เรื่อง พงศ์พล จันทรัคคะ / ภาพ ตี้ คนรักแมว…
สวย…เรียบ…เนียบ..เนียน…ที่เกริ่นหัวกันแบบนี้ ก็คือความจริงของรถคันนี้ TOYOTA STARLET รุ่น GT TURBO รหัสบอดี้ EP82 ความสวยของบอดี้ สีที่เงางาม ดูสะอาด รวมทั้งของแต่งไม่หลุดโลก บางชิ้นก็หายาก ทำให้รถดูน่าใช้ ด้วยขนาดมิติของรถที่มีขนาดเล็ก ออกแนวสปอร์ต มีพละกำลังไม่ธรรมดา เมื่อเทียบกับตัวรถ รุ่นนี้มีสายการผลิตตั้งแต่ปี 1990 เจเนอเรชั่นที่ 4 กว่า 22 ปีกันแล้ว การตกแต่งของรถคันนี้ก็มีในส่วน ทั้งภายนอก ภายในและเครื่องยนต์ที่มีความแรงพอตัว โดยคุณโอ๋ เจ้าของรถ มีความชำนาญในเรื่องรถรุ่นนี้อยู่พอตัว และยังจำหน่ายอะไหล่ต่าง ๆ ของรถรุ่นนี้ด้วย…
ภายนอก BODY PART BY TOM’S
นอกจากสีบอดี้ที่เงางามแล้ว ชุดแต่งบอดี้ พาร์ท คือองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ภายนอกของตัวรถดูมีเสน่ห์ขึ้นมาไม่น้อย สำหรับชุดแต่งที่เห็นอยู่นี้ เป็นของค่าย TOM’S สำนักแต่งเคียงข้าง TOYOTA มานาน ซึ่งมีส่วนประกอบทั้ง กันชนหน้า, กระจังหน้า, สเกิร์ตข้าง สเกิร์ตหลัง และสปอยเลอร์หลัง นอกจากนั้นอัพเกรดตัวกันชนหลัง ที่จะมีร่องเป็นแนวอยู่สามแถว, ไฟคู่หน้าทรงกลม และไฟท้าย ที่เรียกว่า “แผงกลางแบบสั้น” ทั้งหมดเป็นของรุ่น MINOR CHANGE ที่ค่อนข้างหาของยาก และสภาพดีขนาดนี้ ส่วนฝากระโปรงหน้าลดน้ำหนัก ด้วยการสร้างใหม่แบบไฟเบอร์ พร้อมสคู้ปดักลมของเดิมติดรถของรุ่นนี้
- ภายในเปลี่ยนเป็นของรุ่น MINOR CHANGE ทั้งหมด อาทิ คอนโซลหน้า, แผงข้างประตู, แผงลำโพงข้างประตู ส่วนบนคอนโซลหน้า ที่ชุดถาดวางแก้วน้ำเป็น ACCESSORIES เพิ่มจากเจแปน พร้อมพวงมาลัย MOMO และเกจ์วัด DEFI
- เบาะ RECARO รุ่น SR4 จาก INTEGRA DC5
ภายใน MINOR CHANGE บางชิ้นหายาก…
RECARO + DEFI
ด้วยการออกแบบแนวสปอร์ต ประตูด้านข้างจึงมีเพียงสองประตู แต่ภายในยังคงกว้างขวาง การตกแต่งใหม่ จึงเริ่มจากเปลี่ยนคอนโซลหน้า แผงลำโพงข้างประตู และแผงลำโพงด้านหลัง บางชิ้นหายากมาก ๆ… แถมสภาพดีแบบนี้ จัดเป็นของรุ่น MINOR CHANGE ทั้งหมด นอกจากนั้น บนคอนโซลหน้าจะมีถาดวางแก้ว และที่เท้าแขนตรงกลาง เป็น ACCESSORIES จากญี่ปุ่น ที่นิยมหามาใส่ให้ครบ นอกจากนั้นยังได้เปลี่ยนเบาะเป็นแบบบั๊กเก็ตซีตของ RECARO รุ่น SR4 จาก INTEGRA (DC5) R พวงมาลัย MOMO และหน้าปัดเรือนไมล์ TRD วัดความเร็วได้สูงสุด 280 กม./ชม. เกจ์วัดจาก DEFI รุ่น ADVAN CR อีก 2 ตัว สำหรับวัดบูสต์ และวัดแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง และปรับบูสต์ไฟฟ้าจาก GReddy PROFEC B SPEC II ส่วนเครื่องเสียง HEAD UNIT จาก PIONEER รุ่น AVH-P8540BT ลำโพงทั้งหมด พร้อมเพาเวอร์แอมป์จาก PRISM และค้ำเสา C ด้านหลังจาก CUSCO
- จริง ๆ แล้ว ด้านหลังยังมีแผงลำโพงตรงกลางจากรุ่น MINOR CHANGE ที่เรียกว่าหายากอยู่ด้วย แต่เอาออกไปก่อน เพื่อถ่ายให้เห็นค้ำเสา C และค้ำโช้ค CARBON จาก CUSCO ชัดเจนขึ้น
เครื่องยนต์ 5E-FE
อัพเกรดไส้ใน ใส่เทอร์โบ 271 แรงม้า…
ในบอดี้ของ TOYOTO STARLET จะใช้เครื่องในตระกูล E ENGINE ในรหัส 4E-FTE เทอร์โบ พร้อมพกม้ามากว่า 135 ตัว เทอร์โบสแตนดาร์ด รหัส CT9 แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ทำให้เจ้าของรถที่อยากได้ความจุของเครื่องเยอะขึ้น สูตรสำเร็จใหม่จึงเกิดขึ้น โดยได้เครื่องมาจากญี่ปุ่น ลูกผสมระหว่าง 4E-FE + 5E-FHEโดยเริ่มจากฝาสูบ 4E-FE ได้เปลี่ยนแคมชาฟท์ทั้งไอดีและไอเสีย เป็นของ 5E-FHE ที่มีองศาของแคมที่สูงกว่ามาเปลี่ยนแทน และลดกำลังอัดด้วยปะเก็นฝาสูบของ HKS 1.8 มม. จากนั้นท่อนล่างเพิ่มความเหนียวและทนต่อแรงบูสต์เทอร์โบ ด้วยการเปลี่ยนลูกสูบมาใช้ของ 1G-GZE เครื่องซูเปอร์ชาร์จเจอร์ขนาดใหญ่กว่าของเดิม 5E-FHE อยู่ 1 มม. ส่วนท่องล่างทั้งก้านสูบและข้อเหวี่ยงยังใช้ของเดิม 5E-FHE
- เครื่อง 5E-FHE ประกบฝา 4E เปลี่ยนลูกสูบเป็น 1G-GZE ใหญ่กว่าเดิม 1 มม. ทำให้ความจุเพิ่มขึ้นเป็น (1,537 ซี.ซี.) เทอร์โบ TD05-16G หัวฉีด 550 ซี.ซี. กล่อง HKS F-CON V PRO จูนโดยปอ วัฒนา 271 bhp ที่บูสต์ 1 บาร์
ต่อจากนั้นเพิ่มระบบอัดอากาศเป็นเทอร์โบของ MITSUBISHI รุ่น TD05-16G ติดตั้งบนเฮดเดอร์สเตนเลส ชุดคิตของ H.R.F. V300 มาพร้อมกับเวสต์เกตของ SARD ควบคุมบูสต์ 1 บาร์ ต่อเข้ากับท่อทางเดินไอเสียของค่าย JAM จนถึงหม้อพักใบสุดท้ายจาก A’PEXi รุ่น N1 ส่วนระบบไอดี เปลี่ยนท่อทางเดินไอดีบางส่วนที่เป็นชุดคิตจาก HKS พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์จาก ARC ต่อจากนั้นขยายขนาดหัวฉีดขึ้นเป็น 550 ซี.