Quick Time Hot Hatch – Stock Body CIVIC FK 11 sec by T-SPEED (TSP)

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

Quick Time Hot Hatch

เปิดกบาล Stock Body CIVIC FK 11 sec

เร็วเร้าสุดในไทย by T-SPEED (TSP)

นับว่าในปัจจุบันรถยนต์ที่ผลิตออกมาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้เกิดสมรรถนะที่สูงขึ้นกว่าสมัยก่อนแบบคนละโลก เครื่องยนต์เล็กลง (Down Sizing Engine) แต่กลับมีความทรงพลังและประหยัดเชื้อเพลิงโดยการพึ่งเทอร์โบแน่นอนว่า กระแสนี้ตอนแรกคนไทยก็ต่อต้านโดยเฉพาะ HONDA CIVIC ทั้ง FC และ FK รุ่นขายบ้านเรา ที่ตัดสินใจเอาเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร + เทอร์โบ มาใช้ ท่ามกลางกระแส Social ที่ว่ามันจะแรงเหรอวะเพราะเครื่องเล็กนิดเดียว แถมแบกตัวรถขนาดใหญ่ไม่พอ เสือกเป็นเกียร์ CVT อีก !!! จะโมดิฟายได้ไหม แล้วจะรอดหรือเปล่าแน่นอนครับ ยังไม่ได้ลอง ก็พูดก็คิดกันไป แต่เมื่อออกมาจริงๆ แล้วผิดคาด ตอนนี้กระแสของ CIVIC Turbo โดยเฉพาะ FK Hatchback นั้น มาแรงมากๆ และนี่เป็นผลงานจาก T-SPEED หรือตุ้มธีรพล สุศิลาพร ที่จับกระแสอะไรก็ดังไปหมด จัดการเพาะกล้ามใหม่ ให้ทำเวลาได้เร็วสุดถึง “11.6 วินาทีบนระยะ 402 เมตร ซึ่งเร็วสุดในไทยแล้วตอนนี้ ลองมาดูกันว่าเขาใส่อะไรลงไปบ้าง และเซตยังไงรวมถึงขับยังไงให้เร็ว

New Gen พื้นฐานดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

โดยพื้นฐานแล้ว CIVIC FK นั้น ถือว่ามาดีตั้งแต่โรงงานเลยทีเดียวเชียว เครื่องยนต์ L15B7 ที่แม้จะมีความจุเพียง 1.5 ลิตร แต่ให้สมรรถนะที่จัดจ้านไม่เบา ภายในทันสมัย หรูหราแบบสปอร์ต (แม้จะแอบขัดใจกับเรือนไมล์ดิจิทัลก็ตามทีเถอะ) ระบบช่วงล่างที่พัฒนาไปอีกระดับ โดยเฉพาะด้านหลังที่จะไปแนวยุโรปปีกนกล่างจะค่อนข้างยาวมาก จะคล้ายๆ กับ SCIROCCO ที่ทำให้ Roll Center อยู่ต่ำ รถก็จะเข้าโค้งที่ความเร็วสูงได้ดี โดยมีอาการโคลงตัวน้อย ไม่จำเป็นต้องใส่สปริงแข็งมากๆ เพื่อต้านเอียง ทำให้รถมีการเกาะถนนดี และนุ่มนวล ซึ่งสมรรถนะโดยรวมคุ้มราคาอาจจะรู้สึกว่าแพงแต่ถ้าดูสิ่งที่ให้มาก็นับว่าน่าเล่นไม่น้อย โมดิฟายเพิ่มไม่มากก็ขับมันส์สำคัญ คือยังใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นสุข อันนี้สิน่าคิด ว่ามันทำได้ยังไง

จากเดิม รถคันนี้เป็นรถที่เอาไว้ใช้งาน ขับไปเรียน แต่ที่ดูหลักๆ น่าจะเอาไว้ซิ่งหญิงของโจโจ้ซังหรือ ชาย สวัสดี นักแข่ง Drag สาย H ที่คลุกคลีกับ T-SPEED มานาน (โดยที่ยังไม่โดนไล่ออกจากอู่) ตั้งแต่เป็นลูกค้า จนมาเป็นทีมงาน เป็นปกติที่จะเสี้ยนความแรงก็เลยปรึกษาตุ้มว่าจะทำยังไงให้มันแรง ตอนแรกก็เริ่มจากสเต็ปง่ายๆ เช่นกล่อง กรองก่อน ไม่อยากผลีผลามเพราะถ้าเดี้ยงไป หมายถึงงานมา  เรียกว่าคันนี้เป็นรถครูที่ค่อยๆ ให้ศึกษารายละเอียดการโมดิฟายต่างๆ จนมาถึงสเต็ปเทพในปัจจุบัน

3 Stage ความแรง 

สำหรับการโมดิฟาย CIVIC FC & FK 1.5 Turbo นั้น ทาง T-SPEED ก็จัดสนองนี้ดให้กับลูกค้าสายซิ่งแบบไม่ต้องคิดมากและยืนยันว่า การโมดิฟายทุก Stage นั้นมีการรับประกันถึงความทนทาน ไม่ต้องกลัวพัง และส่งเวลาควอเตอร์ไมล์ได้ ที่สำคัญยังสามารถขับใช้งานได้ปกติอันนี้เน้นเลย เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีรถเพียงคันเดียว หรือจะกี่คันก็แล้วแต่ ลูกค้าจะต้อง Enjoy กับรถที่ทำไปแล้วได้ตลอดเวลา จึงไม่สามารถทำทิ้งๆ ขว้างๆ ได้ สำหรับการโมดิฟาย T-SPEED “จัดชุดให้เลือกทั้งหมด 3 Stage ดังนี้

ปั๊มกลไกในเครื่องเบนซิน ???

ไอ้ที่เขาว่าดีนี่มันดีตรงไหนและมันดียังไงลองมาดูพื้นฐานสแตนดาร์ดก่อน สิ่งที่โดดเด่นในเครื่อง L15B7 ก็คือปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นการ Remix กันระหว่างยุคโบราณกับยุคใหม่นั่นก็คือ การใช้ปั๊มเชื้อเพลิงแบบกลไกเหมือนกับเครื่องยนต์ดีเซล เป็นการปั่นน้ำมันเข้ารางหัวฉีด ซึ่งจะมีแรงดันที่เสถียร เพราะปั๊มมันหมุนตามรอบเครื่องซึ่งมันก็จะสามารถคุมแรงดันที่เหมาะสมเอาไว้ได้ ลดโอกาสเสี่ยงแรงตกเหมือนปั๊มติ๊กไฟฟ้า ที่พอร้อนๆ หรือเกิดข้อผิดพลาด แรงดันจะตก ทำให้เครื่องแรงหาย หรือพังได้ ถ้ารู้ไม่ทัน ส่วนปั๊มติ๊ก ก็จะทำหน้าที่เพียงส่งแรงดันเข้าปั๊มกลไกหน้ารถเท่านั้น

สำหรับในด้านการจูนส่วนของการจ่ายน้ำมัน ด้วยแรงดันที่เสถียร ไม่แกว่งไปมา ทำให้จูนเนอร์สามารถกำหนดค่าที่ดีที่สุดได้ง่าย ก็จะได้จุดที่ให้กำลังสูงสุด โดยที่ลดความเสี่ยงเครื่องพังลง และด้วยประสบการณ์ที่เคยทำดีเซล คอมมอนเรลมาก่อน ทาง T-SPEED จะรู้ว่าระบบมันเป็นอย่างไร และแก้ปัญหาอย่างไรถ้าเกิดเรื่องของเช็กเด้งไฟโชว์ จากการที่เราขยับสเต็ปเครื่องยนต์เพิ่มแรงม้า อันนี้ตุ้มขอเก็บเป็นความลับที่อุตส่าห์ทดลองจนสามารถแก้ปัญหาและรับจบได้ ในอนาคตก็จะทำของโมดิฟายในแบรนด์ TSP Racing ซึ่งเป็นของ T-SPEED สั่งผลิตตามสเป็กที่ตัวเองต้องการขึ้นมา เพื่อตอบสนองความแรงที่มากขึ้น แต่ ตอนนี้ ปั๊มเดิมก็ถือว่าโอเชสำหรับแรงม้าในระดับ 300 กว่าๆ ซึ่งเป็นสเต็ปสูงสุด ตอนนี้

ข้อดีอีกอย่างที่ตามมา คือใช้ปั๊มติ๊กเดิมได้โดยไม่มีปัญหา เพราะหน้าที่การสร้างแรงดันจะอยู่ที่ปั๊มหน้าเครื่องแทน ซึ่งถ้าเป็นรถหัวฉีดทั่วๆ ไป จะต้องเปลี่ยนปั๊มติ๊กโมดิฟาย เพื่อเพิ่มแรงดัน และอัตราการไหลที่สูงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะตามมาก็คือกินกระแสไฟมากขึ้นและเสียงดังน่ารำคาญคนที่ใช้ปั๊มติ๊กซิ่งจะรู้ถึงปัญหานี้ดี โดยเฉพาะปั๊มนอกถังนี่แทบจะถอดขว้างทิ้ง แต่นี่ไม่ต้อง ทุกอย่างยังเงียบเหมือนรถสแตนดาร์ด สามารถขับใช้งานได้ปกติสุขจริงๆ โดยที่แม่ไม่บ่น  เมียไม่ด่า

ออโต้ CVT อย่าคิดว่าขับไงก็ได้

มาถึงในเรื่องของการขับ โดยเฉพาะ Drag Racing จากประสบการณ์ของตุ้มที่แข่งรถมานาน ก็จะมีเทคนิคพิเศษในการขับ หลายคนอาจจะมองว่า จะไปยากตรงไหนวะ เกียร์ออโต้ CVT ก็แค่เข้าเกียร์ D เอาเท้าซ้ายเหยียบเบรก เท้าขวาย้ำคันเร่งเลี้ยงไว้ พอไฟเขียวก็ปล่อยเบรก กระทืบคันเร่งจมอย่างเดียว ง่ายจะตาย ตอนแรกผมก็คิดแบบนี้แหละครับ แต่พอได้ยินได้ฟังแล้ว ทัศนคติก็เปลี่ยนไป

จากการที่เพิ่มแรงม้าให้มากขึ้น และตอนแข่งใส่ล้อ 15 นิ้ว เพื่อเพิ่มความจัดจ้านในตีนต้น (อันนี้สำหรับแข่งเท่านั้น) ถ้าเราจุ่มคันเร่งจมพรวดเลย คือล้อฟรีเพราะเกียร์ CVT พอจิ้มหมดดอกแล้ว รอบจะตวัดขึ้นพรวด พอล้อฟรีแล้วหน้าส่ายฉกไปมาตามประสารถขับหน้าที่เพลาฝั่งซ้ายและขวายาวไม่เท่ากันทำให้ระยะ 60 ฟุต ไม่ดี สไตล์ของตุ้มก็คือออกแค่ครึ่งคันเร่งแต่จะครึ่งน้อยครึ่งมากก็แล้วแต่แรงม้าและผิว Track อันนี้บอกไม่ได้ อยู่ที่ประสบการณ์ให้รถออกไปได้ก่อน แล้วค่อยไล่มิดซึ่งจะต้องทำแบบต่อเนื่องเนียนๆ ไม่ใช่กระทืบ แต่ใช่ว่าอ่านแล้วจะขับได้เลยนะต้องซ้อมจับจังหวะรถตัวเองให้ได้ครับ

Max Power : 328.76 hp @ 6,000 rpm

Max Torque : 438.86 Nm @ 4,600 rpm

สำหรับตัวเลขแรงม้าของคันนี้ ถ้าเทียบกับรถเดิมๆ ที่มีแรงม้า 173 hp จากสเป็กโรงงาน เพิ่มขึ้นมาถึง 155.76 hp เรียกว่าเกือบสองเท่ากันเลยทีเดียว จริงๆ แรงม้าสูงสุดที่วัดไว้อีก Run คือ 334 hp ตามที่ตุ้มบอก แต่ดันลืมถ่ายมา สำหรับเส้นกราฟแรงม้า (เส้นล่าง) ดูเรียบๆ เนิบๆ อาจจะไม่โดดเป็นภูเขาให้ตื่นเต้นกันนัก แต่ดูดีๆ มันเป็นกราฟที่มี Power Band กว้าง มีช่วงกำลังสูงสุดตั้งแต่ 4,600 rpm ไปยัน 6,200 rpm แล้วหยุดการวัด แต่กราฟก็ยังคงที่ไม่มีตก แต่แรงม้าก็ไม่ค่อยขึ้นแล้ว คงที่อยู่แถวๆ นี้ เพราะเครื่องตัวนี้ยังใช้แคมและฝาเดิมๆ อยู่ เลยไม่จำเป็นที่จะต้องฝืนลากรอบไปต่อให้เสียวเล่น

มาดูกราฟแรงบิด (เส้นบน) เห็นแล้วก็ชอบใจเพราะมาแนวเดียวกัน จะเป็น Flat Torque คือ มาแล้วมาต่อเนื่อง อันนี้แหละสำคัญมากๆ สำหรับรถเกียร์ออโต้ ซึ่งรถเทอร์โบสมัยใหม่นี้ตัดคำว่ารอรอบไปเลย จะต้องมาต่อเนื่องให้ใช้เต็มๆ ตัวเลขอาจจะไม่มากนัก แต่ถ้าเทียบกับแบบตัวเลขเร้าใจ แต่รอรอบและช่วงกำลังแคบมากซึ่งอาจจะไม่เร็วกว่าก็ได้ สำหรับตัวเลขแรงบิดเดิมๆ จากโรงงาน อยู่ที่ 220 นิวตันเมตร แต่อันนี้เพิ่มไปถึง 438.86 นิวตันเมตร เท่ากับคูณสองเช่นเดียวกัน แล้วก็มาเต็มสัมพันธ์กับแรงม้า ทำให้มันสามารถไปได้เร็วแบบไม่คาดคิด นี่แหละ  ความสัมพันธ์ที่ต้องการมากกว่าตัวเลขเพียงอย่างเดียว

Comment : T-SPEED & TSP Racing

ตอนนี้เราก็เน้นการพัฒนาอุปกรณ์เสริมความแรงให้กับ CIVIC FK อยู่ครับ โดยใช้แบรนด์ TSP Racing เพราะมองแล้วว่าตลาดมันกว้างและไปได้ไกล ด้วยความที่รถมีสมรรถนะดีมาตั้งแต่ดั้งเดิม เลยสามารถต่อยอดได้ง่าย นอกจากความแรงแล้ว ยังมีด้านการขับขี่ในความเร็วสูงที่ดี นิ่ง  ควบคุมง่าย รวมถึงความนุ่มนวล ในสไตล์รถ New Gen ซึ่งนอกจากจะแรงแล้ว มันก็ยังสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ อีกด้วย อีกอย่างหนึ่งที่เราได้ทดสอบมาก็คือไม่พังง่ายอย่างที่กลัวกันอย่างคันนี้ ผมใช้บูสต์สูงถึง 2.3 บาร์ แข่งมาหลายสนาม ขับใช้งานด้วย เปลี่ยนก้านอย่างเดียว แต่อย่างอื่นก็ไม่พัง รวมไปถึง Stage ต่างๆ ที่เราทดสอบและ Play Safe ให้กับลูกค้า จนกล้ารับประกัน รวมไปถึงเกียร์ CVT ที่ลองกันมาแล้วว่าทนแรงม้าได้เยอะ โดยไม่ใจเสาะ สำหรับ Project คันนี้ ก็ขอเอาไว้ทรงนี้ก่อน เป็น Full Stock Body ขับถนนได้ แต่ Project ต่อไป ก็จะเป็น CIVIC FK อีกคันหนึ่ง ซึ่งจะทำกันเต็มสูตร โดยหลักก็คือ การลดน้ำหนักเพราะตอนนี้อ้วนไปหน่อย แบกน้ำหนักอยู่ 300 กก. เพราะอยากวิ่งรายการ Souped Up ในรุ่น Super 1500 Turbo แต่ขอศึกษาก่อนว่าจะทำออกมาแบบไหนให้ถูกกติกา ไว้รอชมกันครับ

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเจ้า CIVIC FK ซึ่งเป็นรถที่มีน้ำหนักมากพอสมควร กับเครื่อง 1.5 ลิตร เทอร์โบ แถมยังเป็นเกียร์ CVT อีก จะสามารถโมดิฟายและวิ่งเวลาได้ในระดับ 11 วินาที ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีตสัก 15 ปีที่แล้ว รถที่จะวิ่งเวลาขนาดนี้ได้ ก็จะต้องเป็นพวก CEFIRO 2JZ รุ่น SUPER 6 2WD แรงม้าระดับ 600 hp ขึ้นไป แม้จะบอกว่าเป็น Street Used แต่เดินเบากระเส่าบึ้บบั้บ ขับใช้งานจริงทุกวันก็ไม่ไหว แต่นี่รถแค่ 300 กว่าแรงม้า ไปได้ขนาดนี้ มันต้องมีความลงตัวในส่วนอื่นๆ จึงจะใช้กำลังได้คุ้มค่า และที่สำคัญ โมดิฟายแล้ว ยังสามารถขับใช้งานได้เหมือนรถสแตนดาร์ด ส่วนอื่นๆ ก็คงไม่มีอะไร เพราะได้บอกไปแล้วในเนื้อเรื่อง สรุป ถ้าอยากรู้ว่าดีจริงหรือไม่มาดูและมาลองด้วยตัวเองของชอบ บอกกันไม่ได้

X-TRA Ordinary

สำหรับเรื่องราวของตุ้ม T-SPEED” นั้น ถ้าเป็นวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียมก็จะคุ้นเคยกันดีสำหรับเจ้า VOLVO 740 สีแดง วางเครื่อง JZ ตามสมัยนิยม เรียกว่าเป็นรถครูที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ แล้วก็ค่อยๆ แก้ปัญหาไป จนเข้ามาสู่วงการ Drag ด้วย CEFIRO สีแดง 2JZ มาลงแข่งในรุ่น SUPER 6 2WD และได้แชมป์ในรุ่นมาครอง ด้วยเวลา 10.399 วินาที เมื่อปี 2010 ซึ่งจากประสบการณ์จากรุ่นนี้ ทำให้คุมคันเร่งได้ดีเพราะรถยางเรเดียล แรงม้ามาก ไม่มีทางที่จะขยี้อย่างเดียวได้ เลยเป็นประสบการณ์ประจำตัว (สังเกตคนที่ขับรุ่นนี้เก่งๆ จะออกตัวได้เร็วและไม่ค่อยเสียอาการ) แล้วก็มาจับกระแสคอมมอนเรล ดีเซลและมากระแสพันห้าเทอร์โบก็ได้ขึ้นปก XO autosport กับ “Brio หอยแดงระดับ 600 hp เมื่อ 3-4 ปีก่อน แล้วก็รอดูในรุ่น SUPER 6 2WD ที่ซุ่มทำอยู่ ปลายปีนี้รู้กัน

TECH SPEC

ภายนอก

ฝากระโปรง : Carbon by TSP

สเกิร์ตหน้า : Carbon by TSP

ภายใน

เบาะ : RECARO SPG

เครื่องยนต์

รุ่น : L15B7

ก้านสูบ : MRX

เทอร์โบ : TSP Racing

ท่ออินเตอร์ : BRD + TSP Racing

อินเตอร์คูลเลอร์ : BRD

กรองอากาศ : K&N

หม้อพักไอเสีย : G-PIPE EXHAUST 

กล่อง ECU : HONDATA by Give Tuner

ช่วงล่าง

โช้คอัพ : TEIN 

ล้อหน้า : WELD Magnum ขนาด 8 x 15 นิ้ว 

ล้อหลัง : WELD Magnum ขนาด 4.5 x 15 นิ้ว 

ยางหน้า : MICKEY THOMPSON E.T DRAG ขนาด 22-8-15 นิ้ว

ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 22-4.5-15 นิ้ว

บรรยายภาพ

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome