ขยี้มาแล้ววว TOYOTA C-HR HV Hi Test Drive
อะไรๆ ก็ดี แต่…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : TOYOTA Motor Thailand
หลังจากที่ TOYOTA C-HR หรือ Coupe Hi Rider เป็นรถยนต์แนวใหม่ที่รวม Life Style กันหลากหลาย ออกแบบได้สสวยสวยเก๋ โดยมีทั้งความเป็นสปอร์ต ทันสมัยด้วยทรวดทรงแบบ “เพชร” ที่เหลามาจนดูล้ำยุคเกินหน้าเกินตาพรรคพวก พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์ไฮเทคที่ช่วยในการขับขี่แบบประดามี แถมระบบ T-Connect Telematics ที่เอาใจสาย “โซเชียล” ที่สร้างความบันเทิงบนอุปกรณ์สื่อสารไฮเทคทั้งหลาย งานนี้เราได้ไปแนบชิดติดคันเร่งกันถึง “น่านนนไง” บนเส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวลด กับรุ่น HV Hi ซึ่งเป็น “ตัวท๊อป” ของ C-HR เอางี้ สไตล์ “พี สี่ภาค” ขอไม่เหลาเรื่อง Feature ของรถกันทุกเม็ด เพราะข้อมูลสเป็กคุณก็ไปหาอ่านเอาใน www.toyota.co.th ซึ่งไม่จำเป็นต้อง “ลอกโบรชัวร์” มาเขียนให้มันยาวยืด บอกตรงๆ “กูขี้เกียจ” แต่เราจะมาคุยกัน “เนื้อๆ” ว่า สิ่งที่สำคัญและโดดเด่นใน C-HR มันมีอะไรที่ “ให้ประโยชน์” คุณได้บ้าง…
สวยโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม
เอาว่า ณ ตอนนี้ การออกแบบของ C-HR นั้นออกจะโดนใจวัยรุ่นจนถึงวัยแรดอย่างผม ด้วยคอนเซ็ปต์การออกแบบในลักษณะ “เหลี่ยมเพชร” ทำให้ดูโดดเด่นไม่เหมือนใคร สำหรับเรื่องของ “สีสัน” ก็มีทั้งหมด 6 สี แต่ที่เป็น “สีพิเศษ” ที่จะต้อง “จ่ายตังค์เพิ่ม 10,000 บาท” จะมี 3 สี ที่จะมาพร้อม “หลังคาสีดำ” คือ แดง Premium Red, น้ำเงิน Blue Metallic, เขียว Radiant Green Metallic ซึ่งสีนี้ดูจะโดดเด่นโดนใจมาก เป็นโทนสีที่แปลกใหม่ดีดูสดใส (ส่วนตัวนะส่วนตัว) ส่วนอีก 1 สี ก็คือ White Pearl Chrystal (แต่หลังคาไม่ดำนะ) ส่วนด้านท้ายก็นิยมไฟท้ายทรงตัว C หรือ บูมเมอแรง ทำให้รถดูโฉบเฉี่ยวขึ้น ไฟเลี้ยวเป็นแบบ Sequential LED ที่เวลาทำงานมันจะวิ่งไล่จากด้านในไปด้านนอก อันนี้เป็นสไตล์เพื่อเพิ่มความเตะตา ยอมรับว่ารูปทรงของ C-HR นั้นทำได้หวือหวาสะใจ เป็น TOYOTA ยุคใหม่ ส่วนโครงสร้างตัวถังก็พัฒนาใหม่ล่าสุด TNGA หรือ Toyota New Global Architecture ที่เพิ่มความแข็งแกร่งและสมดุลย์ของโครงสร้าง เน้นความปลอดภัยและทำให้ตัวรถมีความมั่นคงสูง ซึ่งเดี๋ยวเราจะได้ไปลองกัน แต่ลองแค่ Handling นะ ไม่ได้ลองการชนเพราะไม่ใช่เรื่องของเรา…
อุปกรณ์ความปลอดภัยครบ
อุปกรณ์ช่วยเหลือด้านความปลอดภัยต่างๆ ของ C-HR รุ่น HV Hi ก็บรรเลงมาให้อย่างครบครัน มีหลายอย่างเรียกว่าถ้าไม่ควายหรือซวยจริงๆ ก็ไม่น่าจะเกิดอันตราย (ง่ายนัก) แต่ขอเอาแบบหลักๆ ที่น่าสนใจและทันสมัยมาให้ชมกัน อาทิ…
