QUESTION TIME ความรู้..คู่บันเทิง 2

ขอนอกเรื่องหน่อยละกัน (ต่อมแตกว่ะ) ในครั้งนี้ก็มีเรื่องที่ “แปลกใจ” ถึง “นิสัยการขับรถ” ของ “พี่ไทย” ส่วนใหญ่ผมเจอบ่อยครับ ในตรอกซอกซอยที่มีคนอยู่อาศัยพลุกพล่าน จะต้องเจอ “บุคคลหัวขวด” ขับแม่มซะเร็วในซอย ชนกันไปหลายคนแล้ว โดนด่าไปก็หลายยก เลยรู้สึกว่า “จะรีบไปตาย 5 ที่ไหน” ยังไงขับรถก็เกรงใจคนเดินถนนมั่งเหอะครับ อย่าคิดว่ากูมีสิทธิใช้ถนน จะขับยังไงก็ได้ ส่วนคนเดินเองก็นะ อย่ามัวแต่เล่นโทรศัพท์ เล่นเกม แชท อะไรต่างๆ ให้มากนัก เดินระวังรถด้วยครับ บางทีก็ไม่สนใจอะไรเลย เดินออกไปให้รถชนเองซะงั้น จะไปโทษว่ารถผิดก็ไม่ได้นะคร้าบบบบ เจออีกประเภทบ่อยๆ บีบแตร เปิดไฟสูง เพื่อไล่รถหรือคนที่กีดขวาง แต่ “ไม่ลดความเร็ว” เผลอๆ จะเร่งใส่อีกต่างหาก “โครม” เละกันมาเยอะแล้ว ผมว่านะ หากเจอเคสแบบนี้ ใช้สัญญาณให้ถูกต้อง สำคัญ “ลดความเร็ว” ลงด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าจะหลบได้หรือไม่ ยังไง Play Safe ไว้ก่อนจะดีกว่าไหมครับ จะได้มีความปลอดภัยกันมากขึ้น.

ปอลิง… เรามีเว็บไซต์ xo-autosport.grandprix.co.th อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เชิญเข้าไปทัวร์ได้เลยครับ สาระเพียบๆ บนโลกออนไลน์ ที่เราตั้งใจทำเพื่อผู้อ่านทุกท่านครับ และอย่าลืม www.facebook.com/xoautosport กับข่าวคราวและการสื่อสารแบบรวดเร็วของเรา สนใจถามปัญหาก็ไปโพสต์คำถามไว้หน้า Wall เลยนะครับ หรือจะส่งมาที่ “อีแมว” ที่ผมให้ไว้ก็แล้วแต่ศรัทธาครับ… 

   

Q : 1. สวัสดีครับ จากที่เคยถามเรื่อง A31 ไปครั้งก่อน ตอนนี้ได้รถมาแล้วครับ เป็นหน้า R32 โช้คอัพหน้า Kayaba SR-Special, โช้คอัพหลัง A’PEXi กระบอกฟ้า ปรับหนืดได้, หนวดกุ้งแต่ง, ช่วงล่าง SKYLINE R32 ทั้งแพ,  เครื่องเป็น 1JZ-GE ฝาดำ ติดแก๊ส LPG ระบบดูด ผมมีเรื่องอยากจะรบกวนถามดังนี้…

รู้สึกว่าเครื่องแรงบิดมันน้อยไปครับ ผมเดาเองว่าน่าจะมาจากน้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้น จากถังแก๊สขนาด 72 ลิตร ถ้าเติมแก๊สเต็มถัง รวมๆ ก็น่าจะหนักเกือบร้อยกิโลกรัม ผมมีปัญหาตอนเร่งแซงครับ มันไม่ค่อยพ้น ขึ้นช้ามากเลย เฟืองท้าย 4.1 ครับ  ความเร็วปลายสูงสุดที่เคยลองอยู่ที่ 180 km/h ++ นิดหน่อย มันเลยไปถึงด้านล่าง (เรือนไมล์เป็นของ JZ หน้ามืดครับ) แล้วผมจะทำอย่างไรให้อัตราเร่งดีขึ้น ในใจคิดว่าคงต้องเปลี่ยนเฟืองท้ายเป็น 4.3 แต่ปลายจะลดลงเยอะไหมครับ ปกติผมขับทางไกล ความเร็วเดินทาง 140-150 km/h แบบแช่ยาว เปลี่ยนเฟืองท้ายแล้วรอบจะสูงไปไหม อ้อ เรื่องอัตราเร่ง น้ำมันกับแก๊สไม่ต่างกันมากนัก หรือพี่พอจะมีวิธีขุนเจ้า 1JZ-GE ให้มันจี๊ดจ๊าดกว่านี้ไหม เอาไม่ต้องเยอะแค่ขับสนุกๆ เร่งแซงสบายใจก็พอครับ…

A : ยินดีด้วยครับสำหรับรถคันใหม่ที่ใฝ่ฝัน และขอบคุณมากครับที่ “เล่าอาการมาอย่างละเอียดและตรงประเด็น” เพราะจะได้พิจารณาตอบปัญหาได้ตรงเป้าเร็วขึ้น บางครั้งเจอคำถามมาแบบ “ไม่บอกอะไร Goo เลย” แล้วจะตอบยังไง ผมจึงมีประโยคติดตัวว่า “คำถามสั้นกุด ตอบยาว คำถามที่มีรายละเอียดจะตอบได้สั้น” เอาละครับ สำหรับเครื่อง 1JZ-GE นั้น เรี่ยวแรงระดับ 180 แรงม้า มันไม่น่าจะอืดอาดนัก แต่เมื่อเห็นคำถามแล้ว “ชัดเจน” !!!

ประการแรกที่บั่นทอนกำลังรถคุณลงไปอย่างมาก คือ “ระบบแก๊สแบบดูด” นี่แหละครับ ผมถือว่ามันเป็นระบบโบราณ ซึ่งไม่มีอะไรมาเป็นบรรทัดฐานเลยว่าส่วนผสมมันเป็นอย่างไร ไม่ได้บอกระบบดูด (Suction) มันจะเลวร้ายเสมอไปนะครับ แต่เท่าที่เจอส่วนใหญ่แล้วจะ “ทำให้แค่พอวิ่งได้” เท่านั้น ตัว Ventury หรือ Mixer ก็เป็นแบบกลึงง่ายๆ อากาศไหลก็ไม่ดี ตัว Ventury ดีๆ จะกลึงเป็นเกลียว และมีส่วนคอดที่สวยงามไหลลื่น (ดูด้วยตาก็รู้ครับ งานมันคนละเรื่องจริงๆ) แต่ของกลึงบ้านเราที่เจอ มันไม่ใช่ยังงั้นน่ะสิครับ ผมเคยเจอรูกะติ๊ดนึง เอานิ้วโป้งยัดไปยังติดๆ เมื่อ “รูเล็ก” มันยิ่งไป “ขวางทางอากาศ” เหมือนคุณโดนปิดจมูกข้างหนึ่งนั่นเอง แล้วจะเอาอากาศที่ไหนเข้าไปทำให้เกิดกำลังละครับ แถมการจูนก็ยังเป็นแบบ “กะประมาณ” อีก แล้วจะเอามาตรฐานมาจากไหน มันจึงเหมาะสำหรับคนต้องการ “ราคาถูก” และ “ไม่ต้องการกำลังมาก” ขับทั่วไปใช้แก๊สถูกกว่าก็เอาแล้ว แต่เรามันไม่ใช่น่ะสิ…

