เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : Google
“ล้อแม็ก” เป็นจุดแรกเริ่มสำหรับคนแต่งรถ แต่ผมเคยกล่าวไปหลายครั้งว่า จริงอยู่ ล้อแม็กมันก็ติดรถตอนเราซื้อมาอยู่แล้ว แต่ด้วยนิสัยสันขวานของคนที่ “รักในการแต่งรถ” แล้ว ไฉนจะทนกับล้อเดิมๆ ได้ ก็ต้อง “ดิ้นรน” หาล้อสวยๆ มาเปลี่ยนจนได้สิน่า แต่จะรู้แล้ว หรือยังไม่รู้ก็ตาม ว่าล้อแม็กที่เราเรียกๆ กัน “มันมีทั้งหมดกี่ประเภท” รับรองว่า “หลากหลาย” อย่างแน่นอน บางครั้ง คนที่ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ “ฟังเขาว่ามา” ก็มีความเข้าใจตรงบ้าง ผิดพลาดบ้าง และเลือกล้อที่ไม่เหมาะสมมาใช้งาน เผลอๆ จะ “โดนอำ” จากคนขายหน้าไม่อายทั้งหลาย ที่ “หลอกเชือด” กับความไม่รู้ของลูกค้า ซึ่งล้อแต่ละประเภทนั้น มันก็มีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิต อันนี้แหละที่เราจะบอกว่ามันมีอะไรบ้าง จะได้ไม่โดนหลอก อีกประการ ล้อแม็กเองก็มีดีไซน์หลายอย่าง วัสดุหลายประเภท โอ้ย เยอะ เข้าเรื่องเหอะ…
ในโลกนี้มันมีล้อที่ผลิตจากวัสดุมากมาย สมัยโบราณก็นู่นเลย “ล้อไม้” เช่น ล้อเกวียน นั่นเอง แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาล้อเกวียน มาเป็นล้อรถยนต์สมัยโบราณ ด้วยความที่ไม้เนื้อแข็งมันมีน้ำหนักมาก ขั้นตอนการทำยาก การรับแรงกระแทกไม่ค่อยดี ตอนหลังรถเริ่มมีความเร็วสูงขึ้น เลยเปลี่ยนมาเป็น “ล้อซี่ลวด” ก็เริ่มจะเป็น “โลหะ” เข้ามาทุกที มาในยุคปัจจุบัน ก็จะมีล้อที่ผลิตจากวัสดุหลักๆ 3 แบบ ดังนี้…
หรือ “ล้อกระทะ” (Steel Wheel) ที่เรียกติดปากกัน ก็เป็นล้อสุด Basic บนโลกใบนี้ มันก็ไม่ยากครับ “ปั๊มจากเหล็ก” เท่านั้นเอง จะพบกันในรถสมัยเก่า แล้วก็หายไปพักใหญ่ๆ เพราะคนไทยไม่ต้อนรับ ดูแล้วมัน “โลว์” เสียเหลือเกิน จนในปัจจุบัน ก็นำกลับมาใช้ในรถยนต์รุ่นราคาถูกอีกครั้ง เพื่อลดต้นทุนในการผลิต จะได้ขายราคาถูกลงได้ หลายคนก็ชอบนะครับ เพราะไหนๆ กูจะซื้อรถมาเปลี่ยนล้อก่อนอยู่แล้ว จะซื้อรุ่น “ล้ออัลลอย” มาทำไมก็ไม่รู้ ยังไงก็โดนเปลี่ยนออกอยู่ดี แต่ผมสังเกตอย่างครับ รถที่จำหน่ายใน “อเมริกา” (ได้สังเกตตอนไป Sema Show 2010) บางทีเป็นรถหรูด้วยนะ เช่น LEXUS, CAMRY รถยุโรปก็ด้วย จะมีรุ่นถูกที่เป็นล้อเหล็กพร้อมฝาครอบจำหน่ายด้วยนะครับ ก็ตามสไตล์คนอเมริกันแบบชาวบ้านจริงๆ ที่เน้นใช้งาน เรียบง่าย ไม่แพง (เพราะพวกนี้ไม่ค่อยรักษารถสักเท่าไร) สำหรับข้อดีและข้อเสียของ “ล้อเหล็ก” มีดังนี้ครับ…
- ทนทาน : ผลิตจากเหล็ก ความทนทานเป็นเยี่ยม กระแทกกระทั้นอะไรก็ไม่ค่อยจะเป็นอะไรนัก เอาเป็นว่าใครขับล้อเหล็กกระแทกจนคดได้ก็ “โคตรมหาเทพ” ก็แล้วกัน (แนะนำว่าควรเลิกขับรถ) ทนต่อการกัดกร่อน เช่น ปัสสาวะไอ้ด่างในซอย เพราะฉะนั้น รถที่ต้องการความทนทาน จึงนิยมล้อเหล็กกันอย่างที่รู้…
- ราคาถูก : การผลิตไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่ซับซ้อน เข้าเครื่องรีดขอบ ตอกลายหน้าล้อโป้ง !!! ออกมาเป็นล้อแล้ว วัสดุก็ไม่แพง หาได้ทั่วไป ราคาเลยถูกกว่าล้ออัลลอยที่ต้องมีเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนกว่า…
- ไม่หาย (ง่ายนัก) : อันนี้แถมให้ขำๆ เดี๋ยวนี้เราต้องระวัง “โจรวิทยา” แม่มวางแผนอย่างดีด้วยเว้ยเฮ้ย !!! ที่จะมา “จิ๊กล้อเรา” ถ้าล้อสวยๆ จอดก็ต้องระวังๆ หน่อย ไม่ใช่จอดที่มืดๆ เปลี่ยวๆ ตัวเองไปเมาอยู่ไหน กลับมาอีกทีเจอ “หินรอง” ล้อเล้อหายหมด ถ้าเป็นล้อเหล็ก โอกาสหายก็มีน้อย เพราะโจรพวกนี้หัวสูง แต่ก็มีนะ “ขโมยล้ออะไหล่” โดยเฉพาะพวกรถกระบะทั้งหลายที่ล้ออะไหล่ห้อยอยู่ท้ายรถ พวกมุดสอยมาดื้อๆ เลย Goo ละเครียดดด !!!
ข้อเสีย
- ไม่ใคร่สวยงามนัก : ด้วยความที่มันปั๊มขึ้นรูปจากแผ่นเหล็กธรรมดา ดังนั้น ลวดลายมันถึงไม่มีอะไรที่ “อลังการ” เจาะเป็นรูๆ Pattern ง่ายๆ ก็พอแล้ว จะหวังลวดลายสวิงสวาย จะเล่นขอบเล่นลีลา “มันปั๊มไม่ได้ครับ” เอาน่า ก็บอกแล้วว่าเป็นล้อราคาถูก จะเอาอะไรกับมันเยอะนักล่ะ หมาเยี่ยวใส่ก็ไม่เสียดายหรอก…
- น้ำหนักมาก : ก็เหล็กอ่ะครับ น้ำหนักมันย่อมมากกว่าวัสดุพวก “อัลลอย” แถมปั๊มมาหน้าตาตันๆ ด้วยความที่น้ำหนักมาก ผลเสียแน่ๆ เลย คือ “แรงต้านการหมุนเยอะ” เคยบอกไปแล้วใช่มั้ย ว่ามันจะ “บั่นทอนสมรรถนะของรถ” อัตราเร่งแย่ลง กินน้ำมันมากขึ้น อีกประการ “น้ำหนักใต้สปริงมาก” ทำให้เกิดการสะเทือนเพิ่มขึ้น ช่วงล่างตอบสนองได้ช้าลง แต่คนที่ใช้ล้อเหล็กก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะส่วนใหญ่ล้อเหล็กจะผลิตมาแบบ “หน้าแคบ” เพื่อใส่ยางเล็ก สำหรับรถราคาประหยัด แถมเทคโนโลยีด้านโลหะดีขึ้น มันเลยไม่หนักอึ้งเหมือนแต่ก่อน แต่ถ้าเทียบกันแล้ว ยังไงก็เบาสู้ล้ออัลลอยไม่ได้ครับ…
“ล้อแม็ก” คำที่คนนิยมเรียกล้อที่ไม่ได้ทำจาก “เหล็ก” และเรียกติดปากมาจนทุกวันนี้ จริงๆ ที่ผมขึ้นหัวไว้นั่น มันเป็นเรื่องจริงครับ คำว่า “แม็ก” มาจากคำว่า “แม็กนีเซียม” (Magnesium) ผสมกับ “อัลลอย” (Alloy) เรียกกันว่า Magnesium Alloy Wheel และย่อด้วยคำว่า Mag Wheel ไม่ใช่ Max Wheel ที่บ้านเราชอบใช้กันมาผิดๆ แต่ก็ไม่ว่ากัน เพราะเป็นการ “ทับศัพท์” ซึ่งในสมัยก่อน ช่วงปี 1960 มีการผลิตล้อแม็กนีเซียมสำหรับ “การแข่งขัน” ขึ้นมา และสำหรับ Super Car รวมถึงเป็นล้อ After Market มักจะผลิตจากยุโรป (ญี่ปุ่นก็มีครับ แต่น้อย) สำหรับข้อดีและข้อเสียของล้อแม็กนีเซียม (เท่าที่นึกออก) มีดังนี้…
- น้ำหนักเบา : แม็กนีเซียมอัลลอย มีน้ำหนักเบา สามารถผลิตล้อหน้ากว้างๆ สำหรับใส่ยางใหญ่ๆ ได้ โดยที่น้ำหนักยังเบากว่าล้อเหล็กผ่าขยายหน้ากว้าง (แม่งโคตรจะหนักครับ ขอบอก) ซึ่งล้อที่มีน้ำหนักเบา ก็จะทำให้ “แรงต้านการหมุนน้อย” และ “น้ำหนักใต้สปริงต่ำ” ทำให้รถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น เบรกดีขึ้น และในปัจจุบัน ล้อแม็กนีเซียมก็ยังถูกใช้ในการแข่งขันระดับโลก เช่น F1 ก็ด้วยน้ำหนักที่เบามากๆ ของมันนี่เอง…
- ได้ความเทพ : สำหรับล้อแม็กนีเซียมแท้ๆ สมัยก่อนนั้นมีราคาแพงมาก เรียกว่ามีใช้กันในระดับรถแข่งระดับโลก เช่น F1 หรือ Super Car สุดแพงต่างๆ หรือเป็นล้อ After Market สำหรับรถแต่งระดับ Hi-end ที่เน้นสมรรถนะการขับขี่ เพราะฉะนั้น “ความเทพ” และโดยเฉพาะล้อ Retro หรือ Classic ที่เป็นแม็กนีเซียม จึงกลายเป็นสิ่งที่ “นักสะสม” ต้องการ มีหลายยี่ห้อครับ (เอาเท่าที่นึกออก…อีกแล้ว) ถ้าฝรั่งๆ ก็เป็นพวก Campagnolo (คัม-ปา-ญอ-โล), Chromodora (โครโมโดร่า) ถ้ายุ่นๆ ก็เป็นพวก RAY’S, NISMO (ยุคโบราณ ใส่ 240Z ตัวแข่ง) และ WATANABE etc.
ข้อเสีย
- ราคาแพง : อย่าถามผมเลยครับ ว่าทำไมแม็กนีเซียมมันแพง รู้ว่ามันแพงแล้วกัน เอาเป็นว่า สมัยก่อนมันคงผลิตล้อแบบนี้ได้ยาก ทำครั้งละไม่กี่วง เลยใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงมาก แม้ในปัจจุบัน ราคาก็ยังสูงอยู่ ตามประโยชน์ในการใช้งานที่เน้นในด้านการแข่งขันครับ ก็คงไม่จำเป็นสำหรับการเอามาใช้กับรถบ้านวิ่งถนนทั่วไป…
- กร่อน เสียหายเร็ว : เป็นที่รู้กันว่า ล้อแม็กนีเซียมอัลลอย มันจะโดนกัดกร่อนและเสียหายได้ง่ายกว่าล้อชนิดอื่นๆ ด้วยคุณลักษณะของแม็กนีเซียม พูดง่ายๆ คือ “เปราะ” นั่นเอง จะไปว่าไม่ดีก็คงไม่ได้นัก เนื่องจากผลิตมาใช้ในสนามแข่งที่ “ทางเรียบ” ไม่ได้ทำมาวิ่งถนนปุปะ พอคนไปเอามาวิ่งถนนไม่เรียบ ล้อกลับเสียหายได้ง่าย บางทีเก็บนานๆ มันก็เสื่อมแล้ว ใครมีล้อแม็กนีเซียมรุ่นเก่าๆ เก็บไว้ จะพบว่าเนื้อล้อแม็กจะพรุนๆ สากๆ นั่นเป็นเพราะมันหมดอายุ ใส่รถจอดโชว์ล่ะก็ได้ครับ แต่ถ้าใส่วิ่งถนนไม่เรียบ สะดุดทีเดียวก็แตกทั้งวงละครับ แต่ล้อแม็กนีเซียมสมัยนี้ ก็มีการพัฒนาให้ทนทานมากยิ่งขึ้น แต่ก็เน้นวิ่งถนนเรียบเป็นหลักอยู่ดี อย่าเอามาใช้วิ่งถนนเมืองไทยเลยครับ เชื่อผมเต๊อะ…
นี่แหละครับ ไอ้ล้อแม็กที่เราใช้ๆ กันอยู่เนี่ยแหละ จริงๆ แล้ว มันผลิตจาก “อลูมินั่ม อัลลอย” (Aluminum Alloy) ซึ่งนำมาใช้แทนแม็กนีเซียม ด้วยคุณสมบัติ “ทนทาน น้ำหนักเบา” แม้จะเบาสู้แม็กนีเซียมไม่ได้ แต่ก็อยู่ในระดับที่รับได้ มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีราคาถูกลง และคุณภาพ รวมถึงความทนทาน ความสวยงามที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นล้อ OEM ที่ใส่กับรถแทบทุกคันไปแล้ว แม้แต่รถกระบะ รถ SUV กระทั่งรถบรรทุกสมัยใหม่ ก็ใช้ล้ออัลลอยกันส่วนใหญ่แล้ว นับว่าเป็นการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจริงๆ ก็ขอข้ามข้อดีและข้อเสียไปแล้วกัน ลองมาดูกันว่า ล้ออัลลอยทั้งหลายมีกี่แบบ และมีวิธีการผลิตอย่างไร…
จัดเป็นล้อแบบพื้นฐาน ที่ผ่านการขึ้นรูปแบบชิ้นเดียวทั้งวงจริงๆ ไม่มีรอยต่อประกบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นล้อแบบที่ราคาไม่แพง (ขึ้นอยู่กับการผลิต) และมีความทนทานสูงกว่าล้อสมัยก่อนเยอะ (ก็อยู่ที่คุณภาพการผลิตด้วย) การรั่วซึมน้อย แต่ข้อเสียก็มี คือ “น้ำหนักค่อนข้างเยอะหน่อย” ก็ไม่อยากจะนับว่าเป็นข้อเสียนัก เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตทันสมัย สามารถทำให้ล้อชิ้นเดียวมีน้ำหนักเบาได้…
เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งงงกันนะครับ สองอย่างนี้สร้างความสับสนให้ได้มากพอดู พูดถึงล้อ 2 ชิ้น ก่อนก็แล้วกันนะ เป็นล้อแบบที่มีส่วนประกอบ 2 อย่าง คือ “ลายหน้าล้อ” (Face) แยกกับส่วนของ “ขอบ” (Rim) ใช้การยึดด้วยนอต ก็ที่คุณเห็นนั่นแหละครับ ขอบเงาๆ มีนอตขันยึดระหว่างขอบกับลายหน้าล้อ หรือบางรุ่นก็ใช้หมุด (Rivet) ย้ำ แต่เจอบางรุ่นใช้การเชื่อมไปเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่จะใช้นอตหรือหมุดยึดเพราะ “สวย” กว่า ก็แล้วแต่ดีไซน์ ล้อ 2 ชิ้น จะมีเพียงสองส่วนที่ผมบอกมาเท่านั้น ให้ดูที่ขอบล้อ (ด้านหน้ากว้าง) จะต้องเป็นการรีดขึ้นรูปแบบชิ้นเดียวกัน ส่วนล้อ 3 ชิ้น ก็ลักษณะเหมือนกัน แต่ขอบล้อจะเป็น “2 ชิ้น เชื่อมประกบ” จะเห็นรอยเชื่อมอย่างชัดเจน นั่นคือข้อแตกต่างระหว่างล้อ 2 ชิ้น และ 3 ชิ้น เรามาดูข้อดีและข้อเสียกันครับ…
- น้ำหนักเบา : ด้วยวัสดุพวกอลูมิเนียมที่ใช้ทำขอบ จะลดน้ำหนักไปกว่าล้อชิ้นเดียวได้พอสมควร…
- สวยงาม : เพราะมีขอบเงา และสามารถรีดเล่นระดับขอบได้ เลยดูมี Detail มากกว่า ทำให้เป็นที่นิยมของคนชอบล้อ “ออฟลึก” ขอบยื่นๆ ถูกใจหลายคนรวมถึง “ข้าพเจ้า” ด้วย…
- ทำ Off Set ได้หลากหลาย : เราใช้ตัว Face เหมือนเดิม แต่ไปเปลี่ยนที่ขอบล้อเอา จะกว้างจะยื่นจะหุบเท่าไรก็สร้างเอา ซึ่งล้อบางยี่ห้อก็ “สามารถสั่งออฟเซ็ตและหน้ากว้างแบบพิเศษได้” เพื่อเป็น Custom Made สำหรับรถแต่ละคัน…
ข้อเสีย
- ราคาแพง : มันแพงกว่าล้อชิ้นเดียว เพราะการผลิตมีหลายขั้นตอนกว่า…
- เปราะมากกว่า : ด้วยชิ้นส่วนที่ประกอบกัน ความแข็งแรงจึงสู้แบบชิ้นเดียวไม่ได้ แต่ถ้าล้อคุณภาพดีก็แข็งแรงได้เหมือนกันครับ อยู่ที่เนื้อวัสดุและวิธีการผลิต…
ตามนั้น บางทีนึกว่า 2 ชิ้น มีหม่งมีหมุดอะไรชุดใหญ่เลยนะ ขอบเงาด้วย แต่หมุดนั้นเอาไว้ “ใส่หลอก” และขอบเงาก็อาศัยการ “ปัดเงา” ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงดูเนียนมากๆ มองเผินๆ แทบไม่รู้เลย ตอนนี้นิยมทำกันมาก สังเกตง่ายๆ ครับ ล้อพวกนี้พอหงายดูด้านหลัง มันจะไม่มีรอยต่อระหว่างลายหน้าล้อกับขอบล้อ จะเป็นชิ้นเดียวไปเลย วัสดุก็เหมือนกันทั้งวงครับ…
กรรมวิธีการผลิตล้อแต่ละประเภท
ล้อแต่ละประเภท ก็มีวิธีการผลิตได้หลายอย่าง ก็จะได้ล้อที่มี “คุณสมบัติแตกต่างกันไป” ไม่ว่าจะเป็นความสวยงาม น้ำหนัก ความทนทาน ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีวิธีหลักๆ อยู่ดังนี้…
การผลิตแบบ Forging หรือสุดยอดล้อ “ฟอร์จ” ในดวงใจ ที่ใครๆ ก็ถวิลหา มันจะขั้นเทพเพียงไร รู้จักมันดีหรือยังครับ ??? สำหรับล้อฟอร์จ มันก็คือล้อที่ผลิตด้วย “กรรมวิธีการอัดด้วยแรงดันสูง” โดยมีวัสดุดิบ (Raw Material) เป็นแท่งอลูมินั่มอัลลอยที่ผสมมาเรียบร้อย ก่อนจะเข้าเครื่องอัด เพื่อให้ “โมเลกุลของเนื้อล้อแน่น ทนแรงเค้นได้มากที่สุด” (Premium Strength) แล้วก็แต่งให้เป็นลวดลาย ค่อยๆ รีดให้เป็นรูปร่างล้อ การฟอร์จจิ้งจะใช้วัสดุเป็นจำนวนไม่มาก แต่ใช้วิธีการอัดเพื่อให้แข็งแรง เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อวัสดุเป็นจำนวนมากเพื่อทำให้ล้อแข็งแรงแต่หนักเพิ่มขึ้นครับ แถมไม่มีฟองอากาศด้วย ส่วนใหญ่แล้วล้อฟอร์จ ก็จะมีราคาที่สูง แต่คุณภาพเยี่ยมยอด ความสวยงามเป็นเลิศ เนื่องจากเนื้อวัสดุเป็นโมเลกุลที่แน่น พูดง่ายๆ คือ “เนื้อเนียนละเอียด” จะปัดเงาก็แว้บ จะทำสีก็ว้าบ ดูล่อตาล่อตังค์ ทำให้ล้อฟอร์จเป็นที่ยอมรับในวงการรถยนต์ที่เป็น High Performance จริงๆ ข้อดีอีกประการคือ เมื่อเนื้อล้อมีความแข็งแรงและ “เหนียว” เวลาเกิดการกระแทกจากอุบัติเหตุ ล้อจะแตกได้ยากกว่า อาจจะแค่ “ดุ้ง” ไม่แตกในทันที มันจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ลมยางไม่รั่วออกหมดในทันที หรือ ล้อไม่แตกเป็นชิ้นจนทำให้รถพลิกคว่ำ ถ้าล้อที่ไม่ทน จะเกิดการแตกที่ก้าน ทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้…
เป็นวิธีการแบบ Basic ในการผลิตล้ออัลลอย ด้วยการ “หล่อขึ้นรูป” ด้วยการหลอมเนื้อวัสดุให้เหลว ก่อนจะเทเข้าแม่พิมพ์ (Mold) เสร็จแล้วนำมาเข้าขั้นตอนการตกแต่ง (Furnishing) ให้ล้อเกิดความสวยงามมากขึ้น เพราะตอนหล่อออกมามันจะมีเศษต่างๆ ไม่เรียบร้อยเท่าไร ก็ต้องจัดการให้เรี่ยมเร้เรไร พอเสร็จแล้วก็ทดสอบ (Testing) หลายอย่าง เช่น ทดสอบความแข็งแรง X-Ray ดูโครงสร้างของล้อ มีแตกร้าวหรือไม่ รวมถึงการเทสต์รั่ว อาจจะเกิดข้อบกพร่อง (Defect) จากการผลิตก็ได้ ตบท้ายด้วยการทำสี (Paintings) ให้ออกมาเรียบร้อยสวยงามพร้อมจำหน่าย สำหรับการ Casting ในสมัยใหม่ ก็จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ให้ล้อมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงมากขึ้น สำหรับการ Casting ที่ตอนนี้นิยม ได้แก่…
Low Pressure Die Casting
เป็นวิธีการหล่อด้วยแรงดันต่ำ เป็นการฉีดเนื้ออลูมินั่มอัลลอยเข้ามาจาก “ด้านล่าง” ของแม่พิมพ์ ไม่ได้เทจากด้านบนเหมือนสมัยก่อน การฉีดเข้ามาจากทางด้านล่าง แล้วค่อยๆ ให้ไหลขึ้นไปด้านบน (หลักการเหมือนน้ำพุ) ไหลเข้าในแม่พิมพ์ล้อ ซึ่งการทำแบบนี้ ข้อดีคือ “ลดการเกิดฟองอากาศในเนื้อวัสดุ” เพราะในการเทจากด้านบน โอกาสเกิดฟองจะมีมาก ก็เลยแก้ปัญหาโดยการฉีดขึ้นจากด้านล่าง เพื่อให้ “ฟองอากาศลอยขึ้นสู่ด้านบน” (ตามหลักการของฟองอากาศ ที่จะไหลขึ้นสู่จุดสูงสุดเสมอ) และสามารถจัดการฟองให้หมดไปได้โดยง่าย ทำให้โมเลกุลของเนื้อโลหะแน่น แข็งแรง โดยไม่ต้องเพิ่มเนื้อวัสดุให้เปลืองและหนักเล่น ล้อที่ผลิตแบบนี้ จึงได้ทั้งความเบาและแข็งแรงด้วยครับ…
