เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่
อีกครั้งกับ SKYLINE GT-R R32 ยอดฮิตตลอดกาล ก็ต้องลงกันบ่อยๆ หากรถมัน “มีดี” ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ก็เป็นสไตล์ของ Souped up Special ที่จะต้องมี “อะไรสักอย่าง” ติดปลายนวมมาฝากกันทุกครั้ง อย่างคันนี้ก็เป็นแชมป์ในรุ่น Super 6 4WD เมื่องาน Souped up Thailand Records 2013 ด้วยสถิติเวลา “10.186 วินาที” (ล่าสุดในการจัดอันดับ Souped Up Thailand Records 2015 รถคันนี้เปลี่ยนมือมาเป็นรถของ ECU=SHOP จากนั้นก็เปลี่ยนกล่องเป็น ECU= SHOP OCTANE MAX 6 “กล่องคนไทยแท้ๆ” เครื่องสเต็ปเดิม เพิ่มหัวฉีด น้ำมัน E85 แล้วก็เอาไปวิ่ง ได้สถิติใหม่ ที่ 9.5 วินาที) รถก็เป็นสภาพเรียบๆ บ้านๆ แต่พกแรงม้าไว้ 930 PS โดยที่ใช้ข้อเหวี่ยงเดิม !!! มันจะทนไหวได้อย่างไร ทาง VER TECHNICAL มีเทคนิคอะไร รวมไปถึงการเซ็ตช่วงล่าง มุมล้อ และฝอยถึงลักษณะการขับของ “ปอนด์” RAM 77 ว่าเป็นอย่างไรในครั้งที่ผ่านมา แม้รถจะเรียบ แต่เนื้อหาไม่เรียบนะครับ รับรองได้…
สำหรับเครื่อง RB26DETT รู้กันว่า ใครอยากจะได้แรงม้าระดับ 900 PS ขึ้นไป จะต้องเปลี่ยน “ข้อเหวี่ยง” เป็น 2.8 ลิตร เพื่อให้แรงบิดเพิ่ม และสามารถทนแรงม้าระดับนี้ไหว แต่ตอนนี้จะมีกระแสการโมดิฟายแบบ “ข้อเหวี่ยงเดิม” แต่เบ่งแรงม้าได้ในระดับ 900 PS ++ อยู่หลายคัน ก็มักจะมีคำถามว่า “แล้วมันจะทนไหวหรือ” ซึ่งทาง VER TECHNICAL GARAGE ก็มีเทคนิคหลักๆ เช่น “คุมรอบไม่ให้เกิน 9,000 rpm” เพราะข้อเหวี่ยงเดิมหากหมุนมากกว่านี้ ก็จะเสี่ยงพังเร็วขึ้น แล้วข้อสงสัยต่อไป “ทำอย่างไรให้ได้แรงม้าที่ต้องการในรอบแค่นี้” ก็รู้กันอีกว่า มันควรจะต้องใช้รอบเครื่องสูงกว่านี้สำหรับเครื่อง RB26DETT คำตอบคือ “เพิ่มกำลังอัดให้สูงขึ้น” ให้ Response ตอบสนองเร็วในรอบต่ำลง แต่ต้องใช้ Racing Fuel โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการน็อก ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของ SPEED-D ที่จะต้องจัดการเรื่องส่วนผสมให้เหมาะ…
- 930 PS กับข้อเหวี่ยงเดิม มันต้องคิดกันเยอะหน่อย ซึ่งสไตล์นี้ก็มีทำกันอยู่หลายคัน มันเป็นความท้าทายที่ “ทำได้หรือเปล่า” ไม่เหมือนการซื้อชุด Stroker Kit มาใส่ มันแลดูง่ายไปหน่อย
เซ็ตช่วงล่าง มีผลต่อการเซฟเครื่อง ???
