เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรื่องราวของ “รถกระบะ” หรือ “รถปิคอัพ” ที่เป็นยานพาหนะคู่กับคนไทยมายาวนาน ถือเป็น “รถทำมาหากิน” ที่ขาดไปเหมือนกับ “มือเท้ากุดหาย” ซึ่งรถกระบะยุคก่อนหน้า ถือว่าเป็นรถที่ “ยอดทรหด” ด้วยโครงสร้างที่เน้นความทนทาน รับน้ำหนักบรรทุกได้มาก ระบบต่างๆ ก็ยังไม่มีอะไรซับซ้อน ทุกอย่างดูง่ายและพื้นๆ ไปเสียทั้งหมด ทำให้ซ่อมบำรุงง่าย ราคาถูก แต่ก็ต้องทำใจในสมรรถนะความเร็วที่มีไม่มากนัก ความนุ่มนวลก็อย่าถามมาก เรียกว่าเป็นกระบะที่เน้นใช้งานจริงๆ (ไม่เหมือนกับรถกระบะสมัยนี้ที่ใส่ความเป็นรถเก๋งเข้าไปเยอะ) จะใช้ถูลู่ถูกังยังไงมันก็ไปได้ เอาง่ายๆ เราเคยเห็นกระบะยุคเก่าในสภาพ “สู้ชีวิต” กันบ่อยๆ ไหม เรียกว่าจะหลุดเป็นชิ้นๆ แล้วมันเสือกวิ่งได้ยังไงวะ แต่มันก็ไปได้ จะว่า “ขวัญใจคนทำกิน” อย่างแท้จริง นี่แหละเป็น “เสน่ห์” ของกระบะยุคเก่า ที่กระบะยุคใหม่สู้ไม่ได้บนด้านความทนทานในระยะยาว…
- นี่เป็น “หน้ารุ่นแรก” ที่เหมือนหน้ากากยอดมนุษย์อะไรสักอย่าง
อนึ่ง…คิดถึงพอประมาณ กับ TOYOTA HILUX ในเจนเนอเรชั่นที่ 2 บนรหัส RN20 ที่ถือว่าเป็นกระบะในตำนานบ้านเราอีกรุ่น เกิดในช่วงปี 1972-1978 ในญี่ปุ่นจะเรียกมันว่า “RokeHi” หมายถึง Rocket Hilux ที่ถูกพัฒนาในด้านสมรรถนะโดยรวมให้ดีกว่ารุ่น RN10 (ก็แน่ล่ะ รถรุ่นใหม่จะแย่กว่ารุ่นเก่าได้ไง) ขุมพลังบล็อก 12R 1.6 ลิตร แรงม้า 83 PS (อ้างอิงจากสเป็กญี่ปุ่น) สำหรับในบ้านเรา จะมีจำหน่ายทั้งหมด 4 รุ่น คือ “ช่วงสั้น” มีแบบ เกียร์มือ หรือ เกียร์คอพวงมาลัย ก็เรียกได้สองแบบ และ เกียร์กระปุก ราคา 82,000 และ 83,000 บาท ตามลำดับ ส่วน “ช่วงยาว” เกียร์มือ และ เกียร์กระปุก” ราคา 86,500 และ 87,500 บาท ตามลำดับ อันนี้เป็นข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2520 นะครับ…
- โลโกสามเหลี่ยมบนฝากระโปรง คล้ายๆ โล่ เป็นสัญลักษณ์ของ HILUX ซึ่งมีในรุ่นนี้ ปัจจุบันคงไม่เหลือสักกี่คัน
ตัวข้าพเจ้า “พี สี่ภาค” ก็เรียกว่าผูกพันกับรุ่นนี้พอสมควร เปล่าหรอก ไม่ได้มีใช้กับเขา ตอนนั้นยัง “เด็กน้อย” เรียนประถมอยู่เลย แต่อาศัย “โหนบ่อย” เพราะแต่ก่อนจะมี “สองแถวแดง” วิ่งอยู่ถนน “ราชดำริ” ก็จะมีรุ่นนี้เยอะพอสมควร เรียกว่า “แชสซีส์แอ่น” หน้าลอย หลังแทบขูดพื้น เพราะ “ประชากรโหน” ดีกว่าตอนนั้นรถยังไม่ติดครับ ผมก็โหนจากหน้า โรงเรียนสมถวิล ราชดำริ (ซอยมหาดเล็กหลวง 3 ปัจจุบันโรงเรียนถูกยุบไปแล้ว) ไปยัง “สวนลุมพินี” เพื่อที่จะต่อรถเมล์สาย 106 กลับบ้านที่ “วงเวียนใหญ่” ถนนเจริญรัถ ก็จะมีสองแถวแดงรุ่นนี้วิ่งอยู่มาก สลับๆ กับ “ดัทสัน ช้างเหยียบ” และ “ฟอร์ด พลายน้อย” (สมัยเด็กพ่อบอกว่าไอ้คันนี้ๆๆๆ มันยี่ห้ออะไร) นอกเรื่องนิด ฟอร์ด พลายน้อย สมัยก่อนผมว่ามันเป็นรถที่ “อุบาทว์” ที่สุด เหมือนเอาปี๊บมาต่อๆ กัน แต่ปัจจุบัน “โคตรชอบ” เลย ได้อารมณ์ดิบมากๆ (เด็กเจน Y ไม่รู้จักแน่ สัญญาว่าถ้าเจอรูปจะเอามาให้ชม) เอ้า ก็เป็นเรื่องความหลังที่เล่าสู่กันฟังกับ HILUX RN20 ซึ่งแม้มันจะเก่ายังไง ก็ยังสามารถรับใช้เราได้อย่างยาวนาน ปัจจุบันก็ยังมีสองแถวรุ่นนี้วิ่งอยู่นะครับ ตามชุมชนคลาสสิกต่างๆ แต่เครื่องไม่เดิมก็ว่าไป ให้เห็นมันวิ่งได้ก็ดีใจแล้ว…
- จอดกันเรียงรายรอจำหน่าย ข้างๆ นั้นเป็น TOYOTA หัวแตงโม รถบรรทุกใหญ่
ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี
#Posttothepast #xoautosport #ToyotaHilux #RN20 #ToyotaPickup #Retrocar
เวบไซต์สาระรถซิ่ง : xo-autosport.com
Cr. Photo :
THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512* ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม
- กระบะสมัยก่อนก็จะต้องมี “รั้ว” เอาไว้กันของวิ่งมากระแทกกระจกหลัง และเอาไว้มัดของกับขอยึดข้างกระบะ ที่ฝาท้ายก็มีขอยึดอีกเช่นกัน เรียกว่าเน้นบรรทุกจริงๆ
- ช่วงสั้นครับ ยอดนิยมสมัยนี้
- รุ่นปีท้ายๆ “ไมเนอร์เชนจ์” เปลี่ยนหน้าตาใหม่ โครงหน้าจะยื่นออกมาจากรุ่นเดิมอีกนิด โลโกบนฝากระโปรงหายไป มาติดที่กระจังหน้าแทน
- ให้สังเกต “ฝาครอบดุมล้อ” จะเป็นลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของรุ่นแรก เป็นแบบห้าก้าน มีตุ่มคล้ายๆ นอตล้อ ส่วนรุ่นท้ายๆ อันนี้สวย ผมชอบ ส่วนรุ่นไมเนอร์เชนจ์ จะเป็นฝาครอบโครเมียมทรงเรียบๆ มีโลโกสามเหลี่ยม HILUX ตรงกลาง อันนี้ผมเฉยๆ นะ