ย้อนอดีต “รวมฮิตปก XO” ยุคหนามเตย
ทุกเรื่องราว มีตำนาน ก่อนเป็นยุค Digital
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ในยุค Digital อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะง่ายไปซะหมด จะถ่ายรูปแล้วแต่งแสงสี จะวาง Lay Out ง่ายๆ ด้วย Hot Key ยุกยิกๆ คลิกๆๆๆ ก็ออกมาได้ตามฝัน แต่…ในกาลก่อน ที่เป็นยุค “ฟิล์มสไลด์” มันย่อมไม่ง่ายอย่างนี้แน่นอน เพราะทุกขั้นตอนมันเป็น “สิ่งตายตัว” อย่างดีก็เริ่มมีคอมพิวเตอร์มาช่วยแก้ไขจัดวางอะไรก็ว่าไป แต่ที่แน่ๆ “ต้องวางแผนตั้งแต่แรก” ว่าจะถ่ายปกยังไง ถ่ายรถมุมไหนมาบ้าง วางรูปยังไง โปรยหัวยังไง เรียกว่าต้องมี Lay Out ให้แน่ๆ ไม่งั้นจะแก้ยาก โดยเฉพาะ “รูปถ่าย” ที่ต้องใช้หลายๆ Shot เรียกว่าฟิล์มสไลด์นี่หมดกันเป็นม้วนๆ เอาชัวร์ “กันเหนียว” เพราะกล้องฟิล์มมันถ่ายมาก็ตรวจสอบเดี๋ยวนั้นไม่ได้ด้วย (เคยเจอแบบตั้งกล้องพลาด แสงสีเพี้ยนเรียบ ต้องนัดถ่ายแก้ใหม่ตามระเบียบ) มันเลยกลายเป็นของ “ยาก” และต้องใช้ฝีมือมาก รวมถึงความระมัดระวังสูง ไม่เหมือนกล้องดิจิตอลที่ถ่ายก็ดูเดี๋ยวนั้นได้เลย และปกของ XO AUTOSPORT ในยุค “ดั้งเดิม” แรกเริ่ม มันก็มีทั้งเสน่ห์และตำนานเรื่องราวของรถซิ่ง มอเตอร์สปอร์ตในยุคก่อน นำมาขึ้นปก “ล่อ” ให้ซื้อ ปกไหนจะมีเรื่องราวอะไรบ้าง เราเอาที่ “หาเจอ” มา “ขยี้” ให้ชมกันแล้วครับ เชิญชมภาพปกพร้อมบรรยายรายละเอียดได้เลย ไม่ลืม “สวัสดีปีใหม่ไทย” โชคดีมีสุข เดินทางปลอดภัยทุกท่าน เมาไม่ขับนะครับ…
ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี
#Posttothepast #xoautosport #racingcar #streetracingcar #racing #circuit #dragracing #Quartermile #carclub
เวบไซต์สาระรถซิ่ง : xo-autosport.com
- เล่ม “แรก” ที่เป็น “รายเดือน” ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเป็น “รายปักษ์” ออกมาในเดือนตุลาคม ปี 2539 ในยุคนั้นจะเน้นข่าวเกี่ยวกับ “มอเตอร์สปอร์ต” ทั้งไทยและเทศเป็นหลัก เรียกว่ามีทั้งทางเรียบ ทางฝุ่น ครบเครื่อง ซึ่งแถมมากับนิตยสาร “กรังด์ปรีซ์” คือ “ช่วงแนะนำ” ตอนนั้นยังไม่ถือว่าเป็น “หนังสือรถแต่ง”เต็มรูปแบบเฉพาะทางเหมือนปัจจุบัน
- ต่อกันเลยกับฉบับเดือนพฤศจิกายน เล่มนี้ขึ้นปกโปรโมทการแข่งขัน Dunlop-Elf Quartermile ที่สนามพีระฯ เซอร์กิต ยุคนั้นจะเรียกกันรวมๆ ว่า “ควอเตอร์ไมล์พีระ” เรียกว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของ “วัยรุ่นรถซิ่ง ยุค 90’s” ที่ต้องแห่กันไปแข่งกันเป็นที่สนุกสนาน คืนวันเสาร์ก็ต้องแห่กันมา “ถล่มพัทยา” และต้องมา “ตื๊ดดด” กันที่ “พัลลาเดียม” เช้าก็เข้าสนามแข่งรถ เรียกว่ามีความสุขกันจริงๆ ที่คน “ตรงยุค” ต้องระลึกถึง กับความรู้สึกที่อยากจะกลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง สำหรับรถที่ลงปก เป็น “เต่า” ของ “SHOW TIME VW” พูดก็รู้แล้วคือ “หม่อมตุ้ย” ม.ร.ว. ประทักษ์ รังสิต นั่นเอง
