ใส่ “ยางซิ่ง” ให้ “นิ้ง” ทำไงดี ???
Sport Tire Analized Part I
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ไม่ “อินโทร” มันมากนะ เสียเวลา เอาเป็นว่า ไหนๆ เราก็กัดฟันให้เงินมันลอยออกจากกระเป๋าไป เพื่อไขว่คว้า “ยางซิ่ง” มาฟรุ๊งฟริ๊งกับตัวแสบคู่ใจ จะยางสัญชาติไหน ประเทศอะไร ก็แล้วแต่ “ตังค์” ในกระเป๋า แต่เราจะพูดถึงเรื่อง “ยางใหม่” กิ๊กๆ เป็นหลัก เพราะมันมี “จุดสังเกตหลายประการ” ซึ่งข้อมูลต่างๆ ก็มีการแพร่กระจุยกระจายไปมากมาย แต่เราจะจับมา “สรุป” ว่าอะไรเป็นยังไง มันส์ๆ สไตล์ XO AUTOSPORT ครับ…
เถียงกันจัง จุดสีนั้นสีนี้ ต้องยังงั้นยังงี้ มาดูหน้าที่ของ “แต่ละสี” กันก่อน ว่ามันมีอิทธิพลยังไงกับชีวิตเรามั่ง บอกก่อนว่า คนที่ยังไม่รู้มีอีกเยอะ หรือยังสงสัยก็มีมาก เราเคลียร์ตรงนี้ให้ “เข้าใจตรงกัน” มันอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลวร้ายอะไรนักหรอก เพียงแต่ว่า “ทำให้ถูกต้องไว้” ก็จะดีไม่ใช่เหรอสหาย…
- จุดสีเหลือง : ไอ้นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็น “เรื่องแรก” ของขั้นตอนการใส่ยาง ความหมายของจุดสีเหลือง คือ “จุดที่เบาที่สุดของยาง” เพราะด้วยขั้นตอนการผลิต ยางจะไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากันเป๊ะทุกช่วง อาจจะมีหนักหรือเบาบ้างก็ “เป็นปกติของขั้นตอนการผลิต” จึงต้องมีการวัด Balance แล้วก็บอกว่า เออ ตรงนี้มันเบากว่าตรงอื่นเค้าหน่อยนะ (ไม่มากครับ ไม่ต้องคิดมากไป) ซึ่งจุดที่เบาสุด ก็จะอยู่ในบริเวณที่มีจุดเหลืองนั่นเอง เวลาใส่ยางกับล้อ จุดสีเหลืองนี้ต้องตรงกับ “จุ๊บเติมลมยาง” เพราะตัวจุ๊บจะมีน้ำหนักที่เพิ่มมาจากล้อปกติอยู่ ก็เลยเอามา “สะเวิ๊บ” กันในจุดนี้ เพื่อให้ยาง “สมดุลย์” มากที่สุดนั่นเอง เวลาใส่จึงเน้นในจุดสีเหลืองเป็นหลัก…
- จุดสีแดง : เป็นจุดที่ “นูนที่สุดของยาง” มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ที่เป็นจุดนูนจะไม่ได้ว่า “ทำพลาด” แต่ตรงนี้เป็นจุดที่ “เชื่อมต่อ” ของโครงสร้างภายในยาง ก็เลยมีส่วนนูนมานิดๆ ไม่ใช่เป็นอะไรใหญ่ “มหึมา” แต่อย่างใด อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตครับ…
- เส้นสีบนหน้ายาง : อันนี้จริงๆ เป็นเส้นสีต่างๆ ทำหน้าที่เหมือนกับ “บัตรประชาชนของยาง” เช่น ผลิตล๊อตไหน เป็น Code สี ที่ทางโรงงานผู้ผลิตจะทราบกัน ส่วนเส้นสีแดง จะหมายถึง “Runout Stripe” ซึ่งส่วนมากจะบอกกันว่า “เป็นเส้นสมมาตรของยาง” อาจจะไม่ได้อยู่ตรงกลางทุกเส้น เพียงแต่ว่า ถ้าใส่ยางแล้ว ก็ควรจะให้เส้นสีแดง “อยู่ด้านนอกของยาง” ทั้งสองฝั่ง ไม่ควรให้อยู่ในฝั่งนึงนอกฝั่งนึง” เอาเป็นว่า แม้จะอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างในข้อมูลแต่ละแหล่ง แต่ถ้าทำให้มันเป็นหลักการที่ถูกต้องได้ก็น่าจะดี…
สองทิศ สองแบบ ต่างใจ
สำหรับรูปแบบของ “ดอกยาง” ก็มีดีไซน์ต่างกันไป แล้วแต่ใครจะ “มีไอดอล” เป็นรูปแบบไหน ก่อนอื่นเราควรพิจารณาก่อน ว่าดอกยางเราเป็นแบบไหน เวลาใส่จะได้ “ถูกต้อง” อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เพราะยางบางรุ่นก็ “คาบเกี่ยว” คนใส่ยางก็อาจจะมีเบลอๆ ก๊งๆ มั่ง ใส่ผิดใส่ถูกก็มีเยอะแยะไป เจ้าของรถถ้าไม่รู้มันก็จะกลายเป็น “ใช้งานผิด” โดยปกติ ลายดอกยางก็จะแบ่งเป็น 3 แบบ หลักๆ นะ ซึ่งแต่ละแบบ ก็แตกต่างกันไป มันจะต้องมี “ลีลา” ในการใส่กันหน่อย ไม่ใช่ว่าใส่ยังไงก็ได้ ถ้า “ใส่ผิด” ชีวิตอาจจะไม่ถึงฆาต แต่แน่นอนว่า “ยางจะด้อยสมรรถนะลงอย่างชัดเจน” ประมาณว่า “จ่ายเงินหมื่น ใช้จริงร้อยเดียว” อะไรยังงั้น เอ้า ลองดูซิ ว่าไอ้ยางแต่ละแบบนี้มันต่างกันยังไง…
ดอกยางแบบปกติ
อันนี้จะเป็นดอกยางแบบทั่วๆ ไป ที่เป็นแบบ “สมมาตร” หรือ Symmetric ข้อดี คือ โครงสร้างดอกยางไม่ซับซ้อน เหมือนกันทั้งหมด “ใส่ฝั่งไหนก็ได้เหมือนกัน หมุนทางไหนก็ได้เหมือนกัน” ไม่ยุ่งยากอะไรนัก อ้าว แล้วจะพูดทำไม ก็นิดนึงน่า วิธีดูก็คือ ดอกยางแบบนี้ “จะไม่มีบอกทิศทางการใส่ที่แก้มยาง” ใส่ได้เลย ส่วนการสลับยางก็ทำได้ครับ เพราะดอกยางทั้งสองฝั่งเหมือนกัน เพียงแต่สลับยางก็ต้องตั้งศูนย์ใหม่เท่านั้นเอง อย่างอื่นไม่มีอะไรพิสดาร โดยมากจะเป็นยางสำหรับ “รถบ้าน” ครับ ส่วนยางสปอร์ตก็จะมีบ้าง แต่ไม่ป๊อปเท่าไอ้แบบต่อไปนี้ครับ…
ดอกยางแบบ “มีกำหนดทิศทางการหมุน”
ดอกยางแบบนี้ ภาษาฝรั่งเรียกว่า Directional จะเห็นได้กับ “ยางสปอร์ต” ที่เหล่าตัวแรงชอบกันนักหนา และส่วนใหญ่ดอกยางก็จะชอบเป็นแนวนี้ซะด้วย สังเกตง่ายๆ คือ ดอกยางจะมีรูปทรงลักษณะ “ลูกศร” คือ ลายดอกยางจะชี้ไปในทางเดียวกัน แบ่งเส้นกลางหน้ายาง ดอกยางสองฝั่งจะต้องเป็น Mirror Image หรือ “รูปเงาสะท้อนในกระจก” และแก้มยางจะมี “ลูกศรบ่งบอกทิศทางการหมุน” หรือ Rotational Direction อันนี้จะต้อง “ใส่ให้หมุนถูกทาง” ด้วยนะครับ สังเกตง่ายๆ ลูกศรจะต้อง “ชี้ไปหน้ารถ” ทั้งสองฝั่งนะครับ ถึงจะ “ถูกต้อง” ตามหลักสากล ยางแบบนี้สามารถ “สลับฝั่ง” กันได้ แต่ต้องถอดยางและใส่ใหม่ให้ถูกทิศทางนะครับ…
