XO AUTOSPORT No.264
REEDXO264 (LB Parts Installing)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ZENTRADY OAT
คอลัมน์ Reed It More ที่เน้นในด้าน “เทคนิค” และ “รายละเอียด” ในการโมดิฟายรถในแขนง (หมูกรอบ) ต่างๆ รวมถึงการรวบรวม “ข้อมูลเชิงลึก” มาฝอยให้ “เรื่องยาก” มาเป็น “เรื่องง่าย” ที่แฟนๆ XO autosport ทุกคนสามารถอ่านได้อย่างเข้าใจง่าย (อ่านไม่เข้าใจก็อ่านอีกรอบละกัน) ครั้งนี้เป็นฉบับสุดพิเศษ “Liberty Walk Issue” แน่นอนครับ ก็ต้องพูดถึงเรื่อง “การทรงเครื่องใส่โป่ง” ที่เป็นเอกลักษณ์ของค่าย LB มาโดยตลอด แต่ว่าการติดตั้งจะต้องมี “เทคนิคพิเศษ” เพื่อที่ให้ชุดโป่ง (Wide Fender) นั้น ติดตั้งได้อย่างสวยงาม สมดุล เรียบร้อย พร้อมใช้งาน และ “ทนทาน” มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่นึกจะติดก็ติด ทุกอย่างต้องมี “ค่าอ้างอิง” เป็น “มาตรฐาน” ที่ทาง Official ของ LB จะส่งมาให้กับทาง Authorized Dealer เพื่อนำไปติดตั้งให้กับลูกค้า แต่จะมีอะไรบ้างนั้น ทำไมมันเนี้ยบจัง ทำไมมันเนี้ยบกว่าชาวบ้านเขา…
และที่สำคัญ คือ ทาง Infinite Motorsport ได้ให้คำแนะนำสำหรับ “คนที่เริ่มเล่นกับรถมีโป่ง” ว่า “ควรจะวางแผนอย่างไร” โดยสามารถเอาคำแนะนำเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้เองอีกด้วย จัดหนักแบบ “ไม่หวงวิชา” (ใจกว้างจริงๆ) ถ้ายังงั้น เราต้อง “ตามไปดู” ผมจะเล่าในลักษณะนิยายสนุกๆ ให้อ่านครับ…
- ศาสดาโป่งซิ่ง “คาโตะซัง” เจ้าของ Liberty Walk และเจ้าของ “แนวคิดอิสระ” ที่ถ่ายทอดสู่พื้นผิวบอดี้รถยนต์
- การตัดจะต้องทำตาม “ข้อมูลอ้างอิง” เสมอ ซึ่ง LB Japan
จะต้องหาตำแหน่งที่ “ดีที่สุด” แล้วจึงลงมือ ไม่มีการ “กะ” อย่างเด็ดขาด
- การแสดงออกของ Kato นั้น เป็นเอกลักษณ์ ถึงความ “คลั่งไคล้” ในสังคมรถซิ่งอย่างชัดเจน
เหมือนพร้อมระเบิดความมันส์ออกมาตลอดเวลา
จาก “พ่อค้ารถมือสอง” ถึง “ก้าวสู่อิสรเสรี”
เอางี้ดีกว่า เรื่องนี้มันอาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับการติดตั้งพาร์ท แต่ว่ามันก็ควรจะเป็น Timeline ของชีวิต Liberty Walk ว่า “ก้าวสู่อิสรเสรี” นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร และมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจขนาดไหน ถึงเดินมาสู่จุดที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้…
จากเดิม “Mr. Wataru Kato” (วาตารุ คาโตะ) เจ้าของ Liberty Walk นั้น ก็เริ่มจากชีวิตวัยรุ่นทั่วไปนี่แหละ ตอนที่เขายังหนุ่มรุ่นๆ ก็เป็นช่วงยุค 80 ที่กระแสการแต่งรถแนว Bosozoku กำลังมาแรง แน่นอนว่า มันจะต้องเป็นรถแนว “Retro” ในสมัยนี้แหละ เขาก็เป็นคนที่ชอบแต่งรถ ก็ทำกันใน Shop Used Car ของ Kato เองนั่นแหละ ซึ่งเขามีไอเดียที่แปลกๆ สุดเวอร์วัง และ “บ้าคลั่ง” ในหลายหน ส่วนใหญ่ก็เอารถมือสองที่ขายไม่ออก หรือขายไม่ได้ราคา มา “ยำ” กันให้แซบลิ้น เรียกว่าจากรถเดิมๆ กลายเป็นรถแต่งสุดจ๊าบบบบ เพราะสไตล์ของ Kato เอง ก็สืบสานมาจาก Bosozoku เต็มระบบอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาทำให้เป็นสไตล์ที่ตัวเองถนัด พรรคพวกเพื่อนฝูงรู้ว่า “ไอ้นี่แม่งทำรถสวยว่ะ” ก็เอารถมาให้ Kato ลงมือ “เฉือน” เพราะแน่นอนว่า “รถต้องใส่ล้อใหญ่ๆ กว้างๆ ลึกๆ” มันก็ติดซุ้มล้อเดิม จึงต้องตัดและ “ใส่โป่ง” ก็อารมณ์ออกมาประมาณนี้…
- พาร์ท LB ในสไตล์ “MINI R35” ออกมาเป็นยังไงก็น่าลุ้น แต่ด้วยความที่ COPEN เป็นรถขนาดเล็ก พาร์ทจึงต้อง “พอดีคำ” ไม่ใช่ใหญ่เวอร์อลังการจนทำให้ความ “น่ารัก” ที่เป็นทุนเดิมของมันเสียไป วัสดุจะเป็น FRP เว้นแต่รุ่น Limited ต่างๆ จะเป็น Dry Carbon ซึ่งเนื้องาน FRP ของ LB นั้น เรียบเนียนจริงๆ ไม่ต้องโป๊สี ใส่ได้เลย
- เจาะใส่ Side Skirt อันนี้สำคัญ เพราะถ้ามันผิดจุดเพียงชิ้นเดียว ที่เหลือมันจะ “ผิดหมด” นะครับ
- เริ่มแรกด้วยการ “แปะเทปกาวกระดาษ” (Masking Tape) เพื่อ “ลากเส้นกำหนดการตัดซุ้ม” แล้วจะ “เจาะรู” ตาม Alignment
หรือระยะที่กำหนดไว้ โดยยึดถือจาก Spec Sheet ที่ LB ให้มาเป็นหลัก เพื่อป้องกันการผิดพลาดอันนำมาซึ่งการแก้งานที่ปวดกบาลทีหลังได้
- เออว่ะ…พอใส่แล้วมัน “ไปกันได้” นะ พวกนี้ต้องออกแบบและวิเคราะห์กันมาก่อนแล้ว ว่ามันต้อง “ไม่ออกทะเล”
โดยพิจารณาถึงเส้นสายของรถแต่ละรุ่นเป็นหลัก ไม่ใช่ว่ารถทุกรุ่นจะใส่หน้า GT-R แล้วต้องสวยเสมอ
- ดูเผินๆ นึกว่า “รถโมเดล” เลยนะ
- ชุดกันชนหลัง ก็สไตล์ GT-R เพราะถ้าดูกันจริงๆ เส้นสายด้านหลัง COPEN ก็มีส่วนคล้าย GT-R อยู่เหมือนกัน เลยจับมา “สะเวิ้บ” กันได้
ไม่บ้า…มาไม่ได้…
ต้องบอกอย่าง บุคลิกของ Kato เอง ก็แสดงออกถึงความ “บ้าคลั่ง” อย่างชัดเจน จากรอยยิ้ม สีหน้า แววตา เวลาอยู่กับเหล่า Liberty Walk Car ตาม Car Show Event ระดับบิ๊กเบิ้มทั้งหลาย ความบ้านี้หมายถึง “ทุ่มเทกับสิ่งที่รัก” และทำให้เขามีภาพ “ติดตา” จากการแสดงออกกับสาธารณชน เป็นเอกลักษณ์ของเขา ซึ่งดูจะตรงข้ามกับ “Kei Miura” แห่ง “กระต่ายจรวด” ที่ออกแนวนิ่งขรึม ตรงนี้วัดกันไม่ได้ เพราะมันเป็น “อัตลักษณ์ของบุคคล” แต่ทั้งคู่ก็แสดงออกถึงความบ้าคลั่งผ่าน “ชุดพาร์ท” แน่นอนครับ ว่า “ไม่บ้า…มาไม่ได้” เพราะถ้าอยู่แต่ในกรอบ ไม่ยอมออกมานอกกรอบบ้าง ก็คงจะไม่มีแรงผลักดันจนมาถึงขั้นนี้แน่ๆ…
MURCIELAGO จุดเปลี่ยนชีวิต แต่ GT-R เปลี่ยนโลก !!!
ในตอนนั้น Kato ก็ทำรถ Retro ยอดฮิต อย่างเช่น SKYLINE Ken & Mary หรือจะ Hakohsuka มันเหมือนเป็น Traditional ของสาย Bosozoku อยู่แล้ว และจู่ๆ ก็เหมือน “บุญหล่นทับ” ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะเพื่อนเขาคนหนึ่ง มี LAMBORGHINI MURCIELAGO (มูร์เซียลาโก) และมาให้เขาทำโป่ง ตอนนั้นก็ถือว่า “ไม่ปกติ” ใครจะบ้าเอา Super Car สุดแพงมาแหกหั่นโป่งเล่น คนปกติแม่งไม่ทำแน่ๆ “รวยอย่างเดียวไม่พอ” ต้อง “บ้า” ด้วย และเพื่อนคนนี้ก็ “ลาโลก” ไป ทิ้งเจ้า “มูร์เซีย” คันนี้ให้กับ Kato เลยเป็นจุดกำเนิดในด้านการทำ Super Car และเป็นจุดดันแบรนด์ Liberty Walk ขึ้นมา…
แต่ตอนนั้นตลาดมันยังเล็ก ก็อย่างที่บอก “ใครจะกล้า” เอารถพวกนี้มาใส่โป่ง ยอมให้ตัดเจาะรถ ก็ต้องย้อนถามตัวเองว่า ถ้าเป็นเจ้าของ Super Car จะยอมให้ทำแบบนี้ไหม ??? อีกอย่าง มูร์เซียลาโก รถมันก็มีน้อย ไม่เหมือน GALLARDO ที่มีเยอะกว่า แต่ว่าพอทำออกมาแล้ว ออกงานโชว์ คนก็เห็นว่ามันสวย “บ้าดี” มันถึงจะเป็นกระแส แต่ตัวที่ “เปลี่ยนโลก” และดัน LB ให้สู่จุดพีค ก็ต้องขอบคุณ “ก๊อดซิลล่า” เจ้า NISSAN GT-R R35 ที่ให้ Kato ได้บรรเลงฝีมือลงในชุดพาร์ท ข้อดีของ GT-R ก็คือ มันเป็น World Wide รถมันมีเยอะอยู่ทั่วโลก และตัวรถมันก็ไม่ได้แพงเวอร์เหมือน Super Car ทั้งหลาย คนที่กล้าทำ มันจึงมีเยอะ และนี่เอง เป็นจุดที่ดันให้ Liberty Walk โด่งดัง และพอเห็นผลงานแล้ว เหล่า Super Car ทั้งหลายก็เริ่มมั่นใจให้บรรเลง จนเป็นกระแสโลกในปัจจุบัน ทำให้ Branding ของ Liberty Walk นั้นชัดเจนสำหรับ Super Car ระดับโลก นี่ก็เป็นตำนานการเดินทาง “ก้าวสู่อิสรเสรี” แบบคร่าวๆ นะจ๊ะ…
- ลักษณะของ “เส้นร่าง” ที่เขียนขึ้นมา ก่อนจะลงมือหั่น
- เรื่องของ “ความโตดอกสว่าน” อันนี้ก็โคตรสำคัญในแบบที่คนทั่วไปไม่คาดคิด ขนาดดอกสว่านต้อง “ตามสเป็ก” เพราะจะมีขนาด “นอตยึด” และ “รีเวทนัท”
ที่กำหนดมาแล้วว่ามันต้องใช้ด้วยกันได้พอดี อย่างกำหนดไว้ขนาด M6 ต้องใช้ดอกสว่านโตเท่านี้ ไม่มีการหยิบดอกสว่านอะไรก็ได้มั่วๆ มาเจาะเด็ดขาด
เพราะถ้าเจาะรูใหญ่เกินไป ตัวรีเวทนัทจะติดไม่ได้ ถ้าเล็กเกินไปก็ต้องมา อัด คว้าน ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง
- ความโค้ง Curve ต่างๆ “ต้องได้” ตามสเป็ก อันนี้สำคัญ เพราะการออกแบบพาร์ทหรือของแต่งอะไรต่างๆ ที่ดี จะต้อง “ไม่เบียดบังการใช้งานของตัวรถ”
โดยเด็ดขาด ทุกอย่างต้องใช้ได้เหมือนเดิม
- เครื่องมือสำหรับยิงรีเวทนัทติดกับชิ้นงาน
- รีเวทนัท จะเป็น “ถ้วยเกลียว” ยึดติดกับชิ้นงาน ไม่ต้องใช้เกลียวปล่อยหรือนอตร้อยตัวผู้ตัวเมียอะไรทั้งสิ้น
ถ้าอยากเห็นภาพชัด ลอง Search ในเนตดูละกัน รับรอง “อ๋อ” แน่ๆ
ก่อนใส่ ต้องพิจารณาอะไร “ก่อน” !!!
ตอนนี้เรามาพูดถึงเรื่อง “พื้นฐาน” การเล่นกับรถมีโป่ง โดยปกติเจ้าของรถก็จะบอกช่าง “ผมอยากได้โป่งทรงนั้นทรงนี้” แต่น้อยคนที่จะบอกให้ชัดเจน ว่า “ต้องการออกมาเท่าไร” แล้วก็ไป ตอนนี้แหละที่ “ช่างปวดกบาล” เพราะไม่รู้ว่าจะออกมาเท่าไรดี ช่างก็ต้องทำตามที่เขา “คาดว่า” จะสวย หลายครั้งที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างเจ้าของรถกับช่าง ก็เห็นจะเป็น “ดราม่า” กันบ่อยๆ อันนี้ถ้าใครจะ Custom โป่ง เจ้าของรถเองจะต้อง “ทำการบ้าน” ประมาณนี้ก่อนครับ…
< ล้อคือทุกสิ่งอย่าง : อันนี้สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ “กำหนดทุกสิ่งอย่าง” คุณจะต้องเลือก “ขนาดล้อ” ที่ต้องการให้ได้ก่อน และ “ก่อนที่สุด” เพราะการ Fitment โป่งนั้น จะต้องยึดถือจากล้อเป็นสำคัญ จะสวยไม่สวยก็ตรงนี้แหละ ใส่ล้อแล้วก็ติดโป่ง จะตัดจะหั่นอะไรก็เอาที่ล้อและยางเป็นหลัก ไม่ใช่ทำโป่งอย่าง ล้อมาอีกอย่าง มันจะกลายเป็นตลกๆ ไม่ลงตัว แล้วก็ต้องมาแก้กันอีก อย่าลืมว่า การแต่งรถจะเริ่มจากล้อก่อนเป็นอย่างอื่นนะครับ…
< เลือกสไตล์โป่งที่เราชอบ ได้แล้วอย่าเพิ่ง “สั่ง” : ไม่ว่าคุณจะชอบโป่งแบบไหน จะสำเร็จรูปของแท้ๆ หรือ Custom ขึ้นมาเอง จะต้อง “ทำโจทย์” ที่แน่ชัดมาให้ได้ก่อน โดยพิจารณาจากรถที่จะทำด้วย เพราะโป่งบางอย่าง บางทรง มันอาจจะเหมาะกับรถทรงนี้ แต่ไปใส่อีกทรงมันอาจจะ “ออกทะเล” ไปเลยก็ได้ พูดง่ายๆ คือ “คุณต้องรู้รูปทรงรถหลังจากที่ใส่โป่งออกมาก่อนจะทำ” เดี๋ยวนี้ร้านที่ทันสมัยก็จะมีโปรแกรม Auto Cad ทำแบบให้ดูก่อน อันนี้ดีครับ เพราะคุณจะได้เห็นภาพจริงเลยว่า ทำออกมาแล้วจะท่าไหน ไม่ลงตัวก็แก้ใหม่ อย่าเพิ่งผลีผลาม อีกอย่างต้องกำหนดเรื่อง “ขนาด” ให้ได้ด้วย เอาเป็นว่า คุณมีดีไซน์อยู่ในใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นตอนการสั่ง เพราะคุณยังขาดขั้นตอนสำคัญด้านล่างนี้อยู่…
ออกแบบโดยคำนึงถึง “สไตล์ของตัวรถ” เป็นหลัก
สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจหลัก คือ “การออกแบบ” สไตล์การออกแบบพาร์ทก็ย่อมแตกต่างกันออกไป เหมือนลักษณะ Tailor Made เพื่อตัดชุดให้เหมาะสมกับรูปร่างและบุคลิกของแต่ละคนที่ “มีความต่าง” กัน ทาง LB จะออกแบบเพื่อให้ “ลงตัว” กับรถในรุ่นนั้นๆ โดยคำนึงถึง “การขับขี่” เป็นหัวใจสำคัญ “รถที่ติดโป่ง LB ไป จะต้องขับขี่ได้โดยไม่มีสิ่งบั่นทอนสมรรถนะของรถ” รวมถึง “ความสวยงาม” ซึ่งพอออกแบบมาได้จุดลงตัวแล้ว ก็ “เปิดตัวผลิตภัณฑ์” เพื่อให้ลูกค้าได้รู้ก่อนว่า รถตัวเองมันจะออกมาท่าไหน ซึ่งก็ดี เพราะลูกค้าจะตัดสินใจได้โดยไม่มีข้อกังขา…
สรีระพื้นฐานของรถ มีผลมากกับการออกแบบ
รถที่ LB มีทำพาร์ทออกมา มันก็มีหลายรุ่น หลายแบบ ตั้งแต่ รถขับหน้า รถขับหลัง ไปยันระดับ Super Car แน่นอนว่า สไตล์การออกแบบของรถแต่ละแบบก็ย่อมต่างกันออกไป แบบที่คนทั่วไป “เข็มขัดสั้น” แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว จะรู้ว่ามันมีผลมากจริงๆ…
< รถขับหน้า : อย่างที่ LB มี ก็เช่น MINI COOPER ซึ่งสรีระของรถขับหน้านั้น จะแตกต่างจากรถขับหลังโดยสิ้นเชิง หลักการของรถขับหน้า คือ “สรีระด้านหน้ากับด้านหลังจะมีความกว้างที่พอๆ กัน” เพราะรถขับหน้า โดยมากเป็นรถขนาดเล็ก (ที่เล่นๆ กันอะนะ) และยังอิงทรง “ซีดาน” อยู่ และพลังของเครื่องยนต์ไม่มากนัก เพราะฉะนั้น การออกแบบโป่ง จะต้องดูให้กลมกลืนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่ใช่เป็นแบบ “รถหัวโต” หรือ “รถตูดบาน” ทั้งนี้ รถขับหน้าจะใช้ “ขนาดล้อที่เท่ากัน” เป็นธรรมชาติ จะไปใส่ “หลังกว้างกว่าหน้า” แบบรถขับหลังก็คงผิดหลักไปหน่อย ซึ่ง LB จะไม่สร้างโป่งล้อหน้าให้ใหญ่เกินไป เพราะถ้าอย่างนั้น โป่งหลังก็ต้องใหญ่ตาม ล้อหลังก็ต้องใหญ่ขึ้นมากๆ กลายเป็นการผลักภาระให้กับรถเพิ่มเติมโดยใช่เหตุ…
< รถขับหลัง : อันนี้เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ว่า “หลังต้องใหญ่กว่าหน้า” เพราะล้อหลังมีขนาดใหญ่กว่า สำหรับรับพลังจากเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพลังมหาศาลในระดับ Super Car จึงสามารถทำโป่งหลังใหญ่ได้ ตัวรถเดิมๆ ก็จะออกมาแนวๆ นั้นอยู่แล้ว เลยทำเป็นลักษณะนี้ได้สบาย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องกลมกลืนกับด้านหน้า ไม่ใช่ตูดบานอย่างเดียวก็ไม่เหมาะ เพราะทรวดทรงต่างๆ มันมีผลต่อเนื่องกันรอบคัน ตั้งแต่ด้านหน้า ไปยังสเกิร์ตข้าง ไปโป่งหลัง ไปหางหลัง ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน…
เรื่องล้อที่ไม่ “ล้อเล่น”
อย่างที่บอกไป ล้อเป็นการกำหนดทุกสิ่งอย่างในส่วนของการใส่โป่ง ก็เรื่อง “Fitment” ไงล่ะครับ ทาง LB จะมี “สเป็ก” ล้อมาให้เลย ว่ารถรุ่นไหน จะใช้กับล้อ “ขนาด” และ “ออฟเซต” เท่าไร ซึ่งลูกค้าก็สามารถเลือก “ลาย” และ “สี” ได้ตามชอบ แต่ขอให้เลือกสเป็กถูกต้องตามที่ LB กำหนดมาก็แล้วกัน อาจจะมี “บวกลบ” นิดหน่อยพอไหว เพราะล้อมันรอง Spacer ได้ พวกรถขับหลังหรือ ขับสี่แบบ GT-R ที่มีล้อหลังใหญ่กว่าด้านหน้า ก็คงไม่เป็นปัญหา เพราะออกแบบโป่งมารองรับล้อใหญ่อยู่แล้ว และอย่างที่บอก รถพวกนี้จะมีแรงม้าเยอะ แถมยังโมดิฟายเพิ่มอีก จึงสามารถขับเคลื่อนล้อใหญ่ๆ ยางโตๆ ได้…
แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ “รถขับหน้า” ซึ่งปกติแล้วจะต้องใส่ล้อขนาดเท่ากันทั้งหมด แต่ด้วยพื้นฐานดั้งเดิม รถขับหน้าจะมี Track หรือความกว้างฐานล้อหน้าที่กว้างกว่าฐานล้อหลังอยู่บ้าง เพื่อให้รถควบคุมได้ง่ายขึ้น ทางออกของ LB ก็คือ “ใส่ล้อขนาดเท่ากัน แต่ต่างออฟเซตกัน” ออฟเซตล้อหลังจะ “บวกน้อย” กว่าล้อหน้านิดหน่อย เพราะต้องการให้ออกมาเสมอกันพอดี ที่ไม่ใส่ล้อหลังใหญ่กว่า นอกจากจะผิดหลักแล้ว ยัง “เพิ่มภาระให้กับเครื่องยนต์และช่วงล่าง” โดยไม่จำเป็น…
และอีกประการที่หลายคนมองข้าม คือ “การเลี้ยว” ล้อหลังไม่ค่อยมีปัญหาหรอก จะมีก็ล้อหน้านี่แหละ ถ้าใส่ล้อใหญ่เกินไป หรือออฟเซตเพี้ยนไป เวลาเลี้ยวสุดก็จะ “ติด” ถ้าล้อหุบเข้าในก็ติดช่วงล่าง ถ้าล้อยื่นออกมามากเกินไปก็ติดโป่งอีก ทำให้ไม่สามารถเลี้ยวสุดได้ จะต้อง “กั๊ก” ไว้ ทำให้เลี้ยววงแคบไม่ได้ จะสร้างปัญหาขณะขับขี่ได้มาก ถ้าถามทาง LB บอกเลยว่า “ไม่แนะนำ” นี่แหละเป็นเหตุที่ทำไมต้องกำหนดออฟเซตและขนาดล้อให้เหมาะกับรถแต่ละรุ่น และรถแต่ละรุ่น ซึ่งทาง LB ก็มีการทดสอบออกมาแล้วว่าอันไหนเหมาะสุด ก็ใช้สเป็กตามเขาเถอะครับ เพราะเขาทดสอบมาให้แล้วว่า “ไม่มีปัญหาในการขับขี่” ครับ ส่วนเรื่องของการเลือกลายล้อ สีสัน อันนี้สามารถ Decorate ตามชอบได้เลย…
- เริ่ม “หั่น” ตามเส้นที่กำหนดไว้
- เลื่อย Jigsaw สังเกตว่ามันจะมีคล้ายๆ “ตัวยูคว่ำ” (ดูให้มันเหมือนหน่อยละกันนะ) จะเอาไว้เผื่อสำหรับ “ทาบชิ้นงาน” แล้วค่อยๆ ลากเลื่อยตัดงานไป
เพื่อความ “นิ่ง” เพราะถ้าปล่อยมือจับลอยๆ โอกาส “แกว่ง” มีสูง (แต่จะทาบหรือไม่ก็อยู่ที่ชิ้นงานด้วยนะครับ)
- ชิ้นส่วนที่ตัดออกมาแล้ว ปกติทาง Infinite จะ “คืนลูกค้า” เพราะบางทีอาจจะเปลี่ยนใจ “ทำกลับ” แต่จริงๆ แล้ว
คงไม่มีใครทำกลับหรอกครับ เพราะทำไปแล้วมาทำกลับเดิมๆ มันยากและเสียเวลา เสียเงินโดยใช่เหตุ
- เรียบร้อยแล้วก็ “ยึดโป่ง” แล้วดูระยะอีกทีว่ามันใช่หรือไม่ แต่โดยมากถ้าทำตาม Spec Sheet จะไม่มีอะไรผิดพลาด พาร์ทแท้
การผลิตจะแม่นยำ การเข้ารูปต่างๆ จะเหนือชั้นกว่าอย่างชัดเจน
- พอเราใช้รีเวทนัท แล้ว การขันหรือถอดนอตจะทำได้ง่ายและรวดเร็วมาก และไม่เสียชิ้นงาน คนเดียวก็สามารถทำได้ง่ายๆ
มีค่า “อ้างอิง” ในการ “เฉือนนนนน”
สำหรับสไตล์การติดตั้งโป่งของ LB นั้น จะมีแนวทางที่ “ชัดเจนสุดๆ” ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ผลิต ของ “ตรงรุ่น” กับบอดี้นั้นๆ เพื่อ “มิติที่กลมกลืน” ไม่ได้เอาใหญ่ๆ เวอร์วังอย่างเดียว รวมถึงการ “กำหนดข้อมูลตัวเลขในการติดตั้ง” ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายอย่าง “ชัดเจน” ซึ่งทางตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จะมีข้อมูลตรงนี้มาให้ (ทาง LB ขอสงวนสิทธิ์ ไม่เปิดเผยข้อมูลนี้สู่ภายนอก จะมีเฉพาะตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการเท่านั้น) ซึ่งทางทีมช่างฝีมือสามารถ “เฉือน” ได้ตามค่าอ้างอิง (Reference) ที่เป็น Official จาก LB จะได้ไม่ “เพี้ยน” รวมถึงขั้นตอนการติดตั้งต่างๆ ทุกอย่างต้องตามค่าอ้างอิงทั้งหมด โดยมีขั้นตอน ดังนี้…
< การตัดตัวรถ : ขั้นตอนนี้มันช่างจะ “ทำร้ายจิตใจ” ของผู้เป็นเจ้าของรถอย่างแน่แท้ อย่างที่บอกว่า การตัดที่ตัวรถ จะต้องทำตามข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น ระยะการตัด ทรงการตัดของรถแต่ละรุ่นนั้นไม่เหมือนกัน จะต้องอ้างอิงตามสเป็กของรถแต่ละรุ่น เพื่อให้ออกมาตามกำหนด ไม่ใช่ตัดตามใจชอบ เดี๋ยวจะเว้าๆ แหว่งๆ ออกมาไม่งดงาม เรียกว่าช่างดู Spec Sheet แล้ว Mark ที่ตัวรถตามที่กำหนด ก็ทำตามได้ทุกคน พวกนี้มีระยะ “การตัดเผื่อ” ในขณะที่ช่วงล่างทำงาน เวลายุบสุดต้องไม่ติด เพราะล้อใหญ่กว่าเดิมเยอะนะ อย่าลืม…
< บางรุ่นก็ไม่ต้องตัด : ถ้าเป็นสาย “กระทิง” หรือ “ลัมโบร์” ที่สามารถเปลี่ยนโป่งล้อได้ทั้งชิ้น (โดยมากรถทั่วไปจะเปลี่ยนด้านหลังไม่ได้) ก็ไม่ต้องตัดของเดิม เปลี่ยนยกชิ้นได้เลย…
< การเก็บขอบคม : เมื่อตัดแล้วก็ต้องเก็บงานก่อน การเก็บรอยคมก็จะเน้นหน่อย เพราะแม้มันจะไม่เห็น แต่เราไม่ต้องการที่จะให้มันไป “หั่นมือ” ใคร จบด้วยการ “พับขอบ” ให้คล้ายๆ กับของเดิมโรงงาน เพื่อไม่ให้มีส่วนคม และ “เพิ่มความแข็งแรง” กว่าปล่อยไว้เฉยๆ…
< ระดับการติดตั้งโป่ง : สำหรับชุดโป่ง LB นั้น จะผลิตจาก FRP หรือ Fiberglass Reinforce Plastic ที่มีการ “ยืดหยุ่น” ได้ เรียกว่าเนื้องาน “โคตรเนียน” ก็ไม่แปลกว่าทำไมมันถึง “แพง” ระดับการติดตั้งโป่งก็มีความสำคัญสูงสุด เพราะมันคือการ “กำหนดทรงรถ” โดยตรง นอกจากโป่งแล้ว มันยังสัมพันธ์กับ Part รอบด้าน ตรงนี้ผิดพลาดไม่ได้แน่นอน ถ้าพลาดคือเสียทรงเลย นอกจากนี้ ของ LB ยังมี “ซีลยาง” เอาไว้อุดช่องว่างระหว่างโป่งกับตัวถัง ซึ่งเป็นของ “เฉพาะทาง” ที่ LB สั่งทำขึ้นมา มันจะเป็นขนาดที่เหมาะสมพอดีจริงๆ ทำให้งานติดตั้งเรียบร้อยและแน่นหนาขึ้นมาก…
- ทรงมาแล้ว GT-R น้อย
- ประกอบเสร็จก็ “ส่งทำสีจริง” หรือจะตามแฟชั่น ทำง่ายๆ รวดเร็วทันใจ ก็ต้อง WRAP ICON สรรสร้างลวดลายตามใจหวัง
Special Tips for Fender Install
< ใช้ “รีเวทนัท” เป็นตัวยึดโป่ง : เราจะไม่ใช้ “สกรูเกลียวปล่อย” ในการยึดเด็ดขาด เพราะนอกจากจะดูไม่งาม ไม่แน่นหนา พอสักพักรูนอตก็จะ “บาน” ออก ทำให้การยึดนั้นทำได้ไม่มั่นคง มีโอกาสทำให้โป่งบิดเบี้ยว หรือ “หลุด” เวลาขับเร็วๆ ได้ ทาง LB จะใช้การยึดโดยตัว “รีเวทนัท” หรือ Rivet Nut (ลองดูตามรูปนะครับ เน้นย้ำ “ไม่ใช่การยิงรีเวทแบบหาง” ที่เราเห็นทั่วไปโดยเด็ดขาดนะครับ “คนละเรื่องกัน”) เป็นเหมือน “ถ้วยเกลียว” แล้วใช้เครื่องมือยิงติดแน่นกับตัวถังก่อน แล้วเอา “สกรูหัวเห็ด” ที่มีความสวยงาม ขันยึดโป่งเข้าไปอีกที เรียกว่า “ง่าย” และ “เร็ว” ทั้งถอดและใส่ สามารถทำคนเดียวได้เลย นอกจากจะสะดวกแล้ว ยังดูเรียบร้อยสวยงามอีกด้วย…
< สร้างแผ่นซุ้มด้านใต้โป่งขึ้นมาใหม่ : อันนี้ถือว่าเป็น “ไฮไลต์” ของทาง Infinite Motorsport ไทยแลนด์ เพราะเล็งเห็นถึง “ปัญหา” ของรถมีโป่ง เนื่องจากช่องว่างระหว่างซุ้มล้อเดิมกับ โป่งใหม่ ตรงนี้มันจะกลายเป็นที่สะสมของสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เวลาฝนตก มันจะดีดไปติดค้างไว้ตามมุมลึกๆ ในๆ ซึ่งบางทีการเคลียร์ออกทำได้ยากและไม่หมด เพราะรถพวกนี้ล้อใหญ่ และ “เตี้ย” แถม Fitment ก็ “แนบชิด” บางทียก Air Sus แล้วก็ยังล้วงไปไม่ถึง สะสมมากๆ ทำให้เกิด “สนิม” ถามหาได้ ซึ่งถนนบ้านเราก็โคตรสะอาดอยู่แล้วด้วย นี่แหละเป็นปัญหาของรถเมืองไทยเลยละ (ขนาดซุ้มเดิมๆ ยังล้างกัน “งิด” เลย) ก็เลยทำ “แผ่นบังซุ้ม” ขึ้นมาใหม่ เพื่อยึดปิดช่องว่างที่ว่า ทำให้สิ่งสกปรกไม่ดีดเข้าไป ตัวแผ่นนี้ทำจาก “อะลูมิเนียม” ปลอดสนิม และ “แข็งแรง” กว่าใช้พลาสติกหรือไฟเบอร์ ด้านบนจะทำ “เว้าเผื่อ” เวลารถยุบตัว ส่วน “ยอดบนสุดของยาง” จะได้ไม่ไป “โดน” ทำให้หลุดและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง (ลองคิดดู ถ้าหลุดออกมาตอนความเร็วสูงๆ ละ มันคงบด เหวี่ยง ขยี้ Ship หายหมดนะ) ซึ่งการยึดก็จะใช้รีเวทนัทเหมือนกัน อีกอย่างไอ้แผ่นนี้จะหุ้ม “สักหลาดดำ” เกรดเดียวกับที่ใช้ในแผ่นซุ้มล้อรถเดิมโรงงาน เพื่อให้ดู “เนียน” เหมือนรถเดิม และหุ้มสักหลาดจะช่วยเรื่อง “ซับเสียง” และ “ลดเสียงหินดีดกระเทาะ” ได้มากทีเดียว อันนี้ทาง LB Japan ไม่ได้ทำมาให้ เพราะเข้าใจว่าถนนในญี่ปุ่นมันเรียบและไม่ได้สกปรกซกมกเหมือนบ้านเรา (โลกสวยไปห่างๆ นะ) แต่ทาง Infinite ก็ได้ทำไว้รองรับสำหรับรถเมืองไทยทุกคันที่เข้ามาติดตั้งพาร์ท LB นะครับ…
สวยรูป จูบหอม พร้อมซิ่ง
บทสรุปของพาร์ท LB หรือ Liberty Walk มันมีดีตรงไหน ??? กระแส ??? แห่ตาม ??? ถ้าจะพูดกันในด้าน “เชิงลึก” ก็จะพบว่า การออกแบบและผลิตพาร์ทขึ้นมา มันต้องมี “ขั้นตอน R&D” ต่างๆ มากมาย กว่าจะออกมาแต่ละรุ่นได้ ต้องทดสอบกับ “รถจริง” ว่าทำแล้วออกมาจะสวยไหม เพราะรถแต่ละรุ่นมันไม่เหมือนกันทั้งสิ้น ไม่ได้เอา “ใหญ่ไว้ก่อน” แต่มันต้อง “กลมกลืน” พอดี รวมไปถึงการทดสอบในรูปแบบต่างๆ ทั้งการขับทั่วไป รวมถึง “ความเร็วสูง” ว่ามันรองรับได้ไหม ตัววัสดุที่ทำพาร์ทเอง หรือความแน่นหนาในการติดตั้ง อันนี้สำคัญมาก เพราะรถระดับ Super Car ก็หวดกัน 300 km/h ++ แน่นอนอยู่แล้ว ต้องมี Safety Factor ขั้นสูง กว่าจะออกมาเป็นพาร์ทชุดหนึ่ง มันก็ไม่ง่ายแค่ที่ตาเราเห็นนะครับ…
Contact
Facebook : Infinite Motorsport
Tel. 08-3065-1654