Twin Boost Twin Fun !!! ORC 350Z TWIN CHARGED

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี  / ภาพ : พิสิษฐ์ ธนะสารเจริญ, พิศวัส พงศ์พุฒิโสภณ  

Twin Boost Twin Fun !!!

ORC 350Z TWIN CHARGED

 สุด ๆ กับ Complete Car “ตัวแท้” จาก ORC หนึ่งเดียวในไทย (อีกแล้ว) ตั้งแต่ปี 2010

         ยอมรับอยู่อย่างว่า กระแสรถโมดิฟายต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่ว่า “คนมีตังค์” ยังมีอยู่เยอะ ดังนั้น รถแต่งต่าง ๆ ก็เหมือนเป็น Richman Toy ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนชอบรถ ดังนั้น เราก็จะหาของ “สุด” มาให้ท่านชม ครั้งนี้ก็เป็น “หนึ่งเดียวในไทย” อีกแล้ว เพราะเป็น 350Z จากสำนัก ORC หรือ OGURA RACING CLUTCH ที่ทำคันนี้ขึ้นมาเพื่อเป็น Show Car ประจำค่าย โดยตกแต่งแบบพิเศษ ด้วยระบบอัดอากาศแบบ “ทวินชาร์จ” ที่ไม่ธรรมดา แถมด้วยลุคแบบแปลก ๆ อีกด้วย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า ถ้ามันเป็นรถโชว์ ก็อาจจะมีแค่ “คันเดียว” และที่แน่ ๆ มันถูกส่งตรงมาอยู่เมืองไทยเรียบร้อยแล้วครับ ผู้ครอบครองคือ “APPROVE” สัมผัสตัวเป็น ๆ ได้ ณ บัดนาว…

“ดูดต้น” กับ “ดันปลาย” สูตรสำเร็จ Twin Charged

คันนี้ใช้ระบบอัดอากาศแบบ Twin Charged ที่รวมทั้งระบบ “ซูเปอร์ชาร์จ” และ “Turbo” ไว้ด้วยกันในเครื่องเดียว จริง ๆ แล้ว ระบบนี้ก็มีทำกันมานานมากแล้ว โดยใส่ในรถระดับ World Rally อย่าง LANCIA DELTA S4 เครื่อง 1.8 ลิตร ที่เบ่งพลังได้รุนแรงถึงประมาณ “430 PS” (ถ้าจำไม่ผิดนะ แต่ยังไงก็เกิน 400 ม้า แน่นอน) ในยุคเกือบ 30 ปี ที่แล้วก็ไม่ธรรมดา แต่ดันมาเกิดเรื่องซะก่อน เพราะ DELTA (สตราโตส) คันแรง ดันหลุดพุ่งเข้าไปหาคนดู เกิดการบาดเจ็บและตายกันพอควร หลังจากนั้น รถแรลลี่ก็ถูกจำกัดแรงม้าไว้ประมาณ 300 PS (แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ายังจำกัดเท่านี้อยู่หรือเปล่า) สำหรับการรวมของระบบ Twin Charged นั้น จุดประสงค์คือ “แก้จุดอ่อนของระบบอัดอากาศทั้งสองประเภท” แบบแรก “Supercharge” อันนี้จะทำงานโดยใช้สายพานคล้องกับพูลเลย์เครื่องยนต์ เพื่อเอากำลังไป “ปั่น” อัดอากาศเพิ่มเติมจากชั้นบรรยากาศ ก็คือ “บูสต์” นั่นเอง ข้อดีคือ “ทำงานที่รอบต่ำ” เพราะติดเครื่องปุ๊บ มันก็ปั่นรอเลย เร่งนิดเดียวก็บูสต์มาแล้ว สังเกตว่า พวกรถควอเตอร์ไมล์อเมริกา จะนิยมใช้กันมาก ส่วนในบ้านเราจะนิยมใช้เป็นชุดอัพเกรดสำหรับรถเครื่องธรรมดา ติดตั้งง่ายกว่าเทอร์โบ  ชิ้นส่วนน้อยกว่า ขับง่ายกว่า เพราะไม่รอรอบ…

ส่วน “ข้อเสีย” ของมันก็คือ พอใช้กำลังเครื่องไปปั่น ก็จะทำให้ “เพิ่มภาระ” ให้กับเครื่องยนต์ ในช่วงรอบปลาย ๆ ยิ่งปั่นมาก โหลดก็ยิ่งเยอะ ส่วนใหญ่ก็มักจะมี “คลัตช์” คอยตัดต่อกำลังเหมือนคอมเพรสเซอร์แอร์นั่นเอง รอบสูงมากก็ตัดระบบทิ้ง เพื่อลดโหลด เพราะช่วงปลาย ๆ เครื่องยนต์มีกำลังอยู่แล้ว ซูเปอร์ชาร์จจะช่วยมากก็รอบต้นถึงรอบกลาง มาดู “เทอร์โบ” กันบ้าง อันนี้จะใช้ “แรงดันไอเสีย” มาขับเคลื่อน Turbine อีกข้างของแกนกลางจะเป็น Compressor อัดอากาศเข้าท่อไอดี ในรอบปลาย ๆ ก็ดีกว่า เพราะไม่ต้องใช้กำลังเครื่องยนต์ ใช้เฉพาะแรงดันไอเสียที่ยังไงก็ปล่อยทิ้งอยู่แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นระบบอัดอากาศที่แพร่หลายมาก “ข้อเสีย” คือ เทอร์โบจะต้อง “รอรอบ” บ้าง เพราะต้องรอให้เครื่องยนต์ได้รอบ ปั่นไอเสียจนมีแรงดันสูงพอ ทำให้ปั่นไอดีจนเกิดแรงดันบูสต์ ช่วงรอบต่ำบูสต์ก็ยังไม่มา เกิดอาการ Lag หรือรอรอบนั่นเอง อีกอย่างก็คือ ติดตั้งยุ่งยากกว่า ท่อไอเสีย ท่อไอดี ต้องเดินเพิ่ม ความร้อนสูงกว่า แต่เมื่อเทียบกับข้อดีแล้ว มันก็ยอมรับได้…

สำหรับระบบ Twin Charged นี้ ก็นำสองสิ่งนี้มารวมกัน ในรอบต่ำก็ให้ซูเปอร์ชาร์จทำงานไปก่อน ถึงระดับหนึ่ง พอเทอร์โบเริ่มทำงาน Boost Sensor ก็จะสั่งการให้ซูเปอร์ชาร์จ “ตัดการทำงาน” โดยตัดไฟฟ้าที่ไปเลี้ยงที่หน้าคลัตช์ของพูลเลย์ซูเปอร์ชาร์จ (เหมือนแอร์ตัดนั่นแหละ) มันก็จะไม่หมุน หลังจากนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่ของเทอร์โบไปดันรอบปลาย ก็เป็นวิธีที่ออกจะดูยุ่งยากพอสมควรเหมือนกัน เพราะต้องติดตั้งอุปกรณ์มากมาย และวางระบบตัดต่อบูสต์ดี ๆ ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้แล้ว เดี๋ยวนี้พวกตัวอัดอากาศต่าง ๆ ก็พัฒนาไปเยอะ เทอร์โบก็รอรอบน้อยลงมาก รุ่นใหม่ตัวโต ๆ มาเร็วกว่าตัวกลาง ๆ รุ่นเก่าก็เป็นไปได้ สำหรับข้อมูลของรถคันนี้ อาจจะมีไม่มากนัก เพราะเป็น Complete Show Car ที่นำเข้ามาทั้งคัน ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่รู้รายละเอียดลึก ๆ ว่าเขาทำอะไรมากับไส้ในบ้าง ก็ชมเป็นของแปลกประจำคอลัมน์ก็แล้วกันนะครับ…

 

ขอขอบคุณ : APPROVE CAR CENTER สำหรับรถถ่ายทำคอลัมน์ 08-1715-6666, PTT MOTORSPORT LAND สำหรับสถานที่ถ่ายทำ

X-TRA ORDINARY

สำหรับ ORC หรือ OGURA RACING CLUTCH นั้น หลัก ๆ ก็คือ “ทำคลัตช์ซิ่ง” อย่างที่รู้กัน แต่จริง ๆ แล้ว บริษัทนี้ จะเน้นงานคลัตช์ทุกประเภท ไม่เว้นแม่แต่ “คลัตช์คอมเพรสเซอร์แอร์” ด้วย ซึ่งบริษัทดั้งเดิมคือ OGURA CLUTCH แล้วค่อยมาแตกไลน์เป็น ORC เอาใจตลาดรถซิ่งโดยเฉพาะ…