Post to the Past : เจาะเวลาหาอดีต “เต่าเดอะแชมป์”

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

หลังจากที่ได้เห็น “เต่าเดอะแชมป์” คันนี้ใน Post To The Past เมื่อครั้งก่อน ในงาน “MTT Grand Prix Quartermile” (เมืองทองธานี กรังด์ปรีซ์ ควอเตอร์ไมล์) เป็นครั้งเดียวที่ “กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” เป็นผู้จัด ร่วมกับ “เมืองทองธานี” (หลังจากนี้ ที่นี่ก็มีการจัดอีกประมาณ 1-2 ครั้ง แต่เป็นผู้จัดรายอื่น) เอาละครับ เราก็รู้แล้วว่า “เดอะแชมป์” ในสนามที่ผ่านมาคือคันไหน ต้องขอบอกก่อนว่า เต่าคันนี้ ไม่ได้เป็นแชมป์แค่สนามนี้ แต่เป็น “แชมป์ประจำปี” ในการแข่งที่สนาม “นครชัยศรี” (ระยะ 270 เมตร น่าจะเรียก “ควอเตอร์กิโลเมตร” มากกว่าจะเป็น “ควอเตอร์ไมล์”) เมื่อปี พ.ศ. 2536 ใครจะรู้ ว่าเต่าคันนี้ ที่แปะเบอร์ “22” ข้างรถ หน้าตารถก็ไม่ได้สวยงามเลย บูดๆ เบี้ยวๆ สีเขียวกรังๆ แต่เสือกแรง จนบางคนเรียกว่า “ไอ้แมงมุม” บ้างละ เพราะตัดหลังคา แต่มี “โรลบาร์” อยู่บนกบาล บางคนก็เรียกว่า “เต่ากระดูก” เพราะ “เคี้ยวไม่ลง” ลองมาดูกันหน่อย ว่าที่มาที่ไปของคันนี้เป็นยังไง สำคัญคือ “โมดิฟายอะไรบ้าง” ถึงได้แรงปานนั้น และ “คงเหลืออะไรให้ดูต่างหน้า” เมื่อยามคิดถึงกัน…

 

จากคำท้า สู่สนามแข่ง

ก่อนอื่น ผมต้องขอกล่าวถึง “ผู้เล่าความหลัง” คือ “คุณหนุ่ย” ชัยฉัตร ฉัตรศุภกุล แห่ง NEWTEC ENGINEERING ซึ่งเป็นสำนักโมดิฟายที่ “จัดหนัก” ในยุคนั้น อาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงบูมมากนัก เพราะมักจะ “อยู่เบื้องหลัง” มากกว่า เอาละครับ ซึ่งจะเป็นผู้โมดิฟายรถคันนี้ จะเป็นผู้เล่าถึงรายละเอียดทั้งหมด เอาละ มาถึง “เรื่องราว” ที่มาที่ไปของคันนี้กัน…

รถคันนี้ เป็นของ “คุณประมวล นิ่มสมบุญ” ซึ่งเป็นคนที่ชอบและเล่นรถ VW BEETLE อยู่แล้ว แห่ง “ตากสิน ซูเปอร์เรซซิ่งทีม” ในขณะนั้น คุณประมวล ทำรถที่อู่ “บังสาทร” (ซึ่งทางอู่เช่าที่ของ คุณประมวล อยู่ในขณะนั้น) หลังจากนั้น ได้มีโอกาสมารู้จักกับ คุณหนุ่ย และ “คุณจิม” (เพื่อนสนิทของคุณหนุ่ย ที่เล่นเต่ามาด้วยกัน) ที่อู่ “โจรัชดา เซอร์วิส” เลยคุยกันว่า อยากจะทำ “เทอร์โบ + หัวฉีด” ในเครื่อง AS 1.6 ลิตร ของ VW ก็เลย “ตกลง” ทำกันออกมา แต่ก็ยังไม่ใช่คันนี้นะครับ คันนั้นเป็นรถสวยงาม วิ่งถนนได้…

แน่นอนครับ เมื่อมี “กลุ่มคนเล่น” ก็ย่อมมีการ “อยากลอง” กันเกิดขึ้น มี “การส่งสาร” มาถึงตัว ว่า “เต่าเทอร์โบจะแรงเหรอ ???” วิ่งได้จริงเปล่าวะ ??? ทาง คุณประมวล เลยคิดที่จะทำรถแข่งขึ้นมาสักคัน โดยคุยกัย คุณหนุ่ย แค่ว่า “ต้องการเป็นแชมป์เท่านั้น” และ “ต้องเป็นเต่าเท่านั้นด้วย” !!! คำพูดแค่นี้ แต่มีความหมายมหาศาล ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำเต่าให้แรงและเป็นแชมป์ควอเตอร์ไมล์ในยุคนั้นได้ แต่ก็ต้องลอง วันหนึ่ง คุณประมวล ได้เอาเต่าคันนี้มาให้ สภาพก็… อย่างที่เห็นจริงๆ สีเขียวแบบพ่นหยาบๆ รถก็ทรงไม่สวย เอาวะ ไม่สนใจ เพราะคันนี้จะ “ต้องทำแข่งอย่างเดียวเท่านั้น” พูดถึงรถเต่า ใครก็บอกว่ามันเต่า “ช้า” จะไปชนะใครได้ แต่ถ้า “คนลึก” จะรู้ว่า เครื่อง VW Flat-Four มีของโมดิฟาย “ขั้นเทพ” ทุกชิ้น จากฝั่งอเมริกา เรียกว่าทำกันจนเหลือแต่ “เสื้อสูบ” เท่านั้นที่เดิม อย่างอื่นเปลี่ยน “ทุกเม็ด” ไม่มีเหลือ เมืองนอกทำแรงได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ เลย “จัดเรื่อง” ซะ…

 

ไส้อเมริกา + ไทย “Custom Made” รู้ยัง ทำไมเต่าเป็นแชมป์ !!!

ไอ้เรื่องการสั่ง “ของ” สมัยนั้นก็ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ แต่โชคดีที่มี “พรรคพวก” คือ “คุณนิกข์ เลาหกุล” ที่สมัยนั้นศึกษาอยู่ที่ “อเมริกา” จึงเป็นเรื่องง่ายในการสื่อสารสั่งของต่างๆ มากขึ้น รถคันนี้เริ่มลงมือเดินเรื่องเมื่อปลายปี พ.ศ. 2534 โดยมี “รายการของ” แบบเต็มเหนี่ยว ดังนี้…

               สตาร์ทที่ “ขุมพลัง” เป็นบล็อก AS 1.6 ลิตร จัดเต็ม สำหรับ “ท่อนบน” เปลี่ยนฝาสูบใหม่ทั้งอัน !!! ของ AUTOCRAFT รุ่น Super Flow มาพร้อมกระเดื่องวาล์ว อัตราทด 1.5 : 1 ยังไม่พอ จัดหนัก วาล์ว + สปริงวาล์ว + รีเทนเนอร์ จาก AUTOCRAFT เหมือนกัน เป็น “ไทเทเนียม” ด้วยนะเอ้า !!! แคมชาฟต์ DIAL-IN-CAM “308 องศา” ลิฟต์เด็กๆ แค่ “14.1 มม.” แค่นั้น !!! ชุดก้านกระทุ้ง เป็น “โครโมลี่” สำหรับ “ระบบจุดระเบิด” ใช้หัวเทียน NGK เบอร์ 5 สำหรับสตาร์ทเท่านั้น กับน้ำมันเบนซินธรรมดา พออุณหภูมิเริ่มได้ ดับเครื่อง เปลี่ยน NGK เบอร์ 11 พร้อมเปลี่ยนน้ำมันพิเศษ “ผสมไนโตรมีเทน” เพื่อการจุดระเบิดที่รุนแรง คอยล์ ACCEL SUPER COIL ชุดเพิ่มกำลังไฟ ULTRA 9200 CDI จานจ่าย BOSCH 050/009 โมดิฟายผสมกัน สายหัวเทียน FET แบบทองแดงเบ้อเร่อ นำไฟแรงสูงได้ยอดเยี่ยม…

สำหรับ “ท่อนล่าง” จัด ข้อเหวี่ยง SCAT ขนาด Main Journal 78.4 มม. พร้อมหมุดฝังหลังข้อเหวี่ยง เป็น Special Addition 8 ตัว เป็นสเป็ก “สุดติ่ง” จาก SCAT ที่เสริมความแข็งแรงให้เหนือชั้น ความจุเพิ่มเป็น “2,065 CC.” ก้านสูบ CARILLO ความยาว 5.345 นิ้ว ลูกสูบ CIMA-MAHLE (ซีม่า-มาห์เล่) ที่เป็นสเป็กพิเศษ ให้บริษัทลูกสูบจากเยอรมัน “MAHLE” สำหรับ “งานแข่ง” โดยเฉพาะ เนื้อโลหะจะเป็นสีออกเทาๆ ดำๆ (ถ้าเป็นลูกสูบ CIMA เฉยๆ จะเป็นสเป็ก Street Used เนื้อวัสดุก็ไม่ได้พิเศษอะไรมาก) สำหรับ กระบอกสูบ ทาง NEWTEC นำไปชุบ “ไนไตรท์” (Nitrite) ที่มีคุณสมบัติ “แข็ง & ลื่น” ความหนา 2 ไมครอน สมัยนั้นงานชุบแบบเริ่ดๆ ก็ต้อง “สาทรเวิร์ค” อยู่ซอยเรวดี ปั๊มน้ำมันเครื่อง MILLING OIL PUMP Super Racing Hi-Volume!!! ใครบอกเต่าไม่มีของแต่ง มีทุกชิ้นยิ่งกว่าเครื่องญี่ปุ่นอีกครับ !!!

ระบบ “อัดอากาศ” ก็เล่นเทอร์โบ AIRRESEARCH T-04 B ที่ NEWTEC จับโมดิฟาย ใบหน้า 55 มม. จาก TURBONETIC โข่งหลัง + ใบหลัง + เวสต์เกต จากเครื่องยนต์ 13B โรตารี่ อินเตอร์คูลเลอร์ HKS แปลงเป็นระบบหล่อเย็นด้วยน้ำและน้ำแข็ง เฮดเดอร์จาก “ช่างเจี๊ยบ” W SPORT ที่โด่งดังในกาลก่อน ส่วน “ระบบส่งกำลัง” ทาง NEWTEC ได้สร้างเฟืองเกียร์ขึ้นมาใหม่ กำหนดอัตราทดเอง ใช้เฟืองท้ายอัตราทด 3.88 : 1 ชุดคลัตช์ KENNEDY แรงกด 3,000 PSI หนักหน่วงมาก ระบบคลัตช์สายของเดิมเหยียบไม่ไหว ก็เลยใส่เป็นระบบคลัตช์ไฮดรอลิค ยี่ห้อ CNC เพื่อลดภาระในการเหยียบ…

สำหรับระบบ “เชื้อเพลิง” อันนี้จัดเต็ม เปลี่ยนระบบจากคาร์บูเรเตอร์ มาเป็น “หัวฉีดไฟฟ้า” จาก NISSAN เครื่องยนต์ Z18ET (เทอร์โบ) โดยยกมาใส่ทั้งระบบ เหตุที่เอากล่อง NISSAN มาเล่น เพราะ “มีเยอะ” เครื่อง 4 สูบ มีกล่องตั้งแต่บล็อก A, Z, L ก็เสียบลองดูไปเรื่อยๆ จน “พอดี” มาลงตัวที่ Z18ET หัวฉีด เอามาจากเครื่อง 2T-G โมดิฟาย เซ็ตเทอร์โบ จาก HKS ทั้งตัว น่าจะมีอย่างน้อย 550 CC. ขึ้นไป ปั๊มติก NIPPON DENSO 3 ตัว ระบบปกติ ต่อ 2 ตัว เข้าราง 2 ฝั่ง (เครื่อง VW ลูกสูบอยู่สองฝั่ง) ไหลกลับตรงกลาง ส่วนอีกตัวเอาไว้ “สำรอง” เวลาตัวใดตัวหนึ่งเสีย เร็กกูเลเตอร์ NISMO ปรับได้…

 

มรดก “ลิ้นแม็กนีเซียม” จากรถแข่ง Group C !!!

หลังจากรถคันนี้ได้แชมป์ สิ่งที่ยัง “หลงเหลือ” มาจนถึงปัจจุบัน ก็จะมีเพียง “ลิ้นเร่งอิสระ” เพียงอันเดียว (โดยปกติจะมี 2 ชุด) หลังจากแข่งได้แชมป์ประเทศไทย ไม่นานรถคันนี้ก็มีการขายต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่ง “คุณจิม” ได้ไปอู่ที่ซื้อรถคันนี้ไป ไปเจอลิ้นเร่งอันนี้กองอยู่ ก็เลยเก็บกลับมาให้ คุณหนุ่ย เพื่อเป็นอนุสรณ์ของรถคันนี้ ลิ้นเร่งนี้มาจากรถแข่ง TOYOTA Prototype Group C เครื่องยนต์ V8 ตัวเรือนลิ้นเร่งเป็น “แม็กนีเซียม” !!! เบาสุดๆ แน่นอนว่าของแบบนี้ไม่ใช่ชุดแต่งตลาดๆ เป็นแน่ แต่จะได้มาอย่างไรนั้น “ต้องมีเส้นสาย” กันนิดหน่อย พอได้มาครบชุด ก็เลย “ตัด” เหลือฝั่งละ 2 สูบ แล้วแปลงใส่เซนเซอร์วัดองศาลิ้นเร่ง (TPS : Throttle Position Sensor) ของ Z18ET แบบ “โคตรคัสตอมเมด” ขนาดลิ้นเร่งใหญ่ถึง “52 มม.” ต่อ 1 สูบ ก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน…

ถามถึงความแรง ก็คงจะไม่สามารถบอกเป็นแรงม้าได้ชัดเจนนัก แต่ลองดูก็แล้วกัน รถคันนี้ใช้รอบเครื่องสูงถึง “8,500 rpm” คนขับคันนี้ คือ “คุณไพโรจน์ หมัดตานี” ซึ่งเป็นนักขับมาทางสาย คุณประมวล ขับรถคันนี้คันเดียวแล้วเป็นแชมป์ประเทศไทย หลังจากนั้นก็วางมือ ไม่ได้ขับคันไหนอีกเลย ในครั้งแรกที่รถเสร็จ เอารถไปลองกันที่ “ด้านหน้าสมาคมชาวปักษ์ใต้” ถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก (ในตอนนั้นถนนเพิ่งสร้างเสร็จ ยังไม่เปิดใช้งาน จะเป็นทางตรงยาวๆ เลยมีเหล่ารถซิ่งไปเล่นกัน) คุณไพโรจน์ ก็ออกอาการ “ไม่เกรง” ในด้านความแรง คิดว่าเต่าแม่งคงไม่เท่าไรหรอกมั้ง พอเร่งรอบออกตัวเท่านั้น “ล้อหน้ายก” พุ่งไปเอาไม่อยู่ รถหมุนกลับกระเด้งไปสองที เล่นเอา “เหวอแด_” จนตอนหลังต้องค่อยๆ ฝึกไป จนขับได้แชมป์ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2536 แล้วก็มาได้แชมป์รายการ “เมืองทองธานี กรังด์ปรีซ์ ควอเตอร์ไมล์” ปี พ.ศ. 2537 หลังจากนั้น “เต่ากระดูก” หรือ “เต่าแมงมุม” คันนี้ ก็มีผู้ซื้อต่อไป เป็นการปิดตำนาน ณ ตรงนี้ ส่วน คุณไพโรจน์ ก็ไม่ได้ขับรถแข่งอีก เรียกว่าเป็นคนขับประจำรถคันนี้จริงๆ…

ปัจจุบัน ก็คงเหลือแต่ “ลิ้นเร่งในตำนาน” ให้ดูต่างหน้า หวนระลึกว่า “วันหนึ่งเคยทำรถในระดับแชมป์” โดยเฉพาะเป็นรถเต่าที่คนดูแคลนว่ามันไม่มีทางจะเร็วได้ แต่สิ่งทั้งหลายที่จัดไป เป็นของระดับการแข่งขันทั้งสิ้น ตัวผมเอง “พี สี่ภาค” ก็มองว่า เป็นการโมดิฟายระดับตำนานอีกคันหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปอาจจะไม่รู้จักคันนี้ แต่ถ้าเป็นคนที่ได้ไปดูควอเตอร์ไมล์ในยุคนั้นมาตลอด ก็จะต้องจำคันนี้ได้ ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่า “มันทำอะไรของมันวะ” ตอนนี้ก็ได้รู้แล้วนะครับ ว่าเล่นกันถึงขนาดไหน ของแต่ละอย่าง ที่ว่าเจ๋งในปัจจุบัน จริงๆ ในอดีตก็มีมานานแล้ว และไม่ได้หาซื้อกันง่ายๆ ด้วย เพราะฉะนั้น รถโมดิฟายเต็มในอดีต จึงมีสิ่งที่น่าทึ่ง และน่าค้นหาอย่างมาก เป็นตำนานที่ทำให้เราอยากค้นหา…       

 

ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี

 

+#Posttothepast#xoautosport #VWbug #VWbeetle #Volkswagen #VW #Turbo
เวบไซต์สาระรถซิ่ง :
xo-autosport.com

Cr. Photo :

THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512* ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม