Reed it More : สายไฟบลูทูธ !!!

XO AUTOSPORT No.251
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : วุฒิชัย คำภิระยศ, www.facebook.com/tacticalart.jp, www.superstreetonline.com

ในแฟชั่นการแต่งรถ หนึ่งในกรรมวิธีก็จะต้องมีการ “วางเครื่องใหม่” หรือไม่ก็ต้อง “เก็บห้องเครื่องแบบสวยงาม” ในยุค 90 ก็จะนิยม “ชุบโครเมียม” ในส่วนที่ชุบได้ เช่น ฝาวาล์ว ท่ออินเตอร์ ท่อไอดี ฯลฯ หรือไม่ก็ “พ่นสีสดใส” (สมัยก่อนมีสีย่นขายเลย กระป๋องเล็กจำได้ว่า 200 กว่าบาท ไม่ถูกเหมือนกัน) แล้วก็ใส่ “ท่อยางสีๆ” ถ้าจะ “ไฮโซ” อีกหน่อย ก็จะใส่พวก “ท่อสเตนเลสถัก” ฟรุ้งฟริ้งกระดิ่งแมว พวกนี้ไม่ถูกนะครับ สมัยนั้นของเทพๆ ก็ AEROQUIP ที่แพงมากๆ เพราะของพวกนี้มันมาจาก “อากาศยาน” แล้วหลังๆ ก็มี EARL’S แต่ปัจจุบันก็มีทำกันเพียบจากหลายแหล่ง ซึ่งตอนนั้นพวกสายสีๆ หรือสายถัก “ยิ่งเยอะยิ่งดี” เหมือนโชว์งานและฐานะ…
แต่ปัจจุบันนี้เทรนด์การแต่งโดยเฉพาะรถยุค 90-00 ก็จะเปลี่ยนไปอีกแบบ คือ “เน้นความโล่งของห้องเครื่องให้มากที่สุด” ประหนึ่งเหมือนกับว่ามีแค่ตัวเครื่องเพียวๆ เหมือนกับว่า “ไม่มีท่อหรือสายไฟอะไรอยู่เลย” ศัพท์วัยรุ่นเขาว่า “สายไฟบลูทูธ” สำหรับเรื่องราวในครั้งนี้ เราได้พบกับ HONDA CIVIC SHOP ย่านการไฟฟ้าบางใหญ่ ซึ่งเราได้เห็นผลงานใน CIVIC EG 3 Doors ของ “นายโก้ เลวยันเงา” ดูแล้วเนียนเข้าท่า ราคาคบได้ ก็เลยอยากจะนำเสนอกรรมวิธีทำในแบบ “สไตล์ไทย” เราลองมาดูกันครับ ว่าการเสกสายไฟให้หายไปทำยังไง แล้ว “มันหายไปจริงหรือเปล่า” แต่ละสเต็ปทำอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ให้ “คิดก่อนทำ” กันบ้าง…

ว่าด้วยเรื่องของ “ความวุ่นวายในห้องเครื่อง” !!!
ในสมัยก่อนเครื่องยนต์ของรถยนต์จะใช้ระบบ “คาร์บูเรเตอร์” ซึ่งเป็นการจ่ายน้ำมันแบบกลไก ไม่มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง สายไฟในห้องเครื่องจึงมีน้อยมาก จะมีก็ระบบจุดระเบิดเท่านั้นที่เป็นหลัก กับสายไฟอื่นๆ ไม่มากนัก แต่พอมาเป็นยุคใหม่ที่ใช้ระบบ “หัวฉีด” ใช้ระบบไฟฟ้ามาควบคุมสั่งการ สายไฟก็จะเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะ เพราะมีอุปกรณ์มากขึ้น เช่น กล่อง ECU, เซ็นเซอร์ต่างๆ ของเครื่องยนต์และอุปกรณ์รอบด้าน, ระบบ ABS พวกนี้จะทำให้สายไฟเพิ่มขึ้น รวมถึง “ท่อแป๊บต่างๆ” เพิ่มขึ้นด้วย จะสังเกตได้ว่า รถยุค 90-00 ที่เป็นยุคของ “หัวฉีดไฟฟ้า” ห้องเครื่องจะดูแน่นๆ ไปด้วยสายไฟและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุที่เราจะต้อง “เก็บ” ให้เรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลยเป็นแฟชั่นของรถยุค 90 แต่งซิ่งสมัยนี้ ที่ต้องเป็นสายไฟบลูทูธ เก็บให้เรี่ยมที่สุด เลยเป็นที่มาของบทความในครั้งนี้ครับ เราลองมาดูกันแบบ Step by Step กันเลยครับ…