Pre-Collision System
อันนี้ก็จะเป็นระบบความปลอดภัย “ก่อนการชน” หรือ Active Safety กรณีที่คนขับ “จิตหลุด” โดยมากจะเจอก็พวก “ขี่ไปแชตไป” ทั้งหลาย เงยหน้าขึ้นมาอีกทีตูดสิบล้อลอยอยู่ด้านหน้า (ก็สมควรโดนอ่ะนะ) ระบบนี้จะแบ่งการทำงานเป็นสองช่วงความเร็ว อันแรก ความเร็วต่ำ ไม่เกิน 50 km/h คือ ใช้งานในเมืองทั่วไป เมื่อเกิดความเสี่ยงที่จะชน โดยจะมี Radar คอย Detect หรือ ตรวจจับ ระยะห่างของรถคันหน้า ระบบจะส่งเสียงเตือนรัวๆ ประมาณว่ามึงจะชนแล้วนะ ระบบเบรก BA (Brake Assist) จะสร้างแรงดันเบรกมา “รอ” เผื่อการกระทืบเบรกกระทันหันของคนขับ แตะเบรกเมื่อใดรถจะเบรกแบบ “ทวีแรง” เพื่อให้รถหยุดเร็วที่สุด (แต่ไอ้คันหลังจะหยุดอยู่หรือเปล่าอีกเรื่องนะ) ทำไมรถมันไม่ได้เบรกให้เอง เพราะว่าบางทีคนขับอาจจะมีสติเต็มร้อย แต่คันหน้าเบรกกะทันหันด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ คนขับอาจจะตัดสินใจ “เร่งเพื่อเปลี่ยนเลนหลบ” ก็เป็นได้ เพราะเบรกกะทันหันอาจจะโดน “ดุ้ยตูด” ได้ง่ายๆ และบ้านเรามันมี “ปัจจัยแทรก” มากมาย จึงไม่เหมาะที่จะทำให้รถเบรกเอง…
ส่วนในความเร็วสูงเกินกว่านั้น เช่น วิ่งบนไฮเวย์นอกเมือง อันนี้ระบบจะมีการ “เบรกให้” ในกรณีที่รถวิ่งเข้าไปหารถคันหน้าในระยะไม่ปลอดภัย โดยมีความต่างของความเร็วตั้งแต่ 15 km/h ขึ้นไป อันนี้มันจะเบรกให้เอง เพื่อรักษาระยะความห่างไว้ให้ปลอดภัย แต่เอาเข้าจริงอย่าไปพึ่งพาระบบอย่างเดียว เดี๋ยวจะนึกว่าระบบดีแล้วจะไม่ตั้งใจขับรถ ช่างแม่งกูจะยังไงก็ได้ไม่สน ถ้ามัวแต่ขับรถเร็วแบบไร้สติ “ตาย” หรือ “พิการ” จะไปโทษระบบเขาไม่ดีไม่ได้นะ…
Dynamic Radar Cruise Control
ระบบรักษาความเร็วอัตโนมัติ มันช่างเหมาะสำหรับคนขี้เกียจอย่างเราเสียนี่กระไร อันนี้มันจะรักษาความเร็วตามรถคันหน้า เช่น เราตั้งไว้ 100 km/h คันหน้าวิ่งความเร็วเสมอกันนี่ก็วิ่งไป แต่ถ้าคันหน้าเริ่มช้าลง ระบบ Radar ก็จะ Detect ได้ มันก็จะสั่งลดความเร็วลง ด้วยการ “ลดกำลังเครื่อง” หรือถ้ากว่านั้นก็ “เบรกช่วย” แต่ถ้าคันหน้ากลับไปที่ 100 km/h ตามที่ตั้งไว้ รถก็จะเร่งไปตามที่เราตั้งไว้นั่นเอง…
Auto High Beams
อันนี้เป็นระบบไฟสูงอัตโนมัติ อย่างเราวิ่งไปในทางมืดมากๆ อย่างทางต่างจังหวัดที่ไม่มีไฟส่องถนน เราต้องเปิดไฟสูงเพื่อให้มองเห็นทาง แต่เมื่อมีแสงไฟจากรถที่สวนมา ตาม “มารยาท” เราต้องปิดไฟสูง เพื่อไม่ให้แยงตาคนที่สวนมาจนเกิดอันตราย ระบบนี้จะ Detect จากแสงไฟที่ส่องสวนมา และ “ปิดไฟสูงให้เอง” จนกลับสู่สภาวะมืดอีกครั้ง ไฟสูงจะเปิดเอง ทำให้สะดวกคนขับไม่ต้องปิดๆ เปิดๆ ให้วุ่นวาย…
