เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
THE RX-73
PANDEM BOSS FD by MACTEC RACING & CMZ Rotary
โคตรซิ่งสะเทือนโลกันต์ กับขุมพลัง 26B Billet Incs. 600 PS !!!
ฉบับนี้จะ Twin Combo กันเลย กับผลงานของ CMZ Rotary กับ MACTEC RACING ซึ่งสองคนนี้ได้ร่วมมือกันทำรถแข่งกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (ถ้าเป็น Rotary นะ) ซึ่ง “ชัย CMZ” จะเป็นคนทำเครื่องและระบบโดยรวม ส่วน MACTEC จะ Support ในเรื่องอะไหล่และเซอร์วิสต่างๆ คันนี้เปิดหัวกันกับ “PANDEM BOSS FD” ที่มาใหม่ในกระแสโลกโซเชียลรถซิ่ง กับการ Face Off ด้วยการออกแบบเป็นหน้า SAVANNA RX-3 มาสะเวิ้บกันกับ EFINI FD ได้อย่างประหลาด จะเรียกว่าเป็น “RX-73” ได้ทันที ก็เป็นแนวคิดแหวกๆ สไตล์ “นามธรรม” (คือ “กูจะทำ” ไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น) ก่อนจะมาเป็น “รูปธรรม” เป็นเรื่องปกติของ “มิอุระซัง” เจ้าสำนัก TRA-KYOTO ที่โลกนี้รู้จักกันดี ส่วนเครื่องยนต์แน่นอนว่าเป็น 4 โรเตอร์ แบบ “Billet” ตัวแรกในเมืองไทยที่สั่งเข้ามาและจะใช้วิ่งจริง แค่นี้ก็แทบ “หลั่ง” (อะดรีนาลิน) แล้ว…
Quad Rotors Talks
สำหรับไม้เด็ดของคันนี้ จะเป็นการเตรียมเครื่อง “26B” 4 โรเตอร์ ที่รู้จักกันดีว่าเอา “แบบ” มาจากตัวแข่ง MAZDA 787B Le Mans อันลือชื่อ ซึ่งเป็นรถแข่งญี่ปุ่นเครื่องโรตารี่เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่ชนะการแข่งขัน Le Mans อันมหาโหด จริงๆ แล้วตอนนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการสำหรับเครื่อง 4 โรฯ หรือ Quad Rotor เพราะตอนนี้ก็ทำกันมากมายแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องโมดิฟายจากสำนักโรตารี่ดังๆ หลายแหล่ง เช่น อเมริกา หรือออสเตรเลีย แต่มันก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเครื่องโรตารี่ในแง่มุมแปลกๆ เหมือนกันนะ…
- เสียงเครื่อง 4 โรฯ มันจะ “ปี๊ด” แผดหวานมาก ได้ยินกับหูก็รถของ Mad Mike ที่มาดริฟต์ในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน เป็นจากจังหวะการจุดระเบิดที่ “ถี่” มาก ถ้าจำไม่ผิด ใน 1 รอบข้อเหวี่ยง จะจุดระเบิดไปถึง “12 ครั้ง” เท่ากับจุดระเบิดทุกๆ 30 องศา มันจึงให้กำลังได้สูงมาก และเสียงแผดซาบซ่านเร้าใจที่สุด ตอนนี้มีคนทำ 6 โรเตอร์ ขึ้นมา แต่ดูเหมือนจะมากเกินไป ก็เลยยังไม่เกิดเหมือน 4 โรเตอร์…
- การวางเครื่อง 4 โรฯ ใน RX-7 ก็จะต้องเผื่อน้ำหนักด้านหน้าที่มากกว่าปกติอยู่พอควร เพราะโรเตอร์ต่อยื่นมาข้างหน้า 2 อัน เท่ากับว่า “คูณสอง” จากของเดิม ความยาวมันก็น่าจะยาวกว่า SR แต่สั้นกว่า 2JZ กึ่งๆ ครึ่งควบลูกกันอยู่ ต้องเซตช่วงล่างหน้าใหม่ให้เหมาะสม และพื้นที่ด้านหน้าจะแคบลง…
- พูดถึงเรื่องของ “พอร์ต” อย่างคันนี้ก็เล่น “เจาะพอร์ตโต” หรือ PP (Peripheral Port) โดยการเจาะเข้าไปที่ “สันของ Housing” เลย ปกติถ้าเป็นพอร์ตเดิม จะเลื้อยเข้าด้านข้าง โดยเข้าจากพอร์ตตรง “สันแผ่นเพลท” แล้วเข้าด้านข้างโรเตอร์ แต่ PP Port นี่ “เจาะตรง” ยิงสดเข้าไปเลย แล้วอุดปิดพอร์ตเดิมทิ้ง แต่เรื่อง “องศาพอร์ต” ก็ต้องดูดีๆ ไม่ได้สักแต่ว่าเจาะ ต้องหาจุดที่โรเตอร์ “เริ่มเปิดการดูดอากาศ” เข้าไปอย่างถูกต้อง มันก็เหมือนกับการกำหนดองศาแคมชาฟต์นั่นเอง เพียงแต่โรตารี่ไม่มีแคมฯ มันใช้การหมุนของโรเตอร์เป็นตัวกำหนด ซึ่งก็จะกำหนดโดย “องศาข้อเหวี่ยง” เป็นสำคัญ…
- พวก Extend Port หรือ Bridge port เราไม่พูดถึง เพราะคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่อีกแบบที่อาจจะทึ่งกันก็คือ “Monster Port” อันนี้จะออกแนวๆ “ทะลุทะลวงบู๊ล้างผลาญ” เรียกว่ามีรูให้เจาะตรงไหน กูก็เจาะให้มันใหญ่ๆ แหลกลาญไว้ก่อน บางทีอาจจะไปโดนตาน้ำก็เชื่อมๆ แต้มเอา (แล้วแต่สำนักนะครับ) คือ “กูเอามันส์” จะทำกันดิบๆ โหดๆ ประมาณนั้น แต่บางที่ก็อาจจะทำดี อันนี้ก็แล้วแต่…
- สำหรับแผ่น Back Plate ที่กั้นห้องระหว่างโรเตอร์ หน้าที่มันก็เหมือนเสื้อสูบ มีช่องพอร์ต มีตาน้ำหล่อเย็น ของเดิมเป็นเหล็กหล่อ (Cast Iron) ปัญหาของมันต้องมี เพราะเครื่องเราไม่ได้เบิกใหม่ เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี มันก็ต้องมี “กร่อน” เป็นธรรมดา ปัญหาที่เจอบ่อยๆ ก็คือ “แผ่นเพลทบิด” ยิ่งโรเตอร์เยอะก็ยิ่งเจอ เพราะอะไรๆ มันก็ยาวและหนักขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะเล่นกันโหดๆ ก็นี่เลย “เพลทแบบ Billet” ก็เหมือนเสื้อสูบ Billet ที่สมัยนี้ CNC แบบกันมาได้แล้ว เพื่อให้เครื่องรับแรงม้าได้มหาศาลกว่าเดิมหลายเท่า วัสดุของเพลท Billet ก็จะเป็น “อะลูมิเนียม เกรด 6” ที่มีความแข็งแรงสูงมาก ดีกว่าเดิมเยอะ และมีการสร้างใหม่จึงแก้จุดอ่อนต่างๆ ได้แทบทั้งหมด แต่ก็มีราคาสูง ถ้ารักจะแรงก็ต้องยอม (หาตังค์) จ่ายค่าออฟมัน…
- คันนี้ใช้ชุด Billet ของ Billet Inc. ฝั่งอเมริกา ที่ “ชัย CMZ” บอกว่างานก็อาจจะไม่เนียนเป๊ะเท่าไร บางอย่างก็ต้องมีมาแก้กันเองเหมือนกัน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ งานของ PAC Performance ฝั่งออสเตรเลียนั้น “เนียน” กว่าเห็นได้ชัด อ้าว แล้วเอ็งซื้อมาทำไม ซึ่งได้คำตอบว่า “เลือกในด้านทางเดินน้ำเป็นหลัก” ของ Billet Inc. จะมีการสร้างทางเดินน้ำวนในเครื่องเหมือนสแตนดาร์ด แต่ทำให้ดีกว่า ซึ่งแบบนี้จะสามารถใช้ “วิ่งถนน” ก็ได้ หรือจะแข่งก็ดี แต่ของ PAC Performance จะเน้นทางน้ำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเน้นไปในทางแข่งขัน Drag Racing ที่ต้องการระบายเร็วในเวลาสั้นๆ มากกว่า อาจจะไม่เหมาะกับการขับบนถนน เพราะเจ้า BOSS คันนี้ ทาง MACTEC จะทำไว้วิ่งถนนด้วย ซิ่งสนามด้วย ก็เลยต้องเลือกเอาสิ่งที่ต้องการ…
- สำหรับ “โรเตอร์” ปกติแล้วเครื่อง 13B-REW ก็จะมี 3 สเต็ป คือ ของ FC3S กำลังอัดจะต่ำสุด ส่วน FD3S จะสูงขึ้นมาอีกนิด สองรุ่นนี้ก็นำไปใช้ในเครื่องเทอร์โบ แล้วแต่จะบูสต์เท่าไรก็เลือกเอากำลังอัดที่ชอบ แต่อย่าง 4 โรฯ คันนี้ เป็นเครื่อง N.A. แน่นอน ก็เลยเอาลูกโรเตอร์ของ RX-8 มาใส่ ซึ่งมันเป็น N.A. เหมือนกัน กำลังอัดจะสูงที่สุด อยู่ประมาณ 10 : 1 ซึ่งมันไปด้วยกันได้ ก็เอามาใช้พร้อมเปลี่ยน Apex Seal ของโมดิฟายใส่เข้าไปให้มันทนขึ้นแค่นั้นเอง…
- แรงม้าที่อยากได้ ก็จะอยู่ที่ “600 PS” !!! แบบ “แมนเต็มร้อย” (ไร้หอย) ถามว่ามันจะทำได้จริงเหรอ และถามต่อว่าทำไมจะทำไม่ได้ เพราะเครื่องโรตารี่ความจุ 654 x 4 โรเตอร์ เท่ากับ “2,616 ซี.ซี.” คูณด้วย 1.7 คิดเป็นความจุเครื่องลูกสูบ ก็ได้ “4,447 ซี.ซี.” ก็ 4.5 ลิตร พวกนี้หมุนเกินหมื่นรอบสบายๆ ทำไมมันจะปั่น 600 ม้าไม่ได้ ปั่นไม่ได้น่าจะแปลกกว่า ก็ต้องรอว่าเมื่อไร “องค์ลง” เราจะนำกราฟแรงม้ามาฝากกันแน่นอน…
Comment : MACTEC RACING
คันนี้ผมก็จะทำในแบบ Street Used สวยๆ ด้วยชุด PANDEM BOSS FD มันแปลกดี เพราะเป็นการนำแนว Retro อย่าง RX-3 มาประยุกต์ใส่ แล้วก็ทำเสร็จเรียบร้อยเป็นคันแรกๆ ในไทย จริงๆ ที่แต่งไปก็คงมีพาร์ทเป็นหลัก ไม่อยากใส่อะไรให้มันรกมาก อยากให้มัน “คลีนๆ” ตามแบบฉบับของมัน ภายในต้องครบ มีแอร์ แต่เป็นเครื่อง 4 โรเตอร์ ที่เป็น Billet เครื่องแรกที่สั่งเข้ามาในเมืองไทย และต้องเป็นคันแรกที่สามารถ “เปล่งเสียงได้” ที่ชอบเสียง เพราะมันเร้าใจมาก เสียงมันแผดๆ ใสเนียนเหมือน Super Car อย่าง FERRARI ประมาณนั้นเลย เราทำให้มันสามารถขับถนนได้ด้วย ซิ่งได้ด้วย เน้นเอามันส์ครับคันนี้ ต้องรอดูตอนเครื่องเสร็จว่าจะเป็นยังไง…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ก็ดูแปลกๆ ไปอีกแบบ เพราะที่เห็นในรูปมันก็ฮือฮาดี พอเห็นตัวจริงแล้วก็แปลกตา เพราะคงไม่มีใครทำแน่ๆ นอกจากไอเดียบรรเจิดของ Miura คันนี้ดูเรียบร้อยสะอาดตาดีครับ ส่วนห้องเครื่องที่ไม่ได้เน้นมาก เพราะไม่นานจะ “ยกออก” แล้วยัด 4 โรเตอร์ เข้าไปแทน ต้องรอดู “ตอนจบ” กันอีกที แต่คิดว่าระดับ MACTEC & CMZ ก็ไม่น่าจะทำให้แฟนคลับผิดหวัง…
X-TRA Ordinary
ทวนอีกที สำหรับคำว่า BOSS ในไลน์การผลิตของ Rocket Bunny/PANDEM ก็จะเป็นชุดพาร์ทที่เน้นการ Face Off สลับหน้าสร้างรัก ระหว่างตัวรถญี่ปุ่นยุค 90 กับหน้าตาของรถ Retro หรือ “Kyusha” (คิวฉะ) ซึ่งก็หมายถึงรถเก่ายุคไม่เกิน 80 อย่างเช่น SILVIA S14 ก็เป็นหน้า CAMARO Z/28 หรืออย่าง RX-7 FD หน้า RX-3 ประมาณนี้ ส่วนวัสดุในการทำพาร์ทของค่ายนี้ จะเป็น “ไฟเบอร์เกรดสูง” และถ้าเป็นของ PANDEM จะเป็นแบบ Double Layer Fiberglass เท่านั้น ไม่มีคาร์บอนไฟเบอร์แต่อย่างใด…
Tech Spec
ตัวรถ
พาร์ท : PANDEM BOSS FD
ภายใน
เกจ์ : VPD from UK
เกจ์วัดส่วนผสม : AEM A/F Ratio
พวงมาลัย : AIM Formula
เบาะ : RX-7 Type RZ Carbon Seat
หัวเกียร์ : USA
เครื่องยนต์
รุ่น : 26 B 4 Rotors by Billet Incs. ประกอบโดย CMZ Rotary
พอร์ต : Modify by CMZ Rotary
ชุดท่อไอดี : Custom Made by CMZ Rotary
โรเตอร์ : RX-8 Modify by CMZ Rotary
Apex Seal : Super Seal
เฮดเดอร์ : CMZ Rotary
หัวฉีด : Detchs Werks (DW)
หม้อน้ำ : CMZ Rotary
กล่อง ECU : Micro Tech LT-16c by Bung Tune Ver
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : OS Giken 5 Speed Close Ratio
คลัตช์ : TILTON 2 Plates
ลิมิเต็ดสลิป : CUSCO
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า–หลัง : BC V1
ล้อหน้า : BC Forged HC12 ขนาด 9.5 x 18 นิ้ว
ล้อหลัง : BC Forged HC12 ขนาด 10.5 x 18 นิ้ว
ยางหน้า : TOYO PROXES R888 ขนาด 265/35R18 นิ้ว
ยางหลัง : TOYO PROXES R888 ขนาด 275/35R18 นิ้ว
เบรกหน้า–หลัง : FRENDO
- หน้าตาของ BOSS FD RX-73 ตัวเป็นๆ กับล้อ BC Forged HC12 สีฟ้าฟรุ้งฟริ้ง “Sapphire Blue” ตัดกับสีรถอย่างน่าเอ็นดู ชุดเบรก FRENDO เต็มล้อ
- ไฟท้ายของแต่งอเมริกา เป็น Black Look LED สไตล์ “ลัมโบร์” พร้อม Diffuser รีดลมออกด้านหลัง
- แปลงหน้า BOSS RX-73 เป็นชุดคิตของ PANDEM ที่สามารถติดตั้งกับ RX-7 ได้อย่างพอดี มองมุมนี้ รถสีนี้ แล้วนึกถึง Katayama นักขับทีมโรงงาน MAZDA ตั้งแต่แจ้งเกิดจนลาจากโลกนี้ไป
- ภายในก็ขอแนว 90 เดิมๆ ครบๆ เพียงแต่หุ้ม Alcantara ตามสมัยนิยม เป็นธรรมดาของรถอายุ 20 กว่าปี ที่ภายในจะต้องหุ้มใหม่ (ถ้าไม่ใช่สายบ้าเดิมจริงๆ อันนั้นต้องไปเบิกของแท้มาใส่)
- เบาะ RX-7 Type RZ ที่แพงและหายากกว่าเบาะซิ่งอีก ณ ตอนนี้
- พวงมาลัย AIM Formula เน้นว่า “ใส่เอาตื๊ด” เป็นคันแรกในไทย ขับยากหน่อยแต่เท่ก็ยอมได้
- เกจ์วัดเปลี่ยนเป็นของแต่งแบรนด์ “อังกฤษ” VPD ดูแปลกตากว่าชาวบ้าน สไตล์ G-SHOCK เรือนไมล์บอกหน่วยเป็น 180 ก็จริง แต่เป็น mph หรือไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 288 กม.ต่อชั่วโมง !!!
- 10.เครื่อง 4 โรฯ ที่กำลังจะทำแล้ววางลงไป จาก Billet Incs. ที่มีข้อดีว่ามันเดินทางน้ำตามไลน์เดิม ทำให้สามารถขับบนถนนได้ (โดยไม่ลำบากชีวิตเกินไปนัก) ส่วน PP Port ก็เจาะ Housing ตามที่เห็นในรูปเลย ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าพอร์ตเดิมเยอะมาก ส่วนตัว Plenum ที่เป็นท่อลำเลียงไอดีสีเงินๆ ที่ท่านเห็น เป็นผลงานกลึง CNC บ้านเรา โดยการทำตามตัวอย่างของนอกที่สั่งเข้ามาแค่อันเดียว (เพราะแม่งแพง !!!) การเจาะพอร์ตก็ต้องดู “องศาโรเตอร์” ดีๆ นะครับ ต้องคนมีประสบการณ์สูง เพราะถ้าเจาะพลาดคือทิ้งเลย ส่วนกล่องเป็น Microtech LT-16c ตัวท็อป ข้อดีของมัน คือ “มันเกิดมาสำหรับโรตารี่” จะมี Startup file สำหรับโรตารี่โดยเฉพาะ คือ ใส่แล้วเครื่องติดได้แน่ๆ ไม่ต้องมานั่งคลำหาจุดกันมากมาย แล้วจะจูนอะไรก็ใส่ค่าลงไป