Post to the Past : The Quarter Mile Legend “เคหะบางพลี” Part เดียวเลิก

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

ตำนานควอเตอร์ไมล์เพียงหนึ่งเดียว ณ “การเคหะบางพลี”

                อั๊ยยะ เล่าไปเล่ามาก็ “ความหลังผุด” ขึ้นมาเรื่อยๆ ที่สำคัญ คือ “มีโอกาสได้เจอตัวจริงในยุคนั้นหลายต่อหลายคน” ซึ่งหลังจากได้ “ต่อสาย” กันแล้ว ต่างคนก็ต่างปลื้มปริ่ม ที่ตำนานของตัวเองได้ถูกนำมาเหลาอีกครั้ง หลายคนอาจจะมองว่า “ชอบของเก่า เล่าความหลัง” เป็นเรื่องของคนแก่ แต่ขอให้คิดว่า “ไม่มีอดีต ย่อมไม่มีปัจจุบัน” ไม่มีบรรพบุรุษ ก็ไม่มีพวกเรา พวกนี้ถือว่าเป็นความรู้ที่ยากยิ่งนักจะหาพบได้ รับรองว่า “สะเด่าโห้โปรโมชั่น” งานนี้ไม่มีข้อมูลที่ไหนให้ Search ละเอียดเท่า Post to The Past ใน xo-autosport.grandprix.co.th แน่นอน เพราะคำเหล่านี้หลุดจาก “ปาก” ของคน “ตรงยุค” อย่างแท้จริง…

สำหรับตำนานควอเตอร์ไมล์ “การเคหะบางพลี” นั้น จะเป็นยุคหลังจาก “สวนสยาม” จุดกำเนิดจาก “นิตยสารรถ” ชื่อ “รถ” เลยครับ นำโดย “คุณเหมียว” จัดแข่งครั้งนี้ขึ้นมา และเป็นการจัดแข่ง “เพียงครั้งเดียว” ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1987 หรือ พ.ศ. 2530 ซึ่งก่อนการแข่งขัน 1 วัน มีเหตุการณ์ในความทรงจำ คือ ถ่ายทอดสดมวย ที่ “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” ขึ้นชก เหล่าคนที่มาซ้อม รวมถึง Staff จัดงาน พอได้เวลาถ่ายทอดก็ “ขับรถแห่กันออกไปหาที่ดูมวยกัน” เป็นที่น่าเสียดายว่าตอนนั้น สามารถ แพ้น็อกไป…

ยุคนั้นควอเตอร์ไมล์ในแนว Street Race แบบ “ใช้ทางเฉพาะกิจ” (ไม่ได้ไปแข่งบนท้องถนนนะเว้ยเฮ้ย อย่าเข้าใจผิด) ก็เริ่มจะสู่ “ขาลง” แล้วครับ ตอนนั้นสนาม “นครไชยศรี” ก็เริ่มเกิดขึ้น โดยใช้ช่วงทางตรงของสนามมาจัดการแข่งขันควอเตอร์ไมล์ สำหรับการแข่งขันในการเคหะบางพลี ก็จะมี Bracket วิ่งกันสนุกๆ ไปยัน Open เลิกกันไม่เลทมากครับ แข่งกันสายๆ เลิกไม่เกินห้าโมงเย็น ส่วนรถที่แข่งก็จะคาบๆ ยุค พวกรุ่นเก่าๆ ก็ยังพอมีอยู่ ส่วนรุ่นใหม่ๆ หน่อย อย่าง TOYOTA COROLLA EE80 “ขับหน้ารุ่นแรก” ก็ยังมีมา แล้วก็ FORD LASER หรือ MAZDA 323 ขับหน้า อะไรประมาณนั้น…

จะมีข้อสังเกตได้อย่างหนึ่ง ว่าในรถแข่งส่วนใหญ่จะมี “เพื่อนนั่งไปด้วย” พวกนี้จะเป็นรุ่น Bracket ครับ คนนั่งก็ทำหน้าที่ “เนว์” คอย “จับเวลา” พวก Bracket สมัยก่อนก็มักจะซ้อมให้รู้เวลาเร็วที่สุดของรถตัวเองก่อน เช่น วิ่งเร็วสุดได้ 15 วินาที ก็ไปลงรุ่น Bracket 18 หรือ 20 วินาที ก็ใช้การ “ทดเวลาหลังไฟเขียว” 3 หรือ 5 วินาที ตามลำดับ พอไฟเขียวขึ้น คนจับเวลาก็กดนาฬิกาจับเวลา ได้เวลาที่กำหนดไว้แล้วค่อยไปเต็ม ไม่ได้ “ดึงเช็ง” เหมือนสมัยนี้ ตอนนั้นพวกตัวแรงๆ เท่าที่พอจะหาข้อมูลและรูปเจอ ก็จะเป็น MAZDA 323 ขับหลัง ไฟเหลี่ยม “วางโรฯ” ของ “สุขุม โรตารี่” รถสีขาวแดง ติดสติกเกอร์ Getaway ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าบูติคในสมัยนั้น ซึ่งเวลาเร่งรอบที “ขี้หูสะท้าน” ใครเคยได้ยินเสียงโรตารี่ “พอร์ตตรง ไร้หอย ท่อไม่มีหม้อพัก” รู้กันดีว่ามันสนานขนาดไหน

สนามนี้อาจจะมีข้อมูลและภาพน้อยไปสักนิด เพราะจัดเพียงแค่ครั้งเดียว แต่อย่างน้อยก็ได้ทราบ “หนึ่งในฟันเฟืองเรื่องราวควอเตอร์ไมล์ของเมืองไทย” บางครั้ง “หนึ่งเดียวก็กลายเป็นตำนานได้” ที่เรานำสิ่งที่มีอยู่ มาทำเป็นประโยชน์ในการ “เล่าสู่กันฟัง” ซึ่งตัวผมเอง “พี สี่ภาค” ก็ทำหน้าที่เป็น “ตัวเชื่อมกาลเวลา” โดย “รับสาร” มาจากบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น มาเรียบเรียงให้คนรุ่นใหม่ฟัง ว่า “สมัยนั้นเขาเล่นอะไรกัน” นะครับ…

หมายเหตุ : เนื่องจากว่าผู้เขียน “ยังไม่เกิด” ในยุคนั้น ข้อมูลที่มาจึงเป็นการสอบถามจากผู้ที่ “ทันเหตุการณ์” ซึ่งมันก็นานพอสมควรแล้ว อาจจะมีตกหล่นหรือผิดพลาดบ้าง ก็ “ขออภัย” เนื่องจากผู้เขียนมีเจตนาดีในการเผยแพร่เรื่องราวในอดีต หากใคร “เกิดทัน” และ “รู้จริง” จะช่วยเสนอแนะข้อมูลที่ “เป็นจริง” ใน Comment ด้านล่างก็เชิญเลยนะครับ ทางผู้เขียนจะได้นำไปแก้ไขและเพิ่มเติมในเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น “ความรู้มีไว้แบ่งปัน” ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ…

 

XO AUTOSPORT ขอขอบคุณ   

 

ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี

 

#Posttothepast#xoautosport #Quartermilelegend
เวบไซต์สาระรถซิ่ง :
xo-autosport.com

Cr. Photo : THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512 ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม

นี่แหละครับ MAZDA 323 ขับหลัง จาก “สุขุม โรตารี่” ในรุ่น Open ล้อหน้า HAYASHI STREET (สมัยก่อนมี “ของเหมือนแท้” ยี่ห้อ HAYACHI ด้วยนะครับ ทำเป็นเล่น) ส่วนล้อหลังไม่เห็นลาย แต่รู้เพียงว่า มีนอตล็อกขอบยาง ด้วย พวกนี้ “ล้อแข่งเต็มรูปแบบ” ส่วนใหญ่จะเป็นล้อเซอร์กิตครับ

BMW E21 “นั่งสาม” หนุ่มข้างคนขับน่าจะ “จับเวลา” ส่วนหนึ่งสาวนั่งหลัง อาจจะ “ติดแฟน” หรือทำหน้าที่ “นั่งถ่วงท้าย” ไม่ให้ล้อฟรีหรือรถสะบัดเวลาออกตัว ตอนนั้นรุ่น Bracket ก็ไม่บังคับอะไรเท่าไร เพราะรถไม่แรงมาก

VW “เต่า” ล้อ Fuch จาก PORSCHE ใส่พาร์ท ดู “ไฮโซ” ดีเหมือนกัน กรรมการหน้าเส้นคนซ้ายของรูป คือ “คุณโบ๊ต” ดำรงวิทย์ คุ้มบุญมี ส่วนคนขวาที่หันหลัง สันนิษฐานว่าจะเป็น “คุณป๊อด” ประพาฬ ม้ามณี

ยุคนั้น COROLLA ขับหน้า เริ่มมาแล้วครับ

เริ่มจะเห็นรถยุค 80 กันหนาตาขึ้น ถ้าเป็น “LANCER กล่องไม้ขีด” ก็ต้องนี่เลย “Sirius Turbo” ตรงรุ่นตัวนอก แต่เสียที่ชอบมีปัญหากับแอร์โฟล์วมิเตอร์ระบบ Karman Vortex ที่ใช้แสงสะท้อนการไหลของอากาศ ประหลาดดีเหมือนกัน

DATSUN SUNNY KB110 Retro Car ในฝันของใครหลายคน ณ ตอนนี้ ล้อหลังเป็น TOSCO (TRD) เห็นสติกเกอร์ JONATHAN 7.84 ซึ่งเป็นอู่โมดิฟายชื่อดังย่านโชคชัย 4 (เคยเหลาไปแล้ว) ส่วนอีกอัน คือ “ไก่ การาจ” ผมเคยได้ฟังเรื่องเล่าว่าเป็นช่างที่โมดิฟายเครื่องได้แรงระดับแนวหน้าอีกคนหนึ่งเหมือนกัน แต่มักจะทำให้กลุ่มพรรคพวกกันเป็นส่วนมาก ไม่ค่อย Mass เท่าไร (กำลังเช็คข้อมูลที่แน่จริงอีกครั้ง มีอะไรจะมาอัพเดทให้)