Lane Departure Alert with Steering Assist
อันนี้เอามาสำหรับในกรณีที่ “รถเบนหัวข้ามเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว” ประมาณว่าคนขับอาจจะ “นก” หรือ ก้มหน้าก้มตาแชตรัวๆ (อันหลังนี่ถ้าโดนหนักๆ คงไม่น่าสงสาร) จนรถข้ามเลนไปเอง ในเงื่อนไขว่าถ้าไม่เปิดไฟเลี้ยวนะ แต่ถ้าเปิดไฟเลี้ยวจะไม่ทำงานเพราะแสดงว่าคุณยังมีสติและเจตนาเปลี่ยนเลนเอง การทำงานของมัน ถ้าระบบ Scan กับพื้นถนนได้ว่ารถกำลังเบนออกนอกเลนวิ่งปกติ มันจะ “ส่งเสียงเตือน” ก่อน ให้คนขับรู้ตัว แต่ถ้าคนขับมึงยังมึนไม่แก้กลับ พวงมาลัยจะดึงกลับให้เองในระดับหนึ่ง เว้นแต่ว่าคนขับไป “ฝืน” พวงมาลัยไว้ว่ากูต้องการจะเปลี่ยนเลนนะ ระบบก็จะตัดการทำงานไปในช่วงนั้น เพราะระบบมันรู้แล้วว่าคนขับต้องการเปลี่ยนเลนจริงๆ ซึ่งระบบนี้สามารถเปิดปิดได้ครับ…
Hybrid 4th Generation
แรงตอบ Teen แถมประหยัดสุดๆ
ขุมพลังในรุ่น HV Hi และ HV Mid เป็น 2ZR-FXE ขนาด 1.8 ลิตร มีกำลัง 98 แรงม้า ส่วนตัว 1.8 Mid และ 1.8 Entry จะเป็น 2ZR-FBE มีกำลัง 140 แรงม้า ซึ่งเราขอกล่าวถึงรุ่น Hybrid ก็แล้วกัน แรงม้าที่เครื่องน้อยกว่า เพราะเน้นออกทางประหยัด ตัวเครื่องมีกำลังอัดสูงถึง 13 : 1 (ตัวธรรมดา 10 : 1) แต่มีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยกำลัง โดยตัวมอเตอร์มีกำลัง 53 กิโลวัตต์ แรงบิด 163 นิวตัน–เมตร อันนี้น่าสนใจ เพราะมอเตอร์มันมีแรงบิดเต็มตั้งแต่เริ่มการทำงานเลย หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมตามสเป็กจึงไม่แจ้งแรงม้าแบบ “บวก” กันระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ ทางฝ่ายเทคนิคของ TOYOTA ในวันที่เราไป Test Drive แถลงว่า “เครื่องยนต์กับมอเตอร์ทำงานร่วมกันก็จริง แต่มันมีจุดกำลังสูงสุดคนละช่วง มอเตอร์ได้รอบต่ำ เครื่องยนต์ได้รอบสูง จึงไม่สามารถนำแรงม้ามาบวกกันได้” แต่เราก็ไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขแรงม้าอะไรนักหรอก เราสนใจเพียงแค่ว่า “มันจะแสดงออกยังไง” ส่วนเกียร์ของรุ่น HV จะเป็นแบบ E-CVT หรือ “เกียร์ไฟฟ้า” ขับเคลื่อนด้วย Planetary Gear ส่วนรุ่น 1.8 ปกติ จะเป็นเกียร์ Super CVT-i แบบ 7 สปีด…
ขับสนุกจนคิดว่า “ไฮบริดไม่ได้มีดีเฉพาะในเมือง”
