ย้อนรอยตำนานรถซิ่ง “วิภาวดีเซอร์กิต” EP.1 : เปิดตำนาน “เดอะ พาเลซ” ดนตรี นารี รถแรง

 

ภาพและข้อมูล : Facebook “รถซิ่ง The Palace” และ “XO AUTOSPORT”

 

ช่วงนี้เราทุกคนก็กำลังต่อสู้กับคู่ต่อสู้อันร้ายกาจ มองก็ไม่เห็น แถมเรียกพวกมากันเยอะแยะอีก นั่นก็คือ ไวรัส COVID-19 ที่นอกจากจะทำอันตรายกับผู้ที่ติดแล้ว ยัง “แพร่กระจาย” ไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ถ้าอยู่ในรัศมีใกล้กัน ที่ชุมชนแออัด มันไม่เลือกศักดินา ฐานันดรใดๆ ทั้งสิ้น เราคงไปห้ามไวรัสไม่ได้ แต่เราต้อง “ป้องกันตัวเอง” รวมไปถึง “งดการแพร่เชื่อให้กับคนรอบข้าง” วิธีการทำก็คงรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า “ทำให้เป็นกิจนิสัย” อาจจะอึดอัดขัดใจไปบ้าง แต่เชื่อเถอะครับ ว่าถ้าเราร่วมมือกันแล้ว ไวรัสนี้ก็จะค่อยๆ ลดลง อาจจะใช้เวลาสักหน่อยก็อดทนกันนะครับ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วให้มันสร้างความเสียหายในวงกว้าง

อนึ่ง…คิดถึงรถซิ่ง   

หลังจากที่ได้ทบทวนเพื่อหา Content ที่ดูแปลกตา และเป็นแบบ “เฉพาะทาง” มานำเสนอกันบ้าง กลัวจะเบื่อข้อมูลรถใหม่ๆ กันเสียก่อน ก็เลยคิดถึงเมื่อตอนเด็กน้อย ช่วงยุคปี 1980 อาศัยอยู่ลาดพร้าว กลางดึกคืนหนึ่ง จำได้ว่าตามพ่อกับแม่ไปงานแต่งงาน น่าจะประมาณ 3 – 4 ทุ่ม ซึ่งสมัยนั้นก็เรียกว่าดึกแล้ว กำลังผ่านถนนวิภาวดี มุ่งหน้าไปห้าแยกลาดพร้าว ก็เห็นคนเยอะแยะ มีรถมากมายจอดเรียงกันริมถนน ก็สังเกตว่ารถแต่ละคันทำไม “ล้อมันใหญ่จัง” แถม “เตี้ยด๊อกแด๊ก” ไม่เหมือนรถปกติเลย พ่อบอกว่า พวกนี้เป็นรถแต่งแรงๆ ของพวกวัยรุ่น มาเที่ยว “ดิสโก้เธค” แล้วกลางคืนก็ออกมาแข่งรถกัน ไอ้เราก็ชอบรถสวยๆ ก็ถามพ่อว่า “ขอดูแข่งรถได้ไหม” คำตอบปฏิเสธจากพ่อทันที “ไม่ได้หรอกลูก มันอันตราย แข่งกันบนถนนผิดกฏหมาย โตขึ้นอย่าไปแข่งนะ” ก็เลยเก็บความทรงจำอันนั้นในลิ้นชักสมองไว้ ว่าในยุคนั้น เขาเรียกถนนย่านนั้นว่า “วิภาวดีเซอร์กิต” เมื่อราตรีมาเยือน มันจะกลายร่างเป็นสนามประลองความแรงทันที !!!

 

อ่านก่อนอ่าน

ต้องบอกก่อนว่า ตัวผมผู้เขียนเอง ไม่ได้เกิดทันในยุคนั้น แต่อาศัยความสนใจ และได้มีโอกาสเจอ “คนตรงยุค” ที่ผ่านประสบการณ์ในยุคนั้นมาจริงๆ คอยเล่าเรื่องราวความจริงให้ฟังทุกครั้งเมื่อมี Meeting รถซิ่ง The Palace จึงได้รู้จักพี่ๆ ได้ซึมซับและจดจำเรื่องราวบรรยากาศในยุคนั้นมา และนำมาเล่าสรุปกันฟัง ในส่วนของข้อมูล ขอเป็น “ภาพรวม” นะครับ เพราะรายละเอียดมันลึกจริงๆ เล่ากันไม่หมดไม่สิ้น ทีมรถก็เยอะ นักซิ่งก็เยอะ รถก็เพียบ อีกประการ ขอสงวนสิทธิ์ในการกล่าวถึง “ทีมรถ” และ “ชื่อบุคคล” เพราะหลายท่านก็เป็น “ผู้ใหญ่” กันแล้ว ไม่สะดวกที่จะเผยแพร่ออกสื่อ (ยกเว้นท่านที่อนุญาตแล้ว) และ หากมีข้อผิดพลาด ขาดตกบกพร่องเนื้อหาด้านใดไป ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับ

The Palace The Best in Discotheque 

ในยุคนี้ คนรุ่นใหม่จะรู้จักสถานบันเทิง เปิดเพลงเต้น ในนาม “ผับ” แต่ในกาลก่อนนั้น จะเรียกกันว่า “ดิสโก้เธค” ซึ่งสุดยอดในยุค 80 นั้น ก็จะต้องเป็น “เดอะ พาเลซ” ซึ่งเป็นกิจการของทายาท “ไทยรัฐ” ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนวิภาวดี เลยแยกสุทธิสาร ฝั่งขาออก ด้านหน้าเป็นตึกแบบฝรั่ง ชื่อว่า “ปาป้า คาเฟ่” ส่วนด้านหลังเป็นตัว เดอะ พาเลซ มีสองชั้น เป็นโครงสร้างสีดำ มี “กระจกใส” ดูทันสมัยมาก ด้านในมี “บันไดวน” ในตำนานเปิดเพลงจังหวะ DISCO มันส์ๆ เต้นตามกันแล้วแต่ Pattern ของแต่ละคน และต้อง “เต้นรวมบนลำโพง” ใครเต้นเฟี้ยวก็ “โดนจับตามอง” ถ้า “หล่อ หรู แต่งตัวดี” คุณก็จะกลายเป็น “ตัวท๊อป” ของ “สาวมั่น” ทันที ในแต่ละคืน ก็จะมีวัยรุ่นหนุ่มสาวมาเที่ยวกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะคืนวันศุกร์ – เสาร์ นั้นถือว่าพีคสุดๆ เรียกว่า “ล้น” ดีกว่า


จุดหนึ่งที่เหมือนกับสมัยนี้ คือ ด้านหน้าก็จะมีรถซิ่งสวยๆ จอดโชว์ โดยรถจะมี 2 แนวหลักๆ คือ “สายหล่อหรู” มักจะเน้น “เกี่ยวหญิง” จะเป็นรถทางฝั่ง “ยุโรป” หรือถ้าเป็นญี่ปุ่น ก็ต้องพวกรถสปอร์ตนำเข้า อีกแนว “สายแรง” ก็มักจะเป็นรถญี่ปุ่นทั่วไป พวกนี้ก็จะแต่งแบบ “ล้อลึก” และ “ท่อดัง” ทรงเครื่องมาเต็ม ถ้าแรงแบบหัวแถว ก็มีสิทธิที่จะจอดหน้าเธคได้ แต่ก็ต้องมี “ค่าจอด” กันหน่อยนะ ในยุคนั้นก็ว่ากัน “หลักร้อย” ไม่น้อยนะครับ ไม่ใช่ 10 – 20 บาท แน่นอนระดับนี้ และก็ต้อง “มีทรง” ถึงจะได้จอดโชว์ด้านหน้า รถเดิมๆ ดาษๆ หมดสิทธิครับ

 

สไตล์การแต่งรถยุค 80

การตกแต่งโมดิฟายในยุค เดอะ พาเลซ รุ่งเรือง ก็จะอยู่ในยุค 80 ดังนั้น สไตล์การแต่งก็จะเป็นแบบ Retro ในสมัยนี้ที่ฮิตๆ กัน โดยมีหลักๆ ดังนี้

– รถยอดนิยม : ถ้าจะเว้ากันซื่อๆ ก็ “รถทั่วไปที่มีขายในตอนนั้นแหละครับ” โดยมากก็เป็นพวก “รถญี่ปุ่นรุ่นเล็ก น้ำหนักเบาหวิว” ถ้าค่าย TOYOTA ก็ต้อง COROLLA KE30 แต่ถ้าใหม่ๆ เลยก็ต้อง KE70 ยอดฮิตตลอดกาล อารมณ์เหมือน JAZZ, VIOS สมัยนี้แหละ เครื่องบล็อก 4K โมดิฟายเต็ม จับ “วางตั้ง” เรียกกันว่า “เคตั้ง” ให้ไอดีและไอเสียไหลได้ดีขึ้น และต้องมี Adaptor หัวหมู เพื่อเยื้องให้ตำแหน่งเกียร์ตรงเหมือนเดิม ถ้าจะให้ “สุดในรุ่น” ก็ต้อง LIFT BACK TE71 สองประตู ท้ายลาด หรือถ้าเป็น CELICA นี่เท่สุดๆ ถ้าจะให้สุด ก็ต้องเป็นพวก 2T-G 1.6 ลิตร ได้เปรียบเพราะเป็นระบบ “แคมคู่” หรือ “ทวินแคม” โมดิฟาย แต่ถ้าสาย DATSUN ก็ต้อง SUNNY มีตั้งแต่ KB110 ไปยัน KB310 ท้ายลาด หรือ “ซิตี้บอย” แต่เสียดายที่เครื่องขับหลังค่ายนี้ไม่มีให้เล่นเหมือน “โตต้า” ก็เลยต้องโมดิฟายเครื่อง A12 กันไป แต่ถ้าทำถึงจริงๆ ก็แรงใช่ย่อยเหมือนกัน ส่วนค่าย MAZDA ก็นี่เลย “323 ขับหลัง” หรือ “แตงโม” จับมาวาง “โรตารี่” ซะ ถ้าจะสุดๆ รวยๆ ก็ต้อง RX-7 SAVANNA สั่งมาทั้งคันเลย แล้วก็มีค่ายยุโรป BMW ก็ใช้เครื่อง M10 โมดิฟาย ตอนนั้นนิยมกันในโฉม E21 หน้าฉลาม เพราะเป็นแบบ 2 ประตู มันเป็นอะไรที่เท่ในสมัยนั้น หลังจากนั้นอีกไม่นาน E30 ก็ออกมา เรียกว่าแค่ล้อ BBS, RIAL ชุดเดียว จอดหน้าเธคก็หล่อจริงหญิงสะกิดแล้ว ถ้าญี่ปุ่นสายหล่อหรูตอนนั้น ก็ต้อง SKYLINE 2.0 GT-X ในรหัส BJR30 เครื่องเดิม L20B ธรรมดาๆ เดิมๆ ก็เอาไว้ “จ่ายกับข้าว” วิ่งกะใครเขาก็โดนเพราะรถหนัก ถ้าจะเอามันส์ก็ต้อง L20ET 6 สูบ เทอร์โบ ตัวนอก แต่ถ้าจะเอาสุดไปวิ่งกะเขาด้วย ก็ต้อง FJ20ET 4 สูบ ทวินแคม เทอร์โบ ตรงรุ่นตัวนอก จัดไป 190 – 205 แรงม้า ใครวางก็ถือว่าสุดในยุคนั้น


– สีสด เรียกแขก : สีเดิมจากโรงงานก็จะเน้นเรียบๆ ไม่ใคร่ฉูดฉาดสะใจวัยรุ่น ยุคนั้นก็ “กลับสี” กันเลย สียอดนิยม ก็จะเป็นสีสดๆ อย่าง “แดง แสด เหลือง” พวกสีทึมๆ ไม่นิยม หรือไม่ถ้าจะเอาดุๆ ก็ “สีดำ” ไปเลย ถ้าใครรวยหน่อย ก็ใส่ “ชุดแต่ง” ตอนนั้นก็มี “สปอยเลอร์หน้าหลัง” ถ้ารถ Lift back ท้ายลาด ก็จะต้องมี “บังแดดหลังเป็นชั้นๆ” โคตรเท่ ตอนนั้นร้านแต่งรถที่ “ไฮ” สุดๆ ก็จะเป็นร้าน “CAPITAL – K” ของแท้แบรนด์เนมทั้งนั้น ชั้นนำจากยุโรปและญี่ปุ่น บอกเลยว่า AUTOBACS สมัยนี้ “ชิดซ้ายเปิดไฟฉุกเฉิน” ไปเลย ถ้าใครแต่งร้านนี้ รับรอง “เกิด” มีทุกอย่างให้เลือกสรรจริงๆ และถ้าจะให้ครบ ก็ต้อง “ติดสติกเกอร์” คาดลายสวยๆ นี่เลย “ป๋าแดง สติกเกอร์” ยอดฝีมือรุ่นเดอะที่ยังมีลมหายใจ                                                                                                                                                                                       

– ล้อกาง ยางโต : โดยมากจะเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นเล็กสายแรง เพราะล้อเดิมมาแบบ “เดฟๆ” ไฉนเลยจะเรียกสายตาคนได้ แรงไม่แรงไม่รู้ แต่ “ล้อดูแรง” ไว้ก่อน ในตอนนั้นก็จะเป็น “ขอบ 13 นิ้ว” เพราะส่วนใหญ่จะเป็นรถเล็ก แต่เป็น “ขอบลึก” หรือศัพท์เรียก “ออฟลึก” ตั้งแต่ 8 – 10 นิ้ว ดูมันน่ารักดี และ “โคตรแพง” ในสมัยนี้ ยุคนั้น ล้อฮิตๆ ก็จะมี HAYASHI STREET แล้วก็ WATANABE R – TYPE กล้วยในตำนาน ถ้าจะให้ “เท่” สุดๆ ก็ต้องใส่ “ยางสลิค” หรือ “ยางฝน” ที่ถอดมาจากรถแข่งเมืองนอก สภาพยังใช้ได้ แต่ถ้าใคร “ถึง” จริง ก็ “เบิกใหม่” มาเลย แต่ส่วนมากก็จะเป็นยางเรเดียลหน้ากว้างที่สมัยนั้นยังมีผลิตอยู่ ใส่กันแบบ “ล้อล้น” ก็ใส่ “โป่งเย็บ” หรือบางคันก็ “ตีโป่ง” เลียนแบบรถแข่ง Group 5 ทรงคล้ายๆ “กันดั้ม” แต่ถ้า “สายเรียบหรู” จะเน้นรถขนาดกลาง พวกนี้สุดๆ ก็ต้องขอบ 15 นิ้ว สุดเทพก็ต้อง RIAL Mesh by RONAL หรือ BBS RS ยาง PIRELLI CINTURATO P7 เทพสุดๆ ที่สมัยนั้นถ้าใครต้องการทั้ง “เฟี้ยว” และ “สมรรถนะ” และ “บ้านมีตังค์” ก็ต้องซื้อมาใส่ เพราะราคาก็เทพเหมือนกัน แต่ใส่แล้วจะดู “ไฮโซ” ขึ้นทันตาเห็น ที่เห็นใส่ก็มักจะเป็นสายยุโรป อย่าง BMW, FIAT 131 Racing สายญี่ปุ่นก็ต้องรถขนาดกลาง ที่จำได้ก็ SKYLINE C210 แต่งเต็มของ “โบ๊ต เบเกอรี่” และ SKYLINE R30 สายหล่อ สีเงิน คันนี้ของแก๊งค์ Lucifer ครับ                                                                                                                                                                                                                                                                        

– คาร์บูคู่ ตีเฮดเดอร์ เห่าดัง : ในยุคนั้นเครื่องยนต์ก็มักจะเป็นแบบ N.A. การโมดิฟายก็จะใช้ “คาร์บูเรเตอร์คู่” ที่คุ้นเคยกัน จะ WEBER, SOLEX, DELLOTTO ก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ส่วนมากจะ WEBER ฮิตสุด โดยมีร้าน “สหโรจน์” เป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายที่มีชื่อเสียง เพิ่มการดูดอากาศและจ่ายน้ำมันให้มากขึ้น อื่นๆ ก็จะมี “เฮดเดอร์” สูตรของเจ้าดังแต่ละที่ จะ 4 – 1 หรือ 4 – 2 – 1 เน้นปลายและต้นตามลำดับ เสียงสนั่นๆ ดีแท้ แต่จะแรงหรือเปล่านั้นอีกเรื่อง เพราะต้องมีการทำ “ไส้ใน” อีกด้วย เช่น “แคมชาฟต์” ตอนนั้นของนอกแพง ก็อาศัย “พอกเจียร์” พอกเนื้อโลหะเพิ่ม แล้วก็เจียร์เป็นองศาและระยะยกที่มากขึ้นตามต้องการ แต่โดยมากก็จะอาศัยของนอกเป็นแม่แบบ สำหรับ “เทอร์โบ” ยุคแรกๆ ยังไม่ค่อยมี เพราะยุค 80 หัวฉีด เทอร์โบ เพิ่งจะเกิดในเมืองนอก ต้องรออีกสักพักถึงทยอยเข้ามา แต่ก็หาคนทำยากหน่อย เพราะมันต้องมี Diagram สายไฟมาด้วย ตอนนั้นคนที่ทำได้เจ้าดังๆ ก็ “ป๋าหรั่ง ชัยศิริยนต์” นั่นเอง ถ้าคนตรงยุคจะต้องรู้จักทันที                                                                                                                                                             

-ผสมไว้ก่อน พ่อไม่ได้สอนไว้ : ในยุคนั้น ของโมดิฟายจากเมืองนอกยังมีราคาแพง หายาก นี่เลย “ยำใหญ่สไตล์ไทยแลนด์” เน้น “เทียบ” อย่างเดียว ไปคุ้ยหาเอาที่เชียงกง คุณอาจจะเคยได้ยิน “เครื่องมิตซูแซทเทิร์น ลูกสูบเฟียต วาล์วบีเอ็ม” อะไรทำนองนี้ เพราะเน้นเอาของแต่ละรุ่นมาแปลงผสมๆ กัน เรียกว่าสูตรใครสูตรมัน ไม่แรงก็รื้อทำใหม่ แรงจริงแต่พัง กว่าจะรู้เดียงสาก็หมดไปไม่รู้เท่าไร แต่เหมือนเป็นการซื้อความรู้ ช่างรุ่นเก่าจะเก่งตรงที่ต้องรู้หลักว่าต้องการอะไรถึงแรง ไม่มีสูตรสำเร็จแบบ “เปิดเน็ตก็แรงได้” เหมือนสมัยนี้                                                                                                                                                               

-ช่วงล่างและเบรก “ใจ” ล้วนๆ : เอาจริงๆ ตอนนั้นก็มีชุดคิตช่วงล่างแต่งขายเหมือนกัน อย่างชุด TRD มีทุกอย่างแต่ก็แพง หลายคนที่งบไม่ถึงก็เล่นง่ายๆ คือ “ตัดสปริง ดัดแหนบ” ให้รถเตี้ย อัดน้ำมันโช้คอัพให้หนืดๆ คุณจะเสียรถไป ได้ “เกวียน” มาคันนึงแทน เรื่อง “เบรก” นี่เลิกคุย บางรุ่นยังเป็น “ดรัมเบรกหน้าหลัง” อยู่เลย ใจล้วนๆ ถ้ารุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อย ยุคปลายๆ 70 ก็จะได้ “หน้าดิสก์ หลังดรัม” แต่ก็เดิมๆ เพราะสมัยนั้นไม่มีเบรกแต่งให้ใช้กันสักเท่าไร ถึงจะมีก็ของนอก พวก AP LOCKHEED, ALCON อะไรพวกนี้ แต่ก็ราคาโหดอยู่ ก็ล่อกันเดิมๆ เพิ่มเติมคือ “ความห้าว” เบรกอยู่ก็ดีไป ไม่อยู่ก็ “มิด” (มาจากคำว่า “มิส” หรือ Miss แปลว่า “พลาด” แต่เรียกแผลงเป็น “มิด”) เจ็บตายไปก็เยอะ

วิภาวดี สองยูเทิร์นในตำนาน

สำหรับ “เส้นทางการซิ่ง” ก็ใช้ถนนวิภาวดี ตอนนั้นยังไม่มีตอม่อโทลเวย์อะไรทั้งสิ้น โล่งๆ มีเกาะกลางแค่นั้น ทุกค่ำคืนจะคลาคล่ำไปด้วย “ฝูงชน” ยิ่งถ้าคืนวันศุกร์และเสาร์ ก็ยิ่งเยอะสุดๆ “คนเรือนหมื่น” ทั้งนักเที่ยว นักซิ่ง ผู้ชม มายืนกันเต็มไปหมด ตอนนั้นไม่มีหรอกครับ โซเชียลอะไรเนี่ย เรียกว่า “รู้กัน” อาศัย “ปากต่อปาก” นี่แหละ ยิ่งคืนไหนมี “คู่เช็ง” ล่ะมีเฮ                                                                                                                           

การวิ่งจะเริ่มตั้งแต่หน้า เดอะ พาเลซ แล้วก็ “โดดสะพานข้ามคลอง” เล็กๆ แล้วก็จัดไป ตอนนั้นเน้น “มุด” ไม่มีการปิดถนนจอดออกนะครับ เรียกว่า “รถแรงอาจจะแพ้ใจถึง” รถแรงน้อยกว่า แต่ “บ้ารู” กล้าเสี่ยงมุดแต่ก็เสี่ยง “มิด” ไม่พ้นก็ล่อกันเต็มๆ ตายกันเป็นปกติ วิ่งไปแล้วก็ยูเทิร์นกลับตรงหน้า “เซนต์จอห์น” แล้วก็วนกลับมา “โดดสะพานข้ามคลองขากลับ” อันนี้แหละมันส์เพราะ “มาเร็ว” บินไม่ดีลงมาก็กลิ้ง ช่วงล่างพัง เหมือนดู WRC ไปด้วย โดดมาแล้วก็เข้ายูเทิร์นสุทธิสาร กลับมาหน้าพาเลซ ก็วนไปอย่างนั้น แต่ถ้า “อารมณ์ค้าง” จะลากยาวข้ามสะพานลอยไปยัน “ดินแดง” ก็มี เสียวตอนขึ้นสะพานนี่แหละ เพราะความเร็ว 200 ++ แน่นอน รถที่แรงจริงถึงจะหวดกันยาวๆ                                                                                                                                 

ยูเทิร์นสุทธิสารนี้ มันเป็น “ตำนาน” เพราะถ้าใคร “สาดสวยและเร็ว” ก็จะได้รับเสียงเฮเป็นการ “โหวต” ถ้าตำนาน “สาดยูเทิร์น” ต้องคนนี้เลย “ป๋าโอ๋ ลูซิเฟอร์” กับ “ฟอร์ดแวน” ยกสูง สไตล์ “แรลลี่” มาเลย มาวิ่งกับรถเก๋งเตี้ยๆ ตอนแรกคนก็คิดว่าไอ้นี่คงบ้า เอารถแบบนี้มาวิ่งเนี่ยนะ แต่ขอโทษครับ สาดเข้ายูเทิร์น “ตูดขวางลำ” ล้อหน้ายก สไลด์สุดขอบจนถึงทางออก พูดจริงๆ ก็ Drift God สมัยนี้แหละ อาศัยฝีมือทาง “แรลลี่” เข้าช่วย ขุมพลัง 2T-G ก็ไม่ธรรมดา เสียเปรียบที่รถ แต่ได้เปรียบที่ “ลีลา” การสะบัดลำ สาดทีคนดูเฮกันเสียงแหบเสียงแห้ง เรียกว่าเป็น “บุคคลในตำนาน” หน้าพาเลซอีกคนหนึ่งที่ปัจจุบันยังมีการกล่าวถึงกันอยู่                                                                                                                                        

แหล่ง กิน ชิม ชิว หน้าพาเลซ

นอกจากจะซิ่งรถกันแล้ว คนไทย “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ไม่ว่าจะเครื่องดื่มบำรุงความคึก อาหารรอบดึกก่อนกลับ ก็ต้องมีกันหน่อย นักซิ่งยุคนั้นเขากินอะไรกันบ้าง

– ปาป้า คาเฟ่ : ก็ตึกสวยๆ ด้านหน้านั่นแหละครับ เป็นคาเฟ่ ขายอาหาร เครื่องดื่ม จะดู “ไฮโซ” หน่อย เหมาะสำหรับนั่งยืดนั่งจุ๊ย จิบเผาหัวก่อนเข้าไป “ดิ้น” ใน เดอะ พาเลซ ที่อยู่ด้านหลังตึก (ถ้ามองจากถนนใหญ่จะเห็น เดอะ พาเลซ แค่บางส่วน) ส่วนคนที่ไม่ชอบดิ้น ชอบแนวชิวๆ ก็ปักหลักอยู่นี่แหละ

-เตี๋ยวไก่ในตำนาน : จำไม่ได้แล้วร้านชื่ออะไร เป็นร้านริมถนนนี่แหละครับ ฝั่งด้านในก็เป็น “คลองระบายน้ำ” หอมฟุ้งไปเลย อันนี้ก็แนวๆ กินง่าย จ่ายคล่อง ซดน้ำซุปร้อนๆ แก้แฮงค์ได้บ้าง ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก แต่ระวังๆ หน่อย เมาๆ อาจจะ “โชว์เปียก” ได้ แถม “เน่า” อีก หรือไม่ก็ต้อง “หลบ Teen” ดีๆ หน่อย เวลามียกพวกตีกัน อย่ามัวแต่อินดี้เดี๋ยวจะจบไม่สวย โดนลูกหลงก็ซวยไป…

-ข้าวต้มสุทธาโภชน์ : หรือ สุธาโภชน์ นี่แหละ ร้านข้าวต้มนี้มีมาก่อนหน้า พอ เดอะ พาเลซ เปิด ก็ “รวย” ไปเลย ก็เป็นแหล่งที่ “มาต่อ” กัน บางทีอยู่ในเธคก็เบื่อ เธอเลิกก็เป็นธรรมเนียมที่ต้องหาอะไรกระแทกปากก่อนกลับ ออกมาเจอเพื่อนข้างนอกในร้านข้าวต้มนี่แหละ ค่อยคุยกันง่ายหน่อยเพราะในเธคคงไม่มีใครคุยกันหรอก ไม่ดิ้นก็ “เกี่ยวหญิง” และ “ออกมาซิ่งรถ” แค่นั้นแหละ กินข้าวต้มร้อนๆ เผลอๆ ก็ “ต่อยันเช้า” และอาจจะไม่นอน ไป “ซิ่งพัทยา” ต่ออีก สุดจริงวัยรุ่นสมัยนั้น…  

 

ตำนานรถซิ่งที่ไม่เคยตาย

สิ่งหนึ่งที่เป็น Documentary ของ “รถซิ่งยุค เดอะ พาเลซ” นั้น มีเพียง “ความทรงจำ” และ “การเล่าขานตำนานรุ่นสู่รุ่น” เท่านั้น ไม่มีสื่อใดๆ บันทึกไว้ (เพราะตอนซิ่งกันนั้น คงไม่มีใครถือกล้องมาถ่าย เพราะเดี๋ยวจะโดนเพ่งเล็งว่า “สอดแนม” มันจะเสี่ยงชีวิตเอา) เมื่อหมดยุค คนตรงยุคเหล่านั้น ก็เลิกชีวิตรถซิ่ง เลิกเที่ยว ต่างคนต่างแยกย้าย กลับมาใช้ชีวิตมีครอบครัวตามปกติ ตอนนั้น Social ก็ยังไม่มี ก็ไม่รู้ชาตินี้จะได้เจอเพื่อนซิ่งซี้เก่ากันอีกไหม ต่างคนต่างเก็บเรื่องราวไว้ในใจตลอดมา                                                                                                                                  

จนเวลาผ่านไป Social แพร่หลาย จนใครๆ ก็ต้องเล่น คนรุ่นเดอะก็ยังต้องหัดเล่น เดี๋ยวจะคุยกับลูกหลานไม่รู้เรื่อง เกิดมีการรวมตัวกลุ่ม “รถซิ่ง The Palace” ขึ้นมาอีกครั้ง เป็นกระแสที่ คนตรงยุค กลับมา Reunite พบกัน หลังจากที่ไม่ได้เจอกันกว่า 30 ปี แรกๆ ก็น้อย หลังๆ เริ่มกระจายข่าว ก็เริ่มเยอะขึ้นๆ ทุกคนยังจำเหตุการณ์คืนนั้นได้ รถใครแรง รถใครสวย ทีมไหนดัง ใครได้หญิงเยอะ รื้อฟื้นคืนแห่งความสุขกันอย่างออกรส บรรยากาศสนุกสนานเหมือนทุกคนกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้ง                                                                                                                      

เอาเป็นว่า ถ้าคนรุ่นใหม่ มีโอกาสเจอ “นักซิ่งยุค เดอะ พาเลซ” ที่ตอนนี้อาจจะเป็น “รุ่นพ่อ” ไปแล้ว แต่เชื่อเถอะ ถ้าเราสนใจจริง เจอกันถูกที่ถูกทาง รับรองคุณจะอึ้งและหลงเสน่ห์ยุคนั้นแบบผม แต่ ถ้าคุณจะเช็คว่า “ตัวจริง” หรือไม่ ให้ถามง่ายๆ แค่ว่า “เดอะ พาเลซ อยู่ตรงไหน” และ “ตอนนี้มันเป็นอะไรไปแล้ว” แล้วคุณจะรู้คำตอบทันทีว่าตัวจริงหรือไม่                                                                                                                                            

น่าแปลกที่แม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง 40 ปี ไม่มีการบันทึกเป็น Documentary ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ “ความทรงจำ” เท่านั้น แต่ “นักซิ่ง เดอะ พาเลซ” ก็ไม่มีใครลืมเหตุการณ์ในคืนนั้นได้ ตัวตนของทุกคนก็ยังอยู่ ถนนวิภาวดีก็ยังอยู่ อาคาร เดอะ พาเลซ และ ปาป้า คาเฟ่ ก็ยังคงอยู่สวยงามดังเดิม และ “ตำนานรถซิ่ง เดอะ พาเลซ” ก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

ขอขอบคุณกลุ่ม “รถซิ่ง The Palace” ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