Post To The Past
Special Version Power
ย้อนอดีตขุมพลัง “เวอร์ชันพิเศษ” ในตำนาน !!!
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี (P’ สี่ภาค)
ภาพประกอบ : Google
หลักการแห่งชีวิต อยู่ให้เป็น ต้อง “อยู่กับปัจจุบัน” หรือ Live in Present แต่บางครั้งการย้อนอดีตอันน่าจดจำ มันก็เป็นความทรงจำอันแสนสุข อย่าลืม ไม่มีทารก ก็ไม่มีวัยรุ่น ไม่มีวัยรุ่น ก็ไม่มีผู้ใหญ่ ทุกสิ่งอย่างย่อมเกิดจากอดีตทั้งสิ้น หลังจากที่ Post To The Past by ข้าพเจ้าเอง “นายพี สี่ภาค” เพื่อนของ “เสี้ยม ริมหาด” ในตำนาน รำลึกอะไรได้บางอย่าง ที่มันเป็น “ขุมพลังทรงคุณค่า” ที่ในอดีตมันเคยเป็น “ตัวแรงแบบพิเศษ” คนรุ่นเก่าอาจจะพอจำได้ แต่คนรุ่นใหม่ ดูเผินๆ อาจจะคิดว่ามันเป็น “บล็อกสามัญ” ธรรมดา แต่ถ้าลองได้เป็น Special Version แล้ว มันย่อม “ไม่ธรรมดา” แน่นอน !!!
สำหรับเครื่องยนต์ที่เรานำเสนอ เน้นย้ำอีกทีว่าเป็น “เวอร์ชันพิเศษ” ที่มีอะไรเหนือกว่าเครื่องยนต์บล็อกที่ขายปกติ และอยู่ในรถที่ผลิตมาเพื่อให้ผ่าน Homologate จึงเป็น Limited Edition ซึ่งเราจะไม่นับรวมเครื่องในตำนานแบบขายปกติธรรมดา อย่าง S20 จาก SKYLINE 2000 GT-R หรือ B16A จาก CIVIC SiR นั้นเป็นตำนานจริง แต่มันเป็นเวอร์ชัน “ขายทั่วไป” แต่ครั้งถัดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ไป (ก็ไม่รู้ครั้งไหนเหมือนกันว่ะ) จะย้อน “เครื่องตำนาน” กันจริงจังอีกสักรอบก็ได้นะ ติดตามชมละกัน “ที่นี่ทีเดียว” นะจ๊ะ ขอเริ่มกันจากค่าย TOYOTA ก่อน นะจ๊ะ…
- นี่แหละ SUPRA 3.0 GT TURBO A ที่บอก คันนี้เป็น CG แต่ก็เหมือนจริงทุกประการ ยกเว้นล้อที่เปลี่ยนไป
7M-GTE Turbo A
มาถึงเครื่อง Big Block 6 เม็ด อันเกรียงไกรในอดีตของ TOYOTA บล็อก “7M-GTE” ซึ่งเป็นเครื่องสุดท้ายในอนุกรม “M-Family” ก่อนจะเป็น “2JZ” นั่นเอง มีความจุ 3.0 ลิตร DOHC 24 วาล์ว ที่อยู่ใน SUPRA 3.0 GT รหัส MA70 และ SOARER 3.0 GT-Limited รหัส MZ20 ตัวนี้ฮิตกันในยุค 90 ต้นๆ เพราะ “แรง” เพราะ “ได้ใหญ่” จะให้เจ๋งก็ต้องเป็น “ปลั๊กเทา” เป็นเครื่องรุ่นใหม่ แรงม้า 240 PS ที่ 5,600 rpm (แต่ถ้ามี U ต่อท้าย หมายถึง ระบบขจัดไอพิษ แรงม้าจะลดลงเหลือ 230 PS) เทอร์โบเป็น TOYOTA CT26 บูสต์อยู่แถวๆ 5-7 ปอนด์ เสน่ห์ของมันก็อยู่ที่ “แรงบิดมาไว” ไม่รอรอบ ขับมันส์ เพราะเป็นเครื่องช่วงชักยาว (Under Square) ใครได้ลองก็จะติดใจ…
- ล้อตรงรุ่น ลายกังหัน พ่นสีดำจากโรงงาน พร้อมสติกเกอร์คาดข้างประตู ซึ่งตัว A ก็หมายถึง Group A นั่นเอง
ส่วนใหญ่จะเป็นยุคหน้า “เซนต์จอห์น” นิยมวางใน “กระบะ” แต่ก่อนต้องแปลงช่วงล่างหลังเป็นอิสระ ยกแพของ SUPRA MA70 ใส่เข้าไปด้วย ไม่งั้น “เอาไม่อยู่” แต่บอกก่อนถ้าคนทำไม่ถึงจริงๆ นี่เลวร้ายกว่าของเดิมเยอะนะครับ บางคันขับไปไม่นาน จุดยึดฉีก ร้าว เบี้ยว วิ่งไปเป๋หนักกว่าเก่าอีก บางคันคาอู่ทำไม่สำเร็จ ตัดไปแล้วทำกลับไม่ได้ก็ทิ้งทั้งคันไปเยอะแล้ว และต้องระวัง “หัวหนัก” เพราะเครื่องมีน้ำหนักมาก ทำให้ “ตูดไกว” ง่าย…
- ฝาครอบคอยล์จุดระเบิด ยุคนั้นยอมรับว่าหน้าตาเครื่อง TOYOTA ออกแบบได้สวยเป็นเอกลักษณ์จริงๆ โดยการเล่นโทนโครเมียม-ดำ-เทา-ส้ม บนฝาวาล์วและฝาครอบต่างๆ
แต่ถ้าเป็นรถเก๋ง ก็นิยมวางในรถขนาดใหญ่หน่อย เช่น BENZ W123 จะนิยมมาก เพราะแรงบิดในรอบต่ำที่ดี พอใช้เกียร์ออโต้มันก็ยังพอรับได้กับเฟืองท้ายเบนซ์ที่ “ทดต่ำ” ประมาณ 3 กว่าๆ ส่วนน้ำหนักก็ไม่น่าจะได้เสียกันเยอะนัก เพราะ SUPRA กับ SOARER น้ำหนักมันก็อยู่ที่ “ตันครึ่งกว่า” เหมือนกัน อย่าคิดว่ารถญี่ปุ่นต้องเบากว่ารถยุโรปเสมอไปครับ ถ้าพิกัด Luxury ขนาดกลางค่อนใหญ่ มันก็แทบจะไม่หนีกัน…
- หน้าตาเครื่อง TURBO A ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ได้ต่างกับตัวปกติจนเห็นได้ชัด ต้อง “วัดองค์ประกอบ” อย่างเดียวครับ
อ้าวเฮ้ย กลับมาก่อน สำหรับ “ตัวพิเศษ” ที่ผลิตออกมาเป็น Limited Edition ก็คือ “SUPRA Turbo A” เอกลักษณ์ของมัน คือ ภายนอก ตัวรถมีเฉพาะสีดำ (เบอร์สี 202) ล้อลายเดียวกับตัวปกติ แต่พ่นสีดำดุดัน มีช่องลม “จมูก” หรือ “Turbo A Duct” อยู่กลางกันชน ช่วยระบายความร้อน (รุ่นปกติไม่มี) จุดสำคัญ มีสติกเกอร์ “3.0 GT TURBO A” ตัว A สีแดง คาดอยู่ข้างประตู ระบบช่วงล่างเซ็ตใหม่ให้ “หนึบ” กว่าเดิม พวงมาลัยและหัวเกียร์เป็นของ MOMO ภายในสีเทา ตัวรถออกมาปี 1988 มีเฉพาะ “สเป็กญี่ปุ่น” หรือ JDM เท่านั้น ผลิตมาเพื่อให้ผ่าน Homologate ในการแข่งขัน Group A Racing รายการ JTCC เท่านั้น ต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 500 คัน มาดูกันว่าขุมพลังทำอะไรเพิ่มไปบ้างจากโรงงาน หรือ Factory Tuned…
- แคมชาฟต์ทาง TRD ผลิตให้ องศาสูงกว่าของเดิม รวมถึงลิฟต์ และวาล์วแบบพิเศษ ฝาสูบปรับแต่งพิเศษ…
- ลิ้นเร่งใหญ่ขึ้นเป็น 65 มม. ส่วนรุ่นธรรมดา แค่ 60 มม.
- เทอร์โบ CT26 เหมือนกัน แต่โมดิฟายสรีระภายในใหม่ให้ Flow Rate สูงขึ้น…
- เปลี่ยนระบบวัดค่าอากาศ จากรุ่นธรรมดาที่ใช้ระบบ Air Flow Meter แบบ Karman Vortex มาเป็นแบบ MAP Sensor…
- แรงม้าอัพไปถึง “270 PS” จัดว่าเป็นเครื่องที่แรงม้าเยอะสุดจากโรงงานในขณะนั้น ซึ่งในบ้านเราก็เคยมี “หลุด” เข้ามาบ้าง ถ้า “คนรู้” ก็ขายกันน่าจะมี “หลักแสน” ซึ่งเครื่องตัวปกติราคา “เอ็มละหมื่น” (ปลั๊กเทานะ) แต่วางแล้วแรงเกินหน้าเกินตาพรรคพวกแน่นอน…
- ตัวแข่ง Group A Racing ในตำนาน ทีมดังๆ ก็จะมี MINOLTA, FUJITSU TEN เป็นต้น ออกอาละวาดอยู่ได้ไม่นาน ปี 1989 ก็ต้องหนักใจเมื่อ SKYLINE GT-R R32 Group A ออกมาชิงบัลลังก์ แล้วก็ได้เปรียบซะด้วย
- สายบินก็มานะครับ ไม่ได้เป็นแต่สายย่อ
4T-GTE Twin Plug
เป็นเครื่องที่เอาพื้นฐานของ “3T-GTE” ที่มีจุดเด่น คือ “เทอร์โบ” และ “ทวินปลั๊ก” 8 หัวเทียน สุดระบือในตำนาน “พาเลซ” แม้แต่ยุค 90 มันก็ยังโด่งดังในสาย “เซียงกง” ถ้าสุดยอดต้องร้าน “ชัยศิริยนต์” ปทุมวัน 26 ในตำนาน ยุคนั้นต้องรู้จัก “ป๋าหรั่ง” กันอย่างแน่นอน วางกันให้รึ่ม ถ้าจะตรงรุ่นก็ต้อง COROLLA ทั้ง KE70 แต่ถ้าจะให้ “จี๊ด” ก็ต้อง Lift Back TE71 วางแล้วแรงเลยเพราะ “รถเบา” (ส่วน “กระบะ” ก็มีวางกันบ้างแต่ “ไม่ค่อยจี๊ด” เท่าไร เพราะรถหนัก) เรียกว่าเป็น “สิงห์รถซิ่ง” ยุคปลายของหน้าพาเลซ เรียกว่าใครวางตัวนี้ในตัว “กระเทย” หรือ “ลิฟต์แบ็ค” ล้อกางๆ ยางปลิ้นๆ ออกมาซิ่งแล้วก็ไปปิ๊ง “ลูกกวาด” ที่ดิ้นอยู่ใน เดอะ พาเลซ ท่า “แย้สะดุ้งไฟ” แม่มทั้งคืน !!!
- นี่แหละ สายซิ่งนิยม “ทวินปลั๊ก” สมัยนั้นก็จะมี Z18-ET อีกตัวที่หัวเทียนคู่ต่อสูบ แต่ไม่ดังเท่า 3T-GTE ซึ่งไอ้นี่เป็นเครื่อง DOHC Turbo รุ่นแรกของ TOYOTA
เครื่องตัวนี้มันวางอยู่ใน CELICA GT-R รหัส TA64 หรือ CORONA GT-T รหัส TT142 ที่มีแบบ Hard Top 2 ประตู ด้วยนะจ๊ะ ซึ่งช่วงล่างหลังเป็นอิสระ (บ้านเราเป็นคานแข็ง) พูดง่ายๆ สองรุ่นนี้มันก็คือ T-Chassis เหมือนกัน ความจุกำลังดี 1.8 ลิตร ฝาสูบแบบ DOHC 8 วาล์ว ก็พัฒนามาจาก 2T-G นั่นแหละ มีเรี่ยวแรง 160 PS เบ่งพลังด้วยเทอร์โบจ้อยๆ บูสต์เบาๆ 7 ปอนด์ ถ้าอยากแรงขึ้น ก็ “เปลี่ยนสปริงขาเวสต์เกตกระป๋อง” ให้มันแข็งขึ้น เปิดยากขึ้น ก็จะได้ราวๆ 10-11 ปอนด์ แรงขึ้นทันตาเห็น แต่ระวังจะ “หลับ” นะครับ อย่างน้อยต้องมี “ฝังหัวฉีด” หรือ “ฝังเข็ม” เพิ่มน้ำมัน จะ Pressure Switch หรือมีตังค์หน่อยก็พวกกล่องคุม Rebic อะไรยังงั้น..
- 4T-GTE ถ้าไม่ดูตรงนี้ อย่างอื่นเหมือนกันหมด ขนาดลูกสูบโตขึ้นเพียงแค่ “จุดห้า” ถ้าสายซิ่งยุคใหม่เรียกว่า “ลูกห้าสิบ” เข้าใจว่าอาจจะมีผิดกันที่กำลังอัดและบูสต์เพิ่ม ได้แรงม้าเพิ่ม 20 ตัว เพราะแค่ลูกสูบโตขึ้นแค่นี้แทบไม่มีผลกับแรงม้าที่รู้สึกได้
แต่ความพิเศษที่เราจะพูดถึง คือ “4T-GTE” ซึ่งเป็นเครื่องตัวพิเศษ รายละเอียด ประมาณนี้…
- ถ้าเป็นเครื่องแข่งเต็มระบบ จะขยายความจุจาก 1.8 ลิตร ไปเป็น “2.1 ลิตร” สำหรับการแข่งขันหลายประเภท ถ้าฝั่งญี่ปุ่น ก็พวกรถ Group C หรือ Prototype พวกนี้แรงบ้าเลือดถึง “600 PS” เทอร์โบ KKK K27 บูสต์มหานรก หรือรถ Group B Rally (แรลลี่ที่รถแรงบ้าคลั่ง คนขับมือพระกาฬ) คือ CELICA GT-TS มีแรงม้าแจ้งมาที่ “326 PS” แต่เอาจริงๆ ผมว่าเกิน…
- แล้วก็มีการผลิต CELICA TA64 เป็นรถ Production ที่ให้ผ่าน Homologate ของการแข่งขัน Group B Rally อีกจำนวน “200 คัน” ซึ่งเครื่อง 4T-GTE สำหรับเวอร์ชันรถถนน ก็จะมีแรงม้าอยู่ที่ “180 PS” นะครับ…
- เครื่อง 4T-GTE หน้าตาเหมือน 3T-GTE เป๊ะเลย ดูรหัสที่ฝาหน้าเอา แต่ถ้าฝาหน้ามันลบเลือน ก็ต้องดู Serial Number โดยผู้ที่มีข้อมูลถึงจะรู้…
