Dream of 90’s Sport Car : NISSAN SILVIA & 200 SX “S13 Series”

 

History of SILVIA

ขอเริ่มที่ SILVIA เพราะออกมาก่อน 180 SX อนุกรมนี้ใช้รหัส S13 เป็น “เจนฯ 5” ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 17 พฤษภาคม ปี 1988 ซึ่งวางตลาดไว้ให้เป็นรถแบบ Coupe ที่ Fun To Drive และ Beauty Design ที่เสมือนเป็นตัวแทนของ “คนหนุ่มสาว” (Futari) ในช่วงนั้นเป็นที่น่าสนใจมาก มีคำนิยามว่า Art Force SILVIA บนทรวดทรง Wide and Low” ในแบบสปอร์ตชั้นดี ที่ “ทันสมัย” และ “อมตะ” สวยจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลบางส่วนที่ผมเจอมา  NISSAN ส่งเสริมการตลาดของ  SILVIA ด้วยการจัด SILVIA Caravan เป็นการโปรโมตตัวรถ ขับจากเกาะ Kyushu ไปยังเมือง Tokyo เป็นระยะทางถึง 1,204 กม. เลยทีเดียว !!!

 

สำหรับ SILVIA ก็จะแบ่งหลักๆ เป็น 3 รุ่นย่อย เริ่มกันจากตัวแรงสุด K’s ในรุ่นปี 1988-1989 ก็จะเป็นเครื่อง PLASMA CA18DET เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 1,809 C.C. มีกำลัง 175 PS @ 6,400 rpm แรงบิด 23.0 kg-m ที่ 4,000 rpm นับว่าเป็นรถที่ “ปราดเปรียว” ในยุคนั้น ล้อเป็นอัลลอย ลายกงจักร 8 แฉก ขอบ 15 นิ้ว สำหรับผู้ที่ต้องการความ “ย่อมเยา” ลงมา จะเป็นรุ่น Q’s และราคาถูกที่สุด คือรุ่น J’s ที่ ไม่มีพวก “ปรับไฟฟ้า” ทั้งหลาย ทั้งคู่ใช้เครื่องยนต์ PLASMA CA18DE ไร้หอย มีแรงม้า 135 PS @ 6,400 rpm แรงบิด 16.2 kg-m ที่ 5,200 rpm ล้อเป็นกระทะเหล็ก 14 นิ้ว + ฝาครอบลายกงจักร (ไม่รู้กี่แฉกว่ะ ขี้เกียจนับ) ในวันที่ 1 เดือนกรกฎาคม ได้ออกรุ่น Convertible มีจำนวนจำกัด ใช้พื้นฐานรุ่น K’s เครื่องยนต์ CA18DET รถรุ่นนี้ผลิตที่ Takada Industry ถือว่าเป็น Rare Item ที่นักสะสมต้องการ ซึ่งในประเทศไทยก็มีเห็นตัวเป็นๆ อยู่ 1 คัน (แต่จริงๆ จะมีมากกว่านี้หรือไม่ ยังไม่คอนเฟิร์ม เพราะไม่เห็นเอง) ในเดือนตุลาคม ก็ได้รับรางวัล 1988 Fiscal Good Design Award สำหรับดีไซน์ที่งดงาม และในเดือนธันวาคม ได้รับรางวัล 88-89 Japan Car of The Year Award เป็นเกียรติประวัติประจำรุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1990 ได้เพิ่มรุ่น Q’sDiamond Selection มา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับรุ่น Q’s ที่ผม “พี สี่ภาค” คิดว่าทาง NISSAN มองตลาดรุ่นรอง ว่าแม้จะไม่ใช่เครื่องเทอร์โบ แต่ก็น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ที่ “เน้นรูปลักษณ์มากกว่าสมรรถนะ” ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปให้ใกล้เคียงกับรุ่น K’s เช่น แอร์ออโต้, กระจกมองข้างพับไฟฟ้า, ล้ออัลลอย 15 นิ้ว (ลายหยดน้ำ แบบเดียวกับ CEFIRO A31 บ้านเรา), เครื่องเล่น CD ของ SONY, ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์ แบบ 2 เลนส์กลม ต่อข้าง และมีไฟตัดหมอกในโคมเดียวกัน, สปอยเลอร์หลัง ฯลฯ

 

วันที่ 17 เดือนมกราคม ปี 1991 เปลี่ยนเครื่องยนต์จาก CA18 มาเป็น SR20 เนื่องจากบล็อก CA มลพิษไม่ผ่าน จึงต้องผลิตเครื่อง SR20 เป็นรุ่นใหม่ออกมา แรงกว่า สดกว่า เบากว่า ในรุ่น K’s จะใช้เครื่อง SR20DET ฝาแดง มีแรงม้าถึง 205 PS @ 6,000 rpm แรงบิด 28.0 kg-m @ 4,000 rpm ส่วนรุ่น Q’s เป็น SR20DE ฝาขาวเรียบ มีแรงม้า 140 PS @ 6,400 rpm แรงบิด 18.2 kg-m ที่ 4,800 rpm จุดที่เปลี่ยนแปลงภายนอก คือ ฝาครอบรูกุญแจฝากระโปรงท้าย เปลี่ยนจากทรงสี่เหลี่ยมคางหมูคว่ำมาเป็นวงรี, ไฟหน้าเป็นโปรเจ็กเตอร์เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นแบบ 3 เลนส์กลม (ต่อข้าง), เพิ่มไฟเบรกดวงที่สามแบบ LED, เพิ่มคานกันกระแทกด้านในประตู, รุ่น K’s เปลี่ยนล้อเป็นลาย 7 ก้าน เพิ่มขนาดยางเป็น 205/60R15, เพิ่มเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด มาให้ที่ด้านหลัง, ดอกกุญแจเป็น Fashion Key พร้อมโลโก SILVIA และอื่นๆ อีกพอควร เดือนมกราคม ปี 1992  เพิ่มรุ่น Club Selection ออกมาแทน Diamond Selection โลโกเป็นสีแดงเข้ม ล้อลาย 7 ก้าน แต่ “ปัดเงาจากโรงงาน” เครื่องเสียงเปลี่ยนจาก SONY เป็น CLARION และมีรุ่น Q’s SC (Special Card) ออกมา ซึ่งมีการตกแต่งเหมือน K’s แต่ราคาถูกกว่า (เน้น “จุ๊ย” ว่างั้นเหอะ) เดือนพฤษภาคม ออกรุ่น Q’s2” (2 หมายถึง ยกกำลัง 2 หรือ Square) เป็นตัว Limited ที่ NISSAN ทำเป็นอนุสรณ์ เนื่องในโอกาสที่ผลิตรถออกมาทั้งหมด 4 ล้านคัน ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา เพิ่มสี Super Red, Pearl White และ Super Black เดือนธันวาคม ออกรุ่น Almighty เป็นรุ่นประหยัดแบบ J’s แต่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น และในปี 1993 ก็เป็นปีสุดท้ายที่ผลิต SILVIA S13 ครับ

—————————————

History of 180 SX

มาดูรถ “น้องในไส้” กันบ้าง ตระกูล SX เป็นสปอร์ตที่รองลงมาจาก ZX ออกจำหน่ายครั้งแรก วันที่ 1 เดือน 4 ปี 1989 หลังจาก SILVIA แป๊บนุง ใช้รหัส RS13 ซึ่งตัว R ที่เพิ่มมานั้น NISSAN หมายถึงรถ Hatchback เป็นรถที่ปราดเปรียว ลู่ลม มีค่าแรงเสียดทานอากาศ (Cd.) เพียง 0.30 เท่านั้น ไฟหน้าเป็นแบบ Pop Up หรือ Retractable Headlight กันชนหน้าจะมีช่องยาวๆ 2 ช่อง ปั๊มแบรนด์ NISSAN เป็นตัวลึกที่ข้างไฟเลี้ยวซ้าย เครื่องยนต์มีเฉพาะ CA18DET (ไม่มี CA18DE) เป็นที่มาของตัวเลข 180 นั่นเอง โดยมีรุ่น Type I เน้น “ซิ่ง” ล้อกระทะ 15 นิ้ว ลดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกลง, Type II มีล้ออัลลอย 15 นิ้ว ลายหยดน้ำ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบ ในปี 1990 ออกรุ่น Type II Leather Selection เป็นเบาะหนัง Limited Edition 500 คัน…