หนทางแก้ง่ายๆ แต่อาจจะใช้เงินเยอะหน่อย ก็คือ “การเปลี่ยนระบบแก๊สเป็นแบบหัวฉีด” อันนี้แหละวิ่งดีแน่นอน เพราะไม่มีอะไรไปขวางทางท่อไอดีอีกแล้ว การจูนเดี๋ยวนี้ก็ทำได้ง่ายครับ กล่องสมัยใหม่ฉลาด มี Software ทันสมัยมากขึ้น เสียบกล่องแก๊สพ่วงกับกล่องเดิม มันก็ Learning หรือ “ลอกการบ้าน” ข้อมูลกล่องเดิม แล้วจูนอัตโนมัติไป คนจูนก็มาปรับๆ หน่อยให้เหมาะสมกับสภาพของรถคันนั้น ณ ตอนนี้ แก๊สหัวฉีดราคาไม่แพงแล้วครับ สำหรับ 6 สูบ ก็เริ่มตั้งแต่ 20,000 กว่าบาท ไล่ไปยันตัวแพงที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ของคุณไม่ต้องจ่ายเต็มชุดครับ เพราะถังแก๊ส ท่อแก๊ส มันมีอยู่แล้ว เปลี่ยนหม้อต้ม ใส่หัวฉีดแก๊สเพิ่ม เดินสายไฟกล่องแก๊ส ก็จบแล้ว จะได้กำลังเครื่องแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นครับ โดยไม่ต้องไปโมดิฟายอะไรกับเครื่องยนต์เลย แต่ถ้ายังไม่พอใจ 1JZ-GTE เท่านั้นครับ !!!

สำหรับเฟืองท้าย อัตราทด 4.1 ผมว่าเหมาะสมดีอยู่แล้วครับ เพราะคุณขับทางไกลด้วย ทำระบบแก๊สกับจูนเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์ก็วิ่งดีกว่าเดิมเยอะแล้วครับ ส่วนเฟืองท้าย 4.3 จะเหมาะกับคนชอบอัตราเร่งมันส์ๆ ถ้าใช้งานในเมืองเป็นหลัก หรือใช้งานในลักษณะขึ้นเขาบ่อยๆ 4.3 จะเหมาะมาก แต่วิ่งทางไกลจะกินเชื้อเพลิงมากขึ้น เพราะใช้รอบสูงขึ้นครับ สำหรับตีนปลาย ปกติเครื่องญี่ปุ่นจะ Limited ไว้ที่ 180 km/h อันเป็นกฎหมายของเขา แต่ก็ใช่ว่าจะต้องเป๊ะทุกคันนะครับ บางคัน 170 ล็อกแล้วก็มี บางคันไหลไปเกิน 180 อีกหน่อย ผมว่าถ้าไม่ได้บ้าพลังมาก ก็ไม่ต้องไปปลดล็อกหรอกครับ แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว ส่วนเรือนไมล์ก็มีคลาดเคลื่อนตามธรรมเนียม มีเรื่องของอัตราทดเฟืองท้ายอีก จำได้ว่าเครื่อง 1JZ-GE ในรถบางรุ่นก็ใช้เฟืองท้าย 3.9 พอคุณมาใช้ 4.1 ก็ทำให้เรือนไมล์ “อ่อน” ไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จะให้ชัวร์ จับกับ GPS ดูครับ ก็จะได้ความเร็วจริงเทียบกับเรือนไมล์ของเรา โดยเฉพาะรถดัดแปลงวางข้ามเหล่าข้ามกอนี่ ควรจะต้องเช็ก เพราะส่วนใหญ่ความเร็วจริงกับความเร็วหน้าปัดมักจะคลาดเคลื่อนครับ…

ในเรื่องของ “น้ำหนักถังแก๊ส” ก็ไม่น่าจะหนักมากขนาดนั้นครับ ถ้าเป็น CNG หรือ NGV ละก็ใช่ เพราะถังมันเหล็กหนามากกว่า LPG หลายเท่า เนื่องจากต้องทนแรงดันของ CNG ที่สูงกว่าหลายเท่าเช่นกัน แถมอุปกรณ์ของมันก็ต้องทำให้แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น น้ำหนักรวมเลยเพิ่มเกินร้อย กก. แต่ LPG เท่าที่ผมใช้ ถัง 55 ลิตร เปล่าๆ นะ น้ำหนักประมาณ 25 กก. ยกสองคนสบายๆ ของคุณก็น่าจะราวๆ 35 กก. ส่วนเนื้อแก๊ส LPG 1 ลิตร ประมาณ 0.5 กก. (โดยเฉลี่ย) รวมๆ แล้วก็ประมาณ 80 กก. ก็ไม่น่าจะทำให้อัตราเร่งอืดมากขนาดนั้นครับ ตัวการน่าจะอยู่ที่ระบบแก๊สแบบดูดมากกว่า…

 Q : 2. ช่วงล่างมันกระด้างมาก เวลาวิ่งทางที่ไม่เรียบ “สะท้าน” เลย แต่ความมั่นคงค่อนข้างดี ขับความเร็วสูงๆ รู้สึกมั่นใจ ไม่โคลงเคลง เบรกดี เปลี่ยนเลนฉับพลันดี ไม่ออกอาการอะไร ผมอยากให้มันนุ่มกว่านี้หน่อย แต่ให้หนึบเหมือนเดิม ควรใช้โช้คอัพแบบไหนดีครับ รถผมล้อ 18 นิ้ว นะครับ… 

A : อืมมม คุณจะหาความนุ่มสบาย แถมยังหนึบกับล้อขอบ 18 นิ้ว และรถเก่าอายุกว่า 20 ปี ก็คงจะ “ยากกก” หน่อยละครับ ล้อ 18 นิ้ว ยางก็ต้องซีรีส์ต่ำ (Low Profile Tire) การยุบตัวก็มีน้อย ลมยางก็ต้องสูบแข็ง เพื่อไม่ให้ยางมันแบนจนทำให้แก้มเสียหาย แน่นอนครับ “คุณกระด้าง” ก็จะตามคุณไปตลอดเวลา แถมถนนบ้านเราก็…. (แหม Goo เบื่อจะด่า) แถมยังเป็นโช้คอัพซิ่งอีก หรือคุณจะยอมเอาล้อ 18 นิ้ว ขายไป แล้วเปลี่ยนเป็นล้อขอบ 17 นิ้ว และยางซีรีส์สูงขึ้นอีกหน่อยไหม ??? มันก็จะได้ความนุ่มนวลดีขึ้นพอควรเลย แต่ถ้า “ไม่ยอม” ดังนั้น คุณต้อง “ยอมแลก” เอาความนุ่มนวลน้อยหน่อย แต่การเกาะถนนเยอะหน่อย มันก็จะออกมาประมาณนี้แหละครับ ยังไงเน้นความปลอดภัยไว้ดีกว่าครับ เพราะคุณใช้รถทางไกลบ่อย ต้องเข้าโค้งด้วยความเร็วค่อนข้างสูง บางทีมี “เหตุ” ต้องหักหลบกะทันหัน มันจะได้ “รอด” มั่นใจกว่าช่วงล่างนิ่มๆ ย้วยๆ ที่ความเร็วสูงแกว่งเป็นเรือครับ…

เอาเป็นว่า ผมจะแนะนำให้มัน “เฉลี่ยได้ดีทั้งสองด้าน” ก็แล้วกัน เตรียมควัก “กะตังค์” ไว้เยอะหน่อยนะ ประการแรก “เปลี่ยนบู๊ชยางช่วงล่างทั้งหมด” จัดไปเลยครับ ทีเดียวจบ เพราะบู๊ชยางมันก็เก่าแล้ว ไม่ต้องเสียดายครับ “โละใหม่หมดเลย” การเลือกบู๊ชก็แล้วแต่กะตังค์ที่มีครับ แต่ส่วนตัวผมไม่แนะนำของเทียมเพราะอายุไม่ยืน ไหนๆ เสียตังค์แล้ว ก็ลองดูพวก “ยูรีเทน” เกรดนุ่มๆ หน่อย (ไม่ใช่ “ซูเพอร์รีน” ที่แข็งโป๊กนะครับ) ที่ใส่แล้วคนส่วนใหญ่ชอบ ก็จะมี Super Pro สีน้ำเงิน แต่จะแพงหน่อย หรือลองดูบู๊ชของไทยก็มีเยอะ คุณภาพก็ไม่เลวนัก ทำทีเดียวจะได้อยู่นานๆ เมื่อบู๊ชยางต่างๆ เป็นของใหม่ การซับแรงกระแทกก็จะทำได้ดี จะทำให้เกิดความนุ่มนวล กระชับ แน่น เงียบ คนละเรื่องกับบู๊ชยางเน่าๆ เยอะเลยครับ…

มาดูโช้คอัพด้านหน้า รุ่นนี้ปกติแล้วจะไม่ถึงกับแข็งกระด้างครับ มันเหมือนอัพเกรดให้ใช้งานได้อย่างนุ่มนวล แต่มีความหนึบมากขึ้น พูดถึง “สปริง” ไม่รู้เป็นสปริงตัดเตี้ยมาหรือเปล่า ถ้าโดนตัดก็กระด้าง ไม่แปลกครับ เพราะค่าการยืดหยุ่นมันเสียไปตั้งแต่โดนแก๊สเป่าจนเกิดความร้อนสูง (Burn) แล้วครับ เหล็กที่ยืดหยุ่นกลายเป็น “กรอบ แข็ง” พร้อมจะ “หัก” ได้ทุกเมื่อ (ผมเตือนบ่อยแล้วนะครับพวกตัดสปริงเนี่ย เชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่นะ ชีวิตใครชีวิตมัน) พยายามหาสปริงดีๆ หน่อยแล้วกัน ก็จะลดอาการกระด้างได้มาก ส่วนโช้คอัพด้านหลัง ก็ลองปรับดูครับ แข็งไปก็ปรับลดลงมาหน่อยจนรู้สึกพอดีและไม่ย้วยในความเร็วสูงครับ ประการสุดท้าย “ยาง” มีส่วนมากเลย พยายาม “เลือกยางยี่ห้อและรุ่นที่ดี” พยายามเลือกใช้ “ยางใหม่” ยางเป็นส่วนเดียวที่เกาะกับพื้นถนนครับ ยางดีๆ ก็จะได้ความรู้สึกดีๆ นุ่มนวลขึ้น เกาะถนน และปลอดภัยครับ ยางคุณภาพต่ำ หรือยางเก่า ผมไม่แนะนำให้ใช้ครับ ส่วนตัวผมเป็นคนที่เลือกใช้ยางคุณภาพดี และเปลี่ยนทิ้งทันทีเมื่อเริ่มมีแววเสื่อมสภาพ ไม่เคยเสียดาย เพราะชีวิตและรถเรามีค่ากว่าเยอะครับ เชื่อผมเหอะ…

    

AVEO ดมแก๊ส กินหอย รอดมั้ย

                Q : สวัสดีครับ ชาว XO AUTOSPORT ผมอยากถามว่า CHEVROLET AVEO 1.4 เกียร์ธรรมดา ใส่เทอร์โบอะไรดี เครื่องจะทนไหวหรือเปล่า ถ้าตั้งบูสต์ไว้สัก 10 ปอนด์ หรือถ้าลงเครื่องใหม่ ใช้เครื่องอะไรดี ที่สามารถลงได้โดยที่ไม่ต้องแปลง หรือแปลงน้อยที่สุด ขอบคุณครับ…

A : นั่นไง “น้องเอวี” ตัวน้อยอยากแรง เครื่องมันก็พิกัดแปลกๆ นะ 1.4 ลิตร เสียเปรียบชาวบ้านเขาอยู่อีกหน่อย ก็ค่อนข้างต้องทำใจเรื่อง “กำลังวังชาไม่ค่อยฟิต” อย่างที่ผู้ใช้ตีนติดไฟส่วนใหญ่บ่นๆ กันครับ ทาง CHEVROLET เขาก็เลยต้องออกตัว 1.6 ลิตร มาเพื่อแก้ปัญหานี้ ยังดีว่าของคุณเป็นเกียร์ธรรมดา เลยไม่เสียอัตราเร่งไปมากเหมือนเกียร์ออโต้ อย่างไรก็ตาม ผมเคยเห็นอยู่คันหนึ่ง จับยัด SR20DET ฝาขาว เทอร์โบ ขับหน้า (เครื่องอยู่ใน NISSAN R’NESSA) แต่ผมดูแล้ว “โหดร้ายมากไป” เลยไม่ใคร่แนะนำการเปลี่ยนเครื่องข้ามพันธุ์แบบโหดๆ ในรถบ้านที่ต้องการใช้งานด้วยครับ…

จริงๆ แล้ว สิ่งที่ผมเป็นห่วง มันไม่ใช่การติดตั้งเทอร์โบ เพราะร้านท่อฝีมือดีๆ ในบ้านเราก็สามารถติดตั้งให้คุณได้ทั้งนั้น ด้วยการหาเทอร์โบพวก T04-E หรือเทอร์โบ IMPREZA ตัว WRX ฝาขาว ขนาดมันจะไม่ใหญ่มาก ราคาไม่แพง ทำเฮดเดอร์ใหม่ ทำท่อไอดีและไอเสีย ติดตั้งอินเตอร์ฯ มันไม่ยากครับ แต่ในส่วนที่กังวล น่าจะเป็นกล่อง ECU แบบ Programmable ที่จะรองรับซอฟต์แวร์ของ AVEO โดยเฉพาะเรื่อง “ระบบจุดระเบิด” ที่จะมีข้อแตกต่างจากรถญี่ปุ่น คือ เทคโนโลยียุโรป ก็มักจะใช้ Ignitor หรือ Driver ขยายสัญญาณมาจากกล่อง ECU เดิม เพื่อมาสร้างกระแสไฟที่คอยล์จุดระเบิด อันนี้จะไม่สามารถไปปรับตั้งมันได้ ซึ่งการโมดิฟายต่างๆ จะต้องปรับองศาไฟตามด้วย ไม่เหมือนกับรถญี่ปุ่นทั่วไป ที่ตัว Driver จะอยู่ที่ตัวคอยล์จุดระเบิดเลย มันจะสามารถปรับองศาไฟได้ ก็ต้องหากล่องที่ใช้สำหรับรถสไตล์ยุโรปที่ใช้การจุดระเบิดลักษณะนี้ครับ…

Q : 2. ถ้างั้นใช้กล่องเดิมไม่ได้เหรอครับ ไม่บูสต์มาก 0.5 บาร์ จะได้หรือไม่ เพราะกล่องที่ใส่ AVEO ต้องต่อพ่วง ถ้าจะต้องเปลี่ยนเลยกล่องเลยไม่น่าจะมี ซึ่งตอนนี้ผมใช้แก๊ส จะจูนกล่องแก๊สให้รับกับเทอร์โบได้หรือเปล่า ขอบคุณครับ…

A : ขอชี้แจงครับ ความหมายของผมก็คือ “ใช้กล่องเดิม แล้วหากล่องแต่งมาพ่วงเป็น Piggy Back เอาครับ” ไม่ได้หมายความให้เปลี่ยนเป็น Stand Alone ซึ่งมันวุ่นวายมากๆ กล่องพ่วงที่คุณสนใจถ้าจูนรองรับเทอร์โบได้ก็จัดไปเลยครับ ส่วนกล่องแก๊สที่คุณใช้อยู่นั้น ต้องดูว่ามัน “รองรับเทอร์โบได้หรือไม่” ชุดจ่ายแก๊สก็มีหลายระดับ ถ้าระดับใช้งานปกติ มันก็จ่ายไม่พอ ถ้าจะเล่นกับเทอร์โบเพิ่ม ก็จะต้องเปลี่ยนหัวฉีด หม้อต้ม ไปด้วยครับ เพื่อให้มัน “จ่ายได้พอ” กับบูสต์ที่เพิ่มเข้ามา มีชุดแก๊สที่ใช้กับเครื่องเทอร์โบอยู่หลายเจ้าครับตอนนี้ แต่ยังไงก็ตาม แม้จะบูสต์เพียง 0.5 บาร์ กับรถเครื่องเดิมๆ ที่กำลังอัดค่อนข้างสูงกว่าเครื่องเทอร์โบแท้ๆ ก็ถือว่ามีความผิดเพี้ยนไปจากเดิมเยอะพอควรครับ ยังไงก็ต้องจูนใหม่…

 

ผ้าเบรกใหม่ดัง ตัวการมาจากไหน

Q : 1. สวัสดีครับพี่ๆ ทีมงาน XO AUTOSPORT ผมมีเรื่องรบกวนขอคำแนะนำหน่อยครับ คือ ผมได้เปลี่ยนผ้าเบรกคู่หน้าใหม่ เป็นรุ่น NAP สีชมพู เวลาขับรถติดๆ แบบไหลๆ (เลียเบรก) จะมีเสียงเอี๊ยดๆๆๆ ตามจังหวะน้ำหนักกดของเท้าครับ แต่ถ้ารถวิ่งปกติแล้วเบรก (แบบไม่หยุดรถ) จะไม่มีเสียงครับ ทีนี้ผมเลยไปเจียจานเบรกเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา (เจียแบบธรรมดา) อาการเบรกดีขึ้น คือ เลียเบรกแล้วเงียบเลย แต่พอใช้ไปสัก 3-4 วัน (วิ่งไม่ไกลนัก) อาการเสียงดังกล่าวก็กลับมาอีก ผมเลยไปเจียจานเบรกอีกรอบแบบประชิดล้อเลยครับ วิ่งเงียบแค่วันเดียวก็มีอาการเดิมอีกครับ ผมจะถามว่าอาการนี้ปกติหรือเปล่าครับ หรือที่เขาว่ากันว่าต้องให้เบิร์นหน้าเบรกไปก่อนถึงจะเงียบ…

 A : ขาประจำมาแล้วครับ ก็ดีมีอะไรถามมา ผมจะได้ไม่ตกงาน (555) สำหรับผ้าเบรก ก็อย่างที่ได้กล่าวไปบ่อยๆ ว่า “จะต้องมีการรันอินหน้าผ้าเบรกเสมอครับ กรณีเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่” ต้องมีการปรับสภาพเนื้อวัสดุ ปรับสภาพการแนบกับหน้าจานเบรกเดิม เพื่อให้เกิดการสร้างความฝืดสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เสียงดังเสียดสีเกิดได้หลายอย่างครับ เช่น ผ้าเบรกยังไม่เข้าที่ จานเบรกเดิมเป็นรอยเยอะ ผ้าเบรกกินไม่เต็มหน้า ส่วนผ้าเบรกที่คุณใช้ อันนี้จะเหมาะสมสำหรับ “ซิ่ง” หยุดได้ดีในอุณหภูมิสูง ส่วนอุณหภูมิต่ำก็ไม่เลว เพราะออกแบบมาให้ใช้งานแบบทั่วไปได้ด้วย โดยปกติผ้าเบรกรุ่นนี้ก็ไม่มีเสียงดังนะครับ ผมว่าน่าจะเป็นจากอาการ “ซิง” อีกประการ คุณบอกมาว่า “เจียจานแล้วหาย” ดังนั้น ตัวการอาจจะไม่ได้อยู่ที่ผ้าเบรกเพียงอย่างเดียว ไว้รอดูข้อต่อไป…

ส่วนการเจียจาน คือ การปรับให้หน้าสัมผัสเรียบรับกับผ้าเบรกใหม่ที่เรียบเหมือนกัน มันจะได้กินไปพร้อมๆ กัน เสียงก็เลยเงียบลง แต่มันดันดังอีก เดี๋ยวมาดูในข้อต่อไป (ผมมีคำตอบในใจอยู่แล้ว) แต่มีข้อควรคิดครับ การเจียจานเบรกจะยิ่งทำให้จานเบรก “บางลง” ยิ่งบาง เนื้อโลหะบนจานก็ยิ่งสึกหรอ บางครั้งยิ่งทำให้เกิดเสียงดังจากการเสียดสี ทำให้เป็นรอยง่าย ถ้าจานเบรกเริ่มบาง (สังเกตเองได้ครับ) ควรจะ “เปลี่ยน” อย่าฝืนใช้ครับ ระยะเบรกจะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเนื้อวัสดุมันหายไป การ “สร้างแรงเสียดทานและความฝืด” ก็น้อยลงตามไปด้วยครับ…   

Q : 2. ตัวคาลิเปอร์เบรก ผมใช้ของ MAZDA RX-7 4 pot ครับ มันจะเป็นไปได้ไหมครับ ที่เวลาเหยียบเบรก ลูกสูบมันดันออกมาไม่เท่ากัน จึงทำให้ผ้าเบรกเอียงในเวลาเบรกเบาๆ…

A : คำตอบก็น่าจะมาจากตรงนี้แหละครับ เป็นไปได้สูงมาก และเป็นปัญหาที่บางคนก็แก้ไม่ขาด เปลี่ยนผ้าเบรกกี่ชุดๆ ก็ดังอีก คาลิเปอร์ที่เราไปซื้อมา มันคือ “ของเก่า” ครับ แน่นอนว่า กลไกภายในต่างๆ เช่น ลูกสูบเบรก ซีลต่างๆ มันก็มีการเสื่อมสภาพ ลูกสูบเป็นตามด สนิม ติดขัด ซีลต่างๆ แข็ง เปื่อย ขาด ทำให้ลูกสูบเบรกเคลื่อนที่แบบติดๆ ขัดๆ บางทีก็ไม่เคลื่อน (ตาย) แม่งซะงั้น โอ๊ย ปัญหาเยอะ ถ้างั้นแก้ปัญหาซะ โดยการ “รื้อออกมาเปลี่ยนชุดซ่อม ล้างทำความสะอาด หล่อลื่นใหม่” ก็จะช่วยให้ลูกสูบเบรกเคลื่อนที่ได้คล่องตัว เบรกอยู่ดีและนุ่มนวลขึ้น เพราะผ้าเบรกจับเต็มหน้าจานจริงๆ นั่นเอง…  

“แนะนำว่า การซื้อคาลิเปอร์เบรกเก่า (อันเป็นที่นิยมมาก) ก่อนใส่ควรจะรื้อมาตรวจสอบ ซ่อม ล้าง ก่อนนะครับ จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง”

Q : 3. แล้วพอมีวิธีแก้ไขไหมครับ หรือว่าต้องเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ (เสียดายครับวิ่งมายังไม่ถึง 1,000 กม. เลย)

 A : หลังจากที่ได้รับคำถาม และผมได้ตอบเมลผู้อ่านท่านนี้ไป ซึ่งเขาได้ไปแก้ไขตามวิธีดังกล่าว ด้วยการรื้อคาลิเปอร์เบรกมาซ่อมบำรุงและทำความสะอาดใหม่ทั้งหมดดังกล่าว ผู้อ่านท่านนี้ได้เมลกลับมาบอกว่า อาการเสียงดังหายไปแล้วครับ ขอบคุณครับที่บอกกล่าว จะได้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องครับ…

ช่วยด้วย E30 แปลงแร็ค เป๋โคตรๆ

 Q : 1. สวัสดีครับ ผมใช้ BMW E30 อยู่ครับ ได้เปลี่ยนเครื่องเป็น SR20DE เกียร์ออโต้ เพิ่งทำได้ไม่กี่เดือนนี้ ผมยังรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้วาง M42 อย่างที่คุณพี ได้ตอบคำถามไปเมื่อเล่มก่อน เพราะใจจริงผมก็อยากได้เครื่อง BMW อยู่ แต่ไม่เป็นไรครับ เครื่อง SR20DE ก็ใช้งานได้ดี แต่ผมมีปัญหาที่กังวลมาก คือ ช่างได้แปลงแร็คพวงมาลัย โดยการเอาของ COROLLA AE101 ใส่ อาจจะเห็นว่ามันหาง่ายและถูกกว่าของ E30 ซึ่งหลังจากแปลงแล้ว รถมีอาการแฉลบ เป๋ ตอนวิ่งทางไม่เรียบ ลงหลุม หรือคอสะพาน ผมก็ไม่ได้ขับเร็วมากด้วย ซึ่งปกติก่อนหน้านี้ไม่เป็นอาการนี้เลย ช่วงล่างผมก็ยังมีสภาพดี และไม่น่าเกี่ยวกับการวางเครื่อง ตั้งศูนย์ล้อจนไม่รู้กี่รอบก็ยังไม่หาย ช่างก็บอกว่าระยะต่างๆ ก็ตรง ไม่น่าเป๋ (เล่นเอาช่างไปไม่เป็นเหมือนกัน) ผมเลยไม่อยากทำต่อแล้ว จึงอยากถามว่า อาการเป๋นี้เกิดจากการแปลงแร็คใช่หรือไม่ และต้องแก้ไขอย่างไรบ้างครับ ยอมรับว่ากังวลจนแทบไม่อยากขับเลย…

A : งานไม่ใหญ่ แต่ส่งผลร้ายแรงครับ แต่ไม่ต้องซีเรียส เพราะ “สันนิษฐานได้ถูกต้อง” สมัยที่คุณพ่อผมยังทำงานเกี่ยวกับรถยนต์ ท่านก็บอกว่า “การแปลงแร็คพวงมาลัย ถ้าทำไม่เป็น จะเสียรถไปเลยคันนึง” จนผมได้ลองสัมผัสรถอะไรก็ได้ ที่แปลงแร็คแบบไม่เข้าท่า รู้สึกว่ารถคันนั้นมัน “อันตราย” และ “ขับไม่ดี” เอาเสียเลย สาเหตุของคุณพี่ก็มาจากแร็คพวงมาลัยที่แปลงมานี่แหละครับ เพราะอย่างอื่นมันไม่เกี่ยวข้องอันใด การแปลงแร็คดูเหมือนไม่ยากนะ ช่างก็บอกเองว่าตอนวัดก็ตรงดี แต่… ทำไมมันเป๋ตอนรถมีอาการ “ยุบตัว” ละครับ…

โดยปกติแล้ว “ความยาวของคันชักแร็คพวงมาลัย จะต้องเท่ากับความยาวของปีกนก” เมื่อมีการเคลื่อนที่ขึ้น-ลงตามการวิ่งบนถนน ทั้งสองอย่างนี้ จะต้องเคลื่อนตัวไปใน “แนวขนานกัน” (Parallel) และ “มุมการเคลื่อนเท่ากัน” เสมอครับ ก็จะไม่เกิดการ “ดึงเปลี่ยนมุมเอง” ทำให้รถวิ่งได้อย่างเสถียร แต่เมื่อการแปลงแร็คใหม่แล้ว “ความยาวของคันชักแร็คพวงมาลัย ไม่เท่ากับความยาวของปีกนก” ก็กลับเป็นทิศทางตรงข้าม เมื่อมีการเคลื่อนที่ขึ้น-ลงของปีกนก ทั้งสองอย่างนี้จะ “ไม่ขนานกัน” และ “มุมการเคลื่อนไม่เท่ากัน” ก็จะเกิดการ “ดึง” โดยเฉพาะตอนจังหวะรถยุบตัว ทำให้รถเกิดการ “ฉก เป๋ แฉลบ” ไอ้ตอนวิ่งเรียบๆ ไม่เป็น เพราะปีกนกไม่ได้เคลื่อนที่ แต่จะมาเป็นตอนที่กล่าวมา จะเรียกว่าเกิดอาการ “Bump steer” หมายถึง “รถจะเลี้ยวเองเมื่อช่วงล่างเกิดการยุบตัว” ในเคสของคุณมันก็มาจากสาเหตุนี้แหละครับ…

ผมไม่ได้บอกว่าการแปลงแร็คพวงมาลัยจะ “เลวร้าย” นะครับ ถ้าแปลงอย่างถูกวิธี เลือกแร็คที่มีระยะดังกล่าวเท่ากัน ติดตั้งในมุมที่ถูกต้อง มันก็ใช้ได้ครับ แต่ก็คงไม่ดีเหมือนกับของแท้ๆ จะมีการแปลงกันมากในเหล่า Retro Car ที่ระบบพวงมาลัยยังเป็นแบบ Ball Nut หรือ “กระปุก” ที่ตอบสนองไม่ดีเหมือนแร็ค ยิ่งเก่ายิ่งหาของยาก จะแปลงก็ต้องดูตามวิธีนี้ หรือบางคนก็ “เปลี่ยนยกแพหน้า” เป็นของเหล่า NISSAN ยอดฮิตกันไปในรถเก่าที่หาอะไหล่ยาก ถ้ายึดแพได้ดีก็จบ (ตอนนี้ก็อยู่ที่ฝีมือช่างแล้วละ) สำหรับกรณีของคุณ แนะนำว่า “หาแร็คพวงมาลัยตรงรุ่นใส่” แพงหน่อยก็ช่างมันเถอะครับ หรือเอาของ E36 มาใส่ได้ หาง่ายกว่า ต้องทำกลับเพื่อให้หาย ไม่งั้นรถก็เป๋ไม่หายสักที กลายเป็นอันตรายอย่างมากครับ…

Q : 2. ตอนแรกช่างจะแปลงเฟืองท้ายของ NISSAN ให้ด้วย ให้เหตุผลว่ามันจะได้แมตช์กับเครื่อง SR20DE แต่ผมเบรกไว้ก่อน ไม่งั้นคงได้เรื่องอีกแน่ ขนาดแร็คยังทำให้รถผมเป๋เลย เลยอยากถามว่า การเปลี่ยนเฟืองท้ายข้ามตระกูล จะทำให้รถศูนย์ไม่ตรงได้หรือไม่…

A : ก็โชคดีครับที่เบรกไว้ก่อน ดูทรงแล้วถ้าทำออกจะวุ่นไม่น้อย  จริงๆ แล้วเฟืองท้าย E30 เดิมๆ มันก็อยู่ราวๆ 3.9 ถ้าผมจำไม่ผิดนะ แต่มันพอสำหรับ SR20DE แน่นอนครับ อีกอย่างน้ำหนักรถของ E30 ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก ลากไหวกับเฟืองท้ายเดิมสบายๆ สำหรับการเปลี่ยนเฟืองท้ายแบ่งเป็นสองแบบครับ คือ “เปลี่ยนเฉพาะลูกเฟืองท้ายเฉยๆ” ก็ต้องสร้างจุดยึดที่ตัวถังใหม่ และจะต้อง “สร้างเพลาข้างใหม่ด้วย” ให้มันสะเวิ้บกันได้สองยี่ห้อ ไม่แนะนำให้ “ตัดต่อเพลาข้าง” ครับ อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเสียศูนย์ครับ เพราะเรา “ไม่ได้ไปยุ่งกับช่วงล้อ” แต่ถ้าทำไม่ดี จะเกิดอาการสั่น สะท้าน เสียงดัง ส่วนอีกแบบ “เปลี่ยนยกแพ” ก็จะต้องตั้งจุดยึดใหม่หมด อันนี้มีข้อเสี่ยงครับ ส่วนตัวผมไม่แนะนำเพราะสำหรับคุณแล้วไม่จำเป็นเลย…

 

ว่าด้วยเรื่อง ไส้ตรง ไส้ย้อน

 Q : 1. พี่ครับ ผมอยากรู้ว่า หม้อพักไส้ตรงกับไส้ย้อน เคยอ่านพี่บอกว่าไส้ตรงได้ปลาย ไส้ย้อนได้ต้น ทำไมถึงเป็นแบบนั้นครับ…

 A : เอ้าๆ เดี๋ยวเหลาให้ฟัง คำว่า “ไส้ตรง” หมายถึง “ไส้หม้อพักแบบตรง” ไม่มีการขดย้อนอะไรทั้งสิ้น เหล่ารถซิ่งชอบเพราะมันระบายไอเสียได้ดีและรวดเร็วในช่วงรอบสูง เนื่องจากไม่มีอะไรขวางเลย เสียงดังเมามันส์ แต่ตีนต้นกลับไม่ค่อยดีนัก เนื่องจาก “อากาศ (ก็คือ ไอเสีย มันเป็นมวลอากาศเหมือนกัน แต่เป็นอากาศเสีย) มันไหลช้าเกินไป” ในรอบต่ำ ไอเสียจะน้อย และมีความเร็วต่ำ ยิ่งมาเจอท่อตรงๆ ใหญ่ๆ จะยิ่งไหลช้าไปกันใหญ่ (ก็ยกตัวอย่างเหมือนสายยางน้ำที่เคยบอกไปบ่อยๆ นั่นเอง) ไอเสียไหลช้า การดูดไอดีก็จะทำได้ช้า (มันเกิดการเหนี่ยวนำกันไงครับ) แต่พอรอบสูง ไอเสียมีปริมาณมาก และมีความเร็วสูง จึงต้องระบายได้อย่างรวดเร็ว หม้อพักไส้ตรงจึงเหมาะสำหรับวิ่งรอบสูงไงครับ…

