ย้อนอดีต – แชมป์รุ่นโอเพ่นยุคสนามพีระ : “สิงห์คะนองนา”

 

จาก XO Autosport Mag vol.13 (October 1997)
เรื่อง/ภาพ : โอฬาร ล้วนปรีดา

จากสไตล์การปรับแต่งทั้งตัวถัง และองค์ประกอบหลายๆอย่างที่ทำออกมาได้อย่างน่าแปลกใจจากการคิดค้นของสไตล์ “ช่างไทย” แฟนๆ จึงมอบชื่อให้กับขาประจำรุ่นโอเพ่น 2 ล้อ คันนี้ว่า “สิงห์คะนองนา” รถคันนี้เป็นของคุณธวัธชัย หรือที่รู้จักกันในวงการว่า ช่างอ๊อด บางปูอะไหล่ยนต์ เจ้าตำรับดีเซลเทอร์โบที่มีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน เริ่มต้นจากทุนที่จำกัดในการสร้างรถ Mazda Familia จึงถูกนำมาใช้เป็นบอดี้ ด้วยราคาเพียง 40,000 บาท เลยไม่เสียดายหากจะหั่นสับคว้านทุบ

จากนั้นก็เลือกเครื่องดีเซลที่มีพื้นฐานที่ดี แต่ CC ต้องสูง โดยได้นำเครื่องยนต์ของนิสสัน รหัส RD28 6 สูบ 2,800 cc. คว้านลูกสูบให้โอเวอร์ไซส์อีก 100 มิลลิเมตร (ประมาณ 3,000-3,500 cc. ละทีนี้) ก้านสูบสเปค R28 เทอร์โบ แต่งฝาสูบ และ ขัดพอร์ทไอดีไอเสียให้มีความลื่นขึ้น แต่งปั้มดีเซลให้แก่ขึ้นตามสูตรช่างอ๊อด (เปลี่ยนลูกปั้มเป็น 12-14 มิลลิเมตร) ซึ่งหมายถึงการเพิ่มรอบเครื่องยนต์ให้แรงขึ้นตามประสาเครื่องดีเซล (แต่บริโภคน้ำมันสุดยอด) เปลี่ยนหัวฉีดเป็นของ “หกล้อ” Isuzu ราคาประมาณ 2,000 บาท (ในยุคนั้น) และท้ายที่สุด ไม้ตายของเจ้าสิงห์คะนองนา ก็คือเทอร์โบของ “สิบล้อ” ช่างอ๊อดเลือกใช้ของ IHI รุ่น RHC 7 (ของฮีโน่) ตั้งบูสต์ไว้ที่ประมาณ 45-60 ปอนด์ (พี่อ๊อดแกบอกว่า 70 ปอนด์ยังได้ ดีที่เป็นดีเซล แต่ถ้าเบนซิน เครื่องกระจายไปตั้งแต่ปอนด์ที่ 16 แล้ว) พอกแคมชาฟท์ปรับองศาใหม่ ให้อยู่ที่ประมาณ 310 องศา

ต่อไปก็ต้องจัดการกับ Intercooler ที่สำคัญมากกับเครื่องเทอร์โบ ช่างอ๊อดใช้ Isuzu Rocky รุ่น 210 แรงม้า ใช้หม้อน้ำ 2 ตัว ตัวแรกอยู่หน้ารถ อีกตัวอยู่หลังรถ โดยใช้ท่อยางเชื่อม เฟืองท้าย Nissan Cedric อัตราทด 3.7 และมี Disc ในด้านท้าย ทำให้รถคันนี้เป็น Disc Brake 4 ล้อ โช้คอัพ Kayaba สีทองรุ่น Rally 4 ตัวแต่ยังใช้สปริงเดิม ล้อหลัง 8.5×15 นิ้ว ล้อหน้า 13 นิ้ว ในสนามหลังๆ (ที่ยังเป็นเวอร์ชั่นตัวถังเดิม สีขาวอยู่) ได้เพิ่มไนตรัสเข้าไปอีก ทั้งหมดนี้ม้าอยู่ที่ประมาณ 400 ตัว (ปี 1997)

ในยุคนั้นการปรับแต่งที่บ้าระห่ำขนาดนี้ ไม่ใช่แค่เลือกอุปกรณ์ที่แรงที่สุดมาใส่แล้วจะจบ แต่ต้องอาศัยทักษะที่มีประสพการณ์ บวกกับทฤษฏีที่ไม่อาจมองข้าม ทำให้การปรับแต่งที่อลังการขนาดนี้มาอยู่ในรถกระบะเล็กๆ คันนึงได้ ด้วยเทคโนโลยี “ยุคที่แล้ว” สิ่งนี้ถือว่าเป็น “ภูมิปัญญาไทย” ของจริง แม้ในขณะนี้ รถคันนี้ก็ยังคงเป็น “ตำนาน”

เรียบเรียง : McXO