XO AUTOSPORT No.250
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ชนินทร์ พสุธาสถิตย์, Google Search
เอาง่ายๆ นะ ไม่ต้อง Intro กันมาก กระแสการแต่งรถโดยการใช้ “คาร์บอนไฟเบอร์” นับว่า มาแรงสวนสภาพเศรษฐกิจ ด้วยความที่มันดูแล้ว “แพง” และมีลวดลายอันโดดเด่นมากกว่า “สติกเกอร์” แบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และอุปนิสัยของมันที่ “เบา” และ “แข็งแกร่ง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “สายแรง” ถวิลหา ในสมัยก่อนคาร์บอนไฟเบอร์จะมีใช้กันเฉพาะในอากาศยาน รถแข่งในรุ่นสูงๆ เช่น F1, Super Car จากยุโรป รวมไปถึงผลิตโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องรับแรง ยุคก่อนนั้น คาร์บอนฯ มีราคาแพงโคตร จึงไม่ค่อยมีใครใช้กันเยอะมากนักในรถแต่งหรือรถโมดิฟายทั่วไป แต่ ณ จุดนี้ มีความแพร่หลายมากขึ้น ร้านที่รับทำงานคาร์บอนฯ ก็มีมากขึ้น ราคาก็เลยถูกลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับ “เกรดงาน” และ “เกรดวัตถุดิบ” ที่เลือกใช้ สำหรับการนำเสนอในครั้งนี้ เราได้รับข้อมูลจาก MONZA SHOP Thailand หรือ MZ ซึ่งเป็นรายใหญ่ในการผลิตงานคาร์บอนไฟเบอร์ จะมุ่งเน้นให้ความรู้ตั้งแต่ “พื้นฐาน” ไปยัน “ขั้นตอนการผลิต” และที่สำคัญ “เผยกลลวง” ที่คน “ไม่รู้” แต่อาจจะ “เสียรู้” พวกไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า โดยเฉพาะคำโฆษณาโอเวอร์เกินจริงต่างๆ ที่ชอบเอามาหลอกคนที่ไม่รู้ให้จ่ายแพงแต่เสือกได้ของห่วย เอางี้ รู้ซะ จะได้ไม่เสียเปรียบ…
- มหัศจรรย์ของ CF คือ ความแข็งแกร่ง น้ำหนักเบา มีมิติที่สวยงาม เป็นเสน่ห์ของมัน เป็นที่ต้องการของตลาดหลากหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะรถยนต์อย่างเดียว
- การทอขึ้นรูป เส้นใยคาร์บอนนับพันนับหมื่นเส้น เล็กระดับไมครอน นำมาทอเป็นเส้นใหญ่ที่เราสามารถจับต้องได้เพียงเส้นเดียว ความแน่นหนาก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นใยนั่นเอง
- แร่คาร์บอน ที่เป็นต้นกำเนิดในการผลิต CF ได้มาจากการเผาของจำพวกไม้ต่างๆ
ต้นกำเนิดคาร์บอนไฟเบอร์
ก่อนอื่นต้องบอกถึงที่มาของ “แร่คาร์บอน” กันก่อน พวกนี้จะเกิดจากการ “เผาไหม้” มาจาก “วัสดุทางธรรมชาติ” เช่น กะลามะพร้าว ไม้เผาเป็นถ่าน ฯลฯ พวกนี้เผาด้วยอุณหภูมิที่สูงมาก แล้วจะเป็น “ผงถ่าน” สีดำ นี่แหละครับ แต่อย่าถามถึงโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ เพราะบอกแล้วว่า “Goo โง่มาก” เอาเป็นว่า รู้ว่ามันมาจากไหนก็พอนะแจ๊ะ…
สำหรับ “คาร์บอนไฟเบอร์” หรือ CarbonFiber หรือ CF ก็มีชื่อเรียกได้หลายอย่างนะ เช่น แกรไฟต์ (Graphite) ไฟเบอร์ หรือคาร์บอนแกรไฟต์ ก็ตามแต่ จะเป็นการนำแร่ผลึกคาร์บอนมาถักทอเป็นเส้นใย (Fabric) จำนวนมาก โดยเส้นใยคาร์บอนจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่แถวๆ 5-10 ไมครอน ซึ่งเล็กมาก ซึ่งเส้นใย 1 เส้นใหญ่ ที่เราเห็นด้วยตาเปล่า จะประกอบไปด้วยเส้นใยคาร์บอนเป็นจำนวน “หลายพันเส้น” หรือ “หลักหมื่นเส้น” แล้วแต่ความแข็งที่ต้องการ (เดี๋ยวจะว่ากันในส่วนต่อไป) มาพันกันเป็นกลุ่มเส้นใย แล้วก็นำมาทอ (Woven) เป็นผืนผ้า อย่างที่เห็นในรูปนั่นเอง…
สำหรับ “คุณสมบัติ” ของเส้นใย CF (ย่อๆ ละกัน) จะมีดังนี้…
– มีความแข็งแรงสูงกว่า เมื่อเทียบกับเส้นใยอื่นในพื้นที่เท่ากัน…
– ต้านทานต่อแรงดึง (Tensile) สูง…
– ทนต่ออุณหภูมิได้สูง…
– มีอัตราส่วนการขยายตัวต่อความร้อนต่ำ พูดง่ายๆ ถ้ามันเจอความร้อนสูง ก็ยังสามารถทนได้โดยไม่ขยายตัวมากจนผิดเพี้ยนรูปไปซะก่อน…
– ทนกับการกัดกร่อนจากสารเคมีได้สูง…
– คายความร้อนได้เร็วมากๆ และไม่ติดไฟ…
ด้วยเหตุนี้เอง CF ถึงถูกใช้เป็น “วัสดุพิเศษ” สำหรับการผลิตชิ้นงานที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษ อย่างของ อากาศยาน รถแข่ง จุดยึดโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องการทั้งความยืดหยุ่นและความแข็งแรงสูง ดังนั้น CF จึงเป็นของ “ราคาแพง” จริงๆ แล้ว CF ก็จะมีส่วนผสมของใยสังเคราะห์อย่างอื่นอีก เช่น พวก “โพลีเมอร์” แต่ถ้าเป็นแบบ CF แท้ๆ ก็จะยิ่งแพงไปอีก เดี๋ยวเราจะไปพูดถึงเป็นส่วนๆ กันไป…
- Ms. Stephanie L. Kwolek (ณ บัดนาว ลาโลกไปแล้ว) นักเคมีจาก DuPont ผู้คิดค้นในการสร้างเส้นใย Aramid ในนาม KEVLAR ซึ่งเป็นชื่อทางการค้า ไม่ใช่ชื่อเส้นใยนะครับ
- วัตถุดิบของ Aramid ก็จะมีสีสันตัดกันสวยงาม สมัยนั้นจึงนิยมกัน
- ลวดลายสวยงามของ Aramid + Carbon
คาร์บอนไฟเบอร์ VS คาร์บอนเคฟลาร์ ???
ในยุคแรกๆ จะนิยมเรียก CF ว่า “เคฟลาร์” (Kevlar) หรือ “แค๊ปล่า” ตามภาษาพูดวัยรุ่น แต่ตอนหลังก็จะเรียกว่า “คาร์บอนไฟเบอร์” จนเป็นกระแสสับสนและเถียงกันหน้าดำหน้าแดงว่า ตกลงแม่มเรียกอะไรกันแน่ แล้วที่ถูกของแต่ละประเภทมันคืออะไร เอางี้ ไม่ต้องเถียงกัน จะสรุปให้ฟังว่า “เคฟลาร์” แท้ที่จริงแล้วมันคืออะไร…
คือ KEVLAR นั้น จะเป็น “ชื่อการค้าจดทะเบียน” ในการเรียก “เส้นใยไฟเบอร์แบบสังเคราะห์” หรือ Synthetic Fiber ที่ผลิตขึ้นมาโดยบริษัท DuPont หรือ ดูปองท์ พัฒนาขึ้นมาโดย Ms. Stephanie Louise Kwolek ซึ่งเป็นนักเคมีชาวอเมริกัน ที่ทำงานให้กับบริษัท DuPont เริ่มมีใช้ในปี 1965 นู่นแน่ะ !!! โดยมีสโลแกนว่า “Better, Stronger and Safer with Kevlar Fiber” ประมาณว่า “ของกูดีกว่า แข็งแรงกว่า ปลอดภัยกว่า” อะไรประมาณนั้นนะ ซึ่งเคฟลาร์จะเป็นเส้นใยสังเคราะห์ตระกูล “Aramid” น่าจะมาจาก “Aromatic Polyamide” ซึ่งเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ แต่อย่าถามโครงสร้าง ขี้เกียจหา…
ลักษณะเฉพาะตัวของ Aramid คือ จะเป็นเส้นใยมีสี “ดำ-แดง, ดำ-เหลือง, ดำ-น้ำเงิน” และถ้าเปรียบเทียบกับ CF แล้ว Aramid จะได้เปรียบกว่าในด้านความแข็งแรงทนทาน ความยืดหยุ่น การทนความร้อนได้สูงกว่า นิยมนำไปใช้กับ “สิ่งที่ต้องการยืดหยุ่นสูง” เช่น อากาศยาน ซึ่งต้องทนแรงเสียดทานของอากาศในความเร็วสูง โครงสร้างสะพาน ชุดเกราะกันกระสุน ของแต่งรถยนต์ในส่วนที่ต้องการการยืดหยุ่น เช่น เบาะ ฝากระโปรง ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ Pure Aramid ถ้างานที่ไม่แพงมาก ใช้อยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง บางคนเอามาทำอย่างอื่นได้มากมาย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ก็สวยดี แต่เรื่องความเบา CF จะได้เปรียบ เอาเป็นว่า ไอ้สองประเด็นที่เถียงกันแทบตายห่า ขอสรุปเป็นอย่างๆ ได้ดังนี้…
– CF : ได้เรื่อง “แข็ง เบา” ใช้กับชิ้นส่วนที่ต้องการความแข็งแรงสูง…
– Aramid : ได้เรื่องการ “ยืดหยุ่น” ที่มีมากกว่า ใช้กับชิ้นส่วนที่ต้องการการยืดหยุ่นสูง…
– เออ จริงๆ แล้ว KEVLAR มันเป็น “แบรนด์” ของ DuPont นะเว้ย ส่วนเส้นใยนั้นเป็นตระกูล Aramid สังเคราะห์ขึ้นมา ต่างจาก CF ที่มาจากวัสดุทางธรรมชาติ…
– จริงๆ แล้ว ไอ้เส้นใย Aramid นี้ นอกจาก KEVLAR แล้ว ยังมีชื่อแบรนด์อื่นๆ อีก เช่น CONEX จากบริษัท TEIJIN มาจากเนเธอร์แลนด์ กับ ญี่ปุ่น (สงสัยจะสะเวิ้บกัน), ARAWIN จากบริษัท TORAY ของเกาหลี, NEW STAR จากบริษัท YANTAI TAYHO ของจีน หรือ KERMEL จากฝรั่งเศส เป็นต้น…
- F1 ก็จะใช้ CF เป็นส่วนประกอบมากมาย โดยใช้ค่าความแข็งของเส้นใยแตกต่างกันไปตามภารกิจใช้งาน
- ถ้าเป็นรถในระดับ Hi-Performance ก็จะนิยมใช้ CF เสริมในส่วนที่ต้องการความแข็งแรง และ น้ำหนักเบา ในรูปเป็น NISMO R34 Z-TUNE ที่ทุ่มทุนสร้างเรื่องนี้ใน Production Car
สำหรับ “ค่าความแข็ง” ของ CF ก็จะมีกำหนดเหมือนกันครับ ขึ้นอยู่กับ “ความแน่นหนา” กับ “จำนวนของเส้นใยที่ทอขึ้นมา” โดยหลักก็จะมีตั้งแต่ 1K, 3K, 6K, 12K โดยที่ K ไม่ใช่ค่าความแข็งที่เป็นหน่วย kg/cm. แบบ “สปริงรถ” นะครับ แต่ K นี่หมายถึงจำนวน 1,000 ก็คูณเข้าไป อย่าง 3K ก็เท่ากับ “3,000 เส้น” ยิ่งมากก็ยิ่งแข็ง บ้านเราใช้อยู่หลักๆ 2-3 เบอร์ คือ 1K ก็จะใช้กับชิ้นส่วนแนว “ไอ้จุกไอ้จ้อย” แบบที่ไม่ต้องรับภาระอะไรมาก จะเน้นเป็นของตกแต่ง ส่วน 3K นี่จะใช้เยอะมากๆ เป็นหลักใหญ่เลย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วน Body Part เช่น ฝากระโปรง ประตู แก้มหน้า ส่วน 12K ก็จะมีถึง “12,000 เส้น” มีค่าความแข็งสูงสุด จะถูกในไปใช้โดยเน้นในส่วนที่ต้องการ “รับภาระหนัก” จริงๆ และมักจะไม่ได้อยู่ด้านนอกโชว์งานให้เราเห็น…
อย่างรถที่ใช้ CF ก็มีตั้งแต่ F1 นี่แหละชัดเจน จะเน้นแข็งสุดและเบาสุด และ Super Car ต่างๆ ส่วนรถ Sport Production ของญี่ปุ่น ที่ผมเคยเห็นว่าใช้ CF ในการเสริมความแข็งแรงของตัวถัง (Body Reinforcement) ก็จะเป็น NISMO SKYLINE R34 GT-R ที่ใช้ CF เสริมในจุดที่ต้องรับแรงมากๆ เป็นพิเศษ ตามซุ้มโช้คอัพ ตามมุมคาน หรือมุม Subframe ต่างๆ ให้เกิดความแข็งแรงสูงสุด โดยที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งดูในรูปจะรู้ ส่วน R35 GT-R ก็ใช้กันจนบัดนาว ยิ่งถ้าเป็นตัว NISMO ก็จะใช้ใน Aero Part และการเสริมความแข็งแรงของตัวถังเพิ่มมากขึ้น แต่เน้นสมรรถนะแบบ “Track Ready” จริงๆ ซึ่งในบ้านเราจะเน้นในด้าน “การตกแต่งสวยงาม” ซะมากกว่า ไอ้ตัว 12K ก็อาจจะไม่ได้ใช้เยอะนักกับรถแต่งทั่วไป ส่วนจะรู้ได้ไงว่าเท่าไร ก็ต้องดูใน “ใบเซอร์” หรือ Certificate จากบริษัทผู้ผลิตบอกมาว่ามีค่าเท่าไร…
- CF ตอนนี้ก็นำไปใช้หลากหลายจริงๆ อย่างอันนี้ก็ล้อ Pure Carbon ของ KOENIGSEGG ที่รองรับความเร็วได้ถึง 400 km/h !!!
- เบาะแบบ Full Carbon ของ TECHNOCRAFT ที่เป็นกระแสฮือฮาอยู่หลายปีก่อนในบ้านเรา
ความเข้าใจเกี่ยวกับ CF
สำหรับ CF ณ ตอนนี้ ก็มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ หรือการนำมาผลิต ตกแต่ง ในหลากหลายรูปแบบมากๆ มันก็อาจจะมีการ “เรียก” เป็นรูปแบบแตกต่างกันออกไป “ตามความเข้าใจ” แต่บางทีก็อาจจะมีการ “คลาดเคลื่อน” กันบ้าง อาจจะโดยไม่เจตนา แต่บางคนก็เจตนาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด จะได้ขายของเกรดห่วยในราคาเกรดเทพ เราคงไปห้ามผู้ผลิตไม่ได้ แต่หน้าที่ของเรา คือ “ให้ความรู้” ว่า “อะไรคืออะไร” จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ แค่นั้นเอง…
- อันนี้จะเป็น “ผ้าก๊อซ” สำหรับเสริมในบางจุด
- อันนี้เป็น “ไฟเบอร์กลาส” ที่ใช้ Lay ผสมเข้าไป ถ้ามีอะไรผสมเข้าไป นั่นคือ “ไม่ใช่ Pure Carbon” แน่นอน
ลักษณะงาน Carbon โดยทั่วไป
จริงๆ แล้ว CF จะเป็นผืนผ้าที่ทอขึ้นมา แล้วนำมา Lay ขึ้น Mold เป็นรูปร่างลักษณะที่เราต้องการ (เดี๋ยวจะไปดูตอนท้ายว่ามีขั้นตอนการผลิตอย่างไร) ซึ่งผืน CF นั้น จะเป็นส่วนประกอบที่ “มากหรือน้อย” ขึ้นอยู่กับ “เกรดและราคาของงาน” ที่เห็นทั่วไปไม่ใช่ CF ล้วนๆ แต่เป็นการ Layทับกันกับ “ไฟเบอร์กลาส” (Fiberglass) ทั่วๆ ไปนี่แหละ อันนี้ CF จะ Lay ด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นไฟเบอร์ปกติ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประมาณนี้แหละ แต่อาจจะเสริม “ก๊อซ” (Gauze) ที่เป็นผ้าตารางๆ (คล้ายๆ ผ้ากระสอบ) เพื่อเป็นตัวรองอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจจะเสริมเป็นจุดๆ ที่ต้องการความแข็งแรงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่แข็งพิเศษ คงพอเข้าใจนะครับ…
- ชิ้นนี้เป็นงาน Pure & Dry Carbon จะมีความเบาและแข็งแกร่ง ถ้าคาร์บอนเนื้อดี จะมีความเงางาม มิติสวยงามจากเนื้อใน (ไม่ใช่เงาจากเรซิ่น)
Pure Carbon & Dry Carbon
ง่ายๆ ชิ้นงานนั้นจะต้องเป็น CF จริงๆ ทั้งชิ้น ไม่มีการนำไฟเบอร์ หรืออะไรอื่นใดมาผสมเข้าไปทั้งสิ้น ดูง่ายๆ แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ถ้าด้านหน้าเป็น CF แต่ด้านหลังเป็นไฟเบอร์กลาสธรรมดา หรือเป็น Gauze สอดไส้ นั่นก็ไม่ใช่ Pure Carbon แล้ว จำไว้ว่า “ต้องคาร์บอนล้วนๆ” เท่านั้น หรือแม้ว่าอาจจะเห็นทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็น CF ก็พอจะมั่นใจได้ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ !!! อาจจะมีการ “สอดไส้” ตรงกลางเป็นวัสดุอย่างอื่นก็เป็นได้ อันนี้คงต้อง “อาศัยความเชื่อมั่น” กันหน่อย จริงๆ จะเทสต์ก็ได้ แต่วิธีมันจะโหดหน่อย คือ “เผาไฟ” ถ้า Pure Carbon แท้ๆ จะไม่ติดไฟ และเหลือให้เราเห็น โดยถ้ามีวัสดุอื่นมันจะไหม้ไฟไปหมด จริงๆ ตอนซื้อผ้า CF มา ร้านก็ต้องมีการตัดตัวอย่างมาเทสต์ก่อนว่ามันแท้จริงหรือเปล่า ก่อนที่จะนำมาขึ้นงานเพื่อขาย…
สำหรับกรรมวิธีการขึ้นรูป จะใช้วิธีแบบ Pre-Preg หรือ “อบแล้วอัด” ซึ่งเราจะมาว่ากันถึงหัวข้อต่อไป เพราะด้วยความที่มันเป็น CF ล้วนๆ และบาง การที่จะนำ CF มาทบกันหลายๆ ชั้น มันเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ก็เลยใช้กรรมวิธี Pre-Preg เพื่อทำให้โมเลกุลของ CF แน่นและแข็งแรงเป็นพิเศษนั่นเอง…
Hand Lay & Wet Carbon
สำหรับสองอันนี้ จะมีการเข้าใจไปสองอย่าง คือ Wet Carbon จะนึกถึงชิ้นงานที่มีเรซินเงาๆ ฉ่ำๆ ดูแล้ว “เปียกๆ” นั่นเอง อันนี้จะเป็นกรรมวิธีการอาบเรซินแบบ Hand Lay คือ “ชโลมทาเรซินบนชิ้นงาน CF ด้วยมือ” สองอันนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นกรรมวิธีพื้นฐานที่มีใช้กันอยู่ทั่วไป แต่คนก็ชอบ เพราะมันดูเงาๆ เด่นๆ ดี แต่เรื่องของน้ำหนักก็จะเยอะกว่าแบบอื่นหน่อย เพราะเรซินที่เคลือบมันเยอะกว่า แต่ได้ราคาไม่แพงมากนักเหมือนสองแบบถัดไป เพราะการผลิตทำได้ง่ายกว่า…
Vacuum
จะเป็นขั้นพัฒนาขึ้นมาอีกหน่อย โดยการนำชิ้นงานเข้าถุงที่ใช้ “สุญญากาศ” ดูดเรซินที่เคลือบออก ส่วนหนึ่งมันจะแทรกซึมในเนื้อใย CF อยู่แล้ว ส่วนที่เหลือก็ดูดออกโดยใช้สุญญากาศที่แรงดูดแถวๆ -1 Bar ทำให้ชิ้นงานน้ำหนักเบาขึ้นอีก…
Pre-Preg
อาจจะได้ยินคำว่า Pre-Preg (มาจากคำว่า Pregnant) กันมาบ้างในการผลิต เป็นขั้นตอนสุดยอดของการขึ้นงาน Pure Carbon เหมือนการ “อัดทั้งน้ำยาและใยคาร์บอนให้แน่น” เหนือกว่าอีกระดับด้วยการใช้ “แรงกด” ที่มากถึง “10 บาร์” แล้วใช้ Vacuum ในการดูดน้ำยาออก ทำให้ชิ้นงานเกิดความ “แนบแน่น” สูง เพราะมีแรงดันเสริม พวก “ตามด” (Pin Hole) หรือ “โพรงอากาศ” (Air Pocket) พวกนี้ก็จะถูกกำจัดให้ “หายไป” ตัวน้ำยาก็จะ “อิ่มตัว” (Impregnated) กับเส้นใยมากที่สุด พูดง่ายๆ คือ “อัด” เข้าไปให้แน่นนั่นเอง ชิ้นงานออกมาจะ “บาง” กว่า และ “แข็งแรงสูงสุด” กว่าแบบอื่นที่กล่าวมา แข็งแรงกว่าเหล็ก ในอัตรามวลและพื้นที่ที่เท่ากันประมาณ “5 เท่า” !!! จากการเทียบดูกราฟความแข็งแรงของวัสดุชนิดต่างๆ ซึ่งราคาก็สูงตามไปด้วย เพราะขั้นตอนการผลิตมันมากและยากกว่า ต่างๆ จะหายไป…
แบบ Pre-Preg จะนิยมใช้กันในจุดที่ต้องรับแรงสูงมากๆ และเอาน้ำหนักเบาด้วย เช่น ปีกเครื่องบิน และชิ้นส่วนใน Super Car เร็วขั้นเทพชั้นนำของโลกต่างๆ อย่าง FERRARI, LAMBORGHINI etc รวมถึง Luxury Car สุดแพงอย่าง New BMW 7 Series ที่ใช้โครงสร้างแบบ Core Carbon โดยการใช้ CF ในชิ้นส่วนหลักของตัวถัง เพื่อรับแรงมากๆ แต่ยังคงน้ำหนักที่เบากว่า มันเลยโคตรแพงไงครับ…
โดนหลอกจะรู้มั้ย !!!
บอกแล้ว โลกใบนี้มี “ของปลอม” เสมอ เพราะฉะนั้น CF ก็ย่อมมีการปลอม อาจจะโคตรปลอม หรือปลอมปน หรือ กรดต่ำ มันก็มีอีกเหมือนกัน เวลาซื้อมาก็มีจากหลายแหล่ง หลายเกรด สำหรับร้าน ก็จะต้องดูว่า ผ้า CF ที่ซื้อมาเป็นม้วนๆ นั่น “แท้หรือเปล่า” โดยมากก็จะต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้า “ไฮโซ” หน่อย ก็แถวๆ “ยุโรป” โดยเฉพาะ “อิตาลี” จะนิยมใช้ CF กับรถยนต์มากที่สุด เพราะเป็นดินแดนแห่ง Super Car หรือไม่ก็จากแหล่งอื่นๆ เช่น จีน ไต้หวัน ก็อย่าดูถูกไป เพราะถ้าเป็นบริษัทที่มาตรฐานสูงๆ ก็ผลิตออกมาได้ “ระดับโลก” เช่นเดียวกัน เอ้า จะดูว่าแท้หรือเปล่า เอาแน่ๆ ก่อนซื้อผ้าก็ต้อง “ตัดตัวอย่างมาเผาไฟ” อย่างที่บอกไปนั่นแหละครับ แต่จริงๆ เน้นไปอยู่ที่ “ผู้ซื้อ” จะต้องรู้ไว้บ้างว่ามันสม “ราคาคุย” กับ “ราคาเงิน” จริงหรือเปล่า ก็มีวิธีดูมาฝากกันแบบง่ายๆ ครับ…
– ปกติผู้ซื้อก็จะมีโอกาสได้เห็นชิ้นงานที่สำเร็จมาแล้ว สิ่งเดียวที่คุณจะใช้ประเมินได้ คือ “สายตา” อันนี้ต้องมีประสบการณ์กันหน่อย ต้องเคย “เห็นของแท้ ของดี ตัวจริง” แล้วจะรู้ ให้ดูความเรียบร้อยเป็นหลัก ถ้าของ “เกรดดี” งานสาน งานถักใย จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นแถวตรง สม่ำเสมอ สีสันไม่ดำๆ ด่างๆ การ “เหลือบแสง” จะดูสวยงาม ฟรุ้งฟริ้ง “มีมิติชัดเจนในตัวของมัน” คือ “ดูแล้วมันสวยอ่ะ” ผมก็ไม่รู้จะบอกไงว่ะ…
– แต่ถ้าของ “เกรดต่ำ” เป็น “ผ้าคาร์บอนผสมวัสดุอื่นเยอะ” งานจะไม่เรียบร้อย ไม่สม่ำเสมอ ห่างๆ ถี่ๆ อะไรก็ว่าไป แต่โดยมากจะเจอ “สานห่าง” ลดคุณภาพ เอากำไรเยอะ เส้นใยก็โย้เย้ไปมาไม่น่าดู ขนาดก็ไม่เท่ากัน มิติการเหลือบแสงก็ไม่สวย พอเอาไป Lay น้ำยา งานจะมี Effect เยอะ ปูดๆ คลื่นๆ ไม่เนียน ไม่สบายตา…
– แต่ที่เคยเจอ คือ “ผ้าปลอม” ไม่มีความเป็นคาร์บอน อันนี้ต้องสังเกตดีๆ ครับ มันจะ “ไม่มีความเหลือบในเส้นใย” จะดูทื่อๆ “ไร้มิติ” แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะมันดูได้ง่าย ดูยังไงก็รู้ว่ามันไม่ใช่ แต่บอกไว้ก่อน เพราะสมัยก่อนเคยมีจริงๆ ตอนที่ข้อมูลกับงาน CF ยังไม่แพร่หลาย เลยโดน “อำ” ได้ง่าย…
– ลอง “ส่องกับแดด” ดู ถ้า CF งานแท้ๆ จะ “ทึบแสง” แต่ถ้าส่องแล้ว “โปร่งแสง” แสดงว่าคุณภาพไม่ค่อยโอฯ การทอสานใยไม่แน่นพอ สานแบบหลวมๆ ใช้ใยเกรดต่ำ ผสมไฟเบอร์หรือวัสดุอื่นเยอะ…
– ถ้าอย่างแย่สุด คือ “สติกเกอร์ลายคาร์บอน” เดี๋ยวนี้ก็จะพยายามทำให้มีมิติเหมือนกับของจริง แต่ทำยังไงก็รู้ว่าเป็นแค่สติกเกอร์ ถ้ายังโดนหลอกอีกก็เลิกแต่งรถดีกว่าครับท่าน…
ขั้นตอนการผลิต
สำหรับขั้นตอนการผลิต ก็มีส่วนสำคัญมากในการสร้างชิ้นงาน เพราะถ้ามีความละเอียดและถูกต้อง ชิ้นงานจะออกมาสวยงาม ทนทาน ซึ่งทาง MONZA SHOP ก็เปิดโอกาสให้เราเข้าไปเจาะรายละเอียด ดูงานของจริง ซึ่งเราจะนำเสนอขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ขอละไว้ในจุดที่ “ไม่สามารถเปิดเผยได้” นะครับ เพราะเป็นข้อมูลส่วนตัวของทางผู้ผลิตที่สงวนสิทธิ์…
- ผ้าคาร์บอนที่เราจะนำมาสร้างงาน จะมีคนคอยตรวจเช็กเรื่องความเรียบร้อยของผ้า และ “จัดทรง” ในจุดที่ยังไม่เรียบร้อยก่อนจะ Lay เพราะตรงนี้มันยังแก้ไขได้
- เกรดดีเนื้อจะสวยแบบนี้แหละครับ
Molding
ก็จะเป็น “ตัวแบบ” หรือ “แม่พิมพ์” ก่อนอื่นจะต้องขึ้นรูปเป็นสิ่งที่เราต้องการก่อน ไอ้เรื่อง “โมลด์” นี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุดก่อนอย่างอื่น เพราะการขึ้นรูป ถ้าแบบไม่แน่นอน ชิ้นงานก็จะออกมาผิดรูป ไม่สวยงาม บิดเบี้ยว ใส่แล้วไม่เข้ารูป แก้เยอะแก้แยะ ก็คงต้องทุบแม่มทิ้งมากกว่าจะนำไป (หลอก) ขาย อันนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวของแต่ละที่ ว่าจะปั้นโมลด์ออกมาอย่างไรให้ดี และ “มิติถูกต้องทั้งหมด” ต้องฝีมือกันหน่อยละ อาจจะไม่ได้เป๊ะๆ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ขอให้มาตัดแต่งน้อยที่สุดก็แล้วกัน จะได้ไม่เป็นภาระแรงงานและต้นทุน…
- วางผ้าคาร์บอนบน Mold เพื่อขึ้นในรูปแบบที่ต้องการ ตัดให้เข้ารูป ก่อนจะเข้าสู่การผลิตในรูปแบบต่างๆ กัน
Laying
ขั้นตอนต่อไป ก็คือ “เลย์ขึ้นรูป” โดยการนำผ้า CF เป็นม้วนๆ ขึ้นโต๊ะตัดเป็นขนาดที่พอเหมาะกับตัวแบบ ซึ่งก่อนจะโปะลงไป ตัวแบบก็จะมี Pre-Ply ป้องกันการติดของตัวผ้า CF กับตัวแบบ เวลาแกะออกมาจะทำได้ง่ายและชิ้นงานเสียหายน้อยที่สุด หรือแทบจะไม่เสียหายเลย ในขั้นตอนนี้ ก็จะแยกแล้วว่าเป็นแบบ Hand-Lay คือ “ลงน้ำยาเรซินด้วยมือ” เลย์ไปเรื่อยๆ จนครบชั้นที่กำหนด หรือกว่านั้นก็จะเป็น Vacuum หรือ Pre-Preg ก็แล้วแต่กรรมวิธี…
- แกะออกจากแบบ ก็นำมาตกแต่ง ขัดด้วยกระดาษทราย ปรับผิวให้เรียบก่อน
- เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง ก็รอพ่นแลคเกอร์
- สติกเกอร์ก็จะถูกติดก่อนจะพ่นแลคเกอร์ พอพ่นแล้วจะดูเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน และไม่ลอก อันนี้เป็นชิ้นงานที่ขัดเงาเสร็จเรียบร้อย
Waxing
ขั้นตอนนี้คือการ “พ่นเคลือบ” เคลือบความเงางามให้กับผิวงาน โดยการใช้ “แลคเกอร์” (Lacquer) เป็นตัวการในการสร้างความเงางาม พร้อมเคลือบกันรอยต่างๆ อันนี้ก็อยู่ที่เกรดของแลคเกอร์ที่เราเลือกใช้ ถ้าของดีๆ ก็แพงหน่อย แต่ได้ความเงางามสูง มีชั้นฟิล์มในการปกป้องรอยและความหมองได้นานและแข็งแรงกว่าแลคเกอร์เกรดต่ำ ส่วนใหญ่แล้วก่อนพ่น ก็จะติดสติกเกอร์ (กรณีเป็นของร้าน) ลงไปก่อน แล้วจึงพ่นแลคเกอร์ทับให้ดูเป็นเนื้อเดียวกัน…
Finishing
หลังจากพ่นเคลือบมาแล้ว ก็เหลือขั้นตอนท้ายๆ คือ “ตกแต่งเก็บงาน” จะดูว่ามีอะไรต้องแก้หรือเปล่า งานเรียบร้อยหรือไม่ ถ้ามีจุดบกพร่องก็จะแก้ไขก่อน ถ้าทุกอย่าง OK ก็ส่งไป “ขัดขึ้นเงา” ตรวจเช็กครั้งสุดท้ายก็ “ส่งงาน” ได้เลย…
สำหรับข่าวดีของ “สายกระบะ” ทาง MONZA SHOP ได้คิดค้นและผลิต “ประตูวิเศษ” เป็นรองก็แค่ของ “โดเรมอน” เท่านั้น ประตูนี้จะใช้ชื่อว่า “Infinity Doors” ซึ่งปกติแล้ว ประตู CF ทั่วไป จะผลิตมาสำหรับ “รถแข่ง” เซฟน้ำหนักให้เบา มีแต่เปลือก แล้วใช้ Acrylics แปะไว้แทนกระจก ยึด Rivet ก็จบแล้ว แต่สำหรับรถถนน แบบนี้ไม่ตอบโจทย์เพราะไม่สามารถใช้งานจริงได้ จึงได้ R&D “ประตูคาร์บอนแนวใหม่ ไฉไลใส่แล้วใช้ได้จริง” คือ การขึ้นโครงสร้างที่เหมือนกับประตูเดิมติดรถทุกอย่าง จะต้องใส่อุปกรณ์เดิมได้ครบ เช่น กระจกเดิม รางกระจกไฟฟ้า มียางขอบต่างๆ ที่ใช้ของเดิมได้ทุกชิ้น กลอนล็อกต้องใช้งานได้เหมือนเดิม ฯลฯ พูดง่ายๆ ทำให้ใช้งานได้ปกติ ที่ความเร็วสูง ลมและน้ำต้องไม่เข้า เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะต้องวัด Alignment ทุกอย่างให้ “เป๊ะ” ตามของโรงงาน ณ ตอนนี้มีของ All New D-MAX 4 ประตู ส่วนรถรุ่นอื่นๆ รวมถึง BRIO และ JAZZ ก็มีโครงการผลิตอยู่ อดใจรอหน่อย…
- McLaren MP4/1 ตัวแข่ง F1 ที่ใช้ Carbon Composite เป็นรุ่นแรก
– ในยุค 90 ปลายๆ ตอนนั้น CF ยังมีราคาแพง และเป็นของแต่งมาจากนอก ยุคแรกๆ มักจะเป็นของแต่งจุกจิก เช่น หัวเกียร์ แป้นแตร เรียกว่ามีประดับนิดๆ หน่อยๆ ส่วนถ้าเทพจริงๆ ก็ต้องเป็น “พวงมาลัย CF แท้ทั้งวง” ไม่มีวัสดุอื่นใดปนเลย ก็คือ IMPUL 913 CF ที่หายากสุดๆ ซึ่งเราเคยนำเสนอไปแล้ว…
– ดังนั้น เทรนด์การตกแต่งรถในยุคก่อน จึงนิยมนำสติกเกอร์ ลาย CF มาแปะกันตามจุดต่างๆ เพื่อให้ดูเป็น Carbon Look…
– สมัยก่อนคนจะเห็น KEVLAR หรือ Aramid มากกว่า CF เพราะ “สีมันสวยดี” ถ้านึกลายไม่ออก ก็ให้ดูเบาะ RECARO TOMCAT นั่นแหละครับ ตัวผ้าเบาะมันจะเป็นลาย Aramid สีดำ-เหลือง เลย…
– รถแข่ง F1 คันแรก ที่ใช้โครงสร้างจากคาร์บอนไฟเบอร์ หรือ Carbon Composite Monocoque คือ McLaren MP4/1 ที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 1981 !!! โดยเน้นในส่วนของ Driver Compartment หรือ ส่วนที่โอบอุ้มคนขับ เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น และน้ำหนักเบาลง เป็นสิ่งที่ Motorsport ต้องการอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงนำมาพัฒนาใช้กับ Super Car อย่าง McLaren ที่ออกมายุคหลังเป็น Production Car…
– เหตุที่ CF นิยมกันมากในสาย “กระบะ” เนื่องจากว่า ตัวรถมีน้ำหนักมาก เพราะมี Chassis ที่เน้นการรองรับน้ำหนักบรรทุกมากๆ แต่เราดันเอามาทำซิ่ง มันเป็นอุปสรรค จะต้องลดน้ำหนัก แต่รถกระบะมันไม่ได้หนักที่ตัวถัง จริงๆ ตัวถังมันมีแค่ไม่กี่ชิ้นหรอก แต่มันหนักที่ Chassis ซึ่งเราไปลดมันก็ไม่ได้มาก ลดมากก็กลัวจะ “ขาด” ซะก่อน ก็เลยต้อง “เปลี่ยนวัสดุตัวถังให้เป็น CF ให้ได้มากที่สุด” ไปๆ มาๆ ก็เลยเป็นกระแสแบบ “ของมันต้องมี” ทั่วประเทศ…
ขอขอบคุณ
คุณอาทิตย์ สิริตั้งตระกูล @ MONZA SHOP THAILAND
รอพบกับ “นวัตกรรมใหม่แห่งคาร์บอน” เร็วๆ นี้…
Facebook : Monzashop Thailand – เพจแท้
Tel. 08-1750-0892