เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ภูดิท แซ่ซื้อ (FotoGolfer), ธวัชชัย กรสิทธิศักดิ์ (SlowTake), XO Photo Team
หลังจากที่เกิด “ประเดิม” ปรากฏการณ์ “Number 6” ขึ้นในเมืองไทย กับรายการ Souped Up Thailand Records 2015 ณ สนาม Buriram United Dragster Track โดยรถ Dragster หรือ “หน้ายาว” ของ Siam Prototype ที่แม้จะไม่ใช่ Official Time แต่ก็ถือว่า “ไปได้” รวมถึงแชมป์อย่าง “บุญตา RAM 77” ก็ทำเวลาได้ “7.066 วินาที” เข้าใกล้เลข 6 มาทุกที และที่สำคัญ หลายสำนักก็หันมาทำรถ Dragster กันหลายคันแล้ว เป็นเรื่องที่ดีครับ เราจะได้เห็นรถหน้ายาวมาห้ำหั่นกันมากขึ้น และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความสามารถ “ฝีมือคนไทย” ที่สร้างรถ Dragster ที่ทั้งเร็วและมีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่แปลกที่จะเรียนรู้จากของนอก แต่นำมาพัฒนาให้เป็น “Dragster วิถีไทย” จาก 3 สำนักชั้นนำ คือ RAM 77, Siam Prototype & GT Garage & SPEED-D Proshop และ AOR 77 SHOP ที่เริ่มสร้างออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เราจะพาไปดู “ขั้นลึก” เจาะรายละเอียดการสร้างรถ Dragster ที่มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง โครงสร้างเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร รับรองครับ “ที่นี่ที่เดียว” เท่านั้น !!!
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนครับ ว่าไอ้รถหน้ายาวๆ เหมือนไม้จิ้มฟันขนาดยักษ์ ที่เขาเรียกว่า “Dragster” นั้น ในสากลเขามีที่มาอย่างไร เพราะแม้ว่าจะเป็นรถ Dragster ที่ทรงประมาณนี้ก็จริง แต่มันก็มีขนาดที่ไม่เท่ากันในแต่ละรุ่น แบ่งแยกตามเครื่องที่ใส่ ก็ขอกล่าวถึงพอสังเขป 2 รุ่น ที่บ้านเรานิยมเอา Form มาสร้างกัน โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ของ NHRA ดังนี้…
Top Fuel
เป็นคลาสสูงสุดของ Dragster ที่มีความแรงมากที่สุด ตัวเฟรมจะมีความยาวที่สุด ระยะห่างกึ่งกลางล้อหน้าถึงหลัง หรือ Wheelbase อยู่ที่ 25 ฟุต หรือ 7.62 เมตร หรือ 300 นิ้ว ซึ่งทาง Siam Prototype ก็สั่งรถตัวนี้มา เพียงแต่เครื่องนั้นยังไม่ถึงขั้น น้ำหนักรถแบบ “ครบๆ” (Race-Ready trim) อยู่ที่ “2,330 ปอนด์” หรือ “1,056 กก.” สำหรับเครื่องยนต์ของ Top Fuel จะกำหนดให้มีความจุอยู่ที่ 500 คิวบิกนิ้ว หรือ 8.2 ลิตร มี Supercharged หรือ Blower แบบ Root-Type เป็นระบบอัดอากาศ แรงม้าอยู่ประมาณ “10,000 hp” อั้ยย่ะ !!! แรงอะไรขนาดนั้น ส่วนที่ทำให้มันแรงบ้าคลั่งขนาดนี้ ก็คือ “เชื้อเพลิง” ที่ใช้ “ไนโตรมีเทน” (Nitro-Burning) ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ผสม Methanol 10 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ ไอ้นี่ก็เอาไว้ทำ “ระเบิด” นั่นแหละครับ ตัวมันเองมี “ออกซิเจน” สูงมากกว่าเชื้อเพลิงเบนซินหรือแอลกอฮอล์อยู่หลายเท่า ทำให้การสันดาปภายในรุนแรงมาก สังเกตรถพวกนี้เวลาเร่งออกตัว “ไฟออกท่อทุกท่อ” เวลาเครื่องพัง จะ “ระเบิด” รุนแรง ถามว่ากินจุหรือเปล่า มันก็สามารถ “ผลาญ” ไนโตรมีเทน 15 แกลลอน หรือ 56 ลิตร ให้เกลี้ยงวอดภายใน 1 Run เท่านั้น !!! เช็กบิล 402 ม. แถวๆ “สามวิ.กว่า” ความเร็วเข้าเส้นพวกนี้อยู่ราวๆ “330 mph” หรือ “531 km/h” เชียวนะ !!! แรง G ก็อยู่ราวๆ 4-5 G ใกล้จุดที่มนุษย์ทั่วไปจะ “หมดสติ” แล้วละครับ…
Top Alcohol
ถ้าดูเผินๆ ก็จะคล้ายกับ Top Fuel เพราะตัวเฟรมรถและ Wheelbase นั้นมีความยาวพอๆ กัน ซึ่ง Top Alcohol กำหนดไว้ว่า Wheelbase “ไม่เกิน 300 นิ้ว” ส่วนใหญ่ที่เห็นในบ้านเรา พวกหน้ายาวก็จะอยู่แถวๆ 265 นิ้ว เครื่องยนต์ก็มีความจุพอๆ กัน มี Supercharged หรือ Blower เหมือนกัน แต่ผิดกันที่ “เชื้อเพลิง” เพราะรุ่นนี้จะใช้ “แอลกอฮอล์” พวก “เมทานอล” (Methanol-Burning) การสันดาปจะรุนแรงน้อยกว่า Top Fuel (ก็ไม่แน่นะ อาจจะมี “ผสม” ลงไปบ้าง แต่อัตราส่วนไม่มากนัก) แน่นอนว่า ตัวเครื่องก็ย่อมไม่เหมือนกัน แม้หน้าตาจะคล้ายกันก็ตาม เวลารถคลาสนี้ เฉลี่ย “ห้าวิ.กว่า” ความเร็วเข้าเส้นก็เฉลี่ย 270-285 mph หรือ 430-460 km/h แค่นี้ก็ “เยี่ยวเล็ด” แล้วครับ รุ่นนี้บ้านเรานิยมเอา Form มาทำกันมากที่สุด โดยใส่เครื่อง 2JZ-GTE ที่ถนัด หรือจะข้ามไปเล่นกับ V8 อเมริกัน ก็แล้วแต่ศรัทธา…
กลับมาที่เมืองไทยกันบ้าง Dragster ในปัจจุบันก็เป็นที่เฟื่องฟูมาก หลายคนก็ “ขยับ” จากรถเฟรม ขึ้นมาขับ Dragster กัน ก่อนอื่นเรามาย้อนเรื่องราวกันหน่อย Dragster คันแรกในเมืองไทย หนึ่งในผู้ครอบครอง คือ “คุณชนินทร์ ธรรมาธิคม” แห่งสนาม Bangkok Drag Avenue ในปัจจุบัน ได้ครอบครองอยู่ในขณะนั้น ถ้าใครเป็นแฟนๆ ควอเตอร์ไมล์ยุคMMC ก็จะเห็น Dragster คันนี้จอดโชว์อยู่ที่สนาม หลังจากหมดยุค สนาม MMC ปิด รถคันนี้ก็ถูกเก็บไปสักที่หนึ่ง ในปี 2008 “บุญตา วรรณลักษณ์” แห่ง RAM 77 RACING ได้เอาคันนี้มา “ปลุกชีพ” โดยเอาโครงสร้างเดิมมาศึกษา และปรับปรุงใหม่บางส่วน เป็นรถ “สีเหลือง” ใส่เครื่อง 2JZ-GTE วิ่งอยู่แถวๆ “7.6 วินาที” (ในปี 2008-2009 Souped Up Thailand Records ไม่ได้จัดแข่ง ก็เลยไม่มีการทำสถิติขึ้น) หลังจากนั้นก็ “สร้างเอง” ขึ้นมาอีกคันหนึ่ง “สีส้ม” วิ่งในงาน Souped Up เมื่อปี 2010 ไม่ผิดหวัง ได้ยืนตำแหน่ง “โพล” อีกครั้ง ทำเวลา “7.295 วินาที” โดยเฉือนคู่แข่ง Dragster ฝีมือคนไทยอีกคน อย่าง “เปี๊ยก บางใหญ่” ไปเพียง “จุดสอง” หลังจากนั้น Dragster ก็เริ่มเฟื่องฟู ทาง Siam Prototype ที่ถือว่าเป็นพรรคพวกกับ RAM 77 และ SPEED-D รวมถึง GT GARAGE ก็ได้สร้าง Dragster ใช้เครื่อง CHEVY V8 คันที่ทำปรากฏการณ์ Number 6 นี่แหละ แล้วครั้งที่ผ่านมา ก็ได้สั่ง Dragster จากอเมริกามาทั้งคัน ตัวรถเป็น Top Fuel Class ที่มี Wheelbase 300 นิ้ว ส่วนเครื่องเป็น HEMI V8 เพื่ออัพเกรดและศึกษาว่ารถเฟรมนอกเป็นอย่างไร และต้องพัฒนาอย่างไรต่อบ้าง ซึ่งรอดูใน Souped Up Thailand Records 2016 ก็แล้วกัน ว่าจะทลายกำแพงเลข 6 สร้างสถิติแบบเป็น Official Time ได้หรือไม่…
จะว่าด้วยเรื่องของ “แชสซี” ความเป็นจริงแล้วหมายถึง “โครงรถยนต์” แต่บ้านเราคิดไปว่าเป็นแชสซีแยกเหมือนรถกระบะ รถบรรทุก โครงสร้างของ Dragster ผมขอพูดถึง “ภาพรวม” ก่อนแล้วกัน คนทั่วไปมักจะคิดว่า โครงสร้างหรือ “เฟรม” ของรถจะต้องแข็งมากๆ เพื่อให้การบิดตัวน้อย สู้กับแรงม้ามหาศาลได้ แต่ !!! ความเป็นจริง “สวนทาง” นะครับ โครงสร้างพวกนี้จะต้อง “ให้ตัวได้” ไม่แข็งโป๊ก เพื่อที่จะให้มันสามารถ “ซับแรงกระแทก แรงบิด แรงกระชาก” ได้ เมื่อมันให้ตัวได้ ก็จะลดอาการกระชาก ขืนตัว คนขับก็จะสามารถควบคุมอาการของรถได้ง่ายด้วย เพราะรถพวกนี้มันไม่มีช่วงล่าง ไม่มีโช้คอัพและสปริงใดๆ มาซับแรงกระแทกทั้งสิ้น ทุกสิ่งอย่างจะให้ตัวที่โครงสร้างเท่านั้น “แล้วจะไม่อันตรายเหรอ” บอกให้ว่า โครงแข็งโป๊กจะยิ่งเพิ่มความอันตรายขึ้น เพราะเวลาบิดตัว มันจะพากันไปทั้งหมด จะยิ่งทำให้รถเสียอาการ และโอกาสที่เฟรมจะขาดก็มีมาก แต่มันก็ต้องมีการออกแบบความแข็งแรงไว้พอดีในจุดต่างๆ ว่าตรงไหนควรจะใช้สเป็กความแข็งแรงขนาดไหน เวลาเกิดอุบัติเหตุ โซนของ Driver จะต้องแข็งแรงมากๆ แต่บางส่วนก็จะต้อง “ขาด” ออกไปเลย !!! เพื่อรักษาชีวิตคนไว้ ฯลฯ จริงๆ รายละเอียดมันเยอะครับ มากกว่าที่ตาเราเห็นแน่ๆ จะรออะไร เริ่มกันที่ “เฟรมของนอก” จาก GT GARAGE & SIAM Prototype กันก่อน ว่าเขาทำ “อะไร” และ “อย่างไร” มาบ้าง รออะไร เชิญชมครับ…
