เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธวัชชัย กรสิทธิศักดิ์ (SlowTake)
เปิดตำนาน เจาะลึก เกียร์โมดิฟายฝีมือคนไทย “YA SERVICE RACING”
สิ่งที่เป็นกระแสอันน่าสนใจของคนไทย คือการผลิตอุปกรณ์โมดิฟายต่างๆ “โดยคนไทย เพื่อคนไทย ราคาไทย” ซึ่งปัจจุบันนี้เราได้พัฒนาไปมากมายจนทัดเทียมในระดับ “สากล” หรืออาจจะ “ดีกว่า” ในบางอย่างด้วยซ้ำ ต่างประเทศก็ยอมรับในสินค้าแบรนด์คนไทยมากขึ้น นับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง ที่คนไทยมี “หัวสร้างสรรค์” สร้างผลงานอันโดดเด่นออกไปสู่โลกสากล ในครั้งนี้เรามาพบกับ “ตำนานเกียร์ออโต้โมดิฟาย” จากบุรุษร่างเล็ก “ช่างญา” YA SERVICE RACING ที่ขึ้นชื่อในด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ทุกคนยอมรับ สิ่งที่โดดเด่นในตอนนี้ คือ “เกียร์ออโต้โมดิฟาย” ที่ตอนนี้พัฒนาไปจนรับแรงม้าได้มากกว่า “1,000 PS” กันแล้ว และยังมี “เกียร์รุ่นใหม่” ที่ได้คิดค้นและสร้างออกมาอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เน้นความแข็งแรงแบบสุดๆ แต่ก็ยังยืนยันราคาไทยๆ รวมถึง “กล่องจูนเกียร์” !!! อีกนะครับ งานนี้ Reed It More จัดหนัก จัดเต็ม ให้แฟนๆ ได้อ่านกัน เพื่อจะได้รู้ว่า “ของไทยมีดีอะไร” ทำไมต้องของนอกอย่างเดียว ของไทยก็ได้ครับ !!!
- หน้าตาของเกียร์ที่ “สำเร็จ” ออกมาแล้ว (ลูกนี้สำหรับ ISUZU Commonrail)
- เกียร์พวกนี้ผลิตให้กับรถหลายรุ่น แต่ใช้ “เสื้อกลาง” และ “ไส้ใน” เหมือนกัน หัวหมูสามารถถอดสลับใส่กับเครื่องที่เราต้องการได้ เดี๋ยวนี้หัวหมูหล่อเองในไทยก็มีหลากหลายให้เลือก
- ตัวสำคัญอยู่ตรงนี้แหละครับ ด้านในเป็น “ชุดคลัตช์สำหรับไว้ออกตัวโดยเฉพาะ” ที่ ช่างญา ได้สร้างขึ้นมาต่างหากเอง โดยควบคุมด้วย “น้ำมัน” ในยุคแรก แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำมันรั่วซึมเวลาใช้ไปสักพัก ตอนหลังเลยแก้เป็นใช้ “ลม” ในการตัดต่อกำลังแทน ลดปัญหาไปได้เยอะ
เปิดตำนาน “ออโต้โมดิฟาย” by YA SERVICE
ใช้คำว่า “ตำนาน” ได้ เนื่องจาก ช่างญาก็เป็นคนแรกที่คิดค้นจะเอา “เกียร์ออโต้” ที่ใครๆ ก็ดูถูก ว่ามันวิ่งไม่ได้ ไม่ทน ไม่แรงหรอก ฯลฯ โดยความเป็นจริง เกียร์ออโต้ถูกออกแบบมาให้ “ขับสบาย นุ่มนวล” เป็นหลัก ถ้าอยากมันส์ก็ต้องหา “เกียร์ธรรมดา” นั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดกัน ก็ถูกต้องนะครับ ไม่ผิด แต่เกียร์ออโต้ใช่ว่าจะแรงไม่ได้ และใช่ว่ามันจะต้องอยู่แต่ในรถจ่ายกับข้าวเสมอไป สำหรับ “อเมริกา” ถือเป็น “เจ้าแห่งเกียร์ออโต้” แม้แต่พวก Muscle Car เครื่อง Big Block มหากาฬ ก็ยังใช้เกียร์ออโต้จากโรงงาน เกียร์ธรรมดาบางรุ่นก็มี แต่น้อย หรือต้องสั่งพิเศษ อเมริกาก็เลยนิยม “โมดิฟายเกียร์ออโต้” สำหรับการแข่งขันควอเตอร์ไมล์ หรือรถโมดิฟายวิ่งถนนแรงๆ มานานหลายสิบปีแล้ว แต่ในบ้านเรายุคก่อน เกียร์ออโต้คนยังไม่เชื่อถือ จนมีคนเอาเกียร์ออโต้โมดิฟายจากอเมริกาเข้ามาใช้ หลังจากนั้นคนไทยเริ่มรู้จักเกียร์ออโต้โมดิฟายกันมากขึ้น แต่เรื่องของ “ราคา” ก็สูงอยู่ และบางคนก็ยังไม่เชื่อสนิทใจว่ามันดีจริง ดังนั้น “ช่างญา” ก็เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ทำไงดี ถ้าเราจะทำเกียร์ออโต้แบบ “ไทย” ขึ้นมา โดยมองเกียร์จากเครื่อง JZ ที่ AISIN ผลิตให้ มีเกลื่อนกลาดในบ้านเรา จับมาโมดิฟายให้รับแรงม้าได้สูงๆ ตอบสนองได้เร็ว สำคัญ “ราคาถูกกว่าเกียร์ของนอกเกินครึ่ง” ก็เลยเกิดการสร้างเกียร์โมดิฟายสูตรตัวเองขึ้นมา เน้นใช้กับรถควอเตอร์ไมล์ ก่อนจะไปดูการโมดิฟายว่ามีอะไรกันบ้าง ขอให้ดู “ข้อได้เปรียบ” ของเกียร์ออโต้กันก่อน…
- ดูกันชัดๆ สำหรับ “โมเดล” ที่ผ่าเอาไว้ให้ดูเพื่อ “ทำความเข้าใจ” โดยหลักก็ยังเป็นเกียร์ออโต้ ทำงานแบบเดิม
เพียงแต่มีการอัพเกรดวัสดุต่างๆ ให้แข็งแรงและใหญ่โตมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ในเสื้อเกียร์เดิม
- ชุดคลัตช์ ชามคลัตช์ ส่วนหลักในการส่งกำลังจะถูกอัพเกรดขนาดและวัสดุให้รองรับแรงม้ามากๆ ระดับ “เกินพัน” ได้
(ในรูปเป็นเกียร์เวอร์ชั่นแรกๆ อุปกรณ์หลักบางอย่างก็ยังเดิมอยู่ แต่เวอร์ชั่นใหม่อัพเกรดหมดแล้ว)
- อันนี้แหละครับเป็นชุด “โดดออกตัว” ที่ “สร้างใหม่ทั้งระบบ” โดยเอาชุดคลัตช์อีกชุดหนึ่งแยกห้องออกมาต่างหาก เอาไว้ตอนออกตัวโดยเฉพาะ ก็เหมือนกับเกียร์ธรรมดา ที่เราเหยียบคลัตช์ไว้ แล้วเร่งรอบ ปล่อยคลัตช์ออกตัวไป แต่อันนี้ เวลาออกตัว แม้เราจะเข้าเกียร์ 1 รอไว้ แต่ชุดนี้จะใช้แรงดันลมหรือน้ำมันไฮดรอลิกที่ควบคุมด้วย “สวิตช์” ในการ “ตัดกำลัง” ไม่ให้มีแรงดัน ทำให้ “คลัตช์ชุดนี้ยังไม่จับ” แต่ชุดคลัตช์ในห้องเกียร์หลักนั้น “จับรอแล้ว” เพราะเราเข้าเกียร์ไว้แล้วไงครับ แถมยังเร่งเครื่องรอ มันพร้อมส่งกำลัง แต่ยังไม่ออกตัว เพราะคลัตช์ชุดหลังนี้ยังไม่จับ เมื่อเราต้องการออกตัว ก็สวิตช์ให้คลัตช์ชุดนี้ “จับ” รถก็จะออกตัวไป เหมือนกับระบบ Trans Brake ในเกียร์ออโต้สำหรับแข่งขันจริงๆ ที่จะใช้ชุดล็อก Forward Clutch แบบคุมด้วยไฟฟ้า หรืออะไรก็ตามแต่ เวลาออกตัวก็สวิตช์ให้ชุดล็อก Forward Clutch ปล่อยให้คลัตช์จับ หลักการเดียวกัน แต่กลไกการทำงาน ช่างญา ก็มาปรับให้เป็นลักษณะนี้ ก็ใช้ได้ดีเหมือนกัน แถมยังแยกห้องมาต่างหาก เซอร์วิสแยกเป็นชุดๆ ไป สะดวกไปอีกแบบ
เหยียบอย่างเดียว ไม่ต้องถอน ไร้กังวล !!!
อันนี้แน่นอนครับ เกียร์ธรรมดา เวลาเปลี่ยนเกียร์ก็ต้อง “เหยียบคลัตช์ ถอนคันเร่ง เปลี่ยนเกียร์ ปล่อยคลัตช์ เหยียบคันเร่ง” 5 ขั้นตอนครับ แน่นอนว่าย่อมจะเสียเวลาไปพอสมควร แม้จะว่าตัวขับเซียนๆ ยังไงก็ต้องเสียเวลาจุดนี้ไป จริงๆ จะ Full Throttle Shift หรือ “เปลี่ยนเกียร์ ไม่ถอนคันเร่ง” ก็ได้ครับ แต่ “เสี่ยงพัง” และ “เสี่ยงเสียอาการ” แต่เกียร์ออโต้ไม่ต้อง “เหยียบอย่างเดียว” คนขับจุ่มคันเร่งแม่มไปโลด เปิดเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ กำลังก็ “มาต่อเนื่อง” มือเปลี่ยนเกียร์เบาๆ แค่ “ขยับเลื่อน” ไม่ต้องยัดกันมือแทบหักเหมือนเกียร์ธรรมดา ก็จะมี “สมาธิ” กับรถมากขึ้น ลดอาการที่เรียกว่า “Human Error” หรือ “ความผิดพลาดของมนุษย์” ซึ่งก็คือ “ผู้ขับ” ให้น้อยลงไปอย่างมาก ทำให้ลดความเสี่ยงลงไปได้เยอะเลย…
- เอาละ มา “แกะ” กันดูเลยดีกว่า (ส่วนท่อนสีดำๆ นั้น เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าคืออะไร) ชุดซ้ายมือ จะเป็น “งานสร้างใหม่ทั้งหมด” โดย ช่างญา ที่มีขนาดใหญ่โตแข็งแรงกว่าชุดขวา ที่เป็นของสแตนดาร์ด แล้วมาอัพเกรดนิดๆ หน่อยๆ รับแรงม้าได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะหวด “หลักพันม้า” แรงบิด “เกินน้อย” โดยเฉพาะสาย “ดีเซล” ของเดิมรับไม่ไหวแน่นอน สร้างใหม่เท่านั้น
- อันนี้เป็นการแกะ Torque Converter ออกมาให้ดูอุปกรณ์ภายในที่ “โมดิฟาย” ใหม่ มีอะไรบ้าง ตัวบนซ้าย เป็น Stator ทำหน้าที่ “จัดทิศทางแรงดันน้ำมัน” โดยเพิ่มมุมปะทะของน้ำมันกับใบพัดแรงดัน ทำให้แรงดันทวีคูณมากขึ้นในการส่งกำลัง อันล่างซ้าย คือ Turbine สำหรับรับแรงดันจากใบพัด Impeller (ที่อยู่ข้างๆ กัน) ตัวนี้จะ “เริ่มปั่น” จากกำลังเครื่อง ส่งกำลังผ่าน Stator ไปยัง Turbine เพื่อส่งกำลังไปขับเคลื่อนเกียร์ มันก็จะส่งกำลังวนไปวนมาเพื่อสร้างแรงดันทวีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด
- อันนี้เป็นชุดใบพัด Impeller ที่โมดิฟายมาแล้ว สังเกตดีๆ ว่า “มีการเชื่อมเปลี่ยนองศาใบพัดใหม่” และ “ดัดองศาใบ”
เพิ่มให้สามารถส่งแรงดันน้ำมันได้มากขึ้น
- ชุด Lock Up Torque Converter Clutch หน้าที่คือ เมื่อความเร็วของรถสัมพันธ์กับรอบเครื่องในระดับหนึ่งแล้ว ตัวนี้จะ “จับล็อก” ให้ใบพัดทั้ง Impeller และ Turbine หมุนไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การส่งกำลังสมบูรณ์ที่สุด อันซ้ายเป็นของเดิมๆ แต่อันขวาโมดิฟายมาแล้ว หน้าสัมผัสคลัตช์มากกว่าเดิมเยอะ ส่งกำลังได้สูง
- ชุด “ชาม” ของ Lock Up Torque Converter Clutch ก็มีการ “ขยับไซส์” กลึงสร้างขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่ขึ้นตามชุดคลัตช์
สูญเสียกำลังเยอะกว่า แต่ส่งกำลังได้นุ่มนวลกว่า
จริงอยู่ครับ แม้ว่า “การสูญเสียกำลัง” ของเกียร์ออโต้จะมีมากกว่าเกียร์ธรรมดาอยู่บ้าง เพราะเป็นการส่งกำลังจาก Torque Converter ที่เป็นตัว “สร้างแรงดัน” ต่อมาใช้ “ไฮดรอลิก” เป็นตัว “ถ่ายทอดกำลัง” และควบคุมแรงดันในการเปลี่ยนเกียร์ มันผ่านไอ้นู่นไอ้นี่เยอะครับ กลไกต่างๆ มันก็ซับซ้อน ส่วนเกียร์ธรรมดา ที่ใช้การส่งกำลังจาก “คลัตช์แห้ง” กี่แผ่นก็ตาม ส่งตรงสู่ราวเกียร์ มันก็ย่อมจะส่งกำลังได้ดีกว่า (ตอนนี้เลยนิยมเกียร์ Air Shifter เพราะเป็นกลไกแบบเกียร์ธรรมดา เหยียบคลัตช์ก่อนออกตัวอย่างเดียว ที่เหลือก็ “ลั่นไก” ง่ายและเร็ว) แต่ถ้าจะ “บวกลบคูณหาร” กันแล้ว ข้อดีของเกียร์ออโต้ที่มาทดแทนอีกประการ คือ “การส่งกำลังนุ่มนวลกว่าเกียร์ธรรมดา” จะมีผลมากในตอน “ออกตัว” เพราะคลัตช์จะจับตามระยะและความฝืดที่เรากำหนดไว้ที่เกียร์ คนขับมีหน้าที่เพียง “ปล่อยสวิตช์ Trans Brake” ให้คลัตช์จับ ที่เหลือมันทำงานเอง และมันก็ไม่ได้จับเปรี้ยง มีช่วง Slip (ตอนหลัง “คลัตช์แห้ง” ก็เลยต้องทำ Slip Clutch ออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้) เลยทำให้ออกตัวได้นุ่มนวล ลดอาการฟรีทิ้ง ซึ่งเป็น “จุดได้เปรียบในทันที” และกลายเป็น “เร็วกว่า” เมื่อเทียบกับเกียร์ธรรมดาแบบ H-Pattern กับรถใน Division เดียวกัน…
- ตัวดุมจับแกนกลาง (Main Shaft) ของเกียร์ ที่จะส่งกำลังไปชุดเฟืองเกียร์ อันขวา “กัด” ขึ้นมาใหม่ทั้งอัน สังเกตรู Spline ตรงกลางจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ชุดเฟืองเกียร์ ที่ประกอบไปด้วย “Sun Gear” คือเฟืองใหญ่ตรงกลาง “Planetary Gear” คือ เฟืองเล็กรอบๆ สามอัน เป็นตัวเปลี่ยนทิศทาง หรือเปลี่ยนอัตราทด ส่วนวงนอกเป็น “Ring Gear” ซึ่งชุดนี้เป็นระบบเฟืองที่ใช้ในเกียร์ออโต้ทั่วไป (อยากรู้มันทำงานยังไง เปิด YouTube ดูครับ อธิบายปากเปล่ายากมาก บอกได้ตรงนี้แค่ว่ามันสามารถปรับเปลี่ยนอัตราทด และทิศทางการหมุนได้ในตัวมันเอง) อันซ้ายของเดิม อันขวาสร้างใหม่ ไซส์พ่อกับลูกเลย
- ชุดยึดเฟือง Planet Gear Carrier ที่สร้างขึ้นใหม่ให้ใหญ่ตาม ด้านในรูคือเฟือง Sun Gear ซึ่งจะต้องคำนวณอัตราทดกับชุด Ring Gear ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เมื่ออัตราทดเปลี่ยนไป ขนาดก็จะเปลี่ยนไปด้วยครับ
เปิดเกียร์ !!!