สำหรับ “ไส้ย้อน” หมายถึง “ไส้หม้อพักแบบขดย้อน” เป็นของ OEM สำหรับรถทั่วไป ที่ต้องการเสียงเงียบ และวิ่งใช้งานปกติไม่ได้ห้อแรดอะไรกันนัก หรือบางอันทำเป็นไส้ตรง แต่ “บีบขนาด” ตรงกลางเล็กลง หรือแยกเป็นท่อเล็กสองท่อ ก่อนมาออกท่อใหญ่อีกที หรือ “ไส้เยื้อง” ไปมาก็มี (มันมีหลายแบบครับ) คุณสมบัติของไส้พวกนี้ คือ “ไม่ทำให้ท่อโล่งเกินไป” ในรอบต่ำ ไอเสียมีปริมาณน้อย ไหลช้า เมื่อมาเจอท่อเล็ก รวมไปถึงการย้อนไส้ให้มีความยาวเพิ่มขึ้น ทำให้ “เกิดการเร่งตัวของไอเสีย” ให้ไหลออกเร็วขึ้น (เหมือนกับเราบีบสายยางให้น้ำพุ่งแรงขึ้น) ดังนั้น การตอบสนองในรอบต่ำจะดีขึ้นนั่นเอง เหมาะสำหรับรถใช้งานทั่วไป เสียงท่อไม่ดัง เหมาะมากๆ สำหรับรถเกียร์ออโต้ที่ต้องการแรงบิดรอบต่ำๆ เพื่อดึงให้รถออกตัวไปได้ครับ…

 Q : 2. ผมเห็นพวกหม้อพักรถแบบไฮโซ พวกนี้เขาบอกว่ามันปรับแต่งเสียงได้ เขาทำยังไงครับ…

A : ปัจจุบันก็มีหม้อพักราคาแพงหลายยี่ห้อ ไปยันสำหรับรถระดับ Super Car ที่ทำเป็นแบบ “เปลี่ยนการเดินไอเสีย เพื่อเปลี่ยนเสียงดังหรือค่อยได้” เช่น ในรอบต่ำ ขับใช้งานปกติ ต้องการเสียงเงียบ (หนีเมียเที่ยว) ก็จะมี “วาล์ว” เปลี่ยนทางเดินไอเสียไปท่อเล็กและไส้ย้อน หรือเป็น “ลิ้น” บีบให้ท่อเล็กเพื่อเก็บเสียง และรีดแรงในรอบต่ำ แต่พอจะ “แรด” ก็เปลี่ยนมาใช้ท่อใหญ่ ปรับเป็นไส้ตรง ลิ้นเปิดเต็มที่ (แล้วแต่ระบบของแต่ละยี่ห้อ) ก็จะได้อัตราเร่งแรงสุด และเสียงสนานขี้หู ปรับได้มันก็ดีไปอีกแบบครับ จริงๆ แล้วรถสปอร์ตญี่ปุ่นก็มีนะครับ จำได้ก็ SKYLINE GT-R R34 ก็จะมีการปรับวาล์วหม้อพักไอเสียให้เป็นลักษณะนี้แบบอัตโนมัติ ส่วนหม้อพักราคาแพงๆ ก็จะมีสวิตช์ปรับโหมดของท่อได้อย่างง่ายดาย มีเงินซะอย่าง สบายไป…

ช่วงล่างอะลูมิเนียม ผลิตมาเพื่ออะไร

Q : 1. สวัสดีครับ ผมไปอ่านเจอคอลัมน์รถใหม่ๆ พวกรถแพงๆ จะบอกว่าใช้ช่วงล่างอะลูมิเนียม ผมก็สงสัยว่า แล้วความแข็งแรงมันจะสู้เหล็กได้เหรอครับ ทำไมถึงใช้อะลูมิเนียม จะว่าลดต้นทุนก็ไม่น่าใช่ (เพราะอยู่ในรถแพง) พี่ช่วยตอบหน่อยครับ..

A : เหตุผลที่ใช้อะลูมิเนียมผลิตช่วงล่างนั้น ประการหลักเลยครับ คือ “ต้องการลดน้ำหนัก” มันจะมีผลในด้านน้ำหนักรวมของตัวรถ เมื่อรถเบาลง การตอบสนองในทุกด้านก็จะดียิ่งขึ้น ทั้ง เร่ง เบรก เลี้ยว และประหยัดเชื้อเพลิง อีกข้อคือ “ลดน้ำหนักใต้สปริง” หรือ Unsprung Weight ลง เพื่อให้ “ส่วนประกอบช่วงล่างนั้นเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น” ทำให้รถมี Handling ที่ดี และ “ได้ความนุ่มนวลมากขึ้น” เช่นเดียวกัน เมื่อชิ้นส่วนเบา แรงเฉื่อยและแรงเหวี่ยงก็ต่ำ ตรงกันข้าม รถสมัยก่อน โดยเฉพาะรถขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ขึ้นไป จะใช้เหล็กหนาที่แข็งแรง แต่ก็เสียที่มีน้ำหนักมาก ทำให้การเคลื่อนที่ของช่วงล่างนั้นยาก การตอบสนองช้า “ของหนักทำให้เคลื่อนที่ก็ยาก ทำให้หยุดก็ยาก” แถมยังมีอาการสะเทือนค่อนข้างมาก เพราะแรงเหวี่ยงมันเยอะในขณะที่มันเคลื่อนที่ แต่ตอนนั้นเทคโนโลยียังได้แค่นั้น ก็ต้องยอมใช้ไป…

พอมาถึงรถสมัยใหม่ เมื่อมีเทคโนโลยีด้านโลหะวิทยาที่พัฒนาขึ้นมาก ทีมวิศวกรจึงหาวิธี “พยายามทำให้ชิ้นส่วนช่วงล่างมีน้ำหนักเบาลงให้ได้มากที่สุด” สำหรับรถขนาดเล็ก ราคาไม่แพง ปีกนกก็จะใช้การประกบชิ้นเหล็กเจาะรู  ความหนาไม่มาก นำมาเชื่อมประกบกันแล้วขึ้นรูป ทำให้ด้านในกลวงเพื่อลดน้ำหนัก แบบนี้จะได้เรื่องราคาไม่แพง แต่เสียเรื่องความแข็งแรง ก็ต้องเข้าใจตามราคารถ ส่วนรถราคาแพง พวกนี้ก็ว่ากันเรื่องวัสดุได้เต็มที่ อะลูมิเนียมเกรดสูง ไร้สนิม แข็งแรง เหนียว ทน เบา จึงเป็นตัวเลือกที่เอามาใช้แก้จุดอ่อนตรงนี้ เผลอๆ จะมี “คาร์บอนไฟเบอร์” ด้วย สำหรับรถโคตรมหาแพงจริงๆ ครับ นอกจากปีกนกแล้ว ก็ยังมีลดน้ำหนักส่วนเคลื่อนไหวอื่นๆ ทั้งหมด เช่น ดุมล้อ, แขนลิ้งค์ต่างๆ รวมไปถึงล้อและยางด้วยครับ…

Q : 2. แล้วพวกปีกนกของซิ่งที่เป็นอะลูมิเนียม (เห็นพวก HONDA ชอบใส่) พวกนี้ทำเอาสวยหรือดียังไงครับ แล้วความทนมันไหวมั้ย ผมกลัวว่าเวลาขับถนนและตกหลุมแรงๆ จะหักและอันตรายหรือเปล่า…

A : สำหรับปีกนกอะลูมิเนียมของซิ่ง ของโมฯ ต่างๆ นั้น จุดประสงค์หลักๆ แน่ๆ คือ “สวยงาม” ล่อตาล่อใจล่อกะตังค์ในกระเป๋าท่านให้เปิดเปิง แต่ประโยชน์เรื่องน้ำหนักเบาก็ดังกล่าวไปในข้อที่แล้ว รถแข่งต้องการลดน้ำหนักส่วนเกิน และต้องการให้ช่วงล่างทำงานไว ตอบสนองดี ก็ประมาณนี้แหละครับ อีกอย่างที่ต้องเข้าใจ คือ ของพวกนี้ทำมาให้ใช้กับ “สนาม” เป็นหลัก ซึ่งมีความเรียบ  ไม่มีหลุมบ่อควายๆ แบบถนนบ้านเรา ก็ต้อง “ระวัง” เป็นพิเศษกันหน่อย ผมเชื่อว่าคนที่แต่งรถและใช้ของพวกนี้ ต่างก็ต้องระวังตัวกันมากอยู่แล้วในเวลาขับถนนทั่วไป จริงๆ ความแข็งแรงของปีกนกอะลูมิเนียมของแต่ง “เกรดดี” ก็ถือว่าเยี่ยมยอด ผ่านการพิสูจน์มาจากอุบัติเหตุร้ายแรงของจริง รถคันเกิดเหตุที่ใส่ปีกนกแบบนี้ (เน้นว่า “ของเกรดเยี่ยม” นะครับ) เรียกว่าชนจนสภาพรถแทบไม่เหลือ (โชคดีคนขับรอด) แต่ปีกนกนี้จะ “พับ” ไม่ “ขาด” ดูโลหะมัน “ยืดตัว” แสดงว่ามันเหนียวมากๆ นั่นคือ “ของแท้” แต่ “ของเทียม” ก็คงไม่ได้ขนาดนั้น เอาเป็นว่า ใครใส่ปีกนกซิ่งอะลูมิเนียมของเทียม “ขับระวังๆ กันหน่อยนะครับ” อย่าเผลอกระแทกแรงมากละกัน ประเดี๋ยวจะเกิดเหตุไม่คาดคิด ผมเตือนได้แค่นี้ครับ…

Q : 3. ในอนาคต จะมีช่วงล่างที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์กับรถปกติไหมครับ เคยเห็นแต่พวก F1 ใช้… 

 A : ถ้าตอนนี้ก็มีใช้กันแล้วในรถระดับ Hi-End แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน ที่เห็นมักจะเป็นพวกค้ำต่างๆ จากโรงงาน ที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เพื่อความแข็งแรงและน้ำหนักเบา แต่ยังไงพวกส่วนประกอบหลักที่ต้องรับแรงมากๆ เช่น ปีกนก หรือโครงยึดแพ (Cross member) ก็ยังต้องเป็น “ตระกูลโลหะ” อยู่เหมือนเดิม ถ้าใช้คาร์บอนไฟเบอร์ก็คงจะแพงหูดับ และไม่เหมาะกับรถวิ่งถนนทั่วไป แต่รถระดับทั่วไปคงได้แต่ฝัน เพราะติดในด้านราคานี้แหละ…

Q  : 4. ผมอ่านหนังสือต่างประเทศ บอกว่าช่วงล่างเป็นแบบ I.R.S นี่มันระบบพิเศษอะไรครับ ไม่เคยรู้มาก่อน…

 A : คำว่า I.R.S. มันจะมาจากคำว่า Independent rear suspension” ที่แปลว่า “ระบบช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระ” นั่นเองครับ เพียงแต่จะเขียนกันย่อๆ ให้ไม่เปลืองกระดาษ…

Q : 5. ส่วนตัวผมชอบ FORD MUSTANG 2012 มาก โดยเฉพาะตัว BOSS 302 ที่ผลิตมาให้วิ่งเซอร์กิตได้ด้วย และมี Comment ว่า Handling ดี แต่สงสัยว่ามันใช้ช่วงล่างแบบไหน โดยเฉพาะด้านหลัง ที่บอกว่าเป็น Live Axle หรือ Solid Suspension (บางเว็บก็เรียกไม่เหมือนกัน) ผมดูรูปแล้วมันก็เป็นคานแข็ง หรือผมดูผิดไป เพราะคิดว่ารถสปอร์ตระดับนี้ไม่น่าใช้คานแข็งนะครับ สรุปแล้วเป็นแบบไหนครับ…

A : จริงๆ แล้วมันก็แปลว่า “คานแข็ง” นั่นแหละครับ ยืนยันอีกทีว่า MUSTANG รุ่น 2012 นี้ก็ยังใช้อยู่ แต่ตัวปี 2014 จะเปลี่ยนใช้ช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ แล้ว ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผมก็ลองดูช่วงล่างตัว BOSS 302 (ไปมุดดูของจริงตอนไป Sema Show 2010) และดูรูปประกอบด้วยหลายทาง ก็พบว่ามันมีรายละเอียดที่ดีอยู่เหมือนกัน เช่น “ใช้ลิ้งค์อะลูมิเนียม” ซะด้วยนะ ตัวฝาปิดเฟืองท้ายก็อะลูมิเนียมด้วยเช่นกัน แสดงว่าแม้จะเป็นคานแข็งดูธรรมดาๆ แต่ก็ “ตั้งใจทำ” ก็ต้องทำความเข้าใจว่า “ช่วงล่างคานแข็ง ก็ไม่ได้เกาะถนนแย่กว่าช่วงล่างอิสระเสมอไป” อยู่ที่การ “เซ็ต” ให้ดีก็ทำได้ครับ ยังจำได้ไหม รถ BMW Space frame ตัวแชมป์ในอดีต ที่ทำสถิติเวลาเร็วสุดในสนามพีระฯ ไว้นานกว่า 20 ปี จะเชื่อกันไหมว่า “คันนั้นใช้ช่วงล่างหลังคานแข็งจาก HILUX” !!! ซึ่งมันก็มีองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่รูปแบบช่วงล่างจะบอกว่ามันจะเกาะมากหรือน้อยกว่ากันไป เคยเจอช่วงล่างอิสระเซ็ตไม่เป็น เกาะถนนไม่เอาอ่าว แถมกระเด้งกระดอนก็มีเยอะไปครับ เพียงแต่ข้อเสียเปรียบของคานแข็ง จะอยู่ที่ตอน “วิ่งถนนไม่เรียบ” ล้อทั้งสองข้างจะทำงานไม่เป็นอิสระต่อกัน ล้อข้างหนึ่งขยับ อีกข้างก็จะขยับตาม มันจะดึงไปดึงมาน่ะครับ ไม่เหมือนช่วงล่างอิสระ ที่ล้อสองข้างทำงานโดยอิสระ จะไม่มีผลกระทบกัน เลยเกาะถนนดีกว่าในทางไม่เรียบครับ…

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี