เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่, Google Search
ยุคทองของ Sport Car ในปี 90 กลับกลายเป็นกระแสสังคมรถซิ่ง ที่ทรงอิทธิพลกับต่อมความ “อยากได้” แน่นอนว่า ในจิตใจของเหล่า “คนนิยมซิ่ง” ย่อมมี “สปอร์ตในฝัน” เป็นรถยุคนี้ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปี แต่ด้วยความที่รถพวกนี้เหมือนเป็น “สื่อกลาง” (Intermediate) ในการเชื่อมต่อของยุคเก่าและใหม่ ความรู้สึกในการ “เข้าถึง” และ “จับต้องได้” ไม่เก่าเกินไปจนหารถและของแต่งยาก แล้วก็ไม่ใหม่เกินไปจนมีระบบที่ซับซ้อน เราจึงเห็นรถยุคนี้ยังมีชีวิตอยู่หนาตา แต่ว่า สิ่งที่น่าโหยหา คือ “ความดั้งเดิม” (Original) ของรถเหล่านี้ ที่นับวันจะเหลือน้อยลง จึงกลายเป็นความต้องการที่จะเห็นในสิ่งที่เป็น Standard ของรถพวกนี้จริงๆ และในตอนนี้ “อะไหล่แท้ดั้งเดิม” กลับกลายเป็นสิ่งที่หายาก ราคาแพง ซึ่งสมัยก่อน “ทิ้งขว้าง” แบบไร้คุณค่า มันกลับทางกันแล้วนะครับ ดังนั้น เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับรถสปอร์ตยุคนี้ ว่า “ที่มาที่ไป” เป็นอย่างไร ในครั้งนี้เป็น “ภาค 1” กับสปอร์ตยอดฮิต NISSAN SKYLINE GT-R ในรหัส BNR32 ที่เข้ามาครองใจใครต่อใครหลายต่อหลายคน ลองดูครับ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง ผม “พี สี่ภาค” ตั้งใจ “จัดเต็ม” สำหรับผู้อ่านทุกท่านครับ
Reed It More XO 220 (90’s Sport Car)
NISSAN SKYLINE GT-R (BNR32)
- ทรวดทรงอันก้าวร้าว ดุดันมาแต่กำเนิด ทำให้ BNR32 “เกิด” จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เสื่อมความนิยม สียอดฮิตก็คงจะเป็นสีนี้ Gun Metallic Grey รหัส KH2 แต่ในเมืองไทยผมเคยเห็นสี Wine Red สีแดงไวน์ สวยมาก แต่กลับไม่ได้รับความนิยม
- ตัวถังของ BNR32 จะมีข้อพิเศษ คือ ฝากระโปรง แก้มหน้า จะเป็น “อะลูมิเนียม” เพื่อลดน้ำหนัก ส่วน Wide Fender ด้านหลัง จะมีความกว้างมากกว่ารุ่น GT-S อย่างเห็นได้ชัด
History
“ก๊อดซิลล่า” สมญานามที่ได้มาตามความ “สามารถ” ของรถ หลังจากที่ NISSAN SKYLINE ได้หยุดการผลิตรุ่น GT-R หรือ Grand Touring Racing ไปตั้งแต่รุ่น 2000 GT-R รหัส KPGC110 (Ken & Mary) จน 16 ปี ให้หลัง ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1989 จึงถือกำเนิด NISSAN SKYLINE GT-R BNR32 ขึ้นมาอีกครั้ง (ซึ่งชื่อรุ่นในครั้งนี้ ไม่มีตัวเลขความจุของเครื่องยนต์กำกับไว้อีกแล้ว) รถรุ่นนี้ทางทีมวิศวกรที่ออกแบบ นำทีมโดย Mr. Naganori Ito เป็น Chief Engineer ได้แรงบันดาลใจมาจาก PORSCHE 959 ที่ขึ้นชื่อในด้านสมรรถนะอันพิเศษ รวมถึงระบบขับเคลื่อน Real Time สุดไฮเทค (ในยุคปี 1986-1989) ซึ่ง SKYLINE GT-R BNR32 ได้นำเทคโนโลยีนั้นมา Adapt เป็น ATTESSA E-TS ที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า (ของ PORSCHE 959 เป็นกึ่ง Mechanic) ซึ่งเป็นครั้งแรกของรถสปอร์ตญี่ปุ่นที่นำระบบนี้มาใช้ใน Production Car เพื่อการพัฒนาสู่การแข่งขัน Group A และมันได้แสดงผลออกมาจากการขับทดสอบจับเวลาในสนาม Nurburgring ประเทศเยอรมนี ที่ได้ชื่อว่า “ยาวและโหด” ซึ่งเป็นสนามขาประจำ ที่ SKYLINE GT-R ทุกรุ่น จนถึง R35 GT-R ต้องไปทดสอบ และ R&D ที่สนามแห่งนี้ โดยทำเวลาไว้ได้ “8.20 นาที” ซึ่งเร็วกว่า PORSCHE 944 ทำให้ชื่อเสียงของ SKYLINE GT-R BNR32 เป็นที่จับตามองของบรรดาผู้ผลิตรถสปอร์ตจาก “ฝรั่ง” กันมาก ราคาเริ่มต้นคือ 4,445,000 เยน เลขตัวถังจะเริ่มที่ 000051 ถึง 017466 ครับ…
ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1990 ได้เกิด BNR32 GT-R NISMO Version ขึ้น โดยการผลิตรถเพื่อ Homologate ในการแข่งขัน FIA Group A ผลิตออกมาทั้งหมด 560 คัน 500 คัน จำหน่ายปกติ ส่วน 60 คัน สำหรับขายทีมแข่ง เลขตัวถังจะเป็น 100001-100560 จุดที่แตกต่าง กันชนหน้าจะมี ช่องดักลม (NISMO Bumper Ventilate) 2 ช่อง และไม่มีตะแกรงที่ช่องดักลมกลาง เพื่อเพิ่มลมเข้าไปเป่าอินเตอร์คูลเลอร์ มีคิ้วที่ฝากระโปรงหน้า (เหนือหน้ากระจัง) มี Sub Spoiler อยู่ใน Rear Spoiler อีกชิ้น มีสเกิร์ตรอบคัน เทอร์โบ NISMO ใบหน้าใหญ่ขึ้น ใบเทอร์โบด้านไอเสียเป็นเหล็ก แต่สิ่งที่ “เอาออกไป” คือ วิทยุ ปัดน้ำฝนหลัง แอร์ออโต้ ปัดน้ำฝนหลัง และ ABS…
- ภายใน BNR32 มีสี Dark Grey อย่างเดียว หน้าปัดและพวงมาลัยทรงสปอร์ต “ลงตัวที่สุด” ในรุ่นเวอร์ชั่น 2 และ 3 กรอบคอนโซลกลางจะเป็นวัสดุเดียวกับหน้าปัด ดังแสดงในรูป และถ้าเป็นรถที่มี SRS Airbag พวงมาลัยจะเป็น 4 ก้าน
- NISMO Version ดูเผินๆ จะเหมือนกัน แต่จะมีชุดพาร์ทเพิ่มขึ้นมารอบคัน ลดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกลง ทำให้น้ำหนักลดลงจากรุ่นปกติถึง 30 กก. เหลือ 1,400 กก.
ในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1991 ออกเวอร์ชั่น 2 เปลี่ยนกรอบคอนโซลกลางจากดำเรียบในรุ่นแรก เป็นวัสดุแบบเดียวกับหน้าปัด ไฟหน้ามีส่วนแตกต่างจากเวอร์ชั่น 1 ตรงโคมโปรเจ็กเตอร์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีรุ่นที่ติดตั้ง SRS Airbag ด้านคนขับ จำนวน 600 คัน ปรับปรุงระบบ ABS ใหม่ (จากรุ่นแรกที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร) เพิ่ม “สีขาว” มาในไลน์การผลิต ไหนๆ ก็มาถึงตรงนี้แล้ว คุยถึง SKYLINE GT-R N1 สักหน่อย มันถูกผลิตมาสำหรับแข่ง Group N เป็นรุ่นที่ใช้รถสแตนดาร์ดลงแข่งขัน มีโมดิฟายได้ก็ส่วนของช่วงล่าง แต่ไม่ให้เปลี่ยนชิ้นส่วนหลักที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ในส่วนของตัวรถรุ่น N1 ก็จะมีข้อแตกต่าง ไฟหน้าเป็นแบบ H4 ธรรมดา ตัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกออกทั้งหมด ไม่มีแม้แต่แอร์ จานเบรก “ไม่เจาะรู” เครื่องยนต์ดูจะเหมือนกัน สเป็กแรงม้าและแรงบิดแจ้งไว้เท่ากัน แต่ตัวเครื่องมีส่วนแตกต่างกันอยู่หลายจุด ขอไปเล่าใน Tips ท้ายเรื่องก็แล้วกัน เลขตัวถังจะขึ้นด้วย 2XXXXX โดยไม่แบ่งว่าเป็นตัวปกติ หรือ N1 ผลิตรวมกันไปเลย..
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 ออกเวอร์ชันที่ 3 มา ซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเวอร์ชัน 2 แต่ที่น่าสนใจกว่า คือ มีรุ่น V-SPEC (Victory Spec) เพื่อฉลองความสำเร็จ หลังจากชนะการแข่งขัน Group A ต่อเนื่องถึง 29 ครั้ง จุดแตกต่างที่แน่ชัดคือ ล้อ BBS ขนาด 8 x 17 นิ้ว ออฟเซต +30 ยางซิ่ง BRIDGESTONE RE010Z ขนาด 225/50R17 ระบบ ATTESSA E-TS ถูกปรับโปรแกรมให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น เบรกเป็น BREMBO ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 ออกรุ่น V-SPEC II มา เปลี่ยนยางใหญ่ขึ้น เป็น 245/45R17 อย่างอื่นคงเดิมครับ เลขตัวถังจะขึ้นด้วย 3XXXXX ทั้งหมดสำหรับรถที่ผลิตในช่วงปีนี้…
- รุ่น V-SPEC ปี 1993 และ V-SPEC II ปี 1994 จุดเด่นก็อยู่ที่ล้อ BBS ที่ผลิตให้กับ NISSAN โดยเฉพาะ (โลโก NISSAN หล่อเป็นตัวนูนที่ดุมกลางมาเลย)
- สำหรับช่วงล่างของตัวธรรมดา กับ V-SPEC หลายคนสงสัยว่า V-SPEC ใช้สปริงที่เตี้ยกว่า เท่าที่หาข้อมูลเจอ “ไม่ ต่างกัน” ครับ พิจารณาร่วมกับ Spec ความสูงโดยรวมของรุ่น V-SPEC เท่ากับ 1,355 มม. ส่วนรุ่นธรรมดา เท่ากับ 1,340 มม. ซึ่ง V-SPEC จะสูงกว่าด้วยซ้ำ ก็มาจากขนาดล้อที่ใหญ่กว่านั่นเอง…
Motorsport “Godzilla” Begin
ในวงการมอเตอร์สปอร์ต จากความตั้งใจที่จะเป็นเลิศในการแข่ง Group A ตอนนั้นถือเป็นยุครุ่งเรืองของ SKYLINE R32 GT-R จริงๆ ถ้าใครเกิดทัน จะเห็นรถ Group A รุ่นนี้เต็มสนามไปหมด หลากสีสัน ทีมดังๆ ก็จะมี ADVAN กับ TAISAN (สีแดง-ดำ) ส่วนที่ดังสุดๆ ต้องเป็นทีม CALSONIC (สีฟ้า), HKS (สีลายเขียว ม่วง), HASEMI (สีขาว ส้ม) ฯลฯ
ในญี่ปุ่นยังไม่พอ มาถึง Australian Touring car Championship ก็มีตัวแข่งจากฝีมือของคนออสซี่ แรงระดับ 600 PS ตัวอย่างรถจากทีมดังๆ เช่น GIBSON MOTORSPORT ของ Fred Gibson หวดเอาชนะตัวแรงอย่าง FORD SIERRA COSWORTH ซึ่ง R32 GT-R ชนะเลิศในการแข่ง BATHURST 1000 Classic ปี 1991-1992 ตรงนี้แหละครับ เป็นที่มาของคำว่า Godzilla !!! The Monster from Japan !!!