สำหรับการโมดิฟายเกียร์ออโต้ของ “ช่างญา” ก็จะมีเทคนิคแพรวพราว แต่ไม่ยากที่จะเข้าใจ จริงๆ แล้วก็คือ การนำเกียร์ AISIN เป็นบริษัทผลิตเกียร์ของญี่ปุ่น ผลิตเกียร์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์หลักมากมาย ไอ้ที่ฮิตๆ เช่น TOYOTA, ISUZU เผลอๆ ฝั่งยุโรปก็มีด้วยนะครับ เสื้อเกียร์เดียวกันแต่เปลี่ยนแค่หัวหมู ข้อดี คือ “ราคาถูก มีเพียบ” แต่มา “อัพเกรดความแข็งแรงกันใหม่หมด” ส่วนมากจะเป็น “งานสร้าง” เพราะต้องรับภาระแรงม้ากว่า 1,000 PS อุปกรณ์ภายในต้อง “กัดขึ้นมาใหม่หมดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น” แต่ก็ยัดในเสื้อเกียร์ AISIN เดิม แต่สิ่งที่ชวนสงสัยมากที่สุด คือ “กระเปาะท้ายเกียร์” ว่ามันคืออะไร อันนี้แหละที่จะประหลาดกว่าชาวบ้าน เอาไว้ตอน “ออกตัว” โดยเฉพาะ ซึ่งลดอาการ “เกียร์พัง” เพราะถ้าเราเร่งรอบออกตัวในเกียร์ N แล้วเข้าเกียร์ “ปัง” จะเกิดแรงกระชากอย่างรุนแรง จู่ๆ ทุกอย่างจับด้วยการกระแทก เครื่องแรงม้าแรงบิดก็เยอะ ทำให้ “เกียร์กระจาย” ได้ในทันที ก็เลยคิดระบบนี้ขึ้นมา เอางี้ๆ ผมขอให้ดู “ภาพพร้อมบรรยาย” เลยดีกว่าครับ จะได้เข้าใจตรงกันนะ สำหรับ “ราคา” เกียร์ออโต้ของ ช่างญา ก็จะเริ่มต้นที่ “95,000 บาท” จนไปถึง “170,000 บาท” แล้วแต่สเป็กแรงม้า อัตราทดเกียร์ที่ต้องการ แต่เกียร์ของเครื่องดีเซลจะ “แพงกว่า” เนื่องจากต้องใช้จังหวะเกียร์เยอะหน่อย เพราะนิสัยเป็นเครื่องที่ “รอบน้อย” แต่ “ใช้แรงบิดวิ่ง” ส่วนเครื่องเบนซิน แค่ 3 สปีด ก็พอ เพราะรอบเครื่องจัดกว่ามาก แต่จริงๆ ก็แล้วแต่ลูกค้าจะสั่งครับ…
- ตัว Housing ของเกียร์ที่สร้างขึ้นใหม่ ใหญ่โตสะใจ เกียร์ 1-2 จะอยู่รวมกัน
ที่เหลือ 3-4-5 หรือจะ 6-7 ก็แยกห้องละเฟืองไป ต่อกันไปเรื่อยๆ
- ต่อกันแบบนี้แหละครับ ถ้า 4 ห้อง ก็คือ 5 สปีด ออกจะยาวเทอะทะหน่อย แต่ถ้าอยู่ในพวกรถเฟรมก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
เกียร์รุ่นใหม่ สไตล์ LENCO
สำหรับเกียร์รุ่นใหม่ที่ ช่างญา กำลังสร้างขึ้นมานั้น จะเป็นลักษณะเดียวกับ LENCO ที่จะแยกห้องเฟืองเกียร์แต่ละเกียร์ต่างหาก ห้องใครห้องมัน แล้วเอามาต่อๆ กัน คงเคยเห็นกันบ้างแล้วนะครับ ใช้ด้ามเกียร์แบบ Multi-Lever ไอ้ที่มี 5 ด้าม แล้วเข้าเกียร์ดึงทีละด้าม ซึ่งมีข้อดี คือ “แข็งแรงมาก” เพราะเฟืองเกียร์สามารถทำขนาดใหญ่ได้เต็มพิกัด