เรื่อง : พงศ์พันธ์ รัมมะเกตุ
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่
ตัวแข่งปาก 46 วิ่ง “9” VS ยีราฟแคระ สเต็ปหลังถนน BY BALL & BOOK สุพรรณ
เรื่องราวของการแต่งรถกระบะยังคงมีให้ได้ดูได้ชมกันแบบยาวๆ ซึ่งรูปแบบและแนวทางในการปรับแต่งนั้น ถ้าดูกันแบบภาพรวมแล้ว อาจดูเหมือนจะไม่หลากหลายเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง สเต็ปในการปรับแต่งเรื่องของความแรงนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละอู่แต่ละสำนัก ที่จะทำการปรุงแต่งเข้าไปในตัวเครื่องยนต์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างนั่นแหละครับ ว่าจะใส่อะไรเข้าไปบ้าง และจะขยับนู่น ขยับนี่ ปรับตรงนั้น จูนตรงนี้ ผลที่ได้มาก็คือ ความแรงนั่นแหละครับ เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์อีกหนึ่งอย่างของการปรับแต่งรถกระบะในยุคนี้ครับ รถเหมือนกัน เครื่องเหมือนกัน แต่มีแนวทางการแต่งที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนที่สุดครับ สำหรับคอลัมน์ TRENDY TRUCK ในฉบับนี้ จะพาไปชมการปรับแต่งรถกระบะสองสเต็ป มีให้ดูทั้งการปรับแต่งเพื่อการแข่งขันและการปรับแต่งสำหรับใช้งานหรือสเต็ปหลังถนนนั่นเอง แต่ที่สำคัญ คือ ตัวแข่งของเค้านั่นเองครับ เป็นรถแข่งในรุ่นเทอร์โบ ปาก 46 สามารถทำเวลาให้เห็นเลขตัวเดียวได้แล้ว ทั้งสองคันนี้จะสวยและแรงขนาดไหน ต้องตามไปดูกันครับ
D-MAX หัวเดี่ยวอยากเสียว พ่วง TURBO ปาก 46 วิ่ง 9.xxx sec.
ยุคนี้ถือได้ว่าเป็นยุคของรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลจริงๆ ครับ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า วงการรถกระบะในบ้านเรายังคงมีการพัฒนากันแบบไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของความแรง ซึ่งแต่ละอู่ต่างก็คิดค้นหาวิธีหรือสูตรการปรับแต่งโมดิฟายเครื่องยนต์ จะทำอย่างไรให้แรงและทน สามารถวิ่งจบการแข่งขันได้โดยที่มีความเสียหายน้อยที่สุด ไม่เพียงแต่เครื่องยนต์เท่านั้นที่จะทำให้ไปสู่เส้นชัยได้ แต่ทุกอย่างที่อยู่ในตัวรถจะต้องทำหน้าที่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบอดี้ เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ระบบส่งกำลัง รวมไปถึงทีมเซอร์วิส สำหรับในคอลัมน์นี้ เป็นตัวแข่งของอู่ BALL & BOOK สุพรรณ ในรุ่นของเทอร์โบ ปาก 46 ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งอู่ที่มีการพัฒนาในเรื่องของการปรับแต่งโมดิฟายกันอยู่ตลอด เพื่อหาเวลาที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง และวันที่พวกเค้ารอคอยก็มาถึง มันทำให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในการลองผิดลองถูก ประดิษฐ์คิดค้น ส่งผลสำเร็จมาได้ถึงทุกวันนี้
ไล่เบาด้วยคาร์บอน AKANA + ถอยบอดี้ช่วยถ่ายน้ำหนัก
ก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า ทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ สำหรับตัวรถคันนี้ บอลเลือกใช้รถ ISUZU D-MAX หัวเดี่ยว เอามาสร้างรถแข่งเพื่อใช้ในการแข่งขัน มาเริ่มกันที่ด้านหน้ากันก่อนเลย ในส่วนของแก้มข้างไฟหน้า กระจังหน้า กันชนหน้า ถูกหล่อขึ้นมาใหม่เป็นชิ้นเดียว เป็นงานคาร์บอน เป็นผลงานจากทาง AKANA ที่สำคัญ ยังได้จัดการกับซุ้มล้อกันไหม่ เพื่อรองรับกับการถอยบอดี้ไปด้านหลัง จะเห็นได้ว่าระยะของซุ้มล้อหน้าจะอยู่ตรงกลางพอดี ในขณะที่ตัวบอดี้นั้นถูกถอยไปด้านหลังถึง 5 นิ้ว มาดูกันต่อที่ฝากระโปรงหน้า ก็เปลี่ยนมาเป็นงานคาร์บอนจาก AKANA อีกเช่นกัน เพื่อการใช้งานที่สะดวกมากยิ่งขึ้น เพียงเท่านี้ก็ยังเบาไม่พอ จึงต้องไล่เบากันต่อ ด้วยการเปลี่ยนประตูทั้งสองบานมาเป็นงานคาร์บอนอีกเช่นกัน และตามด้วยเปลี่ยนกระจกทั้งบานหน้า บานข้างและบานหลังมาเป็นอะคริลิก ซึ่งการเปลี่ยนกระจกมาเป็นอะคริลิกนั้น ได้ทั้งความเบาและความปลอดภัย ในขณะที่รถเกิดอุบัติเหตุ กระจกจะไม่ทำอันตรายกับนักแข่งได้ ในส่วนของด้านท้ายรถนั้น ถูกจัดทรงใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มีน้ำหนักที่เบา ภายในตัวกระบะตีด้วยแผ่นอะลูมิเนียมทั้งหมด โครงด้านในถูกสร้างขึ้นใหม่ เพื่อความแข็งแรง จากนั้นติดตั้งเหล็กค้ำกระบะเพิ่มความแข็งแรง และมาถึงหัวใจสำคัญในเรื่องของบอดี้ นั่นก็คือการถอยบอดี้ไปด้านหลังถึง 5 นิ้ว ซึ่งวิธีนี้จะเห็นได้ว่าเริ่มทำการมากขึ้นแล้ว เนื่องจากว่าเป็นวิธีที่เห็นผลดีทีเดียวแหละครับในเรื่องของการถ่ายเทน้ำหนักทำให้การออกตัวและการขับขี่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เมื่อน้ำหนักถูกถ่ายไปด้านท้ายรถ ซึ่งท้ายรถโดยปกติจะมีน้ำหนักเบาอยู่แล้ว พอมีการถ่ายน้ำหนักไปด้านหลังก็จะช่วยให้การออกตัวดีมากยิ่งขึ้น ทำให้เวลา 60 ฟุต สวยขึ้นอย่างแน่นอน
ภายในสไตล์รถแข่ง อะไรไม่จำเป็นเอาออกให้หมด
เมื่อก้าวสู่รถแข่งแบบเต็มตัว อะไรที่ไม่จำเป็น มันก็ต้องเอาออกให้หมด จะได้ไม่เกะกะรถ เพราะมันคือรถแข่ง ไม่ใช่รถใช้งาน แน่นอนที่สุดครับ สำหรับคันนี้เปิดประตูเข้าไปดูภายในก็ไม่ต้องตกใจหรอกครับ เพราะมันคือรถแข่ง ภายในห้องโดยสารถูกเลาะออกหมด โดยเฉพาะในส่วนของพื้น ได้ทำการเอาออกจนไม่เหลือ เพราะพื้นเดิมติดรถเป็นส่วนที่มีน้ำหนักมากพอสมควร เนื่องจากของเดิมนั้น พื้นจะช่วยในเรื่องของการซับเสียงและแรงกระแทก พื้นก็ต้องหนาเป็นธรรมดา จึงต้องทำการเลาะออกไป แล้วทำการตีขึ้นใหม่ด้วยวัสดุอะลูมิเนียม ทั้งตัวพื้นและอุโมงค์เกียร์ อุปกรณ์สำคัญที่ทำการใส่เข้าไปก็คือเบาะคนขับ สำหรับคันนี้เลือกใช้เบาะของ BUTLER BUILT ผ้าดำ เป็นเบาะแบบ BUCKET SEAT มีความกระชับ เพิ่มความมั่นใจในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น พวงมาลัยเลือกใช้ของ NARDI จากนั้นได้ทำการติดตั้งเรือนไมล์ไว้ที่ด้านบนคอพวงมาลัย ติดกันเป็นเกจ์วัดบูสต์หน้าน้ำมันจาก AUTOMETER ที่ตำแหน่งของคอนโซลกลางติดตั้งแผงสวิตช์ควบคุมระบบการทำงานของเครื่องยนต์ อยู่ในตำแหน่งที่สามารถใช้งานได้แบบถนัด สำหรับเรื่องของภายในก็มีกันแต่เพียงเท่านี้ครับ
-
วัดบูสต์ AUTOMETER หน้าน้ำมัน
- ถัง A + เร็กกูเรต RUSSELL
- สวิตช์ควบคุมการทำงานเครื่องยนต์
- นั่งกระชับด้วยเบาะ BUTLER BUILT
เครื่องซิ่งขนาดไหน ถึงจะวิ่ง “9” ได้
มาถึงหัวใจสำคัญของความแรงกันบ้าง กับบล็อกเครื่องยนต์มหัศจรรย์แห่งยุคนี้ ที่มีแค่สี่สูบ แถมเป็นเชื้อเพลิงแบบดีเซล แต่มาเจอช่างไทยแล้ว ทำไมมันแรงจัง ด้วยพื้นฐานเครื่องยนต์ของรถคันนี้เป็นเครื่องยนต์ในพิกัด 2,500 c.c. รหัส 4JK1 จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบดีเซลคอมมอนเรล เรามาดูเรื่องของการโมดิฟายกันเลยครับ ก่อนอื่นมันก็ต้องอัป ซี.ซี.กันซะก่อน เพื่อสร้างพื้นฐานความแรง ขยับสเต็ปเครื่องยนต์มาเป็น 3,000 c.c. ด้วยการเปลี่ยนข้อเหวี่ยง 3 พัน จาก MRX จากนั้นเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับตัวเครื่องยนต์ เพื่อที่จะได้สามารถทนบูสต์ได้แบบสบายๆ ด้วยข้อเหวี่ยงจาก MRX ตามด้วยลูกสูบ เปลี่ยนมาเป็นลูกฟอร์จจาก MRX ลูกสูบที่มีน้ำหนักเบาก็จะช่วยลดภาระของเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดี แน่นอนที่สุดครับ สิ่งที่ได้มาก็คือเครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง องศ์ประกอบสำคัญพร้อมแล้ว ทีนี้ก็ไปกันต่อที่เรื่องของระบบวาล์ว สำหรับเครื่องตัวนี้เปลี่ยนสปริงวาล์วใหม่ทั้งหมด มาเป็นของ MRX ค่าสปริงที่เลือกใช้จะต้องเหมาะสมกับการโมดิฟายตัวเครื่องยนต์ เพื่อให้ช่วงเวลาการเปิด–ปิด ของระบบวาล์วสัมพันธ์กัน ต่อเนื่องกันไปกับแคมชาฟต์ถูกสร้างขึ้นมาใหม่สำหรับเครื่องยนต์ตัวนี้เท่านั้น จากพี่เอ๋เทอร์โบ เรื่องขององศาการเปิด–ปิด วาล์วไม่มีผิดเพี้ยนอย่างแน่นอน มาต่อกันด้วยเรื่องของการทำฝากันบ้าง สำหรับจุดๆ นี้ บอกเลยครับว่า มันเป็นสูตรใครสูตรมันจริงๆ ครับ ในเรื่องของการขัดๆ แยงๆ เปิดมาก เปิดน้อย อันนี้ก็แล้วแต่จินตนาการของช่างแหละครับ แยงแบบไหนแล้วแรงและวิ่งดีก็เก็บเอาไว้ในใจ แล้วก็พัฒนาคันต่อไป นี่แหละครับคือช่างไทย ยังไม่จบเพียงเท่านี้ สำหรับเทคนิคในการโมดิฟาย อีกหนึ่งอย่างที่บอลได้ทำการพัฒนาเพิ่มเข้าไปในเครื่องตัวนี้ก็คือ การเพิ่มไลน์น้ำมันหล่อลื่นในส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ เรียกง่ายๆ ว่า การเพิ่มความลื่นให้กับตัวเครื่องยนต์นั่นแหละครับ เมื่อเครื่องยนต์ทำงานได้ดีขึ้น ลื่นขึ้น สิ่งที่ได้มาก็คือความสมบูรณ์แบบของเครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์อึด ทน แรงแล้ว ก็มาต่อกันที่ระบบอัดอากาศกันต่อ สำหรับคันนี้เลือกใช้เทอร์โบขนาดเล็ก ในพิกัดเทอร์โบ 3000 ปาก 46 สำหรับตัวเทอร์โบนั้นถูกปรับแต่งโมดิฟายกันแบบสุดตาราง เพื่อที่จะสามารถเรียกบูสต์ได้แบบเต็มที่เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากกฎกติกาบีบบังคับไว้ที่ขนาดของฝาหน้าและโข่งหลัง เพราะฉะนั้น ในจุดนี้ก็อยู่ที่สูตรการโมฯเทอร์โบของแต่ละคนนั่นแหละครับ ว่าจะสามารถทำลมได้ขนาดไหน การลดอุณหภูมิของอากาศก็ถือเป็นส่วนสำคัญอีกหนึ่งอย่าง สำหรับคันนี้เลือกใช้อินเตอร์คูลเลอร์แบบระบายความร้อนด้วยน้ำของ PWR ซึ่งการลดอุณหภูมิของอากาศด้วยน้ำ จะทำให้อากาศเย็นลงได้เร็วขึ้น ช่วยให้การเผาไหม้ทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต่อกันด้วยเรื่องของระบบน้ำมันเชื้อเพลิง แรงดันสำคัญที่สุด สเต็ปของการโมฯปั๊มของคันนี้เลือกใช้ปั๊มคอมมอนเรลแบบ 3 โรเตอร์ จากน้าพงษ์ศักดิ์ดีเซล ซึ่งสามารถสร้างแรงดันได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของเครื่องยนต์ เมื่อแรงดันเพิ่ม รางหัวฉีดก็ต้องรองรับได้ด้วย จึงเปลี่ยนมาเป็นแบบรางโตเป็นของตัวนอก แถมย้ายขึ้นมาด้านบน เพื่อง่ายต่อการเซอร์วิส จากนั้นเปลี่ยนแป๊บทางเดินน้ำม้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อการเดินทางของระบบน้ำมันที่สะดวกมากยิ่งขึ้น จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด BOSCH 901 ส่งผ่านน้ำมันเชื้อเพลิงจากถังเอด้วยปั๊มติ๊ก BOSCH 044×2 ควบคุมแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเร็กกูเรต RUSSELL มาดูในเรื่องของระบบ ECU กันบ้าง สำหรับคันนี้เลือกใช้กล่อง STAND ALONE จาก ECU=SHOP ดูแลในเรื่องของการปรับจูนโดยพี่หมัด ECU
-
4JK UP STEP เครื่องซิ่ง MRX 3,000 c.c.
- TURBO 3000 ปาก 46 โมฯแบบสุดตาราง
-
จ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด BOSCH 901
-
รางโตแป๊บใหญ่ ย้ายขึ้นบน
- อินเตอร์ฯน้ำ PWR
- กล่อง STAND ALONE TUNE BY หมัด ECU
ระบบส่งกำลัง & ช่วงล่างต้องทำงานร่วมกัน
เมื่อเครื่องยนต์ถูกพัฒนาปรับแต่งโมดิฟายให้ได้แรงม้าและแรงบิดตามต้องการแล้ว การจับม้าลงพื้นก็เป็นเรื่องต่อไปที่จะต้องมานั่งคิดคำนวณกันต่อ สำหรับคันนี้ถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ด้วยชุดคลัตช์จาก TC CLUTCH ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ VGS ซึ่งก็เป็นเกียร์อีกหนึ่งชนิดที่รถสเต็ปนี้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยความทนทานของมัน และที่สำคัญ คืออัตราทดที่มันช่างพอเหมาะพอเจาะกับสเต็ปเครื่องยนต์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเกียร์รุ่นนี้ถึงเป็นขวัญใจสาวกดีเซล ไปตามหา 60 ฟุตกันต่อ ด้วยระบบช่วงล่างแบบ A-ARM คู่ที่บอลลงมือทำขึ้นเอง ตำแหน่งของโช้คอัพทำเป็นโช้คตั้ง เพื่อให้โช้คอัพทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเลือกใช้โช้คอัพจาก RACETRACK ทั้งสี่ต้น เมื่อช่วงล่างถูกยึดด้วย A-ARM ทั้งสองข้าง ส่งผลให้ในช่วงที่ออกตัว รถไม่เสียแรงกระทำ เมื่อช่วงล่างไม่เต้น กำลังทั้งหมดก็ถูกกระจายลงสู่พื้นได้อย่างครบถ้วนนั่นเองครับ
-
หม้อน้ำอะลูมิเนียมย้ายไว้ท้ายกระบะ
- ถังน้ำแข็งสำหรับอินเตอร์คูลเลอร์
เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับสเต็ปของเทอร์โบ ปาก 46 โชว์เวลาวิ่ง 9.xxx sec ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งอู่ครับ ที่เรียกได้ว่ามีการพัฒนาในเรื่องของการปรับแต่งโมดิฟายอย่างไม่หยุดนิ่ง มีการลองผิดลองถูกเพื่อจะหาสิ่งที่ดีที่สุดในการทำรถ ก็เป็นอีกหนึ่งอู่ครับ ที่มีรูปแบบและแนวทางในการทำรถที่ไม่เหมือนใคร ฝากกันไว้อีกหนึ่งอู่ดีๆ ครับ กับ BALL & BOOK สุพรรณ
ยีราฟแคระ สเต็ปหลังถนน TURBO ปาก 46 By BALL & BOOK สุพรรณ
อยากจะรู้จริงว่าคนสุพรรณเค้าแต่งรถกันยังไง เรายังคงอยู่กับคอลัมน์ TRENDY TRUCK หรือกระบะนิยมนั่นเองครับ แต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่าง และรถในคอลัมน์นื้ก็เป็นอีกหนึ่งคันที่ปรับแต่งจากอู่ BALL & BOOK สุพรรณ มากันในสไตล์ของยีราฟแคระ หลายคนอาจจะงง ว่าอะไรคือยีราฟแคระ จริงๆ แล้ว มันก็คือรถกระบะที่เป็นตัวสูง อย่างเช่น Hi-Lander หรือ Prerunner ซึ่งรถในตระกูลนี้จะถูกเรียกว่ายีราฟ แต่พอเอารถรุ่นนี้มาทำการโหลดลดระดับความสูงลง ก็จะถูกเรียกว่ายีราฟแคระนั่นเองครับ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการแต่งรถของเหล่าบรรดากระบะซิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากรถตัวสูงจะมีโป่งทั้งสี่ล้อ พอนำมาทำให้มันเตี้ยลง ก็จะทำให้มิติรถดูกว้างขึ้น ดูโหดขึ้น โดยเฉพาะต้องใส่ยาง NITTO NT420 ขนาด 255/55/R18 เรียกได้ว่าตรงสเป็กพิมพ์นิยมกันเลยทีเดียว ใครแต่งแนวนี้ หล่อแน่นอน
จัดทรงแปลงหน้า ลดระดับความสูงตรงสเป็กยีราฟแคระ
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับตัวรถกันก่อนดีกว่าครับ เดี๋ยวบางคนจะงง ตกลงนี่มันตัวสูงหรือตัวเตี้ย หรือจะเป็น MU-X ไม่ต้องงง หรือสับสนกันไปมากมายครับ จริงๆ แล้ว มันก็คือ ALL NEW D-MAX โฉมก่อน 1.9 นี่แหละครับ แต่คันนี้ได้ทำการจัดทรงรูปลักษณ์ภายนอกกันใหม่ เริ่มจากด้านหน้ากันก่อนเลยครับ ได้ทำการแปลงโฉมมาเป็น MU-X ปี 2018 เปลี่ยนไฟหน้า กระจังหน้าและกันชนหน้า ทำให้มุมมองด้านหน้าดูสวยงามมีชาติตระกูลขึ้นเยอะ โคมไฟหน้าเป็นแบบมีไฟเดย์ไลต์ในตัว มาพร้อมกับกระจังโครเมียมแบบสองชั้น ตามด้วยไฟตัดหมอกที่กันชนด้านล่าง มันช่างดูเข้ากันซะเหลือเกิน แค่แปลงหน้ามันยังดูไม่ซิ่งพอ ต่อจากนี้ไปจะเริ่มขยับสเต็ปเป็นของซิ่งกันแล้ว มาดูเรื่องของสีสันกันบ้าง สำหรับคันนี้ได้ทำการสาดสีใหม่ทั้งคันมาเป็นสีเขียว ดูโดดเด่นขึ้นมาทันที จากนั้นได้ทำการเปลี่ยนฝากระโปรงหน้ามาเป็นคาร์บอน เป็นงานจาก GP RACING ตัดกับสีรถได้เป็นอย่างดี เมื่อเดินสายซิ่งแล้ว รถมันก็ต้องเบาๆ หน่อย จัดการเปลี่ยนประตูทั้งสี่บานมาเป็นงานคาร์บอนจาก PREAM CARBON เลื่อนขึ้นไปด้านบนหลังคา ติดตั้งแก็ปหลังคาเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งชิ้นจาก PREAM CARBON ตามด้วยฝาท้ายคาร์บอนอีกหนึ่งชิ้นจาก AKANA รวมๆ ชิ้นงานคาร์บอนที่เปลี่ยนใส่เข้าไปในรถคันนี้แล้ว ทำให้ตัวรถดูเป็นทูโทนขึ้นมาทันที ปิดท้ายภายนอกกันด้วยค้ำกระบะ TITANIUM จาก KIT RACING เพิ่มความสวยงามและความแข็งแรงให้กับด้านท้ายกระบะได้เป็นอย่างดี มีทั้งประโยชน์และความสวยงามครับ สำหรับค้ำกระบะ
สวยครบจบจริง “KIRKEY ROAD RACE SEAT”
เปิดประตูเข้ามาดูที่ภายในห้องโดยสารกันบ้าง มาดูกันครับว่า สเต็ปหลังถนน ภายในเค้ามีอะไรกันบ้าง มาดูกันที่พวงมาลัยกันก่อนเลยครับ เปลี่ยนมาเป็นของ NARDI ก้านดอกไม้ เลื่อนขึ้นดูที่ด้านบนคอนโซลกันบ้าง ด้านขวามือติดกับเสาเอ เป็นที่อยู่ของเกจ์วัดการทำงานของเทอร์โบจาก AUTOMETER หน้าน้ำมัน เป็นอีกหนึ่งของซิ่งที่เหล่าบรรดาขาซิ่งสิงห์ควันดำขาดไม่ได้กันเลยทีเดียว เลื่อนมาดูที่ด้านซ้ายมือกันบ้าง เป็นที่อยู่ของชุดเกจ์วัดการทำงานของเครื่องยนต์ DEFI BF 6 ตัว วางเรียงสวยงามอยู่ด้านบนคอนโซล ต่อด้วยเบาะคู่หน้า ของเดิมนั่งไม่กระชับ ขับไม่มันส์ จึงต้องเปลี่ยนมาเป็น KIRKEY ROAD RACE ผ้าสีดำ จับคู่กับเข็มขัดนิรภัย SABELT สีเทา ดูเข้ากันดี เพิ่มความแข็งแรงให้กับห้องโดยสารด้วยการติดตั้งค้ำเสา C TITANIUM มาดูกันต่อกับของตกแต่งเพื่อความสวยงามกันบ้าง กับมือจับด้านบนเปลี่ยนมาเป็น TITANIUM เพิ่มความสวยงามลงตัวให้กับห้องโดยสารได้เป็นอย่างดี สำหรับเรื่องราวของภายในก็มีกันแต่เพียงเท่านี้ครับ
-
ภายในสไตล์หลังถนน
-
KIRKEY ROAD RACE + เข็มขัด SABELT
- มือจับ TITANIUM
- ค้ำเสา C TITANIUM
สเต็ปหลังถนน เครื่องซิ่ง TURBO ปาก 46
เปิดฝากระโปรงมาดูเรื่องราวของความแรงกันบ้าง สำหรับสเต็ปหลังถนนคันนี้ อีกหนึ่งผลงานความแรงจาก BALL & BOOK สุพรรณ เครื่องยนต์รหัส 4JK1 ขนาดความจุ 2,500 c.c.แต่สำหรับในยุคนี้แล้ว ถึงแม้จะไม่ใช่รถสนาม แต่บอกเลยครับว่าเรื่องราวของการโมดิฟายไม่ได้แพ้กันเลย เหมือนอย่างคันนี้ได้ทำการอัปสเต็ปเครื่องยนต์มาเป็น 3,000 c.c. ลูกสูบซิ่งไซซ์ 75 เพิ่มความแข็งแรงให้กับเครื่องยนต์และสามารถรองรับบูสต์หนักๆ ได้ด้วยก้านสูบ MRX ตามด้วยข้อเหวี่ยง 3000 MRX ต่อด้วยแคมชาฟต์เปลี่ยนยกคู่ ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย จากเอ๋เทอร์โบ สปริงวาล์วเปลี่ยนใหม่ยกชุดจาก MRX ในส่วนของฝาสูบ ได้ทำการเปิดฝาปรับแต่งช่องพอร์ตกันใหม่หมด เปิดขยาย แยงตามสูตรของทางอู่ ตรงไหนไม่ลื่น ก็ขัดให้มันลื่น ตรงไหนมันไม่ได้ขนาด ก็เปิดขยายให้มันได้ขนาด เรื่องของช่องพอร์ตก็แล้วแต่สูตรใครสูตรมันครับ แต่สำหรับอู่นี้ เนื่องจากบอลเป็นช่างทำมอเตอร์ไซค์เก่าครับ รับประกันว่าอร่อยแน่นอน มาดูเรื่องของระบบอัดอากาศกันบ้าง แน่นอนที่สุด กับเทอร์โบรุ่นยอดนิยมที่ใครๆ ก็ใช้กัน แต่สูตรการโมฯเทอร์โบก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละอู่แหละครับ ว่าจะทำได้สุดตารางขนาดไหน กับเทอร์โบ 3000 ปาก46 ใบบิลเลต สเต็ปนี้บูสต์ 50-60 psi สบายๆ เทอร์โบปาก 46 ในยุคนี้สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี สำหรับรถหลังถนน ด้วยใบเทอร์โบที่อัปใบให้เป็นใบบิลเลต ช่วยให้ติดบูสต์เร็ว ไม่รอรอบ คันเร่งตึง ขับสนุก กดมา กดมา ส่วนเรื่องของอัตราการบูสต์ก็สามารถทำได้ไม่แพ้โบรุ่นพี่อย่าง F55 กันเลยทีเดียว ลดความร้อนของอากาศด้วยอินเตอร์คูลเลอร์หลอดเหลี่ยม หนา 3 นิ้ว ท่อทางเดินอากาศเดินใหม่ทั้งหมด เป็นอะลูมิเนียมแบบโชว์รอยเชื่อม สวยงามตามสมัยนิยม ลดอาการตัวร้อนของเครื่องยนต์ด้วยหม้อน้ำอะลูมิเนียม มาพร้อมกับพัดลมไฟฟ้า มาดูเรื่องของระบบน้ำมันเชื้อเพลิงกันบ้าง สำหรับรถสเต็ปนี้ก็ยังคงต้องการแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลือๆ ไว้ก่อน เพื่อความสบายใจ จึงหันมาคบหากับปั๊มคอมมอนเรลแบบ 2 โรเตอร์ จากพงษ์ศักดิ์ดีเซล เพราะแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล รางหัวฉีดเปลี่ยนมาเป็นแบบรางโตเป็นของรางรถ 6 ล้อเล็กตัวนอก จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด BOSCH 901 ก็เป็นธรรมดาครับ เมื่อแรงดันมากขึ้น ส่วนที่รับหน้าที่ต่อเนื่องกันก็ต้องปรับขยายตามมา เพื่อความสมบูรณ์ของระบบ ส่งน้ำมันผ่านปั๊มติ๊ก BOSCH 044×1 ควบคุมแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเร็กกูเรต AEROMOTIVE เมื่อเครื่องยนต์ถูกอัปสเต็ปกันแบบครบๆ แล้ว มันก็ต้องมีการปรับจูนปรุงแต่งกันซะหน่อย สำหรับคันนี้ได้ทำการพ่วงกล่องดันรางและกล่องยกหัวฉีดจาก ALPHATECH ปรับจูนโดยบุ๊ค มือจูนประจำอู่ ซึ่งเป็นน้องชายของบอลนั่นเองครับ
- 4JK up step เครื่องซิ่ง MRX 3,000 c.c.
- จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด BOSCH 901
- TURBO 3000 ปาก 46 ใบบิลเลต
- เร็กกูเรต AEROMOTIVE
- หม้อน้ำอะลูมิเนียม + พัดลมไฟฟ้า ช่วยระบายความร้อน
TC CLUTCH + เกียร์ OS สเต็ปหลังถนนสุดฮิต
เมื่อเครื่องยนต์ถูกขยับสเต็ปให้มีแรงม้าและแรงบิดเพิ่มขึ้นแล้ว แน่นอนที่สุด การถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น สำหรับคันนี้เลือกใช้คลัตช์จาก TC CLUTCH ผ้าผสมทองแดง หวีสองชั้น ส่งกำลังผ่านเกียร์เดิม ไส้ OS ข้อดีของการเรียงเกียร์ใหม่จะช่วยให้มีอัตราทดที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่วนทางด้านของเฟืองท้าย เลือกใช้อัตราทด 3.1 ระบบซับแรงกระแทกหันมาคบหากับโช้คอัพ AZTEX FORCE ทั้งสี่ต้น ส่วนทางด้านหลังเป็นโช้คอัพของตัวเตี้ย จากนั้นได้ทำการย้ายแหนบลงมาใต้เพลา ตัวรถคันนี้พื้นฐานเดิมเป็น Hi-Lander ต้องการจะทำให้เป็นสเต็ปยีราฟแคระ ถ้าเทียบความสูงที่ได้มาแล้วก็จะเท่ากับตัวเตี้ย STD ล้อแม็กเปลี่ยนมาเป็นของ HOF RACING รัดด้วยยาง NITTO NT420S ขนาด 255/55/R18 เบรกหน้าเปลี่ยนมาเป็นของ ARISTO 4 pot เพียงเท่านี้ก็เอาอยู่แล้วสำหรับช่วงล่างสเต็ปยีราฟแคระ
- ค้ำฝาท้าย BY KIT RACING
- กล่องดันราง RP-3 + กล่องยกหัวฉีด GT-2 BY ALPHATECH
- ล้อแม็ก HOF RACING ขอบ 18”
ก็เป็นอีกหนึ่งสเต็ปสำหรับรถวิ่งหลังถนนในสไตล์ของยีราฟแคระ การลดระดับความสูงของรถ Hi-Landerนั้น ช่วยให้การยึดเกาะถนนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะตัวเครื่องยนต์ถูกอัปสเต็ปให้มีกำลังแรงมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งสเต็ปครับ ที่สามารถขับขี่ใช้งานได้และยังเข้าร่วมการแข่งขันได้อีกด้วย สเต็ปนี้ตอบโจทย์ได้ครบทุกการใช้งานจริงๆ ครับ…สำหรับผลงานของ BALL & BOOK สุพรรณ