Sweet Street : Nothing Team S15 “งานหวาน” by V.J. Workshop

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่, พงศกร พรามแม่กลอง

เก็บไว้ Surprise ก่อนจะสิ้นปี กับ SILVIA S15 ของทีม Nothing ที่บรรจงสร้างกันแบบ Clean พยายามรักษาความสะอาด และความเนี้ยบใน Detail ดั้งเดิมเอาไว้ “แนวนี้มันกำลังมา” แม้ว่ารถแต่งแบบอลังการต่างๆ จะทำยากแล้ว การทำ “เดิม” นั้น อาจจะ “ยากยิ่งกว่า” สำหรับรถที่มีอายุมากเกือบ 20 ปี ที่ส่วนใหญ่ก็มักจะผ่านการทรงเครื่องแบบ “ไม่เหลือเดิม” กันแล้ว และยิ่งรถแบบนี้มีการ “เปลี่ยนมือ” บ่อย ก็ยิ่งทำให้สภาพแย่ลง หากคนที่ซื้อไปไม่ดูแลต่อ รถสปอร์ตเหล่านี้จึง “หาเดิมสวยได้ยาก” กลับกลายเป็น “ความเก๋า” ตอนนี้รถสปอร์ตญี่ปุ่นยุคปี 90 กำลัง “ถูกนำมาเก็บรายละเอียดเดิมๆ” เหมือนกับรถ Retro แต่ได้โปรดอย่าเรียกรถพวกนี้ว่า Retro ไม่ว่ามันจะผ่านไปกี่สิบปี เพราะรูปทรงมัน “ล้ำสมัย” เกินความเป็น Retro ไปแล้ว ย้อนกลับมาที่คันนี้ เป็นของ “กอล์ฟ Nothing” ที่ตั้งใจจะเก็บคันนี้ไว้แบบเนี้ยบๆ ทุก Detail เราจึงมองเห็น “ความตั้งใจ” เลยนำเสนอครับ…

กระแสท่อ “ไทเท” มาแรง แต่ว่า…

                แน่นอนที่สุด ตอนนี้ใคร “สุด” ต้องใช้ “ท่อไทเทเนียม” ซึ่งบ้านเราก็มีช่างเก่งๆ ที่ทำได้สวยงามหลายคนแล้วตอนนี้ ก็ดีที่มีการพัฒนาเกิดขึ้น สำหรับท่อไทเทเนียม คุณสมบัติของมัน “นอกจากที่เรารู้” เช่น เบา สวย แพง สีสันสะดุดตา สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญก็จะมีเรื่องของ “การระบายความร้อนที่รวดเร็ว” ซึ่งไทเทเนียมสามารถระบายความร้อนได้เร็วกว่า อะลูมิเนียมหรือสเตนเลส ถ้านำมาทำเป็นท่อไอเสีย ก็จะได้เปรียบในข้อนี้อย่างชัดเจน และด้วยเหตุนี้เอง ว่าทำไมไทเทเนียมถึงใช้ในวงการ “มอเตอร์สปอร์ต” เป็นส่วนมาก แม้ว่าตอนนี้จะมีคนทำท่อไทเทเนียมกันเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงคุณภาพได้ก็คือ “การเชื่อม” นั่นเอง ในด้านเครื่องมือเชื่อม ก็จะต้องเป็นสำหรับใช้กับไทเทเนียมโดยเฉพาะ และการเชื่อมจะมีสองแบบหลักๆ แบบแรก “เชื่อมตะเข็บแบบไล้ด้วยหัวเชื่อม ไม่ใช้ลวดเชื่อม” อันนี้จะใช้สำหรับการทำท่อที่ไม่ได้รับแรงและความร้อนมาก เช่น ท่อปากทางเข้าเทอร์โบ ท่อกรองอากาศ อะไรพวกนี้ มันไม่ต้องรับภาระอะไรมากมาย การไล้ด้วยหัวเชื่อม รอยเชื่อมจะเรียบดี สวยงาม เนียน ส่วนการเชื่อมแบบ “ใช้ลวดเชื่อม” ก็จะเป็นเหล่า “ท่อไอเสีย” ต่างๆ ที่จะต้องรับภาระมาก ทั้งความร้อนหรือแรงสั่นสะเทือนจากการทำงานของเครื่องยนต์ในรอบสูง จึงต้องใช้ลวดเชื่อมให้มีความแข็งแรงสูง ไม่สามารถใช้วิธีไล้ด้วยหัวเชื่อมอย่างเดียวได้ ไม่งั้น “ขาด” แน่นอน มันมีวิธีทำคนละอย่างกันนะครับ…

 

ดัดไม่ได้ เลยต้อง “ควั่นข้อ” ก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อย

                ท่อไทเทเนียมเป็นวัสดุที่ “แข็ง” แต่ “ไม่เหนียว” อย่างพวกสเตนเลสหรืออะลูมิเนียม พวกนี้ยังมีความเหนียว สามารถใช้วิธีการดัดได้ แต่ไทเทเนียมไม่ได้ครับ ด้วยความแข็งแต่ไม่เหนียว เคยมีคนลองขึ้นเครื่องดัดก็ไม่ยอมไป เหนี่ยวได้นิดเดียว มากกว่านั้นก็ “ขาด” เนื้อท่อก็บางจุงเบย แทบจะไม่มีอะไรให้ยืดตอนดัดโค้ง ดังนั้น การทำท่อในโค้งลักษณะต่างๆ จึงต้องใช้วิธีการ “ควั่นข้อ” คล้ายๆ ข้ออ้อยนั่นแหละ เพื่อนำมาเชื่อมปะติดปะต่อกันให้เป็นท่อโค้งตามที่เราต้องการ แต่ในการควั่นข้อนั้น มันก็มีข้อแตกต่าง และมีเทคนิคกันอีกเหมือนกัน…

ลองสังเกตดูครับ การเชื่อมรอยควั่นเข้าด้วยกันเป็นท่อ ไม่ต้องไทเทเนียมหรอก อะไรก็ได้ ดูบางอันก็ “เหลี่ยมเยอะ” เหลือเกิน แถมรอยเชื่อมยังค่อนข้างหนา ข้อเสียก็คือ “การไหลของอากาศจะด้อยลง” (Flow Drop) จากการที่อากาศวิ่งจนเหลี่ยมสันเกิดการ “หมุนวน” (Turbulence) ไหล “ไม่ลื่นคอ” และที่แน่ๆ เมื่ออากาศวิ่งชนอุปสรรคต่างๆ หรือมุมหักงอ จะทำให้เกิด “ความร้อนสะสม” ขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ท่ออะไรก็ตาม ที่ดีควรจะ “โค้งงอให้น้อยที่สุด” พยายามหลีกเลี่ยง “การทำท่อเป็นมุม” โดยเฉพาะมุมฉาก (คงไม่มีใครเล่นท่ายาก ทำท่อ “มุมแหลม” นะ) เพราะอากาศเมื่อวิ่งปะทะสิ่งกีดขวางตรงๆ จะยิ่งทำให้ Flow Drop และเกิดความร้อนได้มากที่สุดครับ โดยเฉพาะ “ท่อไอเสีย” ยิ่งชัดเจน ลองดูครับ ถ้าท่อไอเสียที่มีมุมหัก มีส่วนแหลมคมจากการเชื่อมข้อควั่นที่ไม่เรียบร้อย หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ไอเสียไป Drop ตรงช่วงนั้นจะเกิดการ “Overheat” ดูสีท่อที่ “จุดหักเห” จะเป็นสีไหม้ๆ เขียวๆ แดงๆ (แล้วแต่วัสดุ) ถือว่าไม่ดีครับ จะต้องแก้ให้เป็น “โค้งที่สวยงามและไหลลื่น” ก็จะแก้ปัญหาได้มาก อันนี้เจอบ่อยครับ อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่เคยสังเกต ไปลองดูครับ ถ้ามีปัญหาก็รีบแก้ไขซะ…

อย่างท่อปากเทอร์โบคันนี้ ยอมรับว่าทำได้สวยงามมาก และเป็นโค้งที่ต่อเนื่อง เนียน ไม่มาเป็นเหลี่ยมๆ ปล้องๆ ผมลองสอบถามทางร้าน RC TURBO (เหรียญชัย) ที่ทำท่อรถคันนี้ ก็ได้ทราบถึงเทคนิคการควั่นท่อ ทางร้านจะใช้ “เครื่องตัดท่อแบบปรับตั้งองศาการตัดได้” ก่อนอื่นก็จะต้องดูองศาที่เราต้องการก่อนว่าจะเอียงไปกันท่าไหน แล้วไปกำหนดค่าองศาที่เครื่องตัดท่ออีกที ตรงนี้ต้องอาศัยการ “กะ” เอานะครับ เพราะมันคงไม่ใช่ตัวเลขเป๊ะๆ “ประสบการณ์” ล้วนๆ จะเอากี่ข้อมาต่อกันก็แล้วแต่ความยาวอีก การกำหนดองศาก็จะดีที่เวลานำมาเชื่อมติดๆ กัน ก็จะได้โค้งที่สวยงาม ส่วนบางร้านก็อาจจะไม่ได้ใช้เครื่องตัดแบบนี้ แต่สามารถทำแบบเรียบร้อยก็ได้ครับ ซึ่งคนทำก็ต้องกำหนดองศาได้ด้วยตัวเองจึงจะออกมาสวย…

มี “ตูดเป็ด” อีกสักนิดก็น่าจะดูโล้นน้อยลง ล้อยื่นนิดหน่อยสไตล์ซิ่ง แต่ในมุมมองของผม ถ้ารถเรียบๆ ก็น่าจะลองดู ล้อพอดีซุ้ม ใช้แคมเบอร์ลบนิดๆ พอ (คงไม่ต้องถึงขนาด Flush) ก็อาจจะดูดีไปอีกแบบหนึ่ง

สีสัน สั่งได้ด้วยความร้อน

อีกประการที่ชอบกันเหลือเกิน คือ “สีสัน” บนท่อไทเทเนียม ที่เป็นเอกลักษณ์ จริงๆ แล้วท่อไทเทเนียมจะเป็นสีเทาดำ เป็นสีจากเนื้อวัสดุเลยครับ แต่เมื่อเรามาผ่านกรรมวิธีสร้างเป็นรูปแบบต่างๆ มันก็ยังเป็นสีเทาดำเหมือนเดิม แต่ในช่วงที่โดนความร้อนสูงๆ จะเปลี่ยนสีเป็นม่วงเหลือบๆ มันก็จะเหลือบเป็นควั่นๆ เหมือน “กุ้งมังกร” ซึ่งสีของไทเทเนียม ก็จะมี 3 สี หลักๆ คือ ม่วง ใช้ความร้อนเผาไม่สูงนัก ส่วน เขียว ฟ้า ก็จะใช้ความร้อนสูงขึ้นอีกในการเผาให้ขึ้นสี ถูกใจวัยรุ่นดีนักแล…

Max Power : 438.38 PS @ 7,700 rpm

Max Torque : 43.76 kg-m @ 5,000 rpm

                เครื่องของคันนี้ก็ยังคง Concept ที่วิ่งถนนแบบปกติสุขได้อยู่ เน้นความสวยงามเรียบร้อยในห้องเครื่อง ส่วนจุดที่เจ้าของรถอยากนำเสนอ คือ Turbo ของ OWEN ที่ซื้อมาจาก “คิว” MB MOTORSPORT คือ เห็นมันแปลกดีว่ะ เลยขอจัดสักหน่อย ส่วนแรงม้าก็ไม่เน้นบ้าพลัง เอาพอมันส์ แต่เน้นความทนทานและ “ขับได้” มากกว่า สำหรับกราฟแรงม้า (เส้นสีน้ำเงิน) ของคันนี้ Power Band ก็จะค่อนไปทางปลาย ตามประสาเครื่องความจุ 2.0 ลิตร ในช่วง 4,000 rpm กราฟจะเริ่มชันขึ้น ถือว่าไม่รอรอบมากเท่าไรนักนะครับ ปกติก็จะรอบประมาณนี้ที่เทอร์โบขนาดกลางจะทำงาน กราฟจะค่อยๆ ขึ้น ไม่ชันมาก อาจจะดูไม่โหด แต่ขอให้ดู “อาการที่แสดงออก” แบบนี้จะ “ขับง่าย” และอาจจะเร็วก็ได้ เพราะอาการฟรีทิ้งจะน้อยกว่าแบบจู่ๆ โดดมา และที่แน่ๆ “เครื่องทนกว่า” เพราะรอบขึ้นแบบต่อเนื่อง ไม่กระชากฟาดแรงๆ พวกนี้จะทำให้เครื่องสึกหรอและเสียหายได้ง่ายกว่า กลับมาที่กราฟแรงม้ากันต่อ ในช่วง 5,000 rpm มีแรงม้าให้ใช้ 300 PS เยอะดีเหมือนกัน หลังจากช่วงนี้ แรงม้าจะเพิ่มเป็นอัตราส่วน “พันรอบต่อห้าสิบตัว” ไปเรื่อยๆ จนสุดเพดานที่ 7,700 rpm ก็นับว่าเป็นรถที่เรียกได้ว่า “ขับสนุก ไม่ต้องลากรอบสุดบ่อยๆ” มีกำลังขึ้นแบบ Linear ดีครับ…

มาถึงแรงบิดกันบ้าง (เส้นสีฟ้า) ในช่วง 4,000-5,000 rpm กราฟจะโดดนำขึ้นมาเป็นมุมชันกว่ากราฟแรงม้า แรงบิดคันนี้จะมาแบบ “ทีเดียว Peak” แรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 5,000 rpm พอดีเป๊ะ หลังจากนั้นก็ทรงตัวนอนยาวไปถึง 7,700 rpm “อันนี้แหละที่น่าคบ” เพราะถ้าแรงบิดมาเป็นช่วงกว้างขนาดนี้ ก็จะสามารถทำอัตราเร่งได้อย่างต่อเนื่อง นับว่าการเลือกเทอร์โบขนาดกลาง แคมชาฟท์ที่องศาไม่สูงมากเกินไป “เหมาะสมกัน” อย่างที่บอกครับ การดูกราฟ “จะไม่ดูที่แรงม้าหรือแรงบิดสูงสุดเท่านั้น” นี่คือ “สไตล์ของผม” ที่จะสนใจว่า “แรงม้าและแรงบิดที่มีนั้น จะเป็นช่วงกว้างหรือไม่ และใช้จริงได้เท่าไรกันแน่” ไม่ใช่ม้าทะลัก แต่มาเป็นจุดแคบๆ แล้วเลิกกัน “ไม่มีประโยชน์ครับ” แล้วที่เหลือล่ะไปไหน ??? ผมไม่ได้เขียนเชียร์คันนี้เป็นพิเศษนะครับ เพียงแต่ว่าอยากจะให้ “รับชมอย่างถ่องแท้” ว่าที่เอามาให้ดู “ไม่ได้เอาไว้โชว์” แต่ “เอาไว้ให้ดูนิสัยของเครื่องและรถคันนั้น” ว่าทำมาถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่ครับ…

ยังคงเอกลักษณ์ของดั้งเดิมไว้ครบ แม้แต่พวงมาลัยก็ยังเดิม ไอ้ของพวกนี้มันแปลกนะ คนอื่นอาจจะดูว่ามัน “ไม่ซิ่งสะใจ” แต่ถ้าคิดมุมกลับ มันกลายเป็นของหายากไปซะแล้ว เพราะส่วนใหญ่ก็จะทิ้งๆ ขว้างๆ ของเดิมกันหมด ถ้ารถมีภายในที่ “สวย” และ “เรียบร้อย” อันนี้สิ “หายาก” และ “ดูน่าขับใช้งาน” ก็แล้วแต่มุมมองครับ

Comment : กอล์ฟ Nothing

                ถามว่าทำไมผมถึงเล่น SILVIA S15 ก็เป็นความชอบมาแต่เด็กเลยครับ เห็นตอนที่มันยังเป็นรถใหม่ป้ายแดง ซึ่งตอนนัั้นยังมีไม่กี่คัน และราคามันก็แพงมาก พอตอนนี้มีกำลังที่จะซื้อได้ พอไปเจอรถคันนี้ มีสภาพดี วิ่งน้อย และเป็นรถเดิมๆ เลยซื้อมาเก็บไว้ก่อน ส่วนตัวผมก็ชอบรูปทรงมันนะ เลยไม่อยากจะแต่งมากเกินไปจนเสียรูปทรงของเดิม เก็บ Body เดิมๆ เนียนๆ ดูแล้วเพลินตาดี ส่วน Aero Part ที่ใส่ ก็จะเป็นแค่เสริมนิดหน่อยให้รถดูมีเสน่ห์ขึ้น ไม่เดิมเกินไป ส่วนตัวผมชอบงานคาร์บอนอยู่แล้ว ส่วนการโมดิฟายเครื่อง ผมก็มอบให้เป็นหน้าที่ของ “พี่แจ๊ค” V.J. Workshop ผมบอกแค่ว่าอยากลองเทอร์โบ OWEN มันแปลกดี กะเอาแรงม้าแค่ 400 PS ประมาณนี้พอ เพราะผมอยากจะให้มันขับใช้งานได้ ไม่ต้องเค้นแรงม้า เอาขับสบาย บูสต์แค่ 1.3 บาร์ ก็พอ เครื่องตัวนี้ผมไม่ได้เปลี่ยนไส้ในครับ เพราะรื้อมาดูแล้วก็สภาพยังสวยมาก ผมลองเอาไปวิ่งจับเวลา 402 ม. แบบเล่นๆ ทำได้ “12.4 วินาที” เข้าเส้นที่ความเร็ว 180 km/h พอใจมากครับ เกินคาดสำหรับรถที่เน้นวิ่งถนนเป็นหลัก ท้ายสุด ผมขอขอบคุณ V.J. Workshop และ MB PERFORMANCE Thailand ด้วยครับ…

 

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

สำหรับคันนี้ก็เป็นไปในแนวเรียบๆ เหมือน เพื่อนไก่ และ เพื่อนเอ๊ะ ที่โชว์โฉมไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ไม่รู้สินะ ผมอาจจะชอบรถเรียบๆ เนียนๆ สวยๆ แต่มี “ลูกเล่น” และ “เสน่ห์” เสริมมานิดหน่อย ซึ่งตอนนี้รถเดิมกลับกลายเป็น “ของหายาก” แล้ว ส่วนอื่นๆ ก็ถือว่าทำได้เรียบร้อยดีมากครับ ห้องเครื่อง การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำทุกคัน ไม่จำเป็นว่ารถแรงต้องรก ส่วนภายในก็มีสภาพสวย ใส่อุปกรณ์ที่จำเป็นกำลังเหมาะสม เครื่องยนต์ก็มีแรงม้าพอประมาณ ถ้าจะบอกว่าแรงโคตรๆ ก็ยังพูดไม่เต็มปาก แต่ว่าถ้าเป็นในลักษณะของ Street Car จริงๆ แบบใช้งานได้ไม่ฝืนสังขาร แค่นี้ก็พอแล้วครับ แต่มี “ข้อควรเปลี่ยนแปลง” นิดหน่อย อยู่ที่ “ยางหน้า” ครับ เพราะใช้ยางเกรดที่เป็นรองจากยางหลังอยู่พอสมควร หลายคนอาจจะคิดว่า “รถขับหลัง ยางหลังควรจะเกาะกว่ายางหน้า” ถูกต้องครับ เพราะเป็นล้อขับเคลื่อน ควรจะ “เปลี่ยนให้ยางเป็นเกรดสูงเหมือนกันทั้ง 4 เส้น” จะทำให้รถมีการเกาะถนนที่สมดุลย์ดีกว่ายางต่างเกรดกันครับ…

 

ขอขอบคุณ : “กอล์ฟ Nothing” เจ้าของรถ, V.J. Workshop Tel. 08-4111-3773, RC Turbo by เหรียญชัย Tel. 08-9889-8966, “ประทวย GODS” ช่วยเหลือในการทำคอลัมน์…

X-TRA Ordinary

กระแส SUPER GT กำลังมา เราย้อนอดีตไปสู่ JGTC กันหน่อยดีไหม เจ้า SILVIA S15 SPEC R ก็เคยมีรถแข่งในรุ่น GT300 ที่ผลิตโดย NISMO เหมือนกัน SILVIA S15 GT300 จะผลิตมาเพียง 300 คัน เท่านั้น ตอนนี้ก็เป็น “รถสะสม” ของคนที่คลั่งไคล้รถแข่งมี “ดีกรี” สำหรับคันที่ได้ตำแหน่ง “โพล” ในรุ่นนี้ ก็คือ ทีม DAISHIN ขับโดย Nobuyuki Oyagi และ Takayuki Aoki ได้แชมป์ในปี 2001 ประเภทบุคคล (ซึ่งในประเภททีม ก็จะแบ่งไปอีกรางวัล) เครื่องยนต์เป็น SR20DET NISMO ซึ่งก็อย่าหวังว่ามันจะเหมือนกับเครื่อง Production ซึ่งมันเป็น Race Engine โดยเฉพาะ ใช้ระบบหล่อลื่น Dry Sump และอื่นๆ อีกมากมายที่ “ไม่ถูกเปิดเผย” ใครมีเก็บไว้ก็ถือว่าทรงคุณค่ามากๆ นะครับ…

 

Tech Spec

 

ภายนอก

Aero Part : BEHRMANN Wise Square D1 GP

แก้มหน้า : ORIGIN

 

ภายใน

เบาะ : RECARO Cross Sportster CS

หัวเกียร์ : NISMO

กระจกมองหลัง : ZOOM Engineering

หน้าปัด : SILVIA S15 Australian Version 260 km/h

ปรับบูสต์ : GReddy

เกจ์วัดบูสต์ : Defi

เกจ์วัด Multifunction : Defi ZD Advance

 

เครื่องยนต์

รุ่น : SR20DET

วาล์ว : BRIAN CROWER

สปริงวาล์ว : BRIAN CROWER

แคมชาฟท์ : HKS 264 องศา

ปะเก็นฝาสูบ : HKS 1.6 มม.

เทอร์โบ : OWEN GT 3076

เวสต์เกต : GReddy

เฮดเดอร์ : RC Turbo by เหรียญชัย

อินเตอร์คูลเลอร์ : GReddy

งานเดินท่อทั้งหมด : RC Turbo by เหรียญชัย

ลิ้นปีกผีเสื้อ : RC Turbo by เหรียญชัย ขนาด 70 มม.

ออยล์คูลเลอร์ : HKS

หม้อพักไอเสีย : APEXi N1

หัวฉีด : Injector Dynamic 800 C.C.

รางหัวฉีด : SARD

คอยล์จุดระเบิด : SPLITFIRE

กรองอากาศ : K&N

หม้อน้ำ : F-WIN

กล่อง ECU : HKS F-CON V PRO 3.3 by OHURA

 

ระบบส่งกำลัง

คลัตช์ : OS Giken

ปั๊มคลัตช์ : NISMO

ลิมิเต็ดสลิป : NISMO

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพ : TEIN FLEX

ค้ำโช้คอัพ : CUSCO

ชุดอาร์มช่วงล่าง : ORT

ล้อหน้า : YOKOHAMA ADVAN RZ ขนาด 8.5 x 18 นิ้ว

ล้อหลัง : YOKOHAMA ADVAN RZ ขนาด 9.5 x 18 นิ้ว

ยางหน้า : YOKOHAMA A. Drive ขนาด 235/40R18

ยางหลัง : YOKOHAMA NEOVA AD08 ขนาด 265/35R18

เบรกหน้า-หลัง : ENDLESS

 

ชุดนี้ “กำลังดี” เหมือนมีของแต่ไม่ค่อยโชว์ ล้อและเบรกเข้ากันดี ให้สีตัดกันกำลังเหมาะ แต่ว่ายางหน้านั้นน่าจะเปลี่ยนให้ “ดีเท่ายางหลัง” นะครับ ผมอยากจะให้ความสำคัญกับยางหน้าด้วย แม้ว่าจะเป็นรถขับหลังก็ตาม เพราะล้อหน้ามันจะทำหน้าที่ “บังคับเลี้ยว” และ “เบรก” ซึ่งเป็น “ล้อนำทาง” เมื่อรถขับเร็วๆ เกิดต้องเบรกหรือเลี้ยวเร็วๆ ถ้ายางหน้าไม่ดี ก็จะเกิดอาการที่ “ไม่ปลอดภัย” ไม่ว่าจะเป็น “ล้อล็อก” หรือ “เลี้ยวไม่เข้า” แต่ถ้าเราใช้ยางเกรดดี ก็จะช่วยเพิ่มสมรรถนะและความปลอดภัยขึ้นไปอีก

เบาะกึ่ง Bucket Seat ที่ให้ความสบายในการขับขี่ทั่วไปได้มากกว่า Full Bucket Seat ที่สำคัญ “ยังสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยเดิมได้” เพราะปีกเบาะไม่สูงมากนัก ถ้าเป็นพวก Full Bucket Seat ปีกเบาะสูงๆ ใช้เข็มขัดเดิมมันจะ “ติดปีก” ทำให้ “ไม่รัดตัวคน” และ “ล็อกช้า” เวลาเกิดแรงเบรกหรือชน เพราะระยะการทำงานมันผิดไป ระวังนะครับ ถ้าจะใส่ Full Bucket Seat ก็จะต้องใช้กับ “เข็มขัดนิรภัยแบบ 4 จุด ขึ้นไป” ด้วยนะครับ อย่าใช้กับเข็มขัดนิรภัยเดิมเด็ดขาด

“งานหวาน” เรียบร้อยมากสำหรับห้องเครื่องคันนี้ ดูเอาเองครับ ไม่ต้องพูดกันมาก อยากจะให้รถโมดิฟายทำงานให้เรียบร้อยกันทุกคันครับ ท่อปากเทอร์โบ งาน “ไทเทเนียม” อันนี้เป็นการเชื่อมไล้ด้วยหัวเชื่อม ตะเข็บเรียบ สำหรับ “งานไม่หนัก” และมีการตัดองศาของข้อควั่นที่เหมาะสม มันเลยได้โค้งสวยแบบนี้ ยิ่งท่ออากาศหรือท่อไอเสียรถโมดิฟาย ที่ต้องเน้น High Flow จึงไม่ควรมีการหักมุม หรือตะเข็บหนาๆ มาขวางไว้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งงานตรงนี้ก็อยู่ที่ฝีมือและประสบการณ์คนทำแล้วครับ

Diffuser ในชุดพาร์ทของ BEHRMANN Wise Square D1 GP สวยกำลังดี แท่งสีส้มๆ คือ ชุดอาร์มช่วงล่าง ORT และโช้คอัพ TEIN FLEX

ไม่มีบรรยาย