เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่
Sleep In Sheep Skin
แค่รถบ้าน เครื่องสี่พัน พันกว่าม้า !!!
แรงจริง วิ่งทั่วไทย by BIO BEAM & GT TUNING
สำหรับกระแสของ R35 GT-R นั้น ยังไงก็ยังไม่มีตก เพราะด้วยความที่รถถูกออกแบบมาให้เป็น Super Car ในรูปแบบ GT ที่สามารถขับใช้งานได้ทุกวัน ซิ่งได้เต็มระบบ และด้วยขุมพลังขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาโมดิฟายให้แรงหลุดโลกได้โดยไม่ยากนัก ที่สำคัญ โมดิฟายแรงม้าเพียบๆ แต่ก็ยังใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ไม่เหมือนรถยุค 90 ที่พอโมดิฟายหนักๆ แล้ว ขับใช้งานลำบาก เครื่องเดินหอบ รอบต่ำไม่มีแรง คลัตช์แข็ง ขับกระเด้าหน้ากระเด้าหลัง มันควรจะพาไปซิ่งในสนามอย่างเดียว ก็คงไม่มีใครเอารถเหล่านั้นมาขับใช้งาน แต่ R35 สามารถทำได้ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น เหมือนกับคันนี้ เป็นยานประจำตัวของ “หมอบีม” นพ.พิชญ์ สันติจิตรุ่งเรือง แห่ง BIO BEAM Center ที่มีความชื่นชอบใน Super Car ขั้นรุนแรง มีสะสมไว้หลายคัน แต่ใครจะคาดคิดว่า หนึ่งในรถที่ใช้งาน “ทุกวัน” วิ่งทางไกล ไปสุดเหนือ สุดใต้ ก็คือ R35 สีดำดุ เรียบๆ คันนี้แหละ ลำพังน้ำหนัก Teen ของหมอ รถเดิมๆ คงไม่ตื่นเต้น เลยสั่งจัดเต็มด้วยการระเบิดขุมพลัง 4.1 ลิตร กับแรงม้าระดับ “1,066 PS” !!! จาก GT TUNING คงจะบรรเทาอาการ Teen ถ่วงหินของหมอบีม ได้บ้าง…
แก้ปัญหาระบบน้ำมันเชื้อเพลิงก่อนอื่น
จริงๆ R35 GT-R ก็ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยในรุ่นปี 2011 ขึ้นมา ซึ่งตัวเครื่องยนต์นั้นไม่มีปัญหา เพราะออกแบบมาเพื่อภารกิจรับแรงม้าสูงๆ โดยเฉพาะ สามารถโมดิฟายเพิ่มแรงม้าได้ง่าย ด้วยพื้นฐานความจุมากถึง 3.8 ลิตร และเรื่องของวัสดุที่ทันสมัย แต่ถ้าจะเล่นกัน “ชุดเต็ม” แล้ว เรื่องเครื่องเป็นประเด็นหลักที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่จะกำหนดว่า “เหนียวหรือไม่” ที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง ก็คือ “ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง” ซึ่งจะมีบทบาทมากในรถโมดิฟาย ถ้าเครื่องพร้อม แต่ระบบน้ำมันไม่รองรับ “ฝันสลาย” เครื่องละลายหายไปในพริบตา งานนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ เนื่องจากเรื่องของ “แรงดันตก” มันมีจากหลายสาเหตุมาก เช่น ปั๊มติ๊กแรงดันตก จากความร้อน ทั้งจากตัวมอเตอร์เอง รวมไปถึง “อุณหภูมิน้ำมันเชื้อเพลิง” จะเบนซินหรือดีเซลก็ตามแต่ ซึ่งมันจะมีผลมากในเรื่องของแรงดันตก (Flow Drop) แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร…
