Post to the Past : The Quarter Mile Legend “ยุคสวนสยาม” Part I

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

                หลังจากที่มันส์กับยุคบุกเบิก “ควอเตอร์ไมล์วัชระภูมิ” กันไปแล้ว รู้สึกภูมิใจที่ “คนตรงยุค” หลายคนช่วยเข้ามา “บรรเลง” ข้อมูลให้เข้มข้นขึ้นอีก ทำให้ “ประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า” กลับมาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เสียเวลา มาชม “ยุคต่อ” คือ “สวนสยาม” ที่เป็นการจัดแข่งควอเตอร์ไมล์ต่อจากยุควัชระภูมิ ถ้าอยากรู้ ต้องคนนี้เลยครับ “ป๋าแดง สติกเกอร์” ซึ่งเป็นผู้จัดรายแรกที่สนามเฉพาะกิจแห่งนี้ และมี “คนตรงยุค” หลายท่านมาช่วยแชร์ความหลังสนุกๆ ที่นี่ ให้เราได้อ่านกันแบบเพลิดเพลินครับ…

 

จุดเริ่มต้น 

สำหรับการจัดควอเตอร์ไมล์ที่สวนสยาม จุดเริ่มต้นก็มาจาก “ป๋าแดง สติกเกอร์” คุณวิชัย นุชพุ่ม และ “คุณเปี๊ยก” จารุพงษ์ เสตะพราหมณ์ ทั้งสองท่านอยู่ทีม “เรนโบว์” ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักซิ่งและนักแข่งในยุคนั้น รู้จักกันดีว่า “แก๊งค์ซิ่งไฮโซ” ที่มีลูกหลานนักธุรกิจชื่อดังระดับใหญ่โตรวมตัวกันอยู่หลายคน เหตุผลใดถึงมาจัดที่สวนสยาม เนื่องจาก “คุณแดง” ภรรยาของ คุณเปี๊ยก ที่อยู่ในแวดวงไฮโซ และรู้จักสนิทสนมกับทางสวนสยามเป็นอย่างดี จึงได้จัด ณ พื้นที่นี้ ซึ่งตอนนั้นเป็น “ทางตัน” เลยหน้าสวนสยามมาหน่อยนึง ถนนอีกฝั่งยังตัดมาไม่ถึง ปิดทางเข้าทาง “กม.9” แถมมีทางกลับรถฝั่งใครฝั่งมันเหมือนกับ วัชระภูมิ อีก เลย “เข้าทาง” ครับ ถนนยางมะตอยอัดเรียบ ไปกันได้เต็มๆ เลยเกิดตำนานควอเตอร์ไมล์ ณ สวนสยาม ขึ้นมา ในช่วงปี พ.ศ. 2520 โดยประมาณ รายการนี้ถือว่าเป็น “การแข่งควอเตอร์ไมล์เจ้าแรกที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด” ช่วงนั้นก็เป็นรถจากกลุ่มที่แข่งในวัชระภูมิ แล้วก็มีรถกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ในยุคนั้น ยังเป็นการแข่งแบบ “เร็วชนะ” ใช้กติกาของสนามวัชระภูมิมาทั้งหมด แล้วก็มีการควอลิฟาย 8 คัน แบ่งเรียงอันดับ 1-4 และอีกกลุ่ม 5-8 แล้วนำมาเจอกันลักษณะนี้ เช่น ที่ 1 เจอที่ 5 ที่ 2 เจอ ที่ 6 อะไรประมาณนั้น แล้วก็มีการ “เล่นทายผล” ว่าคันไหนจะชนะ เล่นกันเหมือนแทงม้ายังงั้นแหละครับ (แต่เป็นไปตามกฎของผู้จัดนะ) ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ ผู้จัดจะเป็นทาง “สวนสยาม” โดยตรง ซึ่งจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เหมือน “เอามันส์” กันมากกว่า…

 

Bracket เกิด

สำหรับการแข่งแบบ “กำหนดเวลาวิ่ง” หรือ Bracket ก็เริ่มเกิดในยุคนี้แหละครับ จากอัลบั้มฟิล์มที่เรามี เป็นปี พ.ศ. 2526 เป็นการแข่งขันที่จัดโดยนิตยสาร “ยานยนต์” และ “นักเลงรถ” จัดขึ้นในวันที่ 8 พ.ค. 2526 เป็นรายการ “ควอเตอร์ไมล์ แบร็คเก็ต โปรสต๊อค” นี่เป็นคำยืนยันว่ามีการแข่งแบบ Bracket เกิดขึ้นในเมืองไทยแล้ว เรียกว่าคนที่รถไม่แรงมาก แต่ “แม่น” ก็สามารถที่จะ “ชนะ” รถแรงกว่าได้ มันเป็น “ความสนุก” ของนักแข่ง ที่ต้อง “คิด” และ “รู้” ว่ารถตัวเองวิ่งระยะเท่านี้เต็มที่ได้เวลาเท่าไร มันมีเทคนิคหลายอย่างครับ สมมติลงรุ่น 15 วินาที แต่รถตัวเองวิ่งเร็วสุด 13 วินาที ก็รอไฟเขียว 2 วินาที แล้วค่อยออกไปเต็มๆ หรือบางคนก็ลองเปลี่ยนเกียร์ที่รอบต่ำกว่าที่กำหนด เพื่อให้รถมันไปช้าลงตามเวลาที่กำหนด บอกแล้วมันต้อง “ซ้อม” สำหรับรุ่น Bracket ก็ดีอย่าง ไม่งั้นกรรมการ “หืด” เพราะถ้าเป็นวิ่งแบบเร็วสุดชนะ รถแข่งที่ได้รางวัล 1-3 ทุกคัน (ยกเว้นรุ่น Open) จะต้อง “เปิดฝาสูบตรวจความจุ” แต่พอเป็น Bracket ก็ไม่ต้องแล้วครับ เพราะจะแรงยังไงก็ถูกควบคุมด้วยเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว ไว้รอติดตามภาคต่อไป เรามีเรื่อยๆ นะครับ สำหรับ The Quarter Mile Legend ยังไม่จบง่ายๆ แน่นอน…

 

หมายเหตุ : เนื่องจากว่าผู้เขียน “ยังไม่เกิด” ในยุคนั้น ข้อมูลที่มาจึงเป็นการสอบถามจากผู้ที่ “ทันเหตุการณ์” ซึ่งมันก็นานพอสมควรแล้ว อาจจะมีตกหล่นบ้าง ก็ “ขออภัย” เนื่องจากผู้เขียนมีเจตนาดีในการเผยแพร่เรื่องราวในอดีต หากใคร “เกิดทัน” และ “รู้จริง” จะช่วยเสนอแนะข้อมูลที่ “เป็นจริง” ใน Comment ด้านล่างก็เชิญเลยนะครับ ทางผู้เขียนจะได้นำไปแก้ไขและเพิ่มเติมในเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น “ความรู้มีไว้แบ่งปัน” ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ…

 

XO AUTOSPORT ขอขอบคุณ 

 

ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี

 

#Posttothepast#xoautosport #Quartermilelegend
เวบไซต์สาระรถซิ่ง :
xo-autosport.com

Cr. Photo : THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512 ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม

ภาพนี้เป็นการแข่งขันควอเตอร์ไมล์ ปี 2526 ยุคท้ายๆ และมีการแข่งแบบ Bracket เกิดขึ้น

ถนนจะดีกว่าวัชระภูมิ ตรงที่เป็น “ยางมะตอย” ซึ่งหนึบกว่าถนนคอนกรีต สังเกต AUSTIN 1300 คันซ้ายมือ ประตูหลังเอาออกครับ แล้วเอาแผ่นอะไรไปแปะเพื่อลดน้ำหนักกันสุดๆ

ให้ดูทีมผู้จัดครั้งแรกของสวนสยาม เป็นทีม “เรนโบว์” รวมมิตรเหล่าไฮโซในยุคนั้น แกนนำ คือ “ป๋าแดง สติกเกอร์” คงไม่ต้องบอกนะคนไหน และสองหนุ่มนั่นก็เป็น “ลูกหลานตระกูลไฮโซ” ส่วนสาวเสื้อเหลือง เป็นอดีตดารา “กบ” ปวีณา ปิจเปี่ยมกิจ

ข้อดี คือ “ถนนลาดยางมะตอย” ใหม่ๆ ก็จะเรียบและออกตัวได้หนึบกว่าถนนคอนกรีตที่วัชระภูมิ รถที่แข่งก็จะเริ่มเป็นยุค “80” ที่เริ่มจะคุ้นตากัน

สมัยนั้น “แลนเซอร์ กล่องไม้ขีด” ยังใหม่ ต้องใส่กันชนหน้าตัวนอก EX 2000 Turbo ถึงจะเท่ มีล้อลึกๆ เงาๆ ชุดเดียวก็สวยแล้ว

ชมตามอัธยาศัย แต่ระวังกันเองแล้วกัน