เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่, ภูดิท แซ่ซื้อ
Low Life Story (ฉบับย่อ อ่านง่าย)
เคลียร์ใจ “สายเตี้ย สายเบียด” แบบไหนเรียกอะไร
แน่นอนครับ การแต่งรถของทุกคนก็ย่อมจะต้องมี “วิวัฒนาการ” โดยเริ่มจากการ “เปลี่ยนล้อ” กันก่อน จากการที่ล้อเดิมดู “ดาดๆ” (มาจากคำว่า “สแตนดาร์ด”) จนอดทนไม่ได้ แต่พอเปลี่ยนล้อแล้ว สเต็ปต่อมาก็ต้อง “จัดทรง” กันหน่อย เนื่องจากรถเดิมๆ มันก็จะโย่งๆ เพราะเขาทำให้ “ทุกคนใช้งานได้” ถ้าสายซิ่งก็ต้อง “โหลดเตี้ย” เพื่อให้รถเตี้ยลงมา Match กับล้อพอดี เพราะล้อที่ใส่ไปก็จะใหญ่กว่าล้อเดิมแน่ๆ มันจะดู “ฟิตเต็ม” พอดี ได้เรื่องความสวยงามและการทรงตัวที่ดีขึ้น (หากโหลดโดยใช้วิธีการและช่วงล่างที่ถูกต้อง) แต่ความต้องการของคนย่อมไม่สิ้นสุด สไตล์ “เตี้ยเลียดิน” จึงเป็นแฟชั่นของวัยรุ่น “สายโชว์” ยิ่งใครโหลดได้เตี้ยสุดๆ ล้อใหญ่ๆ แคมเบอร์ลบเยอะๆ หรือ “แบะ” นี่โคตรเท่ ตอนหลังก็จึงเกิดการ “แตกหน่อ” ออกมามากมายหลากหลายสไตล์ หลายคนอาจจะรู้จัก “ชื่อเรียก” แต่หลายคนอาจจะยัง “สับสน” หรือ “ไม่เข้าใจ” อยู่บ้าง ว่าไอ้ที่เรียกๆ กัน “แบบไหนมันคือแบบไหน” เพราะฉะนั้น ครั้งนี้เรามา “เคลียร์ปัญหาใจ” กันดีกว่า ว่าจริงๆ แล้ว การจัดทรงรถเตี้ยๆ ในแต่ละแบบนั้น ต้องทำกันยังไง…
- การแต่งแนวนี้ Fitment คือส่วนสำคัญในการกำหนด “สไตล์” และ “ความสวยงาม” ในแบบฉบับรถเตี้ย
- การจัด Fitment โดยภาพรวมก็คือ ให้ล้อหรือยางอยู่ “ชิด” กับซุ้มล้อมากที่สุด
- รถที่แต่งแนวนี้จะเน้นความ “คลีน” ของตัวรถ เรียบ สะอาด แต่ต้องสวยงามและโดดเด่นในตัวของมันเอง
.
ตำนานเรื่อง “เตี้ยๆ” ในกาลก่อน
การแต่งรถจริงๆ ก็มีมานานแล้ว แต่จะ “บูม” สุดๆ และเราคุ้นเคยก็จะเป็นช่วงยุค 80 หรือ “ยุค เดอะ พาเลซ” ที่รถซิ่งระบาดมาก แน่นอนว่า การแต่งรถก็จะต้อง “ตัวเตี้ย ล้อกว้าง ยางอ้วน” การโหลดเตี้ยสมัยก่อนนู้นก็ไม่ค่อยมีใครซื้อของแต่งกันหรอก ประการแรก “มันแพง” ต้องคนมีตังค์หน่อย แต่ถ้าสไตล์ “บ้านๆ” ก็ “ตัดเตี้ย” หรือ “ตัดสปริง” รวมไปถึง “ตัดแกนโช้ค อัดน้ำมัน” เน้นเตี้ยไว้ก่อน จึงเป็นที่มาของคำว่า “เด้งเหี้…เตี้ยแป้ก” ส่วนล้อตอนนั้นก็ต้องขอบ 13 แบบ “ลึกๆ” ที่ตอนนี้ราคาดั่งทอง มีแต่ขึ้น ไม่มีลง ตอนนั้นถ้าใคร “งบน้อย” ก็จะเอากระทะเหล็กไป “ผ่า” ขยายไซซ์ ที่เรียกกัน “ล้อผ่าๆ” นั่นแหละ ยางก็มีหลายแนว ถ้าคนตังค์เหลือหน่อย ก็จะซื้อ “ยางสลิค” หรือ “ยางตัวหนอน” พวกยางซอฟต์ต่างๆ มาใส่ แต่ถ้าตังค์น้อย ก็เอายางทั่วไปนี่แหละใส่ “ดึงแก้ม” เอา แล้วก็จะต้องมีลิ้นหน้าทรง “รถไถ” เลยเป็นสโลแกนประจำคอลัมน์ Return To Retro ว่า “ล้อกาง ยางปลิ้น ลิ้นกวาด” ล้อกางติดซุ้มใช่มะ ได้เลย “ตัดซุ้ม ใส่โป่งเย็บ” แม่มเลย ตอนนั้นเรื่องของ Fitment หรือ Stance อะไร ยังไม่มีใครมาบัญญัติไว้หรอก และโดยมากก็จะเป็น “โหลดล้อตรง” เพราะส่วนใหญ่รถทั่วไปยุคนั้นโดยมากก็จะเป็นช่วงล่างหลังแบบ “คานแข็ง” ซึ่งจะไม่สามารถแบะล้อใดๆ ได้ มันก็เป็นแฟชั่นในยุคนั้น ตามที่มันจะพอทำได้…
อีก 10 ปี มาถึงยุค 90 ที่เหมือนกับเป็น “ยุคทอง” ของการแต่งรถ วัยรุ่นยุคนี้ไม่ทันแน่ๆ ก็จะมี “วัยแรด” อายุ “หลักสี่” นี่แหละ เล่นกันหนักมาก ในตอนนั้นก็จะเน้น “ล้อใหญ่” พวกล้อ 17 นิ้ว “ออฟลึก” นี่เลย RIAL Mesh ตอนนั้นบ้ากันทั้งบ้านทั้งเมือง จริงๆ มันเหมาะกับรถขนาดกลาง อย่าง HONDA ACCORD ตาเพชร หรือไฟก้อนเดียว/สองก้อน หรือ NISSAN CEFIRO A31 ค่อนข้างใหญ่ระดับ BMW 5 Series E34 หรือ MERC E-Class W210 แต่พวกรถเล็กๆ อย่าง SOLUNA หรือ CITY หรือ CIVIC ก็ยังอุตส่าห์ “ฝืนยัด” เข้าไปจนได้ โดยการ “ตัดต่อปีกนก” หรือ “แหกซุ้มใน” อะไรติด กูทุบหรือตัดหมด ในตอนนั้นเริ่มบ้า “ล้อแบะ” เพราะรถยุค 90 ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงล่างอิสระ สามารถทำแคมเบอร์ลบมากๆ ได้ แต่พวกช่วงล่างหลังคานแข็งในรถขับหน้า ตอนนั้นก็ SOLUNA AL50 รุ่นแรก ก็ยอม “ตัดเชื่อมคอม้าหลัง” ใหม่ ให้ล้อหลังแบะได้ ไม่ได้บอกว่ามันขับดีนะ แต่มันเป็นหนทางที่จะยัดล้อเข้าไปในซุ้มให้ได้ เป็น “แฟชั่น” ในยุคนั้น ตอนนั้นก็ “ตัดสปริง อัดน้ำมันโช้ค” ตามสูตร เรียกว่าต้องกดให้เตี้ยแบบ “ซองบุหรี่ตะแคง” ถึงจะสุด มันก็เป็นการ “Fitment Check” ในยุคนั้นตามประสาวัยรุ่น ว่าใคร “สุด” กว่ากัน ตอนนั้นก็ “เตี้ยสด” วิ่งไปท้องกระแทกพื้นไฟแลบไป คร่อมหมุดตาแมวอันใหญ่หน่อยแบบไม่ดู “สระอีสระแอ” รับรอง “แคร็งค์แตก” ขับข้ามเนิน คอสะพานชันๆ หรือ “เนินดักรถซิ่ง” ตามมหา’ลัย ก็ต้อง “ตะแคง” ข้ามแบบมีลีลา ถ้าเพื่อนนั่งกันมาเยอะ ก็ต้องไล่มันลง เผลอๆ ก็ต้องช่วยกันยกรถอีก รถคันอื่นรำคาญก็บีบแตรด่าแม่กันให้ลั่น แต่มันก็เป็นสีสันในยุคนั้นจริงๆ ที่พอยุคนี้ หาก “วัยรุ่นยุค 90” กลับมารวมตัวกัน ก็เอามาเล่าความหลังกันอย่างมีความสุขทุกครั้ง…
- การแต่งแนว Flush รถจะไม่ถึงกับเตี้ยมาก หรือขอบล้อชิดซุ้มมากจนขับลำบาก ยังพอจะมีเนื้อที่ให้หายใจหน่อย
- คันนี้แหละสไตล์ 90 ของแท้ “แอคคอร์ด ตาเพชร” ยอดนิยมในการแต่งสมัยก่อน เพราะทรวดทรงดูหรูหรา ออกแนวสปอร์ต รถจะยาวๆ แบนๆ ทำให้โหลดเตี้ยแล้วสวย ล้อก็เป็น RIAL Mesh “ออฟเซตแมวนอน” ยอดนิยมในยุคนั้น ตอนนั้นไม่มีคำนิยามอะไรหรอก รู้แต่ว่า “เตี้ยให้สุด” เป็นพอ
- ล้อที่นิยมในแนวนี้ ก็จะเป็นแบบ 3 ชิ้น จุดเด่นก็คือ “มีขอบเงาที่โดดเด่น” อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่พอเจอสาย “โชว์ขอบ” แบบนี้ ยิ่งขอบเงาจะยิ่งทำให้รถดูเด่นขึ้นสไตล์ “อเมริกัน” ซึ่งมีอิทธิพลมากในการแต่งรถของบ้านเรา จะคนละสไตล์กับสาย JDM แต่ก็ไม่ใช่ข้อจำกัด จะล้อชิ้นเดียว ไม่เงา หรืออะไรก็ได้ ขอให้ “มีสไตล์” และ “ฟิตเมนต์เป๊ะ” ก็สวยได้เช่นกัน.
- คันนี้จะออกแนว Fitment เน้นความลงตัวของความสูงตัวรถ กับล้อและยาง ให้มันดูเต็ม สวยพอดี สามารถขับใช้งานได้เต็มสมรรถนะ
- นี่ก็จัด Fitment ในแนวเรียบๆ ลงตัว ขับใช้งานได้ปกติ ตัวรถจะเน้นความ “คลีน” ดั้งเดิม ล้อและยางขนาดพอดีๆ ดูแล้ว “คลาสสิก” ดีจริงๆ
- แนว Slam หรือ Slammed คือ กดเตี้ย อมขอบล้อ ลักษณะนี้
- อย่างแนว Flush ก็จะเน้น “แก้มยางเฉียดซุ้ม” เป็นหลัก จะใส่ยางที่ไม่ดึงมากจนขอบล้อโผล่
- รถแนว Wagon จะเริ่มนิยมมาก โดยเฉพาะสายยุโรป เนื่องจากเป็นรถที่ “มีแนว” แต่งใส่ Prop ได้มากกว่ารถเก๋ง
- อันนี้ออกแนว “ประยุกต์” หน่อย เตี้ยแบบ Flush แต่ยางไม่ดึงมาก ล้อไม่ซุกใน ผสม Stance ก็ว่าได้
Flush Style สังคมรถเตี้ยที่กลับมาอีกครั้ง
ยุคก่อนนั่นก็คือแนวทางการทำเตี้ยแบบ “สังคมพาไป” ไม่มีการกำหนดชื่อแนวทางใดๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าทำกันจนเป็น “สังคมนิยม” หลังจากนั้น การแต่งรถแนวนี้ก็หายไป เพราะ “มันขับลำบาก” และ “รถพัง” Ship หายหมด แต่ในช่วง 5-6 ปี ที่แล้ว กระแส “รถเตี้ย” กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ “มีคำจำกัดความ” และมี “แนวทางปฏิบัติ” ที่ชัดเจน จนเรียกว่าเป็น “วัฒนธรรม” หรือ “Culture” ก็ได้ เรามาดูถึง “เรื่องราว” และ “คำนิยาม” ของแต่ละอย่างกันเถอะพ่อคุณ…
- Hella Flush ขอบล้อจะต้อง “ขี่ซุ้ม” แบบนี้เลย โดยที่ยางอยู่ในซุ้ม ขอบล้อยื่นออกมา เพราะใส่ยางไซซ์เล็กกว่า หน้ากว้างล้อมากๆ นั่นเอง
.
