อีกทีกับวิถี ECO Combo BRIO ผสม L15A สเต็ป “แป๊ดแป้” ไร้หอย

 

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่,

            ในครั้งก่อนกระนู้นที่เราได้นำเสนอ “วิถี ECO” กันไป แบบ “ทวิภาค” โดยเป็นรูปแบบของการโมดิฟายเครื่องยนต์เดิม L12A ทั้งแบบไร้หอยและแบบมีหอย และการ “ข้ามรุ่น” ไปเป็นเครื่อง L15A ทั้งแบบไร้หอยและแบบมีหอยเช่นเดียวกัน ได้รับความนิยมจากแฟนๆ ใช้ได้เลย “เฟี้ยวฮะ” พอมาฉบับนี้ กระแส ECO CAR อย่าง BRIO ก็ยังคงแรงต่อเนื่อง ด้วยความที่ตัวรถมีราคาไม่แพง วัยรุ่นซื้อหามาขับได้ง่าย ก็เลยเป็นกระแส “อีโค โมดิฟาย” ที่เต็มบ้านเต็มเมือง ก็มีการโมดิฟายกันหลายสเต็ป สำหรับสเต็ปที่ตอนนี้ถือเป็น “พื้นฐานในการต่อยอด” ที่เหมาะสมที่สุด คือการเปลี่ยนเครื่องเป็น L15A ซึ่งจะไปถึงปลายทางได้ง่ายกว่า  L12A ที่ความจุน้อย และลามไปถึงการ “ยัดหอย” แต่เราคิดว่ามันเกินความเป็นรถวิ่งถนนไปหน่อย เลยคงเหลือสเต็ปการโมดิฟาย L15A แบบ “ไร้หอย” เสียงท่อ “แป๊ดแป้” เป็นเอกลักษณ์ แต่อย่าดังเกินไปก็แล้วกันนะ…

L15A ทางเลือกที่อาจจะไม่ใช่ของทุกคน 

            ขอบอกก่อนว่า การเปลี่ยนเครื่อง L15A มันอาจจะไม่ใช่ Best Choice ของการเริ่มโมดิฟายไปซะทีเดียว ก็ต้องดูว่า “คุณต้องการบรรลุความแรงขนาดไหนกันแน่” เพราะคนที่จะเปลี่ยนเครื่องนั้น จะต้องมีเป้าหมาย คือ “ไปให้สุดในเครื่องตระกูล L” ซึ่งตอนนี้กระแสการโมดิฟาย L15A ก็ไปเล่นกับ Turbo กันทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะสเต็ปขับถนน หรือแข่งในสนามเพียงอย่างเดียว ตอนนี้กระแสการโมดิฟายแบบ N.A. ก็อาจจะน้อยลงไปหน่อย เพราะถ้าวางเครื่องเฉยๆ ทำนิดหน่อย บางคนก็เอา L12A ไป “ยัดหอย” ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง ซึ่งแรงกว่าแน่นอน (พูดถึงสเต็ปเริ่มต้นนะ) ราคาเซตเทอร์โบของ L12A อยู่ประมาณ “80,000 บาท” แต่มองในอีกแง่มุม การเปลี่ยนเครื่อง L15A จะได้ “เครื่องใหญ่” อีก 300 c.c. แน่นอนว่า การขับใช้งานจะง่ายและสบายกว่า การตอบสนองดีขึ้น แม้ว่าจะแรงม้าเท่ากัน ยังไงก็ได้เปรียบเครื่องเล็กในด้านแรงบิด และสามารถต่อยอดได้อีก ก็อยู่ที่ “แนวทางการเลือก” ของแต่ละคนครับ ไม่มีสูตรตายตัว…

สารพัด สารเพ

พูดถึงเรื่อง L15A ก็ขอเริ่มกันที่ “ราคาเครื่อง” ก่อนแล้วกัน อยู่ที่ “25,000-30,000 บาท” สามารถวางได้เลยสบายๆ เพียงแต่เสื้อสูบจะสูงกว่า L12A อยู่ประมาณนิ้วกว่าๆ ทำให้พอวางไปแล้ว ระดับเครื่องจะสูงกว่าเดิม แต่ก็อยู่ในเกณฑ์สวยงาม ไม่ติดขัดอะไร มีอีกเคสนึง ถ้าคนซื้อเครื่อง “เกียร์ออโต้” มา แล้วจะมาสะเวิ้บเป็น “เกียร์ธรรมดา” ถ้าใช้กล่อง Stand Alone ตรงรุ่นจะดีกว่า เพราะเราไม่ต้องสนใจกล่องเดิม แต่ถ้ายังจะใช้กล่องเดิม (ไม่ผิดนะครับ แล้วแต่ความชอบ) ก็ต้องสลับกล่องเกียร์ธรรมดามาใช้ด้วย ส่วนตัวเครื่องเหมือนกันครับ สลับฟลายวีลเอามาพร้อมชุดคลัตช์เกียร์ธรรมดามาใส่ได้เลย…

ถ้า “คัน” อยากโมดิฟายต่อ สเต็ปแรก “กล่อง” แน่นอนครับ และส่วนใหญ่ก็จะไปใช้น้ำมัน E85 กันด้วย เพราะค่าออกเทนสูง และมีราคาถูก กล่องก็มีให้เลือกหลายยี่ห้อ ถ้า “งบไม่มาก” ก็เล่นพวก Piggy Back พ่วงกล่องเดิม กล่องระดับนี้พร้อมจูน อยู่แถวๆ 17,000-18,000 บาท ก็เสียวได้แล้ว แต่ถ้ามีตังค์ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า แม้เครื่องจะไม่ได้โมดิฟายอะไรมาก หากมี “งบเหลือ” ก็ควรจะ “ลงทุนซื้อกล่องดีๆ ใส่” ซึ่งอาจจะค้านกับแนวความคิดว่า เครื่องไม่ได้ทำเยอะ ทำไมต้องไปใช้กล่องดีๆ ให้เปลืองเงิน แต่ในอีกแง่มุม ถ้ากล่องดีๆ มีขีดความสามารถในการใช้ Function ได้สูง ก็จะสามารถ “ดึงสมรรถนะของเครื่องยนต์ออกมาได้เต็มที่” (เท่าที่เครื่องยนต์จะให้ได้นะครับ ไม่ใช่เครื่องเดิมๆ จะเอาแรงเท่าเครื่องโมดิฟายก็ไม่ใช่นะ) และสามารถ “ต่อยอด” ได้มากกว่า หากต้องการโมดิฟายในอนาคต…

ขั้นตอนต่อมา หากจะ “ซน” เพิ่ม การโมดิฟายแรกๆ ที่ต้องนึกถึง คือ “เปลี่ยนแคมชาฟท์โมดิฟาย” ดุ้นนึงก็ประมาณ 8,000-9,000 บาท ถ้าวิ่งถนนเอาสเต็ปแรกก็พอ บางทีไปโลภเอาสเต็ปสูงสุด แต่ “ทำเครื่องไม่ถึง” หรือ “ใช้ไม่ถูกประเภท” มันจะกลายเป็น “สูญเปล่า” เพราะการเปลี่ยนแคมชาฟท์ องศาการเปิด-ปิด เปลี่ยนไป แน่นอนว่า องค์ประกอบการทำงานของเครื่องยนต์จะต้องเปลี่ยนไปด้วย (ไหนๆ พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็เหลาซะหน่อย) เช่น “กำลังอัด” ยิ่งแคมองศาสูง ก็จะต้องทำกำลังอัดชดเชย ถ้าจะเล่นกันสเต็ปหนักแล้วก็ควรจะ “เปลี่ยนลูกสูบกำลังอัดสูง” ชดเชยกันไป จะได้ผลกว่าทำเพียงอย่างเดียว กล่องก็ต้องฉลาดขึ้น บางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ จะเปลี่ยนแคมองศาสูงอย่างเดียว แต่ไม่ทำอย่างอื่นแล้ว คิดว่ามันจะแรง จริงๆ แล้วแรงขึ้นนิดหน่อยจริงครับ แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ควรจะต้องมีสิ่งประกอบด้วย ถ้าจะให้ได้ผลดีจริงๆ ก็ต้องทำให้ทุกอย่างสัมพันธ์กันตั้งแต่ทางเข้ายันทางออกเลยแหละ สเต็ปต่อมาคือ “ก้านสูบ” ถ้าจะเอา “ชัวร์” ก็ต้องเปลี่ยน อย่างที่รู้ว่าก้านเดิมมันเล็ก ไม่ได้เผื่อทำแรงม้าเยอะ ก้านสูบก็มีทั้งของ “อเมริกา” ชุดนึง 4 อัน ก็ “25,000 บาท” โดยเฉลี่ย แต่ถ้าจะเล่นของถูก ก็ “Made in China” ราคา “หารสอง” ลงมา สำหรับแรงม้าสูงสุดใน L15A โมดิฟายแบบไร้หอย เล่นสเต็ป “4 ลิ้น” เฉลี่ยอยู่ “170-180 PS” แต่นั่นคือออกไปทางแข่งขันอย่างเดียวแล้วนะครับ เวลาเห็น “14.XX วินาที” แน่นอน…

สำหรับเรื่องของ “เกียร์” ถ้าเป็นของ L12A อัตราทดจะค่อนข้างห่าง ก็จะต้องดิ้นรนเอาเฟืองเกียร์ 3-4-5 ของ JAZZ GE มาใส่ในเสื้อเกียร์เดิมของ L12A ได้เลย ค่าใช้จ่ายเฟืองเกียร์ประมาณ “10,000 บาทเศษ” (ไม่รวมประกอบ) ยังไม่รวมเฟืองท้ายอีก แล้วแต่อัตราทดที่เราจะเลือก…

ที่พูดกันว่า “กล่อง ไม่กล่อง” เป็นการแบ่งรุ่นในรายการแข่งขันทั่วไป คำว่า “กล่อง” ก็จะหมายถึง “รถที่ใส่กล่องพ่วง” ทั้งหลาย ส่วน “ไม่กล่อง” คือ มีเฉพาะ “กล่องเดิมติดรถเพียงใบเดียว” แต่ด้านในจะ Reflash อะไรก็แล้วแต่ถนัด ขอเพียงเป็นกล่องติดรถเพียงใบเดียว ไม่มีกล่องพ่วง หรือกล่องจูน Stand Alone ใดๆ ทั้งสิ้น…

แนะนำว่า BRIO ที่อยากจะมีความ “มั่นคง” มากขึ้น โดยเฉพาะเวลาออกตัวแรงๆ “ช่วงล่างหน้าเต้น” ทำให้ Caster ล้อเปลี่ยนไปๆ มาๆ รถจะไม่นิ่ง ออกตัวไม่ดี ไม่ต้องแรงมากหรอกครับ แค่ L15A ไร้หอย ทำนิดหน่อยก็ออกอาการพอควรแล้ว ต้อง “จัดหนักเรื่องช่วงล่าง” กันหน่อย พวก Traction Bar ต้องทำให้แข็งแรง หรือเพิ่มเข้าไป แล้วมีค้ำต่างๆ ช่วงล่าง ตัวถัง ค้ำได้ค้ำครับ เพราะรถเดิมบอบบาง สไตล์รถราคาประหยัด…