เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
SLEEPING CHILD
“Sleeper” Style MR2 765 hp Full Step
R SPEC 2 Present
นานๆ จะมาทีสำหรับ TOYOTA MR2 SW20 ที่เป็นรถสปอร์ตยอดฮิตในยุค 90 ซึ่งตอนนี้กลับมาโด่งดังกันอีกครั้ง เนื่องจากมี “บุคลิกพิเศษ” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ด้วยความที่เป็นรถ “เครื่องวางกลางลำ” คำว่า MR2 ย่อมาจาก Mid-Engine + Run About + 2-Seaters หรือ Mid-Ship + Rear Wheel Drive + 2-Seaters ก็ย่อมได้ จึงมีบุคลิก “หลายอย่าง” ที่ไม่เหมือนกับรถแบบ FR หรือ เครื่องหน้า ขับหลัง แบบปกติ ซึ่งหลายคนก็ว่ามัน “ขับยาก” เพราะหน้าเบา รวมถึงการเซอร์วิสในบางจุดที่จะต้อง “รู้ทรง” เพราะการวางตำแหน่งอุปกรณ์หลายอย่าง มันก็ไม่เหมือนรถแบบปกติ คันนี้มาในแบบ “ใสๆ” เน้นความดั้งเดิมในแบบ “90’s” แต่ด้านใน “ทรงเครื่องแบบ “เต็มพิกัด” ด้วยการ Modified & Custom ที่เป็นเอกลักษณ์ของ “รุ่ง” แห่ง R SPEC 2 ซึ่งรถคันนี้ นอกจากจะ “แรง” ด้วยพละกำลังถึง 765 hp แล้ว ก็ยังทำให้ “ขับใช้งานได้อย่างปกติสุข” อีกด้วย แต่บอกก่อนนะ มันไม่ใช่แค่ทำแรงม้าให้เยอะ แต่ยังทำให้มัน “เรียบร้อยเหมือนรถเดิม” รวมถึงเทคนิคการสร้างของโมดิฟายอีกมากมาย ดูจะง่าย แต่ “ไม่มีอะไรง่าย” หรอกนะ รับรองคันนี้สะใจคนรัก MR2 แน่นอน…
แรงอย่างเดียวไม่ยาก แต่แรงแล้วเรียบร้อยทุกอย่าง “ไม่ง่าย”
ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ถ้าคุณมีรถแล้วต้องการเพียง “ความแรงสะใจ” ไม่สนเสียงดัง ไม่สนความสบาย ยอมทนขับยาก หนัก เหนื่อย ร้อน เอาไว้แค่ “ขับเล่น” กลางคืนที่รถโล่งๆ เพียงอย่างเดียว ไม่สนเรื่องตัดเฉือนรถ ประมาณว่า “ใส่เข้าไปให้ได้พอ” แบบนี้ถือว่า “ง่าย” เพราะสามารถทำได้ “ตามใจฉัน” เต็มที่ แต่ถ้าคุณต้องการรถที่แรงมากๆ แต่ “ต้องใช้งานได้ปกติ ขับสบาย ไม่เหนื่อย” รวมไปถึง “ความเรียบร้อยในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบเนียนไปกับความเดิมของรถ” แบบนี้ต้อง “คิดให้เยอะ” แน่นอน เพราะการทำระบบต่างๆ ไม่ใช่ว่า “อะไรก็ได้” แต่ต้องคำนึงทั้งความสวยงาม ความเรียบร้อย เซอร์วิสง่าย ไม่รุงรัง ทุกสิ่งอย่างต้องลงตัว ดูเผินๆ รถเรียบๆ ไม่มีอะไร คิดว่าทำง่ายนะ แต่ “ยิ่งเนียน ยิ่งทำยาก” และนี่เป็นเหตุที่เรานำเสนอเจ้า MR2 คันนี้ไงครับ…
รู้ก่อนแรง!!!
อย่างที่บอกไปว่า MR2 เป็นรถเครื่องวางกลางลำ ดังนั้น มันจึงมีทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” เป็นปกติสากล แต่ทุกสิ่งอย่างต้อง “แก้ไข” ในเบื้องต้น เราลองมาดู “จริต” ของรถรุ่นนี้กัน…
ข้อดี
- แรงกดด้านท้ายเยอะ : แน่นอนว่า Traction ที่ล้อหลังก็จะ “มากกว่ารถเครื่องหน้า” เป็นปกติ โดยเฉพาะตอนออกตัว รวมไปถึงการ Balance น้ำหนักที่ดี เพราะเครื่องอยู่กลางรถ (แต่ออกจะค่อนไปทางด้านท้ายหน่อยๆ แต่ไม่ใช่ “เครื่องท้าย” เหมือน PORSCHE Carrera) รวมไปถึงนิสัยของมันที่ “พยายามจะวิ่งตรงเป็นหลัก” ตามสไตล์ “รถท้ายหนัก” เลยยิ่งทำให้มันได้เปรียบในการวิ่ง Drag อย่างที่รถเครื่องวางหน้า ขับหลัง จะมีอาการ “ล้อฟรี ตูดเลื้อย” มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด จนต้องถ่วงน้ำหนักด้านท้ายช่วย…
- การส่งกำลังไว สูญเสียกำลังน้อย : ด้วยความที่มันเป็น “เครื่องวางขวาง” และ “ไร้เพลากลาง” โดยมีแต่ “เพลาข้าง” เท่านั้น ที่พอออกจากเกียร์ก็ลงเพลาข้างไปล้อเลย ทำให้การสูญเสียกำลังต่ำมาก ไม่ต้องส่งผ่านเพลากลางที่ “ยาว” เหมือนรถเครื่องหน้า ส่งกำลังได้เต็มๆ เพียงแต่ต้องเปลี่ยน “เฟืองท้าย ลิมิเต็ด เพลาข้าง” ให้มันแข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงม้าระดับ 700-800 ++ ได้ ลักษณะระบบส่งกำลังของ MR2 มันก็เหมือนรถขับหน้านั่นแหละ แต่ที่ได้เปรียบมาก เพราะรถขับหน้า ยิ่งออกตัวแรงๆ หน้าจะ “ยิ่งยก” ทำให้แรงกด (Traction) ไปที่ยางยิ่งน้อยลง ไม่เหมือนไอ้นี่ที่ยิ่งออกแรง ยิ่งกด ทำให้แรงกดทวีมากขึ้นนั่นแหละ…
ข้อเสีย
- รถ “หน้าลอย” และ “อันเดอร์” มาก : อันนี้จะเป็นเรื่องของ “การเลี้ยว” ถ้าเป็นแนวเซอร์กิต ด้วยความที่ “หน้าเบา” เวลาเลี้ยวจะไม่เกิดการ “เหวี่ยง” เปลี่ยนทิศทางให้รถเลี้ยวได้ รวมไปถึง Traction ล้อหน้าที่ต่ำ การยึดเกาะจึงน้อย ทำให้รถมีอาการ “ไม่ค่อยอยากจะเลี้ยว” หรือ “อันเดอร์สเตียร์” เพราะ “ล้อหลังเกาะมากกว่าเยอะ” ทำให้รถพยายาม “วิ่งตรง” นี่!!! เข้าทางสาย Drag เลย ไม่ต้องทำอะไร ล้อหน้าก็ช่างมัน เพราะรถออกตัวไปได้ก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรมาก แต่ต้องคุมเรื่อง “Aero Dynamic” ไม่ให้ “หน้าลอยเกินไป” จนเกิดอันตรายได้ ในสมัยก่อนสำนักแต่งที่เล่นกับ MR2 มาวิ่ง Top Speed ระดับ 300 km/h (ใน VDO ของ OPTION ยุค 90 ที่วัยรุ่นมีตังค์สมัยนั้นนิยมซื้อมาดู) ก็ทำ “สปอยเลอร์บนฝากระโปรงหน้า” เพื่อเอาแรงกดไม่ให้หน้าลอย ดูแล้วตลกๆ แต่ก็ต้องทำ แต่ถ้าเป็น “สายเลี้ยว” คนเล่น MR2 มาตลอดจะรู้ดีว่าจะต้อง “แก้ยังไง” ถ้าต้องการให้มันเลี้ยวดีขึ้น ก็ต้อง “ขยายฐานล้อหน้า” ให้มันเกาะมากขึ้น และ “เลี้ยวโดยใช้เบรก” หรือ Trail Braking เบรกให้น้ำหนักเทไปข้างหน้า เพื่อให้ล้อหน้ามี Traction ทำให้รถเลี้ยวได้ เหมือนคนขับ PORSCHE 911 แบบเซียนๆ อันนี้บอกเลยว่า “ต้องฝึก” มือใหม่หัดซิ่งมาเจอ MR2 แล้วเลี้ยวไม่เป็น “ชีวิตลำบาก” อันนี้ค่อยมาว่ากันใหม่ หากมีโอกาสเขียนถึงมันอีกสักที เดี๋ยวจะยาวเกินไป…
- การวางตำแหน่งอุปกรณ์แออัด : สิ่งที่อยู่ด้านหน้าของ MR2 ก็เห็นจะมี “หม้อน้ำ” อย่างเดียว ที่เหลือ เช่น อินเตอร์ ตัวเล็กๆ แปะด้านข้าง หรืออะไรต่างๆ ไปจุกอยู่ด้านหลังหมด ทำให้เซอร์วิสยาก เนื้อที่น้อย อุปกรณ์ก็เล็กตามไปด้วย ลำพังถ้าเป็น “รถเดิม” ไม่มีปัญหา ถ้าใช้ในประเทศที่มีอากาศเย็น และการเซอร์วิสเป็นหน้าที่ของ “ศูนย์” แต่รถบ้านเราไม่ใช่ อากาศร้อนนรก แถมยัง “โมฯ เต็ม” อีกต่างหาก มันต้อง “จัดการวางอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด” ให้เซอร์วิสง่ายขึ้น แต่อาจจะต้องมีการ “เจาะ” ตัวรถบ้าง เพื่อย้ายอุปกรณ์ ตรงนี้ต้องทำใจถ้าจะโมดิฟายเพิ่มเป็นสเต็ปใหญ่ๆ…
อินเตอร์แยก แบบไม่เจาะรถ
โดยปกติ MR2 ที่โมฯ แรงม้ามากๆ เทอร์โบใหญ่ๆ ก็จะต้องเอาอินเตอร์ฯ มาไว้ที่ห้องเก็บของท้ายรถ ต้องเปลี่ยนฝาท้ายเป็นแบบมีรูดักลม (ฝาท้ายส่วนที่เป็นห้องเก็บของนะครับ MR2 จะมีฝา 2 ส่วน อีกส่วนจะเป็น ฝากระโปรง ปิดเครื่องยนต์) และต้องตัดพื้นฝาท้ายเพื่อ “ระบายลม” ตรงนั้นก็ต้องยอมเสียพื้นที่ให้อินเตอร์ฯ ไปเลย แต่คันนี้เจ้าของรถ “ทำใจไม่ได้” ที่จะตัดพื้นรถ ทางออกของ R SPEC 2 ก็คือ “อินเตอร์ฯ ห้อยใต้รถ” เพื่อเอาลมจากใต้ท้องรถมาเป่า แล้วใช้ “พัดลมไฟฟ้า” 2 ตัว ช่วยกัน “ดูดลม” ขึ้นด้านบน (ในกรณีที่รถวิ่งไม่เร็วมากนัก กระแสลมจะน้อย) ซึ่งชุดอินเตอร์ที่ใส่อยู่นี้ จะเป็นของ BLITZ ที่ GARAGE ACTIVE ที่เป็น MR2 Specialist เป็นผู้สั่งทำขึ้นมา เป็นชุด Kit สำหรับ MR2 โดยตรง แต่ตอนนี้ก็ยัง “พอได้” ซึ่งในอนาคตจะต้องทำ Diffuser ใต้ท้องรถ เพื่อรีดและจัดกระแสลมให้เป็นระเบียบมากขึ้น นอกจากจะเป่าอินเตอร์ได้เต็มๆ แล้ว ยังได้เรื่อง Down force (แรงกด) เพิ่มขึ้นอีก เพราะเราไล่ลมออกจากใต้ท้องได้เยอะ ทำให้ไม่เกิด Lift Force จากแรงลมวนใต้ท้องรถให้เสียวเล่นตอนความเร็วระดับ 200 ++ นั่นเอง…
ปั๊มติ๊กใหญ่ ขอไม่ดัง ไม่ถัง A
เมื่อโดน “ไฟต์บังคับ” จากเจ้าของรถที่ต้องการ “ความเรียบเดิม” สไตล์ 90’s ให้มากที่สุด งานนี้ “รุ่ง” จึงต้องคิดเยอะกว่าปกติ เพราะอย่างที่รู้ว่าแรงม้าระดับ 700 ++ มันเป็นเรื่องยากที่ทำให้ “เงียบ” โดยเฉพาะเรื่อง “ปั๊มติ๊ก” นี่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้ตัวใหญ่ แรงดันและอัตราการไหลที่สูง มันจึง “ดัง” น่ารำคาญ ถ้าใส่ถัง A ก็ต้องเดินสายเพิ่ม เจาะตัวถังรถเพื่อร้อยสายน้ำมัน แถมยังเสี่ยงต่อ “เหม็นน้ำมัน” อีก ถ้าเป็นสายซิ่งก็ต้อง “ทน” ยอมรับมัน แต่ลูกค้ารายนี้ “ไม่ชอบ” ทั้งเสียงดัง ความรุงรัง กลิ่นต้องไม่มี ทุกอย่างต้องเหมือนรถเดิม ดังนั้น จึงต้องวางระบบน้ำมันใหม่ให้เหมือนสแตนดาร์ด แต่ต้องรับแรงม้าระดับ 700 ++ ได้ด้วย เอาละสิ!!! ในส่วนของการวางระบบน้ำมันแบบ Advance ของคันนี้ มีรายละเอียดประมาณนี้ครับ…
ถังน้ำมันของ MR2 เป็นทรงผอมๆ ยาวๆ ตามแนวด้านขวางของตัวรถ ซึ่งเนื้อที่ตัวรถจะแคบมาก จะสร้างใหม่ก็คงยากมาก เพราะทรงมันแปลกประหลาดจริงๆ ไม่เหมือนรถทั่วไปที่เป็นทรงเหลี่ยมง่ายๆ ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการ “สะเวิ้บ” เอาปั๊มติ๊กโมดิฟายลงไปแทนของเดิมให้ได้ จึงต้อง “สร้างฐานยึดปั๊มติกที่ถังใหม่” โดย CNC ขึ้นรูป เพื่อให้ยึดปั๊มได้ ขนาดของท่อน้ำมันก็ “ขยายใหญ่” เป็นขนาด AN8 หรือประมาณ “สามหุน” (3/8 นิ้ว) ทีเดียวไปเลยให้พอกิน และหย่อนเข้าไปในถังเดิม รวมไปถึงการสร้าง “ตัวกักน้ำมัน” กันกระฉอกใหม่ เพราะคันนี้ “ไม่ต้องการถัง A” หลังจากที่ทำแล้ว ปั๊มติ๊กเงียบเหมือนรถเดิม แต่ห้ามปล่อยให้ “น้ำมันในถังเหลือน้อย” เป็นอันขาด ควรจะมี “ครึ่งถังขึ้นไป” เพื่อถนอมปั๊มติ๊ก ลดความร้อนและเสียง ไม่ให้ปั๊มพังไวครับ…
ห้องเครื่องงามสุด เน้นโล่ง แบบ “เจ้าของเซอร์วิสเองได้”
เดี๋ยวนี้นิยมห้องเครื่อง “บลูทูธ” ที่ซ่อนสายไฟ ซ่อนอุปกรณ์ต่างๆ แบบ “มิดชิด” เพื่อโชว์ความเนียนของสีและห้องเครื่อง แต่จะมีปัญหาเรื่อง “เซอร์วิสยาก” ประมาณว่าจะเติมน้ำมันนู่นนี่นิดเดียว ต้อง “รื้อรถ” ถ้าสายโชว์ละก็ได้ แต่คันนี้ “สายใช้” ขับทางไกลประจำด้วย ต้องทำให้เจ้าของรถเซอร์วิสได้ง่ายด้วย ส่วนอุปกรณ์ของซิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด จะเน้นความพอดี ติดตั้งแบบ “ห้ามไปบดบังอย่างอื่น” จึงทำให้การเซอร์วิส ถอดใส่ ทำได้ง่าย รวดเร็ว และไม่รกรุงรัง…
Power Band กว้าง มาเต็มทุกช่วง
Max Power : 765.6 hp @ 6,800 rpm
Max Torque : 87.65 kg-m @ 5,850 rpm
สำหรับเส้นกราฟ ใน Run ที่ได้กำลังสูงสุด กราฟแรงม้าจะเป็น “เส้นทึบสีเขียวเข้ม” ถือว่า “ไม่รอรอบเลย” ในช่วง 4,500 rpm มีแรงม้า 300 hp กันแล้ว ช่วงนี้เหมือนกำลัง “ติดบูสต์” กราฟขึ้นชันทีเดียว แรงม้าโดดมาก ในช่วง 5,000 rpm ม้าดีดขึ้นไป 550 hp ความต่างเพียงแค่ 500 rpm แต่ได้มาอีก 250 hp ช่วง 5,500 rpm มีแรงม้าถึง 650 hp ช่วง 5,700 rpm ได้แรงม้า 700 hp แล้วกราฟก็นอนยาวไป ได้แรงม้าสูงสุด 765.6 hp ที่ 6,800 rpm ถือว่าใช้รอบน้อยสำหรับเครื่อง 4 สูบ 2.0 ลิตร หลังจาก 7,500 rpm กราฟก็เริ่มโรยตัวลงเล็กน้อย จนถึง 8,000 rpm ก็หยุดการทดสอบ แต่แรงม้าก็ยังอยู่ในระดับ 700 hp ซึ่งลากไปมากกว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว…
สำหรับกราฟแรงบิด จะเป็น “เส้นประ” ผมขอสรุปเลยแล้วกัน เพราะไม่งั้นได้ “ไฝว้” กับ “อ้อย คลองแปด” แน่ๆ ในช่วง 5,000-6,600 rpm แรงบิด “มาเต็ม” ในระดับ 80 kg-m !!! ถือว่า “มากมาย” ในเครื่องความจุเท่านี้ (ในรูปเป็นหน่วย “ปอนด์–ฟุต” แต่ผม Convert มาเป็น “กิโลกรัม–เมตร” เพราะทุกคนจะคุ้นเคยกว่า) ตรงนี้จะเน้นมากๆ เพราะเวลาเปลี่ยนเกียร์ที่ 8,000 rpm อย่างคันนี้เป็นเกียร์เดิม เปลี่ยนเกียร์แล้วรอบจะตกมาแถวๆ นี้พอดี ทำให้ “ต่อเกียร์” ได้โดย “ไม่ห้อย” แต่ต้อง “คุมดีๆ” หน่อย เพราะแรงบิดขนาดนี้ “มีพยศ” ต้องคุมดีๆ เลยละครับ…
สิ่งที่แสดงออกของคันนี้ คือ “แรงม้ามาดี” ส่วน “แรงบิดมหาศาล” นำหน้าแรงม้าไปอีก และที่สำคัญ “Power Band กว้าง” แถมไม่ต้องเค้นรอบสูงอีกด้วย มีให้ใช้เต็มๆ ตั้งแต่ 5,300 rpm ไปจนถึง 8,000 rpm เรียกว่าเปลี่ยนเกียร์ยังไงก็ “ไม่หลุดช่วงกำลัง” แน่นอน สิ่งหนึ่งที่พอทราบมา ทาง R SPEC 2 จะเน้นเครื่องที่ “กำลังอัดสูง” สักหน่อย เพื่อให้ “ไม่รอรอบ” และ “ไม่ต้องเค้นบูสต์กับรอบเครื่องมากมายนัก” การตอบสนองก็จะดี ไม่ “บื้อ” ในรอบกลาง แบบนี้ “ขับมันส์แน่นอน” ครับ…
Comment : R SPEC 2
คันนี้ถือว่าเป็นความท้าทายของผม โดยปกติก็จะทำแบบที่คุ้นเคย แนว “ซิ่งวิ่งแดร็ก” แต่ครั้งนี้เจ้าของรถให้การบ้านมาอย่างที่บอกไปในเนื้อเรื่อง ซึ่งเราต้องคิดและทำให้อย่างรัดกุมที่สุด รวมไปถึงการขับขี่ใช้งานปกติได้ด้วย รถคันนี้เจ้าของรถวิ่งออกทางไกลเป็นประจำ เราต้องทำให้รถมีความทนทาน ไม่มีปัญหา และพยายามแก้จุดอ่อนของ MR2 จากประสบการณ์ที่มี คันนี้ก็กะจะไปวิ่ง Souped Up ปลายปีนี้ด้วยนะครับ ก็ต้องขอขอบคุณ เจ้าของรถ, โกดังกอล์ฟ และ JM SLIDE ON รวมถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมกับรถคันนี้ รวมไปถึง XO autospport ที่ให้การสนับสนุนด้วยนะครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
รถคันนี้อาจจะดูเรียบๆ ไม่เตะตาในครั้งแรกชม แต่ถ้าลองดูกันดีๆ แล้ว จะเห็นถึงความตั้งใจของเจ้าของรถ และทีมงานทุกคน ความเรียบร้อย การเก็บรายละเอียดต่างๆ ทำได้ดี สวยงาม สไตล์รถสปอร์ตยุค 90 ที่เน้นความเรียบ และสีสันที่โดดเด่น แต่ยังอยู่ในโทน ยิ่งมาเจอล้อ “ตรงยุค” ก็ยิ่งจะ “เก้าศู้นย์ เก้าศูนย์” กันใหญ่ ส่วนในเรื่องของการโมดิฟาย ตอนแรกผมก็ปวดกบาลว่าจะเอาอะไรมานำเสนอดีนะ เพราะรถมันไม่ได้มีของเยอะอลังการ แต่ลองเจาะรายละเอียดการทำของ “รุ่ง” R SPEC 2 แล้ว มัน “เยอะ” แบบที่เราคิดไม่ถึง พวกนี้ต้อง “ทำการบ้าน” มาดีๆ ในส่วนของ “พละกำลัง” ก็อย่างที่บอกครับ มีให้ใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รถแรงจริงๆ ไม่ใช่มีแค่ “ค่าตัวเลข” ครับ ท้ายสุด ก็ต้องขอขอบคุณ เจ้าของรถ, R SPEC 2 และโกดังกอล์ฟ (Goffy Naraka) ไว้ ณ ที่นี้ ด้วยครับ…
X-TRA ORDINARY
MR2 SW20 จะมีตัวแข่งที่ “พิเศษล้ำลึก” ที่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้จัก คือ SARD MC8-R ซึ่งเป็นการผลิตขึ้นมาเพื่อแข่งในรุ่น GT1 ที่จะเป็นรถพิเศษทรงแปลก เรียกว่าแทบจะไม่เดิมกันเลย โดยใช้เครื่อง 1UZ-FE Twin Turbo มีแรงม้า 600 hp ผลิตมาเพื่อลงแข่ง GT Racing Series, 24 hours of Le Mans, 1000km Suzuka และแน่นอนว่าจะต้องมี Road Car เวอร์ชันวิ่งถนน ที่ผลิตมาตามกฎข้อบังคับของการแข่งขันรุ่น GT1 ตอนที่กำลังผลิตก็ออกสู่สายตาประชาชนครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็หายไป จนกระทั่งในปี 2015 เจ้า SARD MC8-R Road Car คันนี้ก็โผล่มาอีกทีในเว็บไซต์ SEiyaa ที่โชว์และขายรถสะสมในญี่ปุ่น หลังจากนั้นไม่นาน คันนี้ก็หายไปจาก Entry List ของ SEiyaa อีกครั้ง แน่นอน ว่ามันต้องไปอยู่ในมือนักสะสมรถระดับ “อัคร” ที่ไม่เปิดเผยตัวตน…
Contact
R SPEC 2 : Facebook/Rungsub Rspectwo, Tel. 08-1903-1440
TECH SPEC
ภายนอก
Body Part : Ver.3 Model Year 1994-1995
งานสี : MC Color Factory
ภายใน
เกจ์ : Defi Super Sport Cluster 02
พวงมาลัย : NARDI
เบาะ : RECARO SR3 Limited 30 Fabric RECARO in Japan
หัวเกียร์ : HKS
ปุ่มกดเบรกมือ : HKS
ปรับบูสต์ : GReddy Profec B Spec 2
แผงประตู : Ver.5 Model year 1998-1999
เครื่องยนต์
รุ่น : 3S-GTE
ฝาสูบ : R SPEC 2
นอตฝาสูบ : ARP
แคมชาฟต์ : KELFORD
เฟืองแคมชาฟต์ : HKS
สายพานไทมิ่ง : HKS
สปริงวาล์ว : SUPERTECH
รีเทนเนอร์ : SUPERTECH
วาล์ว : BC 1 mm. Oversize
ปะเก็นฝาสูบ : Cometic
ลูกสูบ : Arias 87.0 mm.
ก้านสูบ : Eagle
แบริ่งชาฟต์ : Calico
นอตประกับเมน : ARP
ปลอกไลน์เนอร์ : DARTON SLEEVE by เดี่ยว Yannakron Muangthep
เทอร์โบ : PRECISION
อินเตอร์คูลเลอร์ : BLITZ by GARAGE ACTIVE
เฮดเดอร์ และงานท่อไทเทเนียมทั้งหมด : เอ๋ Weldtec
พ่นเซรามิกกันความร้อน : RC-TURBO
พ่นสีฝาวาล์ว : ORT
เวสต์เกต : HKS GT-II
ท่อไอดี : R SPEC 2 Custom
ถังดักไอ : R SPEC 2 Custom
หม้อพักไอเสีย : BULLET Titanium
หัวฉีด : HOLLEY 1,600 c.c.
รางหัวฉีด : SARD
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : Aeromotive
ปั๊มติ๊ก : Walbro 525 l. for E85
วายริ่งสายไฟ : นัท วายริ่ง
คอยล์ : HONDA K20A
Map Sensor : HKS 3 bars
ตัวจับองศาจุดระเบิด : R SPEC 2 Custom
หม้อน้ำ : R SPEC 2 Custom
วาล์วน้ำ : SARD 68 c.