- เออ เกือบลืม จริงๆ ถ้าเป็นเครื่องสำหรับรถวิ่งถนน จะไม่ได้ระเบิดไปถึง 2.1 ลิตร แบบตัวแข่งหรอกครับ มันเพียงแค่เพิ่มขนาดลูกสูบขึ้นมาอีกเพียง “0.5 มม.” เท่านั้น จากเครื่อง 3T-GTE ความจุเลยเพิ่มขึ้นมาเป็น “1,791 ” จากเดิม 1,771 cc. ซึ่งก็ถือว่าเล็กน้อยมาก (แต่อาจจะมีการปรับบูสต์หรืออะไรบางอย่างเพิ่ม จึงได้แรงม้ามาอีก 20 ตัวครับ)
- บอกตรงๆ ว่าเครื่อง 4T-GTE ที่ตัวผมเองเคยเห็นก็ร้านชัยศิริยนต์นี่แหละ มีเข้ามาน้อยมากๆ ไอ้เครื่องตัวที่เห็นนี้ ถูกโมดิฟายมาแล้วจากญี่ปุ่น เทอร์โบ KKK K26 เวสต์เกตแยก ท่าทางน่ากลัว ฝังหัวฉีดเสริมเพียบ ดูงานดูทรงแล้วเครื่องจากทีมแข่งแน่ๆ ไม่ใช่งาน Speed Shop ธรรมดา แต่คงไม่ถึงกับระดับ 600 PS เต็มชุดหรอก เต็มที่ก็น่าจะแถวๆ 250 PS ถ้าซี้กับทางญี่ปุ่น ก็จะเอาเครื่องที่หมดอายุแข่ง (เขานับเป็น “ชั่วโมง” ครับ) ซึ่งปกติเขาจะ “ทำลายให้ยับ” เพื่อ “ป้องกันความลับรั่วไหล” แต่ถ้ามีสายทำให้ “เลี้ยว” ออกมาขายทอดตลาด สมัยก่อนก็เจอบ่อยเหมือนกัน ไอ้เครื่องตัวนี้ก็วางใน “ไมตี้เอ็กซ์” ไปวิ่งเล่น เห็นว่า “ตกปลา” ได้มาเยอะเหมือนกัน…
- นี่แหละ 4T-GTE ตัวแสบ จากสายแข่ง หน้าตาโบราณๆ แบบนี้ เพราะม้าได้ตั้งแต่ 325 PS ไปยัน 600 PS !!! บนไส้ใน 2.1 ลิตร และฝาสูบโมดิฟายพิเศษ
- ตัวนี้แรงสุด TOM’S 84C ตัวแข่ง Group C อันโด่งดัง ก็ใช้ 4T-GTE ตัว 600 PS นี่แหละ
- สายฝุ่น CELICA TA64 Group B Rally ที่มีนักขับมือเทพดังๆ อย่าง Juha Kankunnen พาลอยไป
- CELICA TA40 “Aero” ตัวแข่ง IMSA GT ฝั่ง “อเมริกา” คันนี้ชอบมากๆ โดยเฉพาะล้อ GOTTI อันนี้สายฝรั่งแน่นอน ล้อชุดนี้เคยเห็นในเมืองไทย ก็ตอนใส่ 200SX Space Frame
จบภาคแรกกันไปก่อนนะครับ คงจุใจกันพอสมควรสำหรับเครื่องพิเศษจาก TOYOTA ที่มีอยู่จริงในตำนาน และเคยมีหลุดเข้ามาบ้านเราแล้วด้วย แต่ใครจะรู้หรือเปล่านั่นอีกเรื่อง คนไม่รู้ปล่อยมันพังไปก็เท่ากับว่า “เหลือแต่ความทรงจำ” ส่วน Part II แฟนๆ เครื่อง NISSAN ติดตามชมได้นะจ๊ะ…
ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี
#Posttothepast #xoautosport #7m-gte #supra #ma70 #turboa #GroupAracing #4T-GTE #toyota #groupbrally
เวบไซต์สาระรถซิ่ง : xo-autosport.com
Cr. Photo : THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512 ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม