เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป, วิวัฒน์ ภัยวิมุติ
The REPU Super Retro Drag
Very Rarest Unseen in Thailand !!!
PUI & JUN Rotary ยินดี Present
ฉบับนี้ก็ยอมรับว่ามีอะไร “ตื่นเต้น” มาฝากท่านผู้อ่านกันอีกแล้วครับ เพราะเป็นการผสานกำลังกันระหว่างคอลัมน์ Souped up Special กับ Return to Retro เป็นครั้งแรกในชีวิตนักเขียนไส้แห้ง ทำไมต้องมีการผสมผสาน เนื่องจากเป็นรถ Retro ที่ถูกแต่งเป็นสไตล์ Super Retro Drag จริง ๆ แล้ว มันก็คงจะไม่ได้ตื่นเต้นมากเท่านี้ หากมันเป็น Retro ธรรมดา แต่นี่มันเป็นตัว “สุดพิเศษ” อย่าง MAZDA ROTARY PICKUP ที่ส่วนใหญ่จะคิดกันว่า “มันมีด้วยหรือ” ยืนยันว่ามีครับ มีแน่นอน จริง ๆ ผมรู้จักกับรถรุ่นนี้มานานพอสมควรแล้ว ตอนแรกก็งง ว่ามันมีจริงด้วยหรือ เห็นรูป แต่ “หาดูตัวจริงไม่ได้” เลยฝังใจมาตลอด ว่ามันต้องเป็นรถที่หายากมาก ๆ แน่นอน และรู้มาว่ามันเป็น “กระบะเครื่องโรตารี่ รุ่นแรก และรุ่นเดียวในโลก” อีกด้วย และตอนนี้ “ฝันเป็นจริง” สมใจอยากที่จะได้เห็นเจ้า ROTARY PICKUP แท้ ๆ ตัวเป็น ๆ และบุคคลที่สร้างความฮือฮาในการหารถคันนี้มาทำก็คือ “เสี่ยจุ่น โรตารี่” ชายหนุ่มผู้คลั่งไคล้ MAZDA Rotary แบบเข้าเส้น สไตล์ Rotorhead ผนึกกำลังกับ “เฮียปุ๊ย โรตารี่” เจ้าเก่าระดับตำนาน เลยมีอะไร “ตื่นเต้น” ประดับวงการ Retro เมืองไทย ทั้งสวยและแรง แข่งได้จริง ขอย้ำว่าพลาดไม่ได้แน่นอน…
Born in U.S./Canada
ที่ผมบอกว่าสุดยอดหายากในไทย และอาจจะเป็นในระดับเอเชีย มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือโอเวอร์แม้แต่น้อย เนื่องจากเจ้า MAZDA ROTARY PICKUP นี้ เป็นรถที่มีจำหน่ายเฉพาะใน “อเมริกา และ แคนาดา” โดยใช้พื้นฐานแชสซีเดียวกับ MAZDA B-Series ที่จำหน่ายทั่วโลก เช่น PROCEED (อันนี้มีจำหน่ายในบ้านเรา) และ FORD COURIER แต่เจ้าตัวโรตารี่นี้ จะแยกเป็นไลน์การผลิตพิเศษ จะมีนิกเนมว่า REPU ย่อมาจากคำว่า Rotary Engine Pick Up นั่นเอง ประวัติของมันพอสังเขป REPU ถูกผลิตขึ้นมาในปี 1974 ขายไปจนถึงปี 1977 โดยมียอดผลิต “รวม” มากกว่า 15,000 คัน ในปี 1974 ช่วงนี้ถ้าใครอ่านคอลัมน์ Return to Retro บ่อย ๆ จะทราบดีว่า มันเกิดช่วง Oil Crisis หรือ Energy Crisis ก็คือ “ช่วงสภาวะพลังงานน้ำมันขาดแคลน” รถที่มีขนาดใหญ่ หรือเครื่องยนต์มีแรงม้ามาก จำเป็นต้องหยุดสายการผลิตลงชั่วคราว เนื่องจากบริษัทรถยนต์ทุกที่ มีนโยบายผลิตดันรถเล็กประหยัดน้ำมัน ราคาถูก ออกมาก่อน เจ้า REPU ก็ไม่รอดที่จะโดนแบน (ชั่วคราว) เหมือนกัน…
- โฉม REPU แบบดั้งเดิม จะเป็นอย่างนี้ ด้วยความแปลกที่เป็น “กระบะโรตารี่แท้ หนึ่งเดียวในโลก” มันจึงถูกหมายปองจากนักเล่นรถเก่า
หลังจากนั้น สภาวะเริ่มคลี่คลาย ก็เดินสายการผลิตต่อในปี 1975 ในปี 1976 ก็ผลิตออกมาประมาณ 700 คัน และในปี 1977 ก็ “ส่งท้าย” ด้วยการปรับปรุงตัวรถอีกพอสมควร เช่น เพิ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ขยายตัวแค็บขึ้นอีก 4 นิ้ว หรือประมาณ 100 มม. เพื่อให้นั่งสบายขึ้น เพิ่มเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิป ถือว่า REPU เป็นรถกระบะที่สร้างความฮือฮาได้มาก เพราะเป็นแบบ High Performance โดยแท้จริง ด้วยเครื่องโรตารี่ รุ่นแรกและรุ่นเดียวในโลกเท่านั้น สำหรับหน้าตาของ REPU นั้น ก็จะมีข้อแตกต่างจากตระกูล PROCEED หรือ COURIER พอสมควร เช่น หน้ากระจังพร้อมโลโก RE แบบคลาสสิก ไฟท้ายแบบทรงกลมคู่ สำคัญสุดคือ มีโป่งรอบคัน เพิ่มมาดความดุดันให้อย่างมาก เจอข้อมูลของทางนิตยสาร Road & Track ได้มีความประทับจิต (Impression) กับ REPU นี้ว่า “Smooth, Quiet Power, Nice Interior” หรือ “ราบเรียบ ทรงพลัง ภายในหรูหรา” ก็คงจะไม่เกินความจริง ราคาตอนนั้นเปิดมา $ 3,500 (U.S.) ส่วนใหญ่แล้ว REPU มักจะมีเยอะในแถบ “West Coast” ของอเมริกา และตอนนี้มันก็กลายเป็นรถที่หายาก มีการซื้อขายกันในหมู่นักเล่นรถเก่า คนที่มีก็มักจะไม่ปล่อย หรือปล่อยในราคาสูง แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยอย่าง “เสี่ยจุ่น” ก็ใจถึงเงินถังพอ ที่จะคว้ามันมาเชยชม…
- หน้าตาดุแบบเก๋า ๆ ของ REPU ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผสมสไตล์อเมริกันอย่างชัดเจน
The Pure Retro Drag Racing
REPU คันนี้ พอได้มาก็มีการปรึกษา “เฮียปุ๊ย” และคิดกันว่าจะทำกันอย่างไร ตอนแรกก็คิดว่าจะทำ Retro ปกติ เครื่องเดิมเป็น 13B คาร์บูเรเตอร์ แต่ “เสี่ยจุ่น” ก็อยากจะลองเล่นกับ 20B-REW 3 โรเตอร์ พอเลือกเครื่องขนาดนี้แล้ว ก็คิดว่าอยากจะโมดิฟายแรง ๆ แบบไม่มีระบบอัดอากาศ ทางออกที่คิดคือ เป็น Retro Drag พอวางเครื่องเสร็จ ก็สั่งล้อ Drag มาใช้ ไป ๆ มา ๆ ก็เป็นแนวรถแข่งเต็มรูปแบบ แต่ยังคงภายนอกเป็น Retro แบบครบถ้วนอยู่ อันนี้ก็เหมือนกับพวกออสเตรเลีย อเมริกา ที่นิยมทำกันแบบนี้ สำหรับความยากง่ายในการทำ ยอมรับว่าไม่หมูเหมือนกัน เพราะด้วยความที่มันเป็นรถเก่าหายากมาก ๆ จึงต้อง “รักษาของเดิมไว้อย่างครบถ้วน” การจะติดตั้งอะไร หรือตัดต่ออะไร เป็นไปได้ ต้องศึกษาวางแผนให้ดี เพราะไม่อยากไปตัดหรือเจาะตัวถังให้มากนัก ลำพังเครื่องไม่มีปัญหา เพราะว่าเครื่อง Rotary มันมีขนาดที่ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก แต่โจทย์ที่สำคัญ คือ “เกียร์” ที่ต้องใส่เกียร์แข่ง ดังนั้น จึงต้องหาความพอดีในการวางตำแหน่ง เพื่อให้คันเกียร์โผล่มาในจุดที่เหมาะสม และขับได้อย่างถนัด ส่วนอื่น ๆ ก็จัดวางอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ให้แลดูดี ไม่เสียความ “ขลัง” ในแบบของรถเก่าไป…
- ยืนยันด้วยโลโกแท้
แรงซะ “เพลาขาด” คาที่
ขอเล่าถึงบรรยากาศในการลองรถของทาง ปุ๊ย & จุ่น โรตารี่ และทีมงาน รถคันนี้เพิ่งจูนเสร็จก่อนมาถ่ายไม่นานนัก และอุปกรณ์บางอย่างก็ยังขาดอยู่ เช่น หน้าปัด มาตรวัด Auto Meter ต่าง ๆ ช่วงล่างก็ยังเป็นแบบธรรมดา ๆ อยู่ แต่ก็ถือว่ามาลองวิ่งเป็นครั้งแรก ไม่ได้เอาเวลา แต่อยากจะรู้ว่ารถอาการเป็นอย่างไร ตรงนี้ผู้มีประสบการณ์อย่าง เฮียปุ๊ย แนะนำว่า รถเพิ่งวิ่งครั้งแรก อย่าเพิ่งจัดเต็มมากนัก ให้ดูอาการรถก่อนว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่ารถอะไรก็ตาม รถบ้าน รถแข่ง อย่าเพิ่งใจร้อน ลงพื้นปุ๊บซัดเลย มันอาจจะเกิดการเสียหายได้ ซึ่งเฮียปุ๊ยก็จะลองรถแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ เร็วขึ้น เพื่อดูอาการของรถ ตรงนี้หากมีข้อผิดพลาด ความเสียหายมันจะเบาบางกว่า…
- ทีมงาน ปุ๊ย โรตารี่ กำลังกู้ซากหัวเพลาที่ขาด
หลังจากที่เฮียลองรถเสร็จแล้ว เสี่ยจุ่นก็ขอบ้าง ขับลองจนแน่ใจ ก็เลยออกแบบเต็มดู เพลาหลังมีอาการเต้นพอสมควร แต่ก็ยังไปได้ พอไปถึงช่วง 200 เมตร รถก็หยุดพร้อมเศษและควันพุ่งออกมา ทีมงานเฮียปุ๊ยก็ใจหาย รีบวิ่งไปดู ปรากฏว่าเพลาขาด ตรงนี้ก็แสดงถึงว่ากำลังเครื่องมีมาก ทีมงานก็เลยจะกลับไปสร้างเพลากลางใหม่ให้แข็งแรงขึ้น เพลาขาดไม่ใช่เรื่องผิด มันเกิดขึ้นได้สำหรับรถที่มีแรงบิดมาก ยังดีที่ขาดตอนลอง ไม่ได้ตอนแข่ง เพราะยังมีเวลาทำทัน และแก้ไขจุดอ่อนที่เกิดขึ้น ถ้าไปขาดตอนแข่ง ก็เท่ากับว่าโอกาสหมดไปกับสายลม อีกเรื่องคือ ถ้าเป็นรถที่มีเพลากลาง โดยเฉพาะรถแข่ง น่าจะทำ “ห่วงคล้อง” ไว้ใต้เพลา เกิดเพลาขาดขึ้นมา ตัวเพลาจะได้ไม่ “ร่วง” ลงมา ถ้ามันร่วงลงมา ก็อาจจะเกิดอันตราย หากมันไป “ค้ำพื้น” จะทำให้เกิดการเสียหายมาก หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ครับ…
ช่วงล่างแหนบ กับจุดที่ควรระวัง
ตอนออกรถที่เห็นเพลาเต้น เพราะยังไม่ได้ใส่ Track Bar ค้ำเพลาไม่ให้พลิกไปมา อันนี้ผมได้เขียนไปแล้วในรถกระบะ ISUZU ของทีม Fast Hunter ก็พูดย่อ ๆ อีกทีละกัน เนื่องจากช่วงล่างระบบแหนบ คานแข็ง ตัวคานเพลาท้ายจะวางอยู่บนแหนบ เมื่อแหนบมีการเคลื่อนที่มาก ๆ มีการห่อหรือพลิกตัว (Wrap) คานเพลาท้ายที่ยึดอยู่ มันก็จะไปตามแหนบที่บิดตัว ท้ายจะสะบัด เพราะจุด Pivot หรือจุดกึ่งกลางของดุมล้อมันเปลี่ยนไป จึงต้องใส่ Traction Bar ช่วยค้ำเอาไว้ ไม่ให้เพลาพลิกตัวตามแหนบ ก็เป็นการเพิ่มจุดยึดนั่นเองครับ แทนที่จะปล่อยคานเพลาท้ายดิ้นไปตามแหนบอย่างเดียว ส่วนใหญ่รถควอเตอร์ไมล์ก็ใช้กัน อย่างคันนี้ก็ได้เตรียมสร้างขึ้นมาใหม่เรียบร้อยแล้ว หลังจากถ่ายเสร็จก็อาจจะลงมือทำเลย…
ผมเคยไปอ่านเจอบทความของ “อาจารย์อภิชาติ ฟุ้งลัดดา” ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าคิด อันนี้อาจารย์พูดถึงเรื่องรถที่ใช้แหนบแบบทั่ว ๆ ไปนี่แหละ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับรถควอเตอร์ไมล์ เพราะมันวิ่งตรงถนนเรียบอย่างเดียว แต่รู้ไว้ก็ไม่เลวนะครับ อย่างกรณีที่ขับมาเร็ว ๆ แล้วรถไปโดดเนินข้างเดียว แหนบจะดีดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการห่อและบิดตัว ตรงนี้เมื่อข้างหนึ่งบิดตัว มันจะพาให้เพลาเยื้อง ล้อก็เยื้องตาม จินตนาการดูก็พอรู้ว่า เมื่อล้อข้างหนึ่งเยื้องศูนย์ เดินตำแหน่งผิดไปจากเดิม ก็เท่ากับว่า “ตูดเลี้ยว” ได้ กรณีถ้าว่าโดดแรง ๆ รถมาเร็ว ๆ อาจจะทำให้เกิดอาการ Oversteer เสียหลักตูดปัดได้ ก็ต้องระวังกันหน่อย สำหรับคนที่ขับรถช่วงล่างแหนบ โดยเฉพาะถ้าเป็นรถสูง หากคิดว่าจะเจอเนินกระโดดก็ลดความเร็วลงมาละกัน อย่างน้อยก็ปลอดภัยกว่าครับ…
Power Band กว้าง สะใจสุดยอด
MAX POWER : 378 hp @ 8,126 rpm
MAX TORQUE : 345 Nm @ 7,218 rpm
กราฟแรงม้าของคันนี้ ก็สร้างความประทับใจให้อย่างมาก คงไม่ต้องบอกนะครับ ว่าประทับใจอย่างไร ก็เส้นกราฟเล่นนอนยาวตั้งแต่เริ่มการวัดที่ 4,500 รอบ ไปยัน 9,000 รอบ แถมกราฟยังเชิดมาก่อนหน้านั้นอีก โผล่มาก็นอนยาว ไม่ได้เพิ่งขึ้นซะด้วย ก็ลองคิดดูว่า นิสัยเครื่อง 3 โรเตอร์ จะมีแรงบิดที่ดีกว่า 2 โรเตอร์ อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีความจุอยู่ที่ 1,962 C.C. อาจจะดูจิ๊บจ๊อย แต่ลองคิดนะครับ ว่าเครื่องโรตารี่ จังหวะจุดระเบิดมันถี่กว่าเครื่องลูกสูบเยอะมาก เครื่อง 2 โรเตอร์ หมุน 1 รอบ จุดระเบิด 6 ครั้ง (3 ครั้ง ต่อ 1 โรเตอร์) ถ้าเทียบกับเครื่อง 4 สูบ ต้องหมุนถึง 2 รอบ ถึงจะจุดระเบิด 4 ครั้ง ถ้าเป็นเครื่อง 3 โรเตอร์ หมุน 1 รอบ จุดระเบิดครบ 9 ครั้ง ส่วนเครื่อง 6 สูบ ต้องหมุนถึง 2 รอบ จึงจะจุดได้ 6 ครั้ง ถ้าเทียบการหมุนสองรอบด้วยกัน 2 โรเตอร์ จะจุดระเบิดทั้งหมด 12 ครั้ง ส่วน 3 โรเตอร์ จะจุดระเบิดทั้งหมด 18 ครั้ง ก็คิดเอาเองว่า การจุดระเบิดถี่ขนาดนั้น มันจึงสร้างกำลังได้มากกว่าเครื่องยนต์ลูกสูบในความจุเท่ากัน ดังนั้น เครื่องโรตารี่จึงต้องมี “แต้มต่อ” หรือ Handy Cap อันนี้เคยอ่านในนิตยสารของฝรั่ง อย่าง 3 โรเตอร์ ความจุ 1,962 C.C. คิด Handicap ออกมา ก็อยู่แถว ๆ 3.8 ลิตร ในเครื่องลูกสูบก็เป็นเหตุที่ทำไมสาวก Rotor Head จึงได้หลงใหลความแรงและเสียงอันจัดจ้านหวานแหววของมันนักหนา…
ไปไกลแล้วครับ กลับมาที่กราฟกันต่อ ด้วยความจุที่มาก ทำให้มีกำลังมาอย่างต่อเนื่อง กราฟแรงม้า (สีแดง) ก็ทยอยโผล่ขึ้นชันเรื่อย ๆ ตามสไตล์เครื่อง N.A. ที่ไม่กระชากเหมือนเทอร์โบ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ดีนะ เพราะความต่อเนื่องของมัน จะทำให้ควบคุมรถง่าย กราฟจะไปในทาง “รอบสูง” ตามลักษณะของเครื่องโรตารี่ ช่วง 6,300 รอบ ได้แรงม้า 300 hp พอดี และหลังจากนั้นไป แรงม้าก็จะทะยานขึ้นเรื่อย ๆ จนหลัง 7,500 รอบ ก็จะเริ่มนอนตัวลง ช่วง Power Band ที่ใช้ ก็น่าจะอยู่แถว ๆ 7,000-9,000 รอบ นี่แหละ ถ้าเป็นรถแข่ง เกียร์อัตราทดชิด มันก็ไปได้ดีของมัน หลังจากช่วงนี้ไป กราฟจะมี “ขยัก” อยู่บ้าง ตรงนี้ “พี่ดอน” ที่เป็นมือจูนรถคันนี้ ก็ได้บอกว่า สาเหตุมาจากที่ “อากาศไม่พอ” เนื่องจากปากท่อไอดีของคันนี้จะอยู่ในห้องเครื่อง ทำให้มันดูดอากาศร้อนจากในห้องเครื่องเข้าไปในเครื่อง และอากาศก็มีจำกัด ทำให้เกิดอาการแบบนี้ เท่าที่ดูกราฟมันยังไปต่อได้ และหลังจากนี้ ทางเฮียปุ๊ย ก็จะแก้ปัญหาโดยการ “สร้างปล่องดักไอดีใหม่” (Air Duct) เพื่อเอาอากาศข้างนอกที่เย็นและมีปริมาณมากกว่าเข้าไปเผาไหม้ ก็น่าจะได้แรงม้าแถว ๆ 420 hp ได้โดยไม่ยาก…
ส่วนกราฟแรงบิด (เส้นสีเขียว) อันนี้ก็ประทับใจข้าพเจ้ามากเช่นกัน เพราะเล่นนอนมาตั้งแต่ก่อนวัดเลย บอกก่อนว่าตัวเลขอาจจะไม่มากนัก เพราะไม่มีระบบอัดอากาศ แต่เราพิจารณากันที่ “นิสัยของเครื่อง” มากกว่า บอกแล้วว่าตัวเลขมันไม่ได้บอกว่ารถคันนั้นจะเร็วเสมอไป กราฟแรงบิด ผมคงไม่ต้องอธิบายมากนะครับ เพราะมัน “นอนมา” จริง ๆ ชอบจังเลยกราฟแบบนี้ มันอาจจะหาได้ไม่ง่ายที่แรงบิดมาสม่ำเสมอในช่วงตั้งแต่ 4,500-9,000 รอบ ช่วง Range ที่กว้างมากขนาดนี้ ทำให้รถคันนี้ “ขับง่าย” กดก็มาโดยไม่ต้องพึ่งรอบสูงเพียงอย่างเดียว และสำคัญคือ “รถคันนี้จะไปแบบเนียน ๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก” อาจจะดูไม่สะใจวัยรุ่น แต่ความเป็นจริง รถที่มากระโชกโฮกฮาก พรวดพราด จะทำให้คุมรถได้ยาก มีความเสียหายและสึกหรอที่ระบบต่าง ๆ มาก และช่วงที่รอรอบมันก็จะ “ช้า” กลับทางกัน รถที่มาเนียน ๆ กดแล้วมาต่อเนื่อง อาจจะดูไม่แรงวืดวาด แต่มันไปได้เร็ว และรถก็ไม่เสียหายด้วย ในวันที่ทดลองวิ่ง รถไปได้อย่างเสถียร ต่อเนื่อง คนขับก็บอกว่าขับง่าย ไปได้เร็ว ก็เป็นลักษณะของการเซ็ตรถที่ถูกต้องครับ…
Comment : “จุ่น โรตารี่” อนันต์ ตั้งเพียรนาทชัย
ตัวผมเองเป็นคนที่ชอบ MAZDA ROTARY อย่างมาก เรียกว่าคลั่งไคล้อย่างหนักก็ว่าได้ ผมอยากจะสะสม MAZDA ROTARY ที่มีจำหน่ายทุกรุ่นในโลกนี้ให้ครบถ้วน และไปเจอข้อมูลของ REPU ตัวนี้ พบว่าเป็นรถที่ขายในอเมริกาและแคนาดา ไม่มีในเอเชีย และส่วนตัวขอบรถพวงมาลัยซ้าย จึงเป็นความท้าทายว่าจะต้องหามาให้ได้ แล้วก็ได้มาจริง ๆ นับเป็นความภูมิใจมาก การสั่งอะไหล่ก็จะต้องเป็นฝั่งอเมริกาทั้งหมด สั่งใหม่ทั้งคัน เรื่องที่มาเป็นรถ Retro Drag จุดเริ่มต้นมาจาก “ล้อ” ต้องการหาล้อ Retro 15 นิ้ว สไตล์อเมริกัน เพราะคันนี้เป็นสเป็กอเมริกาแท้ ๆ แต่หาได้ไม่ถูกใจ เลยไปมองล้อ WELD แทน พอใส่แล้วก็ดูดี ถูกใจ สไตล์รถแข่ง ประกอบกับอยากได้เครื่อง 3 โรเตอร์ เพราะชอบเครื่องโรตารี่แรง ๆ ไป ๆ มา ๆ คอนเซ็ปต์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ พอเครื่องแรง เกียร์ก็ต้องดีตาม เลยต้องกลายเป็น Retro Drag อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ยังคงรายละเอียดดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วนสวยงาม ผมเชื่อว่าเป็นรถที่หาได้ยากมาก และทำออกมาก็ไม่มีใครเหมือนแน่นอน โดยรวมแล้วพอใจสุด ๆ ครับ เครื่องโรตารี่กว่า 400 แรงม้า แถมอยู่ในบอดี้กระบะรุ่นเก่า แต่วิ่งได้ตรง ขับง่าย ฟีลลิ่งดี นี่ขนาดช่วงล่างยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อยนะ ถ้ากลับไปทำช่วงล่างใหม่ ใส่ไนตรัส เซ็ตเฟืองท้าย ระบบส่งกำลัง ก็ไปได้เร็วกว่านี้อีก…
Comment : “เฮียปุ๊ย” PUI ROTARY