สำหรับรถเฟรม ทาง “น้าหยาม” สยาม บุญช่วย ก็ถือว่าเป็นการขับแบบ “ก้าวกระโดด” เพราะแต่ก่อนก็ไม่ได้ขับรถ Drag อย่างจริงจัง จู่ๆ ก็กระโดดมาขับ Dragster เลย หลายคนจึงมองว่า “จะปรับตัวได้อย่างไร” เหล็กยาวๆ วิ่งด้วยความเร็ว 300 km/h เสียวๆ แบบไม่มีบอดี้ครอบ แต่เอาเข้าจริงๆ Dragster เป็นรถที่ขับง่าย เพราะรถมันแทบจะไม่เป๋ไปไหนเลย ด้วยความที่ Wheelbase ยาวมาก เลยคุมอาการได้ง่าย ออกตัวได้ก็สบายแล้ว ในตอนแรก น้าหยาม ได้ฝึกขับด้วย Dragster ที่ใช้เครื่องยนต์ V8 N.A. ธรรมดา ฝึกตั้งแต่ 10 วินาที จนมาถึง 7 วินาที มาถึงตอนนี้ก็ใช้เวลาฝึกฝนประมาณ “5 ปี” ถ้าจะพูดถึง “ค่าใช้จ่าย” ในการสร้าง Dragster ของไทย พูดถึงเสร็จสมบูรณ์แบบ Rolling Frame พร้อมวิ่ง อยู่ประมาณ “สองล้านบาท” ก็ถือว่าไม่ได้แพงมากมายอะไร ดีว่า Dragster ไม่มีส่วนประกอบมาก โช้คอัพก็ไม่มี ตัวถังก็ไม่ต้อง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตอนนี้หลายคนจึงขยับมาเล่นกัน…
- คันขวาในรูป จะเป็นตัวที่สั่งนำเข้ามาจากอเมริกา ซึ่งเฟรมจะมีความยืดหยุ่น แต่สามารถทนแรงกระชากได้สูง อยากลองก็ง่ายๆ จับปีกนกหน้าสองฝั่ง ฝั่งละคน สามารถบิดเฟรมไปมาได้อย่างง่ายดายเลย ส่วนวัสดุที่ใช้จะเป็น “ท่อโครโมลี่” ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง
- เปิดฝาครอบหน้ามา จะพบกับ “ถังน้ำมัน” และมี “ท่อหายใจ” อยู่ด้านบน แต่เวลา “วิ่ง” มันจะกลายเป็น “ท่อดักลม” ทันที ยิ่งความเร็วสูงเท่าไร ลมก็จะยิ่งดันน้ำมันเชื้อเพลิงให้ไหลไปเข้าเครื่องด้านหลังได้มากขึ้นเท่านั้น เสมือนเป็นปั๊มติ๊กแบบแปรผันตามความเร็วรถ เป็นแนวคิดที่ฉลาดมาก เอาของฟรีมาใช้งานได้จริง !!! ในส่วนของช่วงล่างหน้า อาจจะนึกว่าไม่มีอะไร เพราะรถวิ่งทางตรงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว “มี” คันนี้จะคำนึงถึงระบบ “Ackerman Steering” (จริงๆ ระบบนี้ก็ใช้กับรถทั่วไปอยู่แล้ว) กล่าวคือ เวลาเลี้ยว กลไกของ Ackerman ก็จะให้ “ล้อด้านในโค้ง เลี้ยวเป็นองศามากกว่าล้อด้านนอกโค้ง” หรือ Toe Out On Turn เพราะรัศมีการเลี้ยวของล้อด้านในโค้ง จะแคบกว่าล้อด้านนอกโค้ง ถ้าเลี้ยวเท่ากัน จะเกิดอาการขืน เอาไว้เผื่อเวลา “แก้อาการรถ” จะสามารถทำได้ง่ายกว่า (จริงๆ รายละเอียดมันมากกว่านี้ แต่เนื้อที่ไม่พอ ให้รู้ไว้แล้วกันว่าตั้งไว้เพื่ออะไร)
- เห็น “สลิง” นั่นไหม เอาไว้เป็นตัว “ยึดตรึง” ให้เฟรมมีการ “ยืดหยุ่น” ได้ สลิงนี้จะสามารถ “ตั้งความตึง” ได้ ว่าจะให้ตัวเฟรมนั้นมีความแข็งหรืออ่อนขนาดไหน ขึ้นอยู่กับแรงม้าที่มี และพื้น Track ที่มีความเหนียวต่างกัน ถ้าใครได้สังเกตในช่วงออกตัวของคันนี้ ทาง GT GARAGE เล่าว่า เฟรมจะ “โก่งกลาง” ครับ แต่ “ล้อหน้าไม่ยกลอยเลย” เพราะมีการดูดซับแรงไว้นั่นเอง ทำให้สามารถออกตัวได้ดี เพราะล้อทั้ง 4 ยังอยู่ติดพื้น ส่วนรอยเชื่อมระหว่างเฟรมหน้ากับช่วงห้องคนขับ (ในวงกลม) จะเป็นการ “เสียบลิ่ม” แล้วเชื่อมรอบ ไม่ได้ต่อกันดื้อๆ นะครับ ขนาดของท่อเฟรมก็ต่างกัน ด้านหน้าจะมีขนาดเล็กกว่าโซนของห้องคนขับ เจตนา คือ “ต้องการให้โซนหน้าอ่อนกว่า เวลาชนแรงๆ แล้วให้ขาดจากกันไปเลย” เป็นการ “แตกแรง” ออกไป ถ้าติดกันแข็งแรงเกินไป จะส่งแรงกระแทกไปถึงคนขับได้มาก
- ชุดเฟรมด้านล่าง จะใช้การ “เสียบลิ่ม” แต่ไม่เชื่อมติด มีบ่าบังคับกันหลุดเอง ถ้าไม่เกิดการชนหนัก จะไม่มีทางหลุดออกจากกันเด็ดขาด สังเกตจะมี Clearance ด้วยนะครับ ดูดีๆ จะเห็นรอยอยู่ เพราะต้องการให้เฟรมมีการให้ตัวได้นั่นเอง
- เห็นท่อที่สร้างยื่นมาเป็นรูปสามเหลี่ยมไหมครับ อันนี้จะทำหน้าที่เป็น “ตัวเปลี่ยนทิศทางการชน” กรณีที่ชนจนเฟรมหน้าขาดออกไปแล้ว หากส่วนของห้องคนขับวิ่งตรงไปชนกำแพง ตัวนี้จะทำให้ “ชนแล้วแฉลบออกข้าง” เป็นการ “แตกแรง” เพื่อลดอันตรายให้กับคนขับ ถ้าปะทะเข้าไปตรงๆ จะเกิดแรงกระแทกเต็มๆ ทำให้เกิดอันตรายมากนั่นเอง
- ในส่วนของ Cabin หรือห้องคนขับ ก็จะมีโครงสร้างที่แข็งแรงเป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ท่อโลหะจะมีความโตมากที่สุด ตรงนี้คนไทยจะเรียกว่า “ตะกร้อ” นะครับ
- ด้านหลัง Cabin จะต้องมีแผ่นกันในลักษณะนี้ เพื่อป้องกันคนขับเวลา “เครื่องระเบิด” แล้วเศษชิ้นส่วนแตกหัก ของเหลวที่มีความร้อนสูง หรือ “ไฟลุก” มาโดน
- แท่นเครื่องก็จะเป็นลักษณะ “ยึดเกาะเฟรม” แล้วมี Clamp โลหะรัดเอาไว้กันเหนียวอีกที ดูจะไม่แน่นหนา แต่เขาทำไว้เวลาเกิดการชนรุนแรง “เครื่องยนต์จะต้องกระเด็นหลุดออกจากตัวรถไป” เพื่อป้องกันการระเบิดและไฟลุกใส่คนขับ
- สปอยเลอร์หลัง ตัวขายึดเป็นโครโมลี่เช่นเดียวกัน เวลาวิ่งเร็วๆ ขายึดจะงอเอนไปข้างหลังตามแรงลมได้บ้าง แล้วสามารถคืนตัวได้ ถ้าแข็งเกินไป เวลาวิ่งเร็วๆ อาจจะ “หัก” ได้
มาต่อกันที่ “RAM 77 RACING” กันบ้าง อาศัยประสบการณ์การสร้าง Dragster เป็นอันดับแรกของเมืองไทย และสร้างผลงานไว้จนเป็น “เอกลักษณ์” ไปแล้ว สำหรับการสร้างเฟรมสไตล์ RAM 77 RACING ก็จะเน้นการใช้วัสดุที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในเมืองไทย แล้วอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ทั้งจากรถนอก รวมถึงประสบการณ์ตัวเอง ที่เริ่มขับ Drag ตั้งแต่รถ Stock Body มารถ Halfframe ไปรถ Spaceframe จนมาถึง Dragster มาพัฒนาให้ดีที่สุด มีคำถามจากผมว่า “ไม่มีช่วงล่างแล้วจะปรับแก้อาการรถอย่างไร” ทาง “เสี่ยตา” บอกว่า “ถ้าเราสร้างออกมาได้เที่ยงตรงตามสเกลที่วางไว้แล้ว ลงพื้นก็สามารถวิ่งได้ตรงเป๊ะเลย” จึงไม่กังวลถึงเรื่องนี้…