ข้อควรระวังของการใส่ยางผิดทิศทาง
มันก็คงไม่ถึงตายหรอก เพียงแต่ “จะสูญเสียสมรรถนะโดยรวมของยางไป” เพราะดอกยางถูกออกแบบให้ “กูจะหมุนทางนี้” ซึ่งจะมีผลในด้าน “การเกาะถนน” ตามแนวการหมุนของดอกยาง แต่ถ้าเรา “ใส่ย้อนทาง” การเกาะถนนก็จะด้อยลงไปมาก รวมถึง “รีดน้ำมีปัญหา” เพราะแทนที่จะรีดน้ำ กลายเป็น “กักน้ำ” จริงๆ มันก็รีดออกได้แหละ แต่ประสิทธิภาพจะต่ำลงมากๆๆๆๆ ทำให้เกิดอันตรายได้ อีกประการ “เรื่องเสียง” ก็จะดังกว่าปกติ “การสึกหรอสูง” และ “แรงต้านการหมุนสูง” แล้วก็อื่นๆ ตามมาอีกนับว่าเป็นการบั่นทอนสมรรถนะของยาง และมันก็จะไปบั่นทอนสมรรถนะของรถแบบไม่น่าเชื่อด้วยครับ…
นอก ใน ดูตรงนี้นะคร้าบบบ
ดอกยางแบบ “อสมมาตร”
อันนี้จะเรียกภาษาฝรั่งหล่อๆ ว่า “Asymmetric” พูดง่ายๆ คือ ถ้าแบ่งหน้ายางสองฝั่ง “ดอกยางจะไม่สมมาตรกัน” ซีกละอย่างอ่ะว่างั้นเหอะ พวกนี้จะออกแบบมาให้ “แบ่งหน้าที่กัน” คือ ฝั่งด้านนอก (Outside) จะเป็นดอกยางที่ใช้ “เกาะโค้ง” มันจะมีลวดลายเป็นแฉกๆ อะไรก็แล้วแต่ดีไซน์ ส่วนด้านใน (Inside) จะเป็นดอกยางแบบ “เส้นริ้ว” เน้นการรีดน้ำ ยางแบบนี้จะต้องมีบ่งบอกว่า “Inside” หรือ Outside” ที่แก้มยาง จะต้องใส่ให้ “ถูกฝั่ง” นะครับ ยางแบบนี้ก็ถือว่าปัจจุบันก็มีขายอยู่หลายรุ่น ด้วยดีไซน์ที่แปลกดี ดูไม่ค่อยจำเจ…
จะหมุนทิศไหน ก็ดู “ลูกศร” ที่แก้มยางนี่ฮะ
ข้อควรระวังของการใส่ยางสลับนอกใน
การใส่ยางแบบ “อสมมาตร” จริงๆ แล้ว “สามารถสลับฝั่งซ้ายและขวาได้” เพราะไม่ได้มี Directional กำหนดไว้ แต่มีข้อแม้ว่าต้อง “ใส่ด้านในและนอกให้ถูกต้อง” เพราะถ้าเสือกใส่ผิดฝั่ง เอา “ในไว้นอก นอกไว้ใน” ก็จะมีผลกระทบในหลายๆ ด้าน ที่โดนแน่ๆ ก็คือ “การเกาะโค้งที่ด้อยลงไป” เพราะเราดันไปเอาไอ้ที่จะเกาะโค้งไปหลบไว้ด้านใน แต่เอาไอ้ที่ไม่ใช่มาไว้นอก และสิ่งที่จะตามมา ก็คือ “อายุยางสั้นลง” ส่วนเรื่องเสียงกับการรีดน้ำ ด้วยความที่มันไม่มีกำหนดทิศทางการหมุน “อาจจะ” ไม่ด้อยลงไปมากนักก็ได้ แต่ยังไงก็อย่าให้มันผิดแล้วกัน อีกอย่าง แม้จะใส่ไม่ผิด แต่มัน “ไม่สามารถสลับยางซ้ายขวาได้” โดยปกติ ถ้าเป็นยางหน้า แล้วตั้งแคมเบอร์ลบมากๆ ด้านในจะสึกมากกว่า แต่ด้านนอกจะไม่ค่อยสึก ถ้าเป็นยางแบบ สมมาตร ยังสามารถสลับฝั่งได้ แต่แบบ อสมมาตร ต้องทำใจว่าไม่สามารถสลับเอาในไว้นอกเหมือนกับดอกยางแบบสมมาตรได้ สึกแล้วก็แล้วกัน ถ้ารักจะใช้ก็ต้องยอมรับข้อนี้…
ยางแบบ “อสมมาตร” และ “มีทิศทางการหมุน”
อดีตเคยมีครับ เอามา “เหลา” ให้ฟังกันหน่อย คือ เป็นยางที่ทั้ง “อสมมาตร” ยังไม่พอ ดัน “มีทิศทางการหมุน” บังคับอีกต่างหาก ในอดีตย้อนไปยุค 90 ยางแบบนี้ที่ดังๆ คือ BRIDGESTONE POTENZA RE710 KAI จะมีตั้งแต่ขอบ 17 นิ้ว ขึ้นไป เป็นยางรุ่นพิเศษที่จะทำประหลาดๆ กว่า RE710 ปกติ ในบ้านเรา คนที่ใส่ยาง RE710 KAI เอาคันที่ดังสุดๆ ก็คือ “SUPRA VEILSIDE COMBAT” ของ “เล็ก PROJECT-M” นั่นเอง ใส่แล้วสวยเพราะดอกยางแบบนี้มันดูล้ำสมัยไปเยอะ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการผลิตอีก ในรุ่น RE711 จนมาถึง RE71R ในปัจจุบัน ก็ยังก็เป็นแบบ Directional ปกติ ส่วนอีกยี่ห้อเท่าที่ “จำได้” ก็คือ “YOKOHAMA NEOVA” รุ่นยุคเดียวๆ กันนั่นแหละ ออกมาเป็นแฟชั่นในยุคนั้นแล้วก็หายไปเช่นเดียวกัน…
เปรียบเทียบกับดอกยางทั้ง 3 ประเภท
ข้อควรระวังกับยางแบบนี้ (รู้ไว้หน่อยก็ดี)
แม้ยางแบบนี้ ในปัจจุบันผม “คาดว่า” ไม่น่าจะมีขายอีกแล้ว เพราะ “เรื่องเยอะ” ในการออกแบบว่ะ เอาง่ายๆ ยางแบบนี้ “สลับอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น” ซ้ายคือซ้าย ขวาคือขวา เพราะมันโดนบังคับทั้งดอกยางแบบ อสมมาตร และ ทิศทางการหมุน ก็เลยเป็นการ “สิ้นเปลือง” ทั้งในด้านการผลิต และ ในด้านการใช้งาน จึงไม่นิยมผลิตให้มันแพงเล่นอีก…
- ยาง YOKOHAMA NEOVA ในตำนาน แบบ อสมมาตร แล้วดันเป็นแบบ มีทิศทางการหมุน อีกต่างหาก ลองดูครับ สลับฝั่งกันไม่ได้เลย และต้นทุนการผลิตสูงครับ เพราะต้องเปิด Mold การผลิตสองแบบ คือ ฝั่งซ้ายและขวา พูดง่ายๆ คือ “ต้นทุนคูณสอง” ซึ่งแบบอื่นจะเป็น Mold แบบเดียว (แต่ต่างขนาดก็อีกเรื่องนะ) ตอนหลังไอ้ยางแบบนี้จึงถูกยกเลิกไป
บทสรุป
อาจจะดูเป็นเรื่องที่พื้นๆ ส่วนใหญ่ร้านยางมาตรฐานก็ “มักจะ” ใส่ไม่ผิด แต่ “รู้และตรวจสอบไว้บ้างก็ดี” คนนะเว้ยไม่ใช่เครื่องจักร วันนึงก็ต้องมี “เบลอ” หรือ “ก๊ง” ใส่ผิดใส่ถูกกันมั่ง ดังนั้น เมื่อคุณเป็นเจ้าของรถ และเป็นคน “จ่ายตังค์” สำคัญที่สุด “คุณต้องเป็นคนใช้รถคันนี้เอง” ผมไม่ได้ให้คุณไปสอนช่าง แต่สิ่งที่คุณต้องทำ คือ “จะต้องตรวจสอบให้เป็นด้วย” นะครับ ถ้าถูกก็แล้วไป ถ้าผิดจะต้องทักท้วงได้ ก่อนที่จะไปวิ่งจริง ก็หวังว่าจะนำความรู้ง่ายๆ เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงนะครับ…
ขอขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วน จาก Wheel And Tire ผู้แทนจำหน่ายยาง DUNLOP, www.facebook.com/wheelandtire/