Souped Up Special R33 “Swap Work” by YA SERVICE

 

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ: AOUN PHOTO

คอลัมน์ Souped up Special ในวาระที่ผ่านมานี้ ก็เป็นเหล่า SKYLINE GT-R ตั้งแต่ R32-R33-R34 รวมไปถึง R35 เรียกว่ามากันไม่ขาดสาย หลายคนอาจจะรู้สึกเบื่อ ว่าทำไมมีแต่รถตระกูลนี้ แต่ผมทำให้ท่านไม่เบื่อได้ เพราะแต่ละคันที่นำเสนอ มันจะต้องมี “เอกลักษณ์เด่น” บางอย่างในแต่ละคัน ถ้าไม่มีอะไรที่น่าสนใจคงไม่ได้มาโชว์โฉมกันแน่นอน อย่าง R33 คันนี้ แม้จะดูเรียบๆ แต่ก็มีความโดดเด่นจากการ “ข้ามสายพันธุ์” ด้วยเครื่อง 1UZ-FE จะเป็น “คันแรกในโลก” หรือเปล่าก็ไม่รู้สินะ แต่ “คันแรกในไทย” ละก็แน่นอน ด้วยฝีมือ “จอม Swap” อย่าง “ญา เซอร์วิส” เจ้าเก่า ซึ่งคันนี้เป็นรถของ “เลี้ยง” CITRUS RACING เชียงใหม่ ซึ่งเราก็ส่งช่างภาพ “อ้วน โฟโต้” ไปถ่ายทำถึงเชียงใหม่มาให้ชมกัน…

 

Concept

                ทำไมต้อง UZ ??? ถ้าเป็นใน CEFIRO หรือรถขับหลังอื่นๆ ก็ไม่แปลกใจ แต่เมื่อมาอยู่ใน R33 แถมยังเป็น GT-R ที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ Real Time อย่าง ATTESSA E-TS อีก มันคงต้องมี “ทริค” อะไรบางอย่าง มาดู “เหตุ” ที่ “เสี่ยเลี้ยง” ที่สมัยก่อนก็โมดิฟาย RB26DETT แบบข้อเหวี่ยงเดิม ระดับ 700 PS ที่เอาไว้ขับเดินทางบ่อยๆ ก็นับว่าใจถึงมาก และเครื่องก็ทนกับความ “โหด” ได้ แต่พอเครื่องเริ่มมีอายุ ก็เลยอยากจะ “เปลี่ยนสไตล์” กันบ้าง โดยเน้น “เครื่องใหญ่ ไม่เค้นแรงมาก” ตัวเลือกเดียว คือ 1UZ-FE VVT-i ที่ช่างญาถนัด จากความจุมากถึง 4.0 ลิตร และเป็นแบบ V8 ยังไงที่แรงม้าเท่ากัน 1UZ-FE ก็จะได้เปรียบเรื่องความ “ทนทาน” เพราะไม่ต้องเค้นกำลังมาก ยกตัวอย่างคันนี้ มีแรงม้า 600 PS ++ ที่บูสต์เพียง “1.0 บาร์” แต่ถ้าเป็น RB26DETT ก็จะต้องดันแถวๆ “1.7 บาร์” ก็เลยทำให้การสึกหรอเยอะกว่า จากการที่เครื่องมีความจุเพียง 2.6 ลิตร เท่านั้น ต่อมาที่ได้ คือ “ประหยัดกว่า” เพราะไม่ต้องใช้รอบสูงเหมือน RB26DETT ที่เป็นเครื่อง “มีรอบ” เลยตรงใจสำหรับการขับใช้งานเดินทางไกลเป็นหลัก…

 

