เปิดใจ PRO TREE “ไฟโปร” ระดับ NHRA

 

เปิดใจ PRO TREE “ไฟโปรระดับ NHRA

รู้ไว้ ไม่เสียหลาย โปรไม่โปร รู้เรื่อง

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี, Tum Tinakorn

ข้อมูล : GT-GARAGE

หลังจากที่แพ่มถึงเรื่องของไฟสัญญาณปล่อยตัวใน Drag Racing” กันแล้ว ก็เรียกว่าได้รู้ถึงความหมายของเซนเซอร์แต่ละตัว รวมถึง ไฟแต่ละดวง ว่ามีความหมายอย่างไร จะทำอย่างไรให้ออกได้โดยเร็วและไม่ผิดกติกา แล้วทำไมถึงเกิดการฟาล์ว อันนี้จะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ชมที่ตอนแรกอาจจะไม่เข้าใจ แต่พออ่านแล้วเข้าใจ ก็จะดู Drag Racing ได้สนุกมากขึ้น เพราะความที่จะได้เปรียบ จะเริ่มตั้งแต่รถจอดในจุด Pre-Stage กันเลย งั้นคราวนี้เรามาดูสัญญาณไฟปล่อยตัวอีกแบบ ที่เรียกกันว่าไฟโปรที่ใช้สำหรับการแข่งขันระดับชาติอย่าง NHRA ถ้าเรียกภาษาสากลก็ว่า “Pro Tree” แน่นอนว่า การเข้า Stage รวมถึงการปล่อยตัวจะต้องมีขั้นตอน มีความรวดเร็ว และยากกว่าแบบที่เราเคยเจอ จะเป็นยังไงก็ต้องอ่านต่อไปเลยครับ

การเข้า Pre-Stage แบบมองตา (มึงก็ต้อง) รู้ใจ

ก่อนอื่นพูดถึงการเข้าไฟ Pre-Stage ในแบบสากลที่ใช้กันอยู่ ซึ่งก็ต้องมีเวลากำหนดไว้ให้เข้า เพราะกันการดึงเช็งพวกรายการใหญ่ๆ จะกระชับเวลามาก เพราะถือว่าเป็นระดับโปรฯ กันแล้ว ถ้าไม่เข้าตามเวลาที่กำหนด จะ Disqualify ไป ซึ่งก่อนจะเข้านั้น ตัวขี่ทั้งสองคันจะต้องมีการสบตาว่ามึงพร้อมหรือยัง สองฝ่ายตกลงพร้อมแล้วค่อยๆ เคลื่อนเข้า Pre-Stage ซึ่งข้อตกลงในการเข้าไฟ รถที่ได้ Lane Choice จะเข้าก่อน (อันนี้เป็นการยกตัวอย่างนะครับ เพราะแต่ละรายการอาจจะมีข้อกติกาที่ต่างกัน) ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็น Lane A หรือ Lane B ก็ตาม สมมติ B เข้าก่อน ไฟ Pre-Stage ฝั่งขวาติด หลังจากนั้นไม่เกิน 5 วินาที รถฝั่ง A จะต้องเข้า Pre-Stage ซึ่งไฟ Pre-Stage ฝั่งซ้ายจะติด ตรงนี้อ่านดีๆ นะครับ หลังจากนั้นอีกไม่เกิน 5 วินาที รถฝั่ง A จะต้องเข้าไฟ Stage เมื่อไฟ Stage ติดแล้ว อีกไม่เกิน 5 วินาที รถฝั่ง B จะต้องเข้าตาม ซึ่งไฟจะติดวนเป็นวงกลม ดังนี้

 *

ไอ้เรื่องการเข้าไฟ การแข่งขันบางคันอาจจะเข้าอีกแบบหนึ่ง คือ ฝั่ง B เข้า Pre-Stage ตามด้วยฝั่ง A แล้วฝั่ง B ขยับเข้า Stage แล้วฝั่ง A ขยับตาม แล้วปล่อยตัวเลย อันนี้แล้วแต่กติกาที่ผู้จัดกำหนด ตรงนี้เหมือนเป็นมารยาทและข้อตกลงของนักแข่ง หรือ Gentleman Agreement ว่าการเข้าไฟจะต้องรอคู่แข่งพร้อมด้วย ตรงนี้จะกันเรื่องการดึงเช็ง กูยังไม่พร้อม มึงเข้าแล้ว หรือ กูรอตั้งนานแล้ว มึงยังไม่เข้าอีก ก็เลยต้องตัดปัญหาด้วยการเข้าไฟแบบนี้ เพื่อเป็นการกระชับเวลาด้วยครับ

ทำไมต้องเบิ้ลเครื่อง ขยับรถกระดึ๊กๆๆ เข้าไฟ

ไอ้เราก็สงสัยเด่ะ ว่าทำไมเข้าไฟมันต้องเบิ้ลเครื่อง จะ Misfire แล้วค่อยๆ เลียคลัตช์เข้า หรือ Stall รอบเครื่องในการ Trans Brake ของรถเกียร์ออโต้ แล้วเบรกย้ำๆ เข้า อันนี้ตอบง่าย ก็กระชับเวลาเหมือนกัน เนื่องจากข้อตะกี้ แต่ละคันจะมีเวลาไม่เกิน 5 วินาที ในการเข้าไฟแต่ละจุด เอาจริงๆ เวลามันน้อยมาก พอ Stage ขึ้นครบ อีกเสี้ยววินาที ไฟเหลือง หรือ Count Down Light จะติดขึ้นมา นั่นคือต้องพร้อมออกแล้ว เพราะเสี้ยววินาทีมันก็จะเขียวทุกอย่างมันเร็วมาก คนขับก็ต้องเตรียม Misfire หรือ Stall รอบเครื่องรอระหว่างเข้าไฟเลย จะมาทำตอนเข้าไฟแล้วรับรองไม่ทัน ตรงนี้เอง ที่จะต้องมีกำหนด 5 วินาที เพราะถ้ามากกว่านั้น คนที่เข้าก่อนจะต้อง Miss Fire นานเกินไปจนเสี่ยงเครื่องพัง เพราะมันคือการจุดระเบิดผิดจังหวะจุดในจังหวะคาย ให้ระเบิดนอกห้องเผาไหม้ เอาแรงดันไอเสียมาปั่นเทอร์โบรอนั่นแหละ ส่วนบ้านเราก็จะเข้า Pre-Stage ก่อน แล้วค่อยมา Misfire หรือ Stall รอบ รอไฟเหลืองขึ้นพร้อมไป เรียกว่ายังใจดีเผื่อเวลาให้เยอะหน่อย เพราะบ้านเรามือสมัครเล่นเยอะ ส่วนในอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่มีแข่งกันแบบลีกอาชีพพวกนั้นจะซีเรียสจริงๆ ครับ

 *สังเกตุตั้งแต่นาทีที่ 3.50 เป็นต้นไป คันแรกที่จะเข้าไฟจะรออีกคันให้ล้อแตะเซ็นเซอร์จนติดไฟคู่เข้าเส้น (ไฟสีขาวด้านบนสุดของต้นคริสมาส)*

ไฟปล่อยตัวในโลกสากล มีกี่แบบ

  โดยหลักๆ ก็จะมีสองแบบครับ แบบแรก “Sportsman Tree” พวกนี้จะเป็นสำหรับการแข่งขันรุ่นเล็กๆ ไปถึงรุ่นกลางๆ ที่ไม่เร็วและโหดร้ายมากนัก การปล่อยไฟแบบนี้ก็คือ หลังจากที่เข้า Staging แล้วไฟเหลืองหรือ “Countdown Light” ขึ้นทีละดวง ไล่เป็น Sequence จากบนลงล่าง แล้วค่อยไฟเขียวขึ้น ทุกดวงจะห่างกัน 0.5 วินาที แค่นั้น แบบนี้ใช้กันทั่วไปจนถึงบ้านเรา

ส่วนอีกแบบที่เรียกกันว่าไฟโปรหรือ “Pro Tree” ซึ่งจะใช้กับการแข่งขันในรุ่นสูงๆ พวก Pro ต่างๆ ไปยัน Top Fuel อันนี้จะเร็วโคตรๆ หลังจากที่เข้า Stage ครบทุกดวงแล้ว ใน 0.5 วินาที ไฟเหลืองจะติดพร้อมกันและอีก 0.5 วินาที ไฟเขียวจะขึ้นเลย เร็วมั้ยล่ะครับ ไม่เหมือน Sportsman ที่ไฟเหลืองติดทีละดวง ยังมีจังหวะลุ้นหน่อย แต่ Pro Tree ไม่เลย ติดพรืดเดียวแล้วดับ ไฟเขียวขึ้นต่อ คนขับจะต้องแม่นและพร้อมแบบสุดจริงๆ ซึ่งรุ่น Pro ต่างๆ ในรายการแข่งอาชีพใหญ่ๆ จะใช้แบบนี้

รับทราบกันแล้วนะครับ ว่าเรื่องของการปล่อยไฟในการแข่งขัน Drag Racing แต่ละแบบมันมีลักษณะอย่างไร จริงๆ มันยังมีเทคนิคการเข้าไฟ การออกตัว ฯลฯ อีกเยอะ แต่เรารู้หลักๆ ไปก่อนแล้วกันว่า มาตรฐานที่บ้านเราถนัดเป็นยังไง แล้วในระดับโลกใช้กันยังไง อันนี้ไม่ได้มาบอกว่าบ้านเราไม่ได้มาตรฐาน มันคนละสไตล์ เรียกว่าแล้วแต่เลือกให้เหมาะสมกันมากกว่า อย่างน้อยก็ได้รู้ไว้ไม่เสียหลายนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : GT-GARAGE