Step I “เน้นเดิ้มม…เดิม”
อันนี้จะเป็นขั้นตอนแรกในการเก็บสายไฟแบบ “มาตรฐานโรงงาน” โดยมากแล้วรถยุค 90 ต้นๆ มักจะยังเป็นเครื่อง “คาร์บู” อยู่ อยากแรงก็วางเครื่อง “หัวฉีด” ของตัวนอก เช่น CIVIC EG วาง B16A แทน D15B คาร์บูฯ หรือ COROLLA EE90 เครื่องเดิม 2E คาร์บู วางใหม่เป็น 4A-GE ฝาลาย อะไรประมาณนี้ ซึ่งต้องมีสายไฟเพิ่มขึ้นมา การจัดวางสายไฟที่ถูกต้องและสวยงาม ก็ควรจะเป็นมาตรฐานเดิมจากโรงงานจะเหมาะที่สุด เพราะเขา “คำนวณการติดตั้งและวางทางมาแล้ว” ว่าสายไฟและท่อทางต่างๆ เช่น ท่อแอร์ ท่อน้ำมันเพาเวอร์ ท่อน้ำมันเบรก ฯลฯ จะโค้งตรงไหน ยาวเท่าไร ซึ่งก็ “ควรจะ” ทำตามแบบเดิมจะดูเรียบร้อย เซอร์วิสง่าย ไม่รกรุงรัง แต่ถ้าทำแบบไม่มีทิศทาง หรือ “มั่ว” นอกจากจะดูไม่งามแล้ว ก็จะเกิดปัญหารวนๆ ตามมาได้ เช่น สายไฟขาด ทำให้ “ช็อต” เพราะบางทีวางผิดตำแหน่ง พาดไปพาดมา สายไฟ “รั้ง” เวลาเครื่องยนต์ทำงานมีแรงสั่นสะเทือนเข้า มันก็ขาดได้ ดูแล้วมันขัดๆ ตา ไปโดนนู่นโดนนี่ เลยทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น…
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำในการเก็บรายละเอียดสไตล์นี้ก็คือ พวก “ขายึด” หรือ “กิ๊บล็อก” ต่างๆ ควรจะได้ของเดิมตัวนอกมาให้ครบด้วย เพราะพวกนี้แหละเป็นสิ่งที่เฉพาะทางของรุ่นใครรุ่นมัน ตำแหน่งการติดตั้งก็จะตามมาตรฐานโรงงานเป๊ะๆ ทำให้ดูสวยงาม เซอร์วิสง่าย ดูแล้วเป็นสัดส่วน ไม่รกรุงรัง มั่วไปมั่วมาทำให้สับสนว่าไอ้นั่นไอ้นี่แม่มอยู่ตรงไหนวะ ดังนั้นหากใครจะวางเครื่องใหม่ จะให้ดีก็ลงทุน “ยกหัวตัด” มาเลย จะได้ของครบที่สุด มาถึงก็สลับโช๊ะๆๆๆ เรียบร้อย ดูแล้วเหมือนกับของโรงงานเลย (ถึงไม่เป๊ะก็ใกล้เคียงสุดๆ ละกัน) คุ้มค่ากว่ามานั่งตามของทีหลัง ซึ่งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายบานปลายด้วยครับ…

ข้อดีเด่น
• สายไฟและท่อทางเดินระบบต่างๆ จะเป็นไปตามมาตรฐานโรงงาน ทำให้การซ่อมบำรุงทำได้ง่าย สามารถเปิด Shop Manual ดูได้เลยว่าอะไรอยู่ตรงไหน…
• การที่สายต่างๆ อยู่ด้านบนเป็นส่วนมาก ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ง่าย รู้ว่าตอนนี้มันอยู่สภาพไหน…
• ค่าแรงไม่แพง ยิ่งถ้าซื้อหัวตัดมาครบๆ จะเป็นการสลับของใส่กับรถในบ้านเรา บางรุ่นก็อาจจะต้องมีการดัดแปลงเพิ่มเติมแก้ไขกันนิดหน่อย แต่โดยรวมแล้ว ง่ายและเรียบร้อยกว่ามานั่งทำใหม่กันแบบงงๆ ในกรณีที่เจอช่างไม่มีประสบการณ์ด้านวายริ่งสายไฟ…
ข้อควรยอมรับ
• ห้องเครื่องอาจจะยังดูเยอะๆ อยู่บ้าง เพราะเรายังไม่ได้ซ่อนสายไฟ แต่ก็ยังดีกว่าเดินทางแบบงงๆ รุงรัง พาดไปพาดมาแบบตามใจฉัน…

Step 2 “เก็บเนียน อารมณ์ซิ่ง”
สำหรับสเต็ปที่ 2 จะเป็นขั้นที่เหนือขึ้นไปหน่อย คือ “เก็บเนียน” และ “ใช้วัสดุเพิ่มขึ้นจากมาตรฐานโรงงาน” เป็นอีกแบบที่นิยมกันมาก เพราะดูแล้วจะสบายตากว่าแบบแรก อันนี้ก็จะมีการ “ย้ายหลบ” ในบางจุด อย่างคันนี้สายไฟที่เดินเลียดไปกับตัวถัง ก็จัดการ “หลบใน” โดยมากก็จะซ่อนกันอยู่ตาม “ใต้แก้ม” แล้วค่อยๆ เลื้อยออกมาในตำแหน่งที่ค่อนข้างลับตา เพื่อเข้าสู่อุปกรณ์ต่างๆ แล้วก็ “ใส่ปลอก” มีตั้งแต่ “ปลอกย่น” สีดำ ไปยัน “ปลอกถัก” ก็จะดูสวยขึ้นกว่าเอาเทปดำพันสายไฟปล่อยไว้เฉยๆ (คือ พันไว้ก่อนให้มันอยู่เป็นพวกๆ แล้วค่อยใส่ปลอกนะ) สำหรับปลอกพวกนี้ต้องใส่ เพราะเป็นการ “หุ้ม” ป้องกันหลายอย่าง เช่น กันกระแทก กันช็อต กันสิ่งสกปรกไปเกาะตัวสายไฟ อีกอย่างที่นิยมย้ายกัน คือ “แป๊บเบรก” ที่ออกมาจากหม้อลมเบรก เดินเกาะมากับ “Firewall” หรือ “ผนังห้องเครื่อง” เพราะมันจะดูรุงรัง ก็จัดการเดินท่อหลบลงด้านล่างแถวๆ “ใต้คอจิ้งหรีด” ก็จะดูโล่งไปพอสมควร ส่วนท่ออื่นๆ เช่น ท่อน้ำมันเพาเวอร์ หรือท่อแอร์ ก็จับเดินใหม่ ลงด้านล่างไป ทำให้ด้านบนจะเริ่มดูโล่งๆ คลีนๆ แล้ว…

ข้อดีเด่น   
• ห้องเครื่องจะดูสะอาดตาขึ้นกว่าของโรงงาน เพราะบางส่วนนั้นถูกเก็บลงไปซ่อนแล้ว ทำให้สามารถทำความสะอาดห้องเครื่องได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะ Firewall ที่ตอนนี้ไม่มีท่อแป๊บเบรกมาขวางแล้ว เช็ดได้เต็มที่เลย ถ้ามีท่อขวางอยู่จะเช็ดได้ยากและไม่ค่อยสะอาด…
• ยังมีสายไฟส่วน Main หลักอยู่ในตำแหน่งเดิม ทำให้การดูแลรักษายังสามารถทำได้ง่ายอยู่…
ข้อควรยอมรับ
• จะว่าไปก็คงไม่มีอะไรมากสำหรับสเต็ปนี้ เพียงแต่ว่าเราต้องหมั่น “เข้าอู่” สังเกตและตรวจสอบท่อที่ซ่อนไป เพราะตรงนั้นเรามองไม่เห็นจากด้านบน พอมันมีข้อผิดพลาดขึ้นมาถ้าเรามองไม่เห็นก็อาจจะเกิดความเสียหายใหญ่ได้ เช่น ข้อต่อระบบเบรกรั่ว แต่ปกติจะรั่วได้ยาก หากตอน “ขันข้อต่อ” ทำได้อย่างถูกต้อง ไม่ขันปีนเกลียวหรือเบียด ยังไงถ้ามีโอกาสไปอู่ เช็กซะหน่อยก็ดีนะครับ…

Step 3 “ซ่อนครึ่ง ไว้ครึ่ง”
สำหรับสเต็ปนี้จะเป็นรถของ “นาย (ไอ้) โก้ เลวยันเงา” ซึ่งรถคันนี้ก็เป็นตัวบ้านเรา เครื่องคาร์บู แต่ทำเป็น JDM ตัว SiR เครื่อง B16A แน่นอนว่า ห้องเครื่องจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน โดยตัวนอกจะต้องมีพวกตัวล็อกตัวหนีบสายไฟที่เพิ่มขึ้นมา อย่างที่บอกว่าซื้อมายกหัวยกแพจะ “เจ็บแต่จบ” ทีเดียวรู้เฟือง คันนี้จริงๆ จะทำเดิมจากมาตรฐานตัว SiR ทั้งหมด (ขนาดกรองอากาศยังเดิม) แต่อย่างว่าพอมันดูเยอะๆ ก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องโชว์ลงซ่อน เช่น แป๊บเบรก คือ จะให้ Firewall มันโล่งๆ หน่อย เหลือแต่ส่วนที่จำเป็นต้องมีอยู่ด้านบน ไม่อยากทำแบบ “บลูทูธ” ซ่อนหมด เพราะรถมันจะดูไม่เดิม ก็เลยเป็นสเต็ป “ซ่อนครึ่ง ไว้ครึ่ง” ประมาณนี้แล…

ข้อดีเด่น
• สำหรับสเต็ปนี้ ก็จะเหมาะสำหรับคนที่จะแนวๆ Conservative ออกจะอนุรักษ์เดิมๆ ไว้หน่อย อยากจะได้รถอารมณ์ 90 ที่จะสุดก็ต้องดูกันยันสายไฟว่าแท้หรือเปล่า เดินไปเหมือนมาตรฐานโรงงานไหม ก็เลยจะต้องคงเอาไว้อยู่ในส่วนหลักตามแนวการแต่งตรงยุค ก็ดีครับทำในส่วนที่จำเป็นก็พอ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เน้นแนว Stance ที่จะต้องโชว์โล่งจริงๆ…
ข้อควรยอมรับ
• เหมือนกับแบบ Step 2 ง่ะ…

Step 4 “บลูทูธ ว้าปว้าปปป”   
สำหรับสเต็ปสุดท้าย ก็จะเป็นการ “ซ่อนแหลก” มากที่สุดเท่าที่จะซ่อนได้ สไตล์ “บลูทูธ” นัยหมายถึง “การสั่งงานโดยไม่ใช่สายไฟ” แต่จริงๆ แล้ว มันยังมีอยู่นะครับ เพียงแต่ว่าซ่อนเลื้อยไปตามซอกมุมต่างๆ พยายามหลบสายตาให้มากที่สุด ห้องเครื่องก็ต้องทำโล่งๆ ย้ายอุปกรณ์กันสุดๆ ประหนึ่งว่ามีแต่ “เครื่องเปลือยๆ” เหมือนกับวางเครื่องยังไม่เสร็จ ยังไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย พวกนี้จะเป็นแนวการแต่งสาย Stance ซึ่งบ้านเราก็เริ่มจะฮิตกันแล้ว เรียกว่าซ่อนสายบลูทูธ แล้วทำสีห้องเครื่องฉ่ำๆ จี๊ดๆ ตัดกับสีตัวรถ นั่นแหละใช่เลย…
สำหรับสเต็ปว้าปปปป แบบนี้ แน่นอนว่า จะต้องใช้เวลาและทุนสูงกว่าแบบอื่นอยู่พอควร เพราะอุปกรณ์บางอย่างก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่เดิม การย้ายตำแหน่งไปซุกไว้ในที่ต่างๆ มันก็ต้องมี “ค่าแรง” เพิ่มอีกนะเว้ย นอกจากนี้ ยังต้องแต่ง Firewall ใหม่อีก ด้วยการตัดเดือยตัวผู้ที่สำหรับยึดแป๊บต่างๆ ปิดรูที่เอาสายไฟและท่อที่ลอดเข้าไปให้ห้องโดยสาร รายละเอียดมันเยอะพอสมควรเลย  ดูรูปดีกว่าครับ…

