เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
มองเผิน ๆ ก็อาจจะเป็น R32 ธรรมดา เรียบ ๆ เครื่องยนต์ RB26DETT กับพลังในระดับ “900 PS Over” ซึ่งถ้าจะดูกันจริง ๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องยากในเครื่องตัวนี้ เพียงแต่ต้อง “ใช้ทุนสูงหน่อยในครั้งแรก” เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ไส้ใน ส่วนใหญ่ก็จะเล่นกันตามสูตร “2.8 ลิตร” ด้วยการใช้ Stroker Kit สำนักดังต่าง ๆ แต่คันนี้ “ไม่ต้องการ” เพราะยังยืนยันจะใช้ “ข้อเหวี่ยงเดิม” แน่นอน ความจุจึงยังคงเป็น “2.6 ลิตร” เหมือนเดิม แต่มีการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้เสถียรขึ้นในรอบสูง ก็เป็นแนวคิดที่แปลกไปอีกแบบ “กล้าทำแรงมาก ๆ บนข้อเหวี่ยงเดิม” แถมยังมีเรื่องของ “การปรับปรุงระบบแบ่งกำลังขับสี่ล้อแบบปรับได้เองอีกด้วย” ตรงนี้แหละที่อยากจะนำเสนอ และพลาดไม่ได้เด็ดขาด…
- ลิ้นหน้าทรงสวย ไม่ใหญ่เทอะทะ ฝากระโปรงคาร์บอนไฟเบอร์ จริง ๆ ฝากระโปรงเดิมของ R32 เฉพาะ GT-R ก็เป็น “อะลูมิเนียม” อยู่แล้ว ถ้าเป็นฝาคาร์บอนไฟเบอร์ที่ “หล่อเอง” ใช้ “เรซินหนา” ก็อาจจะมีน้ำหนักมากกว่าฝาอะลูมิเนียมของเดิมก็ได้นะ ช่องลม “จมูก” สองรูนั่นของ NISMO ช่วยดักลมได้อีกพอควร ไฟหน้า N1 ไม่ใช่โปรเจ็กเตอร์
NISSAN SKYLINE R32
สเต็ปการทำ RB26DETT ของ TOON ENGINE SHOP ในระดับ 800-1,000 PS ++ ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และก็รู้กันอยู่แล้ว ว่าต้องทำอะไรบ้าง หลัก ๆ ก็หนีไม่พ้น Stroker Kit 2.8 L ที่เป็นสูตรสำเร็จ น่าเสียดายว่า ข้อเหวี่ยงเดิมของ RB26DETT มันไม่ใช่แบบ Full Counter Weight หรือ “ตับเต็ม” เหมือนกับ 2JZ-GTE ไม่งั้นก็จะ Perfect กว่านี้ แต่จริง ๆ แล้ว ข้อเหวี่ยงเดิมมันก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไรมาก เพียงแต่ความคงทนจะสู้ข้อเหวี่ยงแต่งที่เป็นแบบ Full Counter Weight ไม่ได้เท่านั้นเอง…
- ดูเรียบ ๆ ก็ “ทรงคุณค่า” ดี คันนี้เป็นรถปี 1993 ซึ่งเป็นรุ่นท้าย ๆ แล้ว ก็จุดต่าง ที่ “คลัตช์” เป็นแบบ “ดึง” เหมือนกับพวก JZ ถ้าเป็นรุ่นแรก ๆ จะเป็นแบบ “ดัน” เหมือนปกติทั่วไป ไฟท้าย SUN LINE RACING แบบ LED ส่องสว่างชัดเจน
ยืนยันข้อเหวี่ยงเดิม ความจุเดิม
สำหรับคันนี้ สเต็ปในการทำก็จะใช้ “ข้อเหวี่ยงเดิม” ด้วยแนวความคิดที่ว่า “ต้องการพิสูจน์ว่า แรงม้าระดับ 900 PS ++ ก็สามารถจะใช้ข้อเหวี่ยงเดิมได้” ตรงนี้ต้องมีเทคนิคกันหน่อย ก็คือการ “ปรับแต่งรูน้ำมันเครื่อง” รวมไปถึง “การถ่วง Balance ข้อเหวี่ยง” ที่ต้องเน้น ช่วยทำให้เกิดความเสถียรในรอบสูง คันนี้ก็ยังใช้พิกัดอยู่ใน 2.6 L เหมือนเดิม ก็อาจจะมีเพิ่มนิดหน่อย จากการเปลี่ยนลูกสูบ Oversize 0.5 มม. แต่ก็น้อยมาก ความจุยังไม่พ้น 2.6 L แน่นอน (ของเดิม 2,568 C.C.) มันก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า RB26DETT ก็ไม่ได้ห่วยแตกอะไรนักหรอก ถ้า “ทำเป็น” มันก็รอดได้ในแรงม้าสูงขนาดนี้…
- GReddy T88-38GK สุดยอดในซีรีส์ พร้อมถังดักไอน้ำมันเครื่อง จะได้ไม่ “คายเลอะเทอะ” ให้สกปรก
DIY ขั้นเทพ !!! ปรับ ATTESSA แบบ Manual ???
ตระกูล SKYLINE GT-R ที่เริ่มตั้งแต่ R32 ขึ้นไป ก็จะเป็นแบบ “ขับเคลื่อนสี่ล้อแบบไม่ตลอดเวลา” เน้นว่า “ไม่ตลอดเวลา” ทำงานตามเงื่อนไขการขับขี่ หรือระบบ ATTESSA นั่นเอง ทั้งหมดจะควบคุมด้วย ECU และเซ็นเซอร์จุดต่าง ๆ ซึ่งก็เคยบอกไปแล้วในเล่มก่อน ๆ หลักการของมัน ก็จะทำงานเมื่อ “ล้อหลังเกิดการฟรีทิ้ง” ระบบก็จะเฉลี่ยกำลังไปยังล้อหน้า ไม่ใช่แบบ 50 : 50 ในทีเดียว แต่จะ “ค่อย ๆ เฉลี่ยตามการขับขี่จริง” จะ Transfer เป็นอัตราส่วนเท่าใดก็ว่ากันไป ระบบมันจะคิดให้เอง หรือเวลาอยู่ในโค้ง ล้อหลังเกิดการฟรีข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะส่งกำลังไปล้อหน้า หรือไม่ฟรี แต่เวลาเลี้ยวแล้วกำลังจะคืนพวงมาลัยเพื่อออกโค้ง และเร่งส่ง มันก็จะส่งกำลังไปล้อหน้า เพื่อให้ดึงรถออกจากโค้งไป นับว่าเป็นระบบที่ “ฉลาดมาก” ซึ่ง NISSAN ก็ใช้พื้นฐานระบบนี้จาก “รถเยอรมัน” ก็เป็นครั้งแรกของ Production Car จากญี่ปุ่น ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนนี้…
สำหรับคันนี้ พี่ทูนก็มี “ลูกเล่นใหม่” ปรับให้ใช้กับการขับขี่ “ควอเตอร์ไมล์” ด้วยการ “ปรับระบบ ATTESSA จาก Auto ให้เป็นแบบ Manual” คือ สามารถปรับได้โดยคนขับเอง ว่าจะเอาอัตราเฉลี่ยส่งกำลังไปยังล้อหน้า-หลัง ขนาดไหน จะมากน้อย ก็สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ ก็คล้าย ๆ กับระบบ DCCD ใน SUBARU ถามว่าทำไมต้องทำให้เป็นแบบ Manual มันมีเหตุครับ คือว่า ระบบเดิมที่คุมด้วย ECU จะทำงานต่อเมื่อล้อหลังเริ่มฟรี มันจะต้องใช้ “เวลา” ในการประมวลผลนิดหน่อย มันจะต้องฟรีระดับหนึ่งครับ มันถึงจะส่งกำลังไปล้อหน้า เพราะฉะนั้น “จึงมีช่วงจังหวะ Delay อยู่นิดหน่อย” ถ้ารถแรงม้าขนาดนี้ ออกตัวแรงมาก ๆ แบบควอเตอร์ไมล์ ในช่วง Delay ล้อหลังจะฟรีทิ้งมาก ก่อนที่มันจะส่งกำลังไปล้อหน้า ตรงนี้จะทำให้ “เสียเวลาออกตัวมากกว่าปกติ” ระยะ 0-60 ฟุต จะเสียไป…
การทำระบบของคันนี้ก็คือ “ดัดแปลงให้เป็นระบบ Manual” ด้วยการควบคุมจาก “โซลินอยด์” ที่ควบคุมตัว Transfer ก็ต้องดัดแปลงเอาเอง ให้มันทำงานแบบ Manual ได้ ตรงนี้การดัดแปลงก็ยังไม่ขอเปิดเผย แต่เอาว่า “ทำไปทำไม” ก็แล้วกัน ที่ต้องทำ เพราะต้องการ “ปรับแบ่งสัดส่วนตามที่เราต้องการ” อย่างตอน “เบิร์นยาง” ก็จะปรับให้ข้างหน้าเป็น 0 : 100 (หน้า : หลัง) เพื่อใช้เบิร์นยางล้อหลัง ตอน “ออกตัว” ก็จะปรับให้ส่งกำลังไปที่ “ล้อหน้าเยอะขึ้น” อาจจะประมาณ 40 : 60 เพื่อไว้ “โดดออกตัว” เวลาออกตัว มันก็จะ “ปั่นทั้ง 4 ล้อ” ทันทีไม่ได้ไปล้อหลังก่อน แล้วรอจังหวะฟรีแล้วค่อยส่งมาล้อหน้า ซึ่งจะทำให้ “ออกตัวเร็วกว่า” ระบบ ATTESSA เดิม ที่ต้องมี “เวลาคิด” ก่อนจะไป…
ในช่วง “ลอยตัว” ถ้าล้อไม่ฟรีแล้ว ระบบเดิมก็จะ “ปล่อยเป็นขับสองล้อเหมือนเดิม” แต่ถ้าเป็นรถที่แรงม้ามากขนาดนี้ ขับสองอาจจะ “มีเสียว” กันบ้าง ของคันนี้ก็จะ “ปรับได้อีกสเต็ป” ครั้งนี้จะเป็นการ “ปรับให้ล้อหลังทำงานมากขึ้น แต่ล้อหน้าก็ยังคงช่วยขับเคลื่อนอยู่บ้าง” เพื่อไม่ให้รถดูน่ากลัวเกินไป แบ่งกำลังไปล้อหน้าบ้าง เพื่อให้ “นำทาง” รถขับเคลื่อนสี่ล้อมันดีอย่างนี้แหละ Traction ยังไงก็เหนือกว่ารถขับเคลื่อนสองล้อ ถ้าคิดอัตราส่วนก็ประมาณ 20 : 80 สามารถ “เลือกได้” ตามที่เซ็ตไว้ ซึ่งการดู “อัตราส่วนการแบ่งกำลัง” ดูได้ที่ “เกจ์วัด” ที่ข้างคอนโซล (ดูตามรูปก็จะเห็น) จริง ๆ แล้ว มันก็คือ Pressure Gauge ธรรมดานี่แหละ แต่ได้ต่อไว้ “วัดแรงดันระบบ Transfer” ว่ามันไปเท่าไหร่ จะขับเคลื่อนด้วยอัตราส่วนเท่าไหร่ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจของผู้ขับด้วย และปรับไปตามที่ต้องการได้เอง จริง ๆ แล้ว มันมีตัวปรับอัตราส่วนขาย เป็นของแต่งยี่ห้อ TS DANCER เป็นตัวควบคุมระบบ ATTESSA ของ SKYLINE GT-R โดยเฉพาะ แต่คันนี้ทำแบบ DIY ก็เป็นแนวคิดที่แปลกไปอีกแบบครับ…
Max Power : 928 PS
Max Torque : 87.48 kg-m
กราฟจะดูงง ๆ นิดนึงนะครับ ให้ดู “คู่สีฟ้า” จะเป็น Run ที่มีแรงมากสุด ส่วนคู่สีแดง จะเป็น Run ที่มีแรงม้ารองลงมา แต่ยังไงก็เกิน 900 PS อยู่ดี ดูคู่สีฟ้าละกันครับ เส้นกราฟแรงม้าของ RB26DETT รวมถึงแรงบิดด้วย งั้นผมพูดไปพร้อมกันเลยนะ สเต็ปขนาดนี้ก็ “เชิดปลาย” เป็นเรื่องปกติ เครื่องความจุเพียงแค่ 2.6 ลิตร แถมฝาสูบยังออกแบบมาเพื่อวิ่งรอบสูงอีก ก็ไม่แปลกที่มันจะมีนิสัยแบบนี้ ซึ่งเป็นแนวรถ Drag อยู่แล้ว ที่ “เร่งอย่างเดียว” เข้าเส้นก็เลิกกัน ก็ต้องวิ่งรอบปลาย ๆ ไป แรงม้าและแรงบิดในช่วงกลางกราฟ จะ “ดีดมุมชัน” แทบจะเป็นแนวดิ่ง แบบนี้ “ไม่มาก็ไม่มา แต่มาทีก็กระชากหน้าหงาย” ก็แลดูมันส์ดี แต่ “วิ่งถนน” จริง ๆ ออกจะ “ขับยาก” ต้อง “ปรับความแรงลง และทำให้ Power Band กว้างขึ้น” ซึ่งก็ต้องเลือกว่า “จะขับแบบไหนกันแน่” คันนี้เลือกทางที่ชัดเจนได้ คือ “แข่งควอเตอร์ไมล์” หรือ Drag Racing ก็ต้องทำไว้ลักษณะนี้แหละ คันนี้ใช้เชื้อเพลิง “E85” นะครับ ตอนนี้มาแรงมาก กับการใช้ E85 ในรถ Drag และต้องขออภัยด้วย ที่ไม่สามารถ “บอกรอบเครื่องยนต์ได้” เพราะพวกเล่นมีแต่ “ความเร็ว” มาให้ แต่เท่าที่ดู ความเร็วที่แรงม้าสูงสุดอยู่ที่ 220 km/h รอบเครื่องก็ควรอยู่แถว 8,000 rpm ช่วงนี้แหละ…
- ตามสูตร สร้างถัง A ไว้ เป็น Surge Tank “กันวอด” เวลาเร่งแรง ๆ ด้านซ้ายกล่องเก็บแบตเตอรี่ ตรงกลางเป็นโซลินอยด์ พร้อมปั๊มควบคุมระบบ ATTESSA ต่อกลไกเอง
Comment : TOON ENGINE SHOP
สำหรับคันนี้ก็เอาไว้เป็นแนว Street Drag ขับได้ แข่งได้ จริง ๆ จะทำแรงม้าระดับนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทำไปเยอะแล้ว แต่ก็คิดว่า “อยากลองของ” อีกเช่นกัน โดยการที่จะใช้ “ข้อเหวี่ยงสแตนดาร์ด” และไม่ขยายความจุ ก็จะพิสูจน์ให้ได้ว่า เครื่อง RB26DETT มันไม่ได้ห่วยตามที่หลายคนคิดกลัว ผมมองว่าเป็นเครื่องที่สามารถแก้ไขจุดอ่อนได้ไม่ยาก “ถ้าเข้าใจ” และก็ไม่ต้องใช้เงินมากมายมหาศาลอย่างที่เข้าใจ ในส่วนของการปรับปรุงที่ผมภูมิใจก็คือ “ระบบปรับอัตราส่วนขับเคลื่อนสี่ล้อ” อันนี้ที่ผมคิดขึ้นมา ว่าทำอย่างไรให้ดีกว่าของเดิม สำหรับการแข่งขันที่ต้องการเวลาทุกหน่วย ก็ปรับปรุงจนมันใช้ได้ ตรงนี้การจะทำรถก็ต้อง “คิดเยอะ ๆ” คุณก็จะทำรถได้ดีครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
บอกตรง ๆ ว่าผมไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ กับตัวเลขแรงม้า เพราะรู้ว่า “ทำได้อยู่แล้ว” แต่ก็น่าสนใจที่ว่ามันเป็นเครื่องที่ไม่ได้ขยายความจุ ตรงนี้ผมว่ามัน “ทำยากกว่าการเปลี่ยนไส้ในชุดใหญ่” นะครับ ตามที่ได้รับข้อมูลมาอย่างนั้น อีกประการที่ชอบที่สุด คือ “การคิดค้น ดัดแปลง” ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ เพื่อให้ใช้กับการแข่งขันได้ด้วย โดยไม่ต้องพึ่งของแต่งนอกเพียงอย่างเดียว ก็เป็นไอเดียที่ดี และใช้งานได้จริง สามารถถ่ายทอดเป็นเรื่องราวแปลก ๆ ให้ผู้อ่านได้เข้าใจตามไปด้วย ดีครับ ได้มีเรื่องแปลก ๆ มานำเสนอ ชอบครับ…
- TE37 และยาง AD08 ใช้ “ไซส์นิยม” สำหรับ R32 GT-R กับเบรก R33 GT-R V-SPEC ที่ดู “พอเพียง” อาจจะไม่ต้องใส่อะไรให้ใหญ่โตเกินไปก็ได้
TECH SPEC
รถยนต์ : NISSAN SKYLINE R32
ภายนอก
ลิ้นหน้า : ROCKET DANCER
ฝากระโปรง : คาร์บอนไฟเบอร์
ไฟหน้า : N1 Spec
ช่องลมกันชน : NISMO
สเกิร์ตข้าง : NISMO
ไฟท้าย : SUN LINE RACING
ภายใน
พวงมาลัย : NARDI
เกจ์วัด : Defi
เบาะ : BRIDE ZETA JAPAN
เข็มขัด : TAKATA
ปรับบูสต์ : GReddy
โรลบาร์ : CUSCO 6 จุด
เครื่องยนต์
รุ่น : RB26DETT
วาล์ว : TOMEI
สปริงวาล์ว : TOMEI
รีเทนเนอร์ : TOMEI
แคมชาฟท์ : TOMEI 270 องศา ลิฟต์ 10.8 มม.
ลูกสูบ : TOMEI 86.5 มม.
ก้านสูบ : TOMEI H-Beam
แบริ่ง : NISMO
ปะเก็นฝาสูบ : TOMEI 1.5 มม.
อ่างน้ำมันเครื่อง : GReddy
ปั๊มน้ำมันเครื่อง : TOMEI
เทอร์โบ : GReddy T88-38GK
เฮดเดอร์ : ต๋อง เทอร์โบ
เวสต์เกต : GReddy Type C
ท่อร่วมไอดี : ต๋อง เทอร์โบ
อินเตอร์คูลเลอร์ : TRUST
ออยล์คูลเลอร์ : EARL’S
หัวฉีด : 1,200 ซี.ซี.
รางหัวฉีด : TOMEI
ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง : HKS
ปั๊มเชื้อเพลิง : BOSCH 044
หม้อน้ำ : F-WIN
คอยล์จุดระเบิด : MSD
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MSD DIS-4
กล่องควบคุม : HKS F-CON V-PRO 3.3 by POR
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : RB26DETT
คลัตช์ : OS Triple Plates
เฟืองท้าย : 4.1 : 1
ลิมิเต็ดสลิป : NISMO
ช่วงล่าง
แพท้าย : TOON ENGINE SHOP ปรับจุดยึดปีกนกใหม่
ชุด Links ต่าง ๆ : ORT Ball Joint
โช้คอัพหน้า-หลัง : TEIN
ล้อหน้า : VOLK TE37 9 x 17 นิ้ว
ล้อหลัง : VOLK TE37 9 x 17 นิ้ว
ยางหน้า : YOKOHAMA AD08 255/40R17
ยางหลัง : YOKOHAMA AD08 255/40R17
เบรกหน้า : BREMBO R33 GT-R V-SPEC
เบรกหลัง : BREMBO R33 GT-R V-SPEC
อื่น ๆ
แผงปิดดักลมหม้อน้ำ : GARAGE DEFENSE
- ห้องเครื่องรถอู่นี้สวยงามทุกคัน “แรง สะอาด เป็นระเบียบ” ควรจะเป็น “มาตรฐานของการโมดิฟายของเมืองไทย” ได้แล้ว ด้านหน้ามีแผง GT COOLING PANEL อันนี้จะปิดช่องด้านบนกระจังไว้ เพื่อบังคับให้ “ลมผ่านไปยังหม้อน้ำได้เต็มที่” ไม่รั่วไหลขึ้นไปช่องว่างด้านบน เมื่อมีการรั่วไหลของลม ความเร็วและปริมาณของลมที่ปะทะหม้อน้ำจะลดลง ซึ่งทำให้ระบายความร้อนช้าลงด้วย รถเดิม ๆ หรือโมดิฟายนิดหน่อยก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่รถแรงม้ามาก ๆ ที่ทำไว้แข่ง ใส่ตัวนี้ก็ช่วยได้มาก โดยเฉพาะตอนวิ่งเร็ว ลมจะปะทะหม้อน้ำเต็มที่
- เฮดเดอร์งานสวย ต๋อง เทอร์โบ เจ้าเก่า ที่เห็นหัวนอตตรงท่อไอเสียที่ออกจากเทอร์โบ เอาไว้สำหรับ “เสียบออกซิเจนเซ็นเซอร์” ตอนที่ “จูนรถ” จูนเสร็จก็เอาออก ไม่ต้องใช้ เพราะกล่อง V-PRO มันจำค่าไว้ได้แล้ว ว่าจ่ายเท่าไหร่ ออกเท่าไหร่ ก็เป็นข้อดีของกล่องไฮเทคสมัยนี้
- เกจ์วัดแรงดันน้ำมันในระบบ Transfer ของ ATTESSA ที่จะเฉลี่ยแรงดันไปด้านหน้าและหลัง อันนี้จะวัดแรงดันเป็นค่าต่าง ๆ แล้วแต่คนขับจะปรับ ก็ต้องจำค่าเอาเองว่าเท่าไหร่ ใช้ตอนไหน
- ภายในก็ยังครบถ้วน เป็น Street Drag ที่ยังเรียบร้อยอยู่
- โรลบาร์ 6 จุด ที่ส่วนใหญ่รุ่นการแข่งที่รถแรง ๆ จะต้องบังคับใช้ เพื่อความปลอดภัย คันนี้มี “คาดข้าง” เอาไว้ กันเวลา “ฟาดข้าง”
- TOON ENGINE จัดการเลื่อนจุดยึดปีกนกลง คล้าย ๆ กับ S14 หรือแพ JUN พร้อมด้วย Ball Joint เน้นความ Stiffness หรือ “กระชับสูงสุด” เวลาส่งกำลังมาจะได้ไม่ “ดิ้น” แต่ใช้บนถนนไม่เรียบ ก็ต้องยอมรับอาการกระเด้งไว้บ้าง เพราะการให้ตัวน้อยก็ต้องเข้าใจ