ครั้งแรกในเมืองไทย NISSAN TERRA ลองเครื่องดีเซลเทอร์โบคู่ใหม่-พิสูจน์ความแกร่งพิชิตยอดดอย

 

เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล

ขอบคุณข้อมูล: Nissan Motor Thailand

เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE

ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th

การขับทดสอบ All-new Nissan Terra ครั้งแรกในประเทศไทย กับเครื่องยนต์ดีเซลทวินเทอร์โบ 2.3 ลิตร รุ่นใหม่ล่าสุด, ความล้ำสมัยของกระจกมองหลังอัจฉริยะ IRVM และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อพร้อมเทคโนโลยีช่วยเหลือการขับขี่ที่ครบครัน

กลับมาเจอกันอีกครั้งกับ All-new Nissan Terra หลังจากผู้เขียนมีโอกาสขับครั้งแรกในรอบเปิดตัวอาเซียนพรีเมียร์ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อราวๆ 4 เดือนก่อน โดยครั้งนี้นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เลือกเส้นทางบนเทือกเขาภาคเหนือของจังหวัดเชียงราย และจัดเตรียมเส้นทางออฟโรดเพื่อให้สื่อมวลชนไทยได้สัมผัสสมรรถนะของเอสยูวีขนาดกลางของพวกเขาอย่างเต็มที่

การขับรถรุ่นเดิมแต่คนล่ะประเทศอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเท่าไร แต่คงต้องยกเว้น Terra ที่มีเซอร์ไพรส์เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ ทวินเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ DOHC 2.3 ลิตร เฉพาะรถที่ผลิตขายในประเทศไทย แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบแปรผัน (VGS) 2.5 ลิตร เหมือนที่ใช้กับรถที่ผลิตขายในฟิลิปปินส์ และเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน รวมทั้งอยู่ในรถกระบะ Navara รุ่นปัจจุบัน

อ่านข่าว: นิสสัน เปิดตัวเอสยูวี ‘เทอร์ร่า’ ครั้งแรกในประเทศไทย

แต่ใครที่กำลังมองๆ เอสยูวีคันนี้อยู่ ไม่ต้องกลัวว่าขนาดเครื่องยนต์เล็กลงสมรรถนะจะไม่ดี จากการที่มีกำลังสูงสุด 190 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร เท่ากับในเครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตรพอดิบพอดี โดยเครื่องตัวใหม่รหัส YS23DDTT จะมีอัตราตอบสนองเร็วกว่า และทำงานในรอบที่ต่ำลง ตามชาร์ตที่ทีมงาน Nissan นำมาอธิบายประกอบจะเห็นว่ารอบเครื่องยนต์ 1,200 รอบ/นาที สามารถสร้างแรงบิดได้ถึง 350 นิวตันเมตรเข้าไปแล้ว

เหตุผลหลักๆ ที่ต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ ถึงทางผู้บริหาร Nissan จะไม่ตอบตรงๆ แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นเหตุผลทางด้านภาษีสรรพสามิตที่ปัจจุบันจัดเก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตามข้อมูลบนอีโคสติกเกอร์ของ All-new Terra ระบุว่ารุ่นขับเคลื่อนสองล้อปล่อยไอเสีย 196 กรัมต่อกิโลเมตร และรุ่นท็อปขับเคลื่อนสี่ล้อปล่อยไอเสีย 200 กรัมต่อกิโลเมตร ทำให้เสียภาษีในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ จนสามารถเปิดราคาเริ่มต้นที่ 1,316,000 บาท

อ่านข่าว: เจาะข้อมูล ‘All-new Nissan Terra’ พร้อมเผยอัตราประหยัดน้ำมัน

อย่างไรก็ตามในช่วงการทดสอบที่เริ่มจากถนนสายหลักพหลโยธิน นอกตัวเมืองเชียงราย รถที่เราได้ขับเป็นรุ่นท็อป Terra 2.3 VL 4WD 7ATโดยการขับแบบเกาะกลุ่มเป็นขบวนทำให้รู้สึกว่าการออกตัวของรถในจังหวะที่ต้องชะลอความเร็วหรือออกตัวใหม่หลังติดไฟแดงจะเชื่องช้าอยู่บ้างหากเทียบกับเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร แต่พอขับในช่วงความเร็วกลาง 80 กม./ชม. แล้วลองกดคันเร่งเพื่อแซงกำลังเครื่องยนต์มาอย่างรวดเร็วตอบสนองได้อย่างที่ต้องการ เรียกว่าทดแทนได้ดีกับรถเอสยูวีสไตล์ครอบครัวที่เจ้าของต้องมีการขับทางไกลต่างจังหวัด

แต่จุดเด่นที่ยังคงเหมือนเดิมต้องยกให้ความเงียบของห้องโดยสาร ตามข้อมูลที่ฟังมาตั้งแต่รอบอาเซียนพรีเมียร์ Hironori Awano หัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนารถยนต์ Nissan Terra พูดถึงข้อมูลสำคัญในการนำรถเอสยูวีขนาดกลางของคู่แข่งมาเปรียบเทียบด้วยการแทนว่าโมเดล A, B และ C โดยเท่าที่สอบถามมา 1 ใน 3 เป็นรถแบรนด์อเมริกัน ส่วนที่เหลืออีก 2 เป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น (คงเดากันได้ไม่ยาก เพราะเซกเม้นต์นี้มีตัวเลือกเพียงไม่กี่ค่าย) 

Awano อธิบายว่า Terra ติดตั้งฉนวนดูดซับเสียง 3 ชั้นในห้องเครื่องยนต์เหมือนกับ Teana รถซีดานขนาดกลางของพวกเขา ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับแบรนด์รถหรูฝั่งเยอรมัน ส่วนพื้นห้องโดยสารใช้วัสดุพิเศษ Absorption Layer และ Isolation Layer (EPDM) เช่นเดียวกับการเลือกใช้กระจกหน้า Acoustic Glass ที่จะช่วยลดเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์, แรงลม และเสียงกระแทกจากพื้นถนนเข้าสู่ห้องโดยสารน้อยกว่าคู่แข่ง ในการทดสอบที่ขับด้วยความเร็วคงที่ 100 กม./ชม.

เช่นเดียวกับระบบกระจกมองหลังอัจฉริยะที่มีเวลาให้ลองเล่นมากกว่าครั้งแรก โดยบ้านเรามีการปรับชื่อเรียกภาษาอังกฤษเป็น Intelligent Rear View Mirror (เพื่อตอกย้ำความเป็นอัจฉริยะรึเปล่า?) จากที่ใช้ว่า Smart Rear View Mirror ในการทำตลาดที่ฟิลิปปินส์ แต่ออปชั่นการทำงานก็เหมือนกันหมด ด้วยการใช้ภาพจากกล้องที่ติดตั้งบริเวณท้ายรถจำลองภาพขึ้นสู่กระจกมองหลัง รวมทั้งสามารถเรียกดูภาพด้านหน้า, ด้านข้าง และภาพมุมสูง (Bird’s Eye View) เหมือนในรถอีโคคาร์ Nissan Note

การใช้งานกระจกมองหลังอัจฉริยะหรือเรียกย่อๆ ว่า IRVM จะมีปุ่มเมนูอยู่ด้านล่างเพื่อให้คนขับเลือกปรับมุมมองตามที่ถนัดเหมือนกับเวลาใช้กระจกมองหลังจริงๆ แต่หากใครรู้สึกไม่ถนัดก็แค่ดันสวิตช์ข้างล่างก็จะกลับมาเป็นกระจกจริงที่คุ้นเคย

ในช่วงเริ่มต้นขับกระจกมองหลัง IRVM มีแสงแดดสะท้อนค่อนข้างมาก ทำให้มองเห็นภาพซ้อนกันระหว่างเงาบนกระจกหลังกับภาพจากกล้อง แต่พอลองปรับกระจกให้เงยสูงขึ้นภาพซ้อนก็หายไปดูง่ายขึ้น ถึงจะมีความสับสนในเรื่องการคาดคะเนระยะทางที่หลอกตาในบางจังหวะอยู่ก็ตาม รวมทั้งตอนที่มีละอองน้ำติดอยู่จะส่งผลให้ภาพจากกล้องที่ขึ้นบนกระจกหลังเบลอไปแป๊ปนึงต้องรอให้ที่ปัดน้ำฝนทำงาน

สำหรับกระจกมองหลัง IRVM จัดอยู่ในแพ็คเกจ Nissan Intelligent Mobility เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขับขี่ในอนาคต โดยจะรวมกล้องมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor-IAVM), ระบบตรวจจับวัตถุ/บุคคลที่เคลื่อนไหวพร้อมส่งสัญญาณเตือน (Moving Object Detection-MOD), ระบบเตือนจุดอับสายตา (Intelligent Blind Spot Intervention-IBSW) และระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง (Intelligent Lane Intervention-ILDW)

กลับมาที่สมรรถนะการขับอีกรอบ ในช่วงที่ขึ้นดอยตุงจะเปลี่ยนมาใช้ถนน 1338 หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าสายเก่าที่มีอุปสรรคครบทั้งถนนแบบสองเลนที่ค่อนข้างแคบหากมีรถสวนลงมา, ระดับความลาดชัน และโค้งที่คดเคี้ยว หากเทียบกับถนนสาย 1149 ที่นักท่องเที่ยวทั่วไปใช้เดินทางขึ้นไปชมความสวยงามของธรรมชาติบริเวณพระตำหนักดอยตุง

แต่เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้กำลังของเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่ 2.3 ลิตรที่จับคู่กับระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีดมากขึ้น โดยลองขับแบบไม่มีการปรับมาใช้โหมด Manual เพื่อลองเปรียบเทียบจังหวะเปลี่ยนเกียร์ และกำลังเครื่องยนต์ของ Terra ในช่วงที่ต้องไต่ทางโค้งที่ลาดชัน จากการที่เมื่อไม่นานนี้ผู้เขียนเพิ่งจะได้มาขับบนเส้นทางเดียวกันนี้กับรถกระบะ New Ford Ranger ทั้งรุ่นเทอร์โบเดี่ยว และเทอร์โบคู่ 2.0 ลิตรที่อัพไปใช้เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด

แน่นอนว่าการไต่ขึ้นเขาที่มีโค้งเป็นรูปตัว U อย่างต่อเนื่องบนถนนเส้นนี้ ระบบเกียร์ของ Terra มีอาการสับสนเล็กน้อย แต่ระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัจฉริยะ (Intelligent 4x4i) ของ Nissan ยังสามารถส่งกำลังสู่ล้อทั้งสี่ข้างได้อย่างสม่ำเสมอ สังเกตจากรถร่วมขบวนที่อยู่ข้างหน้าที่ถึงพื้นถนนจะลื่นจากสายฝนที่ตกลงมา แต่ Terra ทุกคัน (รวมทั้งรุ่น 2WD) สามารถไต่โค้งขึ้นไปสู่ยอดดอยแบบสบายๆ

ก่อนจะเข้าสู่เขตพระตำหนักดอยตุง ไม่กี่กิโลเมตรมีการหยุดพักเพื่อเปลี่ยนคนขับทำให้ผู้เขียนได้ลองสัมผัสความสบายของห้องโดยสารของ Terra โดยเฉพาะเบาะนั่งคู่หน้าที่มาพร้อมเทคโนโลยี Zero-Gravity Seat หรือเบาะนั่งแรงโน้มถ่วงศูนย์เหมือนใน Teana เช่นกัน รวมทั้งออกแบบให้รองรับกระดูกสันหลัง (Spinal Support Seat) ช่วยพยุงลำตัวด้านบนของคนนั่ง และลดความเหนื่อยล้าเวลาเดินทางไกล

ที่สำคัญการที่ All-new Terra เป็นเอสยูวีที่ผลิตบนโครงสร้างตัวถัง Body-on-frame จะช่วยลดความเหนื่อยล้าลงระหว่างการเดินทางมากกว่าปกติ โดย Awano หัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนารถยนต์รุ่นนี้ระบุว่าในการเปรียบเทียบกับโมเดลคู่แข่ง Terra เหนือกว่าในเรื่องคือความนุ่มนวลในการขับขี่ วัดจากแรงกระแทก (Impact Shock) ในการขับบนพื้นถนนที่มีหลุม และรอยต่อสะพาน ด้วยการออกแบบเบาะนั่ง และความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถัง เช่นเดียวกับประสิทธิภาพการควบคุม (Handling Performance) ที่ยืนยันว่า Terra มีอาการโคลงของตัวรถที่น้อยกว่าในเวลาเข้าโค้งหรือเปลี่ยนเลน และน้ำหนักพวงมาลัยที่เบาทำให้ง่ายต่อการจอด, การขับในพื้นที่แคบ และจราจรติดขัด 

ในช่วงที่สลับมานั่งมีโอกาสสำรวจภายในรถมากขึ้น โดยจุดที่อยากให้แก้ไขคงเป็นวัสดุที่นำมาใช้ตบแต่งคอนโซลกลางที่ดูจะไม่สมราคารถเอสยูวีหลักล้าน พวงมาลัยควรจะปรับตำแหน่งได้ 4 ทิศทางแทนที่จะเป็นทำได้แค่ขยับขึ้น-ลง เช่นเดียวกับระบบความบันเทิงหน้าจอทัชสกรีนขนาด 7 นิ้วของแบรนด์ Kenwood ที่ปัจจุบันคุณภาพเสียงดร็อปลงไปเยอะ แต่ก็ยังดีที่มีระบบเนวิเกเตอร์มาในตัวถึงสมัยนี้คนส่วนใหญ่จะใช้ Google Map ในสมาร์ตโฟนเป็นหลักก็ตาม และการมีจอขนาด 11 นิ้ว (ติดตั้งเป็นมาตรฐาน) ตรงกลางห้องโดยสารเพื่อให้คนนั่งแถวที่สอง-สาม ได้ดูหนังเพลินๆ ระหว่างเดินทางก็น่าจะแถมเฮดโฟนพร้อมรีโมตควบคุมมาด้วยเลย

อย่างไรก็ตาม Nissan ให้ความสำคัญกับการออกแบบห้องโดยสารให้มีความสะดวกสบายในการเดินทางจากการจัดที่นั่งแบบ Theatre-Styling Seating ช่วยให้มุมมองทุกตำแหน่งรวมถึงแถวที่ 3 โปร่งสบายไม่อึดอัด และช่องแอร์ด้านบนให้กระจายความเย็นได้ทั่วถึง มีการแยกปุ่มปรับความแรงของลมในทุกที่นั่ง รวมทั้งให้ช่องชาร์จไฟ 12V มากถึง 4 จุด ส่วนช่องต่อ USB/ HDMI มีแค่อย่างละ 1 ช่องให้แถวหน้าเท่านั้น

แต่เรื่องการพับเบาะต้องยอมรับว่า Terra ด้อยกว่า Ford Everest ที่มีปุ่มกดพับอัตโนมัติสำหรับเบาะนั่งแถวที่สาม แต่ถือว่ายังสะดวกกว่า Toyota Fortuner ที่ต้องออกแรงยกเบาะขึ้นมาล็อกเข้ากับด้านข้าง โดย Nissan เลือกใช้การดึงเชือกที่เป็นเหมือนสลักเพื่อให้เบาะพับลงคล้ายกับ Mitsubishi Pajero Sport

สำหรับเบาะแถวที่สอง ดึงตัวล็อกด้านข้างครั้งเดียวจะพับมาข้างหน้าทันที และเพิ่มความสะดวกสบายด้วยการมีปุ่มให้คนขับกดเพื่อพับเบาะแถวที่สองลงมาทั้งฝั่งขวา-ซ้าย ในกรณีที่คนนั่งแถวหลังสุด (ที่ควรตัวเล็กซักหน่อย) จะลงรถ เหมาะกับเวลาตระเวนส่งเพื่อนหลังปาร์ตี้ช่วงสุดสัปดาห์หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด

ในเรื่องของการขนของที่เป็นอีกเหตุผลในการตัดสินใจซื้อรถเอสยูวีของคนไทย ตามภาพประกอบจะเห็นว่าพื้นที่ด้านหลังของ Terra สามารถวางถุงกอล์ฟขนาด 9 นิ้ว แต่หากพับเบาะแถวที่สามจะใส่ของที่มีความกว้าง 1.1 เมตรหรือประมาณกระเป๋าเดินทางไซส์ 28 นิ้ว 3 ใบ แต่ถ้าเดินชอปปิ้งวันหยุดแล้วอยากซื้อเฟอร์นิเจอร์ การพับเบาะแถวที่สองให้แบนราบเหลือแต่คนนั่งด้านหน้าจะวางของที่มีความยาวได้ 1.9 เมตร เช่นเดียวกับความสะดวกในการเก็บอุปกรณ์กีฬา

Off-Road Test พิสูจน์สมรรถนะบนทางสุดโหด

หลังจากขับบนเส้นทางปกติ และทดสอบสมรรถนะบนทางขึ้นเขารวมระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ขบวน All-new Nissan Terra ทั้ง 11 คัน กลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่โรงแรมเอ สตาร์ ภูแล วัลเล่ย์ เพื่อเตรียมขับบนเส้นทางออฟโรดจำลองบริเวณทางลูกรังที่อยู่ติดกัน

ในวันที่ทดสอบมีฝนตกหนักสลับเบาตลอดทั้งวัน ทำให้ทีมงานขอปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อความปลอดภัย แต่ก็ยังได้สัมผัสอารมณ์ลุยๆ ของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4x4 พร้อมระบบล็อกไฟฟ้าเพื่อการใช้งานที่แตกต่างตามสภาพพื้นผิวถนน โดย Terra ติดตั้งฟังก์ชั่น Shift-on-the-flyทำให้ระหว่างขับปกติแบบสองล้อ Two-wheel Drive (2H) หากความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. คนขับสามารถปรับมาใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ Four-wheel Driver (4H) ได้ทันที เพิ่มความปลอดภัยในการขับบนสภาพถนนที่มีน้ำขังหรือเป็นหลุมเป็นบ่อ โดยการมีมาตรวัดแสดงโหมดออฟโรด (Off-road Meter) ช่วยให้รู้ถึงองศาความลาดเอียงของตัวรถกับพื้นถนนถือเป็นอีกข้อดีที่จะได้ตัดสินใจว่าควรฝืนขับไปต่อดีหรือไม่เวลาใช้งานจริง

อ่านข่าว: ลุยโคลนภูเขาไฟพินาตูโบกับ All-new Nissan Terra

การขับบนดินลูกรังที่อุ้มน้ำมาตลอดทั้งวัน ระบบป้องกันการลื่นไถล B-LSD (Brake Limited Slip Differential) จะช่วยเสริมแรงเบรกสู่ล้อที่ลื่นไถล เพิ่มประสิทธิภาพในการเกาะถนนได้ดีมากขึ้น แต่หากเจอสภาพถนนที่โหดกว่านี้ Terra สามารถปรับไปใช้โหมดการขับแบบความเร็วต่ำ Low Range Four-wheel Drive (4LO) สำหรับการใช้งานบนพื้นทราย, โคลน, ลุยน้ำ, ปีนขึ้นที่สูง หรือทางลงเขาที่ลาดชัน (อ่าน-สกู๊ปลุยโคลนภูเขาไฟพินาตูโบกับ All-new Nissan Terra) และระยะความสูงจากพื้นถนนถึงใต้ท้องรถ 22.5 เซนติเมตร ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายจากพื้นถนนที่ขรุขระ รวมถึงการขับลุยน้ำท่วม

ในส่วนระบบช่วยเหลือที่ติดตั้งใน Nissan Terra ที่ช่วยให้การขับบนสภาพถนนที่เต็มไปด้วยโคลนง่ายขึ้น จะมีทั้งระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (Traction Control System-TCS), ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist-HSA), ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control-HDC), ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง (Tire Pressure Monitoring System-TPMS), ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Vehicle Dynamic Control-VDC), ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS), ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) และระบบช่วยเบรก (Brake Assist System-BA)

บทสรุป- All-new Nissan Terra

ตลอดระยะเวลาเกือบๆ 6 ชั่วโมงที่ทั้งขับ และนั่งใน All-new Terra ต้องยอมรับว่ามีข้อด้อยในบางจุด แต่การเลือกขายความพรีเมียมของห้องโดยสารที่สะดวกสบาย และสมรรถนะที่ดีของเครื่องยนต์ดีเซลทวินเทอร์โบใหม่ พอจะชดเชยกับดีไซน์ที่หลายคนลงความเห็นว่าเหมือนกระบะ Navara เปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ และออปชั่นที่มาไม่เต็มอย่างระบบเปิด-ปิดประตูท้ายอัตโนมัติ (ที่ควรจะมีอย่างมากสำหรับรถเอสยูวีระดับนี้) แต่ระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อความปลอดภัยจัดเป็นเรื่องที่น่าชมเชย ก็คงอยู่ที่การตัดสินใจของคนซื้อว่าอยากได้เอสยูวีที่มีความพรีเมียมหรือจะพอใจกับตัวเลือกหน้าเดิมๆ ที่อยู่มานานแล้ว