กรรมวิธีนี้กำลังมาแรง จะได้ยินเทคโนโลยีนี้กันอย่างหนาหู เป็นขั้นตอนต่อจากการ Casting ที่จะหล่อขอบล้อมาเพียง “ครึ่งเดียว” แล้วค่อยมาเข้า “เครื่องรีดขอบ” ให้โลหะค่อยๆ ยืดออกมา วิธีนี้จะทำให้ล้อมีน้ำหนักเบา เพราะไม่ได้หล่อมาเต็มวงครับ สำหรับวิธีนี้ ก็จะใช้สำหรับ “ล้อชิ้นเดียว” ที่ตอนนี้กำลังนิยมอย่างมาก ซึ่งน้ำหนักเบาและแข็งแรงด้วย เพราะเนื้อที่ถูกรีดจะบางลงแต่แน่นแข็ง ไม่ได้หนาแต่หนักเหมือนล้อชิ้นเดียวสมัยก่อน…
ประเภทของล้อที่มีจำหน่ายใน “ไทย”
ในประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นตลาดของล้อที่ใหญ่ติดอันดับโลก ซึ่งมีหลากหลายแบบและคุณภาพหลายเกรดให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นล้อ “นำเข้า” จากต่างประเทศของแท้ หรือจะเป็นล้อ “ผลิตในเมืองไทย” ที่ตอนนี้คุณภาพและแน่นอนว่า ล้อที่ผลิตในเมืองไทย “มีการส่งออกไปในตลาดโลกเช่นเดียวกัน” นับว่าเป็นการพัฒนาอย่างรวดเร็วของล้อไทย ที่ผลิตได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก หลากหลายความต้องการนะครับ เราลองมาดูกันว่า ในเมืองไทยมี “ล้อประเภทไหน” ขายกันบ้าง…
ยกตัวอย่าง “ญี่ปุ่น” ก็แล้วกันนะ เพราะฮิตกันในตลาดเมืองไทย ยกตัวอย่าง เช่น RAYS ก็จะมีล้อยอดฮิตมากมาย สำหรับเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ก็จะมีทั้งล้อประเภท Forged, Casting เป็นหลัก สำหรับเทคโนโลยีของ RAYS ที่โดดเด่นก็คือ ระบบการผลิตแบบ RCF หรือ RAYS Cast Flow Forming ที่เป็นล้อที่ใช้ในการแข่งขัน WTCC อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นกรรมวิธีการ Cast ที่แข็งแรงกว่าปกติ และสามารถนำมาใช้งานบนท้องถนนได้จริง ซึ่งต่างจากล้อ Magnesium แท้ๆ ที่เน้นใช้งานในสนามแข่งที่มีผิวเรียบสนิทมากกว่า ส่วนเทคโนโลยีการ Cast จะใช้ “น้ำ” เพื่อการ “หล่อเย็น” ให้โมเลกุลของล้อแน่น ได้ล้อที่มีคุณภาพดีและน้ำหนักเบา เพราะไม่ต้องใช้เนื้อโลหะมากเกินความจำเป็น ก็พยายามจะทำให้ได้ในลักษณะของล้อ Forged นั่นเอง ซึ่งมีความคงทนอีกด้วย ตอนนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว คือ Titanium Coat และการสลักโลโกลึกเข้าไป เพื่อป้องกันการปลอมแปลง…
ปัจจุบัน ล้อแบรนด์ของ “คนไทยแท้” แต่ “ผลิตในต่างประเทศ” ยกตัวอย่าง คือ PP SUPERWHEELS ในแนวทางการผลิต จะอาศัยความ “ร่วมมือ” กับโรงงานต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน เพื่อแลกเปลี่ยน Know How กัน ก็เหมือนกับการ “ยื่นหมูยื่นแมว” จะได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการจ้างผลิตทั่วไป สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตล้อ คือ ใช้โปรแกรม 3D สำหรับเขียนแบบล้อขึ้นมา ซึ่งสมัยก่อนนั้น การขึ้นลายล้อจะต้อง “ปั้นโมลด์” (แม่พิมพ์) ขึ้นมา และลองหล่อขึ้นรูปดู ถ้า Test แล้วไม่ผ่านก็ต้องทำแม่พิมพ์ใหม่ ซึ่งจะเป็นการเสียเวลามากในการทำล้อ 1 รุ่น แต่โปรแกรม 3D นั้นง่ายเลย รวดเร็ว สะดวก และมีเทคโนโลยี FEA เพื่อคำนวณ “จุดรับแรง” ดูว่า ในแต่ละจุดของล้อ จะมีการรับแรงได้มากน้อยตรงจุดไหน ซึ่งแสดงเป็นแถบสี เราจะสามารถปรับปรุงและออกแบบเพื่อแก้ไขจุดอ่อน เสริมให้จุดนั้นแข็งแรงขึ้น และลดน้ำหนักส่วนที่ไม่จำเป็นในจุดที่ไม่ได้รับแรงมาก เพื่อลดน้ำหนักวัสดุลง แต่คงความแข็งแรงเหมือนเดิม หรือใช้วิธีการ “ขึ้นสันกระดูกงู” เพิ่มความแข็งแรงโดยไม่ต้องเพิ่มน้ำหนักวัสดุ เรียกว่าใช้เทคโนโลยีมาเติมเต็มคุณภาพล้อแม็กให้ออกมาดีและคุ้มค่า…
มาถึงล้อแบรนด์ไทย และ “ผลิตในโรงงานประเทศไทย” กันบ้าง ตัวอย่างเช่น แบรนด์ LENSO ที่ผลิตทั้งล้อจำหน่ายในประเทศไทย และส่งออกต่างประเทศ ก็ถือว่าได้มาตรฐานระดับโลกเช่นเดียวกัน การผลิตก็จะใช้มาตรฐานเทคโนโลยีระดับโลก โดยเน้นไปที่ล้อ Casting ที่ใส่เทคโนโลยีชั้นนำ เช่น 3D, Low Pressure Die Casting และ Flow Forming ดังกล่าวไป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับโลกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งของ LENSO เอง ก็มีความหลากหลายในลวดลาย และรุ่นต่างๆ สำหรับทั้งใช้งานทั่วไป และการแข่งขัน…
ล้อ “เหมื๊อนนน…เหมือนของแท้”
จั่วหัวมายังงี้ก็รู้กันนะครับ ส่วนตัวผมเข้าใจว่าบางท่านก็มีงบประมาณที่ไม่ถึงที่จะซื้อล้อของแท้ แต่อยากจะได้ลาย “เหมือนของแท้” ยอมรับว่าเดี๋ยวนี้ทำได้ “โคตรเหมือนจริงๆ” ทั้งสี ลาย ลักษณะเฉพาะต่างๆ แถมมีสติกเกอร์เหมือนของแท้อีกต่างหาก (แต่ส่วนใหญ่จะให้แปะต่างหาก ไม่แปะมาเลยเพราะเดี๋ยวจะเหมือนเกินไป) เอาเป็นว่า ล้อประเภทนี้ก็มีทั้งเกรดที่ใช้ได้ และใช้ไม่ปลอดภัย ลองพิจารณาเอาเองครับ เลือกเจ้าที่ดูแล้วมัน “ดูมีมาตรฐาน” หน่อยแล้วกัน ฝากไว้เท่านี้แหละครับ…
ขอขอบคุณ : N SPORTS SHOP Tel. 02-618-5020 www.nsports-shop.com, PP SUPERWHEELS Tel. 086-777-7273, LENSO www.lensowheel.co.th