เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
TORQUE OF THE TOWN !!!
IMPREZA VERSION S204
Real Carbon Look Dressing
Power EJ25 565 hp & “73 kg-m” Of Torque
ควันหลงจากงาน “มอเตอร์โชว์” ในปี 2552 ทาง XO AUTOSPORT ได้จัดงาน XO AUTO SALON โชว์รถแต่งหลากหลายแบบ เช่นเคยครับ ทุกปีก็จะต้องมีตัวเด็ด ๆ มาใหม่อยู่เป็นประจำ และเราก็ได้พบกับ “IM” หล่อ ๆ คันนี้ที่เตะตาด้วยชุดแต่งคาร์บอนไฟเบอร์แทบจะทั้งคัน และของแต่งแบรนด์เนมต่าง ๆ ที่ให้ความสวยและเพิ่มสมรรถนะที่ดี ขนใส่กันมาอย่างไม่ยั้ง ยังไม่พอครับ รถคันนี้เป็นเวอร์ชั่นพิเศษมาจากโรงงาน ก็คือ “S 204” ที่ถือว่า “สุดยอด” ในซีรีส์ GDB ยังไม่จบครับ เครื่องยนต์ถูกระเบิดพุงเป็น “2.6 ลิตร” โมดิฟายเต็ม สามารถสร้างแรงบิดได้มากกว่า “70 กก.-ม.” จากเครื่องสี่เม็ด ความจุโต จึงเป็นที่มาของคำว่า “TORQUE OF THE TOWN” อย่างที่เราตั้งใจไว้ ลองดูครับ คันนี้มี “อะไรมากมาย” มาฝากกัน…
- S204 มาในมาด Carbon Look ดุดัน
S204 เหนือไปอีกระดับ
สำหรับรถยนต์ตระกูล SUBARU จริงอยู่ ที่ยอดขายหรือความนิยมของตลาดโดยรวม อาจจะสู้รถญี่ปุ่นจากค่ายอื่นไม่ได้ แต่ด้วยจุดเด่นของมันที่เน้นสมรรถนะสูงในการขับขี่ จึงเป็นที่ชื่นชอบ ครองใจของกลุ่มคนที่นิยมไปในทาง “โมดิฟาย” และ “มอเตอร์สปอร์ต” ได้อย่างเหนียวแน่น และโดยเฉพาะ IMPREZA ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นสมรรถนะจริง ๆ จึงเป็นรถยอดฮิตตลอดกาล ขอตัดบทพูดถึงตัว “S204” กันแบบคร่าว ๆ ก่อน เดี๋ยวเนื้อที่จะไม่พอ เวอร์ชั่นนี้เป็นสิ่งพิเศษกว่า WRX STi ไปอีกขั้นหนึ่ง ผลิตขึ้นมา “600 คัน” สำหรับตลาดญี่ปุ่น แต่อาจจะมีเล็ดลอดไปประเทศต่าง ๆ บ้าง (เป็นออเดอร์พิเศษ) จุดที่พิเศษขึ้นไปอีกก็คือ แรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น “320 PS” ที่ 6,000 รอบ แรงบิดมากมายถึง “44.0 กก.-ม.” ที่ 4,400 รอบ เท่ากับเครื่อง 2JZ-GTE เดิม ๆ ที่มีความจุมากกว่าถึง 1 ลิตร เลยทีเดียว ระบบช่วงล่างเซ็ตใหม่ เตี้ยลงไปประมาณ 1 นิ้ว และแข็งขึ้น ล้อ BBS ขนาด 18 นิ้ว ยาง PIRELLI P-ZERO CORSA เป็นแบบกึ่งซอฟต์ ขนาด 235/40R18 ส่วนภายนอก ก็ใช้ลิ้นหน้าและสปอยเลอร์หลังเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ด้านล่างมีแผ่น Diffuser มาให้ทั้งหน้าและหลัง…
- หัวคาร์บอนเพียว ๆ ฝากระโปรงหน้า CHARGE SPEED พร้อมตัวล็อก กันชนหน้าคาร์บอน Y’ATT
The Good Thing from SYMETRICAL AWD
สำหรับ “ข้อดี” ของรถตระกูล IMPREZA (และ LEGACY) ตามที่ข้อมูลของ “พี่ยุ่น” ได้ว่าไว้ จากทฤษฎี “SYMETRICAL” ก็แปลได้ประมาณว่า “ความสมมาตร” ถ้าดูกันจริงๆ แล้ว การวางระบบต่าง ๆ ก็จะเน้น “ความสมดุล” ให้มากที่สุด ตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ Boxer ที่เป็นแบบ “สูบนอน” นอนเลยครับ เป็นแนวราบสนิท 180 องศา (Horizontal) ก็จะมีผลดี เพราะการที่ลูกสูบสองฝั่งแถวหน้ายืดออกพร้อม ๆ กัน และลูกสูบสองฝั่งแถวหลังหดเข้าพร้อม ๆ กัน (ก็สลับกันไปมาอย่างนี้ หน้ายืด หลังหุบ หน้าหุบ หลังยืด) ถ้าดูลักษณะการเคลื่อนตัวของลูกสูบแล้ว ก็จะเหมือนกับ “นักมวยกำลังออกหมัด” ก็เลยเป็นที่มาของ Boxer นั่นเอง ลักษณะนี้ทำให้มีการ “สมดุล” ดีเยี่ยม เพราะการยืดเข้าออกที่พร้อม ๆ กัน มันจะหักล้างแรงสั่นสะเทือนกันเอง เค้ากล้าเคลมไว้ว่า เครื่อง Boxer จะได้ดีเรื่องนี้ที่สุด สังเกตได้ว่า เครื่องจะเดินเบาได้เรียบ นิ่ม…
แต่ที่คนส่วนใหญ่ได้ยินเสียงท่อแบบ “ปุกปัก” เหมือนคั่วข้าวโพด คล้าย ๆ เครื่องเดินไม่เรียบ ไม่เต็มสูบ อันนั้นไม่ใช่เครื่องเดินไม่เรียบนะครับ แต่เป็นเสียงของ “ลำดับการจุดระเบิด” เครื่อง Boxer ตำแหน่งลูกสูบมันอยู่ค่อนข้างไกลกัน จังหวะการ “คายไอเสีย” จึงไม่ต่อเนื่องกันเหมือนเครื่องแบบสูบเรียง หรือสูบวี ทำให้เกิดเสียงเป็น Pulse ที่เว้นว่างกันค่อนข้างมาก มันจึงเป็นเสียงปุกปักอย่างที่ได้ยินกัน แต่ถ้าลองเปิดฝากระโปรงดู เครื่องจะเดินเรียบมากทีเดียว เครื่องที่สมดุล (Balance) ดี ๆ จะได้เรื่องของ “ความคล่องตัวในการหมุน” ก็ส่งผลในด้านกำลัง การตอบสนองที่ดีกว่าเครื่องไม่สมดุล (Unbalance) เกิดการสั่นสะเทือนสูง ๆ ก็จะเสียแรงม้ามาก เสียหายง่าย…
- งานคาร์บอนแท้ ๆ กับโลโก S204 ที่ไม่ธรรมดา
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ผลดีที่เค้าว่ามาอีก ก็เป็นเรื่องของ “ความแข็งแรงของตัวถัง” จะได้เปรียบยี่ห้ออื่น (ในระดับเดียวกัน) เครื่องยนต์สั้น ก็ไม่จำเป็นต้องทำห้องเครื่องกว้างมาก ถ้าเรายกเครื่องออก ก็จะเห็นได้ว่า ช่องว่าง (ห้องเครื่อง) ถ้าน้อย เหล็กที่ทำโครงสร้างก็จะไม่ยาวมาก เนื้อเหล็กหนาเท่ากัน แข็งเท่ากัน ของสั้น ๆ มันก็ย่อมแข็งแรงกว่าของที่ยาวกว่า หากช่องว่างน้อย จะทำให้เหล็กสั้นลง ก็จะมีความแข็งแรงมากกว่า โดยที่ “ไม่ต้องเพิ่มน้ำหนัก” ถ้าห้องเครื่องกว้าง ๆ เหล็กยาว ก็จะแข็งแรงน้อยกว่า ถ้าจะทำให้แข็งแรงเท่ากัน ก็ต้องเพิ่มเหล็กให้แข็งขึ้น ก็ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น…
- แก้มหน้าก็คาร์บอนไฟเบอร์ ล้อ RACING HART CP-10 ยาง BRIDGESTONE RE01R กึ่งซอฟต์ ไว้วิ่งถนนทั่วไป ซิ่งบ้างบางที ขนาด 235/40R18 เท่ากับของ S204 เดิม ๆ แต่ยังมียางซอฟต์ TOYO R888 ไว้วิ่งสนามอีกชุดหนึ่ง เบรก AP 6 pot จานเบรก 355 มม.
จุดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ “ตำแหน่งเครื่องยนต์” ของ SUBARU Boxer จะ “เตี้ย” กว่าแบบอื่น ทำให้จุดศูนย์ถ่วง (CG) ต่ำ เครื่องสั้น สามารถร่นเข้าไปกลางรถได้ มีน้ำหนักเบา (ทำจากอะลูมิเนียมทั้งตัว) ดังนั้น จุดศูนย์ถ่วงจะตกไปอยู่ “ตรงกลาง” มากที่สุด (อยู่แถว ๆ Center Diff) พูดง่าย ๆ ก็คือ ตอนเลี้ยวโค้ง น้ำหนักจะไม่ไปหน้าหรือหลังมากกว่ากัน จะออกเท่า ๆ กัน แนวโน้มจะไม่เป็น Understeer หรือ Oversteer อย่างใดอย่างหนึ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ “เป็นกลาง” นั่นเอง ทำให้ควบคุมง่าย ทรงตัวดี เป็นรถยนต์ที่ Handing ดีเยี่ยม (เคยลองแล้วติดใจครับ ขนาดตัว WRX ธรรมดา ยังขับสนุกมากเลย) ประกอบกับการวางตำแหน่งเกียร์ เพลา จะเป็น “เส้นตรง” ทั้งหมด เพลาข้างสองฝั่งด้านหน้าก็จะยาวเท่ากันพอดี ทำให้ส่งกำลังไปได้เท่า ๆ กัน ไม่มีอาการ “ชก” เหมือนกับเครื่องยนต์วางขวาง ขับเคลื่อนล้อหน้า ที่เพลาขับทั้งสองจะยาวไม่เท่ากัน ทำให้การส่งกำลังไม่เท่ากันตามไปด้วย ดังนั้น ระบบ SYMETRICAL AWD (All Wheel Drive) ของ SUBARU จึงให้ความสมดุลสูง มอบผลดีในการขับขี่อย่างมากเลยทีเดียว…
- สเกิร์ตข้าง CHARGE SPEED ประตู กันชนหลัง Y’ATT ชุดเบรกหลัง AP 4 pot จานเบรก 330 มม.
All Carbon By Y’ATT & CHARGE SPEED
เข้าเรื่องดีกว่า รถคันนี้อยู่ในการครอบครองของ “คุณก๊อก” ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่รักความแรงในชีวิตจิตใจ เหตุผลที่มาเลือกเล่นกับ IMPREZA เนื่องจาก “ชอบ Handling ในการขับขี่ และคิดว่าเป็นรถที่แต่งอัพเกรดสมรรถนะได้เยอะ” ก็เลยจัดการ “ถอย” เจ้า S204 มาเป็นยานคู่กาย รถคันนี้เป็นลำดับที่ “486/600” พอได้มา ขับสักพักก็ชินเท้า ตามประสาคนชอบแรง ก็เลยไปทำแบบ Light Tuning ก็เหมือนเดิม ชินเท้าแล้วรู้สึกอยากทำอีก ก็เลยบรรเลงออกมาจนเป็นชุดใหญ่ ทำทั้งนี้ก็ต้อง “สุด” ไปเลย ภายนอกก็จัดการเปลี่ยนแปลง “ลุค” ใหม่ โดยเน้นเป็น “Carbon look” ได้ทั้งความเท่ และลดน้ำหนักตัวรถ สำหรับชิ้นงาน ฝากระโปรงหน้า-หลัง สเกิร์ตข้าง เป็นของ “CHARGE SPEED” ส่วนแก้มหน้า ประตูหลัง กันชนหน้า-หลัง เป็นฝีมือของ “Y’ATT” เจ้าดังที่คุ้นเคย ก็ทำให้เปลี่ยนแนวมาเป็น “โหด” อย่างเต็มพิกัด…
- EJ20+25 ทำเต็มที่ คนที่ทำจะต้องใจรักจริง ๆ เพราะจะต้องใช้งบประมาณสูงกว่าบล็อกคู่แข่งในระดับเดียวกัน แต่ถ้าทำดี ๆ ก็แรงไม่แพ้ใครเหมือนกัน ทั้งเครื่อง Tuned by LIM จัดให้
EJ20+25 ขยาย 2.6 ลิตร เต็มชุด
ขุมพลังของ IMPREZA STi เวอร์ชั่น S204 นี้ ก็ยังยืนยันเป็นเครื่อง “EJ20T” คอแดง แต่ด้วยความจุที่น้อย การจะทำให้แรงม้ามาก ๆ คงจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ทางลัดของคนที่จะเล่นแรงเยอะ ๆ ก็จำเป็นจะต้องหาท่อนล่างที่เป็น 2.5 ลิตร มาใช้ แต่คงเอามาใช้ได้แต่เสื้อสูบ เพราะที่เหลือคันนี้ “เปลี่ยนหมด” ชุดใหญ่ จับชุด Stroker Kit (ขยายความจุ) เป็น 2,650 ซี.ซี. จาก “BRYAN CROWER” (BC) มาหมด ทั้ง “ลูก-ก้าน-ข้อ” ก็เลยกลายเป็น “EJ26” ไปจนได้ ปั๊มน้ำมันเครื่องเอาของ STi กลับมาใช้ ชุดชาฟท์ทั้งหมดของ “CALICO” ชุดแคร็งค์น้ำมันเครื่องแบบมี “กันน้ำมันกระฉอก” เป็นของ “TOMEI” (อันนี้เคยพูดถึงไปแล้วนะครับ) จบท่อนล่าง มาอยู่ที่ “ฝาสูบ” เป็นส่วนสำคัญในการทำแรงม้า ฝาสูบยังเป็นของ EJ20 ที่ติดรถมา แต่จะต้องมีการปรับแต่งเพื่อให้รับกับเครื่องที่ความจุมากขึ้นได้ โดยการ “แต่งโดมห้องเผาไหม้” ใหม่ทั้งหมด จะทำให้ “กินง่าย ถ่ายคล่อง” เพื่อเน้น Flow ก็ต้อง “โอเวอร์ไซส์วาล์ว” เพิ่มอีก 1 มม. พร้อมชุดสปริง รีเทนเนอร์ จาก “BRYAN CROWER” ประกบด้วยปะเก็น “COMETIC” และไม่ลืมเปลี่ยนสตัดยึดฝาสูบกับเสื้อสูบ เป็นของ “ARP” ที่แข็งแรงกว่า เมกชัวร์ว่าจะไม่ “ยืด” ให้เครื่องพังง่ายๆ…
- GARRETT GT35 ซุกอยู่หลังเครื่อง ไฟต์บังคับว่าต้องใส่ตรงนี้
ระบบเปิด-ปิดวาล์ว ก็จะใช้แคมชาฟท์ของ “COSWORTH” ที่ไม่เปิดเผยองศามา ส่วนสายพานไทมิ่ง และตัวดันปรับตั้งสายพาน ก็เป็นของยี่ห้อเดียวกัน ระบบอัดอากาศใช้เทอร์โบของ “GARRETT GT35” เวสต์เกตแยก โบล์ว ออฟ วาล์ว “TIAL” ลิ้นปีกผีเสื้อ “HYDRA” 70 มม. ท่อไอเสียทั้งชุด “TRUST Titanium” เบาหวิว (แต่ราคาไม่หวิวตามน้ำหนัก) ระบบจ่ายเชื้อเพลิงก็ใช้ปั๊มติ๊ก “SARD Type R” ขนาด 265 ลิตร/นาที เบิ้ลสองตัว เร็กกูเลเตอร์ “SARD” หัวฉีด “RC” 1,200 ซี.ซี. ระบบระบายความร้อนก็ใช้หม้อน้ำและอินเตอร์คูลเลอร์ “GReddy” ทั้งชุด ออยล์คูลเลอร์เครื่องยนต์ “HKS” ออยล์คูลเลอร์เกียร์ “SUBARU” วาล์วน้ำ “ARC” ท่อยางต่าง ๆ เป็นของ “SAMCO” ระบบจุดระเบิดใช้หัวเทียน “GReddy Pro Racing” ชุด CDI ของ “SUN AUTO X-POWER” ชุด Ground Wire ของ “SUN AUTO Innazma” กล่องควบคุม “MoTeC M800 Plug & Play” เป็นฝีมือการจูนอัพของ “Tuned by LIM” และเป็นผู้ Setup & Service ระบบเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบช่วงล่าง ทั้งหมดด้วย…
- โบล์ว ออฟ วาล์ว TIAL หน้าตาสวยประหลาด ถัดไปเป็นถังดักไอน้ำมันเครื่อง GReddy
