เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป, ฐนอนันต์ ตีระอรรถชวิน
บอกตรง ๆ ว่า “คิดถึง” แฟนประจำคอลัมน์ Q&A ที่ห่างหายไปพักหนึ่ง แต่ครั้งต่อไปเราจะพยายามนำเสนอให้ “ถี่” ขึ้น เพื่อความมันส์แด่ท่านผู้ชม และจะได้สาระ & ความบันเทิง เป็นสิ่งที่ท่านจะได้จาก XO AUTOSPORT แบบ “จัดเต็ม” ในครั้งนี้ก็ขอนำเสนอเกี่ยวกับการดูอะไหล่ “แท้ เทียม ปลอม” ว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งโดยปกติแล้ว ร้านอะไหล่ที่มี “คุณธรรม” จะจำแนกขาย บอกไว้เลยว่า อันนี้แท้นะ อันนี้เทียมนะ ราคาจะไม่เท่ากัน ให้ลูกค้าเป็น “ทางเลือก” เพราะถ้างบน้อย บางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อของแท้ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเจอ “ร้านอะไหล่นิสัยไม่ดี” (หรือ “ชั่ว” นั่นเอง อันนี้คิดในใจนะ) มา “หลอก” ขายของเทียม หรือของปลอม “ในราคาของแท้” ก็เจอกันมาเยอะแล้ว ให้เจ็บช้ำกะหล่ำปลีกันไป วิธีการที่จะนำเสนอนี้ จัดการให้ท่านชมกันเห็น ๆ ว่าอะไร คือแท้ คือเทียม คือปลอม มีประโยชน์กับท่าน จะได้ไม่ “เสีย” (รู้) ง่ายนัก…
ของแท้ ของเทียม ของปลอม แบ่งเกรดกันอย่างไร (ในทัศนะของผม)
ก็อย่างที่บอกแหละครับ อะไหล่รถยนต์ต่าง ๆ ก็มีหลายเกรด หลายราคา เราลองมาดูกันว่า “อะไรเป็นอะไร” โดยจะกล่าวถึงที่มาที่ไป และการพิจารณาในจุดต่าง ๆ ของตัวอะไหล่ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงาน หรือวัสดุ รายละเอียดของสินค้า ก็ว่ากันเข้าไปนั่น ยังไงมันก็มีจุดต่างให้พอจะสังเกตได้บ้างละ อย่างน้อยคนที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ ก็ยัง “พอดูออก” บ้าง เรียกว่า “ให้มีกระดูกติดคอมันมั่งก็ยังดี” ที่ผมเคยบอกไปบ่อย ๆ นั่นแหละ…
อะไหล่แท้
เข้าเรื่องแม่มดื้อ ๆ งี้แหละ สำหรับ “อะไหล่แท้” หรือ Genuine Parts ที่เราจะพูดถึงนี้ มันคือ “อะไหล่ที่ผลิตโดยมาตรฐานเดียวกับโรงงานผู้ผลิตรถยนต์รายนั้น ๆ” กล่าวคือ อะไหล่เป็นเกรดเดียวกับที่ใส่มากับรถจากโรงงานนั่นไงครับ มีการตีตราของโรงงานผู้ผลิตรถยนต์มาอย่างถูกกฎหมาย ผมก็ไม่รู้จะนิยามเทพ ๆ ยังไงว่ะ แต่ความหมายก็ประมาณนี้ละกันเนอะท่าน สำหรับอะไหล่พวกนี้ก็จะถูกผลิตโดย “ผู้ผลิตรายย่อย” หรือ Supplier อ่านเป็นภาษาพ่อภาษาแม่เราว่า “ซัพพลายเออร์” จริง ๆ ผู้ผลิตรถยนต์เขาก็ไม่ได้ผลิตอะไหล่เองหรอกครับ ก็จ้างซัพฯ (เรียกย่อ ๆ ละกัน ขี้เกียจพิมพ์ ช่วงนี้จังหวะชีวิตมันพาไปอีกแล้ว) ผลิตอีกที โดยมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของอะไหล่ไว้ตามสเป็กของผู้ผลิตรถยนต์รายนั้น ๆ…
ถ้าท่านต้องการอะไหล่แท้แน่นอน ก็ต้องไปร้านอะไหล่ใหญ่ ๆ บางที่ก็เป็นตัวแทนขายอะไหล่ที่มาจากผู้ผลิตโดยตรง เพราะส่วนใหญ่ร้านอะไหล่แบบชาวบ้าน ๆ ทั่วไป จะไม่ค่อย Stock อะไหล่แท้ เพราะราคาสูงกว่าของเทียมหลายเท่า และคนไม่ค่อยนิยมซื้อกัน ถ้าจะเอาก็ต้อง “สั่งเบิก” และวางมัดจำสินค้าไป (กันพลาดเผื่อท่านผู้ซื้อมั่วซะเอง เบิกมาแล้วก็ชิ่ง) แต่ในบางกรณี พวกอะไหล่ที่ “เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยตรง” เช่น ช่วงล่าง เบรก หรือ “ของที่รับภาระมาก” อย่างอุปกรณ์ในตัวเครื่องยนต์ ถ้าเป็นคนชอบขับรถเร็ว หากซื้อของแท้ไหวก็จ่ายไปเถอะครับ ยังไงมันก็มีอายุการใช้งานที่ยืนยาวกว่าแน่นอน คุ้มกับการลงทุนครับ…
OEM เกรดของแท้ แต่ไม่ตีตราผู้ผลิต
คงได้ยินกันบ่อย ๆ กับคำว่า OEM หรือ Original Equipment Manufacturer ที่เคยได้ยินกันบ่อย ๆ นั่นแหละ เพราะอะไหล่แท้ก็จะจำหน่ายกันจากศูนย์บริการ หรือร้านอะไหล่ที่ได้รับการแต่งตั้ง ส่วนของเกรด OEM ก็จะเป็นของเกรดเดียวกับของแท้ (หรือใกล้เคียงมาก ผิดที่รายละเอียดบางจุด) เพียงแต่ “แต่ไม่ตีตราผู้ผลิตรถยนต์” แกะกล่องมาหน้าตาเหมือนกัน ของเหมือนกัน ประมาณว่า After Market ราคาถูกกว่าของแท้อยู่บ้าง แต่ได้เกรดของแท้ แต่คำว่า OEM นั้น บางครั้งกลับกลายเป็น “คำอ้าง” กันบ่อย ๆ อันนี้ผมขอพูดง่าย ๆ นะครับ บางอย่างมันก็ “ใกล้เคียง” ที่หน้าตาและคุณภาพใกล้เคียงกัน มันก็มีครับ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งบางอย่างมันก็เข้าขั้น “อะไหล่เทียม” เห็นหน้าตาแล้วก็ “ไม่ผ่าน” ไม่มีทางจะเป็นเกรดเดียวกับ OEM ได้ ดังนั้น อยู่ที่วิจารณญาณของท่านแล้ว ว่าจะ “โดนเชือด” หรือไม่…
อะไหล่เทียม
อันนี้ไม่ใช่ “อะไหล่ปลอม” นะครับ แยกประเด็นกันโดยชัดเจน เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดกันอยู่ คำว่า “อะไหล่เทียม” เรียกให้หรูหน่อยก็ “อะไหล่ทดแทน” นั้น จะเป็นอะไหล่ที่ผลิตตามแบบของแท้ หน้าตาเหมือนกัน ใส่ด้วยกันได้ ใช้ได้ด้วย แต่จะผิดกันที่ “ชิ้นงาน” หรือ “เนื้องาน” วัสดุต่าง ๆ จะด้อยกว่าของแท้อย่างชัดเจน แต่ในบางทีก็มักจะโดนอ้างอีกว่า “เกรด OEM เลยพี่” ตามฟอร์ม ใช้ได้เหมือนกัน ก็ว่ากันไปตามสูตร จริง ๆ ไอ้ใช้น่ะใช้ได้ (ถ้าซื้อของใหม่แล้วใช้ไม่ได้ เมิงตายยยย) แต่เรื่องของ “ความคงทน” มันก็ย่อมจะด้อยกว่าของแท้ ก็ “คุณภาพตามราคา” ครับ ได้ “ราคาถูก” กว่าของแท้ 2-3 เท่า (บางอย่างก็กว่านั้น) แต่จะเอาคุณภาพสูงเหมือนของแท้ราคาแพงกว่า ฝันไปเถอะครับ…
สำหรับของเทียม ก็ถือว่าเป็นที่นิยมกันมากมาย ร้านอะไหล่ทุกร้านจะต้องมีของเทียมขายมากกว่าของแท้ เพราะคนส่วนใหญ่จะนิยมของราคาถูก บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงกว่าก็ได้ สินค้าบางอย่าง ของแท้ขายยาก เช่น อะไหล่ช่วงล่าง บู๊ชยางต่าง ๆ ยกตัวอย่าง พวก “บู๊ชปีกนก” ของแท้พวกจะขายทั้งปีกนก ซึ่งไม่จำเป็นเพราะปีกนกเดิมก็ไม่ได้เสียหาย จะเอาแค่บู๊ช แต่ของเทียมมีแยกขาย ราคาถูกกว่ามาก มันก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมเหมือนกัน แต่บอกไว้ก่อนนะครับ อย่าไปด่าร้านอะไหล่ที่ขายของเทียมนะครับ เพราะโดยปกติ ร้านอะไหล่ก็จะบอกชัดเจนอยู่แล้ว ว่า “นี่อะไหล่เทียม” หรือ “อะไหล่ทดแทน” แค่ราคาก็ผิดกันหลายเท่าแล้ว ร้านเขาไม่ผิดนะครับ เขาบอกชัดเจน เว้นแต่ว่าเจอ “มั่วนิ่ม” เอาของเทียมมาเห็น ๆ แต่อ้าง OEM หรือ “เหมือนของแท้ เกรดเดียวกัน” จบด้วย “ราคาที่สูงเกือบจะเท่าของแท้” ผิดกันนิดหน่อย ยังงี้ท่าน “โดนโขก” เรียบร้อย เดินออกมาเถอะครับ ซื้อร้านอื่นดีกว่า…
อะไหล่ปลอม
อันนี้ “สุดจริง” ในด้านลบ มันเป็นการ “หลอกลวง” โดยแท้จริง ยิ่งกว่าอะไหล่เทียมหลายเท่า เพราะมันคือ “อะไหล่ปลอม” ไม่ใช่ “อะไหล่เทียม” อย่าเข้าใจผิดนะครับ (ท่องไว้สามครั้ง) อันนี้จะเป็นการทำปลอมอย่างเนียนที่สุด ทั้ง Package ทั้ง Product แต่บางที Package เหมือน แต่ Product ไม่เหมือน แต่เจตนาของพวกนี้ก็คือ “ขายอะไหล่ปลอม ในราคาอะไหล่แท้” เรียกว่าแหกตาผู้บริโภคกันเห็น ๆ คนที่ดูไม่ออกก็ซื้อไป คุณภาพเผลอ ๆ จะห่วยกว่าของเทียมอีก เจอกันมาเยอะเหมือนกัน ตอนแรกก็ว่าจะหาตัวอย่างมาให้ดูกัน แต่คนขายของพวกนี้มันก็คงไม่มาบอกหรอกว่าของปลอม ก็ใช้วิธีพิจารณาสินค้าเอาแล้วกัน เดี๋ยวนี้มันทำกัน “เนียน” มากครับ ยังไงก็ใช้การวิเคราะห์เยอะ ๆ แล้วกัน…
สำหรับสินค้าปลอม บางทีใส่ไปก็ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไร จะรู้อีกทีก็คือ “เจ๊งแล้ว” และเร็วกว่าปกติ บางอย่างก็ทำความเสียหายให้ได้มาก เช่น น้ำมันเครื่องปลอม อันนี้แหละ “บรรลัย” แน่นอน ใส่ไปสักพัก จากปกติไม่เคยเป็นอะไร แป๊บเดียวชาฟท์ดัง วาล์วดัง ฯลฯ อันนี้ยอมรับว่าดูยากจริง ๆ และไม่มีทางรู้เลยว่าปลอมหรือไม่ จนกว่าจะ “โดน” เข้าไปแล้ว รวมถึงอะไหล่อื่น ๆ ด้วย ยังไงถ้าซื้ออะไหล่ก็พยายามดูร้านที่มัน “ดูน่าเชื่อถือ” กันหน่อย ไม่รู้จะบอกยังไง ใช้ Sense ส่วนตัวก็แล้วกัน แต่ยังไงก็ตาม เวลาซ่อมรถเสร็จ เอาออกมาขับแล้วก็หมั่นสังเกตการณ์หน่อยแล้วกัน เผื่อมีอะไรไม่เข้าท่าจะได้แก้ไขทัน…
แล้วจะซื้ออย่างไหนดีล่ะ ???
นั่นน่ะสิ จะซื้อของแบบไหนดี ก็คงมีกฎง่าย ๆ ครับ ถ้าเป็นคนที่มีงบน้อย ใช้รถแบบบ้าน ๆ ธรรมดา ไม่ได้แต่งแรง (แต่งสวยอีกเรื่อง) เครื่องเดิม ไม่ซิ่ง เน้นรับหญิงไป… (กินข้าว) ก็สามารถใช้ “อะไหล่เทียม” ได้ในบางอย่าง “ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ต้องรับภาระมาก” และ “ไม่ได้มีส่วนสำคัญในด้านสมรรถนะอย่างชัดเจน” เช่น กรองอากาศ กรองน้ำมันเครื่อง (แต่น้ำมันเครื่องต้องแท้นะ) อย่างพวกบู๊ชยางช่วงล่างต่าง ๆ ก็ใช้ได้ ของเทียมเกรดดีเดี๋ยวนี้ก็มีเยอะ บางทีของเทียมก็ไม่ได้แย่เสมอไปนะครับ ถ้าคิดกับราคาแล้วบางอย่างก็คุ้ม แต่ถ้าเน้นสมรรถนะ ซื้อความสบายใจ งบประมาณมี ก็เล่น “ของแท้” ไปเลย แต่ “ของปลอม” อย่าเด็ดขาดครับ เสียรู้ เสียเงิน เสียของ มันน่าสาปส่งไอ้พวก… (เติมเอาเอง) ครับ…
ขั้นตอนการ “เบิ่ง”
มาถึงขั้นตอนการพิจารณาด้วย “สายตา” และ “ประสาทสัมผัส” ทุกอย่างที่ท่านมี เพื่อวิเคราะห์ว่าอันไหนมันควรจะ “น่าเชื่อถือ” มากน้อยก็ว่ากันไป แต่บอกไว้ก่อนนะครับ เดี๋ยวนี้ทำกันค่อนข้างเนียน ค่อนข้างเหมือนของแท้กันเลยทีเดียว แต่ยังไงก็ต้องมีจุดที่แตกต่างบ้างแบบพอสังเกตได้ ดังนี้…
Package
สำหรับ “แพ็กเกจ” หรือ “หีบห่อ” นั้น เป็นปราการด่านแรกที่เราจะได้ “เบิ่ง” ผมขอพูดรวม ๆ แล้วกันครับ เริ่มกันจาก “ของแท้” สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือ “ยี่ห้อ” พร้อม “โลโก้” ของบริษัทผู้ผลิต อันนี้จะเป็น “ลิขสิทธิ์” ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ตัว Package จะต้องดูดี แน่นหนา ถ้าเป็นกล่อง ก็จะพิมพ์โลโก้ยี่ห้อรถไว้ชัดเจน อาจจะมีคำว่า Genuine Parts ประกอบกับโลโก้ยี่ห้อรถ ตัวกล่องก็จะเป็นกระดาษที่แน่นหนา แข็งแรง มีการ Seal และปิดผนึกอย่างมั่นคง เทปกาวที่ผนึกจะแน่นหนา เรียกว่าแกะได้ยาก พอแกะมาแล้ว ด้านในก็ควรจะต้องมีพลาสติกเหนียวและหนาห่อหุ้มชิ้นอะไหล่ บางทีก็มีกระดาษสีน้ำตาลหน้ามันหุ้มกันรอย หรือมี Bubble Wrap ไอ้แผ่นพลาสติก “เป๊าะแป๊ะ” กันกระแทกอย่างดี พวกฉลากต่าง ๆ ก็ต้องมีที่มาที่ไป มี Bar Code แจ้งไว้ ตัวฉลากก็ต้องมีโลโก้ยี่ห้อรถยนต์ เอาเป็นว่า Package ต้อง “ดูดีมีราคา” กันหน่อยละ…
มาต่อกันที่ “ของเทียม” ชัดเจนครับ จะไม่ใช่โลโก้บริษัทรถยนต์แน่ ๆ ตัวกล่องจะไม่มียี่ห้อใด ๆ ถึงมี ก็จะเขียนแบบ “ลักไก่” เช่น Used For ตัวเล็ก ๆ แล้วก็ยี่ห้อตัวโต ๆ หรือบิดเบือนคำ เช่น TOYOAT หรือ ISUZO แถมวัสดุ Package ก็ยังบอบบาง ดูก็รู้ครับ ไม่ต้องบอกกันมาก พวก Seal ต่าง ๆ ก็ใช้เทปกาวถูก ๆ แปะกันแบบง่าย ๆ ด้านในก็ไม่มีถุงห่อ ถึงมีก็เป็นถุงพลาสติกเกรดต่ำ บาง ฉีกขาดง่าย คือ “ดูไม่ดี” น่ะครับ ตัวฉลากก็เป็นแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ เป็นยี่ห้อของผู้ผลิตอะไหล่เจ้าต่าง ๆ อันนี้ไม่ถือว่าหลอกลวงนะครับ เขาก็ชัดเจนอยู่ แต่ก็อย่าเสียรู้ร้านอะไหล่ที่มาหลอกว่าเป็นของแท้แบบหน้าด้าน ๆ แล้วกัน…
จบที่ “ของปลอม” อันนี้จะพยายามทำ Package ให้เหมือนของแท้ เพื่อหลอกให้ “ตายใจ” บางอันก็ทำเหมือนเฉพาะรูปลักษณ์ แต่วัสดุไม่เหมือน ดูห่วย ๆ ตัวอักษรเลอะ ๆ เลือน ๆ ไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่บางเจ้าก็ทำเนียนใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่ลงทุนใน Package เหมือนกับของแท้ครับ มันก็มีจุดให้ดูออกบ้างแหละ จบจากนี้ ก็มาดูตัวอย่างอะไหล่ทั้ง “ของแท้” และ “ของเทียม” ส่วน “ของปลอม” ขอโทษจริง ๆ หาไม่ได้ เพราะคงไม่มีร้านอะไหล่ที่ขายของปลอมยอมบอก…
เทียบกันจะจะ “แท้” หรือ “เทียม” รู้กันแน่
อันนี้จะนำของแท้และของเทียม มาถ่ายรูปเทียบกันแบบ “ตัวตัว” ในแต่ละจุดที่สังเกตได้ ผมจึงเลือกอะไหล่ที่เป็นแบบ “สิ้นเปลือง” ที่ใช้กันบ่อย ๆ ซื้อกันประจำ มาเทียบให้ชมกันครับ…
กรองน้ำมันเครื่อง
Package
แท้ : มีโลโก้บริษัทผู้ผลิต มี Barcode พร้อมรุ่นรถที่ใช้อย่างชัดเจน ข้างบนมีสติกเกอร์โลโก้เป็นสีรุ้งพร้อมโลโก้
เทียม : มียี่ห้อจริง แต่ใช้คำว่า U-SEF-OR ก็คือ Used For ก็แล้วแต่ลูกเล่น กล่องไม่แน่นหนา
แท้ : ตัวอักษรและโลโก้ชัดเจน ไม่เลอะเลือน ด้านบนที่เอาไว้สำหรับ Block ขัน จะเป็นเหลี่ยมสันชัดเจน Seal กันฝุ่นเป็นพลาสติกอย่างดี แน่นหนา
เทียม : ตัวอักษรไม่ชัดเจน มีเลอะเลือนบ้าง เหลี่ยมด้านบนไม่ชัดเจน มีการใช้โลโก้ของผู้ผลิตเองมาแบบแฝง ๆ Seal กันฝุ่นเป็นพลาสติกเกรดต่ำ ไม่แน่นหนา ฉีกขาดง่ายกว่าของแท้
ฝาหม้อน้ำ
Package
แท้ : ถุง Package เป็นพลาสติกอย่างดี เหนียว หนา มีฉลากที่แน่นอน
เทียม : ไม่มีถุง หรือมีก็เป็นกระดาษห่อ ซองฟองน้ำธรรมดา
ตัวฝา
แท้ : ซีลยาง จะเป็นยางเกรดดี นิ่มแต่เหนียว เนื้อเนียน ตัวฝาจะปั๊มและพับมุมเรียบร้อย ไม่มีส่วนแหลมคมหรือบิดเบี้ยว
เทียม : ซีลยาง จะเป็นยางเกรดด้อยกว่า ไม่ค่อยเนียน เหมือนจะออกแข็ง ๆ หน่อย ตัวฝาจะปั๊มไม่ค่อยเรียบร้อยเหมือนของแท้
ปั๊มติ๊ก
Body
แท้ : ตัว Body จะเป็นโลหะเกรดดี มีความเรียบเนียน ถ้าเป็นพลาสติก จะเป็นของเนื้อดี เรียบร้อย สายไฟและปลั๊กไฟอย่างดี เนื้อเปลือกสายไฟแข็ง เหนียว แต่ไม่กระด้าง
เทียม : ตัว Body จะเป็นโลหะเกรดด้อยกว่า ดูจากเงาสะท้อนก็พอรู้ พวกตัวอักษรต่าง ๆ ไม่คมชัด ปลั๊กไฟ ดูแล้วเป็นของราคาถูก สายไฟ เนื้อเปลือกแข็งกระด้างกว่า
เปลือกบน
แท้ : เป็นวัสดุคุณภาพดี เรียบร้อย ถ้ามีตราของบริษัทรถยนต์ จะเป็นตัวนูนชัดเจน มีจุกครอบสายไฟอย่างดี
เทียม : เป็นวัสดุเกรดด้อย ไม่เนียน มีรอยเยิน ๆ จากการหล่อขึ้นรูปเต็มไปหมด มีรอย เนื้องานบอบบาง
ยางกันสั่นสะเทือน และอื่น ๆ
แท้ : เป็นยางเกรดดี เหนียว แน่น หนึบ สามารถซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี นอตยึดเป็นเกรดสูง ปะเก็นทำมาเรียบร้อย
เทียม : เป็นยางเกรดด้อย หรือเป็นฟองน้ำเกรดด้อยเช่นกัน ซับแรงสั่นสะเทือนได้ไม่ดีเท่า นอตยึดเป็นแบบถูก เจอบางตัว “ปะเก็นแลบ” อีกด้วย
กรองอากาศ
Package
แท้ : มีถุงพลาสติกหุ้ม มี Seal แน่นหนา
เทียม : เท่าที่เจอส่วนมาก มักไม่มีถุงใส่
แท้ : โครงเหล็กยึดกระดาษกรองจะดูแน่นหนา การ Seal กาว เรียบร้อย สังเกตว่า อันนี้เป็นของ NISSAN จะมีโลโก้ผู้ผลิตติดอยู่ (แล้วแต่ยี่ห้อนะครับ) ครีบกระดาษเรียงเป็นระเบียบ
เทียม : โครงเหล็กยึดกระดาษกรองจะดูเกรดด้อยกว่า การ Seal กาว ไม่เรียบร้อย ครีบกระดาษดูเป็นระเบียบสู้ของแท้ไม่ได้
ไฟหน้า
โคมหน้า
แท้ : ความใสของโคม และความเงาของจานสะท้อน (Reflector) จะโดดเด่น เรียบร้อย พวกรอยต่อ Seal ยางต่าง ๆ เก็บได้ดี
เทียม : เดี๋ยวนี้ทำเนียน ดูไม่ค่อยต่างกัน แต่เนื้อจานสะท้อนด้านใน ถ้าเทียบกับของแท้ก็ด้อยกว่านิดหน่อย Seal ยางต่าง ๆ ไม่ค่อยเรียบร้อย
ด้านหลัง
แท้ : พลาสติกเกรดดี หล่อขึ้นรูปมาดี พวกตะเข็บขอบต่าง ๆ ไม่เยิน
เทียม : พลาสติกเกรดด้อยกว่า ไม่ค่อยเนียน ตะเข็บขอบต่าง ๆ มีเยินบ้างจากการหล่อขึ้นรูป
ผลสรุป
ก็คงเห็นกันไปอย่างชัดเจนแล้วนะครับ ว่าของชนิดไหนเป็นอย่างไร ท่านใดที่เป็น “มือใหม่” ไม่ต้องคิดมาก มันฟ้องด้วยสายตาท่านได้อยู่แล้ว จริง ๆ แล้ว การใช้อะไหล่ ไม่ว่าจะเป็น “ของแท้” หรือ “ของเทียม” มันไม่มีผิดถูก อยู่ที่ท่านจะสมัครใจ เพราะของเทียมก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่อายุจะสั้นกว่าบ้าง บางทีอาจจะไม่เห็นข้อแตกต่าง หรือของเกรด OEM บางอย่าง ก็เป็นเกรดเดียวกับของแท้ก็เยอะ แต่ที่นำเสนอคอลัมน์นี้ ก็เพื่อจะให้ท่าน “ดูออก” ว่าอันไหนแท้ เทียม ปลอม จะได้ไม่เสียท่า ซื้อของเทียม ของปลอม ในราคาของแท้ จากคำกล่าวอ้างของผู้ขายที่ไร้จรรยาบรรณ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก แต่ถ้าเจอก็ถือว่าจะได้รู้ทันมันไว้ก่อน ท้ายสุดขอขอบคุณ “เมืองทองอะไหล่ยนต์” โทร. 0-2982-9983 และ “SCC บรรทัดทอง” โทร. 0-2214-2002 ที่ให้ข้อมูลอย่างชัดเจน และ “ไม่มีของปลอม” อย่างแน่นอน สนใจอะไหล่สารพัดยี่ห้อก็ “ยกหู” ได้เลย…