ท่อสีรุ้ง ลายกุ้งมังกร
“ไทเทเนียม” รู้จัก แต่ต้อง “รู้จริง”
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : XO AUTOSPORT Team
สำหรับแฟชั่นไฮโซของเหล่าตัวซิ่งทั้งหลาย เมื่อเปิดฝากระโปรงมาแล้วก็ต้องตะลึงตาวาวกับ “ท่อสีรุ้ง” ฟรุ๊งฟริ๊ง ลวดลายชดช้อยหอยสังข์ เป็นบั้งดั่ง “กุ้งมังกร” นั่นก็คือ “ท่อไทเทเนียม” ที่ใครทำแล้วจะดู “ไฮโซ” โดดเด่นขึ้นมาทันที ไอ้ที่เด่นแน่ๆ ล่ะ คือ “แพง” กว่าท่ออะลูมิเนียม ประมาณ 3-4 เท่า (แล้วแต่เกรดของด้วย) ยิ่งใคร “เหลือ” หน่อย ก็ต้อง “เดินท่อทั้งคัน” แถมเอาไปทำ “ค้ำ X” ต่างๆ ตอนนี้ลามไปถึง “โรลบาร์” แล้ว ยิ่งถ้าสายกระบะ ใครจะแต่งแบบ “มีระดับ” ก็ต้อง ไทเทเนียม จัดเต็ม ไอ้เรื่อง “เบา” เรื่อง “แพง” พวกเรารู้กันดีอยู่แล้ว แต่จะมีอะไร “แฝง” ไปกว่านั้น เราต้อง “แฉ” ให้กระจ่าง !!!
เบานะ แต่… ??!!??
ด้วยคุณสมบัติของ “ไทเทเนียม” หรือสัญญลักษณ์ในตารางธาตุว่า “Ti” รู้กันว่า “เบา” อันนั้นถูกต้องครับ ส่วนอีกประการ ก็คือ “แข็งแบบเหนือชั้น” ทนทานต่อการ “กัดกร่อน” พูดถึงใน “แง่ดี” ก่อน ความแข็งของมัน ทำให้ทนทานต่อ “แรงกระทำ” เช่น แรงสั่นสะเทือน รวมถึง การทนต่อ “ความร้อนสูงจัด” ได้ดี และด้วยความแข็งแรงของเนื้อวัสดุ ทำให้สามารถใช้ “ความบาง” ที่มากกว่า เหล็ก, สเตนเลส, อะลูมิเนียม ได้ ก็เลยได้เรื่องน้ำหนักมาด้วย ปกติในยุคก่อน ท่อไทเทเนียมก็มีใช้กันมานานหลายสิบปีแล้ว แต่จะอยู่ใน “รถแข่ง” โดยเฉพาะรถ “ทีมโรงงาน” ที่มาจาก “นอก” ก็จะเป็นท่อไทเทเนียมมาอยู่แล้ว ซึ่งบ้านเราตอนนั้นยังไม่รู้จักกัน จนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทาง “เหรียญชัย เทอร์โบ” หรือ “RC TURBO” ในปัจจุบัน เป็นรุ่นบุกเบิกนำท่อไทเทเนียมเข้ามาในเมืองไทย และตอนนี้ก็มีความ “แพร่หลาย” กันมากขึ้น เจ้าดังๆ รุ่นเก่าหน่อยก็เช่น “ปรีชา เฮดเดอร์” ที่สายซิ่งรู้จักกันดี ซึ่งตอนนั้นร้านท่อไอเสียชั้นนำก็เริ่มจะทำท่อไทเทเนียมกันหมดแล้ว ตามความต้องการของลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นสไตล์ Custom Made แล้วรุ่นหลังๆ ก็ตามมา เช่น “เม้งซัง” ที่จะเน้น “สายดีเซล” และ “งานสำเร็จรูป” เป็นหลัก ลามถึง “อุปกรณ์” ต่างๆ ที่อยู่ในห้องเครื่อง เช่น ฝาปิดต่างๆ หรือ พวกหูหิ้ว แล้วก็พวก ตัวยึดต่างๆ ตอนนี้ร้านทำท่อไอเสียแนวโมดิฟายทั้งหลายก็ทำกันเกือบหมดแล้ว ก็ดีครับที่จะได้งานที่ถูกลง และมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับชาวซิ่ง…
ตานี้ ด้วยความ “แข็ง” ของท่อไทเนียม มันจึง “ไม่สามารถดัดได้” จริงๆ มันดัดโค้งได้ประมาณ 5 องศา ประมาณนี้ และท่อก็ต้องมีขนาดไม่โตมาก อย่างท่อเฮดเดอร์เครื่อง NA ยังงั้นล่ะพอได้ ถ้าโค้งมากกว่านั้น ท่อก็จะ “แตก” เพราะด้วยความแข็ง แต่ “ยืดหยุ่นต่ำ” ยิ่งท่อโต ก็ยิ่งแข็งมาก ตอนนี้ก็เริ่มมีการนำเครื่องดัดสำหรับไทเทเนียมเข้ามากันแล้ว ซึ่งก็มีราคาสูงอยู่เหมือนกัน เอาไว้มีโอกาสจะนำไปเจาะรายละเอียดถึงที่นะครับ…
ควั่นอ้อย คือ คำตอบสุดท้าย
ชอบกันเหลือเกิน รอยควั่นอ้อยเป็นปล้องๆ มีตะเข็บงามๆ สีสันเหมือน “กุ้งมังกร” ยิ่งใครควั่นสวย รอยเชื่อมละเอียด แหม “ไอดอล” เลยว่ะคันนี้ สาเหตุที่จะต้อง “ควั่นอ้อย” บางคนอาจจะรู้แล้ว บางคนอาจจะยังไม่รู้ ก็มาจากว่า “มันไม่สามารถดัดได้นั่นเอง” พอจะ “เล่นโค้ง” ก็ต้องไปตัดท่อให้เป็นชิ้น “ทรงสามเหลี่ยม” มาก่อน ตัดเป็นชิ้นๆ แล้วจึงเอามาเชื่อมให้ติดกัน ตานี้มันจะกลายเป็น “โค้ง” แล้วครับ ยิ่งถ้า “โค้งแคบ” ก็ต้อง “ควั่นเยอะ” เพื่อให้องศา “บีบ” เลี้ยวลดไปได้ สำหรับข้อดีและข้อเสียของการควั่น ก็คือว่า…
- เส้นผ่านศูนย์กลางของท่อจะไม่เปลี่ยน : ถ้าควั่นได้เนียน องศาได้ จากช่างผู้มีฝีมือ องศาด้านในท่อจะแทบไม่เปลี่ยนครับ แต่ถ้าเป็นการ “ดัดโค้ง” เส้นผ่านศูนย์กลางท่อช่วงที่ดัดโค้ง จะ “บีบแคบเข้า” ถ้าองศามันเยอะ แถมท่อโตก็ยิ่งบีบครับ ก็เลยต้องแก้ด้วยการ “ควั่นอ้อย” นั่นเอง ไม่ว่าท่ออะไรก็ต้องแบบนี้แหละ…
- แต่ถ้าไม่เนียน ข้างในจะเป็นคลื่น : การควั่นและเชื่อม ถ้าชิ้นส่วนมา “ไม่เนียน” องศาไม่เป๊ะกัน เวลาเชื่อมมันจะเป็น “มุมหักๆ” เป็นเหลี่ยมๆ คงนึกภาพออก อันนี้ไม่ดีครับ อากาศจะไหลไม่สะดวก เกิดคลื่นเต่า เอ้ย คลื่นหมุนวน (Turbulence) ไม่ค่อยดีครับ…
สิ่งควรรู้อื่นๆ กับท่อไทเนียม
- ราคา : สมัยก่อนถือว่า “แพงโหด” เพราะมีการนำเข้าวัสดุมาจำกัดเพียง 1-2 เจ้า และร้านที่ทำก็มีน้อย เหมือนเป็นช่วง Develop เรียนรู้ ก็ต้อง “แพง” ด้วย “ค่าฝีมือช่าง” รวมถึง “ค่าอุปกรณ์” ที่ต่างจากท่อวัสดุปกติ อย่าไปว่าเขา “ฟัน” เลยครับ เพราะกว่าจะ “ทำได้” ก็ต้อง “หมดไปหลาย” เหมือนกัน จึงเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุนการทำอยู่แล้ว แต่ตอนหลังเริ่มถูกลง เพราะ “มีหลายเจ้า” เครื่องมือ ฝีมือช่าง ก็พัฒนาขึ้นมากันเรื่อยๆ ลูกค้าเลยมีทางเลือกมากขึ้น ตอนหลังมี “ของสำเร็จ” ทำขึ้นมาหลายๆ ชุด ก็ทุ่นต้นทุนไปได้เยอะ ต่างจากสมัยก่อนที่เป็น Custom Made ก็ต้องจ่ายกันตามความสร้างสรรค์ครับ ถ้าจะให้เทียบแล้ว ตอนนี้ถ้างานแบบเดียวกัน ก็น่าจะแพงอยู่ราวๆ “3 เท่า” นะครับ…
- บุบแล้วต้องทำใหม่อย่างเดียว : อย่างกรณีรถไป “หมั่ง” อะไรเข้าแรงๆ จนทำให้ท่อเกิดการ “บุบ” หรือถ้า Hard Core หน่อยก็ “บี้” ต้องเข้าใจว่าวัสดุมันแข็งมาก ถ้าชนจนมันบุบได้ล่ะก็มึงเอ๊ยยย โอกาศที่จะตีคืนก็ “แทบจะเป็นศูนย์” ต้องทำใหม่ทั้งท่อนนั่นแหละ…
บทสรุป
คง “กระจ่าง” ขึ้นแล้วสำหรับ “ท่อไทเทเนียม” หรือ “อุปกรณ์ไทเทเนียมอื่นๆ” เช่น ค้ำโช้ค ค้ำต่างๆ อะไรพวกนี้ ที่หลายคนใฝ่ฝันที่จะ “ครอบครองเอาไว้ในห้องเครื่อง” ซึ่งถ้า “มีตังค์” ก็ทำไปเถิดครับ แต่ขอให้รู้ว่า “ทำไมมันถึงแพง” แต่ส่วนใหญ่ก็จะเน้น “สวย” เป็นหลัก เอาเป็นว่า ไหนๆ จะเสียตังค์แล้ว ก็รู้ไว้สักหน่อยว่า “ทำไม” เขาถึงทำออกมาลักษณะนี้ รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าเอาไว้ “ฝอย” ก็ยังดีครับ…
ขอขอบคุณ
RC TURBO : www.facebook.com/RCTurbo