- ชุดพูลเลย์ UNORTHODOX (อันออโทดอกซ์) อะลูมิเนียม
ช่วงล่าง OHLINS ค้ำ CUSCO & CARBING เต็มพิกัด
ต้องยอมรับว่ารถคันนี้เลือกใช้ของดี ๆ เต็มคันเลยทีเดียว นับว่าเจ้าของรถ “ใจถึง เงินถึง เลือกของเป็น” ถึงแม้จะแพงมาก แต่ผลที่ได้ก็คุ้มค่า ระบบช่วงล่างของ S204 ก็จะเป็นของพิเศษที่ STi ทำมาให้ แต่ด้วยแรงม้าที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว ก็ต้องมีการเพิ่มเติม เปลี่ยนโช้คอัพและสปริงเป็นของ “OHLINS DFV” ปกติถ้าวิ่งถนน จะใช้เรตสปริง “หน้า 8 K หลัง 6 K” ก็ให้ความนุ่มนวลใช้ได้ แต่ชุดที่วิ่งเซอร์กิต ก็จะปรับเป็น “บวกสอง” อยู่ที่ “หน้า 10 K หลัง 8 K” วิ่งถนนทั่วไป ความเร็วต่ำ ๆ ก็จะออกกระด้างบ้าง แต่วิ่งเร็ว ๆ กลับนิ่มนวลและหนึบดี ช่วงล่างหน้า เพิ่มตัวร่นชุดแร็คและชุดปีกนกหน้า ให้ขนานกับพื้น ใช้กับรถที่โหลดเตี้ย เพื่อมุมล้อจะได้ไม่ผิด เป็นของ “ZERO SPORT” ส่วนตัวปรับมุมแคสเตอร์ ของ “WHITE LINE” ส่วนอื่น ๆ ก็จะมี “สารพัดค้ำ” ของ “CUSCO” ก็จะมีค้ำล่างหน้า-หลัง ค้ำกลางตัวรถ ค้ำซุ้มยางอะไหล่ด้านหลัง โรลบาร์ ส่วนอีกชุดจะเป็นของ “CARBING” ก็จะมีค้ำโช้คหน้า-หลัง ค้ำพื้นหลัง ค้ำตัวถังด้านหน้า ยาวมาถึงประตู แล้วก็มีค้ำแก้มหน้าของ “SUMMIT” เยอะจริงๆ สาธยายแทบไม่หมด ส่วนระบบส่งกำลัง ใช้เกียร์เดิมที่เป็น STi มาอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนคลัตช์เป็นแบบ 3 แผ่น พร้อมเปลี่ยนลิมิเต็ดด้านหน้า เป็นแบบ “1.5 Way” ด้านหลัง “2.0 Way” เป็นของ “ATS” ทั้งหมด…
- โช้คอัพและสปริง OHLINS ค้ำโช้ค CARBING สังเกตดู “เพลท” เลข 486/600 เป็นการบ่งบอกว่าเป็น S204 คันที่เท่าไหร่ จาก 600 คัน
- ชุดช่วงล่าง เป็น STi อยู่แล้ว เอกลักษณ์สีชมพูสด ที่เห็นสีน้ำเงิน เป็นค้ำจาก CUSCO
- ด้านซ้ายเป็นถัง A พักน้ำมันเชื้อเพลิง ความจุ 5 ลิตร ของ SARD ถังสีขาวยาว ๆ เป็นน้ำฉีดอินเตอร์คูลเลอร์ ของ STi Version ค้ำตัวถังบริเวณซุ้มล้อ CARBING ค้ำสีน้ำเงิน (Power Brace Trunk Bar) CUSCO กล่องอะลูมิเนียมเก็บของ ARC งานสวยถูกใจ
Max Power : 565.27 PS @ 6,700 rpm
Max Torque : 73.63 kg-m @ 4,700 rpm
Dynamometer : SUPER AUTOCAR