จากการวางเส้นทางขับขี่ตั้งแต่ “น่าน–ลำปาง” เรียกว่าทางขึ้นลงเขาพร้อมโค้งตลอดเวลา แน่นอนว่า กำลังของเครื่องยนต์ รวมถึงระบบส่งกำลังมันจะต้องสะเวิ้บด้วยกันได้ลงตัว ไอ้เรื่อง EV Mode ที่วิ่งด้วยมอเตอร์อย่างเดียว เราก็ไม่ได้ตื่นเต้นเพราะลองกันมานานแล้วตั้งแต่ Camry Hybrid ตัวแรก แต่สิ่งที่เราคิดตั้งแต่แรก ว่าระบบไฮบริดมันก็น่าจะมาเนิบๆ เนือยๆ ตามสไตล์รถประหยัด แต่ลองเข้าจริงๆ “เฮ้ยสนุกดีว่ะ” ตอนเร่งแซงกระทันหันบ่อยๆ ในขณะขึ้นเขา เรียกว่า “ตอบสนองตาม Teen” อย่างว่องไว อัตราเร่งมาแนว Smooth แต่เร็ว จนสามารถขับได้สนุกและแซงได้มั่นใจแบบ “ไม่ต้องรอรอบเลย” ส่วนเกียร์ E-CVT ก็ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องคิดนาน นับว่าตอบสนองได้ดีอย่างน่าพอใจ เรียกว่าเปลี่ยนความเชื่อไปเลยที่ว่า รถไฮบริดต้องขับในเมืองเท่านั้น ส่วนอัตราสิ้นเปลือง อันนี้ก็ถือว่าเป็นของเด็ด ดูตัวเลขจาก On Board คันที่เราขับ มันแจ้งไว้ถึง “20 กว่า กม./ลิตร” !!! ซึ่งเป็นการขับขี่บนสภาวะจริงๆ ไม่ได้ปั้นตัวเลขให้สวยหรู (ไม่ใช่นโยบายของเราอยู่แล้ว เรามองว่าอัตราสิ้นเปลืองควรจะมาจากสภาวะใช้งานจริง) นับว่าประหยัดมากๆ เพราะระยะทาง 200 กม. บนทางขึ้นลงเขา เท่ากับว่าใช้น้ำมันไปเฉลี่ย 5 ลิตร เท่านั้นเอง…
ช่วงล่างหลัง Double Wishbone อิสระ 4 ล้อ เต็มระบบ
ตามนั้น คงไม่ต้องพิมพ์ซ้ำให้เปลืองหมึก โดยปกติรถลักษณะนี้ จะให้ช่วงล่างด้านหลังในลักษณะ “คานบิด” หรือ “ทอร์ชั่นบีม” มา เพราะด้วยความที่รถมีขนาดค่อนข้างเล็ก ช่วงล่างคานบิดจึงเหมาะสมเพราะ “ประหยัดเนื้อที่” ชิ้นส่วนน้อยมาก ไม่ไปเบียดบังพื้นที่ห้องโดยสารหรือห้องเก็บของ การทรงตัวก็ดีในระดับพอเพียงกับการใช้งาน เพราะรถพวกนี้คงไม่ได้เน้นขับกันโหดร้ายมากนักหรอก (อยากดีก็ไปซื้อโช้คอัพโมดิฟายใส่เอาเองก็แล้วกัน) แต่ของ C-HR กลับลำเอาช่วงล่างหลังแบบ “อิสระ ปีกนกคู่” มาใช้ นับว่าเป็นช่วงล่างที่มีโครงสร้างดี ได้ทั้งการทรงตัวที่มั่นคงและมีความนุ่มนวลสไตล์รถยุคใหม่…
มันต้องลองก่อนถึงจะพูดได้ ครั้งนี้เราใช้เส้นทางนี้ ซึ่งมีการ “สร้างถนน” กันเกือบตลอดทาง แน่นอนมันจะมีช่วงรอยต่อถนน รอยปุปะต่างๆ ตามคอสะพานบ้างอะไรบ้าง ซึ่ง C-HR ดูจะโดดเด่นมากเรื่องความนุ่มนวลและออกอาการ “หนึบ” ไม่ค่อยมีอาการกระด้างหรือดีดเด้งเท่าไรนัก “จากการขับขี่แบบมนุษย์ทั่วไปนะ” ทำให้การขับขี่และโดยสารสบายดี เก็บเสียงช่วงล่างดี มีบางจังหวะก็เสียงยางบดถนนดังขึ้นมาบ้างเป็นปกติ การเข้าโค้งในความเร็วสูงอยู่ในเกณฑ์ดีน่าพอใจ เส้นทางโค้งต่อเนื่องยังไปแบบ “ใช้ความเร็ว” มากกว่าปกติอยู่บ้าง ก็ยังควบคุมได้ แต่ว่า การเอียงของตัวรถจะมากกว่ารถเก๋งในระดับเดียวกันอยู่บ้าง อย่าลืมว่าตัวรถมันสูงกว่า ในภาพรวมถือว่า O.K. เลย ส่วนระบบ “เบรก” ตอบสนองได้ดี ซึ่งการขับเส้นทางนี้ต้องใช้เบรกบ่อย โดยเฉพาะจังหวะลงเขา ซึ่งเราใช้โหมดเกียร์ B หรือ Engine Brake มาช่วยลดภาระเบรกได้เยอะเลย มีบางจังหวะต้องเบรกกะทันหันก็ยังมั่นใจได้…