ย้อนไปถึง “คันสีส้ม” ที่เป็นแชมป์ Souped Up 2010 “จะเป็น Dragster คันแรกที่สร้างขึ้นมาเองทั้งหมด” แต่ใส่ “โช้คอัพหลัง” เพราะตอนนั้น Track บ้านเราไม่ค่อยเรียบ และระยะเบรกไม่มากนัก ถ้าไม่มีโช้คอัพ รถจะ Bump เยอะ สำคัญตอน “เบรก” ถ้าเบรกกะทันหันมาก ท้ายรถจะลอย ยิ่งมี Bump เข้ามาด้วย ทำให้เบรกไม่อยู่ ก็เลยตัดสินใจใส่โช้คอัพ เพื่อให้มีระยะ Bump และ Rebound แต่ในปัจจุบัน Track และระยะเบรกของสนามบ้านเราพัฒนาขึ้นมาก จึงไม่จำเป็นต้องใส่โช้คอัพอีกต่อไป ในส่วนของโครงสร้าง เราก็เน้นวัสดุที่หาได้ในบ้านเรา เพราะทำมาแล้วก็สามารถวิ่งได้ดี อยู่ที่ความรู้ความเข้าใจ…
ท้ายสุด ก็อยากฝากไว้ว่า คนที่จะคิดเปลี่ยนจาก Spaceframe มาเล่น Dragster ก็ขอให้พิจารณาถึงความเป็นจริง เพราะถ้าเปรียบรถสองรุ่นนี้ เอาแบบสมบูรณ์ Peak สุดๆ ทั้งคู่ ก็วิ่งต่างกันประมาณ 0.3-0.5 วินาที แค่นั้นเอง ไม่ใช่ผิดกัน 1-2 วินาที ก็อย่าเพิ่งคาดหวังสูงเกินไปว่าทำมาแล้วมันจะต้องวิ่งได้เร็วที่สุดเลย มันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกันด้วยครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ Dragster ขับง่ายกว่าเยอะครับ ขอให้สลัดความกลัวออกไปเท่านั้นเอง…
- รถที่สร้างมาสมบูรณ์ ให้ดูตอนจอด แล้วเลี้ยวพวงมาลัยสุดทั้งซ้ายและขวา ล้อหน้าจะต้องติดพื้นทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเลี้ยวฝั่งไหน แสดงว่า “ไม่เบี้ยว” ถ้าเบี้ยว ล้อหน้าฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะลอยพ้นพื้น มุม “แคสเตอร์” ล้อหน้าก็ยังต้อง “เป็นบวก” เพื่อให้ควบคุมในความเร็วสูงได้ดี อันนี้ก็หลักการทั่วไปของรถยนต์ ส่วน “หางหลัง” คันนี้ไม่ใส่ ทาง “บุญตา” บอกว่าไม่มีผล เพราะความเร็วปลายไม่ได้เยอะในระดับ 300 กลางๆ ขึ้นไป ตรงนั้นน่าจะเริ่มมีผลแล้ว ส่วน “ลมยาง” ยืนยันว่า “ใช้เท่ากันทั้งสองฝั่ง” ครับ ซึ่งจากความเข้าใจของหลายคนที่คิดว่ามีการเติมลมยางหลังสองฝั่งไม่เท่ากัน เพราะแก้อาการเวลาออกตัว จริงๆ แล้วเติมเท่ากันครับ เพราะรถมันออกตรงอยู่แล้ว
- กำลังสร้าง “ตัวใหม่” จับอยู่บนโต๊ะสเกล เพื่อความเที่ยงตรงสูงสุด โดยเป็น “สูตรพัฒนาแล้ว” เรียกว่ารู้ว่าตรงไหนควรจะเบา ตรงไหนควรจะแข็งแรง ส่วนขุมพลังก็ยังเล่น 2JZ-GTE เจ้าประจำ เพราะถ้าทำเต็มๆ และทุกอย่างสมบูรณ์ มันสามารถไปได้ถึงระดับ “นัมเบอร์ซิก” อยู่แล้ว ส่วนแท่นเครื่องก็เป็นแบบยึดอยู่เฟรมด้านบน ไม่มีโช้คอัพ ยึดเพลาเป็น Solid ไปแล้ว
- ส่วนหน้า แต่ก่อนก็กลัวไม่แข็งแรง สานเหล็กค่อนข้างมาก ทำให้แข็งและหนักเกินไปโดยไม่จำเป็น ตอนนี้ก็ลดลง สานเท่าที่จำเป็น แต่ดูมุมวางเหล็กให้เหมาะสม
