Well-Worn-Wagon


เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

.

หลังจากที่ความรักความชอบ กลายมาเป็น “เรื่องราว” ของรถเก่าสักคัน มันไม่ใช่ว่าจะหากันได้แบบเสกมนต์ บางครั้งเนื้อคู่กูก็ไม่มาสักที ก็ต้องเฝ้ารอกันต่อไป แต่เมื่อจะมีเนื้อคู่กันแล้ว ไม่ว่าไกลกันแค่ไหน ลึกลับ ซ่อนเร้น ก็ยัง “หากันจนเจอ” โดยมากมักจะเป็นเหตุบังเอิญ เรื่องราวของ Retro Car จึงมีหลายรสชาติ บางคันถูกทิ้งไว้หลายๆ ปี ในสภาพฝุ่นกรัง เพื่อที่รอของเพียงแค่ “ชิ้นเดียว” มาเติมเต็ม ไม่รักจริงก็คงไม่รอกัน บางคันได้มาสภาพที่คนทั่วไปดูแล้วอึ้ง แต่มันกลับกลายเป็นที่ต้องการ เพราะเป็น “สภาพตามกาลเวลา” ดูแล้ว “ได้อารมณ์” กว่าสภาพเนี้ยบๆ อย่างคันนี้หน่อยเป็นไรละ DATSUN 1300 Wagon รหัส 520 รุ่นแรกจริงๆ เพราะเป็น “สองตา” หายากกว่า “สี่ตา” (521) อยู่มาก และมาในสภาพดิบ เถื่อน แต่โคตรได้อารมณ์ !!!

< มีเสน่ห์ตรงที่เป็น Delivery Van และ “ราวม่าน” ด้านใน เผื่อไว้ “ค้าง (โรง) แรม” ไงครับ

< ขุมพลังเดิมเป็น J13 แต่คันนี้ขอ “ของใหญ่” ขยับบล็อกเป็น “J15” จับโมดิฟายสไตล์บ้านๆ ฝาสูบเปิดพอร์ตเพิ่ม วาล์ว “NISSAN BIG M” คาร์บูเรเตอร์ “แท้ตรงรุ่น” เฮดเดอร์ “ปิยะ การช่าง” ดีไซน์

< นี่แหละครับ ความ “กรัง” อันมีตำนาน จึงต้องทิ้งไว้ให้ดูกัน “ดิบๆ” เช่นนี้ จากการครอบครองของ “คุณตั๋น” ฝากงานไว้กับ “ปิยะ การช่าง” ให้ปลุกปั้นจนวิ่งได้ แต่ของ “ลายคราม” ดั้งเดิมเอาไว้ ตอนลงมือทำ ใช้เวลา 5 เดือน ในการ “เสก” ให้ออกมาเป็นรูปธรรมแบบนี้

อดีตรถรับใช้ สู่ของเล่นคนมีตังค์  
การเดินทางของทีมงาน XO AUTOSPORT จากกรุงเทพฯ สู่ดินแดน “บิ๊ก เมาท์เท่น” จากการนัดมีตติ้งย่อยๆ ของกลุ่ม Retro Bangkok ณ ลาน-ลี-ลาร์ เขาใหญ่ แน่นอนว่า เราก็ต้องไป “บันทึกภาพ” กันมาฝากหน่อย สำหรับเจ้า “ดัทสัน พันสาม แวน” คันนี้ จุดดีเด่นของมันคือ เป็นรหัส V520 ซึ่งเป็น “ตัวแรก” ที่เป็นแบบ “หน้าโหนก ไฟกลมสองตา” ซึ่งเป็น Rare Item เพราะปกติเราจะเห็นรุ่นนี้เป็นแบบ “หน้าเรียบ (Flat Deck) ไฟกลมสี่ตา” ซึ่งเป็นรหัส V521 รุ่นหลังกว่านี้ ซึ่งหาได้ง่ายกว่า สำหรับ DATSUN ในซีรีส์ 520 นี้ ผลิตขึ้นมาครั้งแรกในปี 1965 โดยมีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ Single Cab ช่วงสั้น รหัส 520, Single Cab ช่วงยาว รหัส G520, Double Cab รหัส U520 และตัว Delivery Van ที่เรากำลังพูดถึงนี้ รหัส V520 นั่นเอง ในปี 1967 ได้ “ไมเนอร์เชนจ์” รอบแรก เปลี่ยนไฟหน้าเป็นแบบ “สี่ตา” แต่ยังคงเป็นหน้าโหนกเหมือนเดิม จนในปี 1969 ได้ไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ เป็น Flat Deck อย่างที่บอกไปในตอนต้นนั่นเอง ซึ่งเราก็ขอหยุดไว้ที่ V520 ก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวยาว สำหรับตัว V520 นี้ ในสมัยก่อนเกิดมาเป็นรถ “อเนกประสงค์” จริงๆ ไม่ว่าจะใช้ในครอบครัว ใช้ในกิจการงานต่างๆ ใช้เป็นรถพยาบาล สารพัดสารเพที่จะใช้มัน เลยกลายเป็น “เสน่ห์” ที่น่าใฝ่หา เพราะเป็นรถที่ทำแล้ว “แนว” สามารถขับใช้งานได้จริง นั่งสบาย ไปได้ “ยกบ้าน” ตัวผมเองก็รู้สึกชอบรถแนวนี้ซะแล้ว…

< อันนี้แหละ “หน้าโหนก สองตา” สำหรับโลโก D จะติดตั้งในรถ 520 ตั้งแต่ช่วงปี 1966 เป็นต้นมา

< ล้อซี่ลวด ROADSTER WHEEL ขอบ 15 นิ้ว แต่ถ้าจะเล่นแนว “เรโทรโมเดิร์น” หาล้อโครเมียมลายสวยๆ ขอบใหญ่ๆ ลึกๆ แล้ว “กดจม” แนว Stance งามๆ มันจะเปลี่ยนอารมณ์ไปแบบสุดขีด

< บางสิ่งอย่างก็ต้อง “คงไว้” บางสิ่งอย่างก็ “ปรับใหม่” ให้ “ไฉไล” และ “น่าสัมผัส” เสน่ห์ของรถยุค “ซิกซ์ตี้” ชีวิตนี้ต้องได้จับพวงมาลัยแบบมี “กระเช้ากดแตร” ถึงจะได้อารมณ์สุดๆ

< เรือนไมล์ “ทรงพัด” ลักษณะเดียวกับ BLUEBIRD 410 เด๊ะๆ คันนี้ “องค์ครบ” ปุ่มสวิตช์นี่หายากสุดๆ เพราะส่วนใหญ่จะหักไปตามกาลเวลา < เบาะโซฟานั่งได้ 3 คนเรียง ติด “แอร์ราว” ไว้ที่ด้านหลังบน เป่ามาด้านหน้า เพื่อให้หน้าปัดดูเดิมๆ ฝีมือการตัดเย็บภายใน เป็นของ “ช่างเทพ บางปะแก้ว” < ขีดความสบายที่เหนือกว่ารถเก๋ง กับรถสไตล์ Van อเนกประสงค์

X-TRA ORDINARY
เป็นที่น่าแปลกใจ ว่า Timeline ของ DATSUN TRUCK ที่เริ่ม “รุ่นสอง” ตั้งแต่รหัส 120 (รุ่นแรกเป็นรหัส Model 17) ไล่มาจน 220 ไปถึง 320 แต่ “420” นั้นกลับ “หายไป”!!! โผล่มาอีกทีก็ 520 เลย ในข้อมูลบอกว่า DATSUN TRUCK รหัส 420 นั้น ถูก Cancelled ไลน์การผลิตไป แต่ถ้าจะสังเกตให้ดี 520 นั้น หน้าตาจะเหมือนกับ BLUEBIRD 410 เป็นอย่างมาก ซึ่งใน Timeline ของ DATSUN TRUCK ตั้งแต่ 120 มาถึง 320 นั้น หน้าตาจะ “อิง” คล้ายๆ กับ BLUEBIRD ในรหัส 110-210-310 ส่วน 410 นั้น ก็ไปเหมือนกับ 520 คิดว่าเป็นการ “ข้ามรุ่น” มานั่นเอง ส่วน 521 หน้าตาก็จะ “ฉีกแนว” ไป ไม่เหมือนกับ 510 Five-Ten หลังจากนั้น ก็จะแยกดีไซน์ระหว่าง TRUCK กับ BLUEBIRD ออกจากกันอย่างชัดเจน…

Special Thanks to
Retro Bangkok : Facebook/เรโทร บางกอก
ปิยะ การช่าง : Facebook/Piya Kranchang, Tel. 08-5919-9971
ลาน-ลี-ลาร์ เขาใหญ่ : Facebook/ร้านอาหารลานลีลาร์ Tel. 08-1902-2109, 08-1801-4759