90’s The Golden Era of “Racing Memorial”

 

ย้อนอดีต “วิถีนักซิ่ง” โก๋วิภา สปอร์ตญี่ปุ่นรุ่งเรือง ควอเตอร์ไมล์เฟื่องฟู 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่, พงศกร พรามแม่กลอง

                ฉบับนี้ขอ “พักเรื่องรถ” ซึ่งในยุคปี 90 นั้น มีรถสปอร์ตดีๆ เข้ามาในเมืองไทย และได้รับความนิยมอย่างสูง แน่นอนว่า ก็ย่อมมี “คนซิ่ง” เกิดขึ้นอย่างมากมาย แน่นอนครับ ย่อมเกิด “ทีมรถ” และ “การแข่งรถ” ขึ้น ในช่วงนั้นผมถือว่าเป็น “ยุคทอง” เลยก็ว่าได้ จากการที่ตอนนั้นผมเองเป็น “ผู้อ่าน” จึงมี “ความตื่นเต้น” ที่จะได้เห็น “รถในฝัน” ในนิตยสาร และก็นึกอิจฉาคนเหล่านั้น ที่ได้ครอบครองรถแรงๆ เรียกว่าตอนนั้นแวดวงรถซิ่งบูมมาก รวมไปถึง “ร้านแต่งรถ” ที่เปิดกันอย่างหลากหลาย เป็นแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นโดยตรง หรือไม่ถ้าประหยัดงบหน่อย ก็ “เซียงกง” ที่มี “เครื่องซิ่ง ของซิ่งมือสอง” มาให้เสียตังค์ ใครเดินเซียงกงก็ต้องหาเครื่อง “หัวฉีด เทอร์โบ” มาวางในรถตัวเอง เหมือนกับยุคนั้นเป็นก้าวกระโดดที่ทำให้วงการรถซิ่งมีการ “เคลื่อนไหว” อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตำนานนักซิ่งบน “ถนนตำนาน” ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุค 80 รวมถึง “ควอเตอร์ไมล์” กำลังเกิด ในฉบับนี้จึงขอ “เหลา” ย้อนอดีตกันสักหน่อย ผมบอกก่อนนะครับ ว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ “เล่าเรื่องเก่า เคล้าของขม” แต่มี “ข้อคิดอันยอดเยี่ยม” จากนักซิ่งยุคนั้น มาให้นักซิ่งยุคใหม่ได้ “คิดตาม” และมีประโยชน์มากครับ…

 

หมายเหตุ

เรื่องการแข่งบนท้องถนน ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ทางเราซึ่งเป็น “สื่อ” ไม่เคยสนับสนุน แต่ที่พูดถึง เพื่อให้รู้ “ที่มาที่ไป” ซึ่งเป็น “ตัวอย่างในการพิจารณา” ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ เราไม่มีสิทธิไปห้าม แต่ “สื่อ” ให้คิดเสมอว่า “ทำแล้วมีผลกระทบอย่างไร” โดยท่านต้องใช้ “วิจารณญาณ” ด้วยตัวเองครับ… 

History of 90’s Street Racing Society  

โก๋หลังวังผมยังไม่เกิด แต่บรรเจิดมากครับ ยุค 90

                ย้อนไปในยุคปี 90 ที่วงการรถโมดิฟายกำลังเฟื่องฟู ก็ย่อมมีเรื่องราวของ “สังคมรถซิ่ง” รวมไปถึง “การแข่งขัน” ทั้งบนท้องถนนและในสนาม ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เรามานั่งอยู่กับ “คุณแอนดี้” แห่ง TEC. ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทีม SHORT BLOCK แน่นอนว่า คือ “คนตรงยุค” ที่จะมาเป็น “ผู้เหลาส่วนหลัก” และสมาชิกทีมดังอื่นๆ เช่น SIX SECOND, JAIMA, เปรียว Junior etc. จะเป็นผู้ “เหลาเสริม” ให้ฟัง และผม “พี สี่ภาค” จะเป็นผู้ “เรียบเรียงเหลา” อีกที ซึ่งบทความในครั้งนี้กลั่นออกจาก “ประสบการณ์” ของคนเหล่านี้ล้วนๆ ลองดูว่า “เขาผ่านอะไรกันมาบ้าง” รับรอง “มันส์แบบมีข้อคิด” นะครับ…

 

Carboy Life Style

ใจอยู่กับรถ ทุ่มหมดให้ไอ้ตัวแรง

สำหรับ “สังคม” และ ไลฟ์สไตล์” ของ “เด็กซิ่ง” สมัยนั้น ก็มักจะเป็น “เด็กมหา’ลัย” เป็นเรื่องปกติครับ มีเวลาว่างก็จะมาขลุกอยู่แต่อู่โมดิฟายรถ หาของแต่งรถ ยิ่งถ้า “ปิดเทอม” นี่ Happy มากๆ เดิน “เซียงกงปทุมวัน” แม่มทุกวัน ซึ่งสมัยนั้น เซียงกงปทุมวันถือว่าเป็น “แหล่งใหญ่สุด” สำหรับเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เก่าจากญี่ปุ่น ซึ่งร้านขายของแต่งเฉพาะทางยังไม่มี จะมีก็แต่ร้านขายเครื่องยนต์ซิ่ง แล้วพ่วงของแต่งต่างๆ มาด้วย ร้านที่ดังๆ ในนี้ “เรียกว่าอยากซิ่งต้องมา อยากแรงต้องรู้จัก พกตังค์มาเยอะๆ ด้วยนะ” ก็คือ “ชัยศิริยนต์” (ไว้ไปเหลากันท้ายเรื่อง) แล้วก็มีร้านอื่นๆ ประปราย “รสชาติการทัวร์เซียงกงกันก่อน” ไป “ค้น คุ้ย คัด” หาของแต่งกัน เจอของถูกใจก็เฮ แล้วก็แห่ไปอู่เพื่อใส่ แรงไม่แรงยังไม่รู้ แต่กูอยากใส่ มันเหมือน “การเสพย์ติด” จริงๆ นะครับ มันเป็นรสชาติที่ “ได้ของถูกใจมาแบบยากๆ” สมัยนั้นจะสั่งอะไรล่ะ Social ห่… อะไรก็ไม่มี “หาเองลูกเดียวครับ” ยกเว้นถ้ามีตังค์ก็ไปซื้อตาม Speed Shop ต่างๆ ซึ่ง “แพง” แน่นอนครับ ก็ของใหม่แกะกล่องแท้นำเข้า ไม่มี “ของเหมือนแท้ฝุดๆ” เยอะแยะเหมือนสมัยนี้ ตังค์น้อยก็ไปหาของมือสอง สมัยนั้นร้านในเซียงกงก็ไม่ค่อยรู้หรอกว่าอันไหนใช้ทำอะไร บางอย่างเห็นเป็นของ Brand Name ก็ขึ้นราคาไป แพงนักก็ทิ้งไว้นั่นแหละ ขายไม่ออกเดี๋ยวก็ลดราคาเอง บางทีก็ขายมาถูกเหลือเชื่อ หลายคนได้ของดีราคาถูกก็จากการทัวร์เซียงกงนี่แหละ ทัวร์กันจนเจ้าของร้านจำหน้าได้ ไอ้นี่ถามบ่อยซื้อบ่อย ไอ้นี่ถามบ่อยไม่เคยซื้อ อะไรก็ว่าไป มันก็เลยทำให้มี Relation เกิดขึ้นจะหว่างลูกค้าและคนค้า ในอีกทางหนึ่ง ตอนหลังก็เป็นพวกๆ กันหมด ดีไปอีกแบบครับ…

เอ้า ย้อนกลับมาก่อน ตอนนั้น “โดดเรียน” เรื่องปกติครับ ถ้ารถใครอยู่อู่แล้วกำลังทำ เหล่าเด็กซิ่งก็จะ “ต้องโดดเรียนไปเฝ้ารถ” บางทีไปบ่อยๆ ก็เจอ “เจ้าของอู่ไล่ให้ไปเรียน” จำได้เลยครับ บทสัมภาษณ์ “พี่ริน” แห่ง RINSPEED ถ้าใครมัวแต่มาเฝ้ารถ ไม่ยอมไปเรียน แกจะบอกเลย “ถ้าไม่ไปเรียน ก็จะไม่ทำรถให้” ก็ดีเหมือนกันแฮะ บางคนก็มี “บ้านส่วนตัว”ที่พ่อแม่อยู่กันคนละบ้าน ไอ้บ้านนั้นก็จะกลายเป็น “ชุมนุมขาซิ่ง” ก็ยกพวกกันไปอยู่เลย บางทีอยู่กัน “เป็นปี” ไม่กลับบ้านตัวเอง ข้าวปลาก็ไม่ค่อยจะมีนะ ไข่ มาม่า วนเวียนเป็นอาหารหลัก บ้านเบิ้นโดนตัดไฟเพราะไม่มีตังค์จ่ายเขา “เอาตังค์ทำรถหมด” อีกอย่าง เป็นที่รู้กันว่า “จะไม่ลงเรียนในช่วงบ่ายวันศุกร์” (จริงๆ ผมก็เป็นว่ะ วันศุกร์จะลงเรียนก็กะเลิกบ่ายๆ ไม่ถึงเย็น ก็ไป “แรด” มั่งดิเฮ้ย)  เพื่อจะได้มีเวลาว่างไปทำรถ เสร็จแล้วก็ไปเที่ยวผับ เธค วันเสาร์แหกขี้ตาตื่นมาเที่ยงๆ บ่ายๆ ไม่มีห่าอะไรทำก็ปลิวออกไปหาเพื่อนฝูง เม้ามอย ทำรถ เพื่อ “รอซิ่ง” ในยามราตรี ก่อนจะซิ่งก็ต้อง “เข้าผับ” กันก่อน แต่เรื่อง “ก๊งเหล้า” นี่ส่วนใหญ่จะ “รู้ธรรมเนียม” กันครับ ถ้าจะออกไปซิ่งต่อ ก็เอาแค่ “นิดหน่อย” เผลอๆ แก้วเดียวยุงไข่ บางคนไม่กินเลยก็มี เน้น “กินเด็ก” ก็แล้วแต่คารมและทรงผม ถึงประมาณ 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน ก็ “แห่” กันออกไป ณ จุดนัดพบ เพื่อที่จะเริ่มเข้าสู่สังเวียน Street Racing ในยามรัตติกาล..

Rolling on Sat. Night 

“วิภาวดี เซอร์กิต” ในความทรงจำ

ยุคปี 90 นั้น จะเป็นการต่อเนื่องมาจาก “ยุคหน้าพาเลซ” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าในช่วงปี 80 ซึ่งก็ยังยึดถือ “ถนนวิภาวดี รังสิต” หรือที่เรียกกันว่า “วิภาวดี เซอร์กิต” เป็นที่ประลองความเร็ว ตอนนั้นเป็นยุคปลายของ เดอะ พาเลซ ดิสโก้เธค ซึ่งกำลังจะปิดตัวลง ก็เลยย้ายมารวมตัวกันตรง “เซนต์จอห์น” แต่จริงๆ แล้ว ก็คือการวิ่ง Loop เดียวกันนั่นแหละ คือ ไป U-Turn ตรงแยกสุทธิสาร ก็คือ เดอะ พาเลซ เก่า แล้วก็มา U-Turn ที่หน้าเซนต์จอห์น จนตอนหลัง “โทลล์เวย์” เริ่มสร้างโครงการ ไล่ถนนมาเรื่อยๆ ตรงนั้นก็เริ่มมีการก่อสร้าง ซิ่งไม่ได้ละ ประกอบกับรถก็เยอะขึ้น ต้องเผ่นมาอยู่แถวๆ “หน้า ม. หอการค้าไทย” ในตอนนั้น หลังๆ ก็ “อยากต่อ” เพิ่มระยะทางวิ่ง ก็ขึ้นสะพานข้ามแยกสุทธิสาร ไป U-Turn ที่ “สามเหลี่ยมดินแดง” ตอนนั้นคนดูมหาศาล คนมาแข่งก็เยอะ จึงเป็นอะไรที่มันส์มาก แม้ว่าคนจะมากมาย แต่ไม่มีใครจ้องจะมาหาเรื่องกัน จอดรถกันในปั๊มบ้าง ริมถนนบ้าง บางทีก็โมดิฟายหรือซ่อมกันตรงนั้นเลย (ถ้าอาการไม่สาหัสมากจนต้องเข้าอู่) “สิ่งที่น่าประทับใจ” อย่างหนึ่ง คือ “ทุกคนเป็นเพื่อนกัน” ไม่ว่าจะทีมไหน อู่ไหน มาจากที่ต่างๆ กัน แต่ “ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน” อย่างเช่น จะรู้กันว่าทีมไหนจอดประจำตรงไหน ไม่มีการ “จอดทับที่” กัน แม้ทีมนั้นจะยังไม่มา ก็ปล่อยว่างไว้ หรือไม่ถ้าทีมที่รู้จักกันมาก่อน ก็จะคอยดูให้ หรือจอดรถกันที่ไว้ พอทีมนั้นมาก็เลื่อนไปจอดที่ของตัวเอง หรือถ้าไม่รู้ ไปจอดทับที่ประจำของใคร ก็จะเดินไปบอกกันดีๆ และก็จะเลื่อนรถกันโดยดี ไม่มีการ “เบ่งใส่” กัน แม้จะเป็นทีมใหญ่ก็ตาม อยากลองกับคันไหน เจอก็ “เบิ้ลใส่” แบบมิตรภาพ ไม่ใช่เบิ้ลใส่แบบหาเรื่อง (ไม่เหมือนกันนะครับ ความรู้สึกจะบอกเอง) เหมือนบอกว่า “สักรอบไหม” ก็จัดกันไปเลย แพ้ไม่มา “อาฆาต” ชนะก็ไม่ “เยาะเย้ย” ซึ่งต่างจากตอนนี้ ที่ “กระทบกันง่าย แต่เลิกกันยาก” แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้..

พูดถึงการ “แข่งถนน” แม้ว่ามันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่พวกนักซิ่งยุคนั้นทั้งหมดปฏิบัติกันเป็นแบบแผนอัน “ถูกต้อง” ก็คือ “การแข่งกันอย่างมีมารยาท มีน้ำใจนักกีฬา” ปล่อยรถกันเป็นช่วงครับ รอจังหวะรถว่างแล้วค่อยเล่นกัน นั่นเป็นสิ่งที่ถูก “ถ่ายทอด” กันมาจากรุ่นก่อนๆ จะว่าไปตอนนั้นรถที่มาแข่งกันก็ไม่ใช่น้อยๆ ออกสตาร์ทมากันเป็นแผง 20-30 คัน อย่างกับ SUPER GT เชียวนะ มากันประมาณ “เกียร์สาม” แล้วก็จะมี “ทางบีบ” เหลือเลนเดียว ซึ่งรถก็จะต้อง “จัดคิวกันเอง” ไม่เบรกนะครับ เพราะถ้าเบรก คันหลัง “ตำดาก” แน่นอน ซึ่งแต่ละคันก็ต้อง “แปรขบวนเรียงหนึ่ง สลับฟันปลาเข้าไป” ตรงนี้แหละที่วัด “ความมีสปิริต” เพราะต้อง “เผื่อคนอื่นด้วย” มีการหลบให้คนอื่นเข้าได้ แบบ “ไม่เสียตำแหน่ง” คันที่นำมาก่อนก็เข้าก่อน มีการเรียงลำดับกัน ซึ่งไอ้คันที่ตามมามันก็รู้ครับ ก็ต้องทยอยตามกันเข้าไป มันเลยไปกันได้ แล้วก็มีการ “แบ่ง Division กันเอง” ด้วยนะครับ ตอนออกตัวพร้อมกันก็ “เกาเหลารวม” ปนๆ กันมา แต่พอออกไปแล้ว รถที่ “แรงน้อยกว่า” ก็จะ “หลบ” ให้รถแรงกว่าขึ้นไปก่อน แล้วก็รอรถที่แรงพอๆ กันมาเล่น มันก็จะแบ่งรุ่นกันไปเอง และก็มีการ “ช่วยเหลือ” เช่น คันนึงมุดไปแล้วเจอ “ดอกตัน” อีกคันก็เบรกหรือหลบ เพื่อให้ออกมาแล้วเล่นกันใหม่ ไม่มีการ “วางมิด” กัน ตอนแข่งก็ลืมคำว่า “ห้ำหั่น” ถ้าวิ่งกันประมาณ “สามเกียร์” แล้วไล่ไม่ทัน ก็จะ “ยกมือยอมแพ้” กันแล้ว ไม่มีการยื้อแบบกูจะต้องชนะให้ได้ ตามก็คือตาม นำก็คือนำ พอจอดรถแล้ว ทุกคนก็เป็นเพื่อนกัน ใครสู้ไม่ได้ ไม่ถือว่า “แพ้” นะครับ ต่างคนก็กลับไปทำรถมาใหม่ แล้วก็ค่อยมาเล่นกันเสาร์หน้า แต่ยังไงมันก็ต้องมีเรื่อง “กระทบกระทั่ง” กันบ้าง เป็นธรรมดาของคนหมู่มาก เมื่อมีปัญหากัน ก็จะมี “เรียกมาเคลียร์ปัญหากัน” จบก็คือจบ “จับมือกัน” แล้วก็ไม่มีการพยาบาท ผมว่าในความที่คนทั่วไปจะดูว่า “เถื่อน” แต่มันมีสิ่งดีๆ ที่เรียกว่า “มิตรภาพ” แฝงอยู่อย่างมากนะครับ..

ณ ตอนนั้น ก็เป็นกระแสข่าวของ “วิภาวดี เซอร์กิต” ที่เป็นสนามประลองความเร็วแบบ Midnight Racing ซึ่งสืบเนื่องจากจากยุค “เดอะ พาเลซ” ในยุคปี 80 เรียกว่า “อยู่กันนาน” และเป็น “ตำนานเล่าขาน” มาไม่รู้จักจบ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย เราไม่ได้นำเรื่องนี้มาสนับสนุนให้เกิดการแข่งรถบนท้องถนน แต่ให้ “พิจารณา” ตามวิจารณญาณ ซึ่งคนยุคนั้นก็ยอมรับว่าเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหลายครั้ง แม้ว่าตอนนั้นรถยังไม่ได้แรงมากเหมือนสมัยนี้ก็ตาม มันก็เป็นสิ่งที่เตือนใจอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน

Sunday Race Track

กำเนิดนักแข่ง บน “สนามนครไชยศรี” มาจนถึง “สนามพีระฯ” ยุคสนานบานตะไท

หลังจากที่ซิ่งกันบนถนนกันใน “คืนวันเสาร์” กันยันพระออกบิณฑบาตแล้ว เช้าวันอาทิตย์ก็ต้องแหกขี้ตาตื่นไป “สนามไทยแลนด์เซอร์กิต นครชัยศรี” ซึ่งเป็นถิ่นยอดนิยมในสมัยนั้น “แข่งเช้านะครับ” ขอบอก แล้วก็ไปกันทันด้วย (อาศัยตอนนั้นรุ่นพี่ๆ เขา “สด” เรื่องนอนไม่ต้องพูดถึง) จริงๆ แล้วเป็นเซอร์กิตที่ใช้แข่งมอเตอร์ไซค์ แต่ก็มีการจัดเป็นการแข่งขันแบบ Drag Racing สำหรับรถยนต์ด้วยระยะทางประมาณ “270 เมตร” สมัยนั้นมักจะเรียกการแข่งทางตรงนี้แบบ “ติดปาก” ว่า “ควอเตอร์ไมล์” แต่เอาเข้าจริงก็ระยะไม่ถึง เรียกกันว่า “ควอเตอร์กิโลเมตร” จะดีกว่า (มั้ง) ตอนนั้นก็จะมีการแข่งขันอีกรูปแบบหนึ่ง ที่วัยรุ่นยุคนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้จัก หรือ “ไม่สนใจ” คือ Bracket มันเป็นการแข่งขันที่ “ควบคุมเวลา” ให้รถวิ่งตามเวลาที่กำหนดในรุ่นนั้นๆ เช่น Bracket 16 วินาที ก็ต้องวิ่งเวลาให้ใกล้ 16 วินาที มากที่สุด เข้าเร็วคือ “ฟาวล์” นะครับ ไอ้เรื่องนี้แปลก คนดูไม่มันส์หรอกครับ ไม่ได้เน้นรถแรงเลย รถทั่วไปก็แข่งได้ แต่ที่มีลุ้น คือ “คนขับ” เพราะต้องมี Trick คุมเวลาของตัวเอง รวมถึง “หลอกล่อคู่แข่ง” มีหลายอย่าง จะพูดตรงนี้ไม่หมดเพราะมัน “เยอะมาก” บางทีก็ต้อง “คิดหน้างาน” กันเลย มันเลยเป็นความสนุกของคนแข่งจริงๆ แล้วก็มีการ “ล่ารางวัล” ตัวเซียนๆ ทั้งหลายก็จะ “แข่งเป็นอาชีพ” บางทีมีรถคันนึง เผลอๆ เครื่องเดิม ก็ลงแม่มมันเกือบทุกรุ่น (ยกเว้น Open) ก็ต้องรู้ก่อนว่ารถตัวเอง “เร็วที่สุดแค่ไหน” ก็ลงรุ่นเวลาที่ไม่เร็วกว่าที่รถตัวเองวิ่งได้ ใครขาแม่น “วิน” หลายรุ่น ได้เงินรางวัล “เฉียดแสน” ในวันเดียวก็มี แถมได้เงินจาก “ผู้สนับสนุน” อีก เรียกว่าไม่ต้องทำงานก็มีกินกันตามอัตภาพ ส่วนใหญ่ก็ แข่งรถ กิน เที่ยว เรื่อง “ทำรถ” สมัยนั้นดีอย่างว่า “รถยังไม่แรงมาก” หากเทียบกับสมัยนี้ โมดิฟายกันแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” มีตังค์ก็ทำ ไม่มีตังค์ก็หยุด หลักๆ ก็อาศัย Connection พวกๆ กันนี่แหละ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ได้จ้องจะ “ฟัน” หากำไรกับเพื่อนฝูง (แต่จะ “ฟัน” อย่างอื่น ก็เรื่องปกติ) มัน “น่ารัก” เผลอๆ มี “โป๊ของ” กันด้วย ไอ้นี่กูมีแล้ว เจออีกชิ้นมึงยังไม่มีก็มาสอยไปละกัน หรือไม่ก็แนะนำสิ่งดีๆ ให้กัน ไอ้นั้นทำแล้วแจ๋วว่ะ ไอ้นี่ไม่เวิร์ก มึงอย่าเลย กูลองแล้ว ฯลฯ มันจึงเกิดคำว่า “มิตรภาพ” กันขึ้น…

ในตอนหลังก็จะมีหลายสนามเกิดขึ้น เช่น “ควอเตอร์ไมล์สนามพีระฯ” อันนี้แหละที่มีระยะ 402 ม. ไปออกตัวกันตรงมุมหัวโค้งก่อนทางตรง (ถอยไปเกือบถึงป้าย TOYOTA ในตอนนี้) แล้วก็ไปสุดแถวๆ สะพานคนข้าม (สะพานสิงห์) ทางก็เป็น “ขึ้นเนิน” เล็กน้อย แต่ต้องระวังหน่อย เพราะเลยจากฟินิช จะเป็น “ทางลง” ถ้ารถใคร “แรงอย่างเดียว เบรกไม่ได้ เลี้ยวไม่เป็น” ก็อาจจะมี “แหก” สุดทางตรงกันบ้าง แต่ยุคนั้นก็เริ่มจะมีรถสปอร์ตในฝันของพวกเราวิ่งกันเยอะนะครับ เอาตัวแรงๆ ระดับหัวแถวรุ่น Open  ก็จะมีแบ่ง 2 Class คือ โอเพ่น 2 ล้อ ก็คือ ขับเคลื่อน 2 ล้อ จะหน้าจะหลังก็แล้วแต่ แล้วก็ โอเพ่นทั่วไป จะเอายังไงก็มาเลย ส่วนมากเป็นพวก “ขับสี่” แต่ถ้า “ขับสอง” อยากจะ “ปีนรุ่น” ก็จัดมา ตัวดังๆ มี SKYLINE R32 GT-R ของ “เดช” ทีม TOMODACHI-SIX SECOND (บางทีมีสติกเกอร์ทีมบนรถหลายทีม ก็คือ “เพื่อนๆ กัน” รู้จักกับเพื่อนในทีมนั้นนู้นนี้ สนิทกับใครมากก็ติดสติกเกอร์ทีมนั้นไป) โมดิฟายจาก JUN THAILAND  แล้วก็ยังมี “สิงห์คะนองนา” จาก บางปูอะไหล่ยนต์ มาเล่นด้วย มี EVO III จาก FOUR CYCLE, PULSAR จาก Tune by Op, MR2 สีเหลือง จาก SHORT BLOCK โมดิฟายโดย DRIVER MOTORSPORT, “เต่า” จาก SHOW TIME, EVOLUTION III จาก ST FIBER และอีกเยอะแยะมากมาย แล้วก็มีจัดกันแบบ “สนามเฉพาะกิจ” อีก เช่น เมืองทองธานี อันนี้ XO AUTOSPORT จัดเอง โดยหลักๆ ก็ประมาณนี้ครับ ซึ่งการแข่งขันแบบนี้ก็ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น เหมือนเป็นแหล่ง “รวมรถซิ่ง” ใครไม่แข่งก็มาดู มาเชียร์เพื่อน พาด่งพาเด็กมาเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ (โดน Snap รูปคู่ เกิด “ตัวจริง” จับได้ก็ซวยไป ฮ่าฮ่า) ส่วนการแข่งขันก็ไม่ยาก เล่นกันง่ายๆ รถซิ่งบ้านๆ เครื่องเดิม ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก ก็มาวิ่ง Bracket กันได้ มันเป็นเสน่ห์ของการแข่งขันในยุคนั้นจริงๆ ครับ…

เสน่ห์ของสนามแข่งในยุคนั้น คือ “ความหลากหลายของรถที่มาร่วมการแข่งขัน” มันมีอะไรฮาๆ ให้เราดูอยู่เยอะ อย่าง PRESIA คันบนสุด ก็เป็น “จินตนาการส่วนตัว” ซึ่ง “กล้าทำ” เรียกว่าขับไปไหนก็รู้เลยว่ารถใคร ต่างจากสมัยนี้ที่มักจะเป็น “สูตรสำเร็จ” และทำเหมือนกัน เลยขาด “เอกลักษณ์” ไป ส่วนคันสีเขียว คือ PULSAR GTi-R รหัส RNN14 ที่ตอนนั้นนิยมมากในการเล่นควอเตอร์ไมล์ ตะกายสี่ตีน รถเบา เครื่องแรง ได้เปรียบรถในคลาสเดียวกันอยู่เยอะ ในภาพเป็นรถของ “รัชพันธ์ งามเจริญ” ซึ่งให้ “ชวลิต งามเจริญ” น้องชายเป็นผู้ขับ สังกัด DRIVER MOTORSPORT ซึ่งคุณรัชพันธ์ เป็นอีกหนึ่งท่านที่เชี่ยวชาญกล่อง MoTeC ระดับแข่งขัน (ตัวเองก็แข่งเซอร์กิตด้วย) ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักกัน

ควอเตอร์ไมล์ในยุคที่ “บูม” สุดๆ ช่วงปี 90 จะอยู่ใน “สนามพีระฯ” ซึ่งใช้ช่วงทางตรงของสนามในการแข่งขัน ตอนนั้นจะเป็นศูนย์รวมของ “รถสวย รถแรง ทีมรถ” ทุกประเภทจริงๆ เพราะมีการแข่งแบบ Bracket ซึ่ง “รถอะไรก็ลงได้” เหมือนกับเป็นการเปิดเวทีให้กับนักแข่งหน้าใหม่ เพื่อพัฒนาไปสู่ระดับอาชีพในอนาคต ในภาพเป็น TOYOTA MR2 จากทีม SHORT BLOCK (ล้อรุ่นนี้สวยนะครับ VOLK CV-Pro ก้านขุด) แข่งกับ สิงห์คะนองนา ตัวดังในตำนาน จาก บางปูอะไหล่ยนต์ ที่ตอนนั้นยังมีความเป็น Stock Body ของ MAZDA FAMILIA Pick Up อยู่ เครื่อง RD28 ดีเซล 6 สูบ จาก NISSAN ซึ่งดั้งเดิมเคยทำใส่ BIG-M แข่งอยู่ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น FAMILIA เพราะรถเบากว่าเยอะ

 

Souped Up Car

สปอร์ตญี่ปุ่นยุครุ่งเรือง รถวางเครื่องก็คึกคัก

มาถึง “รถซิ่ง” กันบ้าง ในยุคนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังเป็น “เด็กมหา’ลัย” เอกชนต่างๆ เช่น ABAC หรือไปทางโซนรังสิต ก็จะมี ม.รังสิต, ม.กรุงเทพ ซึ่งอยู่ไกล ส่วนใหญ่แล้วถ้าบ้านใครพอมีตังค์ ก็จะ “ซื้อรถขับไปเรียน” แล้วแต่ฐานะครับ ถ้าจะ “หล่อสุด” ก็ต้อง “รถสปอร์ตญี่ปุ่น” ซึ่งตอนนั้นมีการนำเข้าทั้งรถใหม่และรถมือสอง รถยอดนิยมก็อย่างที่รู้กันครับ NISSAN ก็จะมี SKYLINE R32 GT-R ตอนนั้นราคารถใหม่ ประมาณ “สามล้านกว่า” พอๆ กับ SUPRA JZA80 แล้วก็มี 300 ZX แต่จะมีกลุ่มคนเล่นน้อยกว่า มาถึง 200 SX ที่สมัยนั้นเป็นรถใหม่ ออกห้างสยามกลการ แล้วก็มี PULSAR ตัวนี้ค่อนข้างนิยม เครื่อง SR20DET 230 PS แรงที่สุดในตระกูลฝาแดง ตะกายสี่ตีน โดดออกตัวไว แข่งกับพวก MITSUBISHI EVO III-IV หรือ SUBARU IMPREZA WRX GC8 ค่าย TOYOTA นอกจาก SUPRA ที่ถือว่า “ไฮโซ” โคตรแล้ว ก็ยังมี “น้องรอง” ลงมา เช่น CELICA GT-FOUR แต่ก็ได้รับความนิยมน้อยกว่า MR2 ที่ทรงสปอร์ตปราดเปรียว ที่ตอนนี้ก็ยังฮิตกันอยู่ ส่วน MAZDA แน่นอนครับ RX-7 โฉม FD3S นี่ก็ “โคตรบรรเจิด” โรตารี่นี่มันเท่จริงๆ รถสปอร์ตญี่ปุ่นพวกนี้ก็จะอยู่กับทีมดังๆ ระดับหัวแถวของวงการ และคนขับก็ “ดูดี” ขึ้นมาเชียว บ่งบอกถึง “ฐานะทางบ้าน” ได้เป็นอย่างดี…

สำหรับคนที่มีงบประมาณจำกัดหน่อย ก็จะเล่นกับ “รถวางเครื่อง” ตอนนั้นก็จะนิยม “รถขับหลัง” ที่ยังมีตัวเลือกเยอะอยู่ ยอดนิยมก็คือ CEFIRO A31 ตอนนั้น RB20DET ลงได้สบาย ถ้าใคร “ตั๋งๆ” หน่อย ก็ข้ามไปเล่นกับ RB26DETT ที่ต้องชนเกียร์ VG30DETT ทำเป็นขับ 2 ล้อหลัง แต่ต้อง “ทุนหนา” หน่อยครับ เพราะ “เครื่องโคตรแพง” ตอนนั้นถ้าเป็นเครื่องจาก R32 สภาพสดๆ (ตอนนั้นรถมันยังใหม่อยู่) ครบชุดประมาณ “แสนห้า” เอิ๊กกก ส่วน 1JZ-GTE ตอนนั้นก็ประมาณ “เจ็ดแปดหมื่นบาท” ถ้า “เกียร์ธรรมดา” เผลอๆ เฉียดแสน สมัยนั้นใครวาง 1JZ-GTE ก็ถือว่า “สุด” แล้ว ตอนหลังก็มี 2JZ-GTE ตามมา ถ้าเกียร์ธรรมดา 6 สปีด มาครบชุดต้องมี “สองแสนอัพ” หรือถ้าทุนน้อยหน่อย รถขับหลังขนาดกลางที่ราคาไม่แพง (ก็รถยุคปี 80 นั่นแหละ) เช่น CORONA หน้าแหลม คนก็เล่นเยอะ ส่วนใหญ่ก็จะวาง 1G-GTE ทวินเทอร์โบเสียงหวาน ตัวปลั๊กเทา 210 PS ถ้าเป็นรถเล็กอย่าง COROLLA ก็มีหลากหลายเครื่องครับ แรกๆ ก็ 4A-GE จาก AE86 แรงขึ้นมากับ “เทอร์โบ” ก็ต้อง 3T-GTE “ทวินปลั๊ก เทอร์โบ” ตัวนี้โคตรฮิต ต้นจัด ยิ่งอยู่ในรถเบาๆ อย่างพวก Lift Back TE71 หรือ KE70 กะเทย แค่นี้ก็ตื่นเต้นแล้วสำหรับคนที่ “ไม่เคยหอย” ถ้าจะนิยมค่าย NISSAN ก็ต้อง FJ20ET จาก SKYLINE DR30 รุ่นที่มี “อินเตอร์คูลเลอร์” หรือรองลงมาก็ CA18DET ส่วน SR20DET ฝาแดง ก็ตามมาทีหลัง นิยมวางใน BMW E30 กันมาก แล้วถ้าจะ “สไตล์ป๋า” ก็ต้องรถฝรั่ง เช่น BENZ W123 ใหม่หน่อยก็ W124 มาถึง 190 E นี่หล่อสุดสำหรับวัยรุ่นไฮโซ หรือไม่ก็ VOLVO 740 GLE ถ้าเป็นรถฝรั่งเก่าๆ รุ่น “พ่อยังหนุ่ม” ส่วนใหญ่ก็จะวางเครื่อง 7M-GTE 3.0 ลิตร 240 PS จาก SUPRA MA70 ที่จะ “ดู๋ดี๋” กับรถขนาดค่อนข้างใหญ่ได้…

ยุคต่อมาก็จะนิยม “กระบะซิ่ง” สมัยนั้น “ต้องมี” ครับ นิยมมากก็ MITSUBISHI L200 Cyclone เพราะ “ทรงงาม” พูดถึงขุมพลัง แรกๆ ก็ “เครื่องเดิม เซตเทอร์โบ โมฯ ปั๊ม” ตัดท่อไอเสียปล่อย “หน้าเพลาท้าย” เสียงแตกๆ ควันดำสนั่นเมือง ตอนหลังก็สู้รถเครื่องเบนซินไม่ไหว (สมัยนั้นดีเซลยังไม่แรงมาก ถ้าไม่ใช่รถสนามโดยตรงนะครับ) ก็เลย “วางเครื่องเบนซิน” แม่มซะ ก็จะเริ่มจาก 1G-GTE นี่ฮิตมาก เสียงหวานนุ่มเสนาะหู ส่วน RB20DET ฝาขาว ตอนนั้นยังไม่ค่อยนิยม เพราะ “แพง” มันเพิ่งออกมาไม่นาน ใครอยากแรงกว่านั้น ลงทุน 7M-GTE และต้องเป็นตัว “ปลั๊กเทา” ถึงจะสุด (ตอนนั้นเครื่อง TOYOTA จะมีรุ่น “ปลั๊กเหลือง” ที่เป็นรุ่นแรกๆ แล้วรุ่นหลังจะเป็น “ปลั๊กเทา” ที่มีแรงม้ามากกว่า และสดใหม่กว่า) ตอนหลังจึงมี 1JZ-GTE อันนี้ถ้าใครวาง ก็ “สุดจังหวัด” เพราะเป็นบล็อกใหม่มาแรงในยุคนั้น เรียกว่าเป็น “กระบะไฮโซ” กันเลยทีเดียว แต่ถ้าจะให้ “สุดประเทศ” จริงๆ ก็จะต้องวาง RB26DETT นี่แหละ “เกิดจริง” ตอนนั้นที่ผมเคยเห็น ก็จะมีกระบะ BIG M จาก RINSPEED วางเป็นคันแรกในเมืองไทย แล้วก็มี L200 อู่ดังแถวปทุม อาจจะมีอีกแต่ก็เรียกว่านับคันได้ แล้วที่แน่ๆ “สุดขั้วหัวใจ” สมัยนั้นต้องเป็น 2JZ-GTE ที่ราคาเครื่องโคตรแพง แต่วางแล้วสุดก็ “ต้องจัด” กันหน่อย ซึ่งอู่ที่ทำกระบะวาง 2JZ-GTE เด่นๆ ก็ MONZA SPEED ลาดพร้าว นั่นแหละครับ แล้วกระบะยุค 80 ปลายๆ 90 ต้นๆ ที่วางเครื่องเบนซิน จะมีเทรนด์ “เปลี่ยนช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบอิสระ” ตอนนั้นก็จะนิยมยกแพหลัง SUPRA MA70 มาใส่ (R32 ตอนนั้นยังใหม่และแพง เลยยังไม่มีของมือสองหลุดมา) ก็ต้องทำแชสซีด้านหลังใหม่เพื่อตั้งแพ อันนี้ก็ “เสี่ยงเสียศูนย์” บางคันทำดี ศูนย์ได้ก็รุ่ง บางคัน “ผิดเหลี่ยม” ก็แถข้างกันไป…

อีกประเภทหนึ่ง คือ “รถขับหน้าบ้านๆ เอามาวางเครื่องแรงๆ” อย่าง COROLLA AE92 จะเอาแรงแบบ “มีระบบสืด เอ๊ย สูดอากาศ” ตอนแรกก็วาง 4A-GZE ตอนหลังชัก “ไม่พอมือพอ Teen” ก็ล่อ 3S-GTE จาก MR2 แม่มเลย ก็แรงเพลาแทบขาดแล้ว ส่วนรถยอดฮิตตลอดกาล คือ HONDA CIVIC 3 Doors แต่ก่อนชอบเรียกกันว่า “ไอ้แมลงสาบ” กับเครื่อง B16A “เทคใหญ่” จำได้ว่า ตอนนั้นร้าน “ชัยศิริยนต์” จะเป็นเจ้าแรกที่วางเครื่องรุ่นนี้ใน CIVIC EG สีน้ำเงิน ของ “คุณจุ๊บ เศวตศิลา” ตอนนั้น “เครื่องราคาโหด” จำได้ว่าระดับ “7-8 หมื่นบาท” บวกบวก ไม่ธรรมดานะครับ เครื่อง N.A. ความจุ 1.6 ลิตร แพงเท่าเครื่องเทอร์โบ 6 สูบ เลยนะ แต่ก็แรงสมใจอยากแบบ “ไร้หอย” ซึ่งตอนนั้นคนที่ทำ VTEC เป็นจริงๆ สมัยนั้นก็มีไม่กี่เจ้า พอหลังๆ มา ก็ “เซตเทอร์โบ” กันชุดใหญ่ ถ้าเป็น MAZDA 323 ก็ต้องเครื่อง B6 Turbo มีแรงๆ หลายคัน จริงๆ มันมีกันทุกยี่ห้อแหละครับ เดี๋ยวเราจะไปว่ากันในส่วนของ “โมดิฟาย” แล้วกันครับ…


Low Ride Shine Wheel

เด้งเหี้ย…ม เตี้ยแป้ก แม็กเด่น

สำหรับเรื่องของ “สไตล์การแต่งรถ” ไม่ว่าเก๋งหรือกระบะ มักจะ “โหลดแป้ก” ความเตี้ยวัดกันที่ “ซองบุหรี่” แรกๆ ก็ “วางตั้ง” สเต็ปสอง “วางตะแคง” สเต็ปสาม “วางนอน” วัดกันดิบๆ ยังงี้แหละ เตี้ยไม่ถึงขั้นนี่ “อายเค้า” นะจ๊ะ ถึงขั้น “ผ่าซุ้ม” กันเลย ขอบอกว่า “เตี้ยสด งดไฮดรอลิก” ด้วยนะฮะ ขับท่านั้นเลย เจอเนิน คอสะพาน ก็ต้อง “เอียง” ตะแคงขึ้น แหม มันเท่จุงเบย ตอนนั้นรถบนท้องถนนไม่เยอะมากก็ทำได้ มาเป็นสมัยนี้คง “โดนไล่แห่” เอาแน่ พวก “จัดเตี้ย” ที่ “ถึง” สุดๆ ยกตัวอย่าง “คุณเหลือ ทีมเปรียว Junior” (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เล่นเอา BENZ W124 Coupe ตอนนั้น “รถใหม่ป้ายแดงนะครับ” มาถึงก็จัดการ “ผ่าตัด” แบบไม่เสียดายรถกันเลย เพื่อให้รถเตี้ยสุดๆ ไม่ถึงจริงทั้ง “ใจ” และ “ตังค์” ทำไม่ได้นะเนี่ย ส่วน “ล้อ” ก็ต้องเน้น “สวยๆ ใหญ่ๆ” ไว้ก่อน ถ้า “สายเงาวิ้งปิ๊งปั๊ง” ที่นิยมก็มี BBS RS จาก BMW E34 ใหญ่สุดขอบ 18 นิ้ว ถือว่าสุดยอด อีกอย่างที่ฮิตทั่วเมือง คือ “RIAL ออฟลึก” ไม่มีเด็กซิ่งคนไหนไม่รู้จักล้อนี้ ใส่กันแทบทุกคันจริงๆ  ใส่ไม่ได้ กูก็จะใส่ ถึงขั้น “ผ่าซุ้ม ตัดปีกนก” เล่นมันทุกอย่าง แต่ถ้า “สายล้อซิ่งวิ่งจริงจัง” ตอนนั้นก็จะมีแฟชั่นล้อ SPARCO ทั้งรุ่น NS-II ลาย 8 ก้านคู่ โดดเด่นด้วยการชุบ “อโนไดซ์” เป็นสีสันต่างๆ ขอบแดง ก้านดำ นี่ฮิตมาก เลยกลายเป็น “แฟชั่น” ในยุคนั้น ล้อปลอมเพียบ ล้ออื่นๆ ก็พยายามทำเป็นสีอโนไดซ์แบบนี้แหละ แต่ทำกันส่วนใหญ่ก็ไม่แท้หรอก บางทีเอา “สีแดงเคลียร์” พ่นเอา แรกๆ ก็สวยอยู่ ใช้ไปไม่นาน “สีลอก” เลยกลายเป็นเรื่องฮากันไป…

ส่วนล้อที่นิยมอีกแบบ ก็คือ “RACING HART DTM” โคตรฮิตตามการแข่งขัน DTM ที่ตอนนั้นเรากำลังตื่นเต้นกับมัน แล้วก็ IMPUL SILHOUETTE (ซิลลูเอ็ท) ลายประมาณเดียวกัน บางคนไม่มีตังค์ซื้อ ก็เอาล้อ ACCORD ตาเพชร ที่ “ลายคล้ายกัน” มาปัดเงา ถอดฝากลางออก มาแปลงใส่ CIVIC แล้วกดเตี้ยสุดๆ (สูตรนี้ของ เน JAIMA) แล้วที่ขาดไม่ได้ครับ “สติกเกอร์ทีม” ติดตัวโตๆ หน่อย และติดในตำแหน่งที่เป็น Pattern ของทีม เช่น มุมกระจกด้านขวาบน (ฝั่งคนขับ) กระจกหลังนี่ต้องมีอยู่แล้ว ยังมีสติกเกอร์ “แรงทางใจ” ติดที่ประตูหน้า เช่น HKS, GReddy, TRUST, A’PEXi, TANABE ฯลฯ ตอนนั้น “รถเข็นขายสติกเกอร์” มีทุกยี่ห้อ ซื้อแปะกันเพลิน ถ้าจะฮิตสุด ก็ต้อง JUN AUTO MECHANIC ที่ตอนนั้นฮือฮามาก สติกเกอร์ต้องตัวโตๆ “สีเหลืองสะท้อนแสง” ด้วยนะ ส่วน “ภายใน” นี่เลยเว้ย ต้อง “เบาะสีครีม” รถห่…อะไรก็ตาม ต้องหุ้มเบาะครีม พวงมาลัยก็ BENETTON หลากสี หรือไม่ก็ MOMO แล้วแต่ขอบ “เกจ์วัด” นี่เลย ต้องมีครับ AUTO METER Monster วัดรอบขนาด “5 นิ้ว” แหม หยั่งกะนาฬิกาปลุก ต้องมี “วัดบูสต์” ยี่ห้อเดียวกันติด Pillar เสา A ใครติดจอดที่เปลี่ยวๆ รับรองโดนทุบกระจกสอยของเป็นว่าเล่น ส่วนเครื่องเสียงก็ต้อง “ตึ้บ” หน่อย ซิ่งพร้อมเปิดเครื่องเสียงดังๆ “ล่อลูกกวาด” ให้หันมอง ดูก็บ้าๆ กันดีนะ แต่มันเป็นเทรนด์สมัยนั้นจริงๆ ที่ตอนนี้ต่างคนก็ต่างรำพึงรำพันถึงตอนนั้นว่า “กูทำไปได้ไงวะ” ฮ่าๆ..

 

Modified Trendy

แรง พัง ของคู่กัน แต่มันได้ “ประสบการณ์”

จากการที่ตัวผม “พี สี่ภาค” ได้เริ่มมีประสบการณ์เกี่ยวกับรถวางเครื่องในยุคนั้น ก็เลยขอ “ผสมผสานเรื่องราว” เข้ากับพวกพี่ๆ เขาด้วยนะครับ ในสมัยนั้น มันเป็นการเข้าสู่ “ยุคหัวฉีดเทอร์โบ” มาพักหนึ่ง ตอนนั้นใครวางเครื่องหัวฉีดเทอร์โบกันเฉยๆ ยังไม่โมดิฟายก็ “โคตรเท่และแรงแล้ว” แต่จะแรงจริง สมบูรณ์จริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ “ฝีมือช่าง” ถ้าทำสายไฟไม่ครบ ก็จะ “แรงไม่เต็มที่” จริงๆ ตอนนั้นก็ไม่ครบเต็มร้อย ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าดีแล้ว เพราะเครื่องสมัยก่อนมันไม่ได้ Sensitive มาก จึงไม่เกิดปัญหาเยอะ แต่ถ้า “โคตรไม่ครบ” ก็ซวยไป บางเจ้าก็ทำได้แค่ “ติดเครื่องวิ่งได้” แค่นั้นจริงๆ แต่วิ่งแมวไม่เห่า แดกน้ำมันเป็นปล้น มีปัญหานู่นนี่นั่น “ไม่จบ” ไปๆ มาๆ แม่มใช้งานห่วยกว่าเครื่องเดิมอีก เรียกว่าเป็นปกติ ที่หลายคนต้องพบกับความ “ผิดหวัง” ต้องทัวร์กันหลายอู่ ใครว่าอู่ไหนดีก็แห่กันไป ดีจริงก็จบไว ดีไม่จริงก็ช้ำใจ มีเยอะที่ “ต๊อแต๊” หมดใจ หมดตูด ยังไม่ได้เรื่อง ขายรถทิ้งเลิกเล่นไปเลย หรือวางเครื่องเดิมกลับแล้ว “ปลง” ส่วนใหญ่ก็มีปัญหาเรื่อง “วายริ่ง” กันนี่แหละครับ Shop Manual หรือ Wiring Diagram ก็ไม่มี (เพิ่งมามีตอนหลังๆ) ถึงมีก็เสือกเป็น “ภาษายุ่น” ก็ต้อง “Verb to เดา” แบบมีเหตุผลกันไป พอวางเครื่องเสร็จ สเต็ปแรกที่ต้องทำ คือ “ปรับบูสต์” มีหลายวิธีครับ ถ้าแบบบ้านๆ ก็ “เปลี่ยนสปริงเวสต์เกตกระป๋อง” ง่ายดี ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ถ้าจะ “ฮาร์ดคอร์” ก็ “เจาะเวสต์เกต” ซ้า… พอมีตังค์ขึ้นมาอีกหน่อย ก็ “เปลี่ยนหอยใหญ่” อันนี้จะดูเท่มาอีกระดับ แล้วก็ไปซื้อ “ปรับบูสต์มือหมุน” ของ TRUST มือหมุนสีฟ้า (แม่มใหญ่หยั่งกะก๊อกน้ำสนาม) หรือบางคนก็ “โอทอป” เอา “ก๊อกน้ำ” มาทำก็มีเยอะ มันส์มือหมุนมาก “กระจายสิครับ” ลูกสูบออกมายิ้ม มีแต่คลั่งบูสต์ น้ำมันไม่เพิ่ม ไฟไม่ปรับ จะรอดไหมละ สเต็ปต่อมา ก็ต้องหาทาง “เพิ่มน้ำมัน” ไม่ให้มันพัง ก็มีหลายวิธีอีกเหมือนกัน ตอนนั้นเล่นกันง่ายๆ เลย คือ “ฝังเข็ม” หรือ “ติดตั้งหัวฉีดเสริม” ตรงก่อนเข้าท่อร่วมไอดี ก็เอาหัวฉีดรถเครื่องเล็กๆ พวก Kei Car มาใส่ แล้วใช้ “Pressure Switch” เป็นตัวควบคุม เวลาบูสต์มา มันก็จะสั่งให้หัวฉีดทำงาน บางทีเวลาจะซิ่ง ก็ต้องให้ “เพื่อนคอยกดสวิตช์” เวลาบูสต์มา รอบสูง กดเพิ่มน้ำมันเข้าไป เออ เล่นยังงี้ก็มันส์ดี แต่ต้องมี “บัดดี้รู้ใจ” หน่อยนะ กดให้ถูกจังหวะ…

ใครมีงบขึ้นมาหน่อย ก็จะซื้อพวก “กล่องปรับไอ้นู่นไอ้นี่ได้” ผมเรียกว่า Additional Controller เป็นสากลก็แล้วกัน สมัยนั้นก็จะมียี่ห้อดังๆ อย่าง HKS ยกตัวอย่าง เช่น EVC ปรับบูสต์ไฟฟ้า, GCC ปรับองศาไฟจุดระเบิด, PFC F-CON กล่องใหญ่บะเร่อ ฯลฯ ส่วน GReddy ก็จะเป็น REBIC ปรับน้ำมันตามรอบ บูสต์ ก็เป็นปุ่มหมุนง่ายๆ กว่า HKS ที่ออกจะ “ล้ำ” ในตอนนั้น แล้วก็มี A’PEXi AFC ปุ่มเดียว พวกปรับบูสต์ไฟฟ้าปน Manual ตอนนั้นที่ฮิตๆ ก็จะมี GOING ตัวเล็กๆ สีดำ มีปุ่มปรับ 2 ปุ่ม Lo และ Hi เวลาบูสต์มา ไฟดวงเล็กๆ จะเป็น “หลากสี” เหมือนไฟดิสโก้ โอ๊ย มีอีกเพียบ แต่ !!! เป็นเรื่องยากในการ “จูน” เพราะสมัยนั้น คู่มือปรับจูน ก็จะเป็น “ภาษาญี่ปุ่น” ล้วนๆ ถ้าไม่ “แตกฉาน” ก็ “ใบ้ Dag” อาศัย “วิ่งจูนด้วยความรู้สึก” ปรับทุกอย่างไว้ตรงกลางก่อน แล้วค่อยๆ “ขยับ” ดูแนวโน้มว่ามันจะออกอาการกันท่าไหน เรียกว่า “เหนียงยาน” กว่าจะได้จุดที่พอใจที่สุด แต่ก็ไม่ดีที่สุดครับ เพราะความรู้สึกมันไม่คงที่ (ตอนนั้นมี Dyno อยู่ที่เดียว คือ “อู่วิกรม” แต่ก็วัดได้สูงสุด 250 PS โดยประมาณ เกินกว่านั้นก็ตัดการทำงาน แล้วก็ไม่ได้จูนกันบนไดโนด้วย) บางทีถ้าจูนกันผิดวิธี ก็ “พัง” กันเป็นว่าเล่น ไม่ใช่ของเขาไม่ดีนะครับ เพียงแต่ว่าเรา “ปรับกันไม่ถูกจุด” มีเรื่องฮากว่านั้น อย่างแรก ไปซื้อของมือสองเซียงกง ส่วนใหญ่แล้วจะ “มาไม่ครบ” มีแต่ตัวคอนโทรลมา ตัวเซนเซอร์ไม่มี หรือมาไม่ครบ ต่อไปก็ใช้ไม่ได้ ได้แค่ “โชว์ไฟ” หรือมาครบ แต่ต่อไม่ถูก ปรับไม่เป็น ถึงขนาดบางคนต้องเปิดหนังสือรถซิ่งญี่ปุ่น แล้วดู “รูปภายใน” ของรถที่แรงๆ ว่าเค้าปรับไอ้ตัวนี้อยู่ตำแหน่งไหน แล้วก็ปรับตามในรูป เล่นกันยังงี้เลยครับ…

อีกอย่างก็คือ “กล่อง ECU โมดิฟายจากญี่ปุ่น” ทำ Rom มา ดีไม่ดีไม่รู้ “ต้องลองเสียบวิ่งดู” ประการแรก ก็หวังให้ปลดล็อก 180 km/h ซึ่งเป็นปัญหาแรกเจอสำหรับเครื่องจากญี่ปุ่น แต่จะ “วิ่งสมบูรณ์หรือไม่” อันนี้ตอบไม่ได้ ต้องลองอย่างเดียว เพราะกล่องพวกนี้เราไม่รู้ว่าทำมากับเครื่องสเต็ปไหน เงื่อนไขต่างๆ เช่น ออกเทนน้ำมันเชื้อเพลิง, อุณหภูมิ ก็ไม่เหมือนกับบ้านเรา ถ้าเจอที่มัน “แมตช์” ก็ถือว่าโชคดีไปครับ ตอนหลังเลยมี “จูนเนอร์” เกิดขึ้น ตั้งแต่ Import มาจากญี่ปุ่น ที่ดังๆ ก็มี Mr. Koyama ของ JUN ที่มาอยู่เมืองไทย และสอนเรื่องเทคนิคการโมดิฟายให้กับช่างไทย คือ “พี่ทูน” TOON ENGINE ในปัจจุบัน ส่วน “จูนเนอร์ไทย” แน่นอนครับ ในยุคนั้นก็ต้อง MoTeC ไม่พ้น “ดอน เชี่ยวชาญวลิชกิจ” ที่บินไปเรียนถึง “ออสเตรเลีย” ตอนนั้นก็จะเริ่มมีการโมดิฟายแรงๆ เกิดขึ้นแล้ว ผลงานเด่นๆ ตอนนั้น ก็จะมีเหล่า HONDA VTEC Turbo ตัวแรงๆ ที่ทำเครื่องโดย NOI ELEVEN ตัวโหดๆ หลายคัน ทั้ง B18C และ H22A หรือรถสปอร์ตญี่ปุ่นโมดิฟายยี่ห้อต่างๆ ก็ดีนะครับ แรงและไม่พังง่ายเหมือนแต่ก่อน เป็นจุดเริ่มของการ “จูน Real Time” ที่ตรงกับความต้องการของเครื่องยนต์และวัตถุประสงค์การใช้จริงๆ มีการขึ้น “ไดโนเทสต์” ที่ Ray Techno Service (อยู่ในซอยหลัง เดอะมอลล์ รามคำแหง) สามารถรองรับแรงม้าสูงๆ ได้เป็นที่แรกของเมืองไทย จึงเป็นค่ามาตรฐานในการวัด “แรงม้า” หมดยุค “แรงโม้” และยึดถือเป็นมาตรฐานจนถึงปัจจุบัน…

ส่วนอีกแบบก็จะเป็นการแต่งแบบ “น้ำจิ้ม” เครื่องเดิม แต่เสริมพวก “กรองเปลือยทรง K&N + สายหัวเทียน + หัวเทียน + หม้อพักไอเสีย” จะ แรงขึ้นจริง หรือแรงทางใจ ก็แล้วแต่คุณภาพของที่ใส่ และการติดตั้ง แล้วก็มา “เครื่องเดิม เซตเทอร์โบ” เครื่องรถบ้านเราส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็น “รุ่นธรรมดา” ซึ่งบางคนก็ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องเป็นของ “ตัวนอก” ที่แรงกว่าได้ เพราะ “วีซ่าทางบ้านไม่ผ่าน” ก็เลยต้องหาทางแรงกับเครื่องเดิม (จะได้บอกทางบ้านได้ว่าเครื่องเดิมนะ ไม่ได้เปลี่ยน แต่ไม่บอกว่าโมดิฟาย ฮี่ๆ) สมัยนั้นก็จะมีเทรนด์ฮิต คือ “HONDA เครื่องเดิม เซตเทอร์โบ” เอาไว้ไล่ Dag พวกเปลี่ยนเครื่อง VTEC ก็อู่ NOI ELEVEN อีกนั่นแหละ หรือไม่ก็ “รถฝรั่ง เครื่องเดิม เซตเทอร์โบ ใส่ชุดไฟ 3T-GTE” แต่ต้องเป็น “4 สูบ” นะครับ เช่น BMW E30 เครื่อง M10 คาร์บู ทำเป็นหัวฉีด เทอร์โบ หรือไม่ก็ VOLVO 244 อะไรพวกนั้นละครับ ชุดไฟ 3T-GTE ดีอย่าง สมัยก่อนหาง่าย ไม่แพง และสำคัญ “ไม่ล็อกความเร็ว 180 km/h” พวกนี้มี “หมกไส้” ด้วยนะครับ ถ้าจะทำเต็มสูตรก็ต้อง “เปลี่ยนลูกสูบ ลดกำลังอัด” ก็ไปเทียบเอาเครื่องอื่นมาใช้ ผมว่าทำไปทำมาแพงกว่าวางเครื่องใหม่อีกนะ แต่ได้ “ความสะใจ” ว่าเครื่องเดิมๆ โมดิฟาย สามารถสอยเครื่องตัวแรงจากนอกได้…

Race Team & Modified Garage & Speed Shop in Memorial

ไร้ Social Network แต่ “เวิร์ก” กันด้วย “ใจรัก”

          ต้องบอกก่อนว่า ตัวผม “พี สี่ภาค” เอง ในยุค 90 ตอนนั้นก็อาศัยว่าคุณพ่อทำอู่ และทำรถวางเครื่องเพื่อใช้งานเดินทางไกล จึงได้คลุกคลีอยู่กับวงการโมดิฟายในยุคนั้นอยู่บ้าง จึงพอมี “ความทรงจำ” ตรงนี้อยู่ แต่ไม่ได้ไปซิ่งกับพวกพี่ๆ เค้า (เกิดไม่ทัน) ในด้าน “สังคมคนซิ่ง”

ส่วนตัวผมอาจจะไม่ได้ “คลุกวงใน” สักเท่าไร ก็เลยต้องอาศัยพี่ๆ ทีมรถซิ่งในยุคนั้นมา “เหลา” ให้ฟัง อาจจะเขียนถึงไม่ครบทุกทีมหรือทุกอู่ ตัวผมเองก็ขออภัยด้วยนะครับ ก็ขอกล่าวถึงเป็นการ “ยกตัวอย่าง” แล้วกัน ส่วนตัวผมเอง ก็ทำหน้าที่เป็น “ตัวเชื่อมกาลเวลา” ว่าสมัยก่อนมีอะไร “มันส์ๆ” ที่เราจะได้รู้กัน “ที่นี่ ที่เดียว” ครับ !!!

Car Club & Team

ตอนนั้นจะนิยมเรียก “กลุ่มรถซิ่ง” ว่า “ทีม” ซึ่งต่างจากสมัยนี้ ที่จะนิยมเรียกเป็น “คลับ” เริ่มกันจาก “SHORT BLOCK”  ชื่อนี้มาจาก “เครื่องบล็อกเล็ก” ที่นิยมใช้กัน มี “คุณเอ๊ดดี้” และ “คุณแอนดี้” รถ NISSAN SKYLINE R32 GT-S 4 ประตู, TOYOTA MR2 สีเหลือง, “SIX SECOND” ชื่อนี้มาจาก Class 6 วินาที ของรถควอเตอร์ไมล์ในอเมริกา ผู้ก่อตั้ง “คุณก้อง + คุณโอ๋ + คุณขวัญ + คุณบอม” ตอนนี้คนในทีมที่มีชื่อเสียง คือ “คุณดอน โมเทค” และ “คุณจ๊อบ BDR” รถเด่นในทีม PEUGEOT 504 เครื่อง SR20DET “ไฟแลบ” ยาวเกือบ 2 เมตร ด้วยการกด Pressure Switch ตอนยกคันเร่ง เน้น “โหด” เท่านั้น แล้วก็ NISSAN SKYLINE R32 สีแดง ของ “คุณเดช” นั่นเอง, “เปรียว JUNIOR” ผู้ก่อตั้งคือ “รุ่นเดอะ” ในยุค 80 (ไม่ประสงค์ออกนาม) แล้วสมาชิกในยุค 90 จึงเป็น “จูเนียร์” ตั้งแต่ยุคนั้นมาเลย รุ่นนี้ที่เด่นๆ ก็จะมี “คุณเหลือ + คุณทร” สองคนนี้วงการรถซิ่งต้อง “ยกให้” ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วทั้งสองคน (เสียใจด้วยนะครับ) ส่วนที่ยังเล่นรถอยู่ ก็มี “คุณเกี้ย + คุณอำนวย” รถเด่นๆ ยุคนั้นมีเพียบ เช่น MAZDA RX-7 รุ่น SA22C มีหลายคัน คันเด่นๆ ก็จะเป็น “สีส้ม โป่งยักษ์สไตล์ตัวแข่ง IMSA” (คันนี้ผมเคยเจอเมื่อประมาณ 10 ปี ที่แล้ว จอดเก็บอยู่ใต้ Apartment ย่านสุทธิสาร เป็นรถของเจ้าของ Apartment นั่นแหละครับ แต่ขอไม่ออกนาม) แล้วก็ BMW E30 แล้วก็มาสู่ “กระบะวางเครื่อง” ถ้าบอก “กระบะทีมเปรียว” คนที่ทันยุคนั้นจะรู้จักกันดี, “JAIMA” ตรงตัวเลยครับ “ใจหมา” ที่มาก็เหมือนกับคำพูดด่ากันขำๆ ตอนนั้น ผู่ก่อตั้ง คือ “คุณเน 25G” ขับ HONDA CIVIC 3 Doors “โหลดแอ้บ” ขับใช้งานทุกวันด้วย แข่งด้วย เรียกว่าเป็นผู้นำเทรนด์รถเตี้ยแป้ก คนนี้ “ขาล่ารางวัล Bracket” ส่วนสมาชิกอื่นๆ ก็ไปทางเซอร์กิตบ้าง ที่ยังแข่งอยู่ก็มี เช่น “แบงค์” พัฒวิช พยัฆโส (สเมิร์ฟ), “FINAL LAP” คนดังๆ รถแรงๆ ก็จะมี “คุณสอง” ขับ FORD LASER เครื่อง B6 Turbo, “คุณโย่ง” และที่ตอนนี้ยังอยู่ในวงการ คือ “คุณอรรถ N-SPORTS” กับ TOYOTA STARLET Turbo, “KANSAI SERVICE” ชื่อทีมก็มาจากตอนสมาชิกในกลุ่มเดินทางไปฮ่องกง แล้วได้สติกเกอร์สำนักแต่งนี้มา เลยเอามาตั้งเป็นชื่อทีม คนเด่นๆ ก็คือ “คุณอั๋น ATP” กับ NISSAN 200 SX “King of 1800” ตอนแรกทำกับ “ชัยศิริยนต์” และ “RAY SPORT” ตอนหลังก็ไปทำกับ JUN อีกคันเป็นของพี่ชาย ก็คือ TOYOTA MR2 สีดำ ล้อ BBS RS ทำที่ RAY SPORT ชุดใหญ่ (ทั้งสองคันนี้ผมเคยเจอรถจริงในยุคนั้น), “PROJECT M” นำทีมโดย “คุณเล็ก” เจ้าของร้าน PROJECT M ไม่ต้องบอกนะครับ ตัวแรงเพียบ เด่นสุดๆ ก็คือ TOYOTA SUPRA VEILSIDE COMBAT 700  PS คันนี้สั่งเป็น Complete Car มาโดยตรง ความแรงไม่ต้องพูดถึง “หัวแถว”

แล้วก็มีอื่นๆ อีก เช่น NISSAN SKYLINE R32 VEILSIDE และ MAZDA RX-7 RE AMEMIYA (สองคันนี้เป็นการซื้อชุดพาร์ทมาใส่ ไม่ได้เป็น Complete Car เหมือน SUPRA) แล้วก็ SPEED-D ก็มาจากสายทีมนี้แหละครับ ตอนนั้น “เสี่ยดี” ขับ SKYLINE R32 GT-S วาง RB26DETT ขับสอง, สำหรับ “คู่รักคู่แข่ง” ของ PROJECT M ก็หนีไม่พ้น “1885” รหัสร้อน พูดไปอาจจะไม่รู้จัก แต่บอกชื่อ “ป๊อปปิ” แต่ก่อนอยู่ทีม 1885 ครับ ตำนาน R32 สีดำ ตอนแรกทำที่ RAY SPORT แล้วจึงก่อตั้ง JUN THAILAND ขึ้นมา ในยุคแรกเริ่ม คันนี้มีแรงม้าอยู่แถวๆ 700 PS ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็น 1,000 PS คันแรกของเมืองไทย ถือเป็น “ตัวแรงระดับตำนาน” อีกคัน, “ZIGGY + I’M SORRY” นี่ก็ดังหยุดไม่อยู่ ผู้ก่อตั้ง คือ “ร.อ.เศรณี เพ็ญชาติ” พร้อมสมาชิกเด่นๆ คือ “คุณที + คุณพาย + คุณบอย เทียนทอง + คุณเอก อโณทัย เอี่ยมลำเนา” มาจากตอนไปเรียนที่ “อเมริกา” ก็มารวมกลุ่มกันต่อที่เมืองไทย ตัวเด่นก็จะมี HONDA CIVIC EG เครื่อง ZC แคมเดี่ยว Turbo แต่งสไตล์อเมริกา, “SIDE LINE” ของ “คุณลิ้ม” Tuned by Lim มือจูนรถสนามชื่อดังในตอนนี้, “UNIFY” น่าจะจำกันได้กับ “คุณโป้ง NUTO” ตอนนั้นก็สปอร์ตตระกูล NISSAN ทั้ง SKYLINE และ SILVIA S13 อีกคนก็คือ “คุณใหม่ P&C” ที่ปัจจุบันยังอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตเต็มตัว กลุ่มนี้จะเน้น “รถเนี้ยบ ล้อโต” เป็นหลัก, “คลองบางซื่อ” อยู่ย่านวิภาวดีเลยครับ สมาชิกก็จะเป็นญาติพี่น้องที่เล่นรถด้วยกัน แกนหลักๆ ก็จะมี “คุณกบ + คุณกุ๊ก + คุณอู๊ด” รถเด่นๆ ก็จะมี BMW E30 หลายคัน เครื่อง M POWER อีกคันก็เล่น RB26DETT กันเลย แล้วก็มี TOYOTA CORONA วาง 3S-GTE, “CRAZY-F CONFEDERATION ” ตัว F มาจาก Fast จริงๆ มีนานมากแล้วครับ แต่กลับมารวมตัวอีกทีในปี 1996 โดย “เฮียอ๋า” ส่วนแกนหลักก็คือ “พี่เบิ้ม” ร้านสติกเกอร์, “CULMINATE” ก่อตั้งโดย “คุณไก่” รถเด่น คือ HONDA CIVIC 3 Doors เครื่อง B18C Turbo กล่อง MoTeC, ส่วนทีมอื่นๆ ที่ก่อตั้งในยุคปี 90-99 ผมขอ “รวบรัด” เลยนะครับ เพราะเนื้อที่ไม่พอแล้ว เช่น INVADE, GENESIS, REACT, FLASH RACING TEAM, ZEUS, UNITY FAMILY, THE BONG, CAKE MAKER, CANNON BALL etc. ตบท้ายด้วย “คุณหญิง” ทีม DRIVER MOTORSPORT ที่เป็นนักล่ารางวัล Bracket ตัวยง ถือเป็นนักแข่งสาวสุดสวยในตำนานเพียงคนเดียวที่โด่งดังไม่แพ้ผู้ชายเหมือนกัน…

 

Speed Shop

มาถึง Speed Shop ผมจะจำกัดความว่า มีหน้าร้านสำหรับ “ขายของซิ่ง” ด้วย และมีพื้นที่สำหรับเซอร์วิส ติดตั้งอุปกรณ์ให้ลูกค้า ก็ขอเลือกร้านที่เด่นๆ เป็นตำนานนะครับ ตอนนั้นดังๆ ก็จะมี “DRIVER MOTORSPORT” ของ “คุณเหน่ง” ร้านแรกอยู่ชั้นใต้ดิน ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ได้รับความนิยมสูง เพราะ คุณเหน่ง มีความรู้ในด้านภาษาญี่ปุ่นเป็นอย่างดี จึงสามารถติดตั้งและปรับจูนอุปกรณ์แต่งรถได้อย่างถูกต้อง (ตอนนี้ย้ายมาอยู่ วิภาวดี 20), “EMOTION R” ตรงข้าม ABAC ของ “คุณหม่อม” ที่ปัจจุบันก็ยังเล่นรถอยู่ ตอนนั้นก็มีตัวแรง คือ HONDA CIVIC & ACCORD & NSX จับยัด Turbo ทุกคัน เรียกว่า VTEC Turbo แรงระดับหัวแถว คือ Signature ของร้านนี้, “PROJECT M RACING SPIRIT” ของ “คุณเล็ก” อยู่ในซอยวัดบัวขวัญ ของแต่งจะแนวอลังๆ รวมยี่ห้อดังไว้เยอะแยะ ตอนนั้นได้รับความนิยมและดังมาก แล้วยังมี “เบิ้ม สติกเกอร์” เปิดอยู่ในบริเวณเดียวกัน

“TOON MOTORSPORT” ย่านบางแค ปัจจุบันยังเปิดกิจการอยู่ ของ “เฮียทูน” ตอนแรกเป็นอู่โมดิฟาย HONDA ตอนหลังผันมาเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดังจากยุโรปและญี่ปุ่น เช่น MUGEN, NEUSPEED, SABELT, HARTGE, RECARO etc., “RAY SPORT” ของ “คุณอ๋อง” ร้านสุดไฮโซ ในหมู่บ้านย่านพระโขนง (ซอย 69 มั้ง ถ้าจำไม่ผิด) ผู้แทนจำหน่าย HKS และแบรนด์ดังอื่นๆ (รับสั่งได้) ถ้าอยากจะดูสปอร์ตญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไฮโซโมดิฟายทั้งหลาย ต้องที่นี่เลย (ยุคแรกๆ พี่เขาก็มีรถแรง คือ MAZDA 323 เครื่อง B6 Turbo โมดิฟายเพียบ) ซึ่งตอนหลังย้ายมาเป็น “RAY TECHNO SERVICE” ย่านรามคำแหง (บอกไปแล้วนะว่าทำอะไร), ARTO TRD เจ้านี้ TOYOTA โมดิฟาย “สายตรง” รถทั่วไปก็ทำ แต่ก็เน้น “รถแข่ง” เป็นส่วนมาก, “GLOBAL GLOBE MOTOR” ผู้แทนจำหน่าย GReddy + TRUST ก็ขอยกตัวอย่างเท่านี้ครับ…

 

Modified Garage 

              มาถึงตรงนี้ จะเป็น “อู่” ที่เน้นในด้านการโมดิฟาย ซ่อมบำรุง เป็นหลักนะครับ เรียงตาม “ที่นึกออก” ก็แล้วกัน เริ่มกันจาก “RINSPEED” ของ “พี่ริน” อยู่ในซอยวัดสลักเหนือ เน้นงานเนี้ยบ อาศัย “ความเก๋า” จริงๆ ทำได้หมด แต่เน้น NISSAN ทั้ง SR และ RB เพราะได้รับความนิยมสูง, “UNION SPORT” ของ “พี่แดง” รู้กันว่า “อารมณ์ศิลปิน” นี่ก็สาย NISSAN ตัวแรงที่กล่าวขาน คือ NISSAN CEFIRO โฉม 12 วาล์วเดิมๆ วาง RB20DET “ยัดไส้” แรงนะจะบอกให้, “NOI ELEVEN” ของ “พี่น้อย” ไม่ต้องสาธยายกันมากครับ รถแรงๆ ยุคก่อนก็เกิดขึ้นที่นี่เยอะ โดยเฉพาะเหล่า HONDA Turbo ทั้งหลาย และ NISSAN SKYLINE R33 GT-R ของ “ก๋อย” ที่เบ่งแรงม้าได้ถึง 684 PS, “NOI AUTO RESEARCH” เป็น “พี่น้อย” อีกคน แต่ก่อนต้องเรียกชื่อพร้อมตามด้วยอู่ เพราะมี “สองน้อย” (จริงๆ มี “สามน้อย” อีกคน คือ “น้าน้อย เชฟวี่” เจ้านี้สาย Drag อเมริกัน) ก็ทำรถโมดิฟายทั่วไปครับ, “Tune by OP” ของ “หะ-ทัย-ไช-ยะ-วัน” ลูกชายสุดที่รักของ “ป๋าฉัตร” เจ้าพ่อ DATSUN แห่ง “ฉัตรชัยการช่าง” ผู้ล่วงลับ เน้น NISSAN และ HONDA เป็นหลักใหญ่ ตัวแรงมีหลายคัน เหลาไม่หมด, “DREAM SPORT” ของ “เฮียปุ๊ย โรตารี่” นอกจาก MAZDA แล้วก็รับทำรถยี่ห้ออื่นด้วยนะครับ รวมถึง Retro car อีกด้วย, “JUN THAILAND” ของ “คุณป๊อปปิ” ที่ได้ “Mr. Koyama” มาสอนช่างเรื่องเทคนิคการทำรถแรง ตัวเด่นๆ คงไม่ต้องมั้ง หัวหน้าช่างที่สืบสานความรู้มา ก็ “พี่ทูน” แห่ง TOON ENGINE SHOP ในบัดนาวไงครับ

“SHOW TIME” สาย VW แรงๆ ทั้งมีหอยและไม่มีหอย ทั้ง “จึ๊กเดียวจบ” ทั้ง “เซอร์กิต” ไม่ต้องบอกมั้งว่าเป็นของ “หม่อมตุ้ย”, “WORK POWER” ของ “เฮียชัย” สมัยนั้นเน้นงานวางเครื่องและโมดิฟาย, “C&L” ของ “เฮียเลี้ยง” กับ “เฮียตู่” ตัวดังๆ ก็จะมี NISSAN SKYLINE R32 แล้วก็ดังกว่า คือ NISSAN NV SR20DET ขับสี่ จาก PULSAR คู่แข่ง Tuned by OP, “NUTO RACER” ของ “คุณโป้ง” ก็เน้นสปอร์ตค่าย NISSAN ดังกล่าวไปแล้ว, “COPORATE MODERNIZE” ของ “หนึ่ง” ร้านนี้รับ “จัดเตี้ย” โดยตรง รถเด่นของร้าน BENZ 190E ใส่ล้อ RIAL ออฟลึก กระป๋องโค้กวางได้ กดเตี้ยสุดๆ ไม่พึ่งถุงลม, “PROSTREET” ก่อตั้งโดย “พีท ทองเจือ” ก็รับซ่อมบำรุง วางเครื่อง โมดิฟาย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีผลงานในด้านมอเตอร์สปอร์ตอย่างต่อเนื่อง, “ชัยศิริยนต์” ปทุมวันซอย 26 ที่มีเครื่องซิ่งสภาพสวยๆ ทุกรุ่น เผลอๆ มีเครื่องโมดิฟายจากนอกมาด้วย แล้วก็มีของซิ่งมือสองต่างๆ มาแบบครบวงจร (แล้วแต่ว่าจะเจออะไร) ที่นี่จะเน้น “วางเครื่อง + ใส่ของซิ่ง + เซอร์วิสรถซิ่ง” ซึ่งในเวิ้งนั้นก็ดังสุดแล้ว ถ้าเป็นสาย “MITSUBISHI” ก็จะมี “MITSUSPORT” ส่วน SUBARU ดังสุดก็ต้อง “กมลเซอร์วิส” จริงๆ ยังมีอีกหลายอู่ครับ เพียงแต่เนื้อที่ไม่พอจริงๆ เลยขอแนะนำเป็น “ตัวอย่าง” นะครับ..

 

 

The Spirit of Friendship

บทสรุปแห่ง “มิตรภาพนักซิ่ง” ส่งข้อคิดสำหรับนักซิ่งรุ่นใหม่

                หลังจากที่ผม “พี สี่ภาค” ได้ฟังนักซิ่งรุ่นพี่ ที่ใช้ชีวิตโลดแล่นในยุคปี 90 แล้ว ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่า “ด้วยความยากลำบาก มันทำให้เกิดการพัฒนา และความพยายาม” ทำรถไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ ต้อง “เก็บเล็กผสมน้อย” ทำแล้วเป็นยังไงก็มาเรียนรู้กัน และ “ได้ฝึกขับรถเป็นลำดับขั้น” ทำให้เรา “รู้รถ” ค่อยๆ ฝึกฝนไต่เต้าไป ส่วน “เหตุที่รอดมาได้” และมานั่งเล่ากันจนถึงปัจจุบันนี้ สมัยก่อนกลางคืนถนนโล่ง รถก็ไม่ได้แรงมากมายเหมือนสมัยนี้ ต่างจากสมัยนี้ที่รถแรงกว่าตอนนั้นหลายเท่า และส่วนใหญ่เวลาขับซิ่งกันก็ “ใช้อารมณ์” มันเลยกลายเป็น “ดาบสองคม” ก็ฝากเตือนน้องๆ ว่า “ให้ขับด้วยความระวัง” ส่วนอีกเรื่องที่เน้นหนัก คือ “มิตรภาพ” ต่างทีม ต่างคน ต่างที่มา ทุกคนมาเจอกันในสังเวียนรถซิ่ง “ใส่เต็ม จัดหนัก” กันทั้งนั้น

แต่ทุกคนก็มีความเป็น “น้ำใจนักกีฬา” หลังจากที่แข่งกันจบ ไม่ว่าจะแพ้ หรือชนะ ต่างยอมรับซึ่งกันและกัน แต่บทสรุป คือ “ทุกคนเป็นเพื่อนกัน” เหมือนทุกคนเคยผ่านเส้นทางเดียวกันมา ผิดหวัง สมหวัง มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้จะอยู่คนละทีมก็ตาม สังคมสมัยนั้นหล่อหลอมไว้อย่างนี้ ทุกวันนี้ ผ่านมา 20 ปี ทุกคนก็ยังมานั่งเฮฮากันได้ ก็ยอมรับว่าสมัยก่อนสังคมคนเล่นรถมันยังไม่ได้เยอะมาก ทุกคนเลยรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งต่างจากตอนนี้ ที่สังคมมันขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องยากในการควบคุมก็ขอฝากน้องๆ อีกเรื่อง “เล่นรถกันอย่างมีมิตรภาพ มีน้ำใจให้กัน” สังคมรถซิ่งก็จะยกระดับขึ้นไปอีกเยอะครับ…

 

ท้ายสุด ตัวผมเอง “อินทรภูมิ์ แสงดี” ก็ขอขอบคุณ และยกความดีความชอบ ให้กับ “ทุกท่านที่สละเวลาเล่าเรื่องดีๆ ให้ฟัง” ตัวผมเองก็ตั้งใจจะให้เรื่องนี้ “เป็นความรู้และมีข้อคิดดีๆ สำหรับนักซิ่งรุ่นใหม่” หากมีข้อบกพร่อง หรือผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับ แต่บอกก่อนว่า หากมีข้อมูลลึกขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นมี EPISODE II ตามมาแน่นอน ขอบคุณทุกท่านจริงๆ ที่ทำให้ผมเขียนเรื่องราวมาถึงตรงนี้ได้ครับ…