จริง ๆ รถคันนี้ยังไม่ได้เสร็จแบบพร้อมเต็มร้อย แต่ว่าเอามาให้ถ่ายและลองวิ่งที่สนามไปเลยทีเดียว การมาวิ่งในครั้งนี้ ไม่ได้ว่าจะต้องการหาเวลา แต่ต้องการลองรถก่อนว่าจะไปได้ไหม หลังจากนั้น ก็ค่อย ๆ ไล่เซ็ตอะไรทีละอย่าง หาจุดดีและจุดบกพร่อง เพื่อนำไปปรับปรุงใหม่ มันก็ต้องออกมาให้ดีที่สุดนั่นแหละ สิ่งที่รู้ในวันนี้ ก็คือ เครื่องยนต์มีกำลังมาอย่างต่อเนื่อง เกียร์ 3-4-5 รถยังไปได้ดี ตัวเครื่องจบแล้ว ก็เหลือแต่ทำ Air Duct ใหม่ ให้ดักอากาศเย็นจากภายนอกเข้าไป ก็จะทำให้เครื่องมีแรงม้าเพิ่มขึ้น ส่วนระบบช่วงล่าง อันนี้จะมาแบบเดิม ๆ ก่อน เปลี่ยนโช้คอัพแก๊สอย่างเดียว ตรงนี้ถือว่าจบไปขั้นหนึ่ง เพราะรถวิ่งได้ตรงแล้ว กลับไปก็จะใส่ของพิเศษเพื่อการแข่งขันเข้าไป รวมถึงเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ใส่ไนตรัส ก็จบแล้ว เวลาที่หวังไว้ ว่าอยากโชว์เลข 10 ก็ถือว่าเร็วแล้วสำหรับรถเก่า เครื่อง N.A. ไม่ได้อยากแข่งห้ำหั่นกับใคร แต่เป็นความสุขทางใจของผมและเจ้าของรถที่ทำรถได้มาตามเป้าครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ต้องขอกล่าวอีกครั้ง ว่า “เซอร์ไพรส์มากที่ได้เห็น REPU ในเมืองไทย” ไม่ได้เวอร์และเอาใจใครเกินเหตุ แต่ก็ที่พูดไปนี้ก็คงไม่แปลก กับความรู้สึกดี ๆ ที่จะได้เห็นรถเก่าที่คิดว่ามันไม่น่าจะมีในเมืองไทย แม้แต่ญี่ปุ่นก็ไม่มีจำหน่าย (ก็มีในหมู่คนเล่น ถือว่าหายากอยู่ดี) แต่มันก็มาให้เห็นตัวเป็น ๆ ในไทยได้ และยิ่งมาอยู่ในมือของ เสี่ยจุ่น และ เฮียปุ๊ย ก็ย่อมจะออกมาตรงเป้า ตัวเฮียปุ๊ยเอง ก็มีความเก๋ากับเครื่องโรตารี่มานาน คันนี้โดยรวมแล้วสวยเรียบร้อยมาก ตามสไตล์คนเล่น Retro แบบจัดหนัก เครื่องยนต์ก็ให้กำลังที่ต่อเนื่อง ไม่รู้นะ ผมเป็นคนที่ชอบเครื่องตอบสนองดี ๆ ตัวเลขเป็นเรื่องรอง ให้สมเหตุสมผลก็แล้วกัน ส่วนเจ้าของรถก็ “กล้าทำ” เอารถที่หายากขนาดนี้มาเป็นรถแข่ง แถมทำออกมาได้ดีไม่แพ้รถนอกอีก ก็นับเป็นฝีมือคนไทยที่มีมาตรฐานครับ…
ขอขอบคุณ : “เสี่ยจุ่น” และ “เฮียปุ๊ย” สำหรับรถตัวแปลก, สนาม Bangkok Drag Avenue สำหรับสถานที่ถ่ายทำ
พูดถึงเรื่องราวของ “เฮียปุ๊ย โรตารี่” ก็เกิดมาจากวัยรุ่นชอบรถซิ่ง และมีความหลงใหลใน Rotary อย่างมาก ก็เลยมาทำอู่ซ่อมโรตารี่โดยเฉพาะ แต่ก่อนก็ทำรถแข่งเซอร์กิต ใช้ RX-3 ตัวแรง ต่อกรกับ Rotary ด้วยกัน อย่าง “คุณพนม หนูไพโรจน์” กับ “มร.ทากุ อะคาอิเค” (ชื่อสกุลของ มร.ทากุ อาจจะคลาดเคลื่อนในการออกเสียงบ้างนะครับ) ตอนหลังก็มาทำรถซิ่งในยุคปี 90 ในชื่อ Dream Sport เด่น ๆ ก็มี RX-7 (FD) และ SKYLINE R32 ต่างก็เคยลง XO AUTOSPORT ไปแล้วทั้งสิ้น ตอนนี้ก็หันมาทำ Retro อย่างเต็มตัว แต่ก็ยังเซอร์วิส Rotary รุ่นใหม่ ๆ ด้วย…
- จุดดึงดูดสายตา คือ Over Fender หรือ “โป่ง” รอบคัน ที่รุ่นอื่นไม่มี คันนี้สั่ง Cabin และกระบะที่มีสภาพใหม่มาทั้งหมด ล้อ WELD Drag ขนาด 4.5 x 15 นิ้ว ในด้านหน้า และ 10 x 15 นิ้ว ในด้านหลัง ยาง M/T ขนาด 25-4.5-15 และ 26-10-15
- กระบะท้ายทรงเหมือน PROCEED แต่จะมีเส้นสันที่สวยคมกว่า ไฟท้าย REPU เป็นทรงกลม ส่วน PROCEED เป็นทรงรีเล็ก คันนี้ได้ของมาสมบูรณ์ทุกจุด
- แม้จะเป็นโป่งเดิม ๆ ก็ดูดุดันไม่น้อย ที่ใต้กระบะด้านขวามีฝาปิด ตรงนั้นเป็นที่อยู่ของแบตเตอรี่เดิม ๆ เป็นอย่างนั้นครับ
- ชุดเบรก RX-7 FC ก็จะได้ดุมล้อ 5 รู จากของเดิม 6 รู
- ช่วงล่างกำลังสั่ง STRANGE มาใช้ทั้งหมด แหนบหลังทำใหม่ บู๊ชหูแหนบ ทำใหม่ให้แข็งแรงขึ้น เพลาท้ายอัตราทด 4.3 ลิมิเต็ด MAZDASPEED จริง ๆ แล้ว อยากจะกดท้ายให้ต่ำลงกว่านี้ แต่ทำไม่ได้แล้ว เพราะต้องเผื่อระยะยุบตัวของรถไว้ รวมถึงไม่ต้องการตัดคว้านที่บอดี้ใด ๆ ทั้งสิ้น
- เท่เหลือเกิน “บานหูช้าง” ไว้รับลมเข้ารถ สมัยก่อนรถไม่มีแอร์ ด้วยความฉลาดของคนออกแบบ เวลาเปิดออก หูช้างจะหันไป “ดักลม” เข้ามาเป่าที่คนนั่งพอดี ๆ เป็นเสน่ห์ของรถเก่าที่เลียนแบบไม่ได้
- ภายในสมบูรณ์แบบ ด้วยหน้าปัดลายไม้ ที่ยังคงสภาพ “เยี่ยม” พวงมาลัย SPARCO กล่อง MoTeC M84 จูนโดย “จารย์ดอน” เกจ์ Water Temp ของ HKS ติดไว้ดูอาการรถ ส่วนเกจ์ Auto Meter กำลังจะติดภายหลัง เกียร์ HKS Dog Box 5 สปีด คลัตช์ OS
- วิทยุ เก๊ะเก็บของ สวิตช์ระบบปรับอากาศ มาครบถ้วน ไม่แตก
- หน้าปัดเดิมแท้ เรือนไมล์หน่วยเป็น ไมล์/ชม. วัดรอบขึ้น Red Line ที่ 7,000 รอบ
- เบาะด้านซ้าย KIRKEY ส่วนฝั่งขวาเป็นของ D&W แบรนด์ของแต่งจากยุโรป แต่หุ้มใหม่และปักคำว่า ROTARY Pick Up ไว้เท่ ๆ
- 20B-REW แบบ “ดูดสด” ลิ้นผีเสื้อ INJECTION PROFECTION โรเตอร์เดิม แต่ส่งไปเคลือบ “สารพิเศษ” ที่ญี่ปุ่น ให้ความลื่น แข็งแรง สามารถลด Friction ได้เยอะมาก ทำให้เครื่องลื่น มีแรงม้ามากขึ้น ช่องพอร์ตสูตร PUI ROTARY เฮดเดอร์ไทยทำ ตัวปรับแรงดันเบนซิน MALLORY หัวฉีด 1,600 C. ของอเมริกา สายคอยล์สีส้ม RE AMEMIYA คอยล์จุดระเบิด RX-7 FD
- ถังน้ำมันเซฟตี้ ยึดติดอย่างเรียบร้อย ปั๊มติ๊ก BOSCH 044
- ที่ใต้ท้องรถ สังเกตให้ดี “หัวเพลา” กำลังกระเด็นออกมา