Engine Swap Tips

                สำหรับการ Swap เอาเครื่อง 1UZ-FE ให้มัน “สะเวิ้บ” กับ R33 ได้นั้น แถมยังมีโจทย์ว่า “ระบบขับสี่ล้อจะต้องใช้งานได้” มันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนกับการทำเป็นขับสองล้อเหมือนใน CEFIRO ที่จะเอาเกียร์ขับหลังอะไรใส่ก็ได้ ขั้นแรก “วางเครื่อง” ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเครื่อง V8 มันสั้นกว่า  IL6 (6 สูบเรียง) อยู่พอควร จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความยาวเลย แต่จะมีก็ “กาง” ออกไปเท่านั้น แต่ห้องเครื่อง R33 ก็กว้างเพียงพออยู่แล้วเลยไม่ต้องทุบหรือตัดใดๆ ทั้งสิ้น ส่วน “น้ำหนักเครื่อง” ก็ไม่ต่างจากเดิมมาก เพราะ 1UZ-FE จะใช้บล็อกล่างเป็นอะลูมิเนียม แต่ก็ต้องมีการพิจารณาเรื่องของ “ตำแหน่งการวางเทอร์โบ” เป็นสำคัญ เพราะเนื้อที่ด้านข้างมีน้อยลงมาก จากการโดน Bank ของเครื่องลักษณะ V กินที่ไป คันนี้โชคดีว่าเลือกใช้ “เทอร์โบขนาดย่อม” สำหรับวิ่งถนนโดยไม่รอรอบ เวสต์เกตใช้เป็นแบบขาชัก ก็เลยไม่เกะกะพื้นที่มากนัก เอามาอยู่ในตำแหน่งหลังไฟหน้าได้สบาย ส่วนท่อไอเสียช่วงออกจากเทอร์โบ ก็เดินเลื้อยหลบไปตามภาพ แต่โชคดีว่าท่อไม่ใหญ่นัก (จากการใช้เทอร์โบเล็ก) เลยไม่ติดอะไร ส่วนตำแหน่งการวางเครื่องนั้น จะต้องพิจารณาจาก “ระบบส่งกำลัง” ด้วย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อ่านต่อไป ผมจะเหลาให้พริ้มมม…

 

Tranny Swap Tips

                เรื่องเครื่องหมดไป แต่ยังไงก็ต้องมาเล่นกันต่อในส่วนของ “ระบบส่งกำลัง” อีก เนื่องจากมีโจทย์ว่าระบบขับสี่ของเดิมยังต้องคงอยู่และใช้งานได้ ก็ต้องมีการแปลงโดยวิธี “สร้าง Adaptor” ตามสไตล์ถนัดของ YA SERVICE ขั้นตอนแรกก็สร้าง Adaptor สำหรับ “ชนเกียร์ RB26DETT กับเครื่อง 1UZ-FE” ก่อน ซึ่งก็ไม่ยาก เพราะเคยทำมาก่อนอยู่แล้ว แต่ขั้นตอนที่จะพิเศษกว่ารถขับสองอื่นๆ ก็จะเป็นเรื่องของ “แคร็งค์น้ำมันเครื่อง” เนื่องจากของ RB26DETT จะมี “ชุดเพลาขับล้อหน้า” วิ่งผ่านแคร็งค์ จึง “ไฟต์บังคับ” ว่าต้องใช้แคร็งค์เดิมเท่านั้น งานนี้ก็ต้องสร้าง Adaptor เพื่อ “ให้แคร็งค์ของ RB26DETT เข้ากับเครื่อง 1UZ-FE ได้” อันนี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว เพราะต้อง “วัดระยะให้ตำแหน่งเพลาขับ รวมถึงตำแหน่งเกียร์อยู่เหมือนเดิมทุกอย่าง” เพราะถ้าเพี้ยนไปก็ใช้ไม่ได้ ระบบขับเคลื่อนจะเสียหายเร็วมาก ณ ตอนนี้ ตำแหน่งเครื่องก็จะถูกปรับไปตามระยะ Adaptor ที่ใส่เข้าไป “โดยใช้ตำแหน่งระบบส่งกำลังเดิมเป็นหลัก” ก็ต้องวัดกันทุกส่วนให้พอดีกัน อันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ในการดัดแปลงครับ…

ATTESSA แบบ Manual

                โจทย์ต่อไปที่ผมถามทาง ช่างญา ก็คือ “จะทำอย่างไรให้ระบบขับสี่นั้นทำงานได้เหมือนเดิม” เนื่องจากกล่อง ECU ที่ควบคุมระบบ ATTESSA ที่จะต้องลิ้งค์กับกล่องเดิมของ RB26DETT นั้น ถูก “ยกเลิกไป” จากการเปลี่ยนเครื่องนั่นเอง ทาง ช่างญา เลยแก้ปัญหาด้วยการ “สร้างกล่องควบคุมขึ้นมา 1 ใบ” โดยเปลี่ยนจากระบบ Auto เป็น Manual ใช้ Hydrolic ดัน ซึ่งคนขับปรับได้เองว่าจะเอาอัตราส่วนส่งกำลังเฉลี่ยล้อหน้า-หลัง เท่าไร ก็ต้องยอมทำใจเสียระบบ Auto ของเดิมไป สำหรับข้อดีของระบบ Auto ของเดิม คือ “สามารถปรับกำลังได้ตามสภาวะการขับขี่จริง” ไม่ได้เน้นเฉพาะตอนออกตัว ส่วนตัวผมเอง ถ้าเป็นรถถนนที่เน้นการขับขี่ทางโค้งไปมาอย่างเมามันส์ด้วย ผมชอบระบบ Auto ของเดิมมากกว่า เพราะมัน Real Time จริงๆ แต่ถ้าจะเอามาเน้นขับแบบ “ออกตัวโหด” ระบบ Auto จะต้องรอ “ล้อสลิป” ก่อน แล้วจึงส่งกำลังไปล้อหน้า เลยทำให้เสียเวลาออกตัวไปบ้าง ส่วนระบบ Manual ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ก็จะเหมือนการ “ล็อกอัตราส่วนไว้เลย” ออกรถก็หมุนไปพร้อมกันทั้ง 4 ล้อ ลดอาการสลิปของล้อหลัง แต่ก็จะได้ทางตรงเป็นหลัก ก็อยู่ที่ว่าจะเลือกเอาอะไรเป็นสำคัญ แต่อันนี้ต้องเลือกระบบ Manual แน่นอน ตามการดัดแปลง…

 

เปลี่ยนเป็น Direct Coil

                ระบบจุดระเบิด ก็มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ของ 1UZ-FE เดิมๆ จะมีปัญหาเรื่อง “สายหัวเทียนเล็ก” และ “เสื่อมเร็ว” อาจจะตามอายุด้วย คันนี้ได้เปลี่ยนเป็นระบบ Direct Coil เป็นของเครื่อง NISSAN GA16DE โดยใช้สองชุด แล้วคุมการจุดระเบิดด้วยกล่อง F-CON ก็เป็นอันใช้ได้…

 

เปลี่ยนเฟืองท้ายไม่ได้ ก็มาเล่นที่เกียร์

                โดยปกติการเปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้าย จะเป็นที่นิยมอันดับแรกๆ ในการโมดิฟาย เพื่อเลือกอัตราทดที่เหมาะสมกับแรงม้าของเครื่องยนต์ อย่าง CEFIRO A31 หรือ 200 SX หรือ SILVIA อะไรก็ตาม มัน “ง่าย” เพราะเป็นรถขับสองล้อ แต่ใน SKYLINE GT-R ที่เป็นรถขับสี่ล้อ ไอ้เฟืองท้ายลูกหลังไม่ยากหรอก แต่จะที่ยาก คือ “ลูกหน้า” ไอ้นี่มันไม่มีอัตราทดให้เปลี่ยนซะด้วย ก็เลยยังต้องคงอัตราทด 4.111 ไว้ทั้งหมด พูดง่ายๆ คือ “เปลี่ยนอัตราทดไม่ได้” แต่ปัญหาต่อมาก็คือ “นิสัยของเครื่องที่ต่างกันมาก” ใน RB26DETT เป็นเครื่องรอบจัด แรงบิดไม่มากนัก จึงต้องใช้เกียร์ที่ทดค่อนข้างจัดหน่อย แต่ 1UZ-FE จะเป็นเครื่องแรงบิดมาก รอบไม่จัดมากเหมือน RB26DETT ถ้าใช้เกียร์เดิม ก็จะมี “แรงบิดมากเกินไป แต่ความเร็วไม่มากนัก” พูดง่ายๆ “มาไว หมดไว” ก็เลยต้องทำอัตราทดเกียร์ใหม่ทั้งหมดให้ “ต่ำลง” เพื่อให้แรงบิดเรียกความเร็วมาด้วย เสมือนกับการ “ลดอัตราทดเฟืองท้ายให้ต่ำลง” เท่านั้นเอง เพียงแต่รุ่นนี้มันเปลี่ยนอัตราทดไม่ได้ ก็เลยต้องทำที่เกียร์แทน

 

Tech Spec

ภายนอก

ชุดพาร์ท : NISMO

ฝากระโปรง : Carbon Fiber Japan

 

ภายใน

เกจ์วัด : GReddy

ช่องใส่เกจ์ : NISMO

เรือนไมล์ : NISMO

หัวเกียร์ : NISMO

เบาะ : BRIDE Low Max

พวงมาลัย : MOMO F1

 

เครื่องยนต์

รุ่น : 1UZ-FE

สปริงวาล์ว : CROWER

รีเทนเนอร์ : CROWER

แคมชาฟท์ : KELFORD 264 องศา

ลูกสูบ : CP 88 มม.

ก้านสูบ : PAUTER

อ่างน้ำมันเครื่อง : YA SERVICE

เทอร์โบ : GARRETT by World tech

เฮดเดอร์ : ต๋อง เทอร์โบ

อินเตอร์คูลเลอร์ : TRUST

ท่อร่วมไอดี : ต๋อง เทอร์โบ

ลิ้นผีเสื้อ : Bangmod Racing

หม้อพักไอเสีย : HKS Hyper Muffler

หัวฉีด : SARD 1,000 C.C.

รางหัวฉีด : YA SERVICE

เร็กกูเลเตอร์ : MALLORY

กรองอากาศ : HKS

หม้อน้ำ : GReddy

แผ่นดักลมหม้อน้ำ : ARC

คอยล์จุดระเบิด : NISSAN GA16DE

กล่อง ECU : HKS F-CON V PRO 3.3 by YA SERVICE

 

ระบบส่งกำลัง

 

เกียร์ : RB26DETT Modified by YA SERVICE

คลัตช์ : OS 4 Plates

ลิมิเต็ดสลิป : CUSCO

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพ : TEIN พร้อม EDFC

ล้อ : NISMO LM GT4 ขนาด 10.5 x 18 นิ้ว

ยาง : HOOSIER H2.0 ขนาด 275/35R18

เบรก : BREMBO

 

X-TRA Ordinary

การริ่เริ่มของ “ญา เซอร์วิส” กับ 1UZ-FE ก็จะเป็นรถในตำนานอย่าง “มารชมพู” 200 SX Spaceframe ยานแข่งคู่กายในอดีต ที่เปลี่ยนจาก RB26DETT มาเป็น 1UZ-FE โมดิฟายชุดใหญ่ ใส่เทอร์โบบิ๊กๆ ที่หลายคนก็ว่าผลจะออกมายังไง ในปี 2006 ก็ทำผลงาน “อันดับ 2 Over All” ในงาน Souped up Thailand Records 2006 กับเวลา “8.392 วินาที” ความเร็วเข้าเส้นถึง “288 km/h” นับว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว หลังจากนั้น ก็กลายเป็นความถนัดของช่างญา กับเครื่องบล็อกนี้…

 

ขอขอบคุณ : “ช่างญา” YA SERVICE โทร. 08-1880-6673, “เสี่ยเลี้ยง” CITRUS Racing เชียงใหม่