ในอดีต รถที่วางเครื่องยนต์ใหม่ ส่วนมากแล้วรถบ้านเราจะเป็นรุ่นที่มีเครื่องยนต์แรงม้าน้อย พอมาวางเครื่องใหม่ที่แรงม้ามากกว่าเก่า ก็มักจะวางแต่เครื่อง แล้วก็หาปั๊มติ๊กแรงๆ ของ BOSCH ตัวใหญ่ สำหรับรถเครื่องโตๆ อย่าง BENZ S500 อะไรพวกนี้มาใส่ แต่เรื่อง “ท่อทางเดินน้ำมัน” ยังคงเดิมไว้ จะมีปัญหาเรื่อง “ท่อเล็กเกินไป” ทำให้เวลาเหนี่ยวมากๆ แล้ว “พัง” โดยมากก็ “ลูกละลาย” เพราะน้ำมันบางตอนรอบปลาย สมัยก่อนถึงพังกันบ่อยโดยไม่ทราบถึงสาเหตุ เพิ่มปั๊มติ๊กไปสองลูกสามลูกแล้วก็ไม่หาย เพราะท่อทางเดินติดรถ มันได้แค่นั้น ยิ่งดันก็ยิ่งอั้น ตอนหลังพอค้นพบ ก็เลย “เดินแป๊บน้ำมันใหม่” ให้มีขนาดใหญ่เหมาะสมกับแรงม้าที่ต้องการ มันถึงช่วยลดอาการพังได้เยอะ…
From Blushed to Blushless
ย้อนกลับมาที่เรื่องของ R35 เรื่องของระบบน้ำมันก็ค่อนข้างจะเป็นปัญหาเหมือนกันสำหรับรถโมดิฟายแรงม้ามากๆ ระดับ 1,000 PS ขึ้นไป จริงๆ แล้ว ของเดิมมันก็รับแรงม้าได้มากระดับหนึ่ง แต่ถ้าม้าเยอะๆ ใช้งานหนักแล้ว จะมีปัญหาเรื่อง “ความร้อนในระบบ” จากเดิมที่เป็นมอเตอร์แบบ “มีแปรงถ่าน” หรือ Blushed DC Motor ที่จะมีปัญหาเรื่องความร้อนจากการเสียดสีระหว่างตัว “แปรงถ่าน” ก็คือ ส่วนที่สัมผัสกับแกนของโรเตอร์ ที่มีชุด “ขดลวด” พันอยู่เป็นเหมือนทุ่น ตัวแปรงถ่านทำหน้าที่ “เป็นตัวผ่านกระแสไฟ” ไปยังขดลวดเพื่อสร้างสนามแม่เหล็ก เพื่อไปดันกับ Stator หรือตัวแม่เหล็กที่ติดอยู่กับด้านในของเปลือกมอเตอร์ เพื่อเปลี่ยน “พลังงานไฟฟ้า” เป็น “พลังงานกล” มาทำให้มอเตอร์ขับเคลื่อนอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งจะมีปัญหาตรงที่แปรงถ่านจะ “ถู” กับแกนโรเตอร์ ทำให้เกิดการสึกหรอ และ “ความร้อนสูง” ด้วยทั้งแรงเสียดสีและการส่งกระแสไฟฟ้า พอมอเตอร์ร้อน ก็จะทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงร้อนด้วย ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง Flow Drop หรือ “แรงดันตก” น้ำมันบาง เครื่องก็พัง เพราะ “ส่วนผสมบาง” (แต่ถ้าเป็นดีเซล จะได้เปรียบ เพราะแรงดันตก เครื่องก็จะไม่แรงไปเฉยๆ แต่ไม่พังง่ายเหมือนเบนซิน) เลยต้องแก้ปัญหากันใหม่…