ฝาเติมน้ำมันเครื่อง และ ฝาหม้อน้ำ : HKS
กล่อง : HKS F-CON V PRO by ตู่ โคราช
ระบบส่งกำลัง
คลัตช์ : R SPEC 2 Custom 3 Plates
ลิมิเต็ดสลิป : TRD
ระบบช่วงล่าง
โช้คอัพ : ARAGOSTA Sub Tank
ค้ำยันหม้อลมเบรก : CUSCO
ล้อ : VOLK GT-N Gold Forged ขนาด 7 x 17 นิ้ว และ 9 x 17 นิ้ว
ยาง : TOYO PROXES R1R ขนาด 225/45R17 และ 245/45R17
- โฉมหน้าของ Ver. 1-2-3 จะเป็น “ไฟเลี้ยวส้ม” ส่วน Ver. 4-5 จะเป็น “ไฟเลี้ยวขาว” ส่วนลิ้นหน้า Ver. 3 จะใหญ่กว่า Ver. 1-2
- เน้นความ “คลีน” สไตล์ 90’s ไม่มีอะไรดีไปกว่า “ล้องามตรงยุค” สักชุด โหลดเตี้ยพองามแบบ “ขับได้จริง”
- ไฟเลี้ยวแก้ม ของ Ver. 1-2-3 จะเป็นแบบนี้ ถ้า Ver. 4-5 รุ่นใหม่ ไฟเลี้ยวแก้มจะเป็นสีขาว เกาะอยู่ฝั่งใกล้ประตูเหมือน TOYOTA รุ่นทั่วไปในปัจจุบัน
- ความที่เป็นรถแบบ MR มันจึงมี “นิสัยเฉพาะตัว” ที่ไม่เหมือนกับรถทั่วไป คนที่จะขับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย จะต้องเรียนรู้การขับที่เหมาะสมกับมันก่อน
- เปลี่ยนไฟท้ายเป็น Ver. 3-4-5 จะเรียกกันว่า “ไฟโดนัท” หรือ Round “Kouki” Tail Lamp แผงทับทิมกลางจะต้องเป็นสีเดียวกับตัวรถ แต่เจ้าของชอบสีดำ ดูแล้วก็ตัดกันดี
- สปอยเลอร์หลัง Ver. 3-4-5 จะเป็นแบบ “ชิ้นเดียว” แบบนี้ ส่วน Ver. 1-2 จะเป็นแบบ 3 ชิ้น ชิ้นกลาง 1 ชิ้นข้างบนแก้มหลัง 2 ข้าง ส่วน “เสาอากาศ” ก็ไม่เหมือน Ver. 1-2 จะเป็น “เบ้าสูง” เพราะมันต้องลอดรูชิ้นข้างของสปอยเลอร์ ส่วน Ver. 3-4-5 จะเป็น “เบ้าเตี้ย” แบนติดบอดี้ แต่คันนี้เอาออก และใส่ “สวิตช์ตัดไฟ” เข้าไปแทนอย่างเนียน ส่วนฝากระโปรงท้าย เจ้าของเอาของรุ่น N.A. มาใส่ เพราะชอบ ฝาจะเป็นแบบ “เรียบ” แต่ถ้ารุ่น Turbo จะเป็น “โหนก” สูงขึ้นมา
- VOLK GT-N Gold Forged 2 Pieces ยอดปรารถนายุค 90’s ใส่แล้ว “ขึ้น” อย่างแรง เหมาะสำหรับรถสายคลีนแบบนี้แหละ
- ดีเทลจุกจิกเล็กน้อยก็ต้องมี ใบปัดน้ำฝน PIAA AERO WING ของตรงยุคที่ “ต้องมี”
- คันนี้ยังมีสภาพภายในที่สมบูรณ์อยู่มาก คอนโซลหน้าปัด Ver. 1-2-3 จะ “ไม่มี Air Bag ฝั่งผู้โดยสาร” สำหรับรถ JDM แต่จะมีให้ใน “Euro Spec” เพราะบังคับเรื่องความปลอดภัย ส่วน Ver. 4-5 จะมีเป็น Option ในรถ JDM
- พวงมาลัย NARDI Deep Corn หรือ “ก้านดอกไม้” ขนาด 330 มม. ที่เหมาะกับ MR2 เพราะภายในแคบ จะได้ไม่เกะกะ ส่วนปุ่มปลดล็อกเบรกมือ เป็นของเล่นยุค 90’s ที่ตอนนั้น “พี่ยุ่นกำลังบ้าดริฟต์” สามารถดึงและปลดเบรกมือได้เลย โดยไม่ต้องกดปุ่มเหมือนของเดิม