สำหรับส่วนของ “ไดโนเทสต์” ที่บางฉบับอาจจะห่างหายไปบ้าง ก็แล้วแต่ว่ารถที่นำมาลงคอลัมน์ จะมีความพร้อมในการขึ้นทดสอบหรือไม่ บางคันเจ้าของก็ทดสอบมาเรียบร้อย เราก็จะขอกราฟมาลงประกอบ ส่วนคันไหนที่ไม่พร้อม ก็คงต้องขอละไว้ แต่เราพยายามจะให้มี เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ “บ่งบอกนิสัยเครื่องยนต์” ได้ดีและชัดเจนที่สุด เป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ จริง ๆ แล้ว ตัวเลขแรงม้าและแรงบิด มันเป็นสิ่งที่จะบอกถึง “กำลัง” ของรถคันนั้น ๆ ได้ชัดเจน แต่สิ่งที่เราสนใจมากกว่านั้น กลับไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวเลขมาคุยแล้วจบกัน สิ่งที่สำคัญก็คือ “ลักษณะของกราฟแรงม้า” ที่จะบ่งบอกได้ว่า “นิสัยเครื่อง” ตัวนั้นเป็นอย่างไร ทำออกมาแล้วตรงกับวัตถุประสงค์ของรถได้หรือไม่ แมตช์กับระบบส่งกำลังหรือเปล่า มันสำคัญมากกว่า ถึงแม้จะทุ่มทุนสร้างแรงม้าและแรงบิดมากมายมหาศาล แต่นิสัยเครื่องไม่ตรงกับอะไรเลย ก็ทำให้รถคันนั้นไปไม่เร็วเท่าที่ควร…
- เอา Gear Calculator มาให้ดูกันเล่น ๆ ใส่อัตราทดเกียร์และเฟืองท้าย ของ STi เข้าไป (อัตราทดเหมือนกับ S204) คิดเปลี่ยนเกียร์ที่ 8,000 รอบ แต่ละเกียร์รอบจะตกมาอยู่ในช่วง Peak Torque จึงทำให้เร่งได้รุนแรงต่อเนื่อง
ในส่วนของกราฟ ก็จะมีทั้งหมดสี่เส้น อย่าเพิ่งงง เพราะเราจะวัดทั้งหมดสองครั้ง โดยผิดกันที่ “เชื้อเพลิง” มีสองชนิด ก็คือ “แก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95” กับ “เบนซิน ออกเทน 100” เราขอพูดถึงกราฟออกเทน 100 เป็นหลักละกัน เพราะมัน “แรงเยอะดี” โดยใช้บูสต์อยู่ที่ “2.0 บาร์” มาดูที่ “แรงม้า” (เส้นสีฟ้า) จากการที่เครื่องยนต์มีความจุถึง “2.6 ลิตร” ก็แน่นอนว่า จะให้กำลังเยอะ ที่รอบไม่สูงมาก ลักษณะกราฟก็จะมาแบบ “ท้องกว้าง” มีช่วงกำลัง (Power Band) ให้ใช้มาก ในช่วง 3,500 รอบ กราฟจะขึ้นชันแทบจะเป็นแนวดิ่ง แรงม้าไต่ขึ้นเร็ว ช่วง 4,500 รอบ แรงม้ามาแล้วถึง “450 PS” (ช่วงต่างแค่ 1,000 รอบ ให้แรงม้าแตกต่างกันถึง 250 PS) หลังจากนี้ กราฟก็จะเริ่มทรงตัว ไต่ขึ้นถึง “510 PS” ที่ 5,000 รอบ หลังจากนี้ไป เส้นกราฟจะค่อย ๆ ทยอยขึ้นเรื่อย ๆ ไปแตะแรงม้า “ลงพื้น” สูงสุด “563.27 PS” ที่ช่วงระหว่าง 6,000-7,000 รอบ พอเลยจากนั้น ก็ค่อย ๆ โรยตัวลงเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ระดับ “500 PS” ตลอด จนจบการวัดที่ 8,000 รอบ ในช่วง Power Band จะมีให้ใช้เต็ม ๆ ตั้งแต่ 5,000-8,000 รอบ โดยแรงม้ามีให้ใช้ต่อเนื่องดี ส่วนแรงม้าตอนใช้ “แก๊สโซฮอล์ 95” (กราฟสีฟ้า เส้นที่สอง) โดยใช้บูสต์ที่ “1.7 บาร์” โดยมีแรงม้าสูงสุดที่ “501.33 PS” ที่ 6,750 รอบ ก็จะมีลักษณะกราฟที่คล้ายกัน แต่ที่แตกต่าง ก็จะมีช่วงที่เริ่มไต่สู่จุด Peak กราฟที่ใช้ “เบนซิน ออกเทน 100” จะเริ่มหนีห่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด ก็เป็นเรื่องของการโปรแกรมกล่องที่สามารถ Mapping องศาไฟและส่วนผสมได้ดีกว่า…