คันนี้ใช้ชุดปั๊มติ๊กและตัวควบคุมของ AMS ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำ R35 ได้แรงระดับแนวหน้าของโลก ตัวปั๊มติ๊กจะใช้มอเตอร์แบบ “ไร้แปรงถ่าน” หรือ “Blushless Motor” เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากมอเตอร์แบบมีแปรงถ่าน ถ้าจะเหลากันง่ายๆ ก็คือ “กลับทางกัน” โดยการเอาขดลวดไปอยู่กับที่ซะ แล้วสลับเอาส่วนที่เป็น “แม่เหล็ก” มาเป็นโรเตอร์แทน การสร้างสนามแม่เหล็กจึงไม่ต้องผ่านแปรงถ่านอีกต่อไป พูดง่ายๆ กระแสไฟเข้าขดลวดก็สร้างสนามแม่เหล็กมาดันแม่เหล็กที่โรเตอร์ให้หมุนไปเพื่อสร้างพลังงานกล เพียงแต่ต้องมีตัวขับสัญญาณ (Driver) ที่เป็น Pulse DC คอยควบคุมว่าจะให้ส่งกำลังไปขดลวดอันไหน ตอนนี้ก็จะไม่มีส่วนใดที่เสียดสีกันแล้ว เลยแก้ปัญหาเรื่องความร้อน รวมถึงยืดอายุให้กับมอเตอร์ได้มากนั่นเอง…
กล่องคุมปั๊มติ๊ก สิ่งที่ควรมี
การใส่ปั๊มติ๊กแรงๆ ตัวใหญ่ๆ ก็จะมีข้อเสียเหมือนกันในรถที่เป็น Street Used จริงๆ ประการแรก “กินไฟมาก” ประการที่สอง “เกิดเสียงดัง” ประการที่สาม “น้ำมันหนาในช่วงรอบต่ำ” ทำให้เปลือง เร่งไม่ออก เดินเบาไม่เรียบ สามอย่างนี้เกิดขึ้นแน่ๆ กับการต่อปั๊มเป็นแบบทำงานเต็มที่ตลอด ซึ่งของ AMS ก็จะมีตัว “กล่องคุม” กระแสไฟ (Voltage) ให้จ่ายตามการใช้งานจริง โดยมีเงื่อนไข เช่น ในรอบต่ำ หรือเดินเบา จะสั่งจ่ายไฟน้อย เพื่อให้ปั๊มติ๊กทำงานน้อย ลดเสียงและความร้อน ลดการกินกระแสไฟ น้ำมันไม่หนาเกินไป ทำให้รอบเดินเบาเนียน นิ่ง ช่วงรอบต่ำ หรือช่วง Cruising ใช้คันเร่งไม่มากในขณะขับเดินทางไกล ก็จะวิ่งได้สบาย ประหยัดน้ำมัน (อย่าถามว่าขับรถราคาขนาดนี้ ทำขนาดนี้ แล้วมุงยังกลัวเปลืองอีกเหรอ จริงๆ แล้ว ถ้าอะไรที่มันไม่จำเป็น ลดได้ก็ลด อะไรที่จำเป็น เพิ่มได้ก็เพิ่ม เข้าใจนะ) แต่พอกดคันเร่งมากขึ้น เริ่มมีบูสต์เดิน มันก็จะสั่งให้เพิ่มกระแสไฟตามโหลด พอจุดหนึ่งก็ “เปิดเต็ม” เพื่อส่งน้ำมันเต็มที่ จริงๆ ระบบนี้ ยกตัวอย่างใน NISSAN เอง ก็มีแล้วในยุค 90 อย่างเครื่อง RB26DETT ก็จะมีตัวกล่องคอนโทรลปั๊มติ๊กมาจากโรงงานเพื่อเหตุนี้แหละครับ เพียงแต่ความไว มันอาจจะสู้กล่องใหม่ๆ ไม่ได้เท่านั้นเอง แต่กับกล่องของ AMS ใน R35 มันสามารถ “จูนได้” ด้วย เพื่อสร้างเงื่อนไขการทำงานของปั๊มติ๊กให้เหมาะสมกับรถคันนั้นๆ ครับ…
ระเบิดไส้ ETS 4.1 ลิตร
สำหรับความจุเดิมยังไม่พอใจ สเต็ป “หมอบีม” แล้วต้อง “อะไรก็ได้” ขอให้ “แรงถึงพึ่งได้ ขับทางไกลไม่มีหลับ” ถ้าจะทำเครื่องยนต์ให้ “ทน” ก็ต้อง “เปลี่ยนไส้ใน” เป็นวัสดุที่อัปเกรดให้ดีกว่าของโรงงาน อันนี้เป็นเรื่องปกติ ลำพังถ้าจะทำแรงม้าระดับ 1,000 PS ในเครื่อง 3.8 ลิตร ก็ไม่ใช่เรื่องยากหรอกกับความจุขนาดนี้ แต่ว่าการที่ใส่ชุด Stroker Kit ขยายความจุ ก็จะช่วยให้ “แรงม้าและแรงบิดมามากในช่วงรอบต่ำลงจากเดิม” ยกตัวอย่าง แรงม้า 1,000 PS เท่ากัน เครื่อง 3.8 ลิตร อาจจะมาที่ 8,500 rpm แต่กับ 4.1 ลิตร อาจจะมาที่ 7,500 rpm พูดง่ายๆ คือ “แรงแบบไม่เค้นเครื่อง” แถมเครื่องใหญ่ยังได้เรื่องแรงบิดมาก กดมาตาม Teen นั่นแหละ สำหรับสเป็กชุด Stroker Kit ของ ETS ชุดนี้ เป็นเกรดเดียวกับที่ใช้ใน GT-R ที่วิ่ง 7 วินาที มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้…
- ข้อเหวี่ยงช่วงชักยาว 94.4 มม. จากเดิม 88.4 มม. ทำให้ความจุเพิ่มเป็น “4,057 ซี.ซี.” สำหรับข้อเหวี่ยง 4.1 ลิตร แต่ก่อนก็จะมีปัญหาเรื่อง “ใส่แล้วติดเสื้อ” ต้องเว้าหลบกันชุดใหญ่ แต่ชุดของ ETS นั้น สามารถใส่ได้เลย เพราะแก้ปัญหาเรื่องนี้มาแล้ว…
- ก้านสูบมีให้เลือก คือ “เหล็ก” ที่เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไป กับ “อะลูมิเนียม” ที่เหมาะกับการแข่ง Drag Racing เพราะน้ำหนักเบา แต่ทนทานระยะยาวสู้เหล็กไม่ได้…
- ลูกสูบไซซ์เดิม 95.5 มม. แต่เลือกรูปแบบได้…
- แบริ่งก้านสูบขนาด 2.20 นิ้ว ที่สามารถใช้กับแบริ่งโมดิฟายหลากหลายขนาดได้ตามต้องการ…
Max Power: 1,066.18 hp @ 7,290 rpm
Max Torque: 1,151.56 Nm @ 4,900 rpm
สำหรับกราฟจะมี 2 Run นะครับ เส้นสีแดง คือ Low Boost แต่สาระสำคัญก็จะอยู่ที่ “เส้นสีน้ำเงิน” จะเป็น Max Boost ลักษณะกราฟแรงม้าก็จะไต่ขึ้นเป็นมุมที่ไม่ชันมาก เป็นลักษณะของเครื่องใหญ่ถึง 4.1 ลิตร ที่จะมีกำลังเยอะในช่วงรอบต่ำอยู่แล้ว คือ มันมีแรงด้วยความจุ ถ้าเป็นเครื่องเล็ก มันจะแรงน้อยในรอบต่ำ ต้องอาศัยบูสต์ช่วยถีบอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่งที่กราฟคันนี้ดูไม่ขึ้นแบบกระโชกโฮกฮาก เพราะยังใช้เทอร์โบ HKS GT 1000 อยู่ เนื่องจากว่าต้องการขับใช้งาน ไม่เน้นรอรอบหรือกระชากอะไรมาก อีกอย่าง ถ้าจะเอาแรงม้ามากๆ ก็ต้องใส่เทอร์โบใหญ่ๆ ซึ่งต้องเอามาไว้หลังไฟหน้า มันจะกลายเป็นรถแข่งไป คันนี้ทางหมอบีมอยากจะให้ดูเดิมๆ แต่แฝงเขี้ยวเล็บไว้ในแนว “Sleeper” หรือ “เสือหลับ” ก็เลยออกมาท่านี้…
กราฟแรงม้า (เส้นสีน้ำเงินด้านล่าง) จะมาแบบ “ทะยานต่อเนื่อง” จริงๆ แล้วถือว่าบูสต์มาเร็ว เพราะแค่ 3,500 rpm ก็มีแรงม้าถึง 400 hp เข้าไปแล้ว ช่วง 5,000 rpm มีออกมาให้ใช้ถึง 800 hp !!! ช่วง 6,000 rpm ก็ฟาดถึง 920 hp !!! และถึงสู่จุด Peak คือ 7,290 rpm ได้แรงม้าสูงสุดถึง “1,066.18 hp” ช่วงนี้กราฟก็เริ่มนอนตัว แสดงว่าแรงม้าก็ยังคงอยู่ลักษณะนี้ไปอีกหน่อย (น่าจะคงอยู่ได้ถึง 8,000 rpm) แต่เอาจริงๆ แค่นี้ก็เหลือเฟือจะใช้ไม่หมดอยู่แล้ว…
มาดูกราฟแรงบิดกันบ้าง (เส้นสีน้ำเงินด้านบน) อันนี้น่ากลัวกว่า จะขึ้นชันกว่าแรงม้า เพราะช่วง 3,500 rpm แรงบิดถีบไปถึง 800 Nm แล้วละครับ !!! เรียกว่า “มหานรก” กันเลยทีเดียว ไม่ต้องรอรอบ พร้อมถีบในทันที ที่ 4,000 rpm นิดๆ แรงบิด “ถึงพันนิวตัน” ก็เตรียมหน้าหงายกันได้ ในช่วง 4,500 rpm ก็ขึ้นไปแถวๆ 1,100 นิวตัน แล้วก็ขึ้นสู่จุด Peak ได้ค่าถึง “1,151 นิวตัน” ที่ 4,900 rpm หลังจากนั้นก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับ 1,100 นิวตัน ไปถึง 6,700 rpm ก็ค่อยๆ โรยลง ก็เท่ากับว่า ช่วงท้องกราฟ แรงบิดมีให้ใช้กว้างดี เปลี่ยนเกียร์แล้วก็ยังถีบต่อเนื่อง ซึ่งตอนที่นั่งไปด้วยก็ดึงแบบแน่นๆ ไปเร็วและต่อเนื่องของจริงเลย…
Comment : BIO BEAM & GT TUNING
สำหรับรถ R35 คันนี้ ทางหมอบีมจะใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะดูแล้วเป็นรถที่น่าจะขับได้สบายและอึดที่สุดในบรรดา Super Car ที่มี เหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองไทยมาก คันนี้ก็ทำตามใจตัวเองครับ ทำไปเรื่อย อยากทำอะไรก็ทำ ฮ่าฮ่า ที่ขยายความจุเพราะอยากได้แรงม้าระดับ “โอเวอร์พัน” ที่อึด แช่ยาวๆ ได้ ขับง่าย เสกก็มาตาม Teen เพราะคันนี้ไว้ใช้งานวิ่งทางไกลตลอด แถมยังวิ่งใช้งานในเมืองหรือทั่วๆ ไปด้วย เอาให้คุ้ม จริงๆ แล้วจะทำแรงม้ามากกว่านี้ก็ได้ เพียงแต่มันต้องเปลี่ยนเทอร์โบใหญ่ มาไว้ด้านหน้า ซึ่งมันเป็นสไตล์รถแข่งมากกว่า ก็เลยเอาแค่นี้ หลังจากที่ทำเสร็จไป ก็สามารถซิ่งได้ และใช้งานได้ด้วย อย่างไม่มีปัญหาครับ ขับง่ายเหมือน R35 เดิมๆ เลย…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
บอกตรงๆ ว่า พอมันเป็นยุคใหม่อย่าง R35 แล้ว อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปจาก SKYLINE GT-R หรือสปอร์ตยุค 90 ยอดนิยมที่เราเคยรู้จัก เรี่ยวแรงระดับพันกว่าม้า ลองนั่งดูแล้วก็แรง ดึงเป็นบ้า แต่ไม่เสียว ขับง่าย ขับขี่ทั่วไปใช้งานได้ปกติ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ก็เป็นแนวเรียบๆ ดูแล้วไม่หวือหวา เป็นเจตนาของ “หมอบีม” ที่อยากทำรถเป็นลักษณะ Sleeper เงียบๆ ยกเว้นพลังที่มันสำแดงออกมาในขณะ “ย่ำคันเร่ง” ซึ่งถ้าเป็นเครื่อง 6 สูบเรียง ยุค 90 อย่าง RB26DETT หรือ 2JZ-GTE ถ้าแรงม้าระดับนี้ ในวันทำงานคงต้องเก็บขึ้นหิ้ง ไว้วิ่งตอน “ว่างๆ” ในสนามเป็นหลัก ก็นับว่าเป็นรถแรงม้าระดับเกินพัน ที่ทำออกมาลงตัว ชอบที่ขับถนนและใช้งานได้ ขี่ไปไหนก็ได้นี่แหละ…
X-TRA Ordinary
สำหรับรถ R35 GT-R ในบ้านเราที่นิยมเอาเข้ามานั้น ส่วนมากมักจะเป็น U.K. Spec หรือ สเป็กอังกฤษ (สหราชอาณาจักร: United Kingdom ไม่ใช่ประเทศยูเครน คนละเรื่องกัน) เนื่องจากว่าเป็นรถพวงมาลัยขวาเหมือนกัน แต่รายละเอียดต่างๆ ดูแล้วแปลกตากว่าของญี่ปุ่น เช่น เรือนไมล์ ก็จะเป็นหน่วย mph (ไมล์ต่อชั่วโมง) ด้านนอก ส่วนวงในเป็น km/h (กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งเรือนไมล์นี้จะเหมือนกับ U.S. Spec ซึ่งอังกฤษน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้พวงมาลัยขวา และหน่วยวัดความเร็วเป็น mph ในส่วนของไฟทับทิม ก็จะเป็น “สีแดง” ส่วนของ “เมนู” บนจอ ก็จะเป็นภาษาอังกฤษที่เข้าใจได้ง่าย และ “ไม่จำกัดความเร็ว 180 km/h” เหมือนรถ JDM Spec ก็เลยนิยมเล่นกันมากกว่า…
TECH SPEC
ภายนอก
พาร์ท : 2011 U.K. Spec
ภายใน
ตกแต่ง : หุ้มหนัง ALCANTARA และ Carbon Fiber
เบาะนั่ง : RECARO
เบาะหลัง : PASSWORD JDM Carbon Seat
เข็มขัดนิรภัย : NISMO by WILLANS
เครื่องยนต์
รุ่น : VR38DETT
แคมชาฟต์ : HKS Step 2
สปริงวาล์ว : HKS
ลูกสูบ : ETS Forged 95.5 mm.
ก้านสูบ : ETS
ข้อเหวี่ยง : ETS 94.4 mm. (4,057 c.c.)
เทอร์โบ : HKS GT 1000 Kit
อินเตอร์คูลเลอร์ : ETS Race Intercooler
ท่ออินเตอร์ : HKS
ท่อร่วมไอดี : HKS
โบล์วออฟวาล์ว : HKS SQV
ท่อยางต่างๆ : SAMCO
หัวฉีด : INJECTOR DYNAMIC 1,300 c.c.
ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด : AMS PERFORMANCE
ชุดท่อไอเสีย : OVER-TAKE 100 mm. Full Titanium
แผ่นปิดห้องเครื่อง : PASSWORD JDM Carbon
กล่อง ECU : Syvecs
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : GR6 Mod. By DODSON Sport Man Kit
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : TOP SECRET Sub Tank ปรับไฟฟ้าได้จากสวิตช์เดิมติดรถ
ล้อหน้า : NISMO GT-R Spec.by RAY’S ENGINEERING ขนาด 10.0 x 20 นิ้ว
ล้อหลัง : NISMO GT-R Spec.by RAY’S ENGINEERING ขนาด 10.5 x 20 นิ้ว
ยางหน้า : DUNLOP SP SPORT MAXX GT600 ขนาด 255/40ZRF20
ยางหลัง : DUNLOP SP SPORT MAXX GT 600 ขนาด 285/35ZRF20
จานเบรกหน้า : STILLEN Carbon Ceramic Matrix (CCM) 400 mm.
Special Thanks
GT TUNING : Facebook/GT Tuning BKK, Tel. 08-5232-2116
- หน้าตาเดิมๆ ของ 2011 Spec ซึ่งจะเป็นรุ่นที่มี Daylight จากโรงงาน
- เดิมๆ ก็ดูทรงพลังล่ำบึ้กอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มมากก็ดุได้ใจ
- U.K. Spec ไฟทับทิมหลังสีแดง
- ต้องดูคลิปเวลา “แว้ดด” แล้วรถทะยานจากไปเหมือนโดนถีบ สะใจจริงๆ
- ล้อ NISMO GT-R Spec แบบแท้ๆ ที่ RAY’S ENGINEERING ผลิตให้ จานเบรก Ceramic ที่น้ำหนักเบาและระบายความร้อนได้ยอดเยี่ยม
- ETS Race Intercooler แฝงอยู่อย่างเรียบร้อย
- ชุดท่อ OVER-TAKE “ไทเทเนียม” เสียงดังกระเส่าจิตยามขย้ำคันเร่ง เสียงมันจะแตกๆ กร้าวๆ ผิดจากท่อสเตนเลสทั่วไป เพราะเนื้อท่อไทเทเนียม มันแข็งและบางมาก เสียงสะท้อน (Acoustic) มันเลยออกมาแบบนั้น
- ลุงว่าทำไมมันแรงจัง มันแรงกว่าชาวบ้านเขา
- ภายในเล่นหนัง Alcantara และ Carbon Fiber ตามสมัยนิยม ที่ตอนนี้ “คนไทยทำได้” ไม่แพ้ของแต่งใดๆ ในโลก เพราะแบรนด์ดังเมืองนอก ก็มาจากคนไทยทำเหมือนกัน
- เสน่ห์ของ U.K. Spec ก็อยู่ที่เรือนไมล์นี่แหละ
- กล่อง Syvecs ก็จะแสดงผลที่ Monitor ติดรถได้เลย เป็น Custom View ต่างๆ ตามที่เราจะใส่ค่าลงไปว่าจะให้มันแสดงอะไรบ้าง ดีที่ไม่ต้องติด Monitor เสริมมาให้ดูรก เรียกดูในนี้ได้เลย
- แอร์เย็น เพลงเพราะ NISSAN ทำให้ R35 เลิศเลอด้วยเครื่องเสียง BOSE ระดับชั้นนำของโลกเป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดรถ
- เบาะหลังเอาออกไป ใส่ Carbon Seat ไปเพื่อความมันส์ อันนี้จะมี “หูร้อยเบลต์ 4 จุด” (4 Point Harness)
- 20.เจตนาของหมอบีม ต้องหน้าตาเดิมๆ แบบนี้ มีเด่นก็คือ ท่อร่วมไอดี HKS (ที่กำลังจะถูกเปลี่ยนอีกแล้ว) ซึ่งท่อไอดีโมดิฟายจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ทำหน้าที่เป็น Surge Tank เก็บอากาศ ยิ่งบูสต์เยอะก็ควรจะปล่องใหญ่ขึ้น