No Need Rotary, It’s Piston !!! MAZDA BP Turbo Power by Moo Engine Shop

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป

สองคันพันกว่าม้า มาสด้าก็แรงเป็น

เป็นธรรมดาที่ผมจะสรรหา “ของแปลก” มาให้ชมกันบ้าง ไม่อยากจะให้เรื่องมันจำเจเกินไป ซึ่งบางครั้งสิ่งที่ “คนไม่เล่น” แต่ดัน “มีคนทำ” มันก็เป็นการจุดประกายให้กับสิ่งใหม่ ๆ บ้าง อย่าง MAZDA ถ้าไม่นับตระกูล RX-7 อันมีอาวุธประจำกายเป็นเครื่อง Rotary แล้วไซร้ รุ่นที่เป็น “ลูกสูบ” รุ่นอื่น ก็แทบจะตายจากกันไปในวงการ คงมีแต่คน “เฉพาะกลุ่ม” ที่ชอบ MAZDA ซึ่งเป็นรถที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบสปอร์ต แต่ถ้าจะทำกันมาก ๆ แล้ว ก็แทบไม่เห็นกันเลย ซึ่งเหตุผลนี้เอง ทำให้ “พี่หมู” แห่ง MOO ENGINE SHOP (MES) ทำอู่เกี่ยวกับ MAZDA อยู่แล้ว ก็เลยคิดอยากจะทำเครื่องลูกสูบของ MAZDA ในตระกูล BP1800 Turbo ให้ออกมา “แรง” และ “ทน” จนได้ แต่มันก็ไม่ง่ายนัก ไม่เหมือนสูตรสำเร็จเหมือนตระกูล TOYOTA และ NISSAN จึงกลายเป็นเรื่องท้าทายว่า “ถ้าทำได้ก็ดี” นั่นเอง…

การร่วมมือกับ TOON ENGINE SHOP

งานนี้ทางพี่หมู ก็ได้ปรึกษากับ “พี่ทูน” แห่ง TOON ENGINE SHOP ซึ่งได้รู้จักกันมาก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้คุยอะไรกันมาก เพราะทำกัน “คนละสาย” ตอนหลังจึงอยากทำรถควอเตอร์ไมล์สักคัน โดยเน้นว่า “ต้องเป็น MAZDA ทั้งรถและเครื่องเท่านั้น” โดยตั้งเป้าไว้ว่า “ต้องการแรงม้า 600 PS ขึ้นไป” งานนี้ก็เลยหันไปปรึกษาพี่ทูนอย่างจริงจัง อาจจะสงสัยกันว่า พี่ทูนมาเกี่ยวข้องกับ MAZDA ได้อย่างไร ต้องย้อนไปในอดีต สมัยพี่ทูนยังเป็นช่างอยู่ RAY SPORT ซึ่งเป็น Speed Shop ที่โด่งดังในสมัย 10-20 ปี ก่อนหน้านี้ ทางร้านมี MAZDA 323 ปี 1988 (โฉม Color key) เครื่อง BP เทอร์โบ โมดิฟายเต็ม จัดว่าแรงในกลุ่มรถซิ่งสมัยนั้น พี่ทูนเป็นคนทำเครื่อง จึงมีพื้นฐานและ “ความทรงจำ” อยู่ว่า  BP ควรจะไปท่าไหน จริง ๆ มันก็ไม่ได้พิสดารอะไรมาก พื้นฐานเครื่องยนต์มันก็เหมือนกัน เพียงแต่ “ปลีกย่อย” คนที่รู้จุดของแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น จะได้เปรียบ เลยให้พี่ทูนเป็นที่ปรึกษาในการทำเครื่อง MAZDA ทั้งสองคันนี้ ซึ่งเป็นรถ “ตัวแรง” ของทาง MOO ENGINE SHOP ที่ปั้นขึ้นมา…

ข้อดีของ BP

ไหน ๆ ก็ทำเรื่องใหม่แล้ว เรียนรู้ใหม่เลยก็แล้วกัน สำหรับ “ข้อดี” ของเครื่องตัวนี้ ที่คนอาจจะไม่รู้ หรือมองข้ามมันไปก็คือ “เสื้อสูบหนา วัสดุดี ทนทาน” วัสดุเป็นเหล็กหล่อ อาจจะหนักสักหน่อย แต่ได้ความทน มันคล้าย ๆ พวกเสื้อสูบเครื่องรุ่นเก่าบางรุ่น ที่ระหว่างลูกสูบจะมี “เนื้อเสื้อสูบหนา” ทำให้มีความแข็งแรง ส่วนเครื่องรุ่นใหม่ ๆ ในรถขนาดเล็ก ระยะเนื้อเสื้อสูบระหว่างลูกสูบจะค่อนข้าง “บาง” ลูกสูบจะค่อนข้าง “ชิดมาก” เนื่องจากต้องการ “ลดน้ำหนัก” และ “ลดความยาวของเครื่อง” จึงไม่ค่อยทนต่อการโมดิฟาย ข้อดีที่สุดก็คือ “ข้อเหวี่ยงตับเต็ม” หรือ Full Counter Weight จากโรงงาน ทำให้เกิดความทนทานและสมดุล…

ต่อมา “ปั๊มน้ำมันเครื่อง” ใช้วัสดุดี แข็งแรง (อันนี้ถ้าคนมีประสบการณ์จะมองออกถึงเนื้อวัสดุครับ) ตัววาล์วส่งน้ำมันมีขนาดใหญ่ ทำให้ปริมาณการ “ไหล” มาก (High Flow rate) สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ “ฝาสูบ” พื้นฐานมาดี ช่องพอร์ตสวย วาล์วใหญ่ พื้นที่หน้าตัดของวาล์วทั้ง 4 ตัว เมื่อคำนวณกับความกว้างกระบอกสูบ (Bore) แล้ว “อยู่ในเกณฑ์ดี” เน้นสมรรถนะ ความคิดเห็นของพี่ทูน คือ เป็นรองยี่ห้อ N อยู่บ้าง แต่ดีกว่ายี่ห้อ T เยอะ จึงดูแล้ว เป็นเครื่อง “โหงวเฮ้งดี” อีกรุ่นหนึ่ง ส่วนของแต่งก็ไม่เป็นปัญหา พวกลูกสูบ ก้านสูบ แคม ฯลฯ สั่งของตรงรุ่นเครื่องมีหมด ไม่ยากอย่างที่คิด…

ข้อเสียของ BP  

จริง ๆ แล้ว ไม่นับว่าเป็นข้อเสียของตัวเครื่อง แต่จะเสียที่ “ระบบส่งกำลัง” เพราะเกียร์รุ่นนี้จะ “มีขนาดค่อนข้างเล็ก” เมื่อเทียบกับเครื่องเทอร์โบ 4 สูบ อย่าง 3S-GTE ที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่า ทำให้เกิดปัญหา “เกียร์พังบ่อย” เวลาเอาไปแข่งที่ต้องใส่กันเต็มที่ เอาว่าถ้าเครื่องมี 400 PS ขึ้นไป “เตรียมเกียร์สำรอง” ไว้ได้เลย ครั้นจะ “แก้เกียร์” แบบเครื่องขับหลัง เช่น JZ ใส่เกียร์ RB มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะ “เพลาของรถขับหน้าจะเป็นแนวขวาง” ไม่เหมือนรถขับหลัง ที่เพลากลางจะเป็นแนวยาวตรงเหมือนกันทุกรุ่น แต่เพลาขับหน้าไม่ใช่ เป็นเพลาข้างยื่นมาขับที่ล้อ การดัดแปลงเกียร์ลูกอื่นที่ไม่ใช่ของยี่ห้อเดิม จึงค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะถ้าแนวเพลาไม่ได้ศูนย์จริง ๆ จะยิ่งทำให้รถขับแย่ไปกันใหญ่ ตอนนี้ทางอู่ได้ “โมดิฟายไส้ในเกียร์ใหม่หมด” เพื่อความแข็งแรงมากขึ้น และไล่อัตราทดใหม่ให้เหมาะสมกับควอเตอร์ไมล์…

เกี่ยวกับ FAMILIA GT-X และ GT-R

ตัว BP เอง นับว่าเป็นเครื่องที่ MAZDA ผลิตไปใช้กับรถค่ายตัวเองหลายรุ่น เช่น ตระกูล FAMILIA หรือ 323, ตระกูล MX-5 หรือ MIATA ขอนับเฉพาะเครื่องเทอร์โบก็แล้วกันนะ ในโฉม BG8 ปี 1991-1993 จะมีตัวเด่น คือ FAMILIA HB 4WD 1800 DOHC GT-X แล้วก็มีรุ่นนี้ในโฉม 4 ประตู อีกด้วย (ใช้ชื่อเหมือนกัน แต่ไม่มี HB) ใช้เครื่อง BP เทอร์โบ มีกำลัง 180 PS ที่ 6,000 rpm แรงบิด 24.2 kg-m ที่ 3,000 rpm รอบไม่สูงนัก เน้นกำลังตั้งแต่รอบกลาง ๆ ขึ้นไป เป็นรถที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนชอบรถขับสนุก…

และยังมีรุ่นพิเศษ ต่อท้ายด้วยคำว่า “GT-R” บ่แม่น SKYLINE เด้อครับ แต่มันเป็น Special Version ของ FAMILIA ที่ผลิตมาเพื่อการแข่งขันแรลลี่ WRC ในรุ่น Group A มีการปรับปรุงหลายอย่างจากรุ่น GT-X เพื่อให้เหมาะสำหรับการโมดิฟายเพื่อแข่งขัน เปรียบเสมือนกับ SUBARU IMPREZA STi หรือ MITSUBISHI EVOLUTION RS หรือ NISSAN PULSAR GTi-R แต่ GT-R ใช้เครื่อง 1.8 ลิตร แต่คู่แข่งใช้เครื่อง 2.0 ลิตร งานนี้ต้องอาศัย “วิชาตัวเบา” แต่ก็ดูถูกไม่ได้ เครื่อง BP เทอร์โบ ปรับปรุงพิเศษ ให้แรงม้ามากถึง “210 PS” นับว่าไม่ธรรมดาเลย ซึ่งผลิตรถจำหน่ายทั่วไป (Production Car) ตาม Homologate การแข่งขัน เป็นจำนวน 2,500 คัน ซึ่งมันจะเป็น Rare Item ที่หาได้น้อยในท้องตลาด และเป็น Collection สำหรับคนสะสมรถแนวนี้ ก็จะมีกลุ่มคนเล่นในประเทศต่าง ๆ ที่เยอะหน่อยก็เป็น Australia ก็ยังคงใช้รุ่น GT-R แข่งแรลลี่ในประเทศอยู่…

Blue Drag Race Car

รถคันสีฟ้าสดใส เป็นของพี่หมูเอง เจตนาทำแข่งควอเตอร์ไมล์แบบ FF หรือ “ขับหน้า” โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นรถที่ตั้งใจทำขึ้นมา มันอาจจะใช้เวลาในการพัฒนาเยอะหน่อยกับรถยี่ห้อนี้ แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะได้ที่ปรึกษาดีอย่าง “พี่ทูน” คอยช่วยเหลือ สำหรับคันนี้ก็เป็น FAMILIA Hatchback แต่เป็นขับสองล้อ เลยกลายเป็นของแปลกในวงการ ได้เปรียบเรื่องน้ำหนักเบา ซึ่งทั้งคันก็ไม่มีอะไรมากตามสไตล์รถแข่ง ยังดีที่มี “พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า” ช่วยผ่อนแรงหน่อย ตอนนี้ก็กำลังไล่ Set up อยู่เรื่อย ๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด…

Max Power : 654.04 PS @ 8,600 rpm

Max Torque : 56.67 kg-m @ 7,800 rpm

ลักษณะของกราฟรถคันสีฟ้า จะอยู่ในลักษณะเชิดปลาย รู้กันว่ามันคือนิสัยของรถ Drag ที่จะเน้น Power Band ในช่วงปลายอย่างเดียว ช่วงรอบต่ำและกลางไม่ค่อยสนใจกันเท่าไหร่ ยิ่งเครื่องแค่ 1.8 ลิตร ใส่เทอร์โบถึง T88 ก็คงไม่แปลกที่จะเชิดปลายเพียงอย่างเดียว ช่วง Power Band ก็มีให้ใช้ในช่วง 7,500-9,000 rpm เท่านั้นเอง ค่อนข้างแคบ ก็ต้องใช้ “เกียร์อัตราทดชิด” มาประคองไม่ให้ตก Power Band คนขับก็ต้อง “แม่น” ในการเปลี่ยนเกียร์ เพราะรอบช่วงนี้น่าจะไปได้ไวมาก ดูจากเทอร์โบใหญ่ แคมองศาสูงถึง 280 องศา ก็ต้อง “เล่นรอบปลายอย่างเดียวเท่านั้น” ตามสูตร…          ในช่วงแรก กราฟแรงม้า (เส้นน้ำเงินเข้ม ดูยากชะมัด) ไม่มีอะไรเลยครับ ช่วง 5,000 rpm แรงม้ายังไม่ถึง 200 PS ด้วยซ้ำไป จะเริ่ม “ดีด” ก็ตั้งแต่ 6,000 rpm ช่วงนี้เหมือนบูสต์เริ่มมาเต็ม กราฟจะทะยานขึ้นรวดเร็วแทบจะเป็นแนวดิ่ง ช่วง 7,200 รอบ มีแรงม้า 500 PS แล้วก็โดดขึ้นสุด 654.04 PS ที่ช่วง 8,300-8,700 rpm ไปสุดที่ 9,000 rpm จึงหยุดการทดสอบ ส่วนกราฟแรงบิด (เส้นสีฟ้าอ่อน) ไม่บรรยายมากนะครับ เพราะมาทรงเดียวกับแรงม้าเลย ในภาพรวม เป็นเครื่อง 1.8 ลิตร ที่ทำแรงม้าและแรงบิดได้มาก ใน Concept ของการแข่งควอเตอร์ไมล์ ช่วงกำลังมันก็ประมาณนี้แหละ แต่ถ้าเป็นรถวิ่งถนน ทำแรงแบบนี้จะ “ขับยาก” ส่วนรถ Drag ก็จะเน้นรอบปลายฟาดเร็ว เอาอัตราเร่งขาขึ้นเพียงอย่างเดียว รอบต้นและกลางจึงไม่สน ซึ่งคันนี้รอบปลายไปได้ไว คนขับก็ต้อง “แม่นเกียร์” และขับเก่ง จับอาการรอบได้ ก็ต้องเลือกการโมดิฟายให้เหมาะสม ว่าจะเอาไว้ขับอย่างไรกันแน่…

TECH SPEC

รถยนต์ : MAZDA FAMILIA 323 Hatchback

ภายนอก

กันชนหน้า : FAMILIA GT-R

ฝากระโปรง : FAMILIA GT-R

ภายใน

พวงมาลัย : NARDI

เกจ์วัดรอบ : AUTO METER

เกจ์วัดอื่น ๆ : GReddy + LAMCO

เบาะ : BRIDE

เข็มขัด : SIMPSON

หัวเกียร์ : MAZDASPEED

โรลบาร์ : SAFETY 21

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : Modified by MOO ENGINE SHOP

คลัตช์ : OS Twin Plates

ลิมิเต็ดสลิป : QUAIFE

ช่วงล่าง

โช้คอัพหน้า-หลัง : J.SPEED

ค้ำโช้คหน้า-หลัง : MAZDASPEED

บู๊ชช่วงล่าง : SUPER PRO

ล้อหน้า : RAY’S GRAMS LIGHT  7 x 15 นิ้ว

ล้อหลัง : RAY’S GRAMS LIGHT  6.5 x 15 นิ้ว

ยางหน้า : NITTO R1-R ขนาด 205/50R15

ยางหลัง : BRIDGESTONE Play-Z ขนาด 195/50R15

เบรกหน้า : RX-7 FC-3S

เครื่องยนต์

รุ่น : BP

สปริงวาล์ว : SUPERTECH

รีเทนเนอร์ : SUPERTECH

วาล์ว : SUPERTECH

แคมชาฟท์ : KELFORD Custom Made 280 องศา ลิฟต์ 11.0 มม.

เฟืองแคม : TODA

ปะเก็นฝาสูบ : ช.ปะเก็น

ลูกสูบ : CP 84.0 มม. (Oversize 1.0 มม.)

ก้านสูบ : EAGLE H-Beam

แบริ่ง : CALICO

ข้อเหวี่ยง : Balance by TOON ENGINE SHOP

เทอร์โบ : GReddy T88-33D

เฮดเดอร์ : บางมด เรซซิ่ง

เวสต์เกต : ถาวร

ท่อร่วมไอดี : บางมด เรซซิ่ง

อินเตอร์คูลเลอร์ : บางมด เรซซิ่ง แบบ Liquid to Air

ลิ้นเร่ง : บางมด เรซซิ่ง 85 มม.

หม้อน้ำ : บางมด เรซซิ่ง

หัวฉีด : BOSCH 1,600 ซี.ซี.

รางหัวฉีด : บางมด เรซซิ่ง

ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE

ปั๊มเชื้อเพลิง : BOSCH 910 x 4

คอยล์จุดระเบิด : MSD

สายหัวเทียน : MSD

ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MSD DIS-2

กล่องควบคุม : MoTeC M4 by ปอ

Comment : “พี่หมู” MOO ENGINE SHOP

คันนี้ก็เป็นการหมายมั่นปั้นมือจากทางอู่ ที่ต้องการจะมีรถแข่งควอเตอร์ไมล์สักคัน เพื่อให้เห็นว่ารถแข่งเราก็ทำได้เหมือนกัน จากอดีตที่เน้นรถบ้าน โมดิฟายนิดหน่อย เลยอยากลองโมดิฟายชุดใหญ่ดูบ้าง เลยไปปรึกษาพี่ทูน เพราะเห็นว่าเคยทำมาก่อน หลังจากที่ได้ข้อมูลเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ร่วมมือกันทำขึ้นมา คันนี้ก็หมายมั่นไว้ว่าอยากจะได้ 600 แรงม้า ขึ้นไป ตรงนี้จบแล้วในส่วนของเครื่อง ส่วนเวลาวิ่ง ตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงปรับเซ็ตช่วงล่างและยาง เพื่อหาจุดที่ดีที่สุด เพราะรู้ว่ารถขับหน้าค่อนข้างเสียเปรียบรถขับหลังพอสมควร ท้ายสุด ก็ขอขอบคุณ “พี่ทูน” ด้วยครับ ที่ให้คำแนะนำมาตลอด…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

คันนี้ผมก็เห็นมาพักใหญ่แล้วครับ ก็ยังนึกอยู่ว่า “กล้าดี” เอารถแปลก ๆ มาเล่น ยี่ห้อ MAZDA คนไทยไม่นิยม แต่ในเมื่อมีคนทำ ก็ถือเป็น “สิ่งแปลกใหม่” ผมก็ชอบนะ ไม่จำเจ จะได้รู้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับยี่ห้ออื่นด้วย โดยพื้นฐานเครื่อง BP Turbo ก็ไม่มีคนเล่น คนทั่วไปอาจจะคิดว่าไม่แรง ทำไม่ขึ้น แต่ผมก็รู้จัก ว่า FAMILIA มันมีตัว GT-R ที่มีแรงม้าพื้นฐานถึง 210 PS แสดงว่ามัน “ไม่ธรรมดา” เช่นกัน พื้นฐานเครื่องมันต้องดีระดับหนึ่งเลย สำหรับคันนี้ก็ได้ความแปลกของตัวรถ เครื่องยนต์มีการจัดวางระบบได้อย่างเรียบร้อย การเก็บงานดี สวยงาม เรียบง่าย สะอาด ส่วนเรื่องเวลา ก็ต้องติดตามชมผลงานกันต่อไปครับ…

X-TRA ORDINARY

สำหรับ MOO ENGINE SHOP นอกจากจะโมดิฟายแล้ว ยังรับเซอร์วิส “รถบ้านทั่วไป” อีกด้วย โดยเน้น MAZDA เป็นหลัก ซึ่งเป็นการเซอร์วิสแบบครบวงจร ซ่อมเครื่อง ซ่อมช่วงล่าง ตกแต่งสวย โมดิฟาย แบบครบครัน ที่ 08-1497-7743, 08-5063-7775 ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ www.mooengineshop.com

 

ส่วนคันสีขาว เป็น 323 ASTINA รุ่น “ตาตี่” หลังจากตัว “ไฟป๊อป” หนึ่งรุ่น หรือบางคนก็เรียกว่า New ASTINA คันนี้ของ “เอ” ซึ่งก็พยายามปั้นขึ้นมาให้แรงและสวย ด้วยของแต่งตัวนอกตรงรุ่น รวมถึงแบรนด์  MAZDASPEED ที่พยายามหามาใส่ให้ได้มากที่สุด ส่วนเครื่องก็อยากได้สเต็ปแรง ๆ แต่ก็ไม่มาก เพราะถ้าทำเหมือนคันสีฟ้าจะขับยากเกินไปบนถนน จุดประสงค์ของคันนี้ ก็เน้นการขับเล่นในบางอารมณ์ และแข่งควอเตอร์ไมล์ในรุ่น Street มากกว่า แต่จะว่าเป็น “ความพยายามและความอดทน” ก็ไม่ผิด เพราะแอร์กับพวงมาลัยเพาเวอร์ก็ถอดออกไปแล้ว ลด Load ที่เกิดกับรถทั้งหมด นับถือจริง ๆ ยอมรับรถร้อนและพวงมาลัยหนัก ขอแรงสะใจอย่างเดียวเป็นพอ…

Max Power : 538.33 PS @ 7,500 rpm

Max Torque : 54.07 kg-m @ 6,600 rpm

กราฟแรงม้ามาแนวเดียวกัน สไตล์เชิดปลายทั้งแรงม้าและแรงบิด กราฟมี 2 Run เราจะดูกันที่ค่ากำลังสูงสุด คือ เส้นสีแดงและชมพู (แยกสียากชะมัดอีกเหมือนกัน) มาดูกราฟแรงม้า (เส้นสีแดง) กันก่อน ช่วง Power Band จะมีให้ใช้จริง ๆ ก็ตั้งแต่ 6,000 rpm ขึ้นไป จนถึง 8,500 rpm ดูจริง ๆ กราฟเหมือนคันสีฟ้าเลย เพียงแต่ไม่ดีดปลายมากเท่า เพราะการ Setting เครื่องยนต์คล้ายกัน คันนี้ “มาไว” กว่า ถ้าเทียบกับคันสีฟ้า เพราะใน 6,500 rpm ก็มาแล้ว 500 PS (คันสีฟ้า 500 PS มาที่ 7,200 rpm) หลังจากนั้นกราฟก็ค่อย ๆ ทยอยไต่ขึ้น แล้วก็นอนไปถึง 8,500 rpm จึงหยุดการทดสอบ ซึ่งกราฟแรงม้าก็ยังไม่ตกนะครับ ยังทรงตัวอยู่ได้เป็นแนวนอน แต่ด้วยความ “กลัวพัง” จึงพอแค่นี้ดีกว่า เพราะถ้า “ฝืนลากต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากกราฟแรงม้าไม่เชิดหัวขึ้นอีกแล้ว” จึงเป็นแนวคิดที่ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ดีกว่าฝืนลากเอามันส์ไปโดยไม่ได้อะไรขึ้นมาครับ…         กราฟแรงบิด (สีชมพู) ก็ได้ค่าที่ไม่เลวนัก เพราะในช่วง 5,500 rpm ก็มาแล้ว 40 kg-m เป็นค่าที่ใช้ได้สำหรับเครื่อง 1.8 ลิตร ก็มาจากเทอร์โบที่มีขนาดกลาง จึงไม่รอรอบเหมือนเทอร์โบใหญ่มาก แรงบิดจะขึ้นสู่จุด Peak 54.07 kg-m ที่ 6,600 rpm แรงบิดไม่ต่างจากคันฟ้ามากนัก สันนิษฐานได้อีกประการ อาจจะเป็น Limit ของเครื่องความจุ 1.8 ลิตร ที่ทำแรงบิดได้สูงสุดประมาณนี้ แต่ระดับนี้ก็ไม่เลวนะครับ กับเครื่องความจุแค่นี้เอง และจะมีกราฟอีกชุดที่ “ผมชอบ” คือ “ชุดสีฟ้า” 440.07 PS ลองดูครับ พอแรงม้าและแรงบิดมาเต็มที่ กราฟแรงม้าไม่ดีดครับ ค่อย ๆ ขึ้น แต่ผมมองว่า “มาแบบไม่กระโชก” ส่วนแรงบิด ก็นอน 180 องศา มันอาจจะดูไม่หวือหวานัก แต่ถ้ามองกันจริง ๆ “มันขับง่าย” ควบคุมรอบได้ง่ายกว่า สเต็ปนี้จึงเหมาะกับการวิ่งถนนด้วย ก็ไม่แน่นะครับ ต้องลองวิ่งเอาเวลาเปรียบเทียบดูระหว่างแรงม้าทั้งสองแบบนี้ แรงม้าน้อยอาจจะวิ่งดีกว่าก็ได้ หากรถใช้ยางเล็ก แรงม้ามากก็ฟรีทิ้ง สะบัด ขับยาก ก็อยู่ที่การ Setting ยาง ช่วงล่าง เป็นหลัก ว่าจะเหมาะกับแรงม้าขนาดไหนกันแน่…

TECH SPEC

รถยนต์ : MAZDA 323 ASTINA Hatchback

ภายนอก

กันชนหน้า : MAZDASPEED

ฝากระโปรงหน้า : MAZDASPEED Carbon fiber

ฝาหลัง : Carbon by OHM

สเกิร์ตข้าง : MAZDASPEED

กระจกมองข้าง : Carbon by OHM

ไฟหน้าซ้าย : Carbon

สปอยเลอร์หลัง : Carbon by OHM

ภายใน

พวงมาลัย : NARDI

เกจ์วัดทั้งหมด : Defi

เบาะ : TRASH

เข็มขัด : WILLANS

หัวเกียร์ : RE SUPER G

โรลบาร์ : บางมด เรซซิ่ง

ปรับบูสต์ : BLITZ HID

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : Modified by MOO ENGINE SHOP

คลัตช์ : ORC Twin Plates

ช่วงล่าง

โช้คอัพหน้า-หลัง : JIC Magic

ค้ำโช้คหน้า : MAZDASPEED

ค้ำโช้คหลัง : ULTRA RACING

ค้ำล่างหน้า-หลัง : ULTRA RACING

บู๊ชช่วงล่าง : SUPER PRO

ล้อหน้า : VOLK TE37 ขนาด 7 x 15 นิ้ว

ล้อหลัง : VOLK TE37 ขนาด 8 x 15 นิ้ว

ยางหน้า : BRIDGESTONE RE-01R ขนาด 195/55R15

ยางหลัง : BRIDGESTONE RE-01R ขนาด 225/50R15

เบรกหน้า : RX-7 FD-3S

เครื่องยนต์

รุ่น : BP

สปริงวาล์ว : SUPERTECH

รีเทนเนอร์ : SUPERTECH

วาล์ว : SUPERTECH

แคมชาฟท์ : TODA 272 องศา ลิฟต์ 8.9 มม.

เฟืองแคม : HKS

ปะเก็นฝาสูบ : COMETIC

ลูกสูบ : CP 84.0 มม. (Oversize 1.0 มม.)

ก้านสูบ : PAUTER X-Beam

แบริ่ง : CALICO

ข้อเหวี่ยง : Balance by TOON ENGINE SHOP

เทอร์โบ : GReddy TD06-25G

เฮดเดอร์ : บางมด เรซซิ่ง

เวสต์เกต : GReddy Type C

ท่อร่วมไอดี : บางมด เรซซิ่ง

อินเตอร์คูลเลอร์ : HKS

Blow off valve : HKS

ลิ้นเร่ง : บางมด เรซซิ่ง 85 มม.

ออยล์คูลเลอร์ : TRUST

หม้อพักไอเสีย : APEX’i N1

หม้อน้ำ : บางมด เรซซิ่ง

หัวฉีด : SARD 1,000 ซี.ซี.

กรองอากาศ : BLITZ

รางหัวฉีด : OBX

ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE

ปั๊มเชื้อเพลิง : WALBRO x 2

คอยล์จุดระเบิด : MSD

สายหัวเทียน : MSD

ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MSD DIS-4

ไนตรัส : NOS

กล่องควบคุม : HKS F-CON V PRO 3.24 by ปอ

Comment : “เอ”

ส่วนตัวผมชอบ MAZDA 323 ASTINA ตัวนี้อยู่แล้ว ทรวดทรงมันสวยและสปอร์ตดี ไม่เหมือนรถบ้านทั่วไป ตอนแรกก็ค่อย ๆ ทำไปก่อน จนมาเจอพี่หมู ก็เลย “จัดหนัก” อยากได้แรงม้า 500 PS ขึ้นไป แต่เอาเป็นแนว Street Drag ที่ต้องมีของแต่งครบ ๆ ทั้งคัน ตอนนี้แรงม้าได้ตามเป้าแล้ว พอใจครับ ส่วนการขับก็ขอปรับตัวและ Setting รถให้ดีที่สุดก่อน ส่วนตัวผมจะเน้นขับบ่อย ๆ เพราะชอบ ท้ายสุดก็ขอขอบคุณ พี่หมู ที่ทำเครื่องครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

ก็เป็นครั้งแรกในการทำคอลัมน์เหมือนกัน ที่มี MAZDA ที่ไม่ใช่เครื่องโรตารี่มาให้ถ่ายทำ คันนี้ได้ของแต่งตรงรุ่นมาครบถ้วน ห้องเครื่องสวย เรียบร้อย สะอาด การยึดและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำได้เรียบร้อย สวยงาม แน่นหนา ดูแล้วมันสบายตาทั้งข้างนอกและข้างใน ส่วนที่ว่า “แอร์ไม่มี” กับ “ถอดพวงมาลัยเพาเวอร์ออก” มันดูจะเกินคำว่า Street ไป เข้าใจครับว่าต้องการลดภาระ แต่มันทำให้ขับบนท้องถนนแล้วเหนื่อยมากขึ้น โดยเฉพาะการถอดเพาเวอร์ ที่จะทำให้พวงมาลัยหนักมาก การควบคุมรถจะทำได้เพียงทางตรง แต่ถ้าวิ่งถนนแล้วต้องหักหลบอะไรเร็ว ๆ พวงมาลัยจะตอบสนองไม่ค่อยดีเท่าที่ควรครับ…

X-TRA ORDINARY

สำหรับ MAZDA 323 New ASTINA หรือ LANTIS Hatchback ในญี่ปุ่น ตัวถัง CB นี้ ก็เป็นการออกมาแทน “ไฟป๊อปอัพ” ตัวเก่า ในเมืองไทยก็ค่อนข้างจะเงียบหน่อย รถมีไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรุ่น 1.8 ลิตร และหายากกว่านั้น คือ รุ่น 2.0 ที่ใช้เครื่อง KF-ZE V6 170 แรงม้า (สเป็กญี่ปุ่น ส่วนของไทยจำได้ว่ามันอยู่แถว ๆ 160 PS) ผมเคยขับแล้ว “สนุกดี” เครื่องยนต์ทำงานได้เรียบ เสียงหวาน ดุมล้อเป็น 5 รู จากโรงงาน (รุ่น 1.8 เป็น 4 รู) โดยรวมเป็นรถที่มีเอกลักษณ์ดี ถ้าใครอยากได้ก็ต้องอดทนรอรถสภาพดีหน่อยแล้วกัน…