- เล่มส่งท้ายปี 1996 ก็ยังคงเป็น Theme ของมอเตอร์สปอร์ตอยู่ เป็น “เซอร์กิต” หลักๆ แล้วก็มีย่อยๆ เป็น “ทางฝุ่น” ทั้ง แรลลี่สปรินท์ แรลลี่ครอส ฯลฯ นับว่าตอนนั้นการแข่งทางฝุ่นยังได้รับความนิยมจาก “สื่อ” อยู่มาก และหลังจากนั้นก็ไปหนักเอา “ทางเรียบ” จนแทบจะลืมทางฝุ่นกันไปเลย สำหรับเรื่องบนปกเด่นๆ ในฉบับนี้ จะเป็นการแข่งขันรายการ “เบียร์สิงห์ ออล ไทยแลนด์ ทัวริ่งคาร์ สนาม 9 & 10” ที่มีนักขับมืออาชีพมากมาย สำหรับแชมป์รุ่นมืออาชีพ ทั้งสองสนาม เป็นของ จักษ์ทอง นาวาศุภพานิช หรือ “หนูถีบจักร” ส่วนแชมป์รุ่นดาวรุ่ง สนาม 9 เป็นของ “จั้ม” กรัณฑ์ ศุภพงศ์ และสนาม 10 เป็นดาราขวัญใจแม่ยก (ในสมัยนั้น) สุดหล่อ คือ “พีท ทองเจือ” นั่นเอง แล้วในเล่มก็ยังมีคอลัมน์รถซิ่งโผล่มาคันนึง เป็น IMPREZA ของทีม SHORT BLOCK ที่โมดิฟายโดย “เฮียเหน่ง” Driver Motorsport นั่นเอง คนเขียนคอลัมน์ก็นี่เลย “คุณแอม” พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร XO AUTOSPORT ขึ้นมา จากสมัยนั้นก็เล่นรถโมฯ ซิ่งตามประสาวัยรุ่น เรียกว่า “คันมือ” ทำเอง เขียนเอง ซะเลย
- เปิดปีใหม่มาด้วย “สายแถ” หรือ Drift Show ครั้งแรกในเมืองไทย โดยนิตยสาร XO AUTOSPORT ซึ่งใช้ช่วงพัเรียกว่าตอนนั้นตื่นตาตื่นใจกันมาก กับลีลาสไลด์เข้าโค้งแบบ Oversteer อย่างรุนแรง มันส์ตรงที่แถข้างปั่นควันยางนี่แหละครับ ตอนนั้นเชิญนักดริฟต์สายปลาดิบระดับหัวแถวถึง 5 คน มาดริฟต์และสอนเทคนิคให้กับคนไทยว่าควรจะทำอย่างไร (ซึ่งรายละเอียดในงานแบบเต็มๆ เราเคยนำเสนอไปแล้ว) นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์น่าสนใจอย่าง Trick & Tip ที่เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับ “อุปกรณ์โมดิฟาย” ต่างๆ ว่าใส่แล้วได้อะไร และสำคัญคือ “ต้องระวังอะไรบ้างกับความแรงที่มากขึ้น” นับว่าดีมาก เพราะของแรงใส่ไปแล้วถ้าไม่ทำอย่างอื่นให้สัมพันธ์กัน “พังดิครับ” และมันก็อาจจะไม่แรงเท่าที่ควร จะได้คุ้มเสียหรือเปล่า ตรงนี้ “คุณแอม” จัดให้รู้กันไปเลยครับ
- เล่มนี้จะมีเรื่องเด่น คอลัมน์ Style Up จะเป็น SKYLINE R32 สีแดง ตัวแรงควอเตอร์ไมล์ ของ “คุณเดช” จากทีม TOMODACHI โมดิฟายจากสำนัก JUN AUTOMECHANIC THAILAND ที่ความแรงอยู่ในระดับน้องๆ รถของ “ป๊อปปิ” เจ้าสำนัก เรียกว่าไปเจาะให้ดูกันเน้นๆ ไว้ขอ “ค้นรูป” ก่อนแล้วจะนำมาให้ดูในทำเนียบรถแรงในอดีต แรงม้า ณ ตอนนั้น อยู่แถวๆ 450 PS ตอน Shoot จัดว่า “ดึงหน้าแน่น” กันเลยทีเดียว และมี Scoop การแข่งขันรูปแบบใหม่ คือ 1000 Circuit Sprint ณ สนามโกคาร์ท ในสนามพีระฯ เซอร์กิต รูปแบบก็คือ “มินิเซอร์กิต” นั่นเอง อย่าดูถูกว่าสนามเล็กอ่อนฝีมือ เอาจริงๆ สนามเล็กนี่โค้งเยอะ มุมบีบเยอะ ยิ่งต้องใช้ทักษะการขับที่สูง โดยเฉพาะการหมุนพวงมาลัยที่ต้องใช้รอบเยอะกว่าสนามใหญ่ มือพันกันเป็นลิงถ้าฝึกมาไม่ดีพอ พิเศษ คือ มีระบบ Bracket คุมเวลาด้วยเหมือนกับควอเตอร์ไมล์ เหมาะสำหรับ “มือใหม่” ให้ขับในเวลาที่กำหนด ไม่อยากให้ซัดกันเต็มเหนี่ยวเดี๋ยวจะอันตรายเกินเหตุ แต่ก็ยังอุตส่าห์มี “ช็อตเด็ดเช็ดครก” LANCER E-CAR เหาะโชว์ แต่ไม่เป็นไรมากเพราะเป็นโค้งรัศมีแคบ ที่ความเร็วไม่สูงแต่บีบให้เลี้ยวยากหน่อยแค่นั้น
- เอาละครับ เริ่มเป็น “ปกรถซิ่ง” แล้ว ครั้งนี้เป็นการถ่ายรวมรถเด็ดๆ ทีม KANSAI ที่มีคนดังอย่าง “พี่อั๋น ATP” ธนสิทธิ์ ปัญญาทรานนท์ อยู่ในทีมด้วย สมัยก่อนจะเรียกกันในหมู่เพื่อนๆ และรู้จักกันในนาม “อั๋น KANSAI” ก่อนที่จะมาทำกิจการ ATP ในปัจจุบัน สมัยนั้นพี่เขามีกิจการทางบ้าน คือ “ครัวสายสอง” ใหญ่บะระเฮ่ บางคนไปกินแล้วก็อยากเจอเจ้าตัว ก็เจอบ้างไม่เจอบ้างแล้วแต่ว่าจะโดนช่วงเฮียแก “ว๊าป” หรือเปล่าก็วัดดวงเอา ปกนี้ลงคอลัมน์ RACING SQUARE ที่ “บก. อภิฯ” เป็นผู้เขียน นามปากกา A-STYLE มีรถเด่นๆ ทั้งนั้นเลย สุดๆ ก็ 200 SX โมดิฟายโดย JUN ซึ่งคันนี้เองเป็น KING OF 1800 เพราะยังใช้เครื่อง CA18DET แต่โมฯ กันสุดขั้ว ตอนนั้นก็ประมาณ 300 แรงม้า เรียกว่าไม่ธรรมดา อีกคันก็ MR2 สีดำ 2 คัน โมดิฟายเต็มทั้งคู่ ส่วนคอลัมน์ข้างในก็มีเจาะรายละเอียด 200 SX ของ พี่อั๋น นั่นแหละ ร่วมทดสอบโดย “คุณแอม” นั่งเอง เขียนเอง…
- ฉบับนี้ ปกเป็น “รถเซอร์กิต” ของ “เสี่ยเอ๋” ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม แห่งทีม MP VATTANA FEEL’S RACING TEAM ซึ่งทำไว้ลงห้ำหั่นในรายการ THAILAND TOURING CAR ซึ่งขณะนั้น ชนม์สวัสดิ์ ก็ยังเพิ่งหันมาแข่งเซอร์กิต เริ่มแรกจริงๆ แข่ง “โกคาร์ท” แล้วหันมาเล่น “คลุกฝุ่น” จนเป็นแชมป์ประเทศไทย และนัดมาเล่นกับรถทางเรียบรายการนี้ในปี 2540 ได้อันดับ 2 ในรุ่น “ดาวรุ่ง” ด้วย CIVIC EG 3 Doors ขุมพลัง B16A และตอนหลังเปลี่ยนเป็น B18C โมฯ เต็ม จากสำนัก HONDA TWIN CAM WORKS ประเทศญี่ปุ่น มีคอลัมน์ C. BOY ที่แนะนำของเล่นเด็กหนวด คือ รถบังคับ และเด็ดไม่แพ้กัน แนะนำร้าน PROJECT M ของ “เล็ก” เจ้าของ SUPRA VEILSIDE คันแรง และปัจจุบันเทิร์นโปรเป็น “เจ็กเล็ก” (เจ็ก แปลว่า “อา” ไม่ใช่ เจ๊ก คนละความหมาย) ในปัจจุบัน
- ขึ้นปกมาก็ฮือฮาแล้ว สำหรับรถแข่ง NISSAN PRIMERA ที่เข้ามาร่วมห้ำหั่นรายการ ในบ้านเรา รายการ Southeast Asia Touring Car Zone Challenge (ชื่อยาวชิบไห) ในรุ่น Class II ที่เป็นการนำ “รถครอบครัว” 4 ประตู ขึ้นไป อย่าง NISSAN PRIMERA, HONDA ACCORD, OPEL VECTRA, ALFA ROMEO 155 etc. ที่ยังมีเสน่ห์เสมอเพราะมันเป็นรถที่ “สามารถจับต้องได้” มันเป็นรถตลาดที่คนทั่วไปก็มีใช้งานกันอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละคนก็ต้อง “เชียร์” รถรุ่นที่ตัวเองชอบหรือใช้อยู่ เรียกว่ามี “ไอดอล” ว่างั้น สไตล์ของรถแข่งก็จะเตี้ยๆ ล้อโต แต่ห้ามเลยซุ้มล้อเดิมออกมา ยางบาง มันก็เหมือนกับรถที่แต่งๆ กันอยู่ ณ ตอนนั้นก็จะมีคนทำตามแบบนี้แหละ แต่หาล้อโตไม่ได้ก็ “เตี้ย” เอาแล้วกัน ซึ่งต่างจากการแข่งรถรุ่นไฮๆ อย่าง F1 ซึ่งเป็นรถที่คนทั่วไปไม่สามารถจะครอบครองได้ ได้แต่ลุ้นผลการแข่งแต่ไม่มีความผูกพันเหมือนกับรถตลาด อย่าง PRIMERA ก็เป็นรถที่มีจำหน่ายโดย “สยามกลการ” พอมาเป็น “ตัวแข่ง” ก็จัดเต็มโดยทีม AIM RACING PROJECT นำมาแทน OPEL VECTRA คันสีเหลืองคาดขาว สำหรับ PRIMERA เป็นรถที่โมดิฟายจากทีม NISMO แข่งในรายการ JTCC หรือ Japan Touring Car Championship นำเข้ามา ซึ่งคนขับฝั่งไทย คือ “คุณปั้น” พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ และ “คุณสุพจน์ กสิกรรม” ซึ่งมี Hasemi นักแข่งของ NISSAN มือเก๋าระดับแนวหน้าของญี่ปุ่น มาแนะนำเทคนิคการขับ และมีทีมวิศวกรจากยุโรปมาคอยเซ็ตรถ ซึ่งคันนี้มีแรงม้าถึง 310 HP แบบไร้หอย จากเครื่อง SR20 ที่เชื่อเหอะว่ามันไม่ใช่เครื่องที่เป็น Production แน่ๆ ระดับนี้ต้อง Race Engine เท่านั้น และระบบช่วงล่าง เกียร์ ทุกอย่างสร้างเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่เอาของซิ่งตลาดๆ ใส่ไปแค่นั้น
- อันนี้เป็นปกของ “สปอนเซอร์” ทีม CALTEX PRODRIVE THAILAND ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนั้น “แรลลี่รุ่งเรือง” มากๆ ถ้าจำไม่ผิด คันนี้ขับโดย “น้าอ๊อด” สุรกิจ กุลกำธร ที่ล่วงลับไปแล้ว จริงๆ แรลลี่มันก็มีเสน่ห์นะครับ กับการขับที่ “เสียว” เพราะต้องลุ้นกับเส้นทางแบบวิบากตลอด มันต่างจากเซอร์กิตที่จะวิ่งวนซ้ำๆ กัน แต่แรลลี่ไม่ครับ สถานการณ์เปลี่ยนได้ตลอดเวลาเพราะใช้ทางวิ่งวิบากตามต่างจังหวัด ซึ่งก็อาจจะมีตัวแปรที่ทำให้ “มีเหตุ” นักขับ และ “เนว์” จะต้องเข้าขากัน แก้สถานการณ์เอาตัวรอดได้ทันที
- ปกนี้เป็นของทาง AIM RACING PROJECT ที่นำเจ้า NISSAN SILVIA S14 “หน้าเหยี่ยว” เข้ามาจำหน่าย ซึ่งมีการตกแต่งด้วยของจาก NISMO หลายรายการ เช่น ล้อ NISMO LM GT2 ขนาด 8 x 17 นิ้ว และ 9 x 17 นิ้ว ชุดโช้คอัพและสปริง หัวเกียร์ เกจ์วัดสามเกลอ (เรียกไม่ถูกว่ะ มีสามอันเรียงกันอ่ะ) ซึ่งนำเข้ามาจำนวน 5 คัน แต่ล็อตแรกมี 3 คัน สีขาว สีดำ สีน้ำเงิน เรียกว่าโดนสอยโดย “สายซิ่งไฮโซ” คันสีดำ “อาร์ต RMI” หรือ “อาร์ตเจียม” ซื้อไป ซึ่งตอนนี้ก็คือตัวแข่ง Drag ที่หลายคนรู้จักกันดี สีน้ำเงิน “เล็ก PROJECT-M” ซื้อไป คันนี้ซื้อไปไม่นาน เจ้าตัวนำไป “แถ” ด้วยความ “ห้าว” ณ ตอนนั้น ล่อตู้โทรศัพท์กับเสาไฟไปซะ ซุ้มล้อหลังซ้ายเข้าเต็มๆ ก็เลยขายซากพร้อมทะเบียนไป เพราะกลัวซ่อมแล้วไม่เหมือนเดิม เนื่องจากเทคโนโลยีและเครื่องมือการซ่อมตัวถังสมัยนั้นก็ไม่ถึงพอ ส่วนอีกคันเป็นสีขาว “คุณหรอ” ซื้อไป แต่จะไปไหนก็รู้แค่นี้แหละ และในเล่มมีแนะนำทีมรถซิ่งในตำนานอีกทีม คือ SHORT BLOCK ที่มีตัวเด่นก็คือ SKYLINE R32 GT-S 4 ประตู วาง RB26DETT ของ “พี่แอน” และ MR2 สีเหลือง ของ “พี่เอ็ม” และมี “เซเล็บควอเตอร์ไมล์ Bracket” คือ “เจ๊หญิง” ศุภสิริ พยัฆสิริ คนสวยดีกรีรองนางงาม พี่สาวของ “ชาย Scorcher” หรือ “อ้วนอิ่มเอม” ในปัจจุบัน (เป็นอดีตหัวหน้าช่างอู่ Driver Motorsport) ขับ LANDER E-CAR สีเงิน คนตรงยุคคงจำกันได้
- นี่ก็เป็น RX-7 FD3S ที่โด่งดัง ณ ตอนนั้นอีกคันหนึ่ง เป็นของ “จั้ม” กรัณฑ์ ศุภพงศ์ นักขับเซอร์กิตดาวรุ่งพุ่งแรงแซงทุกไลน์ คันนี้โมดิฟายจาก Dream Sport ของ “เฮียปุ๊ย โรตารี่” นั่นเอง แรงด้วยเทอร์โบยักษ์ GREDDY T88 ยุคแรกๆ เลย นำมาทดสอบหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง PROLONG ที่ “ดัน” โปรโมทกันสุดๆ ในตอนนั้น และมีตัวแรงในเล่ม คือ SKYLINE R32 จาก “ฉัตรชัยการช่าง” โดย “อ๊อฟ-หะ-ทัย-ไช-ยะ-วัณณ์” คันนี้ไม่ได้ใช้ของแต่งเยอะนัก ไส้ใน (เขาว่า) เดิมๆ แต่ “ยิงไนตรัส” ได้มาแถวๆ “ห้าร้อยม้า” เรียกว่าเป็นตัวแรงที่ประมาทไม่ได้ในวงการควอเตอร์ไมล์เหมือนกัน แล้วก็มีข่าวแข่ง XO SPEED FESTIVAL ที่เรียกว่าเป็นการแข่งแบบ Club Race ที่รูปแบบเหมือนกับ Sunday Race ในญี่ปุ่น ที่คนมีรถซิ่งทั่วไปที่ขับใช้งานปกติด้วย นำมา “ออกกำลัง” กันในสนามแบบพอสนุก แข่งเสร็จก็ขับกลับบ้านกันไป จริงๆ ผมเองก็อยากให้มีการแข่งเซอร์กิตแบบนี้อีก ที่เน้นมิตรภาพและน้ำใจนักกีฬาจริงๆ ไม่ใช่เอาเป็นเอาตาย แข่งจบมีดราม่า แบบกูจะต้องชนะอย่างเดียวคนอื่นช่างแม่งแบบนี้ไม่เอา !!!
Cr. Photo :
THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512* ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม : 02-522-1731-8