีแมปกล่องหลักจาก DCK เมื่อสองค่ายนี้มาเจอกัน ปรับจูนให้ลงตัวแล้ว เรื่องของความแรงไม่ต้องพูดถึงครับ มีให้ได้ใช้กันแบบครบๆ ต้น กลาง ปลาย มาถึงเรื่องของระบบอัดอากาศกันบ้าง สำหรับเทอร์โบที่ใช้ในการแข่งขันรุ่นนี้เป็นเทอร์โบฝาหน้าสามพัน ที่ปรับแต่งยังไงก็ได้ แต่หน้าตาต้องเหมือนเดิม บอกเลยครับว่าเทอร์โบรุ่นนี้นั้นมีการปรับแต่งกันแบบสุดตาราง ไส้ในถูกปรับแต่งให้มีความทนทานกับแรงบูสต์ถึง 60ปอนด์ได้อย่างสบายๆ เรื่องของตัวเทอร์โบนั้น เลือกใช้ของทางไพศาลเทอร์โบครับ ระบายความร้อนของอากาศด้วยอินเตอร์คูลเลอร์จาก TRUST หนา 4 นิ้ว ท่อทางเดินอากาศเดินใหม่ทั้งหมดจากชายอินเตอร์

ระบบน้ำมันแรงดันต้องดี
เรื่องของระบบเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลนั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเรื่องของการสร้างแรงดันของตัวปั๊มคอมมอนเรล ถ้าแรงดันเพียงพอต่อความต้องการของเครื่องยนต์ เรื่องของความแรงก็คงจะไม่ต้องพูดถึงหรอกครับ แรงได้ไม่ยากแน่นอน สำหรับในสเต็ปนี้ก็คงไม่ต้องถึงขนาดปั๊มพ่วงปั๊มโยงกันหรอกครับ แต่ตัวปั๊มได้ทำการโมดิฟายกันใหม่ รับหน้าที่โดยน้าพงศักดิ์ดีเซล เมื่อแรงดันเพิ่มมากขึ้นได้ตามต้องการแล้ว รางหัวฉีดก็ต้องปรับเปลี่ยนตามมาด้วย เพราะถ้าไม่เปลี่ยน รางเดิมอาจจะไม่สามารถทนต่อแรงดันที่เพิ่มมากขึ้นได้ จึงเปลี่ยนมาเป็นรางโต รางโตคืออะไร ทำไมใช้กันเยอะจัง ซึ่งก็เป็นรางหัวฉีดของรถหกล้อตัวนอกนั่นแหละครับ ปรับเปลี่ยนมาใช้กับรถแข่งในบ้านเรา ส่งผ่านน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยปั๊มติ๊ก BOSCH 125×2 จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด BOSCH 901 ควบคุมแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเร็กกูเรต HYB สำหรับในรุ่นนี้ถังน้ำมันยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมอยู่ครับ ตามกติกาการแข่งขัน

ถ่ายกำลังลงสู่พื้นBy “เก่งเฮดเดอร์”
เมื่อเครื่องยนต์ถูกปรับแต่งโมดิฟายให้มีแรงม้าและแรงบิดที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว การจับฝูงม้าที่เพิ่มขึ้นมาให้ลงสู่พื้นก็คงจะไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าไม่มีกติกามาบีบบังคับ ด้วยรุ่นการแข่งขันของรถบ้านยางบาง ในเรื่องของการดัดแปลงอาจจะทำได้อย่างไม่เยอะมากนัก แต่ก็ไม่เกินความสามารถของช่างไทยอย่างแน่นอน เรามาเริ่มต้นกันที่การถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์กันก่อนเลยครับ ในเรื่องของคลัตช์ สำหรับคันนี้เลือกใช้คลัตช์จาก TC CLUTCH ส่งกำลังผ่านชุดเกียร์ VGS ก็อย่างที่บอกไปแหละครับ ว่าไอ้เจ้าเกียร์ VGSเนี่ย มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรถกระบะซิ่งบ้านเราจริงๆ  ในเรื่องของอัตราทดที่พอเหมาะพอเจาะ รวมไปถึงเรื่องของความทนทาน เจ้าเกียร์รุ่นนี้ก็ทำได้ดีมาก กระจายกำลังลงสู่พื้นด้วยเฟืองท้ายอัตราทด 3.0 จาก MRX มาดูเรื่องของระบบซับแรงกระแทกกันบ้าง สำหรับคันนี้เลือกใช้โช้คอัพจาก SUPER-J ทั้งสี่ต้น  ส่วนเรื่องของช่วงล่างนั้น รับหน้าที่โดยเก่งเฮดเดอร์ สาย 4 ติดตั้ง A-ARM ข้างเดียว พร้อมกับตัว ANTI ROLLBAR ตำแหน่งของโช้คอัพทำเป็นโช้คตั้ง สำหรับสเต็ปนี้จะช่วยให้การออกตัวสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การต่อเกียร์ดี รถไม่เสียอาการ ควบคุมรถง่ายตั้งแต่ออกตัวไปจนถึงปลายเส้น

สเต็ปนี้คุ้มสุดแล้วกับการปรับแต่งโมดิฟาย ขับใช้งานก็สนุก ใช้แข่งขันก็สบาย เปลี่ยนยางคู่เดียวรู้เรื่อง ลงแข่งได้เลย เพราะการปรับแต่งในรุ่นนี้ไม่ได้หนักมาก จึงสามารถขับขี่ในสไตล์หลังถนนและขับใช้งานได้อย่างไม่ยากนัก และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวความแรงและความสวยงามจากอู่ผู้จัดการโอ๊ตครับ เล่มหน้าจะเป็นการปรับแต่งแนวไหน จะสวย หรือจะแรง ต้องคอยติดตามคอลัมน์ TRENDY TRUCK กันต่อไปครับ….สวัสดีครับ

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome