Retro 241
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
ร่ำๆ ว่าจะยั้งการเขียนประวัติรถ Retro ในแต่ละรุ่นที่มาโชว์โฉมในคอลัมน์นี้ลงบ้าง ประการแรก “เขียนไปบ่อยแล้ว” พรรคพวกก็ว่าเขียนซ้ำๆ เออ ก็จริงนะ เพราะใน Retro Car Special Vol.1-2 ก็จัดเต็มกันไปแล้ว ประการที่สอง “ไม่อยากเขียนมากจนเบียดบังพื้นที่ความงามของภาพรถ” ประการสุดท้าย “เอาเป็นว่าถ้ามีอะไรน่าสนใจจะใส่ไว้ให้” แบบไม่ฝอยกันยาวก็แล้วกัน เพราะอย่าง SKYLINE C10 ก็คงจะได้อ่านข้อมูลกันไปบ่อยแล้ว แต่ว่า สำหรับคนที่ “ไม่ทันอ่าน” ก็เอาจุดหลักไปชมละกันเนอะ สำหรับคันนี้ เป็น “มัสตาร์ดสุดเลิฟ” ของ “คุณวสันต์ เหล่าเรืองธนา” ที่เคยให้ SKYLINE 1800 Deluxe PC10 สีเทา และ SUNNY 1400 GX KB110 สีเขียว มาชมเมื่อ 2 ปี ที่แล้ว งานนี้ปั้น PC10 ตัวใหม่ แต่ “เก่ากว่าเดิม” คือ รุ่น 1500 Standard Sedan ออกมา เปลี่ยนลุคเป็นแนว Retro Racing แต่ “ขับขี่บนถนนได้อย่างสบาย” ตามไลฟ์สไตล์เจ้าของรถวัยหนุ่มใหญ่…
- ครอบไฟหน้า โชว์ออยล์ฯ สไตล์ Retro Racing เปลือยๆ แบบนี้ “ขับเล่นกินลมวันถนนโล่ง” จะเหมาะมาก
- เปลี่ยนลุคใหม่ขึ้นอีกนิด ด้วยล้อ PANASPORT C8 แคมเบอร์ล้อหน้าลบเยอะเพื่อหลบซุ้ม ก็ดูซิ่งๆ ในแบบเซอร์กิต เส้นสายด้านข้างนี่เป็น “จุดยุทธศาสตร์” ของ C10 ที่จะบ่งบอกความสวยงามของตัวรถได้ ถ้าเสียทรง หรือ หายไป แสดงว่า “โดนหนักทั้งแถบ” มาแล้ว เป็นสิ่งที่คนเล่น C10 ต้องพิจารณาเรื่องเส้นและทรงก่อนจะซื้อรถ
- โลโก 2000 GT ที่ยังเป็นรองรุ่น 2000 GT-X ซึ่งมีระบบ “อำนวยความสะดวก” มากกว่า เช่น กระจกไฟฟ้า, วิทยุ ฯลฯ สำหรับ “ไฟท้าย” คันนี้เป็น 2000 GT ซึ่งดูเผินๆ แล้วจะเหมือนกันระหว่าง 2000 GT (KGC10) และ 2000 GT-R (KPGC10) แต่จริงๆ แล้ว “ต่างกัน” ครับ ไฟท้ายรุ่น GT ขอบไฟท้ายด้านใน (ที่อยู่ใกล้โลโก) จะเป็น “ตัดเรียบ” เพราะมันจะมี “แผงชิ้นกลาง” สีดำ ส่วน GT-R ขอบไฟท้ายด้านในจะมี “ติ่ง” ยื่นออกมา เพราะมันไม่มีแผงชิ้นกลาง เป็นจุดที่แตกต่างกันแบบ “ต้องสังเกต” ครับ ส่วนโลโกข้าง “เอวหลัง” เปลี่ยนเป็นของ GT และ GT-R ซึ่งโดยปกติ รุ่นหน้าสั้น จะเป็นโลโก้ SKYLINE ครับ
1500 Sedan “First Version” in 2000 GT Look
โดยปกติ SKYLINE C10 จะมีแชสซีส์อยู่ 2 แบบ แบบแรก “หัวสั้น ช่วงล่างหลังแหนบ” คือ รุ่น 1500 Standard Sedan และ 1800 Deluxe Sedan กับ 1800 Wagon ส่วนรุ่น “หัวยาว ช่วงล่างหลังอิสระ” จะเป็น 2000 GT และ GT-R ซึ่งในบ้านเรา มีจำหน่ายเฉพาะรุ่น “หัวสั้น” เท่านั้น ที่เป็นรถจากสยามกลการ (ไม่นับรวมรถที่นำเข้ามาเองนะครับ) โดยคันนี้จะเป็นรุ่น 1500 Standard รหัส C10 เฉยๆ (ถ้าเป็น 1800 จะเป็น PC10) สำหรับอุปกรณ์ของรุ่น 1500 ขอพูดถึง “เวอร์ชั่นแรก” กันก่อน กระจังหน้าจะเป็นแบบ “เส้นขวางในแนวนอน” ยาวจรดไฟหน้าทั้งสองฝั่ง ไฟท้าย ถ้าเป็นรถปี 1969 จะเป็นแบบทรงยาว และมีครอบโครเมี่ยมเป็นเส้นๆ เรียกกันว่า “ไฟท้ายกรง” ไม่มีแผงกลางเหมือน 1800 Deluxe ภายในจะสุดคลาสสิก ด้วยพวงมาลัย 2 ก้าน หน้าปัดจะเป็น “เรือนไมล์ยาว” (รายละเอียดอื่นๆ จะบรรยายเพิ่มใต้ภาพ) เบาะนั่งไม่มีหมอนพิงทุกรุ่น (เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ) กระทะล้อเป็นเหล็ก พร้อมฝาครอบแบบ “เฉพาะดุมกลาง” ไม่ครอบเต็มใบเหมือนรุ่น 1800 มาพร้อมยางโบราณขนาด 5.60-13-4PR ระบบเบรกเป็น “ดรัม 4 ล้อ” ถ้าจะเอา “ดิสก์” ก็ต้องสั่งเพิ่ม ส่วนขุมพลัง เป็น G15 “ECONOMIC” 1.5 ลิตร “94 แรงม้า” ที่ 6,000 rpm ระบบ “เกียร์” เป็นเกียร์ธรรมดาแบบ “3 สปีด” ซึ่งจะเป็น “ด้ามเกียร์ที่คอพวงมาลัย” (Column Shift Lever) และ “4 สปีด” จะเป็น “ด้ามเกียร์ที่โผล่จากพื้น” (Floor Shift Lever) ก็พอสังเขปแบบ “ถึงใจ” นะครับ…
- เปลี่ยนอารมณ์บ้าง ล้อ PANASPORT G8 “กล้วยหักมุก” ก้านสั้นๆ ทรงเสน่ห์แบบแตกต่าง ไม่ยึดติดกับเทรนด์เดิมๆ โลโกข้างแก้มเป็น GT (KGC10) แต่ที่ต้องติดสูงแบบนี้ เพราะตัว “หน้าสั้น 4 สูบ” พื้นที่ไม่พอ จึงไม่สามารถติดตำแหน่งเดียวกับตัว “หน้ายาว 6 สูบ” ได้
- กระจกหูช้างสุดเท่ พูดถึง “กระจก” ถ้าเป็นรุ่น 1800 จะเป็นแบบ “ช่วยกรองแสง” (Tint Window Glass) รุ่น 1500 ไม่มีครับ
- พวงมาลัย GT ไม้สลับหนัง แป้นแตร GT-R คันนี้ภายในโดยรวมยังสดใส สะอาดเรียบร้อยอยู่เป็นอย่างดี คันนี้เปลี่ยนเกียร์เป็นแบบ “กระปุก” ซึ่งดั้งเดิมจะเป็น “เกียร์คอ” แบบ Manual 3 สปีด โคตรเก๋าอ่ะ !!!
- เรือนไมล์ยาว เอกลักษณ์ของ 1500 & 1800 โฉมแรก ก็มีข้อแตกต่างอีกเหมือนกัน รุ่น 1500 Sedan และ 1800 Wagon จะเป็น “คาดคิ้วสีเงิน” ส่วนรุ่น 1800 Deluxe Sedan จะเป็น “คาดลายไม้” ตัวเรือนไมล์ 1500 และ Wagon จะไม่มี Trip Meter เป็นแค่ร่องบากลงไปเฉยๆ “จะเอา” ก็ต้อง “สั่งเสริม” เว้นแต่รุ่น 1800 Sedan จะเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
- เบาะเดิม ทำใหม่หุ้มหนังอัดลายดั้งเดิม คงกลิ่นอายวันวานไว้เป็นอย่างดี
Comment : คุณวสันต์ เหล่าเรืองธนา
ส่วนตัวผมเอง แต่ก่อนก็เล่นรถสายยุโรปมาก่อน และหันมาเล่นกับ Japan Retro ซึ่งแน่นอนว่า หนึ่งใน Collection ของผม จะต้องบรรจุ SKYLINE C10 เอาไว้เสมอ เพราะเป็นรถที่มีชื่อเสียง และตัวรถก็มีคุณภาพสูงแบบ “ตั้งใจทำ” คันนี้ก็เป็นแบบ “2 Become 1” เพราะเอารถสองคัน ได้มาจาก จ. ชลบุรี และ จ. เชียงใหม่ มาเอาของรวมกันให้ได้ครบถ้วนและเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ งานสีก็ใช้ช่างถึง 4 ชุด ทำตามขั้นตอน ซึ่งผมก็ได้ไปกำกับเอง ทำแบบ 2000 GT Look ให้มันดูสปอร์ตๆ หน่อย คันนี้ก็ต้องขอขอบคุณ ช่างรัก บางพลี ทำเครื่องยนต์, ฮวด บ้านแพ้ว, ไก่ บิดของจากญี่ปุ่น, อั๋น ประกอบและดูแลรถ…
- ขุมพลังข้ามรุ่นเป็น L16 ของดั้งเดิมเป็นทั้ง G15 และ G18 ข้อดีของเครื่อง G คือ “เป็นฝาสูบแบบ Cross Flow” หรือ “วาล์วไอดี-ไอเสีย อยู่คนละฝั่งกัน” แบบเครื่องยุคใหม่ แต่เครื่อง L จะเป็นฝาสูบ Turn Flow วาล์วไอดี-ไอเสีย อยู่ฝั่งเดียวกัน ถามว่าทำไมต้องเลือกวาง L16 เพราะ “อะไหล่หาง่ายกว่าเครื่อง G” อย่างมาก ทำให้ง่ายต่อการปรับปรุงสภาพนั่นเอง
X-TRA ORDINARY
สำหรับ Retro Racing Look ของคันนี้ สำหรับ “ออยล์คูลเลอร์” ที่มาห้อยอยู่หน้ารถ จริงๆ แล้วไม่ได้เอาเท่อะไรหรอก มันมาจาก “ความจำเป็น” เนื่องจากรถรุ่นเก่า ด้านหน้าจะเป็นโครงสร้างแบบ “เหล็กเต็ม” และกันชนติดอยู่ด้านนอก จึงไม่มีที่ใส่ ออยล์คูลเลอร์ ด้านใน ถึงจะเอาไว้ด้านในได้ก็ถูก “เหล็กบัง” ระบายไม่ดี ก็เลยต้องถอดกันชนออกแล้วห้อยไว้ข้างหน้าแบบนี้ เลยกลายเป็นแฟชั่นสำหรับ Retro Racing กันจนถึงตอนนี้ ถ้ารถวิ่งถนนปกติ ก็ต้องระวัง “สะเก็ดหินมาโดน” ทำให้ “รั่ว” ได้ เพราะมันรับเต็มๆ ไม่มีอะไรป้องกันเลย ไม่เหมือนสนามแข่งที่โอกาสจะเจอหินก้อนโตๆ มีน้อย ใครจะติดตั้งแบบนี้ต้องระวังกันหน่อยครับ…
Tech Spec
ภายนอก
ไฟท้าย : SKYLINE 2000 GT KGC10
ภายใน
พวงมาลัย: SKYLINE 2000 GT
แป้นแตร : SKYLINE 2000 GT-R
เครื่องยนต์
รุ่น: L16 by ช่างรัก บางพลี
คาร์บูเรเตอร์ : WEBER 40 x 2
เฮดเดอร์ : ช่างรัก บางพลี
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MSD 6A-L
คาร์บูเรเตอร์ : WEBER 45 DCOE
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : L16 5 สปีด
ฟลายวีล : Lightweight by ช่างรัก บางพลี
ช่วงล่าง
โช้คอัพ: KAYABA
ล้อหน้า-หลัง : PANASPORT C8 ขนาด 8 x 15
ยาง : MICHELIN PILOT SX ขนาด 195/50R15