- รถหนึ่งคันใช้ท่อโลหะแตกต่างกันถึง 5-6 ขนาด ส่วนของห้องคนขับก็จะเน้นความแข็งแรงสูงสุด ส่วนที่จะให้มีการยืดหยุ่น (Flex) ก็จะใช้ท่อโลหะขนาดรองลงมา ก็อยู่ที่การสานท่อ ตำแหน่ง มุม พวกนี้มีผลหมดครับ
- เส้นเอ็นที่ขึง คือ Center ลากยาวตั้งแต่หน้าถึงหลัง กำหนดจุดกึ่งกลางของตัวรถ เพลา จะต้องตรงกัน
- ส่วนการตั้งเฟรม ใช้ “ลูกดิ่ง” ก่อสร้างนี่แหละครับ จะได้ความเที่ยงตรงในแนวดิ่ง (Vertical) จริงๆ เวลาวัดโครงสร้างกับสเกล เพื่อลดความผิดเพี้ยน
สำหรับ AOR 77 SHOP ก็เป็นสำนักรุ่นน้องของ RAM 77 RACING ซึ่งพัฒนาความเชี่ยวชาญมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะรถ Spaceframe จนตอนหลังทนความร้อนแรงของ Dragster ไม่ไหว เลยหันมาสร้างรวดเดียวเลย 3 คัน โดยอาศัยวิชาจาก “เสี่ยตา” ลูกพี่ แล้วพรรคพวกเพื่อนฝูงช่วยๆ กันแชร์ความคิดเห็น เพราะถ้ารู้หลักในการสร้างรถ Spaceframe ได้แล้ว Dragster ก็ใช้หลักการคล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปร่างและองค์ประกอบไป “เสี่ยอ๋อ” บอก “ง่ายกว่า” ด้วยซ้ำ เพราะชิ้นส่วนมันน้อยลงไปมาก มีแค่เฟรมหลักๆ ก็พอแล้ว โช้คอัพ หรือ 4 Links อะไรต่างๆ ก็ไม่ต้องเซต ไม่ต้องสร้าง เลยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปพอควร แต่ว่าขอเน้นเรื่อง “ของจำเป็นต้องใช้” ว่าควรจะใช้ของคุณภาพดี ประเภท “เสียเงินเยอะแต่ครั้งเดียวจบ” จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในระหว่างแข่งขัน จนทำให้พลาดหรือเกิดอันตรายรุนแรงได้ครับ ณ ตอนนี้ AOR 77 SHOP สร้าง Dragster ไว้ 3 คัน สองคันเป็นเครื่อง “ดีเซล” ส่วนอีกคันเป็นเครื่อง 2UZ ไว้รอสร้างสถิติในงาน Souped Up Thailand Records 2016 นี้ครับ…
- กำลังขึ้นลำ Dragster อยู่พอดีเชียว บนพื้นสเกลกว้างขวาง เพราะใช้สร้างรถ Spaceframe ด้วย คันขวาเป็น “ตัวแบบ” ที่เอามาและพัฒนาให้เหมาะสมกับความแรงในปัจจุบัน
- การเชื่อมต่อทำได้อย่างแน่นหนา และเป็นการ “เสียบลิ่ม” กรณีที่ท่อทั้งสองไม่เท่ากัน เป็นรอยต่อระหว่างเฟรมหน้ากับช่วงห้องคนขับ
- ช่วงห้องคนขับ ก็จะใช้ท่อโลหะขนาดใหญ่กว่าจุดอื่น และสานความแข็งแรงสูง
- ตะกร้อนี่ยิ่งต้องแข็งแรง เอาไว้เผื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุรุนแรง พลิกคว่ำ จะช่วยป้องกันคนขับให้ได้มากที่สุด
- จานเบรก “คาร์บอนไฟเบอร์” เชียวนะ น้ำหนักเบาสุดๆ ลดแรงต้านการหมุนได้ดี
- ฝาสูบแบบ HEMI ที่มีความสมดุลในการวางตำแหน่งวาล์วและพอร์ต แต่อันนี้คือฝา CNC สำหรับการแข่งขันเท่านั้นนะครับ
- อีกคนหนึ่งที่เริ่มมาขับ Dragster ในงาน Souped Up 2015 ที่ผ่านมา คือ “ยุ้ย สวนส้มสุรชัย” ให้ RAM 77 เป็นผู้สร้างรถให้ ส่วนเครื่องยนต์เป็น 2JZ-GTE ที่เอามาจาก ISUZU KB2200 ที่ปลดระวางไป โดยมี TOON ENGINE SHOP เป็นผู้ทำเครื่อง เท่าที่ได้ลองสอบถาม “เสี่ยยุ้ย” ดู ปรากฏว่าขับง่ายกว่า Spaceframe เยอะเลย ปีที่ผ่านมายังเป็นการปรับตัว อยู่ในขั้นตอน “เก็บตก” แล้วปลายปีนี้เจอกัน งานเดิม แต่เวลาไม่เดิม…
- หลายคนคงสงสัยว่าเครื่อง HEMI (เฮมิ) คืออะไร จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ยี่ห้อผู้ผลิต ย่อมาจากคำว่า Hemispherical Cylinder Head เป็น “ลักษณะการวางตำแหน่งวาล์วและพอร์ตไอดีไอเสีย” ของเครื่อง Overhead Valve (OHV) สไตล์อเมริกันโบราณพันธุ์แท้ พูดง่ายๆ คือ ใช้วาล์ว 2 ตัวต่อสูบ แต่ตัวโตมาก ใช้วัสดุที่เบา ไม่จำเป็นต้องทำให้ยุ่งยากเหมือนพวก 4 วาล์ว และพอร์ตไอดีไอเสีย เป็นแบบ Cross Flow เข้าออกคนละทาง และตำแหน่งปากพอร์ตจะเว้นระยะห่างเท่ากัน ทำให้เกิดความสมดุลมากกว่าพอร์ตแบบเก่าที่จะเว้นระยะห่างไม่เท่ากัน เช่น คู่นอกห่างมาก คู่ในชิดมาก พูดง่ายๆ คือ HEMI จะทำพอร์ตและวาล์วได้สมบูรณ์แบบในเครื่อง Overhead Valve V8 ที่ CHRYSLER/DODGE เอามาใช้ และใช้เป็นพื้นฐานของเครื่องแข่ง…
- ปกติ Dragster ของอเมริกา จะไม่ใช่เกียร์ ส่งกำลังตรงจากเครื่องถึงเพลา โดยใช้ Slipper Clutch หรือ Centrifugal Clutch (คลัตช์ที่ใช้แรงเหวี่ยงของลูกตุ้มถ่วงในการเพิ่มแรงกดตามรอบเครื่องยนต์) แต่ค่อนข้างเปลือง เพราะคลัตช์พวกนี้วิ่งได้อย่างเก่ง 2-3 Run ก็ต้องเปลี่ยนผ้าคลัตช์ใหม่ ตอนนี้รถในบ้านเราเลยใส่ “เกียร์ออโต้” ไปก่อน เพราะติดตั้งง่าย ขับง่ายที่สุด ถามว่าเกียร์ลมใช้ได้มั้ย ไอ้ใส่อะไรก็ใส่ได้ครับ แต่คงไม่เหมาะที่จะเอากลไกมากมายมาทำให้ยุ่งยาก และน้ำหนักรถเพิ่ม…
- RAM 77 RACING : เจ้าแรกในการสร้าง Dragster ฝีมือคนไทย ดีกรีแชมป์ Souped Up หลายสมัย Contact : www.facebook.com/ RAM77dragracing, 08-1611-7603
- GT GARAGE & SIAM Prototype : จะเป็นแนว Set Up มากกว่างานสร้าง แต่ก็มีประสบการณ์เพียงพอ Contact : www.facebook.com/siam.prototype, facebook.com/atthakoon.gtgarage, Tel. 08-7593-7639
- AOR 77 SHOP : สายนี้มาลุยงานสร้างรถอย่างเต็มตัว ผลงาน Dragster ไว้รอดูปลายปีนี้ น่าจะมีอะไรดีๆ ให้ดูเยอะ Contact : www.facebook.com/aor77shop, Tel. 08-0070-4781
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน : www.nhra.com