เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่
RADIO CAN (Can) Do
เจาะสูตรโมฯ “กระป๋องซิ่ง” สเต็ปเทพ
By T-SPEED พ่อมดรถกระป๋อง
เอาอีกแล้วววววววว อะไรที่มันเคยฮิต มันอาจจะหายไปเลย เหมือนกระแสน้ำที่ไม่เคยหวนกลับ แต่คราวนี้ “น้ำสวนกระแส” คำว่า “ของเล่น” ที่ “มีล้อ” และ “บังคับได้” มันอาจจะเป็นของ “เด็กน้อย” หรือ “เด็กหนวด” ก็ได้ มันก็เหมือนรถย่อส่วนที่เราจะสามารถ Custom หรือ Modified มันอย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการ เหมือนรถจริงแหละครับ จะจูนกล่อง เซ็ตโบ โมฯ ปั๊ม อะไรก็ว่าไป แต่ไอ้รถคันเล็กๆ บังคับได้ ในนาม “รถกระป๋อง” นี้ มันก็สามารถโมดิฟายได้เหมือนกัน เลยเป็นกระแสยอดฮิตมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แล้วมันก็หายไปตามเวลา ก่อนที่จะกลับมาฮิตอีก ณ บัดนาว เรียกว่า “คลั่งโมฯ” กันเลยดีกว่า ครั้งนี้ ผมจะนำท่านไปหา “พ่อมด รถกระป๋อง” แห่ง “ริมคลอง การาจ” ฉายานี้ “ตุ้ม T-SPEED” ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย พามาเปิดสูตรโมฯ ชุดใหญ่ แถมมี “RC Dragster” ที่ Custom ขึ้นมาเองสไตล์ไทยๆ อีกด้วย ไม่ดูตอนนี้แล้วจะไปดูตอนไหน…
ย้อนตำนาน “กระป๋องซิ่ง”
สำหรับรถบังคับวิทยุ หรือ RC หรือ Radio Control Car ที่เป็นรถสเกล 1/32 แล้วเอามาใส่ Package ใสๆ มีลักษณะเป็น “กระป๋อง” ส่วน “ฝากระป๋อง” มันก็คือ “รีโมท” ควบคุมรถ เออ ไอเดียในการสร้าง Package มันดีมากเลยนะ มีเอกลักษณ์ทำให้คนสนใจ ใครจะคิดก่อนก็ไม่มีข้อมูลให้สืบค้นนัก แต่เท่าที่ “ชัดเจน” ก็คือแบรนด์ TAIYO ผลิตออกมาขาย ในชื่อเรียกว่า “TAIYO Radi-Can” ส่วนในฝั่ง “ไต้หวัน” ก็แบรนด์ฮอตฮิตติดหูคนไทย คือ AUDLEY หรือ “ตราเพชร” จะใช้ชื่อเรียกว่า “AUDLEY Race-Tin” จะเข้ามาบ้านเราเยอะเพราะราคาถูกกว่า TAIYO ที่เป็นของญี่ปุ่น ก็จะมีกลุ่มคนเล่นจริงๆ เฉพาะทางถึงจะลงทุนซื้อเล่น แต่จะออกแนวสะสมมากกว่า ส่วน AUDLEY ก็ “ใส่ไม่ยั้ง พังช่างแม่ง” เพราะราคาออกตัวมันไม่แพง…
17 ปี แห่งความหลังงงงงงง
สำหรับตำนาน “รถกระป๋อง” หรือ “รถป๋อง” ตามภาษาวัยรุ่นในตอนนั้น (และเทิร์นโปรมาเป็น “วัยแรด” ในยุคนี้) จะเริ่มขึ้นประมาณช่วงปี 2001-2002 ในช่วงนั้นผมเริ่มเข้าสู่วงจร “นักเขียนไส้แห้ง” ที่ “เข้าแล้วออกยาก” (เพราะไม่รู้จะไปทำไร) ผมเริ่มงานในนิตยสารชื่อดังเจ้าหนึ่ง ในต้นปี 2002 (ก่อนจะมาทำงานที่นี่) ตอนนั้นพรรคพวกก็บ้ารถป๋องเป็นวรรคเป็นเวร มีการโมดิฟายแข่งกัน แรงสุดๆ ล่อกัน “มอเตอร์ไหม้” ก็เป็นเรื่องเฮฮากันไปในหมู่เพื่อนฝูง ไม่ได้ซีเรียสกันเพราะมันไม่ได้แพง พังก็ทำใหม่ได้ ปรับปรุงสูตรไปเรื่อยๆ แล้วแต่ใครจะ “ไล่เจอ” ก่อนกัน…
ตอนนั้นก็ถือว่า “เป็นล่ำเป็นสัน” กันมาก แหล่ง “โคจร” ของเซียนของเล่นก็หนีไม่พ้น “สะพานเหล็ก” ที่จะต้อง “โดด” ไป “เสียตังค์” อัพยานกันหน่อย โดยเฉพาะพวกที่โดน “เชือด” มา “อยู่ไม่ไหว ต้องไปโมเพิ่ม” คนที่รับโมฯ ขายของแต่ง เช่น มอเตอร์ ล้อ ยาง สายไฟ รีเลย์ อุปกรณ์เพิ่มพลังไฟฟ้าต่างๆ ก็เหมือนกับการโมดิฟายรถยนต์ เพียงแต่มันมีเสน่ห์ตรงที่ว่า “ทำเองก็ได้” ขอให้ศึกษากันหน่อยจากผู้รู้ก็ไม่ยากแล้ว มันไม่เหมือนรถจริงที่ว่า “แรงตามตังค์ พังตามตีน” พังทีก็ “งิดแดก” มันหลายตังค์อยู่นะ ครั้นจะเล่นรถบังคับสเกลใหญ่ มันก็ “แพง” ซึ่งหลายคนก็เอื้อมไม่ถึง รถกระป๋อง ที่มีราคาย่อมเยาว์ ตอนนั้นจำได้ว่าน่าจะ “290 บาท” เองนะ แต่พอโมฯ แล้วก็หมดกันไปตาม “ฟ้าสางที่ปลายทาง” หลักหมื่นมีแน่ๆ ถ้าบ้าเข้าเส้น…
หลังจากนั้น กระแสรถกระป๋องก็จางหายไป จำได้ว่าอยู่ไม่นานเท่าไร กลายเป็น “ตกกระป๋อง” ไม่มีใครสนใจมันอีก ราคาตกมากๆๆๆๆ เหลือ 199 เหลือ 99 เคยเจอถูกสุด 59 บาท “เลหลัง” กันตามตลาดนัดก็แทบจะไม่มีใครเอา มีแต่ซื้อให้เด็กเล่นแล้วก็โยนๆ เล่นพังๆ ไป แต่ ณ บัดนาว กระแสมันกลับมาอีกครั้ง จากกลุ่มคนเล่นกลุ่มหนึ่งย่าน “บางปิ้ง มหาชัย” ที่รวมตัวกันได้มากพอสมควร มีการแข่งในระยะ 40 ม. ใช้เวลาเพียง “3 วินาที” โดยเฉลี่ย พอเล่นเยอะกระแสก็กลับมา ตอนนี้ก็เลย “เดือด” เราเกริ่นกันมาเยอะแล้ว เข้าเรื่องกันเถอะ ก่อนที่ “อ้อย คลองแปด” จะฆ่าเอา…
กล่องสีอะไรดี
จริงๆ แล้วตัวกล่องมันไม่มีสีครับ มันจะเป็นใสๆ ให้เห็นตัวรถอยู่ภายใน แต่จริงๆ สีนั้นคือ “รีโมท” ที่ทำเป็นฝาปิดในตัวไปด้วย ก็จะมีหลายสีให้เลือก เช่น ฟ้า เหลือง ส้ม แต่ตอนนี้นิยม “เหลือง ส้ม” ว่าแต่อะไรดีกว่ากัน ???
- กล่องส้ม : อันนี้โคตรฮิตติดลม เพราะมันเป็นของที่เล่นกันมานาน มันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่ที่นิยมเล่นกัน เพราะ “รูปทรงรถสวยที่สุด” ในบรรดาพรรคพวก แล้วก็มีพวกรถ Retro หรือ ยุค 90 จึงเป็นที่ต้องการมาก คนเราก็อยากจะได้รถสวยๆ ที่ตัวเองชอบ ก็เลยนิยมซื้อกัน ส่วนเรื่อง “เมนบอร์ด” นั้น “เฉยๆ ว่ะ” เพราะมันก็ไม่ได้อัพเดต ยังคงเป็นแบบเก่า แต่ก็ไม่ซีเรียสเพราะ “เอาบอดี้” เป็นหลัก เพราะส่วนอื่นๆ ก็ต้องเอามาโมฯ กันใหม่หมดอยู่แล้ว…
- กล่องเหลือง : อันนี้เป็นรุ่นหลัง ที่พัฒนามาใหม่ ในเรื่องของ “เมนบอร์ด” ที่อัพเกรดเพิ่มขึ้น สามารถทำมารองรับ “รีเลย์” ได้เลยนะ ในส่วนของ “รีโมท” ก็เปลี่ยนจาก “เมกะเฮิรตส์” (MHz) เป็น “กิกะเฮิรตส์” (GHz) ซึ่งจะได้เปรียบที่ “ช่วงความถี่” ที่สามารถ “ส่งได้ไกลและเป็นช่วงกว้างกว่า” จริงๆ ในด้านกลไกหรือระบบพวกนี้ กล่องเหลือง จะได้เปรียบ แต่ท้ายสุด ก็ต้องโมดิฟายเพิ่มอยู่ดี สำหรับสิ่งหนึ่งที่เสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ “รูปทรงและสเกลรถไม่ค่อยสวย” มันออกจะล้ำๆ คนก็เลยไม่นิยมกันมากเท่ากล่องส้ม แต่ตอนนี้กล่องเหลืองก็กำลัง “พัฒนา” กันอยู่ ถ้าแรงกว่าก็รู้กัน…
สเต็ปโมฯ มีอะไรบ้าง
สำหรับสเต็ปการโมดิฟายรถกระป๋อง จริงๆ แล้วก็มี “กลเม็ด” กันมากมาย เพราะ “เดิมๆ อยู่ยาก” ถ้าจะให้เหลากันก็คงเรื่องเดียวทั้งเล่มเป็นแน่แท้ แยกเป็นหลักๆ ประมาณนี้…
- เปิดป๋อง ถ่านเซเว่น : อันนี้เหมือนกับการแข่ง “รุ่นสแตนดาร์ด” ถ้ารถเซอร์กิตก็ Group N หรือ One Make Race ที่ไม่สามารถโมดิฟายอะไรได้มากนัก และ ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน สเต็ปนี้ถ้าจะแข่งกัน ก็ต้องเอารถใหม่แกะกล่อง เปิดกระป๋องกันสดๆ เดี๋ยวนั้น พวก Seal หุ้มกระป๋องต้องอยู่ แล้วก็ใช้ถ่านที่มีขายทั่วไป ห้ามใช้ถ่านพิเศษ ก็จะวิ่งเต่าๆ หน่อย แต่อาศัย “ชิงจังหวะ” หรือถ้ามีไฟ ก็ “ชิงไฟ” เหมือน Drag Racing ใครแม่นกว่าก็ได้เปรียบ…
- รีเลย์ : จริงๆ แล้ว หน้าที่ของ Relay (ที่ไม่ใช่) Delay มันเป็น “สวิตช์ไฟฟ้า” ตัวหนึ่ง ที่ด้านในจะมี “สะพานไฟ” ยิ่งขั้วใหญ่ ก็มีเนื้อที่ให้ไฟเดินผ่านได้มาก สังเกตไหม รถที่ใส่ “รีเลย์ไฟหน้า” ไฟจะสว่างขึ้น เพราะเราเพิ่มสะพานไฟนั่นเอง แต่มัน “ไม่ใช่อุปกรณ์เพิ่มความแรง” นะครับ แต่มันเป็นเพียง “ผู้นำพากระแสไฟให้เดินทางได้สะดวกขึ้น” เท่านั้นเอง อย่าเพิ่งเข้าใจผิด สำหรับตัวรีเลย์ ก็จะมาเป็นหลอดๆ จริงๆ ก่อนหน้าที่จะบ้ากันก็ตัวนึง “สิบกว่าบาท” สมัยก่อนผมซื้อยกหลอดมาแบ่งเพื่อนๆ ใครจะไปพ่วงทำอะไรก็ว่าไป ตอนนี้ล่อไป “เกือบสองร้อย” ต่อตัวนะ !!! บางทีก็ดูจะเกินไปหน่อยนะพี่น้อง แต่ใช่ว่ารถจะเปลี่ยนรีเลย์แล้วจะแรงขึ้น มันต้องมีสเต็ปต่อไปนี้ก่อนครับ…
- สายไฟ : เสมือนกับ “เส้นเลือดใหญ่” ของคน ถ้าเส้นเลือดตีบเมื่อไร ต่อให้เป็นนักกล้ามก็ “ง่อย” ได้ในทันใด ก็เช่นเดียวกัน เมื่อคุณอยากจะทำให้รถมันแรงขึ้น นี่คือ รถไฟฟ้า เพราะฉะนั้น “การนำพากระแสไฟได้ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญก่อนจะทำอย่างอื่น” เราต้องการ “แอมป์” หรือ “ปริมาณไฟฟ้า” มากกว่า “โวลต์” หรือ “แรงเคลื่อนไฟฟ้า” (คนละอย่างกันนะครับ ลองศึกษาความต่างดีๆ ก่อน) ถ้าแอมป์สูง ก็จะส่งให้การขับเคลื่อน “มอเตอร์” นั้นมีความแรงมากขึ้น เหมือนกับ “ปรับบูสต์” นั่นเอง แต่ถ้ามาตันที่ “สายไฟ” ของเดิมที่มาเล็กๆ แค่พอเล่นได้ เท่ากับการนำไฟฟ้านั้น “ด้อย” ต่อให้คุณใส่ถ่านโคตรแรง มอเตอร์โคตรเทพ แต่ใช้สายไฟเดิมก็หมดประโยชน์ แถมยังจะ “ไหม้” โชว์อีกด้วย จึงต้อง “เปลี่ยนสายไฟ” ให้มี “ขนาดเส้นลวดที่ใหญ่ขึ้น” (อันนี้เน้นว่า “ขนาดเส้นลวด” นะครับ ไม่ใช่ “ใหญ่แค่เปลือก” ตอนซื้อดูให้ดีด้วยว่ามันใช่จริงหรือเปล่า) เพื่อนำพากระแสไฟให้มากขึ้น เหมือนกับคุณ “เปลี่ยนปั๊มติ๊ก” หรือ “ขยายท่อน้ำมันเชื้อเพลิง” ในรถยนต์นั่นแหละ ตอนนี้ถ้าจะเล่นให้สุด ก็ต้อง “สายไฟที่ทำจากเงิน” และมีขนาดใหญ่ ทำให้กระแสไฟเดินได้ปริมาณมาก เรียกว่าทำกันแค่ชุดสายไฟกับรีเลย์ แต่ใช้ “มอเตอร์อัพเกรด” ก็ยังแรงพอๆ กัน หรือ แรงกว่า “มอเตอร์เทพ” แต่ “ทำระบบไฟไม่ถึง” มันเหมือนกับการ “วายริ่งสายไฟ” ในรถยนต์เป๊ะเลย ก็คงพอรู้นะครับ ว่ารถที่ “วายริ่งครบและถูกต้อง” กับ “วายริ่งมั่วๆ ขาดๆ” มันวิ่งต่างกันขนาดไหน…
- มอเตอร์ : นี่แหละครับ มันคือ “ต้นกำลัง” ในความแรงอย่างแท้จริง มอเตอร์ยิ่งแรง ก็ยิ่งผลิตพลังงานในการขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น ตัวมอเตอร์เองก็มีหลายสเต็ป แบบแรก “มอเตอร์เหลือง” อันนี้เป็นมอเตอร์โมดิฟายสำเร็จรูปจากโรงงาน ไปซื้อมาเล่นกันได้ ถ้าเทียบกับมอเตอร์ “ดำ–แดง” ในสมัยก่อน ไอ้นี่ก็แรงกว่า และอีกอย่างเป็น “มอเตอร์พันมือ” คือ “พันทุ่นด้วยขดลวดทองแดงเพิ่มเอง” ซึ่งขดลวดก็จะมีขนาดให้เลือก รวมถึง “แม่เหล็ก” ก็จะมีขนาด วัสดุ ให้เลือก อันนี้แล้วแต่สูตรใครสูตรมัน แต่ถ้ายังไม่ถึงใจ นี่เลย “มอเตอร์เครื่องบินบังคับ” มึงจี๊ดแน่นอน
- ถ่าน : มันก็คือ “ต้นพลังงาน” ที่จะส่งกระแสไฟมายังมอเตอร์ ก็เหมือนกับ “เชื้อเพลิง” ในรถยนต์ ออกเทนเยอะ เครื่องทำมาถึง มันก็แรง อันนี้ก็มีการอัพเกรดเช่นกัน ทำแรงแค่ไหน มาใส่ถ่านทั่วๆ ไป มันก็ไม่มีประโยชน์ สำหรับถ่านที่นิยม ก็คือ “ถ่านชาร์จ” พวก “นิเกิล – แคดเมียม” ที่ให้กระแสไฟได้แรงและมากกว่าถ่านปกติมากนัก เรียกว่าใส่แล้ว “วี๊ดดดดด” คนละเรื่อง เหมือนฉีด “ไนตรัส” ก็ประมาณนั้น ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนสายไฟใหม่อย่างที่บอกไปด้วย ซึ่งสเต็ปนี้ จะเรียกว่า “รถถ่าน” ก็คือใช้ถ่าน มีการกำหนดรุ่นแข่งด้วย…
- แบตเตอรี่ : อันนี้ข้ามมาสเต็ปเทพแล้ว ถ่านแรงไม่พอเหรอ นี่เลย “แบตเตอรี่” เหมือนเติม “ไนโตรมีเทน” กันไปเลย