Brake Swap “แปลงเบรกอย่างไรให้ถูกทิศ”
ย่อยลึกขั้นตอนการแปลง ล้วงตับขั้นตอนการเซต
by ทิดอ๊อดเบรก กิ่งแก้ว
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : วุฒิชัย คำภิระยศ, Google Search
สำหรับเรื่องนี้ “การแปลงเบรก” หลายคนอาจจะมองว่า “ใครๆ ก็ทำกันได้” หรือ “เขาทำกันมาเยอะแยะแล้ว” โอเคละครับ ผมไม่เถียง แต่ว่าการแปลงเบรกนั้น มันก็ทำได้หลายอย่าง จะเอาแค่มันยัดติดไว้ในรถได้ ก็ทำได้โดยการ “ยาวตัด สั้นต่อ ไม่พอสร้างใหม่” ถ้าเป็นพวกข้ามรุ่น ข้ามยี่ห้อ ก็ตัดขาเก่าทิ้ง เชื่อมขาใหม่ขึ้นมาง่ายๆ มันก็สามารถใช้ได้แล้ว แต่ “ปลอดภัยอยู่ตรงไหน ไม่รู้” เพราะการเชื่อมมันไม่ใช่แค่ว่าเชื่อมเฉยๆ อยู่ที่วัสดุ ลวดเชื่อม และระยะต่างๆ มันต้อง “เป๊ะ” แต่ถ้าเชื่อมซื่อๆ โอกาสผิดพลาดก็มีเยอะ ซึ่งหลายคนก็จะมีประสบการณ์ “เสียววววว” กับเบรกที่แปลงมาอย่างไม่ได้มาตรฐานมาแล้ว บางคนก็ทำมาแล้ว “เบรกเดิมดีกว่าว่ะ” แต่บางคนทำมาแล้วก็ “เบรกหายว่ะ” อาจจะไม่ได้มาคุยกันตรงนี้ก็เป็นได้ ครั้งนี้เราอยากจะนำเสนอ “การแปลงเบรกที่ถูกต้อง” ควรจะทำอย่างไร โดยร้าน “ทิดอ๊อดเบรก” ที่ย้ายร้านใหม่ไปอยู่ “กิ่งแก้ว” เรานำมาเสนอเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด จากใจพวกเรา XO AUTOSPORT ครับ…
- ไม่แปลกสำหรับความร้อนสูงขนาดนี้ในเบรกที่ใช้กับความเร็วสูงมากๆ ซึ่งแน่นอนว่า เบรกของรถเกรดทั่วไปไม่สามารถรองรับได้ถึงขนาดนี้แน่ มันย่อม “เฟด” หรือ “แตก” ไปซะก่อนที่จะหยุดรถได้
วิวัฒนาการ “แปลงเบรก”
จริงๆ การแปลงเบรกสำหรับรถบ้านเราก็มีมานานมากแล้ว ถ้าจะดังมากๆ ก็ยุค 90 ที่เริ่มมีอะไหล่เซียงกงเข้ามาเยอะ รถในบ้านเราก็นิยมแต่งกันมาก โดยเฉพาะการ “วางเครื่องแรง” ทั้งหลาย ซึ่งเบรกเดิม “เอาไม่อยู่” ซะแล้ว เพราะส่วนมากรถบ้านเราจะเป็นรุ่น “เครื่องไม่แรง” เบรกก็เลย “ไม่แรง” ตามไปด้วย โดยมากก็จะเป็นดิสก์เบรกหน้าขนาดจุ๋มจิ๋ม ข้างหลังเป็นเป็นดรัมเบรกธรรมดา ขนาดเครื่องเดิมๆ ขับเร็วหน่อยยังรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะเขาให้มาพอใช้งานทั่วไปเฉยๆ รวมถึงคุมต้นทุนการผลิต มันเลยอาศัยอะไรไม่ได้มากนัก บางคนก็บอก “เบรกอยู่ที่ใจ” แต่ท้ายสุด “ไปหยุดที่เกาะกลาง” ตอนนั้นก็เริ่มกันจาก “เปลี่ยนเบรกรุ่นใหญ่กว่า” ส่วนมากจะเป็นตัวนอก เช่น COROLLA AE92-100 ใส่เบรก LEVIN หรือ CELICA GT-4 หรือไม่ก็ CEFIRO ใส่เบรก R32 ที่ร้อยกันได้เป๊ะๆ หรือ MAZDA ASTINA ใส่เบรก RX-7 FC3S อะไรพวกนี้ หรือถ้าเป็น “สายกระบะซิ่ง” สมัยก่อนก็จะวางเครื่องเบนซินตัวแรง เช่น 1G-GTE, 7M-GTE, RB20DET อะไรก็ว่าไป ก็จะ “ยกเพลาท้าย” ของรถเก๋งหรูที่ใช้ช่วงล่างแบบคานแข็งมาทั้งดุ้น เช่น CROWN, CEDRIC มาใส่กับแหนบเดิม ก็จะได้ดิสก์เบรก 4 ล้อ มาเชยชม แถมยังได้ “เฟืองท้ายเต็ด” ด้วย เพราะกระบะสมัยก่อนนั้นเบรกหลังเป็นดรัม พอมาวางเครื่องแรงๆ แล้วก็ยากที่จะเอาอยู่ ก็อย่าไปว่าเขาเลย เพราะออกแบบมาให้เป็นรถบรรทุก…
มาถึงตอนหลัง กระแสเบรก SKYLINE ฮิตกันมาก เพราะ “หาง่าย” ก็เลยแปลงใส่รถทั่วๆ ไป จะค่ายเดียวกัน ค่ายอื่น ญี่ปุ่น ยุโรป อะไรก็ต้อง “เบรกสกาย” กันหมด ประกอบกับตอนหลังๆ เบรกแต่งสำนักดังต่างๆ เริ่มมีเข้ามาเยอะ รวมถึงเบรกของรถรุ่นใหม่ๆ ก็มีให้เลือกเยอะ ที่ฮิตตอนนี้ก็ “เบรก 3 ยู” มาจาก LEXUS LS430 หรือ CELSIOR ที่ใช้เครื่องยนต์ 3UZ-FE ที่เบรกมันเป็นอะลูมิเนียม น้ำหนักเบา ราคาไม่แพง อันนี้ก็ฮิตมาก ก็เลยเป็นที่มาของแฟชั่นการแปลงเบรกนั่นเอง…
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง เพราะการแปลงมันทำได้หลายวิธี บางคนก็ไม่มีประสบการณ์ อาศัย “ติดกูก็ตัด อึดอัดกูก็ทุบ” ก็ต้องเข้าใจว่าบางทีอู่ก็ทำตามลูกค้าสั่ง พี่อยากได้ ผมจัดให้ แต่อาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการแปลงเบรกที่ถูกต้องมาก่อน จะให้ยัดใส่เข้าไปละก็ได้ เขาก็ทำในวิธีที่เขาอยากทำ ก็พยายามยัดใส่ให้ได้นั่นแหละ แต่ผลเป็นอย่างไรนั้น ทำดีก็แล้วไป ทำไม่ดีก็ “ตัวใครตัวมันตัวเผือก” ละครับ งานนี้ศึกษาให้ดีก่อนก็แล้วกัน ดูผลงานก่อนว่าเข้าตาไหม บอกอีกครั้งว่าเป็นห่วง…
- ชุดเบรกจากรถสมรรถนะสูงต่างๆ ออกแบบมารองรับการเบรกหนักหน่วงในย่านความเร็วสูงอยู่แล้ว ดังนั้น วัสดุต่างๆ จึงถูกพัฒนาให้ดีเลิศเลอไปตามค่าตัวของรถ จึงเป็นค่านิยมที่เอามาใส่กับรถทั่วไปที่ต้องการทั้งสมรรถนะการเบรกที่เยี่ยมยอดผิดไปจากของเดิมโรงงาน และความสวยงามกับล้อใหญ่ๆ ที่อุตส่าห์ซื้อมาใส่ในราคาเรือนแสน
ก่อนจะแปลงเบรก ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง ???
นั่นแหละครับ ตรงตัวเลย การแปลงเบรกนั้นก็จะต้องมี “การเลือก” อย่างเหมาะสม ว่าเราควรจะเอาเบรกรุ่นไหนใส่ถึงจะ “แมตช์” กัน สามารถขับได้จริง บางคนเอาแค่ “สวย” เน้นงานโชว์ ก็ผ่านข้อคิดนี้ไปได้เลย แต่ถ้าจะ “สวยด้วย เบรกดีด้วย ใช้ได้ด้วย” มันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะตัวเลือกมันเยอะ แต่ก็ “ไม่ยาก” หากเข้าใจ…
- ควรศึกษาเรื่อง “อะไหล่ซ่อมบำรุง” ก่อน: เรื่องนี้อาจจะสร้างความ “ปวดกบาล” ให้ก็ได้ โดยเฉพาะคนที่ไปเอา “เบรกเซียงกง” มา แล้วก็ไม่รู้ว่า “จากรถรุ่นไหน” เห็นมันหน้าตาดี ใหญ่ดี ถูกดี ก็เลยซื้อมาแปลงใส่ ไอ้เจอรถยอดนิยมก็แล้วไป อะไหล่มีเพียบ แต่ถ้าเกิดดวงดีไปเจอเบรกจากรถนอกรุ่น “ไม่นิยม” มันหลงๆ มาในตู้แล้วมาวางขาย คนขายก็ไม่รู้ว่ามาจากรถอะไร เพราะถ้าคุณหลวมตัวซื้อ ก็เรื่องของคุณแล้วไม่ใช่เรื่องของเขา อาจจะเกิดปัญหาได้เรื่อง “อะไหล่ซ่อม” ที่บ้านเราไม่มี เวลาเบรกเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วซ่อมไม่ได้ อย่าลืมนะครับ เพราะเราซื้อเบรกมือสองมา กว่าจะมาถึงเรามันโทรมไปขนาดไหนแล้ว ซื้อมาก็ควรจะตรวจสภาพซ่อมก่อนใส่เสมอ แต่พอไม่มีอะไหล่ ก็ต้อง “ถอดทิ้ง” ไปซื้อเบรกชุดใหม่กันอีกรอบ ยังไงก็พยายามหาไอ้ที่บ้านเรามันนิยมไว้ก่อนก็แล้วกัน จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องอะไหล่ทีหลัง…
- เลือกเบรกที่เหมาะสมกับลักษณะของรถ : ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เบรกรุ่นต่างๆ นั้น เขาจะออกแบบมาไว้แล้วว่าใช้กับรถอะไร น้ำหนักรถเท่าไร อย่างเบรกรถเก๋ง แต่เอาไปใส่รถอเนกประสงค์ รถตู้ รถกระบะตัวสูง พวกนี้น้ำหนักรถมาก Momentum จะเยอะ ล้อกับยางก็ใหญ่ ทุกอย่างเป็นภาระหนักหมด ทำให้เบรกรถเก๋งที่ไม่ได้ออกแบบมาเผื่อไว้ หากเอามาใช้อาจจะ “เฟด” เบรกไม่อยู่ กับคำถามว่า เอาเบรกรถเก๋งที่ “ลูกสูบเบรก” หรือ “pot” เยอะๆ มาใส่มันต้องอยู่สิ (วะ) แต่จริงๆ แล้ว แม้ว่า pot จะเยอะ แต่ขนาดของลูกสูบมัน “เล็ก” หลายๆ ลูกรวมกัน มันก็อาจจะสู้เบรก pot น้อยกว่า แต่ “ลูกสูบบะเริ่มเทิ่ม” ไม่ได้ ในขณะที่ต้องรับภาระหนัก เดี๋ยวเราจะมาคุยกันเรื่อง pot ว่ามันคืออะไร…
- เลือก “ล้อ” ก่อน “เบรก” เสมอ: ไอ้เรื่องนี้ปัญหาโลกแตก (สำหรับบางคน) ว่ากูจะเลือกอะไรก่อนดี ไม่ต้องคิดมากครับ ก่อนอื่นในการแต่งรถ เราต้อง “ซื้อล้อ” ก่อนอยู่แล้ว เมื่อเลือกล้อได้แล้ว ก็ค่อยมาเลือก “เบรก” ให้เหมาะสมกับล้อ โดยมากล้อที่นิยมกันตอนนี้ก็จะเป็นแบบ “ก้านยก” หรือ Concave ที่ทำไว้สำหรับ “ก้านหลบเบรกใหญ่” อยู่แล้ว เลยไม่มีปัญหา แต่พวก “ก้านตรง” แนวๆ 90 ก็อาจจะมีปัญหาได้ถ้าใส่คาลิเปอร์ใหญ่เกินไป ก็ต้องไปรอง “สเปเซอร์” กันอีก และล้อบางรุ่น “ท้องล้อด้านในจะใหญ่ไม่เท่ากัน” แม้ว่าจะขนาดขอบเท่ากันก็ตาม ใส่ไปแล้วก็อาจจะติดก็ได้ งั้นเลือกให้แน่ๆ ก่อน ว่าจะเอาล้ออะไร ก่อนจะไปเลือกเบรกมาใส่…
- สรีระเบรกไปได้กับรถเราไหม: ด้วยความที่เบรกมันมีหลายรุ่นมากๆ ในรถต่างยี่ห้อและต่างประเภทกัน โครงสร้างและสรีระเบรกมันจึงต่างกันด้วย เพราะฉะนั้น การเลือกเบรกจึงควรจะดูสรีระให้ “ใกล้เคียง” ที่สุด ถ้าจะแปลงก็ให้น้อยที่สุด จะได้ไม่ต้องแก้กันมากมายบานเบอะ ถ้าเลือกเบรกพิสดารมากๆ ก็ยิ่งแปลงมาก รวมถึง “ขนาด” ของเบรกด้วย เพราะท้ายสุดแล้ว เบรกที่แปลงน้อยที่สุด มันก็จะให้ประสิทธิภาพดีที่สุด และประหยัดตังค์เราที่สุด…
- งบประมาณเผื่อเหลือ: การแปลงก็คือการแปลง มันไม่ได้ซื้อมาแล้วใส่โบ๊ะได้เลย อันนั้นมันจะพอกำหนดได้ แต่งานแปลงกำหนดได้ยาก เพราะฉะนั้น ค่าแรงในการดัดแปลงจึงมี “ดิ้นไปดิ้นมาได้” แล้วแต่รถ แล้วแต่รุ่นเบรกที่อยากได้ รายละเอียดมันต้องคุยกันครับ ถ้าจะเอาเบรกที่ต้องแปลงเยอะหน่อย ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก ต้องเผื่องบประมาณไว้ด้วยครับ ทางที่ดี คุยกับร้านให้รู้เรื่องก่อนว่าค่าใช้จ่าย “ตีประมาณ” เท่าไร ซึ่งอาจจะต้องบวกไปอีกหน่อย เผื่อไว้ดีกว่าขาดน่า…
- ชุดเบรกก็มีให้เลือกหลายแบบ หลายรุ่นยี่ห้อ จะต้องเลือกให้เหมาะสม ต้องคุยและตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนใส่ ไม่งั้นจะกลายเป็นงานแก้ ซึ่งไม่สนุกแน่
เบรก pot เยอะ ส่งผลดีอย่างไร
ถ้าจะตอบกันกำปั้นทุบดินซื่อๆ ก็แน่นอนละครับ ลูกสูบเยอะ มันก็ย่อมดีกว่าลูกสูบน้อย แต่เพราะอะไรละ ??? ประเด็นหลักก็คือ การส่งแรงกดนั้นทำได้เยอะกว่า พื้นที่ลูกสูบเยอะๆ มันจะเฉลี่ยแรงไปในทางกว้าง จากสรีระที่มันเรียงๆ กัน ทำให้สามารถเพิ่มแรงกดระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรกได้สูงกว่า ผ้าเบรกก็ใส่ขนาดใหญ่และยาวได้ มันได้เปรียบเชิงกลมากกว่า แต่จริงๆ ลูกสูบน้อยแต่ “ใหญ่ร้อยเปอร์เซ็นต์” มันก็ส่งแรงกดได้ดีเหมือนกัน เบรกรถอเนกประสงค์ใหญ่ๆ อาจจะมีแค่ 2 pot แต่ลูกสูบใหญ่บะเริ่ม แต่เสียเปรียบในด้านความใหญ่โต ทำให้มีน้ำหนักมาก เทอะทะ ซึ่งรถพวกนั้นไม่ได้ซีเรียส แต่กับรถเก๋งคงไม่ได้ ก็เลยเอาลูกสูบเล็กๆ มาเรียงกันจะดีกว่า ไม่ต้องทำคาลิเปอร์ให้ใหญ่มาก แต่ทำให้ “ยาว” กินเนื้อที่จานเบรกเยอะๆ ก็ได้เปรียบเชิงกลแล้ว แต่ถ้าพูดอีกด้านหนึ่ง เบรก 4 pot ขึ้นไป พวกนี้มันทำงาน “เรียงลำดับ” เวลาเบรกอาจจะจับ 2 pot ก่อน แล้วอีก 2 pot จับต่อหากเหยียบเบรกแน่นขึ้น อะไรประมาณนี้ ทำให้การเบรกทำได้ดีและนุ่มนวลกว่าเบรกลูกสูบน้อย กินแรงดันน้อยกว่า ทำให้การเบรกนั้นตอบสนองได้ไว…
ระวัง “เบรกใหญ่ไม่ใช่คำตอบ”
กรณีนี้ส่วนใหญ่จะสรรหาเบรกยักษ์ๆ มาใช้งาน โดยคิดว่ามันจะ “ยิ่งใหญ่ยิ่งหยุดดี” โดยทฤษฎีแล้วไม่เถียงครับ มันจริง แต่เมื่อไปอยู่ในการใช้งานแล้ว เบรกที่ใหญ่และจับดีเกินไป เมื่อความฝืดของเบรกเอาชนะความฝืดของยางได้ ถ้าเป็นรถยุคก่อนที่ไม่มี ABS จะเกิดอาการ “เบรกล็อกเร็วเกินไป” ล้อหยุดแต่ “รถไม่หยุด” ลากอ๊ากกกกกกกกก…ไปยาวๆๆๆๆ เกิดอาการไถล คุมรถไม่ได้ก็ “ตูมมมม” เบรกที่ดีจะต้องพอเหมาะกับน้ำหนักรถ รวมถึงความกว้างของล้อและยาง รวมถึง “คุณภาพของยางและช่วงล่าง” ด้วย ถ้ายางสภาพห่วย คุณภาพไม่ถึง ไม่สามารถสร้างความฝืดได้มาก ทำให้เบรกล็อกง่าย แต่ถ้ายางดี เกาะมาก โอกาสล้อล็อกก็ยากขึ้น ระยะเบรกสั้นลง เราก็สามารถใช้เบรกประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ สำหรับรถขับหลังแรงๆ ที่ใส่ล้อหลังใหญ่ๆ ยางกว้างๆ ก็ควรจะขยายเบรกหลังให้ใหญ่ขึ้นด้วยนะครับ เพื่อจะได้แมตช์กันกับข้างหน้าด้วย…
แปลงเบรกไปหารถ ไม่ใช่แปลงที่รถไปหาเบรก
ขั้นตอนการแปลงเบรก สิ่งที่ “ต้องทำ” ก็คือ “แปลงส่วนประกอบเข้าไปหาตัวรถ” เนื่องจากว่าขั้นตอนนี้มันสามารถ “สร้างชิ้นงานให้เข้ากับตัวรถได้” อาจจะดูยากกว่าในความคิด ที่ต้องมานั่งวัด แล้วเอาไปสร้างชิ้นงานต่างๆ บางคนก็หาทาง (มัก) ง่าย ไปตัดขายึดคอม้าที่ตัวรถแล้วเชื่อมใหม่ ถ้า “พลาด” แล้วจะทำไง ??? คุณคิดว่าทำกลับได้เหมือนเดิมหรือเปล่า และอะไหล่ชิ้นส่วนช่วงล่างก็ราคาไม่ปกตินะ เพราะฉะนั้น เอาที่ตัวรถไว้เดิมๆ แล้วทำอุปกรณ์เข้าไปเกาะแทน เมื่อใดที่อยากจะขายรถแล้วเอาชุดเบรกเดิมใส่ เราจะสามารถใส่กลับได้ทั้งหมด หรือจะเปลี่ยนเบรกชุดใหม่กี่รอบก็ได้ (ถ้าเงินคุณเหลือพอ) สร้างกี่ชุดก็ได้ โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับชิ้นส่วนเดิมตัวรถเลย เป็นทางออกที่เหมาะสมสุดครับ…
Special Thanks
ทิดอ๊อดเบรก (อู่ใหม่ย้ายไปถนนกิ่งแก้ว ใหญ่กว่าเดิม) : Facebook/ทิดอ๊อด, Tel. 08-1866-8683
ดู !!!
เรามีรถตัวอย่างเป็น FORTUNER ที่อัปเกรดกันชุดใหญ่ ใส่เบรกของ PORSCHE CAYENNE พร้อมจานเบรกซิ่ง ซึ่งเหมาะสม เนื่องจากว่าเป็นรถที่มีลักษณะเดียวกัน มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน ซึ่งการดัดแปลงนั้นจะสร้างอุปกรณ์การยึดเบรกขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยกรรมวิธี CNC ซึ่งให้ความละเอียดและเที่ยงตรงสูง ใส่กับที่รถได้เลย โดยไม่ต้องตัดหรือดัดแปลงอะไร และสามารถใส่เบรกเดิมกลับได้ทันทีเมื่อต้องการ โดยมีขั้นตอนตามรูปดังนี้…
- ขายึดคาลิเปอร์ อันนี้สำคัญ ทางร้านจะใช้โลหะเบอร์ 7075 เนื่องจากคุณสมบัติความแข็งของมัน เพื่อลดการบิดงอเวลาเบรกแรงๆ โดยกลึงออกมาแล้วเป็นรูปดังกล่าวแล้วแต่รุ่นของรถและเบรกที่นำมาใส่
- ขั้นตอนการกลึง CNC ซึ่งเป็นการป้อนโปรแกรม AUTOCAD ถึงขนาดและมิติที่ต้องการ ซึ่งให้ความแม่นยำสูง ตัดปัญหาที่จะเกิดหากขายึดไม่ได้ศูนย์ ก็จะมีอาการ “เบรกจมลึก” เพราะขามันเบี้ยว ทำให้ระยะลูกสูบกดจานผิดเพี้ยนไป หรือ “เบรกไม่อยู่ มีเสียงดัง” จากผ้าเบรกที่กินไม่เต็มจาน ถ้าทำได้ถูกต้องทุกอย่าง อาการเหล่านี้จะไม่เกิด
- อันนี้เป็นการดัดแปลงที่ตัวคาลิเปอร์ กรณีทำให้เป็นขายึดแบบ Radial Mount จะต้องเชื่อมพอกเนื้ออะลูมิเนียมขึ้นมาใหม่ในจุดที่ “หนาเพียงพอ” แล้วจึงเจาะทำเกลียว การเจาะไม่ใช่ว่าเห็นมีที่แล้วเจาะเลย มันแข็งแรงพอหรือเปล่า ก็ต้องดูให้ดี
- ชุดเบรกของ CAYENNE by BREMBO ตัวใหม่ ที่ทรวดทรงสวยโค้งมนมากขึ้น จากตัวเดิมที่เหลี่ยมๆ ถึกๆ
- ในด้านความกว้าง จะต้องเช็กดูว่าระยะการยึดคาลิเปอร์ Offset ของจานเบรก ว่าตำแหน่งมันจะไปติดล้อ หรือติดกับระบบบังคับเลี้ยวตรงไหนหรือเปล่า พวกนี้ต้องดูหมด
- จุดสำคัญครับ “ขายึดที่ติดกับชุดคอม้า” (อันกลาง) ไอ้ที่ตัดๆ กันบรรลัยก็ตรงนี้แหละ แล้วส่วนใหญ่ก็จะ “มีเสียว” ไม่ควรยุ่งกับมัน เพราะเป็นส่วน Center ที่กำหนดศูนย์และรับแรงโดยตรง ตัวนี้จะกลึงขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยใส่กับของเดิมได้เลย ซึ่งจะใส่ “จานบังฝุ่น” ได้ครบถ้วนเหมือนเดิม ปกติจะไอ้จานบังฝุ่นจะเป็น “ลูกเมียน้อย” ถูกถอดออกไป จริงๆ มันมีประโยชน์มากในการป้องกันเศษหินเข้าไปทำให้จานเป็นรอย โดยเฉพาะด้านหลังจะเสี่ยงมาก
- เอาขายึดกับคอม้าที่สร้างขึ้นมาใหม่ ประกบกับดุมคอม้าเดิมติดรถ ก็จะเป็นประมาณนี้ ลงได้พอดี
- ยึดจานบังฝุ่นได้เลยครับ เหมือนเดิมเด๊ะ ปกติจานบังฝุ่นจะมีขอบเหมือน “ใบบัว” แต่พอเปลี่ยนเบรกใหญ่ก็จะติดขอบ โดยมากก็ “ถอดทิ้ง” แต่อันนี้ก็จะให้ “อู่สี” ช่วยเคาะบานออกแล้วเก็บงานเก็บสีให้ดูเหมือนใหม่
- ยึดคาลิเปอร์เบรกให้ดูก่อน ประมาณนี้
- จานเบรกซิ่ง ก็มีให้เลือกทั้งของไทยของนอก จานเป็นแบบ Slot Drill ทั้ง “เซาะและเจาะ” จากโรงงานผลิต ทำให้ความแข็งแรงสูงกว่าแบบเจาะเอง ซึ่งดีไซน์ของ Slot Drill ก็จะมี “ทิศทาง” สองฝั่ง ตามการหมุนของล้อ (อันซ้ายด้านหน้า อันขวาด้านหลัง)
- ด้านหลังของจาน ก็จะเป็นจุดยึด Center Hub ที่สร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับ PCD นอต และ Offset ของจานที่จะใส่ในรถแต่ละรุ่น สังเกตดีๆ อันนี้เป็นด้านหลัง ที่จะมีเหมือนกับ “ดรัมเบรก” ซ่อนอยู่ในดุม นั่นคือชุดเบรกมือ
- Center Hub ที่สร้างขึ้นมาจากอะลูมิเนียม จุดสวยอยู่ตรงนี้แหละ สำหรับจานเบรกซิ่งแบบ “สองชิ้น” ที่กำลังนิยม เพราะเลือกขนาดจานได้หลากหลาย
- จุดหนึ่งที่มักจะ “มองข้าม” ก็คือ “ทิศทางการหมุนของร่องระบายความร้อนจานเบรก” (Ventilated Disc) ซึ่งปกติแล้ว การระบายความร้อนออกจากจานเบรก จะต้องเป็นการ “สลัดลมออก” จากด้านในออกด้านนอก ไม่ใช่ “กวักลมเข้าด้านใน” อันนี้เป็นจานเบรกฝั่งซ้าย องศาของครีบระบายจะต้องเป็นลักษณะนี้ ถึงจะได้การระบายสูงสุด
- อันนี้เป็น “ชุดคาลิเปอร์เบรกมือไฟฟ้า” ที่สร้างขึ้นใหม่สำหรับ ALPHARD/VELLFIRE กรณีเปลี่ยนเบรกใหญ่ขึ้นแล้ว ระยะขาของเดิมใช้ไม่ได้
- ตอนประกอบเข้ากับรถ ขายึดแบบ Radial Mount จะเป็นลักษณะนี้
- ใส่ครบเป็นอันสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน
- ด้านหลังจะยากกว่าด้านหน้า ตรงที่ว่าต้องทำ “ชุดเบรกมือใหม่” เป็นลักษณะ Drum in Disc คือ จะเป็นชุดดรัมเบรกจาก “รถเล็ก” มาสร้างและแปลงใส่ เพื่อให้เบรกมือสามารถใช้งานได้ดังเดิม
- ประกอบชุดเบรกหลัง ก็เรียบร้อยพร้อมใช้งาน
- ใส่ล้อก็พร้อม “แรด” เดี๋ยวนี้ล้อแบบ “ก้านยก” จะนิยมมาก เพราะไม่ติดเบรกใหญ่เหมือนก้านตรงทั่วไป
- ชุดเบรก LAND CRUISER PRADO ที่ทำพร้อมไว้สำหรับใส่ “ด้านหลัง” สำหรับรถกระบะ หรือรถอเนกประสงค์ ชุดเดียวจบ ใช้งานสบาย เรื่องผ้าเบรกก็เป็น NEXZTER คุณภาพสูง ซึ่งในชุดจะมีให้ด้วย เพราะเรื่องผ้าเบรกควรเป็นของใหม่ถึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด
- “คุณจักร” ทายาท ทิดอ๊อด พร้อมให้คำปรึกษาและบริการ
- เบรกซิ่งโคตรใหญ่ ของใหม่ “ตรงรุ่น” รถยอดนิยมก็มีขายนะครับ ไม่ต้องแปลงอย่างเดียวก็ได้นะ