ซี. จาก SARD ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงจาก HKS และปั๊มนั้นเชื้อเพลิงจาก WALBRO ส่วนระบบไฟจุดระเบิด เพิ่มความเสถียรของกระแสไฟด้วย HKS TWIN POWER หัวเทียน NGK เบอร์ 9 สายหัวเทียน SPLITFIRE 8.8 มม. และคอยล์จุดระเบิดของ 3S-GTE ทั้งหมดถูกควบคุมด้วย HKS F-CON V PRO 3.24 VERSION จูนโดย ปอ วัฒนา ได้ม้าลงพื้นกว้า 271 ตัว นอกจากนั้นยังมีของแต่งในส่วนของเครื่องยนต์ อาทิ แท่นเครื่องยูรีเทน TRD + DOROFLEX หลอดหม้อน้ำอะลูมิเนียมจาก KOYO ออยล์คูลเลอร์สไตล์ EARL’S และค้ำหม้อลมเบรก CUSCO ส่วนระบบส่งกำลังเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ของรุ่น STARLET GLANZA (EP91) ที่ลากได้ยาวกว่า ด้ามเกียร์แบบ SHORT SHIFT จาก TRD เพลาขับเคลื่อนคู่หน้าจาก 4E-FTE ชุดคลัตช์ ORC แบบ SINGLE PLATE และลิมิเต็ดสลิปจาก CUSCO
- โช้คอัพเปลี่ยนเป็นแบบสตรัทปรับเกลียว ปรับสูง-ต่ำ และความหนืดได้จาก TEIN รุ่น MONO FLEX
ช่วงล่าง TEIN
เบรก PROJECT MU ล้อ TE37
ช่วงล่าง ได้เพิ่มความแข็งแรง และยึดเกาะถนนได้ฟีลลิ่งแบบสปอร์ตที่ถูกปรับแต่งไปหลายส่วน โดยตัวโช้คอัพเป็นแบบสตรัทปรับเกลียวของ TEIN รุ่น MONO FLEX ค้ำโช้คหน้าและหลัง CUSCO แบบ CARBON เหล็กกันโคลงหน้าจาก TRD และยึดตัวถังกันเซจาก CUSCO ต่อจากนั้นสร้างตัวยึดปีกนกคู่หน้าให้แข็งแรงขึ้น เพื่อรองรับกับการกระชากตัวออกแรง ๆ เพื่อไม่ให้ปีกนกขยับตัวไปด้านหลังมากจนเกินไป และตัวค้ำคานกลางด้านหน้า ทั้งหมดสร้างขึ้นเอง ระบบเบรกเปลี่ยนใหม่จาก PROJECT MU ขนาด 4 pot จานดิสก์เบรกขนาด 282 มม. พร้อมล้อจาก VOLK RACING รุ่น TE37 ขนาด 15 x 6.5 นิ้ว ยาง BRIDGESTONE POTENZA RE111 ขนาด 195/50R15
- เบรกระดับเทพจาก PROJECT MU พร้อมจานดิสก์เบรกขนาด 282 มม. และล้อขนาด 15 นิ้ว จาก VOLK RACING รุ่น TE37
ขอขอบคุณเจ้าของรถ คุณโอ๋ ไว้ด้วยนะครับ ส่วนเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจของแต่งต่าง ๆ สำหรับ TOYOTA STARLET สามารถสอบถามได้ที่ คุณโอ๋ ที่เบอร์โทร. 08-6049-8282 ส่วนงานเครื่องยนต์ และช่วงล่างบางส่วน ปรับแต่งโดยอู่ TORNTO ประชาชื่น โทร. 08-1825-5847
เครื่องยนต์ 5E-FHE เป็นเครื่องยนต์ขนาด 1,496 ซี.ซี. DOHC 16V มีขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชัก เท่ากับ 74 x 87 มม. มีกำลัง 110 แรงม้า ที่ 6,400 รอบ/นาที จะอยู่ในรถ TOYOTA SERA, PASEO, RAUM และ CYNOS