สำหรับการเซ็ตช่วงล่าง คันนี้จุดประสงค์คือ “ขับถนนจริง วิ่ง Drag ได้” ดังนั้น จึงต้องเซ็ตให้ลงตัวทั้งสองแบบ ดูจะยากกว่าการเซ็ตเป็นรถแข่งอย่างเดียวเสียอีก มันต้องเฉลี่ยทั้งความนุ่มนวล และออกตัวได้ดีอีก การเซ็ตช่วงล่างของคันนี้ จะเน้น “Bump นิ่ม Rebound หนืด” เพื่อให้รถยุบตัวง่าย แต่ยืดตัวช้า มันก็จะกดให้เกิด Traction บนหน้ายาง สามารถออกตัวได้แบบฟรีทิ้งน้อย ถ้ารถยุบตัวยาก แต่เสือกยืดตัวเร็ว อันนั้นขับไม่ได้ ไม่เกาะถนน และไม่มีโช้คอัพดีๆ ที่ไหนเขาทำอย่างนั้น เพียงแต่ยกตัวอย่างเฉยๆ ช่วงล่างด้านหลังก็เซ็ตมาแบบนี้ ส่วนช่วงล่างด้านหน้า ก็ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษไม่แพ้กัน เพราะรถ 4WD เวลาออกตัวล้อหน้าจะขับเคลื่อนด้วย และหน้าจะ “ยก” มาก (เหมือนรถขับหน้า) จึงต้องเซ็ตให้โช้คอัพหน้า Rebound หนืดมากกว่าด้านหลัง เพื่อดึงหน้าไม่ให้ยก รถก็จะมี Traction ล้อหน้าดีด้วย อีกประการหนึ่ง “เซ็ตช่วงล่างดี จะช่วยเซฟเครื่องได้ด้วย” เกี่ยวกันตรงไหน ??? ไอ้เรื่องนี้ถ้าคิดต่อล่ะ “อ๋อ” เลย เมื่อหน้ายกมาก มันจะมีผลเสียกับ “ระบบน้ำมันเครื่อง” ที่จะกระฉอกมาด้านหลังมาก ทำให้น้ำมันเครื่องขาดตอน นี่แหละครับที่จะทำให้เครื่องพังได้ หนทางแก้ นอกจากจะขยายแคร็งค์ เปลี่ยนชุดกันกระฉอกภายในแคร็งค์ที่มีขายกันอยู่ (หรือจะทำเองก็แล้วแต่) ท้ายสุด หากเราทำให้หน้ายกน้อย มันก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันเครื่องขาดตอนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียวเชียว ส่วน “แคมเบอร์” ก็จะอิงจากสแตนดาร์ด คันนี้วิ่งถนนก็ต้องเผื่อการเลี้ยวโค้ง แคมเบอร์ล้อหลัง คันนี้จะตั้ง “ลบนิดหน่อย” เวลายุบล้อจะได้ไม่แบะเกินไป และไม่ให้กินยางด้านในมากไปครับ…
- มีการเซ็ตช่วงล่างแบบท้ายสูงนิดๆ เพื่อเวลาออกตัวท้ายจะไม่กดต่ำมากจนหน้าลอยเหมือนกับท้ายเตี้ย แต่ก็ไม่ใช่ท้ายจะสูงจนน่าเกลียด ทำให้ไม่มี Weight Transfer ส่วนด้านหน้าที่ต่ำกว่าก็มีผลว่า หน้าจะไม่ยกลอยเกินไปจนล้อหน้าฟรีทิ้ง และน้ำมันเครื่องกระฉอกไปด้านหลังมากไป
พัดลมฟรีปั๊ม พอเก่าๆ หมุนรอบสูงๆ มัน “เสียว” เหมือนกันนะ
สำหรับพัดลมระบายความร้อน คันนี้ใช้ของ R33 GT-R ที่เป็นแบบ 9 ใบ (ของ R32 GT-R จะมี 8 ใบ) ถ้าเป็นรถวิ่งถนน ไม่ได้ใช้รอบสูงมากก็พอจะใช้การได้ ถ้าฟรีปั๊มยังมีสภาพดี แต่สิ่งที่ออกจะ “เสียว” อยู่บ้าง ในการหมุนรอบสูงมาก และรอบกวาดแบบกะทันหัน (ซึ่งเป็นลักษณะของเครื่อง RB26DETT) พัดลมก็จะหมุนแบบ “กระชาก” ตามแบบกะทันหัน แม้จะมีตัวฟรีปั๊ม หรือ Hydraulic Coupling ทำหน้าที่ให้พัดลมมีการฟรีตัวได้ ซึ่งในรอบสูงมาก พัดลมจะไม่ได้หมุนตามเครื่องแบบ 1 ต่อ 1 รอบ พอรอบสูงมันจะฟรีทิ้งไป ไม่งั้นพัดลมก็คงจะ “กระจาย” บินออกมาก่อน แม้จะฟรีได้ แต่การหมุนรอบเกินสแตนดาร์ดเยอะๆ โดยเฉพาะพัดลมที่ “เก่า” พลาสติกจะ “กรอบ” เคยเห็นหลายคัน “พัดลมแตกร้าว” ไอ้ที่น่ากลัวกว่า บางคน “เจาะอัดน้ำยาเพิ่ม” ให้พัดลม “หนืดขึ้น” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความร้อน (แบบปลายเหตุ) กลับกลายเป็นผลร้าย เพราะพัดลมจะหมุนรอบสูงเกินไป และเวลาน้ำยา “จับตัว” มันจะจับแบบล็อกกะทันหัน ยิ่งทำให้พัดลมมีโอกาสเสียหายมากขึ้น บินออกมามันก็ฟาดหม้อน้ำ ฟาดอุปกรณ์ใกล้เคียงให้เสียหาย ตอนนี้หลายคันจึงเปลี่ยนเป็น “พัดลมไฟฟ้า” เพื่อลดความเสียหายตรงนี้ และลดโหลดเครื่องในรอบสูง แต่ถ้ายังชอบใช้พัดลมฟรีปั๊ม ก็ลองตรวจสภาพหน้าตามันดูหน่อย ถ้าพัดลมมันเริ่มเหลือง เก่า หรือเริ่มมีรอยแตกลายงา (เป็นปกติของเก่า) เอาว่า “ส่อแววจะเจ๊ง” แล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนให้เป็นของที่มีสภาพใหม่ เพื่อลดการเสียหายครับ…
- ก็คงไม่มีอะไร “ลงตัว” ไปกว่าชุดพาร์ท NISMO ที่ยังคงความเป็น R32 GT-R ซึ่งตัวถังเดิมก็ “สวยดุ” ลงตัวมากอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการอะไรที่มากเกินไป
ยางเรเดียล เนียนคันเร่งหน่อยดีกว่า
จากการบอกเล่าของ VER ถึงสไตล์การขับของ “ปอนด์” เบญจรงค์ ชมายกุล จะเป็นแนวออกโหดๆ หน่อย จากนิสัยการขับรถระดับ Open ใช้ยางสลิค ที่ต้อง “เต็มคันเร่ง” เสมอ เพราะยางมีการยึดเกาะสูง แต่ยางเรเดียลที่การยึดเกาะน้อยกว่า จะต้อง “เนียนคันเร่ง” เวลาออกตัว หรือเวลาเปลี่ยนเกียร์ 1-2 ที่เครื่องยังมีแรงบิดมาก เพื่อลดอาการฟรีทิ้ง ถ้าขับแบบ ปอนด์ ที่ชินกับการใช้คันเร่งหนัก ออกหนัก (เจ้าตัวเองก็บอกว่าลืมไปว่าขับยางเรเดียล) อาการฟรีทิ้งจะเยอะหน่อย ถ้าปรับมาขับแบบเนียนคันเร่งมากขึ้น เวลาก็จะดีขึ้นกว่านี้อีกหน่อย ส่วนตัวผมเอง (พี สี่ภาค) มองในแง่ของการขับเซอร์กิต ก็ไปในทางเดียวกัน รถใช้ยางสลิค ก็สามารถ “เลี้ยวเร็ว แรง เบรกหนัก ใช้คันเร่งหนักออกโค้ง” ได้ดีกว่ายางเรเดียลที่ต้อง “ละเมียดละไม” มากกว่า เพราะการยึดเกาะมันต่างกัน ดังนั้น สไตล์การขับจึงต่างกันด้วยครับ…
- แค่นี้ก็พอ ล้อสวยๆ ยางใหญ่ๆ เต็มบอดี้ของ R32 GT-R เพิ่มการยึดเกาะถนนให้ได้มากกว่าเดิมอีกเยอะ
X-Tra Ordinary
VER TECHNICAL GARAGE โดย “เวอร์” ที่นี่จะเน้นการเซ็ตรถแบบลงตัว ไม่บ้าพลังมากเกินไป และต้องไม่พังง่าย เน้นว่าขับได้คุ้มค่า ตอนแรกมีชื่อเสียงขึ้นมากับรถของ “อาร์ท สุพรรณ” ที่ทำแรงม้าไม่เยอะมาก แต่เวลาดี ตอนนี้ก็มาแรงกับตระกูล RB ซึ่งเหมือนกับ “แจ็ค” VJ WORKSHOP ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของ เวอร์ ก็ถนัดในตระกูล RB ด้วยเช่นกันครับ สนใจติดต่อ VER TECHNICAL GARAGE โทร. 08-9177-6499
ขอขอบคุณ : VER TECHNICAL GARAGE และ Boy Film
- สภาพรถบ้านวิ่งถนนชัดๆ แต่แรดได้ในสนาม
TECH SPEC
ภายนอก
ชุดพาร์ท : NISMO
ภายใน
เกจ์วัด : Defi Cluster
เบาะ : BRIDE
พวงมาลัย : NARDI
ปรับบูสต์ : GReddy Profec B Spec II
หัวเกียร์ : NISMO
- เบาะดีๆ จะมีน้ำหนักน้อยกว่าเบาะเดิมพอสมควร จะช่วยเรื่องการลดน้ำหนักของรถลงได้ และปลอดภัยกว่า เพราะมีโครงสร้างที่แข็งแรง
เครื่องยนต์
รุ่น : RB26DETT
วาล์ว : BC
สปริงวาล์ว : BC
แคมชาฟท์ : TOMEI 270 องศา
ลูกสูบ : CP
ก้านสูบ : EAGLE
แบริ่งชาฟท์ : CALICO
อ่างน้ำมันเครื่อง : TRUST
เทอร์โบ : GReddy T88-38GK
เวสต์เกต : GReddy Type C
เฮดเดอร์ : ต๋อง เทอร์โบ
อินเตอร์คูลเลอร์ : TRUST 6 นิ้ว
ท่อร่วมไอดี : เหรียญชัย เทอร์โบ
หม้อพักไอเสีย : HKS Titanium
หัวฉีด : SARD 1,000 C.C.
รางหัวฉีด : GReddy
เร็กกูเลเตอร์ : AEROMOTIVE
หม้อน้ำ : KOYO
คอยล์จุดระเบิด : SPLITFIRE
กล่อง ECU : HKS F-CON V PRO 3.3 by SPEED-D
- เห็นแสงสวยดีเลยจัดหน่อย สวยกระชับจับถนัดมือ
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : OS 1-2-3
คลัตช์ : OS
ลิมิเต็ดสลิป : VER TECHNICAL GARAGE
- ตัวเดียว คุยรู้เรื่องสารพัด ไม่ต้องติดให้เยอะ ไม่ล่อตาล่อใจ “โจร”
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : TEIN FLEX
ปรับแคมเบอร์หลัง : ORT
ล้อ : NISMO ขนาด 9.5 x 18 นิ้ว
ยาง : YOKOHAMA AD08 ขนาด 255/40R18
เบรก : ENDLESS Monoblock