ข้อดีเด่น  
• แน่ๆ เลย คือ “โล่ง” มองอะไรก็สบายตา จะล้วงจะล้างอะไรก็ทำได้ง่าย จะเหมาะสมกับ “สายโชว์” ที่ต้องเน้นความสวย สะอาดเงางามทุกซอกทุกมุม ออกสื่อจะได้ฟรุ้งฟริ้งกระดิ่งแมว เพราะถ้าสายไฟยังเยอะอยู่ การทำความสะอาดจะทำได้ยากและเสียเวลามาก…
• การเปลี่ยนอะไหล่ที่ตัวเครื่องยนต์ ทำได้อย่างรวดเร็วและสะดวก เพราะมันโล่ง ก็เลยถอดใส่ได้ง่าย โดยเฉพาะในจุดที่ติดสายไฟและท่อต่างๆ ถ้าไม่ย้ายหลบจะต้องรื้อจุดนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้เสียเวลามากขึ้น อาจจะดีในแง่ของการแข่งขัน แต่ก็ต้องดูว่าอะไรที่ซ่อนได้ และอะไรที่ควรจะให้อยู่ตรงนั้นไว้เพื่อให้สังเกตง่าย ต้องวางแผนดีๆ ว่าจะเอาแบบไหนเป็นหลัก…
ข้อควรยอมรับ
• แน่นอนว่า “เหรียญมีสองด้านเสมอ” ถ้าจะมองมุมกลับ หลายคนคิดว่าสายไฟโล่งๆ จะยิ่งดี เซอร์วิสง่าย มันใช่ แต่เป็นเฉพาะตัวเครื่องยนต์ที่มองเห็น แต่ถ้าเป็นระบบไฟแล้ว ยิ่งซ่อนจะยิ่งสังเกตได้ยาก เกิดปัญหาขึ้นมา เช่น สายไฟขาด หนูกัดสาย ฯลฯ ต้องรื้อออกมาไล่เช็กกันอย่างเดียว จะรู้ก็ต่อเมื่อรถมันเกิดปัญหาขึ้นมา ไม่เหมือนสายไฟที่อยู่ตามปกติ เราสามารถสังเกตได้ง่ายว่ามันมีอะไรผิดปกติหรือไม่ เพราะฉะนั้นการทำสายไฟบลูทูธ จะต้องเข้าใจว่า “มันไม่ได้เซอร์วิสง่าย” นะครับ คนที่จะเล่นสไตล์นี้ต้องขยันตรวจเช็กกันหน่อย…

Tips
• สำหรับเรื่องของการซ่อนสายไฟนั้น ใน “ต่างประเทศ” ก็จะมี “ชุดสำเร็จรูปขาย” อย่างของ RYWIRE ของ “Ryan Basseri” (ถ้างั้นชื่อก็น่าจะมาจาก Ryan Wiring นั่นเอง) ซึ่งที่นี่จะเน้นเรื่องทางเดินระบบไฟฟ้าในรถแบบเทพๆ และแบบ “ไร้สาย” หรือ “บลูทูธ” นี้ด้วย โดยมีของสำเร็จรูปขาย ซึ่งเน้นไปในทาง HONDA บล็อก K-B-D นอกจากชุดสายไฟ (Harness) แล้ว ก็ยังมีสายไฟและอุปกรณ์สารพัดอื่นๆ อีกมากมาย…
• สำหรับสำนักที่โด่งดังของญี่ปุ่น เล่นสไตล์นี้ก็หนีไม่พ้น TACTICAL ART ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2008 และได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่การแต่ง Stance กำลังดัง สำนักนี้ที่เด่น คือ การเน้นงานเนียนๆ ทั้งห้องเครื่อง ตัวบอดี้ ช่วงล่าง เรียกว่าสร้างกันได้ทั้งคัน มีให้เลือกทั้งสไตล์ Stance, Kanjo, Circuit โดยเน้นงาน Custom เลยมีความหลากหลายมาก มีทั้งสายโชว์งานระดับยักษ์อย่าง WEKFEST และสายแข่งเซอร์กิต รวมถึง “Street Race” อีกด้วย…

ขอขอบคุณ
HONDA CIVIC SHOP by อู่จ่า : รับซ่อม วางเครื่อง ตกแต่ง วายริ่งสายไฟ ฯลฯ Facebook/Honda Civic Shop, Tel. 08-5149-9961 (อู๋)
FRESH CAR WASH : “ล้างยังเงา” เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายทำ Facebook/FRESH CAR WASH

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome