Nothing Come Together สองสไตล์ เน้นขับง่าย ดีเทลงาม

 

เรื่อง “รสนิยม” เป็นสิ่งที่มีความหลากหลายในการโมดิฟายรถยนต์ และเป็นไปตามยุคสมัย คงเป็นเหมือนกันทุกคน พอมีรถใหม่ๆ ก็อยากจะทรงเครื่องให้เต็มที่ แต่พอเวลาผ่านไป กลับโหยหาความเป็น Original ที่หายไประหว่างทาง โดยเฉพาะรถที่เริ่มอยู่ใน “ตำนาน” อย่าง SKYLINE GT-R ทั้ง R32 และ R34 สองคันนี้ ถูก “ไก่” และ “เอ๊ะ” แห่งทีม Nothing เมืองโอ่ง ราชบุรี จับมาทำแบบเรียบๆ โดยเน้นของดั้งเดิมและมีสภาพที่ดี ซึ่งปัจจุบันการทำรถตระกูล SKYLINE จะไปในเทรนด์ “เดิม เรียบ เนียน” เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะทรงเครื่องแทบไม่เหลือของเดิม ดังนั้น การหารถที่มีสภาพดีจึงเป็นเรื่องยาก และยาก หากจะทำกลับเป็นเดิมๆ (เดี๋ยวจะมีให้เบิ่ง สไตล์เดิมๆ เบิกใหม่ทุกอย่าง รอชมก็แล้วกัน) ถ้าคนไม่รักจริง คงไม่ได้ตามฝัน แต่สองคันนี้ก็ใช่ว่าจะเดิมทั้งหมด ขุมพลังถูกโมดิฟายขยายไส้เป็น 2.8 L ทั้งคู่ ผ่านการปรุงแต่งจาก V.J. Workshop แต่ไม่ได้เอาบ้าพลัง เน้น “ใช้งานจริง ตอบสนองดี ทนทาน” เป็นหลัก…

SAURUS 884R Sudo-R Concept

สำหรับ R32 ของ “เสี่ยไก่” ก็จะมาในลุคที่แปลก ไม่อลังการใหญ่โต ดูเรียบๆ แต่มี Detail จากชุดคาร์บอนไฟเบอร์รอบด้าน ผนวกกับสียอดฮิต Gun Metallic ที่ส่งมาดให้เข้มดุดันขึ้นอย่างมาก มันไม่จำเป็นต้องใส่หรือทำให้ใหญ่โตอลังการ เรียบๆ ก็สวยได้ ถ้ามี “สไตล์” ซึ่งก็เป็นแนวทางที่แปลกใหม่ดีของ “เสี่ยไก่” ที่สมัยก่อนจะเน้นแต่งรถแบบอลังการ แต่ตอนนี้เปลี่ยนแนวมาแบบนี้บ้างก็ไม่เลวนะ…

 

เปลี่ยนเกียร์ 6 สปีด ของ R34 ช่วยได้เยอะเลย

สำหรับ GT-R ในโฉม R32-R33 เดิมๆ จะเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ที่ใช้อัตราทดเดียวกันเกียร์และเฟืองท้าย ซึ่งข้อเสียของเกียร์ 5 สปีด กับเฟืองท้าย 4.111 ก็คือ “ใช้รอบเครื่องค่อนข้างสูงในเกียร์ 5” ถ้าเป็นคนที่ชอบขับทางยาวๆ อาจจะรู้สึกตรงนี้ คิดว่าทางโรงงานอาจจะเซ็ตมารองรับกับเครื่องรอบจัดแบบ RB26DETT ซึ่งถ้าทดเฟืองท้ายต่ำกว่านี้ อัตราเร่งในช่วงต้นก็อาจจะหายไป สำหรับ R32 คันนี้ ได้เปลี่ยนเกียร์มาเป็นของ R34 แบบ 6 สปีด ที่ให้อัตราทดชิดกว่า ส่งผลในด้านอัตราเร่ง ลองดูเปรียบเทียบกันก่อนครับ…

ตารางอัตราทดเกียร์

  1. R32-R33 3.214 / R34 3.827
  2. R32-R33 1.925 / R34 2.360
  3. R32-R33 1.302 / R34 1.685
  4. R32-R33 1.000 / R34 1.312
  5. R32-R33 0.752 / R34 1.000
  6. R32-R33 – / R34 0.793

อัตราทดเฟืองท้าย R32-R33 4.111 / R34 3.545

จะเห็นว่าเกียร์ 6 สปีด จะมีอัตราทดชิดกว่าอย่างเห็นได้ชัด จะส่งผลเรื่องอัตราเร่ง และอัตราทดเกียร์ 6 สปีด ในภาพรวมแล้วสูงกว่าเกียร์ 5 สปีด เกือบทุกเกียร์ แต่ดูที่อัตราทดเฟืองท้ายของ R34 จะต่ำลงเหลือ 3.545 ทำให้ตีนปลายใช้รอบน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด จะช่วยเรื่องความประหยัด ทนทาน ตีนปลายไหลได้ยาวขึ้น (ต้องระวัง ถ้าทดต่ำเกินไป ตีนปลายอาจจะไม่ไป หากเครื่องมีแรงบิดไม่พอ ไม่ใช่ยิ่งต่ำแล้วยิ่งไปได้เยอะนะครับ อยู่ที่กำลังเครื่องเป็นสำคัญ) พอเอาเกียร์ R34 มาใส่กับ R32 จึงต้อง “เปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้ายทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้ครบชุด” ถ้าใช้เฟืองท้าย 4.111 เดิม จะให้อัตราเร่งที่จัดจ้านขึ้นมาก แต่ “ใช้รอบสูงขึ้นอีกหน่อย” แม้บางคนจะค้านว่ามันมี 6 เกียร์ ก็ตาม แต่ถ้าดูอัตราทดเกียร์ 6 ของ R34 ก็ยังสูงกว่าเกียร์ 5 ของ R32-R33 อีกนิด อันนี้คุยกันสนุกๆ เพราะส่วนใหญ่ก็จะเปลี่ยนทั้งเซ็ตอยู่แล้ว เป็นอีกทางที่น่าสนใจมาก…

 

การนำเกียร์ R34 มาใส่ใน R32-R33 อาจจะหาคนทำน้อย เพราะราคาเกียร์ R34 ก็ไม่ถูกนัก เปลี่ยนเฟืองอีกสองชุด ก็น่าจะหลายหมื่นอยู่ คนที่เน้นอัตราเร่ง ไม่เน้นใช้งาน ก็หันไปมอง “เกียร์ 5 สปีด H-Pattern โมดิฟาย” จะสำนักนอกประเทศไหน จะกัดเฟืองใหม่ร้านไหน ก็ว่ากันไปตามสะดวก แต่เกียร์โมดิฟายพวกนี้ก็ไม่เหมาะจะนำมาวิ่งบนถนนเป็นจริงเป็นจัง เพราะอัตราทดสูง เสียงดัง ต้องกระแทกเข้า ขับปกติไม่เป็นสุขว่างั้นเหอะ เพราะฉะนั้น แนวทางของคันนี้ที่เน้นใช้งานบนถนนเป็นหลักด้วย จึงต้องหันมาเล่นกับเกียร์เดิมของ R34 แทน จะตอบโจทย์ได้ดีที่สุดครับ…

 

Comment : ไก่ Nothing

                สำหรับรถคันนี้ ผมก็ได้ต้นแบบมาจาก SAURUS 884R Sudo-R เห็นแล้วชอบ ดูมันเรียบๆ แต่แอบโหดด้วยคาร์บอน แค่นี้พอครับ อื่นๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก เพราะชอบตัวถังของ R32 เดิมๆ มากกว่า และรถแต่งมันมีเยอะ เลยอยากจะทำแนวเรียบๆ สักคัน แต่ขอเครื่องตอบสนองดีๆ คันนี้ผมก็ใช้การขยายความจุเป็น 2.8 ลิตร แถมชุด V-Cam ที่ให้แรงบิดรอบต้นได้ดีกว่าเครื่อง 2.6 ลิตร ทำให้ขับง่ายกว่าเดิมเยอะเลย แรงม้าก็ไม่เอามากมาย อยากขับแบบสบายๆ มากกว่ามีแรงม้าเยอะๆ แล้วขับลำบาก อันนี้เป็นสไตล์ของผมครับ…

 

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

                สำหรับ R32 คันนี้ ผมมีความรู้สึก “แตกต่าง” ทั้งในรายละเอียดภายนอก ที่เด่นสุด คือ “ล้อ” ที่เปลี่ยนเป็นสไตล์ยุโรป ซึ่งผมเคยเห็น R32 เนี้ยบๆ ใส่ล้อยุโรป พวก O.Z. Futura ยอมรับว่าสวยแปลก แล้ว “ฝังใจ” ก็มาเจอกับ BBS LM ใส่คันนี้ ดูแล้วลงตัวกับลุคเรียบๆ ตัวถังเป็นเส้นสายเดิมแบบนี้ ซึ่ง R32 ในปัจจุบัน ทั่วโลกจะเน้นการ “เก็บลุคเดิม” ส่วนเครื่องก็แล้วแต่ชอบ สำหรับรายละเอียดคันนี้ เสียดายที่ตอนปิดต้นฉบับรถยังไม่ได้จูน ซึ่งเจ้าของรถก็หวังแรงม้าไว้ระดับ 600 PS ++ ประมาณนี้ เพราะใช้เทอร์โบขนาดกลางไม่ใหญ่มาก เน้นการตอบสนองที่ดี ขับสนุก ก็ดีครับที่ “ชัดเจนในเป้าหมาย” ลงทุนเยอะแต่จบในทีเดียว…

X-TRA Ordinary

                สำหรับ SKYLINE R32 SAURUS 884R Sudo-R “ตัวจริง” ในญี่ปุ่น เป็นรถที่ได้รับความชื่นชอบอย่างมากจากเว็บไซต์รถโมดิฟายต่างๆ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ดูแปลกใหม่ ไม่ซ้ำเดิม เครื่องยนต์ถูกโมดิฟายในระดับ 1,000 PS ด้วยชุดคิต HKS 2.8 L Step III เทอร์โบ HKS T51R SPL เป่าแรงดัน 2.4 บาร์ ทำเวลาควอเตอร์ไมล์ได้ 8.950 วินาที โดยเป็นพื้นฐานของ Street Legal Car ที่สามารถวิ่งบนถนนได้ปกติ นับว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว…

KAI R32 Tech Spec
ภายนอก
ชุด Carbon Body Parts : SAURUS 884R Sudo-R
กันชนหน้า-หลัง : NISMO
ฝากระโปรงหน้า-หลัง : SAURUS 884R Sudo-R
สเกิร์ตข้าง : NISMO
สปอยเลอร์หลัง : NISMO

ภายใน
วัดรอบ-เรือนไมล์ : NISMO
เกจ์วัดบูสต์ : Defi
เกจ์ดิจิตอล : Defi ZD
ปรับบูสต์ไฟฟ้า : GReddy Profec B
หัวเกียร์ : GT-R R34

เครื่องยนต์
รุ่น : RB26DETT
สปริงวาล์ว : HKS
แคมชาฟท์ : HKS V-Cam 264 และ 272 องศา
เฟืองแคม : HKS
ลูกสูบ : HKS 87.0 mm.
ก้านสูบ : HKS
ข้อเหวี่ยง : HKS 2.8 L
แบริ่งชาฟท์ : CALICO
ปั๊มน้ำมันเครื่อง : HKS
เทอร์โบ : HKS T04Z
เวสต์เกต : GReddy
เฮดเดอร์ : RC TURBO
อินเตอร์คูลเลอร์ : TRUST
ท่ออินเตอร์ฯ : RC TURBO
ท่อร่วมไอดี : NISMO
ออยล์คูลเลอร์ : HKS
หม้อพักไอเสีย : GReddy
หัวฉีด : HKS 800 C.C.
รางหัวฉีด : HKS
กรองอากาศ : K&N
กล่อง ECU : HKS F-CON V-PRO 3.3 by MAI P&C

ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : R34 6 สปีด
คลัตช์ : ORC 3 Plates
แม่ปั๊มคลัตช์ : NISMO
เฟืองท้าย : R34 อัตราทด 3.545

ช่วงล่าง
โช้คอัพ : TEIN Mono Flex
ค้ำโช้คหน้า-หลัง : NISMO
ล้อหน้า-หลัง : BBS LM ขนาด 10 x 18 นิ้ว
ยางหน้า-หลัง : YOKOHAMA AD08 ขนาด 255/35R18
เบรกหน้า-หลัง : GT-R R35 Full Set

NISMO & Original Detailing

                R34 V-Spec II ตัวแท้ “เสี่ยเอ๊ะ” ยืนยันมา สมัยก่อนเล่น RX-7 RE Amemiya (เคยถ่ายปกคู่กับ SILVIA S15 ของเสี่ยไก่) มาเจออีกทีเปลี่ยนสไตล์จากหวือหวา มาเป็นสไตล์เรียบๆ เสียแล้ว ก็ไม่แน่ กาลเวลาทำให้คนเปลี่ยนใจได้เสมอ ต่างคนก็ต้องหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับตัวเอง สไตล์ของคันนี้ จะเน้นชุดพาร์ท NISMO รอบคัน เก็บสีเนี้ยบๆ อุปกรณ์ต่างๆ เบิกใหม่ เน้นความสวยงามแบบครบๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรถที่ถูกโมดิฟายและเปลี่ยนมาหลายมือจะค่อนข้าง “เยิน” ซึ่ง “เสี่ยเอ๊ะ” ก็พยายามหารถสภาพดี และทำกลับมาให้สวยสมใจอยาก ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ “รถจะมีราคา ต้องดูดี เรียบร้อย สะอาด” มันจะเห็นได้ชัดเลยละครับว่าแตกต่าง…

 

Airflow Meter VS MAP Sensor

จู่ๆ ก็นึกเรื่องนี้ออก เนื่องจากมีแฟนเพจของเราท่านหนึ่งถามเกี่ยวกับ Airflow Meter มา ประกอบกับผมจะ “หาเรื่อง” มาแพ่มกันในคอลัมน์พอดี เลยนึกขึ้นได้ ว่า RB26DETT เดิมๆ เป็นเครื่องที่ใช้ Airflow Meter และมาเปลี่ยนเป็น MAP Sensor เมื่อมีการโมดิฟายเพิ่มขึ้น เลยขอนำเสนอว่าอะไรเป็นอะไร แล้วทำไมต้องเปลี่ยน ดีไหมครับพี่น้อง ???

เอาอันแรก ระบบ Airflow Meter มันคือ “มาตรวัดการไหลของอากาศที่จะเข้าเครื่องยนต์” เพื่อประมวลผลไปที่กล่อง ECU ว่าให้สั่ง “จ่ายเชื้อเพลิง” และ “ปรับองศาไฟจุดระเบิด” ตามภาระ (Load) ของเครื่องยนต์ เมื่อเราเหยียบคันเร่งน้อย ลิ้นเปิดน้อย อากาศก็เข้าน้อย ส่วนตอนเหยียบคันเร่งมาก ก็เป็นทางตรงข้ามกัน ตัว Airflow Meter สามารถวัดอากาศได้อย่างไร มันมีวิธีวัดได้หลายอย่าง เอาพอสังเขปเฉพาะแบบหลักๆ ละกัน เดี๋ยวจะหน้าไม่พอซะ…

 

Hot Wire & Diode

เป็นระบบที่ NISSAN นิยมใช้ ในเครื่องรุ่นเก่าๆ อย่าง CA18DET จะใช้เป็นแบบ Hot Wire ก็คือ “ขดลวดเปลี่ยนแปลงความต้านทานด้วยความร้อน” ปกติระบบนี้จะมีการ Heat ขดลวดไว้ตลอดเวลา เมื่ออากาศไหลผ่านช้า (เร่งน้อย) ขดลวดก็จะมีความร้อนมาก ทำให้เกิดความต้านทานสูง ไฟฟ้าผ่านได้ยาก แรงดันไฟฟ้า (Voltage) น้อย ก็จะส่งสัญญาณไปที่กล่อง ECU โดยผ่านวงจรพวก Amplifier ขยายสัญญาณ (เพราะสัญญาณ Voltage น้อย แค่ไม่เกิน 5 Volts มากกว่านั้นขดลวดจะร้อนเกินจนขาด) ระบบ Hot Wire จึงไม่ค่อยทนเท่าไร เจอละอองน้ำมันเครื่องก็ “เรียบร้อย” อ่านค่าผิดพลาด ในยุคหลัง NISSAN จึงเปลี่ยนจากขดลวด เป็นแผ่น Diode แทน ยกตัวอย่าง SR20DET, RB26DETT (พวกเครื่องยุคปี 89-90 ขึ้นมา) เพื่อแก้ไขให้มันทนทานขึ้น แต่ยังใช้หลักการเรื่องการเปลี่ยนแปลงความร้อนกับค่าความต้านทานอยู่ ซึ่งข้อดีของระบบ Airflow Meter คือ “ละเอียด” เพราะวัดจาก “ต้นตอ” คือ อากาศที่ไหลเข้าเครื่องตั้งแต่แรก แต่จะมี “ข้อเสีย” คือ “เมื่อสกปรกแล้วเครื่องจะทำงานไม่สมบูรณ์” ดังนั้น ผู้ที่ใช้ Airflow แบบนี้ จึงต้อง “หมั่นทำความสะอาด” ด้วยน้ำยาล้างพวก Contact Cleaner ที่จะ “แห้ง” ไม่ทิ้งคราบ “อย่าให้น้ำยาอเนกประสงค์ล้าง เพราะจะมีน้ำมันเคลือบ” และระวังเรื่อง “กรองอากาศ” ที่จะต้องสะอาดอยู่เสมอ เพื่อกันฝุ่นเข้าไปจับที่ตัว Diode นั่นเอง…

 

MAP Sensor

ระบบนี้ จะนิยมกันมากในปัจจุบัน และถูกใช้ในรถโมดิฟายอย่างแพร่หลาย ก่อนอื่นรู้จักการทำงานของมันก่อน คำว่า MAP ไม่ใช่แผนที่ แต่มาจากคำว่า Manifold Absolute Pressure Sensor ซึ่งเป็นการวัดอากาศ “ที่ท่อไอดีอย่างสมบูรณ์” เป็นจุดสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่เครื่องยนต์จริงๆ และไม่จุกจิก จริงๆ แล้ว “การวัดอากาศของ MAP Sensor มันก็ไม่ได้ดีไปกว่า Airflow Meter” แต่ Airflow Meter จะมีปัญหา เมื่อมีการ “รั่วไหล” ของอากาศ จะท่อรั่ว ท่อหลุด เครื่องยนต์จะสะดุด หรือดับ เพราะมันไม่รู้ว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น แต่ MAP Sensor มันจะวัดอากาศที่เข้ามายังท่อร่วมไอดีจริงๆ จึงตัดปัญหาไปได้ ซึ่งผมเองก็ใช้เครื่องยนต์ RB และเปลี่ยนเป็นระบบ MAP Sensor เคยท่ออินเตอร์ฯ หลุด เหยียบเท่าไรก็ไม่บูสต์ ตื้อๆ หน่อย แต่ขับไปได้ครับ ไม่ดับ ไม่สะดุด ถ้าเป็น Airflow Meter ก็คงเครื่องดับไปแล้ว จึงเป็นข้อดีที่ตรงใจ เพราะผมต้องใช้รถคันนี้เดินทางไกล ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อลดความเสี่ยงลงครับ…

 

สำหรับข้อดีอีกประการ ที่ “รถซิ่งนิยม” ของ MAP Sensor ก็คือ “ไม่มีอะไรไปขวางหน้าเทอร์โบ” โดยปกติ หากเป็นเครื่อง RB26DETT ที่มี Airflow Meter สองตัว เดิมๆ เพิ่มบูสต์นิดหน่อยก็คงพอ แต่ถ้าไปใส่เทอร์โบใหญ่ๆ มันจะ “ไปขวางทางเดินลม” และตัว Airflow Meter มันก็ไม่ได้ออกแบบมารองรับบูสต์เยอะกว่าเดิม บางรุ่นปรับบูสต์ขึ้นนิดเดียว มันจะตัดและฟ้องเป็น False Code ดังนั้น จึงต้องเอาออกไป และเปลี่ยนเป็นระบบ MAP Sensor แทน เพื่อไม่ให้มีอะไรไปขวางหน้าเทอร์โบ ว่ากันได้เต็มที่ และตัว MAP Sensor ก็มีหลายขนาดให้เลือกตามบูสต์ที่เราจะใช้ จึงต้องเปลี่ยนให้รองรับได้ ไม่งั้นบูสต์เกินว่าที่มันจะรับ ก็จะเกิดอาการ “เบลอ” จ่ายผิดพลาด และ “ส่วนผสมบาง” เครื่องพังในที่สุด อีกประการ “ไม่ค่อยจุกจิก” เพราะมันเป็นแค่เซ็นเซอร์วัดแรงดันอากาศ ไม่ได้มีกลไกซับซ้อนเหมือน Airflow Meter ถ้าเอาเข้าจริงๆ ผมเชื่อว่า MAP Sensor ความละเอียดสู้ Airflow Meter ไม่ได้ แต่ได้เรื่องไม่จุกจิก และไม่ขวางการไหลของอากาศครับ…

 

Comment : เอ๊ะ Nothing

เหตุที่มาเล่น R34 ก็คือ “ชอบมากๆ” เป็นรถในตำนาน โดยเฉพาะคันนี้ เป็น V-Spec II แท้ๆ จึงรีบคว้า ถ้าเทียบกับ RX-7 คันก่อนแล้ว คันนั้นจะออกแนวขับเล่นมันส์ๆ มากกว่า ส่วน R34 คันนี้ เปลี่ยนแนวเป็นขับสบาย ภายในกว้าง ไม่อึดอัด รถมีความหนักแน่นดี ใช้งานได้จริงทุกวันแบบสะดวกสบาย ขับทางไกลก็เยี่ยม ผมใช้วิ่งทางไกลประจำครับคันนี้ ส่วนการใช้งาน เครื่องจูนมาดี ขับเนียน ไม่มีปัญหาเรื่อง Overheat เวลารถติด ผมก็ใช้ชุด Stroker Kit 2.8 L กับ V-Cam และเทอร์โบคู่ ทำให้การตอบสนองของรถคันนี้ดีมาก ไม่รอรอบ เหยียบเป็นมา ส่วนภายในและชิ้นส่วนรอบคัน ผมก็ไล่เปลี่ยนของใหม่หมด เน้นความเนี้ยบแบบเดิมๆ ท้ายสุด ผมและทีม Nothing ขอขอบคุณทีมงาน XO AUTOSPORT ที่มาถ่ายให้ถึง จ.ราชบุรี เลยครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

                สิ่งที่รถคันนี้มี คือ ความเรียบร้อย สะอาด “Clean Look” และคงความดั้งเดิมในแบบฉบับของ R34 ที่จะกลายเป็น Historic Car ตาม R32 ไป ซึ่งต้อง “เก็บเดิม ทำเนียน” จะดูมีคุณค่า คันนี้เซ็ตมาแบบ “ขับได้จริง” โดยไม่ลำบาก เป็น Street Used รอบเดินเบานิ่ง (จากการสังเกต) แสดงว่าจูนเก็บรายละเอียดมาดี รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เจ้าของรถและช่างได้เลือกใช้อย่างเหมาะสม หลายคนอาจจะมองว่า เครื่องลงไส้ในเต็มขนาดนี้ มีแรงม้าแค่ 600 PS ดูจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไป แต่ผมมองว่า จะทำอะไรก็ตาม ถ้า “บรรลุวัตถุประสงค์” ที่ต้องการ (และมีปัญญาจ่ายได้) ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งในญี่ปุ่นเอง บางคันก็เปลี่ยนไส้ในทั้งชุด แรงม้าก็ประมาณ 500-600 PS นี้ (ที่ไส้ในสแตนดาร์ด 2.6 L ทำได้สบายมาก) แต่เน้น “ขับสนุก” เป็นหลัก ก็อยู่ที่ว่าคุณต้องการอะไรครับ…

X-TRA Ordinary

                ย้อนไปนิดนึง พูดถึงเกียร์ 6 สปีด ของ GT-R R34 แล้ว พอไปอ่านข้อมูลย้อนดู เป็นเกียร์ที่ให้บริษัท GETRAG ผู้ผลิตเกียร์ยี่ห้อดังจาก “เยอรมัน” เป็นผู้ผลิตให้ (หลังจากที่ปล่อย SUPRA JZA80 ใช้เกียร์ 6 สปีด นำไปก่อนหลายปี) ลองดูอัตราทดเกียร์ ก็จะเป็นสไตล์เกียร์ของฝรั่ง คือ “อัตราทดเกียร์สูง อัตราทดเฟืองท้ายต่ำ” จะสลับทางกับของญี่ปุ่น ดังนั้น หากจะเปลี่ยนเกียร์อะไรมาใช้ ขอให้ดู “อัตราทด” ให้แน่นอน และต้อง “ปรับอัตราทดเฟืองท้ายให้เหมาะสม” จะได้สมรรถนะเต็มที่ บางครั้งการซื้อเกียร์รุ่นอื่นมาใส่ แต่ไม่ได้คำนึงถึงอัตราทดใดๆ อาจจะส่งผลที่แย่ลงก็ได้นะครับ…

ขอขอบคุณ : ไก่ & เอ๊ะ NOTHING, ร้านอาหาร COWBOY CAFÉ RATCHABURI, V.J. WORKSHOP โทร. 084-111-3773

AE R34 Tech Spec
ภายนอก
กันชนหน้า-หลัง : NISMO
ฝากระโปรงหน้า : V-Spec II
ไฟหรี่ : NISMO
ไฟท้าย : NISMO LED
เลนส์กระจกมองข้าง : NISMO
กาบเสาข้าง : NISMO
สเกิร์ตข้าง : NISMO
สปอยเลอร์หลัง : NISMO Dry Carbon

ภายใน
วัดรอบ-เรือนไมล์ : NISMO
จอ MFD : NISMO
พรมพื้น : NISMO
หัวเกียร์ : NISMO

เครื่องยนต์
รุ่น : RB26DETT
วาล์ว : ZERO Sport
สปริงวาล์ว : ZERO Sport
แคมชาฟท์ : HKS V-CAM Step II 264 และ 272 องศา
ลูกสูบ : HKS
ก้านสูบ : HKS
ข้อเหวี่ยง : HKS 2.8 L
แบริ่งชาฟท์ : POWER ENTERPRISE
ปั๊มน้ำมันเครื่อง : HKS
เทอร์โบ : HKS 2530 KAI
ท่ออินเตอร์ฯ : HKS
ท่อร่วมไอดี : NISMO
โบล์วออฟวาล์ว : HKS SQV
อินเตอร์คูลเลอร์ : GReddy
ออยล์คูลเลอร์ : GReddy
หม้อพักไอเสีย : GReddy
หัวฉีด : HKS 1,000 C.C.
รางหัวฉีด : HKS
เร็กกูเลเตอร์ : NISMO
กรองอากาศ : HKS
กล่อง ECU : HKS F-CON V-PRO 3.3 by OHURA

ระบบส่งกำลัง
คลัตช์ : ATS Carbon

ช่วงล่าง
โช้คอัพ : TEIN Mono Flex
ชุด Links ช่วงล่าง : IKEYA Formula Full Set
ค้ำโช้คอัพหน้า : NISMO Titanium
ล้อหน้า-หลัง : ADVAN Racing RZ-DF ขนาด 10.5 x 19 นิ้ว
ยางหน้า-หลัง : YOKOHAMA AD08R ขนาด 275/30R19
เบรก : ENDLESS Monoblock หน้า 6 Pot หลัง 4 Pot
จานเบรก : ENDLESS หน้า 380 mm. หลัง 332 mm.