Hella Flush Begin
ย้อนไปเมื่อปี 2006 หรือ 13 ปีที่แล้ว มีวัฒนธรรมการแต่งรถที่มาจากแนว Street ทั่วๆ ไป จาก “อเมริกา” ในย่าน L.A. และ San Francisco ที่มีคนเอเชียอยู่มาก ผู้ที่สร้างกระแส Hella Flush ขึ้นมาก็คือ “Mark Arcenal” (มาร์ค อาร์เซนอล) เป็นชาวอเมริกัน เชื้อสายฟิลิปปินส์ ที่บัญญัติการแต่งแบบนี้ขึ้นมา ไม่ได้ซื้อของแต่ง ชุดคิต ราคาแพงๆ ไม่ใช่รถเทพ โดยมากก็เป็นพวกรถญี่ปุ่น หรือ Import car ทั่วไปนี่แหละ จับมาโหลดเตี้ยแทบจะลากพื้น แล้วมีแนวการแต่งที่ใช้ “ล้อกางๆ” แต่ “ยางแคบๆ” มันเป็นการแต่งรถที่ผิดแปลกจากทั่วไป ทำแคมเบอร์ลบจนกระทั่ง “ยางเบียดซุ้มล้อ” เอาแบบเฉียดที่สุด แต่ยังต้องขับได้ ตัวรถก็มีการตกแต่งสีสัน หรื สติกเกอร์ลายแนวๆ Gangster หรือจะปล่อย “คลีน” โล่งๆ หรือจะมี Prop อะไรบางอย่างประกอบ ไม่ว่าจะเป็น สีล้อ ลวดลาย สติกเกอร์ การแต่งที่มีจุดเด่นเฉพาะของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่ม มันลามไปถึง “การใช้ชีวิต” หรือ “Life Style” ของเจ้าของรถ การแต่งตัว การถ่ายรูป งานศิลปะต่างๆ แนวๆ “Street Art” การท่องเที่ยวไปในสถานที่ “มีแนว” เก่าๆ แต่บรรยากาศ “คูล” เรียกว่าเป็น “วัฒนธรรม” ของเขา จนแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะการแต่งแบบนี้ เรื่องเงินไม่ใช่ประเด็น ไม่ต้องใช้เงินถุงเงินถัง แต่ขอให้ “ใจใหญ่” ก็พอ วัฒนธรรมนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วโลก จนมาถึง “เมืองไทย” อย่างแน่นอน…
- คันนี้ทรง Flush แต่ “โหลดล้อตรง” เนื่องจากช่วงล่างหลังเป็นคานแข็ง ไม่สามารถทำมุมแคมเบอร์ลบได้ เลยต้องดึงซุ้มล้อช่วยเอา
- อันนี้แหละ Hella Flush แคมเบอร์ล้อหลังลบเยอะ ขอบล้อขี่กับซุ้ม ตัวรถจะไม่เน้นอะไร เน้นแต่ “ฟิตเมนต์” ที่จะเป็นทุกสิ่งอย่าง รถขับหน้าแบบนี้ ช่วงล่างด้านหลังจะเป็น “คานบิด” ไม่อิสระ จะต้อง “ดัดแปลงคอม้า” ให้ “ล้ม” เพื่อที่จะมีแคมเบอร์ได้
“FS” or Flushstyle
ระบาดมาถึงเมืองไทย ขอเล่าประวัติพอ “สังเขป” เพื่อไม่ให้มีการปะทะกับ “อ้อย คลองแปด” กลุ่ม Flushstyle Thailand หรือ FS ก่อตั้งขึ้นมาในเดือนมีนาคม ปี 2010 เรียกว่าได้กระแสท่วมท้น เพราะเป็นการแต่งรถแบบอิสระ หรือ “Freestyle” หรือ “อะไรก็ได้” ใส่ไอเดียได้เต็มที่ แต่ขอ “ทรงต้องได้” แค่นั้นพอ ไม่ได้ประชันกันที่ราคา แต่แสดง “ไอเดีย” ของแต่ละคน ทำให้รถและคนขับเป็นที่น่าสนใจเมื่อวิ่งบนท้องถนน อาจจะมีคำถามในใจว่า “มันขับไปได้ยังไงวะ เตี้ยขนาดนั้น” แต่ก็เป็นความสุขในใจ ที่ได้ทำอะไรแหวกแนว ตื่นเต้น ไม่เหมือนใคร…
- แนว Flush จะต้อง “ล้อกาง ยางดึง” ปลิ้นๆ จากการใส่ยางที่ Under size เล็กกว่าหน้ากว้างล้อมากๆ จน “ขอบโผล่” แบบนี้
- การใส่ยาง สูบลมปกติไม่ได้ เพราะ “รั่ว” หมด ต้อง “บาซูก้า” ยิงตูมมม ด้วยแรงอัดลมสูงๆ เพื่อให้ขอบยางเด้งขึ้นมาชนขอบล้อ สามารถเติมลมยางและไปใส่รถได้
- นี่แหละครับ Fitment จะต้อง “เฉียด” แบบนี้เลย
.
“อะไร” เป็น “อะไร”
มาถึงขั้นตอนสำคัญ ว่า “อะไร” หมายถึง “การแต่งอะไร” ส่วน “อะไร” หมายถึง “เรียกว่าอะไร” เพราะจริงๆ มันมีชื่อเรียกต่างกัน แต่ละแบบก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป อาจจะมา “รีมิกซ์” กันได้ จึงไม่ได้เป็นข้อบังคับตายตัว แต่จะพูดเป็นหลักๆ ละกัน…
Fitment
คำนี้จริงๆ แล้ว มันหมายถึง “การประกอบ” แต่ในความหมายของการแต่งรถ จะเข้าใจกันถึง “องค์ประกอบที่ต้องจัดสรรอย่างลงตัว” ก็จะหมายถึงว่า เรื่องของ “ความเตี้ยของรถ” รวมไปถึง “ขนาดของล้อ” และ “มุมแคมเบอร์ลบ” ที่จะต้อง “ลงตัวกันพอดีทั้งหมด” รถบางคันอาจจะไม่เตี้ยถึง Flush แต่ว่าขอ “แนวจัดฟิตเมนต์” สวยๆ อาจจะเตี้ยพอดีๆ ขับใช้งานปกติได้ โดยไม่ต้องย่องหลบหรือทำให้ช่วงล่างแข็งสะเทือนตูดมากนัก ออฟเซตล้อแบบ “พอดีซุ้ม” อาจจะต้อง “พับ” ซุ้มด้านในหน่อย ให้ล้อออกมาแนวพอดีกับตัวถัง แต่ไม่ถึงกับ “แหก” แคมเบอร์ล้อลบไม่เยอะมาก แบบนี้ก็เหมาะกับรถที่ต้องการ “สวยแบบคลีน” ขับใช้งานได้จริง…
แต่ถ้าเอาคำว่า Fitment มาใช้กันแบบ “ภาพรวม” คือ “การจัดทรง” ในแต่ละรูปแบบ ทุกอย่างต้อง “เป๊ะ” รถจะออกมาสวย ไม่ว่าจะ Hella Flush หรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าฟิตเมนต์สวย รถคุณก็จะโดดเด่นขึ้นมาทันที จนมีคำพูดที่ว่า “Fitment is the king” คือ มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับการแต่งรถเตี้ยอย่างแท้จริง…
Slam
ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ก็มาจากคำว่า “Slam Dunk” ในบาสเกตบอล ที่จะเหมือนการ “ทุ่มกระแทก” ก็เหมือนกับการโหลดรถลงมาเตี้ยจนเกือบกระแทกพื้น การแต่งแนวนี้ก็จะเป็นการโหลดเตี้ยแบบ “อมขอบล้อ” ล้อจะหุบเข้าไปอยู่ด้านใน ซึ่ง Slam จะเป็นแนวเฉพาะทางเหมือนกัน อย่างพวกสาย VW Classic ที่เน้นการ “ย่นคานหน้าแคบ” โหลดแล้วให้ล้อซุกด้านใน หรือ American classic ที่เกือบทั้งหมดจะเป็นช่วงล่างหลังแบบคานแข็ง ไม่สามารถมีแคมเบอร์ได้ ก็ “โหลดล้อตรง” ล้อซุกซุ้มไปเป็นอันจบ…
Flush
คำว่า “ฟลัช” เป็น “ศัพท์สแลง” เหมือนเรากดชักโครก มักจะมีคำว่า Please Flush After Used แปลง่ายๆ ก็คือ มึงช่วยกดราดน้ำหลังจากใช้งานแล้วด้วย เลยมาเป็นสแลงในรถ คือ “กดให้แม่มเตี้ย” โดยจะเน้นที่ฟิตเมนต์ของล้อและยาง อันนี้จะใส่ล้อกว้างๆ แต่ยาง “อันเดอร์ไซซ์” หรือ “แคบกว่าสเป็กล้ออย่างมาก” เช่น ล้อ 9-10 นิ้ว ปกติใส่ยางกว้าง 255-265 มม. แต่กลับเอายางเล็กขนาด 205 มม. มาใส่ ทำให้แก้มยาง “ล้ม” จนขอบล้อโผล่ ตอนใส่ก็ต้องยิง “บาซูก้า” อัดลมให้ยางพองขึ้นมาชนขอบ ใส่ปกติไม่ได้ อันนี้ต้องระวัง เพราะเป็นการ “ผิดสเป็ก” แก้มดึงมากผิดปกติ มีโอกาสยางจะหลุดขอบ ระเบิด การเกาะถนนด้อยลง คนที่จะแต่งแนวนี้ต้องรู้และระวังกันเอง ส่วนฟิตเมนต์ ก็จะทำแคมเบอร์ลบ เพื่อให้ขอบซุ้มล้อลงมาเฉียดกับ “แก้มยาง” ให้มากที่สุด และที่สำคัญ “เตี้ยสด งดถุง” ต้องเตี้ยโดยช่วงล่างจริงๆ โดยไม่ใส่ถุงลม อันนี้เป็นกฎอีกข้อหนึ่งครับ…
Hella Flush
ไม่ต้องสงสัย ว่าทำไมศัพท์สแลงเยอะมาก สไตล์ “วันรุ่นอเมริกัน” ก็อย่างนี้แหละ มันจะเป็นศัพท์ “เฉพาะทาง” ที่แต่ละกลุ่มก็บัญญัติขึ้นมาเอง คำว่า Hella ก็มาจาก Hell หรือ “นรก” มันเหมือน Verb ช่องสอง หรือ “ขั้นกว่า” ซึ่งสิ่งที่พิเศษกว่านั้น คือ “โหลดจนความเตี้ยของซุ้มล้อพอดีกับขอบล้อ” ถ้าดูตามรูป แก้มยางจะอยู่ในซุ้มแบบเบียดๆ แต่ “ขอบล้อจะยื่นมาขี่กับซุ้ม” จะใช้แคมเบอร์แถวๆ -3 แต่ไม่เกิน -6 ครับ…
Hella Fail
แนวเหมือนกันแต่ขั้น “บ้ากว่า” จะดัดจนแคมเบอร์เกินกว่า -6 ซึ่งแม่งก็แทบจะล้ม 45 องศา เอาไหล่ยางวิ่งกันอยู่แล้ว เรียกว่าฟิตเมนต์เฉียดนรก ขอบล้อโดนซุ้มนี่เรื่องปกติ เรียกว่าแนว “สายโชว์” เน้นความ “โอ้โฮเฮะ” กันเป็นหลัก…
Mexi Flush
อันนี้เขาจะเป็นแนว “เม็กซิโก” แต่งรถ ไม่ได้ว่าผิดนะ จะเน้นล้อกางยางดึงเหมือนกันนี่แหละ แต่จะเป็น “โหลดล้อตรง” ล้อจะยื่นออกมานอกรถ อาจจะดูตลกๆ หน่อย แต่บางคันก็ทำซุ้มล้อมาครอบได้อย่างพอดี มันก็อาจจะสวยไปอีกแบบนะ…
Hella F*CK
อันนี้แถมให้ เป็นแนว “สุดจักรวาล” เหนือคำบรรยาย !!! ประเภทที่ทำช่วงล่างพิสดาร จนล้อกางออกมาเหมือน “จานบิน” หรือเหมือน Transformer แปลงร่าง พูดง่ายๆ เอาแก้มยางวิ่งอ่ะ จนต้องอุทาน What da f*ck !!! หรือ “เชี่ยไรเนี่ย” เรียกแขกอย่างเดียว อย่างอื่นอย่าถาม…
Stance
ตอนนี้ “กำลังมา” จริงๆ แล้ว มันก็จะเน้นความเตี้ยเหมือนกัน แต่รถที่ทำกันส่วนมากจะเป็น พวกรถหรูยุค 90 ทั้งหลาย ที่ทรวดทรงมีเอกลักษณ์ ตอนนี้นิยมรถ “ฝรั่ง” โดยเฉพาะสาย Touring ของ BMW หรือ Estate อย่าง MERCEDES-BENZ หรือ VOLVO ถ้าเป็นสายยุ่น ก็จะต้องเป็นรถหรูสักหน่อย อย่าง LEXUS หรือ CROWN โดยเน้นความเรียบ สวยเดิมๆ ของตัวรถ สีเงาๆ แนว “คลีน” ดูสะอาดตา แล้วก็จัดฟิตเมนต์ ลุคอาจจะดูไม่โหดแบบ Flush แต่จุดสำคัญอยู่ที่ “องศาของล้อ” โดยเฉพาะล้อหลัง ถ้ามองจากท้ายรถเป็นแนวตรงเข้าไป องศาล้อหลังจะต้องเป็น “แนวเดียวกับทรงสอบของตัวรถไปจนถึงเสาหลังคา” มันจะเหมือนตัว A ที่สมบูรณ์ เพราะคำว่า Stance มันแปลว่า “ท่ายืน” ซึ่งท่าที่ถูกต้อง จะต้องยืนกางขานิดหน่อยให้ดูมั่นคง ก็เลยเอามาใช้เรียกการแต่งแนวนี้ และกำหนดทิศทางอย่างที่บอกไปนั่นเอง…
บทสรุป
ท้ายสุดแล้ว การแต่งรถในแนวนี้ ก็คือ Freestyle มันเป็นอิสระของทุกคนที่จะทำออกมาในแนวที่ตัวเองชอบ ส่วนคำนิยามการเรียกชื่อแต่ละอย่าง มันอาจจะมี “ข้อแตกต่าง” กันอยู่บ้าง โดยเป็นการบัญญัติว่าทำแบบไหนคืออะไร ซึ่งจะเป็น “ข้อแตกต่าง” แต่ “ไม่มีข้อจำกัด” อาจจะมีการ“ประยุกต์” เอาอีกแนวหนึ่งเข้ามาผสมก็ได้ เพราะฉะนั้น เราจะ “ไม่ยึดติด” ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น ไม่มีใครผิดหรือถูก อยู่ที่ “จินตนาการ” และ “ความต้องการ” ของเจ้าของรถคันนั้นๆ ครับ #งดดราม่า
ขอบคุณข้อมูลจาก
Race Auto tire : FB/Race Auto Tire, Tel. 06-4789-3366
- 23.“ขุ่นพระ” อันนี้จะเอื้อนเอ่ยอย่างไร นอกจากคำว่า Hella F*ck สุดประเทศจริง
- ถ้าเป็นรถช่วงล่างอิสระ ก็จะสร้างแคมเบอร์ลบได้ แต่ถ้าขนาดนี้ต้อง “แต่งช่วงล่าง” ช่วยแล้วละครับ
- แนว Stance จะดูเผินๆ เหมือนรถโหลดเตี้ยทั่วไป แต่จะจัด Fitment ที่ล้อหลังเป็นหลัก
- สังเกตว่า แนวการล้มของล้อหลัง จะต้องเป็นเส้นเดียวกับแนวของบอดี้ และการเอนของเสาหลังคา เหมือนกับตัว A อย่าง 190E คันนี้ จะแต่งออกแนว 90 ที่รถจะต้องออกแนวบอดี้คลีน เงางาม จะสวยที่ “ล้อ” ยิ่งแบะยิ่งสุด
- แนวการแต่งแบบนี้ Freestyle ไม่จำกัดรถ มีข้อจำกัดต่างๆ น้อยที่สุด ทำให้เจ้าของรถสามารถใส่ความเป็น “ตัวตน” ได้อย่างอิสระ เพียงแต่เน้น Fitment ซึ่งเป็น “เหตุหลัก” ก็เพียงพอ
- ได้หมด สาย Bimmer ผสม สายม้าคึก