- อันนี้จะออกแนว “สมัยใหม่” เอาเรือนไมล์เดิมออก ทำกรอบคาร์บอนขึ้นมา ใส่ Cluster แบบ “ตัวเดียวจบ” เพราะเจ้าของรถอยากได้ความเรียบง่าย แนว Sleeper
- ปรับบูสต์ไฟฟ้าในตำนาน ที่ยังคงใช้ดีจนถึงบัดนาว
- ในยุค 90 จะเน้นหัวเกียร์ “มิเนียม” ลายคาร์บอน จอดตากแดด จับที “น้ำตาร่วง” ยุคหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “โพลีเมอร์” ที่ทนทาน เป็นรอยยาก และ “ไม่ทรมานมือ” ตอนจอดตากแดดเมืองไทย
- ลิมิเต็ดของจริง RECARO SR3 ตัวฉลองครบรอบ 30 ปี ที่ RECARO ผลิตและทักถอในญี่ปุ่น คันนี้มาพร้อมรางตรงรุ่นด้วย
- แผงประตู Ver. 5 สุดท้ายก่อนเลิกผลิต
- แผ่น Cooling Channel จาก CARBING จัดระเบียบลมเข้าไปเป่าหม้อน้ำ อันนี้สำคัญ
- ค้ำหม้อลมเบรก CUSCO ที่ช่วยลดการเคลื่อนตัวของหม้อลมเบรก ทำให้การตอบสนองเบรกนั้นไวขึ้นมาก
- 3S-GTE สุดสวย กับการจัดวางตำแหน่งหลายอย่างให้เหมาะสม นับว่าเป็นห้องเครื่องที่สวยสุดใน MR2 เท่าที่เคยเห็นมา ส่วนที่เป็นแท่งเงาๆ นั้น จะเป็นคอเติมน้ำแบบมี “ไล่ลม” ในตัว เพราะ MR2 หม้อน้ำอยู่ด้านหน้า ท่อน้ำยาวมาก การไล่ลมจึงต้องใช้เทคนิคและเวลากันมากหน่อย
- ก็อย่างที่บอกว่าในห้องเครื่อง MR2 มีที่ค่อนข้างน้อย เลยทำให้การวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ค่อนข้างแออัด ยิ่งเทอร์โบใหญ่ ยิ่งต้องระวังเรื่องความร้อน คันนี้พ่น Power Coat ที่เป็นกันความร้อน (Heat Shield) จาก RC-TURBO ณ จุดที่ก่อเกิดความร้อนสูงๆ เช่น เฮดเดอร์ โข่งหลัง ท่อไอเสีย เพื่อลดความร้อนแผ่กระจายไปทำอันตรายอุปกรณ์รอบด้าน
- รอบด้านจะ “เคลียร์” อุปกรณ์ให้ดูโล่งๆ ให้ลมระบายจากช่องลมด้านข้างเข้ามาได้มากขึ้น พวกกระปุกน้ำมันต่างๆ เอาไว้ด้านล่าง แต่ไม่ซ่อน เพราะต้องการให้เจ้าของรถดูแลได้ง่าย ส่วนค้ำฝากระโปรงเป็น “ของแรร์” จาก TRD
- เวสต์เกต HKS GT-II ฝาม่วง ของยอดฮิต สังเกตโข่งหลังจะเป็นสีเทาๆ เพราะพ่น Powder Coat กันร้อนไว้
- กรองอากาศ K&N เดินไปในตำแหน่งที่ “รับลม” จากช่องระบายด้านข้างของตัวรถ ส่วนตัวสีส้มๆ นั้น เป็น Sub Tank ของโช้คอัพ ARAGOSTA ด้านหลัง
- อินเตอร์ห้อยล่าง สูตร GARAGE ACTIVE Japan แบบ “ไม่เจาะตัวถัง” แต่ต้อง “เว้าแพหลัง” หลบท่ออินเตอร์หน่อย ด้านบนมีพัดลมไฟฟ้า 2 ตัว ช่วยดูด ซึ่งในอนาคตจะทำแผ่น Diffuser จัดทางลมให้เป่าได้เต็มๆ ส่วนช่วงล่าง อีกไม่นานจัดเต็มทุกรายละเอียดแน่นอน
- จริงๆ หม้อพักสไตล์ยุค 90 ของรุ่นนี้จะเป็นแบบ “หม้อแบนใหญ่วางขวาง” ปลายออกคู่ แต่พอใส่อินเตอร์สูตรนี้แล้ว เลยต้องใช้แบบใบเดียว