Quickly Spin – AE86 SAENG THAI SHOP

 

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่  

                ความยั่งยืนของ AE86 ทั้ง COROLLA LEVIN และ SPRINTER TRUENO ตัวยอดฮิตจากการ์ตูนในตำนาน Initial D ที่ยังคงติดใจใครหลายๆ คน กับพระเอก “ทาคุมิ” กับการส่งเต้าหู้แบบด่วนๆ ด้วย “ทรูเอโน” ทำให้กระแสของ AE86 เริ่มดังขึ้นมา มันเลยกลายเป็นความนิยม ทั้งๆ ที่แต่ก่อนก็แทบไม่มีใครรู้จัก มองเผินๆ จะนึกว่า EE80 ขับหน้ารุ่นแรกด้วยซ้ำไป !!! สำหรับ AE86 ส่วนตัวผมมองว่า เป็นรถในลักษณะ Modern Retro ที่จะเก่าก็ไม่เชิง จะใหม่ก็ไม่ใช่ มันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างความเป็น Modern และ Retro ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง ครั้งนี้เป็นคิวของทาง “แสงไทยช็อป” จัดการปรุง AE86 TYPE III คันนี้ มาในแบบ Clean look เรียบๆ เก็บงานเดิม แต่มีอุปกรณ์เสริมสมรรถนะเกรดดีผสมอยู่ โดยเน้นการ “ตอบสนองที่รวดเร็ว” ปั่นล้อให้เคลื่อนที่ได้แบบทันที จึงได้ชื่อว่า Quickly Spin และสามารถขับขี่ทั่วไปได้เหมือนรถรุ่นใหม่ ของพวกนี้ไม่ได้มาฟรีในรถเก่า ทุกอย่างต้องลงทุนสร้าง เซ็ต โมดิฟาย ให้ถูกต้องครับ…

 

Blah Blah Blah…

                ในทรรศนะของข้าพเจ้า…แบบไม่อิงตำนาน เอาประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง AE86 เป็นรถที่เกิดมาในแบบ Sporty ซึ่งก็ไม่ใช่สปอร์ตสมรรถนะสูงเต็มตัว ถ้าเป็นนักมวย จะเป็นลักษณะของ Lightweight ประมาณนั้น ด้วยความที่รถมีราคาไม่แพงมาก (ในสมัยนั้น) จึงโดนใจตลาดวัยรุ่น สามารถซื้อรถ “ทรงสปอร์ต” แบบนี้มาขับได้โดยไม่ไกลเกินเอื้อม และก็มีของแต่งมากมาย จะเอากี่สเต็ปก็มีขายหมด จึงเป็น “รถนิยม” ของวัยรุ่นญี่ปุ่นและที่อื่นๆ รวมถึงในอเมริกา กำลังเครื่องยนต์ 4A-GE บอกตามตรงว่ายังไม่เข้าขั้นรถแรง แต่เน้น “ใช้งาน ขับสนุก” บางทีก็ต้องแยกเรื่องความแรงกับความ “ลงตัว” ให้ออก ส่วนตัวผมเองก็เคยลองขับ AE86 ของเพื่อนพ่อ (สมัยก่อนที่มันฮิต เป็นรถพวงมาลัยซ้ายด้วยนะฮะ) ก็รู้สึกว่า “ไม่ต้องแรงมาก แค่นี้พอ” รถคันนั้นเปลี่ยนแต่ช่วงล่าง TRD อัพเกรดขึ้นมา (น่าจะเป็นรุ่น Half Race จำได้กระเด้งชิบเป๋ง) ก็ขับสนุก และ “คุมอยู่” โดยไม่รู้สึก “ฝืนกำลัง” และเท่าที่ได้รับข้อมูลมา เหล่านักแข่งเซอร์กิตชาวญี่ปุ่น ถ้าเป็นคนรุ่น 40 up ส่วนใหญ่ก็จะมี AE86 ไว้ขับสนุกๆ สักคันหนึ่ง…

ส่วนเรื่องการ “ดริฟต์” ตรงนี้ทุกคนรู้อยู่แล้ว เมื่อ 10 กว่าปีก่อน AE86 “เป็นรถฝึกหัดจริงๆ” ถ้าใครเคยดู VDO ญี่ปุ่น เห็นชัดเลยว่า AE86 ที่เอามาฝึกหัด สภาพก็เยินๆ เสียส่วนใหญ่ จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการฝึก ไอ้ตอนนั้นรถยังหาง่าย อะไหล่ไม่แพง คนก็เริ่มฝึกจากรุ่นนี้ จนเก่งแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นรถรุ่นใหญ่และแรงขึ้น อีกประการที่ว่า AE86 บางคนก็ว่า “ดริฟต์ยาก” จริงๆ ดริฟต์เฉยๆ ก็ไม่ยาก แต่จะ “ดริฟต์ให้สวยและเร็วนั้นยาก” เท่าที่ได้รับข้อมูลมา ประการแรก เครื่องมีกำลังไม่มากที่จะปั่นล้อได้อย่างทันที การดริฟต์ AE86 ที่เป็นรถเดิมๆ เครื่องไม่ได้โมดิฟาย ในการฝึกจะต้อง “ใช้จังหวะและความเร็วที่เหมาะสม เพื่อสาดให้ท้ายออก” ประคองความเร็วให้ดี และมี “เทคนิคอื่นๆ อีกหลายอย่าง” ที่ทำให้ท้ายออก ทุกอย่างต้อง “ได้จังหวะ” แล้ว “งานสวย” พลิ้วไหล มันจึงเป็นด่านยากที่ต้องฝึกให้ได้ก่อนที่จะพัฒนาไปในอนาคต…

X-TRA Ordinary 

                สำหรับชื่อรุ่น SPRINTER TRUENO นั้น มีใช้กันมาตั้งแต่รุ่น TE27 (ส่วน KE15 ท้ายลาดรุ่นแรก จะยังไม่มีคำว่า TRUENO เป็น SPRINTER เฉยๆ) สองคำนี้มีที่มาจากสองภาษา คำว่า “SPRINTER” เป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า “วิ่ง” ส่วน “TRUENO” มาจากภาษาสเปน แปลว่า “ฟ้าคำราม” (หรือ Lightning ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งรุ่น SPRINTER TRUENO จะถูกใช้ไปจนถึงรุ่น AE111 ปี 2000 (ไม่ใช่ AE111 ตูดเป็ดบ้านเรานะครับ) ก็เป็นอันหยุดตำนานชื่อนี้ไป เพราะหลังจากนั้นก็ไม่มีอีกแล้ว แต่ในอนาคตจะมี Return of the name หรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป…

 

ขอขอบคุณ : “แสงไทยช็อป” ผู้จำหน่ายอุปกรณ์โมดิฟายและตกแต่งแบบหลากหลายแนว โทร. 08-5555-0509, 08-1373-6534 (คุณเบนซ์) www.facebook.com/Saeng Thai Shop Saphanmai

 

Tech Spec

ภายนอก

ชุดพาร์ท : TYPE III Original

กระจกมองข้าง : Aero Design

 

ภายใน

เกจ์ : STACK

พวงมาลัย : NARDI Classic

คอพวงมาลัย : WORKBELL

หัวเกียร์ : TRD

เบาะคนขับ : RECARO RS-G Limited

เบาะคนนั่ง : RECARO TS-G Limited

โรลบาร์ : CUSCO

 

เครื่องยนต์

รุ่น : 4A-GE Original for AE86

วาล์ว : FERREA 1 mm. Oversize

สปริงวาล์ว : FERREA

แคมชาฟท์ : TOMEI 300 องศา

เฟืองแคมชาฟท์ : TODA

สายพานไทมิ่ง : GReddy

ลูกสูบ : HKS

ก้านสูบ : HKS

ข้อเหวี่ยง : HKS 1.7 L

เฮดเดอร์ : TRD

ออยล์คูลเลอร์ : BLITZ

ลิ้นปีกผีเสื้อ : 4A-GE 20 Valves

ปากแตร : Titanium

สายหัวเทียน : MSD

ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MSD DIS-4 Plus

หัวฉีด : SARD 550 C.C.

รางหัวฉีด : SARD

เร็กกูเลเตอร์ : SARD

หม้อน้ำ : AVS Power

พูลเลย์ : GReddy

กล่อง ECU : HKS F-CON V PRO 3.3 by Yai Stryder

 

ระบบส่งกำลัง

คลัตช์ : TRD

ลิมิเต็ดสลิป : TRD

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพ : BLITZ Sub tank

ตัวปรับแคมเบอร์ : CUSCO

ค้ำโช้คอัพหน้า : GReddy

ล้อ : VOLK TE37 ขนาด 7 x 14 นิ้ว

ยาง : YOKOHAMA NEOVA AD07 ขนาด 195/45R14

เบรก : Project Mu 4 pot

โรลบาร์แบบ “ครึ่งคัน” ที่รถแนว Street และ Club Race นิยมใช้ เพราะไม่เกะกะในด้านหน้าเวลาขึ้นลง