เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ต้องขออภัยที่ Post To The Past ได้เว้นวรรคไปจากเรื่องราวของ “The Quarter Mile Legend” ไปพักหนึ่ง ไม่ได้อู้ ไม่ได้ทอดทิ้งกลางทาง แต่ก็จะมีคั่นกันด้วยเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับรถยนต์ที่น่าสนใจบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง แต่สำหรับเรื่องราวของ “ควอเตอร์ไมล์” ผมขอใช้คำนี้นะครับ เพราะสมัยนั้นคำว่า Drag ยังไม่เกิด ในบางที เรื่องราวครั้งอดีต ก็ต้องใช้เวลาในการสืบค้นในทุกทิศทาง รูปก็จะเป็นฟิล์มที่เหลืออยู่ใน Photo Bank ซึ่งฟิล์มบางส่วนอาจจะไม่ครบ เพราะถูกตัดไป Scan เวลาทำนิตยสาร อย่างไรก็ตาม ส่วนหลักๆ ก็ยังคงมีให้เราชมกันอยู่ แต่ที่ผม “พี สี่ภาค” พยายามเสาะหาแหล่งข้อมูลจาก “บุคคลในเหตุการณ์นั้น” จริงๆ เพราะจะเป็นการเล่าได้อรรถรสมากที่สุด ในคราวนี้ จะมาถึงการจัดแข่งควอเตอร์ไมล์รายการหนึ่ง ที่เป็นการแข่งนอกสนามจริง มีรถมาร่วมแข่งขันมากมาย ทั้งรถทั่วไป รถสปอร์ตนำเข้ามาวิ่งเล่นกัน คนดูบนตึกนั่งห้อยขาชมกันมากมายโดยเฉพาะรุ่น “โอเพ่น” นั่นคือรายการ…
- คนมาดูกัน “รึ่ม” เลยนะครับ ดูเอาเองแล้วกัน โดยเฉพาะหน้าเส้นสตาร์ท และโดยเฉพาะรุ่นโอเพ่นที่เรียกว่า “แห่ดู” เลยดีกว่า จนกรรมการต้องประกาศ ถ้าไม่หลบไปจากจุดสตาร์ท จะไม่ปล่อยรถแข่งเด็ดขาด
MTT GRAND PRIX QUARTERMILE หรือ “เมืองทองธานี กรังด์ปรีซ์ ควอเตอร์ไมล์” นั่นเอง !!!
รายการนี้จัดขึ้นในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2537 อ้างอิงตามวันเวลาบนห่อฟิล์ม เป็นการร่วมมือกันระหว่าง “เมืองทองธานี” และ “นิตยสารกรังด์ปรีซ์” จัดการแข่งขัน “ควอเตอร์ไมล์” ขึ้นมา เล่นกันในถนนโครงการเมืองทองธานีนั่นแหละครับ ตอนนั้นเพิ่งสร้าง และประกอบกับ “สนามนครชัยศรี” ได้ปิดทำการชั่วคราว (อาจจะเป็นการซ่อมบำรุงสนาม) เลยเว้นการแข่งควอเตอร์ไมล์ไป ก็กลัวแฟนๆ ขาซิ่งจะเหงา กลัวจะออกไปแข่งถนน ก็เลยเกิดรายการนี้ขึ้นมา เพื่อดึงคนมาแข่ง และเป็นการ “เรียกแขก” ประชาสัมพันธ์ให้กับ เมืองทองธานี อีกด้วย…
- เสื้อลายขาวแดง คือ “น้ายาว ปิ่นเกล้า” คุณประเสริฐ ตันมณี เจ้าของอู่ “ปิ่นเกล้าเซอร์วิส” ขาควอเตอร์ไมล์ในยุคนั้นเลย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ส่วน “เด็กน้อยเสื้อเขียว” คือ “เอ” ลูกชายของน้ายาวนั่นเอง
ระยะทางวิ่ง เท่าที่ “ได้ข้อมูลมา” ตอนแรกก็ตกลงว่า 402 ม. แต่ไปๆ มาๆ เหมือนรถบางคันขอให้ “หด” ระยะลงมาหน่อย เพราะระยะเบรกไม่พอ กลัวจะเบรกไม่อยู่ “ตำ” เข้าให้ แต่จำไม่ได้ว่า “หดเหลือเท่าไร” ก็จะกลายเป็น “ควอเตอร์กิโล” หรือเปล่านะ เดาๆ ก็น่าจะมี 300 ม. อะไรประมาณนี้แหละมั้ง สิ่งสำคัญ คือ มีการ “ควอลิฟาย” เป็นครั้งแรกของการแข่งควอเตอร์ไมล์ในเมืองไทย ซึ่งสมัยก่อนจะเน้นการจับคู่ Knock Out กันไปเลย ทำให้การแข่งขันแบบมีเวลาควอลิฟาย “กระชับ” มากกว่าเดิมเยอะเลย…
- “ป๋าฉัตร” ฉัตรชัย ไชยวัณณ์ ยิ้มร่าตลอดเมื่อไปสนาม ตามเชียร์ลูกชาย “อ๊อฟ หทัย” ไม่ห่าง ใครจะจำได้บ้างว่า ในอดีต “ป๋าฉัตร” เคยเป็นนักเขียนพิเศษให้กับนิตยสารกรังด์ปรีซ์ด้วยนะครับ
ในตอนนั้น ก็จะมีรถซิ่งทั่วไป ที่แข่งควอเตอร์ไมล์กันเป็นปกติมาเล่นกันต่อที่นี่ ส่วนใหญ่ก็เป็นรุ่น Bracket แต่ในปีนั้น รุ่นใหญ่สุด คือ “โอเพ่น” มีรถเขาร่วมแข่งถึง 22 คัน และควอลิฟายเหลือ 8 คัน เพื่อ “ชิง” ส่วนรถและผู้ร่วมการแข่งขัน จะมี “ต่างชาติ” เข้ามาด้วยนะครับ เพราะงานนี้เน้น “อินเตอร์” ใครเป็นใครดูในรูปเอาเลยครับ แต่งานนี้ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ในตอนหลังสถานที่นี้จะเป็น “ทางสัญจร” ปกติ คนเริ่มรู้จักและใช้เส้นทางนี้กันมากขึ้น การปิดถนนเพื่อการแข่งขันจะสร้างความไม่สะดวกให้กับคนสัญจรทั่วไป ก็เลยจัดได้เพียงครั้งเดียว ส่วน “แชมป์” ในรุ่นโอเพ่น ที่เร็วที่สุดในครั้งนั้น ด้วยเวลาพิกัด 10.XXX วินาที เพียงคันเดียว !!! เป็น “เต่าเขียว” เบอร์ 22 จากทีมไหนยังไม่บอก ถ้าอยากรู้ว่าคันนี้ทำอะไรไปบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร แรงขนาดไหนถึงยืนแป้นแชมป์ควอเตอร์ไมล์ยุคนั้นอยู่ตลอด อยากรู้ “ครั้งหน้าเจอกัน” จะเหลารายละเอียดคันนี้ให้อ่าน !!!
MTT GRAND PRIX QUARTERMILE กลายเป็น “ตำนาน” ว่าเป็น “ครั้งหนึ่ง” และ “ครั้งแรก” ของ “นิตยสารกรังด์ปรีซ์” และ “เมืองทองธานี” ที่ได้ร่วมกันจัด MTT GRAND PRIX QUARTERMILE ในแบบ Street Race เฉพาะกิจขึ้นในเมืองไทย…
- บรรยากาศบน “โต๊ะวี” (ไอพี) คนสวมแว่น คือ “คุณชัยสิทธิ์ กาญจนพาสน์” จาก เมืองทองธานี ด้านขวาสุด คือ “คุณจาตุรนต์ โกมลมิศร์” ส่วน “หนุ่มน้อยละอ่อน” ใส่แว่นดำด้านหลัง คือ “คุณพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา” ปัจจุบันทั้งสองท่านดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บ. กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ : เรื่องราวเหล่านี้ มาจาก “ความทรงจำ” ของผู้ที่เคยสัมผัสบรรยากาศจริงในยุคนั้น แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปกว่า 20 ปี อาจจะมีบางอย่างที่เลือนรางไปบ้าง หากมีข้อผิดพลาดประการใด หรือมีสิ่งใดตกหล่น ผม “พี สี่ภาค” ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ…
XO AUTOSPORT ขอขอบคุณ
คุณพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา : กรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บ. กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
คุณรัชฎา พลวรรณาภา : ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บ. กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
คุณชัยฉัตร ฉัตรศุภกุล : NEWTEC CAR ENGINEERING
SIX SECOND & SHORT BLOCK Team
ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี
#Posttothepast #xoautosport #Quartermilelegend #Dragthailand
เวบไซต์สาระรถซิ่ง : xo-autosport.com
Cr. Photo : THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512 ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม
“ดร. ปราจิน เอี่ยมลำเนา” ประธานกรรมการบริหาร บ. กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในพิธีเปิดการแข่งขัน MTT GRAND PRIX QUARTERMILE
ครั้งแรกกับการแข่งควอเตอร์ไมล์ในเมืองทองธานี
ก็จัดกันช่วงทางตรงเข้าโครงการฯ นั่นแหละครับ ในช่วงแข่งรุ่นโอเพ่น จะมีคนนั่งห้อยขาออกมาตามช่องตึกดูกันแบบไม่กลัวตกมาตายเลยทีเดียว
เบื้องหลังจ้ะ
ทีมกรรมการควบคุมการจับเวลา
แก๊งค์ “คลองบางซื่อ” เสื้อลาย คือ “คุณกุ๊ก” ส่วน เสื้อเทา คือ “คุณอู๊ด” ที่เราเคยไปสัมภาษณ์ลงคอลัมน์ Reed It More
คันนี้ CIVIC 3 Doors ของ “อาร์ต ชิงชัย” หรือ คุณชัชธรรม พรหมนอก ซึ่งเป็นคันแรกๆ ของเมืองไทยที่เป็นเครื่อง B16A
CIVIC 3 Doors ล้อ SPARCO NS-2 ยอดฮิตในยุคนั้น ของ “คุณนุก” พรนริศร ปัญญากร
PRELUDE คันนี้ ของ “คุณแอม” พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ตอนนั้นสังกัดทีม REV RACING
300 ZX (Z32) U.S. Spec นำเข้าโดย “คุณฌอน” อภิรัฐ อิสรเสนา ซึ่งนักเรียนนอกจากอเมริกา (จากโควตาผู้ที่ไปอาศัยอยู่อเมริกาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จะมีสิทธินำรถเข้ามาในประเทศไทยได้ ณ ตอนนั้น) สังกัดทีม REV RACING ที่ปัจจุบันก็ยังเก็บรักษาคันนี้ไว้ในสภาพดั้งเดิม
CIVIC EF B16A ของ “Tune by OP” ตอนนั้นวิ่งอยู่ 11 วินาที ปลายๆ (ในระยะไม่ถึง 402 ม. นะครับ)
BENZ C-Class ล้อ AMG เน้นหรูหล่อ เอามาวิ่งเล่นขำๆ
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะที่ใด ดังนั้น “คนดู” จึงควรจะระมัดระวังกันไว้ ไม่ใช่อยากแต่จะดูใกล้ๆ จนลืมความปลอดภัย
HILUX “ไมตี้” เซ็ตเทอร์โบ จาก “ปิ่นเกล้าเซอร์วิส”
อีกคัน จาก “กรังด์ปรีซ์เฮดเดอร์” ของ “น้าหวัด” นั่นเอง
“เต่า” คันนี้ เครื่องยนต์เทอร์โบ คนขับ คือ “เจมส์ ทามาชิโร่” เป็น Japanese-American น่าจะมาจาก “ฮาวาย” นะครับ
ASTINA จากทีม 5000 Miles ออกตัวหน้ายก ทำสีและตกแต่งความงามที่อู่ BOAT ย่านสุทธิสาร
รุ่น Bracket มีรถหลากหลายแบบมาวิ่งเล่นกัน ไม่จำกัดว่าต้องแรงมากมายอะไร คนดูอาจจะไม่มันส์ แต่คนแข่งมีลุ้นตลอดครับ เรียกว่ารุ่น “ล่ารางวัล” นั่นแหละ
CIVIC 3 Doors ตอนนั้นโคตรฮิต ใครขับเดิมๆ ไม่ต้องแต่งก็ถือว่าเท่แล้วระดับหนึ่ง
ระดับไฮโซก็มา FERRARI 328 GTS Quattrovalvole (ควอท-โทร-วาล-โว-เล หมายถึง 4 วาล์ว/สูบ) ของ “คุณอาร์ต” ชัชธรรม พรหมนอก เอามาแผดเสียงเรียกแขกได้สนาน
RX-7 คันนี้ เจ้าของน่าจะเป็น “เลดี้” ด้วยนะครับ
มี “โกคาร์ท” มาวิ่งเล่นสร้างสีสันด้วย
L200 CYCLONE ยุคนั้นถือว่า “แจ่ม” มาก ด้วยทรงที่สวยแบบออกแนวสปอร์ต เครื่องยนต์วิ่งดีกว่าเพื่อนฝูง เลยถูกนำมา “เซ็ตเทอร์โบ” กันมาก คันนี้จาก “อู่ฮุย” (ไม่น่าจะใช่ “ฮุยจูนนิ่ง” นะครับ เจ้านั้นทำ LANCER)
L200 ย่นบอดี้ สไตล์นี้ “น้าอ๋อย ST FIBER” แน่นอน (ล้อหลังโคตรสวยเลย ลายดาว 6 แฉก ก้านยกด้วยนะฮะ)
ดอกไม้ริมแทร็ค
DATSUN SUNNY B310 คันนี้ เป็นเครื่อง “โรตารี่” ที่ทำเอาแก้วหูแทบระเบิด
ALFA BERLINA 2000 คันนี้สวยนะครับ ยิ่งโดนล้อ BBS RS “หล่อขึ้นมาทันใด” เห็นบ่อยๆ ขาประจำควอเตอร์ไมล์ เป็นเครื่อง SR20DET ฝาแดง น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าหรือพรรคพวกจากอู่ RINSPEED
COROLLA TE71 Lift Back คันนี้เป็น “ตำนานที่ใกล้ชิด” กับตัวผมมาก เพราะเป็น “รถเพื่อนพ่อ” ฉายา “แปะซิ่ง” (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ที่ลูกชาย “ป๊อป” สารศักดิ์ คุณากร ทีม PROGRESS เอาไปแข่งควอเตอร์ไมล์สนามนครชัยศรีเป็นประจำ โมดิฟายจาก “ป๋าหรั่ง ชัยศิริยนต์” เครื่องยนต์ 3T-GTE เทอร์โบ KKK K27 แคมชาฟต์ TRD เกียร์ 1G-GTE ช่วงล่าง TRD เต็มชุด (เคยนั่งและขับอยู่ประจำ แข็งอิ๊บอ๋าย แต่วิ่งเร็วๆ ทางเรียบๆ เจ๋งเลย) ล้อ BMB ลายล้อเกวียน 15 นิ้ว โอ๊ย เยอะแยะมากมาย ดังหรือไม่ในยุคนั้น เอาง่ายๆ ในเชียงกงปทุมวัน (ณ ตอนนั้น) ไม่มีใครไม่รู้จัก “รถแดงแปะซิ่ง” คันนี้แน่ๆ
SKYLINE R30 จาก BOY SERVICE เครื่องยนต์ RB20DET โมดิฟาย สมัยนั้นคันนี้ถือว่าสวยนะครับ ล้อน่าจะเป็นลาย ALPINA ออฟเซ็ตเต็มซุ้มสวยพอดี
SUNNY B110 จาก KAI GARAGE คันนี้ก็แรงครับ เครื่อง A15 โมดิฟาย คลัตช์ซิ่งยุคก่อน BORG & BECK (บ้านเราชอบเรียก “คลัตช์บ๊อกแบ๊ก” หรือ “ป๊อกแป๊ก”) โป่งรอบคัน แต่จะเชื่อไหม ว่าเครื่องและโป่งล้อของคันนี้ ยังถูกเก็บรักษาไว้อยู่นะครับ (ส่วนรถไม่อยู่แล้วเพราะผุมากจนต้องขายชั่งโลไป) เอาไว้ “ตอนหน้า” จะไปดูมรดกที่เหลือจากรถคันนี้ ว่าสมัยก่อนเขา “เล่นอะไร” กัน
323 Sedan จาก UNITY FAMILY เรียบๆ ก็สวยไปอีกแบบ สมัยนั้นรุ่นนี้อยากจะแรงเหรอ ต้องเสก “BP Turbo” ลงไปเลย ตัวแรงๆ ก็ของ “คุณอ๋อง เรย์สปอร์ต” ที่จัดเต็มในยุคนั้น
STARLET EP71 ในตำนาน จาก ปิ่นเกล้าเซอร์วิส
นี่เลย SKYLINE R32 Group A ในตำนาน คันนี้คือตัวแข่งเซอร์กิตที่ “คุณปั้น AIM MOTORSPORT” ซื้อจาก Australia มาแข่งในเมืองไทย 2 คัน คันหนึ่งให้ “น้าแมน มานิตย์” ขับ ส่วนคันนี้หลังจากปลดระวางแล้วก็มีผู้สนใจสอยต่อมากมาย ที่มานี้ก็เพื่อ “ลองความแรง” แม้ว่ารถแรงจริง แต่พื้นฐานมันไม่ได้เหมาะสมกับการขับแบบนี้ ท้ายสุดคันนี้ก็ไปอยู่กับทายาทนักการเมืองคนหนึ่ง ส่วนอีกคันข่าวว่าขายไปทางมาเลเซีย ไปเป็นรถสะสม
คุณคิดว่าใครชนะ !!! ระหว่าง “ก๊อตซิลล่า” กับ “เต่าเขียว” ที่ไม่ได้มีความงามเลย ผลสรุป คือ “เต่าชนะ” ด้วยเวลา 10 วินาที ปลายๆ ในตอนนั้น และเป็นแชมป์รุ่นโอเพ่นในสนามนี้อีกด้วย ขับโดย “ไพโรจน์ หมัดตานี” พลิกล็อกใช่ไหมละ เต่าเขียว “ยกหน้าสองเกียร์” ด้วยนะครับ ถ้าอยากรู้รายละเอียด ต้องรอดูตอนต่อไป…
(แถวล่าง จากซ้ายไปขวา) “ดร. ปราจิน เอี่ยมลำเนา” จาก บ. กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล, “คุณชัยสิทธิ์ กาญจนพาสน์” และ “คุณภิญโญ ทองเจือ” จาก เมืองทองธานี, คุณวรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ ร่วมเป็นเกียรติมอบรางวัลให้กับนักแข่ง อันดับ 1 “คุณอาร์ต” ชัชธรรม พรหมนอก, อันดับ 2 “คุณพีท” ธนภณ (ชื่อเดิม “พันธกานต์”) ทองเจือ, อันดับ 3 “คุณเล้ง มังกรไฟ” จรัส แจ้งกมลกุลชัย
ดร. ปราจิน เอี่ยมลำเนา มอบรางวัลให้กับ อันดับ 1 “คุณชัยสิทธิ์ กาญจนพาสน์”, อันดับ 2 “คุณอาร์ต” ชัชธรรม พรหมนอก, อันดับ 3 “คุณป๊อปปิ” ธีร์รัตต์ (ชื่อเดิม “ธิติพันธ์”) สุทธิสัมพัทน์