- เครื่องยนต์ RB26DETT จาก R32 ฝาสีดำเรียบ ไม่เงาไม่ด้าน (Semi Gloss Black) สำหรับเครื่อง R33จะแก้เดือยเสียบปั๊มน้ำมันเครื่องเป็นแบบ “เต็ม” แล้ว (ขอแก้ไขข้อมูลส่วนนี้ใหม่จากในนิตยสาร ผู้เขียนขออภัยในความผิดพลาดด้วย) ส่วนฝาสีแดง จะอยู่ใน R34 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของเครื่องตระกูลนี้แล้ว
- ตัวแข่ง Group A ทีม CALSONIC ซึ่งเป็นรถที่มีพื้นฐาน Stock Body ล้อเป็น Center Lock แต่ห้ามยื่นออกมานอกตัวถัง ตัวถังก็ห้ามทำโป่งเพิ่ม ต้องเดิมๆ ช่วงล่างสามารถเปลี่ยนมุมล้อต่างๆ เปลี่ยนวัสดุได้ แต่จุดยึดที่แชสซี และระบบการทำงานต้องคงเดิม
ในวงการมอเตอร์สปอร์ตของไทย ในยุคแรกมีมาอาละวาดในเซอร์กิตอยู่ 3 คัน เป็นทีม Aim Motorsport 2 คัน สีแดง เป็นรถ Group A ที่โมดิฟายจาก “ออสเตรเลีย” ผู้ขับ คือ “คุณพฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” และ “คุณวราวุธ (แมน)มานิตย์” ส่วนอีกคัน เป็นทีม Singha Panasonic ผู้ขับ คือ “เกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์” ในยุคหลัง ประมาณปี 2002 ก็จะมี R32 ตัวแข่ง Drag จาก HKS Japan มาวิ่งโชว์ที่สนาม MMC ทำเวลาพิกัด 8 วินาที ปลายๆ ส่วนในบ้านเรา ตัวดังๆ ก็คือ R32RH9 สีขาว ของ SPEED-D & TOON Engine Shop เร็วสุดใน Souped Up Thailand Records 2006 ด้วยเวลา “8.378 วินาที” ครับ…
- ตัวแข่ง Group N ทีม ZEXEL ดูเผินๆ จะเหมือนกันกับ Group A แต่จริงๆ ไม่เหมือนครับ อันนี้แทบจะเป็นสแตนดาร์ดตามรุ่น N1 เลย
After Buy Service Guide
สำหรับผู้ที่ซื้อรถรุ่นนี้มาแล้ว มีคำแนะนำในการซ่อมบำรุงเพื่อความสมบูรณ์สูงสุด เริ่มกันจาก “ระบบเครื่องยนต์” ถ้าจะเอาชัวร์ แนะนำให้รื้อมาตรวจเช็ค และ “โอเวอร์ฮอล” ใหม่ และต้องเป็น “อะไหล่ใหม่” เพื่อความชัวร์ เริ่มกันจาก “ปั๊มน้ำมันเครื่อง” ถ้าจะไม่โมดิฟายต่อ “เบิกปั๊ม OEM ของใหม่ก็พอ” เพราะของเดิมพอใช้งานมานานแล้วย่อมมีการสึกหรอ แล้วแรงดันจะตก ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ แต่ถ้า “คิดจะโมดิฟายต่อยอด” ก็ต้องหาปั๊มซิ่งมาใส่ เพราะเป็นจุดอ่อนที่รู้กัน
“ชุดแบริ่งชาฟท์” อันนี้ก็ควรเปลี่ยนด้วยเพื่อความชัวร์ ของเดิมส่วนมากก็จะ “ใกล้กลับบ้านเก่า” แล้ว ต้องทำใจว่าเครื่องมีอายุกว่า 20 ปี ยังไงก็ต้องทำ ถ้าจะใช้สภาพเดิมๆ ก็ของ OEM แต่ถ้าคิดว่าจะโมดิฟายเพิ่มในอนาคต เปลี่ยนของโมดิฟายรอไว้ได้เลย แต่ลองเช็คดูครับ ถ้าราคาต่างกันไม่มาก เล่นของซิ่งเลยจะเหนียวกว่า ต่อมาในจุดที่มีผลต่อเครื่องยนต์ คือ “วาล์วไอเสีย” ของเดิมเป็นแบบกลวง ด้านในใส่สาร “โซเดียม” เพื่อลดความร้อน พอใช้ไปนานๆ เกิดการ “กร่อนใน” ความแข็งแรงจะลดน้อยลงไป ถ้าเครื่องเดิมๆ ไม่เท่าไร แต่ถ้าคิดจะโมดิฟายต่อ “ต้องเปลี่ยนวาล์วไอเสียใหม่” กันปัญหาวาล์วขาดจากความร้อนสูง…
- V-SPEC II เนียนๆ อย่างนี้ K-FACTORY ขอเก็บไว้ใน Collection แต่ขอหล่อด้วย NISMO Bumper Ventilate (ช่องลมเหมือน “จมูก” ข้างป้ายทะเบียน) ก็เพียงพอ
มาถึง “ระบบระบายความร้อน” กันบ้าง ก็เป็นจุดที่ต้องระวังอยู่เหมือนกัน ผมเข้าใจว่ารถรุ่นนี้ออกแบบมาไว้ “ซิ่ง” มากกว่า “ขับในเมือง” ระบบระบายความร้อนของเดิม ถ้าสมบูรณ์นะ ตอนวิ่งไม่มีปัญหา (นี่พูดถึงเครื่องสแตนดาร์ดนะ) แต่ตอนจอดความร้อน “อาจจะขึ้นสูงกว่าปกติอยู่บ้าง” อยู่ที่ “สภาพโดยรวม” ด้วย เพราะรถที่สมบูรณ์ เคยขับตอนรถติดก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคันไหนไม่ปกติ ก็ต้องดู “ปั๊มคลัตช์พัดลม” ใช้ไปนานๆ “น้ำยาในปั๊มคลัตช์” มันก็เสื่อมว่ะ ทำให้แรงจับลดลง พัดลมหมุนรอบช้าลง ตอนจอดเดินเบานานๆ ความร้อนก็จะขึ้น ไอ้รุ่นนี้มันเติมน้ำยาไม่ได้ซะด้วย บางคนที่ชอบแบบเดิม ก็ตัดใจ “เบิกใหม่” ราคาก็หลายพันอยู่ เพราะของ R32 มือสอง เริ่มหา (ดีๆ) ยาก อีกเรื่อง “เช็คสภาพใบพัดลม” ด้วย ถ้า “มีรอยร้าว” ต้องเปลี่ยนครับ เพราะเครื่อง RB26DETT รอบปลายจะฟาดเร็ว ยิ่งถ้าเครื่องโมดิฟายยิ่งชัด ถ้าใบพัดลมมีรอยร้าว โอกาส “ใบแตก ใบบิน” ฟันหม้อน้ำแตกก็มีสูง (อันนี้เคยบอกไปแล้ว) บางคนไม่ซีเรียสว่าต้องเดิม ก็ “เปลี่ยนเป็นพัดลมไฟฟ้า” แบบรถรุ่นใหม่ ก็แล้วแต่ทางเลือกของแต่ละคน…
- ไฟหน้าของรุ่นปี 1991 ขึ้นมา โคมโปรเจ็กเตอร์จะต่างจากปี 1989 (บอกยาก ต้องสังเกตเอง) ส่วนรุ่น N1 จะเป็นโคม HID ธรรมดา
สำหรับ “ระบบไฟต่างๆ” ก็เป็นสิ่งที่ “ต้องตรวจสอบ” เพราะสายไฟมันก็มีอายุการใช้งานเหมือนกัน ถ้าสายไฟกรอบ เก่า โอกาสที่จะเกิดปัญหาในการขับขี่ ไฟช๊อต ระบบพัง ก็มีมาก เริ่มกันจาก “สายไฟเครื่องยนต์” เบิกใหม่ได้ก็ชัวร์สุด หรือมือสองสภาพดีก็ได้ (ถ้าหาได้นะ) ต่อมาจุดที่ไม่ค่อยเช็คกัน คือ “เซ็นเซอร์ลิ้นเร่ง” อันนี้คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง ของเดิมพอเก่าแล้ว “หน้าสัมผัสสึกหรอ” เกิดการ Error ขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ทำงานผิดพลาด อ่านองศาคันเร่งผิดสเป็ก ทำให้เครื่องทำงานไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ มันจะส่งผลไปยังระบบ ATTESSA ด้วย เพราะมันต้องอ่านค่าจากตรงนี้ร่วมด้วยเหมือนกัน อื่นๆ ก็มี “คอยล์จุดระเบิด” ที่มักจะแตก กรอบ เพราะมันอยู่ใต้ฝาปิด (บางคนก็ถอดฝาปิดออก แต่ดูไม่สวยงาม) จึงเป็นปัญหาที่เครื่อง RB ชอบเป็นกัน อีกจุดที่ต้องเช็ค คือ “เซ็นเซอร์วัดองศาข้อเหวี่ยง” เก่าๆ ก็มีปัญหาไปตามอายุ (อย่าไปว่ามันเลย) อ่านค่าพลาดไปบ้างเดี๋ยวเครื่องจะพังเอา…
- สิ่งที่บ่งบอกจากด้านท้าย มีเพียงสติกเกอร์โลโก V-SPEC II ตัวเล็ก สีเงิน บ่งบอกถึงความพิเศษเท่านั้น
ส่วนที่เป็นปัญหาอีกอย่าง คือ “ระบบแอร์โฟล์วมิเตอร์” มีปัญหาเร่งสะดุด เบาดับ เบาไม่นิ่ง อะไรทำนองนี้ ก็ต้องเข้าใจว่าของมันเก่า ต้องมีการเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา และมีสองตัว ถ้าตัวใดตัวหนึ่งเสื่อมมากกว่า ก็จะทำให้การอ่านค่าอากาศไม่เท่ากันอีก แต่อย่าเพิ่งท้อใจ ก่อนอื่นถ้ามีอาการดังกล่าว ให้ “ล้างทำความสะอาด” แอร์โฟล์วมิเตอร์ดูก่อน บางทีมันไม่เสียครับ แค่สกปรก และระวังครับ “อย่าปล่อยให้กรองอากาศสกปรกมาก” เมื่อมีฝุ่นมาเกาะเยอะ โอกาสที่เทอร์โบจะดูดฝุ่นเล็ดรอดเข้าไปเกาะแอร์โฟล์วมิเตอร์ก็มีมาก ทำให้สกปรกเร็ว เกิดอาการดังกล่าวนั่นแหละครับ…
มาถึง “ช่วงล่าง” โดยปกติ ระบบของ R32 GT-R จะเป็น “มัลติลิงค์” ที่มีจุดยึดค่อนข้างเยอะ บูชยางมันก็เยอะตาม แนะนำว่า ให้เปลี่ยน “บู๊ชยางใหม่” ทั้งหมดเลยครับ ช่วงล่างจะได้ “เฟิร์ม” ขับดี เกาะถนนปลอดภัย อย่าลืมเปลี่ยน “บู๊ชจุดยึดแพ” ด้วยนะครับ คนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนกัน พอมันเก่าเริ่มสึก จะทำให้เกิดเสียงดังเวลารถบิดตัวได้ อื่นๆ ก็มี “ยางแท่นเครื่อง ยางแท่นเกียร์ บู๊ชคันเกียร์” เปลี่ยนเลยครับ เพราะยังไงก็ต้องยกเครื่องออกมาเซอร์วิส ทำทีเดียวเลยจะได้ไม่ต้องยกมาทำสองรอบ ส่วนอื่นๆ ก็มีทั่วไป เช่น “เบรก” ก็ตรวจสอบทั้งระบบ สายอ่อนเบรก นี่ก็ต้องเปลี่ยน เพราะเป็นท่อส่งแรงดันโดยตรง อื่นๆ ก็ลองดูทั่วไปครับ…
- คันนี้โชคดีที่ภายในยังมีสภาพดีอยู่มาก ปกติภายในของ R32 จะชอบ “พอง” โดยเฉพาะตรงบนคอนโซลและช่องแอร์ เรือนไมล์ GT-R 320 km/h อันนี้เปลี่ยนมาใหม่
- เบาะนั่งเดิม ส่วนตัวว่ามันก็นั่งได้สบายและถูกสรีระ แต่ก่อน “ถูกค่า” ตอนนี้ “แพงค่า” กว่าเบาะซิ่งบางรุ่นเสียอีก
สิ่งที่พบเจอบ่อย ก็คือ ระบบ “HICAS Sensor” ตัวนี้พอเสื่อมแล้วจะตอบสนองช้า เคยเจอมากับตัว พอเลี้ยวเร็วๆ แล้วคืนพวงมาลัย ล้อหน้าตรง ล้อหลังเสือกไม่คืน วิ่งขืนขวางๆ ไป ต้องส่ายพวงมาลัยไปมาเพื่อให้มันคืนตัว ถ้าคนไม่รู้ก็ “เหวอแดก” ไป อันนี้ต้องเช็กให้ดี รวมไปถึง “เช็กแรงดันปั๊มเพาเวอร์เลี้ยงระบบ HICAS” ด้วยครับ ถ้าปั๊มสึก แรงดันตก มันก็จะเกิดอาการที่ว่านี้ อื่นๆ ก็มี “ของเหลว” ต่างๆ อย่าลืมเปลี่ยนน้ำมันของระบบ ATTESSA กับ HICAS ด้วยนะครับ เน้นว่าเป็นน้ำมันเพาเวอร์สังเคราะห์ เกรด DEXRON III พวกนี้แหละครับ จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า เพราะการสั่งการระบบพวกนี้ต้องไวครับ รถจึงจะตอบสนองได้ดี หรือถ้าอยากจบง่ายๆ ไม่อยากจะไปยุ่งยากกับมัน ก็ต้องยอมถอดระบบ HICAS ออก แล้ว “ใส่ชุดล็อก” ที่ส่วนใหญ่นิยมกัน ก็จะตัดปัญหาไป แต่ส่วนตัวผมว่าถ้า HICAS มันทำงานได้ครบ ก็จะดีไปอีกแบบนะ เพราะล้อหลังช่วยเลี้ยวมันมีประโยชน์มากเลย…
สรุป อย่าเพิ่งท้อใจครับ ว่าทำไมจุดอ่อนมันมากมายขนาดนี้ เพราะ “ระบบช่วยมันเยอะ” และเป็น “รถรุ่นแรกที่เริ่มใช้ระบบพวกนี้” พอรถเก่าก็ต้องมีข้อผิดพลาดในการทำงานบ้างเป็นของธรรมดา (จุดอ่อนเหล่านี้ถูกแก้หมดในรุ่น BNR34) ดังนั้น จึงต้องใส่ใจในรายละเอียดพวกนี้ ทำให้สมบูรณ์ แม้จะใช้งบประมาณมากหน่อย แต่คิดว่า “ซื้อสมรรถนะ” ผมอยากให้ลงทุนจัดการตรงนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าความสวยงาม…
- ล้อ BBS เน้นว่า Forged นะครับ คุณภาพสูง น้ำหนักเบา เบรก BREMBO จานเบรกแบบไม่เจาะรูเหมือนรุ่น N1
- RB26DETT ที่ยังรักษาสภาพเดิมไว้ เปลี่ยนกรองอากาศ HKS ค้ำโช้คอัพเป็น Accessories จากโรงงาน
Modify Garage Guide
สำหรับการ ซ่อมบำรุงและโมดิฟาย ในรถรุ่นนี้ จริงๆ แล้วก็มีเยอะครับ แต่จะขอยกตัวอย่างอู่ที่ “มีผลงานโดดเด่นเฉพาะทาง” สำหรับรถตระกูล SKYLINE GT-R ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่มา “เป็นทางเลือก” นะครับ สนใจลองพูดคุย และพิจารณาเลือกอู่ด้วยตัวเองนะครับ…
– TOON ENGINE SHOP : ขานี้คงไม่ต้องเหลากันมาก ประสบการณ์อันยาวนาน สร้างชื่อจาก R32 1,000 PS จาก JUN AUTO MECHANIC ถนัดทั้งการซ่อมบำรุง SKYLINE GT-R ตั้งแต่รถเดิม ไปจนถึงโมดิฟายสำหรับแข่งขัน Contact : Tel. 08-1816-9390, www.facebook.com/Toon.Engineshop
– NOI ELEVEN : ย้อนอดีตกับการโมดิฟาย SKYLINE GT-R R33 ในยุคแรกเริ่ม บนรถของ “ก๋อย” กับความแรงระดับเฉียด 700 PS ในยุคนั้น ตอนนี้ก็จะเห็นผลงานตามสนามแข่งทางตรง Contact : Tel. 08-1819-5963, www.facebook.com/NoiEleven
– K-SPORT : ถนัดเรื่อง RB มานานเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทำเฉพาะ CEFIRO RB20DET แต่ SKYLINE GT-R ก็ทำเช่นกัน ขานี้ถนัดรถ Street Used ไปถึง Street Racing ขับถนนได้ Contact : Tel. 08-1821-8310, www.facebook.com/K-Sport Forever
– VER TECHNICAL GARAGE : ถัดมาในคนยุคใหม่ขึ้น ทีนี้ก็จับตลาด SKYLINE GT-R เหมือนกัน เห็นผลงานจากสนามแข่งทางตรง และ Street Used อยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ที่นี่จะเน้นการโมดิฟายสเต็ปหลายร้อยม้าเป็นหลัก Contact : Tel. 08-9177-6499, www.facebook.com/Ver Technical
– V.J. WORKSHOP : ตะกี้ “ผู้พี่” มานี่ “ผู้น้อง” เดินสายเดียวกัน ฝีมือก็ไม่แพ้กัน อยู่ที่ว่าใครจะสะดวกไปฝั่งไหนมากกว่า สไตล์การโมดิฟายก็จะเป็นแนว “รถถนน ซิ่งสนามได้” แล้วแต่ลูกค้าต้องการแบบไหน Contact : Tel. 08-4111-3773, www.facebook.com/Jack VJ
- Model No. ที่ค้นเจอในเว็บไซต์ SKYLINE GT-R ต่างๆ ได้ข้อมูลเรื่องรหัสต่อท้าย RBFS… AA ตัว RB ก็จะหมายถึง V-SPEC ถ้าเป็น GT-R ตัวปกติ จะเป็น RX ครับ
SKYLINE R32 Owner & Specialist Comment
สำหรับ SKYLINE R32 V-SPEC II คันนี้ ส่วนตัวแล้วชอบ คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องหามาเก็บไว้สักคัน ยิ่งเจอตัว V-SPEC II จึงเป็นของหายากทันที ไม่ได้ชอบเฉพาะรูปทรงอย่างเดียว แต่สมรรถนะในการขับขี่ บอกได้เลยว่า “Perfect” แม้รถจะเป็นยุค 90 แต่ให้การเกาะถนนที่ดีเยี่ยม ระบบ ATTESSA ขับสี่ล้อ ตอนนั้นถือว่าทันสมัยมาก ช่วยให้ความมั่นใจได้เยอะ เบรกดี อัตราเร่งและตีนปลายไปได้น่าพอใจ ขับง่าย ไม่จุกจิก พูดง่ายๆ ดีกว่ารถสมัยนี้บางคันเสียอีก โดยรวมพอใจมากครับสำหรับรถรุ่นนี้ จึงอยากจะให้คนที่อยากจะเล่นได้ลองเก็บสภาพเนี้ยบๆ เดิมๆ ไว้ ได้อารมณ์ไปอีกแบบครับ…
สำหรับรถรุ่นนี้ ที่ชอบก็คือ “สมรรถนะในการเกาะถนน” และการขับขี่โดยรวมน่าพอใจมากสำหรับรถยุคนั้น แต่ผมจะขอพูดถึง “ข้อควรรู้” สำหรับคนที่จะมาเล่นรถรุ่นนี้ ในด้านเครื่องยนต์ ก็จะมีจุดต้องปรับปรุงถ้าจะใช้งานในเมืองไทยที่อากาศร้อนและรถติด เช่น ระบบระบายความร้อนทุกอย่าง ต้องดูแลอย่าให้เสื่อมสภาพ น้ำมันเครื่องเกรดก็ต้องสูงขึ้น เพื่อรักษาสภาพเครื่องยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าในเครื่องยนต์กรอบแตก ทำให้เกิดปัญหา ระบบควบคุมการขับเคลื่อนต่างๆ ที่ยังไม่ค่อยเสถียร เก่าแล้วจะมีปัญหาพอสมควร ABS ยังทำงานได้ไม่ดีในรุ่นแรก วัสดุภายในไม่ค่อยทนทาน แนะนำว่าเป็นจุดที่ต้องทำใจซ่อมได้เลย…
จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสรถรุ่นนี้มาอย่างยาวนาน ในด้านคุณสมบัติของตัวรถ คนที่ชอบ SKYLINE ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันมีดีที่ตรงไหนบ้าง แต่สิ่งที่ผมมอง คือ รถรุ่นนี้มีการซ่อม โมดิฟาย กันอยู่ทั่วโลก ทั้งการใช้งาน และ การแข่งขันในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น ผลงานที่ทำออกมา ก็จะเป็นมาตรฐานการวัดฝีมือของ “ช่าง” ว่าใครจะเหนือกว่ากัน เพราะรถรุ่นนี้มันก็มีจุดปลีกย่อยต่างๆ มากมาย จุดดีก็โดดเด่นไปเลย ส่วนจุดอ่อนก็ทำให้มันดีได้ ตรงนี้แหละครับที่เป็น “ประสบการณ์” ของช่างแต่ละคน ว่าจะทำออกมาได้ดีมากน้อยขนาดไหน…
ย้อนกลับไปตอนปี 2005 ทีมงานผม ได้ร่วมกับทีมงานของ พี่ทูน TOON ENGINE SHOP ทำ R32 RH9 คันนี้ขึ้นมา ได้อันดับ 3 Souped Up Thailand Records ปี 2005 และได้แชมป์ในปี 2006 รายการเดียวกัน แถมยังไปวิ่งแข่งในประเทศจีนอีกด้วย สิ่งที่ผมได้เห็นจากรถคันนี้ ก็คือ “การพัฒนาในการโมดิฟายให้มีสมรรถนะทัดเทียมกับระดับโลก” ด้วย “ฝีมือคนไทย” ที่ตั้งใจทำขึ้นมา ผมก็แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำไปในรถคันนี้มีมาตรฐานเพียงพอ ถือว่าเป็นรถสร้างชื่อให้กับคนไทยในด้านการโมดิฟาย R32 GT-R ครับ…
World Wide for SKYLINE BNR32
สำหรับผู้ที่อยากจะ “ท่องโลกกว้าง” ไปกับ SKYLINE BNR32 GT-R ไม่ว่าจะหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับตัวรถแบบละเอียด, ซื้อขายสินค้า, กระทู้ฟอรั่มพูดคุยต่างๆ ฯลฯ โดยเราจะคัดเลือกเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย และดูมีความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างมา ดังนี้…
– www.gtrusablog.com : เป็นเว็บไซต์จากฝั่งอเมริกา ปกติรถรุ่นนี้จะไม่มีขายในอเมริกาอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีกลุ่มผู้เล่นที่ต้องการ มันก็ไม่ใช่ปัญหา เว็บนี้หน้าตาดูง่ายๆ แต่ก็มีข้อมูลเทคนิคพื้นฐาน สเป็กเครื่องยนต์ เทอร์โบ เลขตัวถัง และอื่นๆ ที่น่าศึกษาอีกมากมายพอสมควร…
– www.gtr.co.uk : มาทางฝั่งอังกฤษกันบ้าง ก็จะใกล้ตัวหน่อย เพราะในประเทศนี้คนก็เล่นกันเยอะอยู่ เพราะเป็นรถพวงมาลัยขวาเหมือนกับญี่ปุ่น ก็จะมีห้องแชทเป็น NISSAN SKYLINE ตั้งแต่ C10 ไปยัน R34 ส่วนของ R35 ก็จะแยกห้องมาต่างหาก มีลิ้งค์ไปสำนักแต่งต่างๆ บางทีเราเข้าไปดูเป็น “แนว” ก็ได้ครับ ไม่ได้บอกให้เลียนแบบนะ…
– www.skylinedownunder.co.nz : ย้ายมาทางฝั่ง “นิวซีแลนด์” กันบ้าง นี่ก็เว็บเกี่ยวกับ NISSAN SKYLINE ที่เปิดมานานพอสมควร (ตอนผมเล่นเน็ตเป็นใหม่ๆ ก็เข้าเว็บนี้ก่อนเลย) ซึ่งทางนิวซีแลนด์เองก็นิยมเล่น SKYLINE R32 GT-R กันอยู่มาก มีสำนักโมดิฟายเฉพาะทางอยู่มากมาย เลือกชมข้อมูลเป็นแนวทางได้เลยครับ…
TIPS
– ในเมืองไทย R32 GT-R ไม่มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการจาก “สยามกลการ” ที่จำ Moment ตอนเด็กได้ เห็น R32 GT-R ที่สยามกลการ คือ “แค่เอารถมาโชว์” ตาม Event ต่างๆ เท่านั้น ราคาตอนนั้นก็โหดใช้ได้ เนื่องจากรถมีความจุเกิน 2.4 ลิตร แรงม้าก็เกินพิกัด ทำให้เพดานภาษีสูงมาก ประเมินราคาน่าจะแถวๆ “4 ล้านบาท” แพงมากครับ…
– ในอดีต R32 GT-R ก็มีรถโมดิฟายแบบ Complete Car ที่จำได้ คือ HKS ZERO-R ที่ชุดพาร์ทอลังการและล้ำสมัยมาก เครื่องยนต์โมดิฟายมีแรงม้า 450 PS แบบ Daily Used ได้อย่างสบาย (เคยดู Footage สมัยก่อน เครื่องเดินเงียบและนุ่มนวลชวนฝัน) ที่สำคัญ ล้อที่ใช้กับ ZERO-R นั้นแหวกแนวมาก เพราะหันไปคบกับล้อสัญชาติ “อิตาเลียน” ยี่ห้อ TECNOMAGNESIO เป็นล้อ 5 ก้าน ที่ผลิตจาก “แมกนีเซียม” เสียด้วย รวมๆ ทั้งคันเป็น “รถในตำนาน” อีกคันหนึ่ง ที่ตอนนี้อยู่ใน Collection ของเหล่านักสะสมระดับโลก…
– ดูรหัสให้ดีครับ ถ้าเป็น R32 GT-R แท้ๆ Chassis No. ต้องเป็นรหัส BNR32 ครับ ถ้าเป็น HNR32 จะเป็นรุ่น GT-S ขับสี่ล้อ ซึ่งมีการนำมาแปลงเป็น GT-R กันมาก เพราะ GT-S รถมันถูกกว่าเยอะเลย ส่วนรุ่น “GT-S ขับสอง” รหัส HR32 ไม่นิยมมาแปลงเป็น GT-R ขับสี่ เพราะแชสซีด้านหน้ารุ่นขับสองและขับสี่จะไม่เหมือนกันเลย รวมถึงโหนกที่พื้นรถฝั่งคนขับ รุ่นขับสี่จะทำโหนกหลบชุด Transfer ซึ่งขับสองจะไม่มี แต่ “เคยเจอ” (ประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ) บางคันเป็นรหัส HR32 แต่แปลงเป็น GT-R ขับสี่ครบๆ ด้วย ??? ซึ่งเคสนี้อาจจะมีการ “ตัดครึ่งคัน เอาท่อนหน้าขับสี่ใส่” หรือ “เล่นลีลาในเรื่องของการจดทะเบียน” ระวังให้ดี เช็กให้แน่นอนครับ…
– พูดถึงเรื่อง “การคุมบูสต์จากโรงงาน” เพื่อควบคุมแรงม้าตามกฎหมาย ไม่ให้เกิน 280 PS หรือ 276 hp (กรณีที่ไปขายต่างประเทศ ไม่ต้องตกใจ คนละหน่วยเท่านั้นเอง) จะมีตัว Restrictor อุดอยู่ ถ้าเอาตัวนี้ออก บูสต์จะเพิ่มไปอยู่แถวๆ 0.9 บาร์ (14 PSI) แรงม้าจะเพิ่มเป็น 300-310 PS…
– การดูเครื่อง RB26DETT ที่มาจาก R32 GT-R จุดสังเกต “ได้ด้วยตา” ง่ายๆ คือ ปลั๊ก Air Temp Sensor จะเป็นสีเหลือง, พัดลมแบบ 8 ใบพัด, ปลั๊กที่ลิ้งค์จาก Knock Sensor จะอยู่ที่รางหัวฉีดฝั่งด้านหลังเครื่องยนต์, ปั๊มเพาเวอร์จะเป็นตัวใหญ่ มี 2 เฟส แบ่งแรงดันไปยังระบบเลี้ยวล้อหน้าและหลัง (R33-R34 จะเป็นปั๊มเพาเวอร์เฟสเดียว เพราะ HICAS ด้านหลังจะใช้ไฟฟ้าแล้ว), คอมเพรสเซอร์แอร์จะเป็นตัวใหญ่, กล่อง ECU ด้านในจะใช้ Rom ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ ตัวเล็ก มีขาเหมือนตะขาบ, ปั๊มคลัตช์จะมีสองแบบ ถ้าเป็นเครื่องจากรถปีแรกๆ ที่เป็น “คลัตช์ดัน” ปั๊มคลัตช์จะเป็นตัวเล็ก แต่ถ้าเป็นปีกลางๆ ไปถึงปีท้ายๆ ที่เป็น “คลัตช์ดึง” ปั๊มคลัตช์จะเป็นตัวยาวประมาณ 1 คืบ, พูลเลย์ข้อเหวี่ยง จะเป็นแบบ “ปีกเล็ก”, ราคาเครื่องพร้อมเกียร์ อยู่ประมาณ 5-6 หมื่นบาท เพราะเครื่องมันปีเก่าแล้ว คนส่วนใหญ่จึงยอมจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 2 หมื่นบาท ไปเล่นกับเครื่อง R33 ที่สดใหม่กว่า…
– สำหรับเครื่อง RB26DETT ตัว N1 Block บอกเลยว่า “ไม่ใช่เครื่องแรง” แต่ เป็นเครื่องที่ “พัฒนาเพื่อการแข่งขันเซอร์กิต” จุดหลักๆ ก็คือ “เทอร์โบ” ที่แกนและใบหลังเป็นเหล็ก (รุ่นปกติเป็นเซรามิก), “เสื้อสูบ” ที่ปรับปรุงทางเดินน้ำ (Water Jacket) ใหม่ให้กว้างขึ้น เน้นการระบายความร้อนในการขับรอบสูงต่อเนื่อง รหัสเสื้อสูบคือ 24U (ส่วนตัวธรรมดา รหัสเสื้อสูบ 05U) อื่นๆ ก็มี “ปั๊มน้ำ” ที่ใบพัดและ Channel ด้านในออกแบบให้ Flow ดีขึ้น, “ปั๊มน้ำมันเครื่อง” เฟืองด้านในใหญ่กว่า มีนอตยึด Back plate ด้านหลังเพิ่มขึ้นมาเพื่อความแข็งแรงสูงขึ้น แต่ระวังนะครับ “มันถูกออกแบบมาสำหรับเครื่องสแตนดาร์ด หรือ Light Tuned” ความแข็งแรงจึงไม่มากพอที่จะรองรับเครื่องโมดิฟายมากๆ และหมุนรอบสูงเกิน 8,000 rpm ไปเยอะๆ ได้ ถ้าจะเล่นสเต็ปโหดก็ต้องปั๊มของโมดิฟายแพงๆ นั่นแหละครับ…
ขอขอบคุณ : TOON ENGINE SHOP, K-FACTORY