เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่
จุดขายของ JAZZ คันนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “เกียร์” ต้องบอกก่อนนะครับ มันเป็น Air Shifter ก็จริง แต่คนละเรื่องกับเกียร์รถ Drag โดยสิ้นเชิง จุดประสงค์ของเกียร์ลูกนี้ก็คือ “ผลิตมาเพื่อการขับขี่โดยทั่วไปได้” สามารถ Shift Up และ Shift Down ได้ตลอดเวลา โดยมี “ปั๊มลม” อยู่ที่คอนโซลในตำแหน่งคันเกียร์ของเดิม สามารถสร้างลมไปคุม Solenoid ในการเปลี่ยนเกียร์ได้ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน เปลี่ยนเกียร์ที่ Paddle Shift หลังพวงมาลัย ใน Manual Mode และยังมี Auto Mode ที่ไม่ต้องกดเปลี่ยนเกียร์ใดๆ มันจะทำงานแบบ Auto สำหรับการขับขี่ใช้งานปกติ สำหรับความ “พิเศษ” ของเกียร์ลูกนี้ ทาง N Sports ต้องการ “โชว์ผลงานว่าทำได้” เหมือนเป็นตัวโชว์ของ Hollinger ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ ณ ตอนนี้ ยังไม่มีจำหน่าย ถือเป็น “ลูกแรกของโลก” ก็ว่าได้ คันนี้ก็เป็นรถที่ทำ “R&D” ซึ่งในอนาคตก็จะทำเป็นแบบ Bolt-on สำหรับรถ Street Used ทั่วไป ในราคาที่ “เอื้อมถึง” มีชุดคลัตช์มาให้พร้อม ติดตั้งได้เลย อันนี้เป็น Project ต่อไป…
- ชุดพาร์ท MUGEN ที่ดูสุภาพ ส่วนสติกเกอร์ หลังจากถ่ายทำจะถูกลอกออก เพื่อให้ลุครถดูเรียบร้อยสะอาดที่สุด
สำหรับสิ่งที่พิเศษในเชิงเทคนิค ทาง “Mr. Rhommell Singh” (รอมเมล ซิงห์) จากสิงคโปร์ ได้เป็นผู้ที่เซตการทำงานของเกียร์ Hollinger ลูกนี้ ก็ได้เผยรายละเอียดที่น่าสนใจของเกียร์ ประมาณนี้…
- การทำงานของเกียร์ จะถูกควบคุมโดยกล่อง MoTeC M150 ที่เป็น Stand Alone ECU สามารถคุมระบบเกียร์ได้ด้วย จะอาศัย Wheel Speed Sensor หรือ “สัญญาณความเร็วจากล้อ” เพื่อรายงานผลว่าตอนนี้รถวิ่งด้วยความเร็วเท่าไร แล้วป้อนข้อมูล “อัตราทดเกียร์” เข้าไปใน File กล่องก็จะคำนวณออกมาเป็น “รอบเครื่องยนต์” ได้เอง…
- เวลาเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้น (Shift up) กล่อง ECU จะ Retard หรือ “ลดองศาไฟจุดระเบิด” เพื่อ Drop กำลังของเครื่องยนต์ลงเป็นช่วงจังหวะสั้นๆ (แม้ว่าคันเร่งจะถูกเหยียบเต็มอยู่ก็ตาม) เหมือนกับถอนคันเร่งนิดๆ เพื่อให้เกียร์เข้าได้อย่าง Smooth และเร็วกว่า หลายคนคิดว่าการเข้าเกียร์ขณะเหยียบคันเร่งจมตลอด (Full Throttle Shift) นั้นเร็วกว่า ไม่จริงเสมอไป เพราะมันจะมีจังหวะกระแทก และเกิดแรง Shock ทำให้มีการ “ชะงัก” หรือ “สะดุ้ง” (Jerk) การส่งกำลังทำได้ไม่ดี และระบบส่งกำลังทั้งหมดจะ “เสียหายได้ง่าย” รวมถึงเครื่องยนต์ที่ข้อเหวี่ยงจะ “รุน” เพราะแรงกระแทกจากการเข้าเกียร์ ทำให้เครื่องยนต์อายุสั้นลง เสี่ยงพังได้มากขึ้น…
- เวลาเปลี่ยนเกียร์ต่ำลง (Shift Down) จริงๆ จะมีฟังก์ชัน Throttle Blip ก็คือ “การเปิดลิ้นเร่งเป็นจังหวะสั้นๆ” เหมือนเร่งรอบเครื่องให้สูงขึ้นสัมพันธ์กันกับความเร็วของรถ เหมือนกับทำ Heel & Toe นั่นเองครับ ทำให้เกิดอาการ Smooth เพราะรอบเครื่องสัมพันธ์กับเกียร์นั่นเอง ซึ่งเป็นการแก้ไขเวลาเราเปลี่ยนเกียร์ต่ำลง เหยียบคลัตช์รอบเครื่องจะตก เวลาเปลี่ยนเกียร์แล้วปล่อยคลัตช์ รอบเครื่องจะถูกกระชากขึ้นมาสูงอีกครั้ง และรถจะมีอาการสะดุ้ง กระชาก ล้อกระตุก ทำให้เสียอาการ และเกิดการเสียหายเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการ Throttle Blip เร่งรอบขึ้นให้มาสัมพันธ์กัน จะด้วยคนขับ (วิธี Heel & Toe) แต่คันนี้ยังไม่ได้ติดตั้งระบบดังกล่าว และไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงในขณะที่รอบเครื่องสูงเกินกว่ากำหนดได้ด้วย…
- มีเรื่องของ Safety เวลาเซ็นเซอร์ที่เกียร์เกิดอาการ Error หรือเสียหายจากเหตุอะไรก็ตาม ที่ไม่สามารถส่งข้อมูลตำแหน่งเกียร์ออกมาได้ เกียร์ก็ยังสามารถทำงานได้ปกติ เพราะกล่อง M150 ได้ข้อมูลความเร็วรถ และรอบเครื่อง จากที่ Calculated ไว้ตั้งแต่แรก และหากเกียร์เข้าไม่ได้ ระบบก็จะมีโปรแกรมพิเศษ พยายามเข้าเกียร์ซ้ำให้ 2 หรือ 3 ครั้ง แล้วแต่การตั้ง ก็เหมือนมี Back up ไว้กันพลาด…
- ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ ว่าด้านหลัง Wide body มาด้วย แต่ทำแบบเนียนมาก ช่วงล่างหลังตอนแรกจะยกแพ INTEGRA DC5 มาใส่ทั้งชุด แต่คิดไปคิดมา มันต้อง “ตัดเชื่อม” หลายอย่าง เลยหยุดไว้แค่นี้ ซึ่งไปเน้นการเซตดีๆ ก็ “แหล่ม” แล้วครับ
Max Power: 337 hp @ 7,500 rpm
Max Torque: 34 kg-m @ 6,300 rpm
ครั้งนี้ผมได้มาที่ MB Garage พระราม 3 เพื่อมาดูคันนี้ขึ้น Dyno จุดสำคัญที่ต้องการทราบ คือ “ดูการทำงานของเกียร์” เพราะมันแปลกดีไง สำหรับสิ่งที่ผมแปลกใจก็คือ “เครื่องเดินเบาะได้เงียบและเรียบ” ผิดไปจากคาดว่าจะต้องมี “ลูกเขย่า” เพราะแคมชาฟท์ก็ไปถึง Stage 3 เชียวนะ เรียกว่าต้องมายืนหน้าห้อง Dyno Test ถึงจะได้ยินเสียงท่อเพียงเบาๆ ส่วนอาการตอบสนองของเครื่องยนต์ เวลากดคันเร่งจะ “ตอบสนองได้ดุดัน” และ “รวดเร็ว” ไม่รอรอบ จาก “แรงบิดหนักหน่วง” เป็นเพราะการขยายความจุที่มากถึง 2.6 ลิตร อีกอย่าง ขนาดของลิ้นเร่งก็ลดลงเหลือไซส์เล็กสุด เพราะต้องการ “ขับถนนได้ง่าย” และ “ตอบสนองไว” กดแล้วไปเลย แม้ว่าตัวเลขที่ได้อาจจะไม่ได้ตื่นตาตื่นใจนัก แต่ก็เป็นเพราะความต้องการของเจ้าของรถ ที่ไม่เน้นแรงม้ามากๆ เหมือนรถแข่ง และทางคนจูนเอง ก็เน้นรายละเอียดในการจูนมากตามโจทย์ที่ตั้งไว้ จริงๆ แล้วใน “สิงคโปร์” การจูนรถในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ “ต้องทำให้ได้” เนื่องจากในสิงคโปร์ คนส่วนใหญ่จะมีรถแค่คันเดียว เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์นั้นสูงมาก ดังนั้น พวกรถโมดิฟายแรงๆ ก็จะต้องขับใช้งานได้ด้วย เสียงต้องไม่ดังเกินไป เพราะกฎหมายค่อนข้างเข้มงวด…
สำหรับ “กราฟแรงม้า” ดีดชันเป็นมุม 45 องศา (โดยประมาณ) อย่างต่อเนื่อง อย่าลืมว่านี่เป็นเครื่อง N.A. นะครับ ดีดอย่างกับเทอร์โบเลย ในช่วงรอบต้นๆ 3,500 rpm มีแรงม้า 138 hp ซึ่งเพียงพอกับการใช้งานทั่วไปสบายๆ ที่ 4,500 rpm แรงม้าออกมาให้ใช้ถึง “191 hp” เชียวนะ หลังจากนั้นกราฟก็จะทะยานขึ้นต่อเนื่อง “ไม่มีล้ม” ไปจนสุด 7,500 rpm ซึ่งก็พอแค่นี้ก่อน แต่กราฟก็ยังมีวี่แวว “ทะยานขึ้น” หากปล่อยรอบเพิ่ม แต่อาจจะเพิ่มไม่มากนัก เพราะดูแรงบิดมันเริ่มลงแล้ว ก็อย่างที่บอกครับ สมรรถนะของเครื่องจริงๆ ไปได้อีกเยอะ แต่ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่กำหนดมา เลยพอแค่นี้ ก็อย่างที่บอกไปเกือบทุกครั้ง ว่ารถแนว Street Used จริงๆ (หมายถึง “สไตล์การทำ” ไม่ได้หมายความว่ารถคันนั้นต้องใช้ทุกวัน แต่ถ้าจะขับเมื่อไรก็ได้ ไม่ทรมาน) ส่วน “กราฟแรงบิด” ก็ไม่เลวครับ ที่ 3,000 rpm มีให้ใช้ประมาณ 28 kg-m แล้ว เหลือเฟืออยู่ หลังจากนั้นก็ยกระดับขึ้นไปอีกทีในช่วง 5,000 rpm เริ่มตกที่ 6,000 rpm แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยระดับสูงสุดครับ อ้อ วันที่ทดสอบ ใช้เชื้อเพลิง E20 นะครับ…
- เกียร์ Hollinger Air Shift Prototype กับกลไกการเข้าเกียร์ที่ดูจะ “เมามันส์” เหลือเกิน
N Sports’s Comment
สำหรับรถคันนี้เป็นจุดริเริ่มของเราเอง ที่ต้องการทำสิ่งที่แปลกใหม่ ทำเพราะอยากทำจริงๆ ไม่ได้เน้นการแข่งขันกับใคร ไม่ได้เน้นแรงม้าสูงสุด ขอแค่แรงระดับที่พอใจ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น เน้นอีกอย่าง คือ ท่อเงียบ เดินเบาเรียบ เร่งได้ต่อเนื่อง ไม่กระโชกโฮกฮาก ก็พอใจแล้วครับ ส่วนเรื่องของเกียร์ ด้วยความที่เราเป็นตัวแทนของ Hollinger ก็เลยอยากทำ Project อะไรสนุกๆ กับรถคันนี้ มันก็เป็นแบบที่เราตั้งใจทำขึ้นมา โดยเน้นทั้งสมรรถนะและการใช้งานที่สะดวกสบาย และสิ่งสำคัญคือ “รถต้องสวยเรียบร้อย สะอาดตา” ผมจะเน้น “ของตรงรุ่น” ไม่ใช้การตัดต่อแก้ไข ส่วนไหนที่ต้องสร้างขึ้นพิเศษ ก็จะใช้วิธีสร้างแบบ Milling หรือ CNC เป็นชิ้นเป็นอัน สามารถใส่กับจุดยึดที่ตัวรถได้พอดี เน้นความเรียบร้อยสูงสุด ส่วนที่จะปรับปรุงต่อก็คือ พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ของเดิมเวลาวิ่งเร็วๆ เบาเกินไปและหนักเกินไปตอนเลี้ยวขณะรถจอด เพราะน้ำหนักเครื่องมันเยอะกว่าเดิม (หน้าหนัก) จะต้องปรับให้สมดุลมากยิ่งขึ้น ซึ่งกล่อง MoTeC M150 ก็มี Channel ของ Speed Sensor ที่สามารถมาต่อกับ Module ที่คุมพวงมาลัยเพาเวอร์ของ BOSCH ได้ ยิ่งเร็วยิ่งหนักขึ้นตามที่เรากำหนดไว้ อื่นๆ ก็ไม่มีอะไรแล้วครับ…
- K26 เน้น “ละมุน” แต่ “แรงได้เมื่อสั่งการ” ไม่รอรอบ เดินเบาเงียบ เหมือน “เสือซุ่ม”
Intaraphoom’s Comment
เป็นรถที่สร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับวงการ เพราะค่าโมดิฟายต่างๆ ก็แพงกว่าตัวรถไม่รู้กี่เท่า เรื่องแพงก็ไม่ใช่ประเด็น ของที่ใส่เข้าไปก็เน้นสมรรถนะทั้งสิ้น จะไม่แพงก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่ชอบก็คือ “เป็นรถแนว Street จริงๆ” ที่ไม่โวยวาย แต่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ขับเงียบๆ แต่แรงได้เมื่อสั่ง ซึ่งก็น่าจะขับสนุกมาก ส่วนเรื่องกำลัง ผมไม่ได้ดูที่แรงม้าสูงสุดอย่างเดียว แต่ดูว่าเครื่องรถคันนั้นตอบสนองการขับขี่ตามที่วาง Concept ไว้ได้หรือเปล่า คันนี้ก็สามารถทำตามที่ตั้งใจไว้ได้ ก็เป็น Project แปลกๆ อีกคันที่คิดว่าน่าจะตื่นตาตื่นใจไม่น้อยทีเดียวเชียว…
- ก็แค่นี้แหละครับ ไม่ต้องอลังการอะไรมาก เรียบร้อยสบายตา แต่ “แฝง” สิ่งที่น่าสนใจเอาไว้ จอ MoTeC ติดตั้งไว้อย่างเรียบร้อย ที่คอนโซลเกียร์จะเป็นที่อยู่ของ “ปั๊มลมเกียร์” แทนคันเกียร์เดิม ทุกอย่างคุมด้วย Paddle Shift เท่านั้น
- สั้นๆ “แค่นี้พอ” เน้นประโยชน์ของ Bucket Seat ให้เต็มที่ ส่วน Roll Bar ตรงรุ่น เน้นไม่เกะกะในการขับขี่
X-TRA Ordinary
ขอเรื่อง “เบาเบา” หน่อยละกัน (จริงๆ นึกไม่ออกว่ะ) ก่อนหน้าที่จะถ่ายคอลัมน์ หลายคนคงได้เห็นว่ารถคันนี้อวดโฉมด้วยการใส่ฝากระโปรงแบบ “ใส” เพื่อ “โชว์เครื่อง” แต่ในวันถ่ายทำได้เปลี่ยนกลับเป็นฝากระโปรงเดิม หลายคนอาจจะงง ว่าเปลี่ยนทำไม จริงๆ แล้ว ทาง N Sports เจตนาใส่ฝากระโปรงใสเพียงแค่ “โชว์” แบบเฉพาะกิจ หลังจากนั้นก็จะใส่ฝากระโปรงเดิมกลับ เพราะต้องการรถที่ดูเรียบร้อยและขับได้กลมกลืนเหมือนรถบ้านทั่วไปนั่นเองครับ…
TECH SPEC
ภายนอก
ชุดพาร์ท : MUGEN
ภายใน
จอ Multi-Function : MoTeC C125
พวงมาลัย : OMP
Paddle Shift : GEARTRONIC
เบาะ : RECARO SPA
โรลบาร์ : STAND 21 for FIT GK
เครื่องยนต์
ฝาสูบ : K20A Type R
วาล์ว + รีเทนเนอร์ + สปริงวาล์ว : BC
แคมชาฟท์ : PRAYOONTO RACING Stage III
ปะเก็นฝาสูบ : COMETIC 1.5 มม.
ลูกสูบ : JE
ก้านสูบ : EAGLE
แบริ่งชาฟท์ : CARILLO
ข้อเหวี่ยง : BC 2.6 L
เสื้อสูบ : K24A
แท่นเครื่อง + แท่นเกียร์ : N Sports (Made to Order)
ลิ้นปีกผีเสื้อ : TODA Individual 4 Throttles
เฮดเดอร์ : RC Turbo (เหรียญชัย)
หม้อพักไอเสีย : RC Turbo (เหรียญชัย)
หัวฉีด : Injector Dynamics 1,000 ซี.ซี.
รางหัวฉีด : TODA
กล่อง ECU : MoTeC M150 Stand Alone
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : Hollinger Air Shifter Prototype 6 สปีด
คลัตช์ : TILTON for K Series
ช่วงล่าง
โช้คอัพและสปริง : ARAGOSTA 3 ways Subtank (Made to Order)
เบรกหน้า : PROJECT Mu จานเบรก 332 มม.
เบรกหลัง : HONDA INTEGRA DC5
ล้อหน้า-หลัง : VOLK ZE40 ขนาด 8.0 x 18 นิ้ว ออฟเซต +45
นอตล้อ : RAY’S
ยางหน้า-หลัง : PIRELLI P-ZERO ขนาด 215/35R18 นิ้ว