มาดู “แรงบิด” กันบ้าง เป็นอะไรที่ขนหัวลุกมากกว่าแรงม้าซะอีก เพราะให้ค่าสูงสุดถึง “73.63 กก.-ม.” เป็นค่าที่สูงมากเลยทีเดียว สมชื่อกับคำว่า “TORQUE OF THE TOWN” ถ้าเทียบกับรถที่ “วิ่งถนน” นะ ก็เป็นข้อได้เปรียบของเครื่องความจุมาก แรงบิดถีบพรวดเดียวตั้งแต่รอบกลาง ๆ เลย ก็ลองดูสิครับ ในช่วง 4,500-5,000 รอบ แรงบิดสูงสุดมารอแล้ว สมมติว่าเปลี่ยนเกียร์ที่ 8,000 รอบ รอบจะตกมาแถว ๆ ช่วง 5,200-6,300 รอบ แล้วแต่ว่าเกียร์ไหน (ดูที่ตารางคำนวณได้เลยครับ บอกไว้เสร็จเรียบร้อย ว่าเปลี่ยนเกียร์แล้วรอบจะตกมาประมาณไหน) ก็จะสามารถ “ถีบ” ตัวรถ ให้มีอัตราเร่งที่รุนแรงได้…
จริง ๆ แล้ว ช่วงรอบกลางนี้ “สำคัญ” นะครับ อย่าลืมว่า ช่วงรอบกลาง ๆ เรา “ต้องการอัตราเร่ง เพื่อไต่ขึ้นสู่รอบสูง” ถ้ามีแต่ปลาย ๆ รอบกลางหาย ก็จะทำให้ “ห้อย” ขับไม่ค่อยดี หลังจากช่วง 5,000 รอบ เป็นต้นไป อยู่แถวๆ 6,000-7,000 รอบ กราฟก็จะเริ่มโรยตัวลง แต่ก็ยังมีค่าระหว่าง 70-60 กก.-ม. ยังอยู่ในระดับที่เยอะอยู่ ในช่วงรอบสูง รถเริ่มลอยตัวได้ เราก็ใช้แรงม้าในการวิ่งต่อ ส่วนแรงบิดตอนใช้ “แก๊สโซฮอล์ 95” (กราฟสีแดง เส้นที่สอง) อยู่ที่ “64.31 กก.-ม.” เป็นค่าที่เยอะอยู่ สรุปก็คือ รถคันนี้ก็มีการลงทุนขยายความจุเยอะ ๆ ก็เพื่อการนี้ ผลที่ได้ก็ตามวัตถุประสงค์ครับ รถคันนี้มีอัตราเร่งที่รุนแรงแน่นอน ช่วงล่างอะไรดีหมดแล้ว ก็เหลือ “ยาง” ที่เล็กไปหน่อย เจ้าของว่า มีอาการ “ฟรีทิ้งทั้งสี่ล้อ” ตอนเร่งแรง ๆ ทางแก้ก็ควรจะเปลี่ยนยางให้หน้ากว้างขึ้นครับ…
ขอขอบคุณ : “พี่ก๊อก” เจ้าของรถ และ “Y’ATT” ช่วยประสานงาน ในการถ่ายทำครั้งนี้ครับ…
- มุมท้ายโหดแบบดิบ ๆ ชุดท่อ GReddy Titanium แผ่น Diffuser ติดรถมาให้เลย
- สปอยเลอร์หลัง เป็นของเวอร์ชั่น S202 เพราะเจ้าของ “ไม่ปลื้ม” กับทรง S204 เพราะมันดู “ดาด ๆ” ไปหน่อย
- Blowtech Generator ช่วยรีดกระแสลมจากบนหลังคา ให้ไหลเป็นระเบียบไปกดที่สปอยเลอร์ท้าย
- เบาะคนขับ BRIDE GARDIS III คนนั่ง ZIEG III เบลท์ TAKATA ตัวสีเงิน ๆ ด้านบนโรลบาร์ เป็น “อินเตอร์คอม” ของ STILO ที่ใช้กับหมวกกันน็อกแบบมี “ชุดสื่อสาร” ระหว่างคนขับและเนวิเกเตอร์
- โรลบาร์ CUSCO ค้ำพื้นหลัง CARBING ถังดับเพลิง OMP แบบ Automatic