เพราะมันไม่ต้องมาอยู่รวมกันเหมือนเกียร์แบบปกติ จะทำกี่สปีดก็ได้ ก็ต่อไปเรื่อยๆ ล่อสัก 10 สปีด ก็คงถึงเฟืองท้ายพอดี ไม่ต้องมีเพลากลาง ซึ่งช่างญา ก็บอกว่า “เอา LENCO มาเป็นต้นแบบ ไม่ได้เลียนแบบ” ซึ่งนำมาพัฒนาเป็นสูตรของตัวเอง เกียร์ชุดนี้ ช่างญา บอกว่า “จะใช้กับ Torque Converter แบบเกียร์ออโต้เลยก็ได้” หรือ “จะใช้กับคลัตช์ Slip แบบเกียร์ธรรมดาก็ได้” แน่นอนจริงๆ ซึ่งอันนี้จะเป็นตัวต้นแบบ เคลมว่ารองรับแรงม้าได้ถึง “2,000 PS” ซึ่งตอนนี้กำลังสร้างและพัฒนาอยู่ เพื่อให้ทันใช้ในรายการ Souped Up Thailand Records 2016 ปลายปีนี้ รอชมแล้วกัน สำหรับ “ราคา” เกียร์ 5-6 สปีด รุ่นนี้ กะทำราคาให้ถูกกว่าของนอก “ประมาณครึ่งหนึ่ง” ซึ่งของนอก เกียร์รุ่นนี้ถ้าสปีดเท่ากันก็ไม่ต่ำกว่า 6XX,XXX บาท…
กล่องจูนเกียร์ งานนี้ครีเอทสุดๆ
ครั้งแรกในไทย ของคนไทย สำหรับ “กล่องควบคุมเกียร์แบบจูนได้” (Programmable Transmission ECU) ซึ่งทาง ช่างญา ได้ใช้ชื่อว่า “YRS Automatic Control” หน้าตาโปรแกรมเหมือนกล่องจูนเครื่องเลย แต่เป็นฟังก์ชันสำหรับเกียร์ เช่น ความเร็วรถ รอบเครื่อง จำนวนจังหวะสัญญาณ (Pulse) ที่ออกมาในแต่ละแบบ องศาลิ้นเร่ง เรียกว่าเป็นกล่องแบบ Stand Alone ที่สามารถกำหนดจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ได้เองแทนกล่องเกียร์เดิม โดยแปรผันตามเงื่อนไขการขับขี่ มี Mode ให้เลือก ทั้ง Economy และ Sport สามารถใช้ได้กับรถยอดนิยมทั่วไป ที่ต้องการตอบสนองดีขึ้นโดยไม่โมดิฟายเครื่อง หรือจะเน้น “แรด” ก็ว่ากันไปตามสะดวก…
- หน้า Parameter บางส่วน ดูเผินๆ ก็เหมือนกับกล่องที่คุมเครื่องยนต์ แต่เขียนโปรแกรมเป็นคุมการเปลี่ยนเกียร์แทน อันนี้
คุมได้ถึง 12 Mode ซึ่งจะประมวลผลจากข้อมูลหลัก คือ TPS (องศาลิ้นเร่ง) และ Speed (ความเร็วรถ และความเร็วรอบเครื่อง) ซึ่งตรงนี้จะกำหนดจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ที่เราต้องการได้เอง แล้วแต่การ “จูนอัพ” และใส่ค่าที่ต้องการลงไป
- การเซตอัพ ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ เส้นผ่านศูนย์กลางของล้อ (นิ้ว) และจำนวนจังหวะสัญญาณที่ออกมา (Pulse) และยังมี Eco Mode คือเปลี่ยนเกียร์แบบนุ่มนวล ประหยัดน้ำมัน ส่วน Sequence Mode รองรับการเปลี่ยนเกียร์เอง (Manual Shift) ที่คนขับจะสามารถขับได้เหมือนเกียร์ธรรมดา
- จะเอาโหมด “เรื่อยเฉื่อย” หรือ “ร้อนแรง” ก็เลือกได้อีกครับ การใส่ค่าก็จะเลือกได้ว่า ใส่รอบเครื่องให้เปลี่ยนที่รอบต่ำสุด (ในขณะที่ไม่ต้องการอัตราเร่งมากนัก) และเปลี่ยนที่รอบสูงสุด (ขณะต้องการกำลังสูงสุด) ที่รอบเท่าไร แล้วก็จะมีความเร็วรวมถึง องศาลิ้นเร่ง เข้ามาประมวลผลร่วมด้วย สังเกตว่าจะมี Air Shift Mode เอาไว้สำหรับคุม “โซลินอยด์เปลี่ยนเกียร์ลม” ได้อีกด้วย โดยคนขับไม่ต้องกดเปลี่ยนเกียร์เอง ขับไปอย่างเดียวกล่องมันจัดการให้เอง ซึ่งระบบนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
TIPS
- สำหรับรถแข่ง Drag Racing คันแรกในไทย ที่ใช้เกียร์ออโต้แบบ “เป็นจริงเป็นจัง” โดยใช้เกียร์ OEM ติดรถมาโมดิฟายกันแบบไทยทำ คือ “ช่างพเยาว์” แห่ง THAI TEC กับ COROLLA KE30 “สายฟ้าฟาด” เกียร์ออโต้ AISIN แบบ 3 สปีด แบบ “คนขับประจำคันนี้เท่านั้นที่จะเปลี่ยนเกียร์เป็น” (กดปุ่มนี้ พร้อมปุ่มนั้น จะเป็นเกียร์ไหน อะไรประมาณนี้แหละ) กับเครื่อง 7M-GTE Super Charged เป็นที่ฮือฮามากในยุคนั้น…
- ยุคต่อมา ย้อนไปประมาณปี 2004 สมัยที่สนาม BDA เปิดใหม่ๆ ก็จะมีอีกคันหนึ่ง ที่ใช้เกียร์ออโต้ OEM โมดิฟาย จำกันได้ไหม MAZDA FAMILIA สีครีม เครื่อง 2JZ-GTE ทำสไตล์อเมริกัน คันนี้สวยเนี้ยบเลยครับ ทำโดย Jeff Harper ร่วมมือกับ Stryder Thailand ขับโดย MACTEC เกียร์คันนี้สั่งทำที่ MV Automatic Australia
- หลังจากนั้น ช่วงปี 2005 จะเริ่มมีการสั่งเกียร์ออโต้จากอเมริกา สำหรับ Drag Racing แท้ๆ มาใช้ในเมืองไทย ที่ตื่นเต้นกันในตอนนั้น ก็จะเป็นเกียร์ J.W. POWER GLIDE 2 สปีด แต่ต้อง “ฉีดไนตรัส” ช่วยนะ ไม่งั้นไปไม่เป็น เพราะอัตราทดมันห่างมาก คนที่ใช้ ยกตัวอย่าง เช่น SUPRA JZA70 Space Frame ของ “เอ๋ สุกิจ” RX-7 ของ “โอ SIGNAL” หลังจากนั้นก็หันมาใช้เกียร์ออโต้กันเป็นแถวในรุ่น Super Max และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน…
- ตอนแรกเกียร์ออโต้โมดิฟายของ ช่างญา มีผลิตมาทดลองใช้กับรถ Drift ของ “วิชัยการช่าง” ด้วยนะครับ…
- ช่างญา รับทำเกียร์ออโต้โมดิฟายสำหรับรถวิ่งถนนที่เน้น Performance ด้วยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะรถแข่งอย่างเดียว ถ้าไม่ได้บ้าพลังมาก ราคา “หลักหมื่น” คุยได้…