ภายในสวย พร้อมด้วย T-Connect Telematics สุดทันสมัยแต่…
การออกแบบทั้งภายนอกและภายใน จะใช้ทรวดทรงแบบ “เพชร” เป็นหลัก ดีไซน์และวัสดุภายใน “ดูดีมีเกรด” ออกแนวสปอร์ต หน้าปัดดูโดดเด่นเรียบง่าย อุปกรณ์ต่างๆ ใช้ง่าย ไม่เยอะจนรก ดีไซน์ “ผ่าน” ครับ กำลังดี ส่วนอุปกรณ์อันโดดเด่นใน HV Hi ก็คือระบบ T-Connect Telematics ที่เชื่อมการสื่อสารในระบบออนไลน์ไว้อย่างครบถ้วนผ่าน Application หรือ Apple Watch ทั้งระบบ TOYOTA Smart Center ที่จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. เช่น รถเกิดปัญหา หรือ “สอบถามเส้นทาง” ก็ได้ และยังมีระบบต่างๆ เช่น…
- Find my car : เช็คตำแหน่งของรถ ณ ปัจจุบัน
- Parking Alert : เช็คตำแหน่งที่จอดรถของเรา
- My Toyota Wi-Fi : มี Wi-Fi ส่วนตัวจากในรถเลย สื่อสารกันให้ระเบิดเถิดเทิงโดยไม่ขาดตอน (แต่อย่าเสือกขับไปเล่นไปล่ะ ระบบที่มีมันก็ช่วยอะไรไม่ได้หรอกนะ)
- อื่นๆ ก็มีไปหาข้อมูลเอาละกัน…
แต่สิ่งที่เราต้องคุยกันซีเรียส คือ “ทัศนวิสัย” ในด้านหน้าไม่มีปัญหา แต่เมื่อ “หันมองข้าง” อย่างตอนออกจากซอยสู่ถนนใหญ่ ถ้ามีคนนั่งหน้าแล้วคนขับมองซ้าย ตำแหน่งเบาะที่วางถอยหลังมาเยอะเพราะความเอนของเสาหน้ามันเยอะ จะทำให้คนนั่ง “บัง” คนขับ อันนี้ผมเจอด้วยตัวเอง คนอื่นจะเจอหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะพูดเหมือนกัน การมองด้านหลังก็อยู่ในระดับกลางๆ เพราะกระจกเทลาดเอนมากจนทำให้จอแคบ ส่วนเนื้อที่เบาะหลัง ถ้าเป็นคนสูงสัก 175 ซม. ขึ้นไป มันจะ “แคบไปสักหน่อย” เบาะหลังค่อนข้างจมลึก และ กระจกประตูจะโค้งขึ้นอีก สิ่งที่เป็นปัญหาคือ “คนตัวเล็ก” นั่งหลังแล้วจะ “มองวิวข้างๆ ลำบากหน่อย” แลดูอึดอัดถ้านั่งรถนานๆ ตรงนี้ด้วยความที่รถเป็นสไตล์ Coupe และคงเน้น “เจ้าของขับเอง” อยู่แล้ว เลยต้อง “ทำใจ” ในส่วนด้านหลังไป คงแก้อะไรไม่ได้นอกจาก “ทำใจให้ชิน” เพราะรถเขาออกแบบมาอย่างนี้ครับ…
สำหรับราคาตัวท๊อป HV Hi อยู่ที่ 1,159,000 บาท ไปจนถึงตัวพื้นสุดอย่าง 1.8 Entry ที่เปิดราคามา 979,000 บาท ในราคาไม่ถึงล้านหลายคนอาจจะมองตัวนี้ก็ได้ เพราะอย่างน้อยมันก็ตอบสนองในชีวิตประจำวันได้อย่างครบถ้วน หรือใครต้องการครบทุกอย่างก็จัดตัวท๊อปไปเลย บทสรุป สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือ การรับประกันระบบไฮบริด 5 ปี และ ตัวแบตเตอรี่ 10 ปี !!! และมีระบบประกันราคารถมือสองที่ใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี จาก Toyota Sure เอาเป็นว่า สนใจก็ไป “ลองขับ ลองนั่ง” ดูได้ ที่ศูนย์ Toyota ที่ไหนก็ได้ที่ท่านสะดวกหรือเซลส์สวยๆ ก็แล้วแต่…