 

วันที่ 17 เดือน 1 ปี 1991 “ไมเนอร์เชนจ์” ครั้งแรก เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น SR20DET (สเป็กเหมือน SILVIA) เปลี่ยนรหัสรุ่นเป็น RPS13 (ตัว P ทาง NISSAN จะหมายถึงเครื่องบล็อก SR20) แม้จะเปลี่ยนเครื่องแล้ว แต่ก็ยังยืนยันใช้รหัส 180 SX เหมือนเดิม เปลี่ยนกันชนหน้าใหม่ ไฟเลี้ยวทรงหยดน้ำ รูที่กันชนหายไป เปลี่ยนล้อเป็นลาย 7 ก้าน เพิ่มขนาดยางเป็น 205/60R15,  เพิ่มเข็มขัดนิรภัยด้านหลังแบบ 3 จุด, เพิ่มคานกันกระแทกประตู, หมอนพิงเบาะหน้าสามารถปรับสูงต่ำได้ ปี 1993 ออกรุ่น Type III เพิ่มแอร์ออโต้แบบดิจิตอล และเครื่องเสียงแบบเล่น CD มาให้ หลังจากนั้น มีการเปลี่ยนชื่อเรียก จาก Type III เป็น Type X จาก Type II เป็น Type R เครื่องยนต์เปลี่ยนเป็น SR20DET “รุ่นฝาดำเรียบ” แล้วครับ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเปลี่ยนในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ครั้งสุดท้าย ในปี 1996 มี SRS Airbag เป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น และในเดือนมกราคม ปี 1996 มีรุ่นพิเศษ Type R Sport เป็น Limited Edition จำนวน 300 คัน สี Platinum White Pearl (QN0) ชุดท่อไอเสีย NISMO พร้อมค้ำโช้คอัพหน้า..

 

ในเดือนสิงหาคม ปี 1996 แม้ว่า SILVIA จะขึ้นโมเดล S14 ไปแล้ว แต่ 180 SX ยังอยู่ยงคงกระพัน โดยการ Big Minor Change มี “ชุดพาร์ทเต็ม” เปลี่ยนทรงสปอยเลอร์ใหม่ ไฟท้ายแบบ “โดนัท” ไฟถอยหลังเป็นทรง “สี่เหลี่ยมเปียกปูน”  เปลี่ยนล้อมาเป็นแบบ 8 ก้านคู่ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 รุ่นย่อย คือ Type S เป็นการกลับมาของเครื่อง SR20DE, Type X และ Type R เป็นเครื่อง SR20DET ฝาดำ หลังเรียบ ภายนอกจะมี Side Skirt เพิ่มมา มีระบบ Keyless Entry เบาะนั่งเป็นสีดำ-เทา มีคำว่า 180 SX อยู่ที่ส่วนแถบกลางของเบาะ (เหมือนเป็นแฟชั่นย้อนยุค) ทั้งสองรุ่นจะมี  SRS Airbag  และ ABS มาให้เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน พวงมาลัยจะเป็น 4 ก้าน จอเรือนไมล์เป็นสีเทา เข็มแดง เปลี่ยน Font ตัวเลขใหม่ ส่วนในปี 1997 เพิ่มรุ่น Type G มา ภายนอกจะเรียบๆ ไม่มีพาร์ท เครื่อง SR20DE ไม่หอย…

—————————————

History of 200 SX in “Thailand”

                ก่อนอื่นต้องเท้าความกันก่อน 200  SX จะเป็นชื่อที่สำหรับรุ่น “ส่งออก” จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่อง CA18DET ไม่ใช่ SR20DET ในบ้านเราคาดว่าน่าจะเป็นรถ สเป็ก Australiaซึ่งนำเข้ามาโดย “สยามกลการ” ในปี 1991 ตรงนี้เป็นนโยบายการตลาด ที่ “เปิดแผนกจำหน่ายรถยนต์นำเข้า” เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการรถสปอร์ตขนาดกลาง เท่าที่ได้รับข้อมูลมาจากฝ่ายการตลาดของทาง “สยามนิสสัน ออโตโมบิล” ซึ่งทาง กอง บก. XO AUTOSPORT ได้สอบถามรายละเอียดเหล่านี้เมื่อปี 2004 ถึงจำนวนรถ 200  SX ที่ขายโดยสยามกลการ (ชื่อบริษัทในตอนที่จำหน่ายรถรุ่นนี้) มีจำนวน 447 คัน ซึ่งตัวเลขอาจจะดูไม่เยอะนักเมื่อเทียบกับจำนวนรถที่มีมากในเมืองไทย เพราะตอนนั้นก็จะมีทั้ง “รถจดประกอบ” และ “รถจากผู้นำเข้าอิสระ” ซึ่งขอพูดเฉพาะรถที่สยามกลการนำเข้ามาจำหน่ายก็แล้วกัน มีรายละเอียดดังนี้…

 

Suspension System

สำหรับระบบช่วงล่าง ผมขอพูด “โดยรวม” เลยก็แล้วกันนะครับ เพราะมันใช้ Platform S13 เหมือนกันอยู่แล้ว รุ่นนี้จะใช้ระบบช่วงล่างด้านหลังแบบใหม่ จากรุ่น S12 ที่เป็นแบบอิสระ Semi Trailing Arm มาเป็นแบบ อิสระ Multi-Links ที่มีจุดยึดเพิ่มขึ้นมาเยอะ เพื่อการทรงตัวที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นยุคพัฒนาของ NISSAN ในรถยุคปี 90 (89 มันก็ปลายปีแล้วนะ ขอเรียกรวมไปเป็น 90 ก็แล้วกัน) ซึ่งมีรถต้นแบบ คือ NISSAN MID-4 ที่เป็น Concept Car และมีการโฆษณาถึงเรื่องช่วงล่าง Multi-Links ซึ่งถือเป็นแบบใหม่ของ NISSAN ในยุคปี 80 ปลายๆ ถึง 90 อีกด้วย สำหรับ SILVIA ตั้งแต่ปี 1998-1991 เครื่อง CA18DET จะมีระบบเลี้ยวล้อหลัง HICAS-II เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เฉพาะรุ่น K’s และ Autech Convertible ส่วนรุ่นปี 1992-1993 เครื่อง SR20DET จะสามารถสั่ง ABS เป็นอุปกรณ์พิเศษได้ทุกรุ่น และเปลี่ยนระบบเลี้ยวล้อหลังเป็น SUPER HICAS ซึ่งก็เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษเหมือนกัน ส่วนเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป ในรุ่น K’s จะเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ส่วนรุ่น Q’s และ J’s จะเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ ส่วน 180 SX ก็จะใช้ช่วงล่างที่เหมือนกัน เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป มีเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น ตั้งแต่ออกมาปี 1989 เลย ยกเว้นรุ่น Type S ปี 1996 ขึ้นไป เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ ส่วนระบบ SUPER HICAS ก็จะเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษของรุ่น Type X และ Type R ครับ…

 

Different Between Inside “Red Top VS Black Top”  

เอาละครับ มาถึงการ “เปรียบมวย” กันแบบล้วงตับไตไส้พุงกันเลยดีกว่า ว่าข้อถกเถียงระหว่างเครื่อง “ฝาแดงเรียบ” กับ “ฝาดำเรียบ” มันมีอะไรแตกต่างกันบ้าง นอกจาก “สีฝาครอบวาล์ว” บางคนบอกเหมือนกัน บางคนบอกฝาดำมี Oil Jet ก็ “นู่น นี่ นั่น” กันไป ไอ้ผมก็สงสัยสิ ก็เลยต้อง “ตามล่าหาความจริง” กันมาให้ได้ เริ่มกันดีกว่าครับ รับรอง “ล้วงกันถึงใจ” ซึ่งก็เป็นรายละเอียดที่จะทำให้ท่านไม่ถูก “เชือด” ง่ายนัก…

Engine

รวมสุดยอดตัวแรง 200 SX Challenge by XO AUTOSPORT   

ทาง XO AUTOSPORT ได้ร่วมมือกับ TUNE SPEED จัดงานทดสอบ 200 SX CHALLENGE ขึ้นมา ณ สนามไทยแลนด์เซอร์กิต เพื่อเฟ้นหา “รถเร็วที่สุด” โดยดูเวลาวิ่งในระยะ 0-600 เมตร โดยลงเรื่องราวการทดสอบในฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1999 ดังนั้น ผมจึงขอ “อ้างอิง” ข้อมูลต่างๆ จากเล่มนี้ก็แล้วกัน เพราะ “ตัวแสบๆ” ในยุคนั้น ต่างก็มาร่วมทดสอบในงานนี้กันอย่างครบครัน แต่ขอลงเฉพาะแรงม้ากับเวลา 0-400 เมตร (เป็นเวลา E.T.) “อันดับ 1” เป็น 200 SX Super Black คันนี้ “ความสวยไม่รู้ ความมันส์ Goo จัดให้” ขาเก่ารู้แน่นอน มาจาก Tune by OP” เครื่อง SR20DET 440 PS ทำฝาเต็ม ท่อนล่างเดิม อาศัย “ใจ” ล้วนๆ ทำเวลาไป “12.51 วินาที” มาถึงอันดับ 2 นี่เลย King of 1800 รู้จักไหม ??? “อั๋น Kansai” ไงล่ะ !!! ผ่านการปลุกปั้นจาก JUN Thailand โดยมี 3 หัวหอก “ป๊อปปิ-โคยามา-พี่ทูน” (TOON ENGINE ในปัจจุบัน) โดยเป็นเครื่อง CA18DET ที่ “จัดหนักสุด” ในเมืองไทย แรงม้า 400.2 PS ที่บูสต์ “บาร์ห้า” ทำเวลาไป “13.07 วินาที” (เคยทำได้เร็วกว่านี้ คือ 12.3 วินาที ที่สนามบินราชบุรี) อันดับ 3 จากค่ายเดียวกัน “เฮียตี๋” คันสีดำ ล้อ KOENIG เครื่อง SR20DET เทอร์โบ KKK K27 แรงม้ามากถึง 478.2 PS ทำเวลาได้ “13.28 วินาที” อันดับ 4 “น้าอ๊อด โรตารี่” (หรือ “น้าอ๊อด โปรลอง” ณ ตอนนั้น) โมดิฟายโดย RINSPEED ใช้เครื่อง CA18DET 402.2 PS บูสต์ “บาร์แปด” เชียวนะ ก็เป็นตัวแรงที่ถูกจับตามองมาก ทำเวลาไป 13.45 วินาที ก็เป็น 200 SX ในรหัส S13 ที่อยู่ “หัวแถว” ในวงการ ณ ขณะนั้น ส่วน SILVIA S13 ตัวดังๆ แต่ก่อนก็คงไม่พ้น “โป้ง NUTO” คันนี้แรงด้วย สวยด้วย โมดิฟายจนมีแรงม้าถึง 397 PS แต่น่าเสียดายที่ความเร็วถูกตอนไว้ที่ 180 km/h  เลยไม่สามารถเร่งรอบและความเร็วขึ้นไปได้อีก ถ้าปลดล็อกความเร็ว ก็น่าจะทะลุ 400 PS ได้ไม่ยาก ส่วนยุคหลังๆ ก็จะมี SILVIA S13 “ระดับโลก” จาก NOI ELEVEN ที่วิ่ง Drag ในระดับหัวแถว ด้วยเครื่อง SR20DET 2.2 ลิตร กว่า 700 PS ซึ่งทำสถิติเลขตัวเดียว “9.307 วินาที” ในรุ่น PRO 4 MODIFY งาน SOUPED UP THAILAND RECORDS 2007 ถือว่าเป็นรถในตำนานอีกคัน…

After Buy Service Guide

ก็เป็นที่ค่อนข้างโชคดี เพราะตัวรถทั้งสองรุ่นนี้ ไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อน เป็น “เสน่ห์” อีกอย่าง ที่ดูจะ “เป็นกันเอง” กับผู้ที่เริ่มจะเล่นรถสปอร์ตญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาต่อไปเล่นกับ “รุ่นใหญ่” ในอนาคต สำหรับการพิจารณาเลือกซื้อรถ ก็เหมือนๆ กับรถทั่วไป ดูว่าโดน “ตัดหัว หั่นหาง” มาหรือเปล่า เพราะรถพวกนี้จะมีโอกาส “มิด” กันเยอะ เพราะ “วัยรุ่นตีนโหด” กันทั้งนั้น สำหรับส่วนของเครื่องยนต์ ดูสภาพโดยทั่วไป “อะไรเสื่อมก็เปลี่ยน” งั้นไม่พูดซ้ำละนะ อะไหล่โดยทั่วไปก็หาไม่ยาก ส่วน “จุดระวังที่สำคัญ” คือ “แคร็งค์น้ำมันเครื่อง” เนื่องจาก “ฝักบัวจะอยู่ใกล้แคร็งค์ค่อนข้างมาก” ตรงนี้ต้องตรวจสอบด้วย ถ้าเจอ “แคร็งค์บุบ” จากการ “โหม่งพื้น”  ทำให้ฝักบัวดูดน้ำมันขึ้นไม่พอ เกิดอาการ “ชาฟท์ละลาย” ก็ต้องเคาะให้มันกลับมาอยู่ในทรงปกติ ซึ่งจุดนี้มักจะ “เข็มขัดสั้น” (คาดไม่ถึง) กัน จุดต่อมา ก็ “ฟังเสียงโซ่ราวลิ้น” ปกติจะไม่ค่อยดัง ถ้าสตาร์ทตอนเครื่องเย็นแล้วดังผิดปกติ ก็ต้องรื้อมาดู ไม่งั้น “โซ่โดดข้ามร่อง” วาล์วโหม่งลูกสูบ พังทั้งเครื่อง แนะนำว่า ถ้าซื้อรถมาแล้วก็ควรจะ “รื้อเครื่องตรวจสอบ” เปลี่ยนของที่เสื่อม มันต้องเจออะไรสักอย่างอยู่แล้วละ เพราะรถอายุมากพอควรแล้ว จะ “ของเบิกห้าง” ก็ได้ ถ้าไม่โมดิฟายเพิ่ม แต่ถ้าจะ “เผื่อโมดิฟายเพิ่ม” ก็จัด “ของซิ่ง” รอไว้ก่อน เช่น นอตก้าน, ชาฟท์ ส่วนหลักๆ อะไรพวกนี้ จะได้ใช้กันยาวๆ ครับ…

 

Modify Garage Guide

                สำหรับ อู่ที่ซ่อมบำรุง 200 SX & SILVIA ตระกูล S13 จริงๆ แล้ว ตัวรถก็ว่าด้วยความสวยงามตามสไตล์แต่ละคน ก็คงเน้นหนักไปทาง “เครื่องยนต์” มากกว่า มีหลายเจ้าที่ทำได้ดี แต่ที่เรานำเสนอนั้น ก็เป็นอู่ที่จะ “เน้น” ว่ามีผลงานอันโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ เรานำเสนอเป็นทางเลือกให้ท่าน “พิจารณากันเอง” สนใจอู่ไหน ลองพูดคุยสอบถามก่อนตัดสินใจครับ…

—————————————

Owner & Specialist Comment

คุณล้าน @ SILVIA Q’s S13

                มันก็เป็น “ความใฝ่ฝันของวัยรุ่นยุคก่อน” ย้อนหลังไป 10 กว่าปีที่แล้ว คนที่ชอบรถสปอร์ตญี่ปุ่น ก็ต้องมี 200 SX และ SILVIA S13 อยู่ในใจ เรียกว่าใครจะเล่นรถสปอร์ตซิ่งก็ต้องผ่านเจ้าสองรุ่นนี้แทบทั้งสิ้น สำหรับ SILVIA คันนี้ ก็เป็นรุ่น Q’s สีทูโทน ซึ่งผมพยายามเก็บเดิมๆ ให้มากที่สุด อะไหล่แพงและหายากขึ้น โดยเฉพาะ Accessories จากโรงงาน ซึ่งแต่ก่อนมันแทบไม่มีราคาเลย ก็พยายามตามหาให้ครบที่สุด ถ้าจะแต่งก็ขอเป็นของตรงยุคของมัน ทำสวยๆ ก็เป็นความสุขทางใจอีกอย่างหนึ่งครับ…

รุ่นนี้เป็น Q’s สี Two Tone แบบดั้งเดิม ซึ่ง SILVIA ต้องการลูกค้ากลุ่มชอบรถสปอร์ตตกแต่งหรูหรา สเกิร์ตรอบคัน “ตอนนี้โคตรแพง” แต่ก่อนก็แทบจะไม่มีค่าอะไร ไฟหน้าเป็นโคมธรรมดา “ตาหวาน” (รุ่นแรก) เพราะสามารถเปลี่ยนหลอดไฟได้ตามใจชอบ และมีน้ำหนักเบากว่าโคม Projector พอควรเลย

สวย เนียน เดิม จริงๆ ครับคันนี้ พยายามที่จะใช้ของแต่ง ตรงรุ่น ตรงยุค ล้อ PANASPORT G7 5 Spokes “หน้าแปดครึ่ง หลังเก้าครึ่ง” ตามสูตร ขอบ 17 นิ้ว ยาง YOKOHAMA A048 เน้นลุคซิ่งชัดเจน โช้คอัพ OHLINS ตรงรุ่น หม้อพักปลาย NISMO ตัว Font เก่า

ภายในสีน้ำตาลดั้งเดิม ค่อนข้างหายากกว่าสีเทาอยู่พอสมควร คันนี้เป็นเรือนไมล์ดิจิตอลติดรถมา แต่ยังไม่มีตัว Head Display ส่องตัวเลขความเร็วขึ้นกระจก อันนี้จะเป็นอุปกรณ์เสริม พวงมาลัย PRE ของแต่งตรงยุค หัวเกียร์ แป้นเหยียบ เป็น NISMO ตัว Font เก่าทั้งหมด ระบบแอร์เป็นออโต้แล้ว แต่เสียดายที่ยังหาวิทยุเดิมแบบ CD 2-DIN ไม่ได้

เบาะเดิมเช่นกัน นวมหุ้ม Belt ของ NISMO ตรงยุค

ขุมพลังเดิม CA18DE หันมาคบกับ SR20DE ลิ้นเร่ง NISMO ตัวแข่ง N2 ทั้งชุด เฮดเดอร์สูตรนอก แต่ทำในไทย เน้นเก็บงานสวยๆ ขับสนุกๆ โดยไม่จำเป็นต้องคบกับเทอร์โบ

มี Tip มาฝากอีกนิดนึง ดูที่ “เพลท” อย่าง S13HAX52 ให้สังเกตนะครับ ตรงที่ผม เน้น เอาไว้ ถ้าเป็นตัว A จะเป็น เกียร์ออโต้ ถ้าเป็นตัว F จะเป็น เกียร์ธรรมดา ส่วน Color (สีตัวรถ) คันนี้จะเป็นรหัสสี 5H6 ส่วน Trim (สีภายใน) คันนี้เป็นรหัส C สีน้ำตาล ถ้าเป็นสีเทาจะเป็นรหัส G ส่วน RC43 จะหมายถึง เฟืองท้ายอัตราทด 4.3 นั่นเองครับ

 

โรงรถบางกอก @ 200 SX Minor Change

                จริงๆ แล้ว ก็คงเหมือนกับคนที่ชอบ “หาความดั้งเดิม” ของรถรุ่นนี้ ที่นับวันก็จะไม่เหลือความเดิมกันสักเท่าไร ส่วนตัวผมเป็นคนชอบรถ Original แบบครบทุกชิ้นอยู่แล้ว จึงตัดสินใจปั้นคันนี้ ก็คือเป็น 200 SX รถบ้านเรา แต่ผมเอามาทำเป็น 180 SX ไมเนอร์เชนจ์ ก็เพราะมันสวยดี เรื่องอะไหล่ของเดิม รวมถึง Accessories จากโรงงานต่างๆ ตอนนี้ก็เริ่มหายากและแพง มันก็ตามเวลาและกระแสทำรถเดิมแบบกริ๊บๆ ที่กำลังมา…

คันนี้เป็น 200 SX ตัวขายบ้านเรา แต่ทำเป็นตัว Big Minor Change กันชนหน้าไม่เหมือน และมีลิ้นต่อลงมาเป็น Accessories แต่มันจะเตี้ยมากเกินไป สเกิร์ตข้างมีแต่ยังไม่ได้ใส่ เพราะถ้าจะใส่จะต้อง “เจาะกาบข้างตัวรถ” เพื่อฝังพุกยึดนอต ถ้าเป็นรถตัวแท้จะมีเจาะมาให้เลย ถ้ามาเจาะเองจะค่อนข้าง “ยาก” ในการเล็งศูนย์ เลยปล่อยไว้อย่างนี้ก่อน (มีโอกาสค่อยหาวิธีติดตั้งดีๆ) ล้อ NISMO LM-GT2 ตรงรุ่น ตรงยุค “หน้าเจ็ด หลังแปด” ขอบ 17 นิ้ว กำลังสวยพอดี

กระจกรอบคัน ตัว Big Minor Change จะเป็น “สีเขียวอ่อน” ตัวก่อนหน้าจะเป็น “สีฟ้า” แต่ต้องดูดีๆ เพราะถ้าดูผ่านๆ สีจะใกล้เคียงกัน กันชนท้ายเหมือนตัวก่อน แต่มี “สเกิร์ตต่อด้านล่าง” เพิ่มขึ้นมา

ภายในเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด สีผ้าสักหลาดจะไม่เหมือนรุ่นก่อน แอร์ดิจิตอล พวงมาลัย M’s หัวเกียร์ NISMO ตัว Font เก่า จอมาตรวัดยังเป็นตัวก่อนหน้า ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นรุ่น Big Minor Change

เบาะ Big Minor Change จะเป็นลาย 180 SX ที่ออกจะย้อนยุค แต่ก็เท่ดีนะ

เครื่อง SR20DET ฝาดำเรียบ เอามาจากรุ่นปี 1996 ที่ยังไม่ใช่ Big Minor Change

สังเกตว่ารหัสที่เพลทมันจะมีรหัสแปลกๆ นำหน้า คือ JN100R เข้าใจว่าเป็นของรถที่เป็นสเป็ก Australia รวมถึงสเป็กบ้านเรา ซึ่งญี่ปุ่นจะไม่มีรหัสตัวนี้ คันนี้เดิมเป็นเครื่อง CA18DET เกียร์ธรรมดา ส่วนที่แปลกไปอีก ก็คือ รหัส RC39 คือ ใช้เฟืองท้ายอัตราทดต่ำเพียง 3.9 เท่านั้น ซึ่งปกติเครื่อง CA18DET จะใช้เฟืองท้าย 4.3 เข้าใจว่าสเป็ก “ฝรั่ง” จะเผื่อการ “ขับทางยาว” ด้วย เลยใช้เฟืองท้ายอัตราทดต่ำกว่าสเป็กญี่ปุ่น

 

World Wide for 200 SX & SILVIA S13

เนื่องจากในบ้านเรามีกลุ่มคนเล่นรถสองรุ่นนี้กันเยอะ พวก Community ต่างๆ ก็จะมีหลากหลายให้เลือกเข้าไปชมได้ตามอัธยาศัย แต่ละที่ก็จะมี “สไตล์” เป็นของตัวเอง ก็จะขอแนะนำเว็บไซต์ยอดฮิตของบ้านเราเป็นหลักนะครับ ใครสนใจเว็บไหน อยากไปมีตติ้งหรืออะไรต่างๆ ก็ลอง “เลือกชม” กันนะครับ…

 

TIPS

ขอขอบคุณ : TOON ENGINE SHOP, อู่ชัชพล (ช่างโก้), โรงรถบางกอก, คุณล้าน